| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


ภาษาและวรรณกรรม
            ในจังหวัดยะลา นอกจากจะมีการใช้ภาษาไทยกลาง และภาษาไทยถิ่นแล้ว ยังมีชาวไทยเชื้อสายมาเลย์ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานีเป็นภาษาแม่ และยังมีชนกลุ่มซาไกใช้ภาษาซาไกเป็นภาษาแม่รวมอยู่ด้วย
            ภาษาไทยถิ่นยะลา  มีสำเนียงและลีลาการพูดค่อนข้างนุ่มนวลกว่าภาษาถิ่นใต้โดยทั่วไป ซึ่งห้าวและห้วน การใช้ภาษาไม่ได้แตกต่างจากถิ่นใต้อื่น ๆ มากนัก เช่นมีการรวบรัดพยางค์ให้สั้นเข้า ขาดหางเสียงให้ฟังไพเราะ ถ้อยคำส่วนใหญ่เว้นคำดุด่าถือว่าเป็นคำสุภาพ ใช้ได้กับบุคลลแทบทุกชั้นเกือบทุกกาละเทศะ
            ในภาษาไทยถิ่นยะลานั้น มีศัพท์ส่วนหนึ่งเป็นคำภาษามลายู บางคำก็นำมาเปลี่ยนแปลงเสียง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างคำ จนกลายเป็นภาษาผสม
            ภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานี  หมายถึงภาษามลายูที่พูดกันในบริเวณสามจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย สำเนียงคล้ายภาษามลายูท้องถิ่นกลันตัน ซึ่งเป็นภาษาย่อยของภาษามลายูมาตรฐาน หรือที่คนในท้องถิ่นเรียกว่าภาษามลายูกลาง ซึ่งเป็นภาษาราชการของประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและบรูไน ภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานี มีเพียงภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน และไม่มีตัวอักษร มีเพียงเสียงพยัญชนะ และเสียงสระเท่านั้น ไม่มีเสียงวรรณยุกต์ คำพื้นฐานส่วนใหญ่เป็นคำสองพยางค์
            ภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานีมีสำเนียงค่อนข้างห้วนและห้าวกว่าภาษามลายูกลาง ศัพท์ส่วนใหญ่ตรงกันมีศัพท์เฉพาะถิ่นอยู่บ้าง การเรียกคำในประโยคจะเหมือนกับภาษาไทย ปัจจุบันชาวไทยอิสลามในจังหวัดยะลา ที่ใช้ภาษาท้องถิ่นปัตตานีเป็นภาษาแม่ รับศัพท์ภาษาไทยเข้าไปใช้มาก
            จารึกภาษาอาหรับ  ได้แก่ จารึกกูโบพระยายะลา (ต่วนสุไลมาน) ในบริเวณมัสยิด บ้านลางา
            ตำนานท้องถิ่น  มีอยู่หลาย ๆ เรื่องด้วยกันคือ เรื่องดูแวยอเจ้าเมืองโกตาบารู เรื่องการเล่นจาโต ตำนานทวดกุหล่ำ ตำนานมะโย่ง ตำนานเรื่องโต๊ะนิ ตำนานเรื่องหลวงพ่อไกร ตำนานเรื่องคนธรรพ์
            วรรณกรรมพื้นบ้าน  เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ ที่เป็นนิทานพื้นบ้าน ซึ่งมีอยู่มากมาย สะท้อนภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยอิสลามในด้านต่าง ๆ ให้ทั้งความบันเทิงและแง่คิดที่ดีแก่ผู้ฟัง ตลอดจนแสดงถึงความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี และค่านิยมในสังคมเช่น นิทานเรื่องเปาะแซเดาะ นิทานเรื่องรายอฆอแน นิทานเรื่องการเล่นจาโต
การละเล่นพื้นบ้าน นาฎศิลป์และดนตรี
            การละเล่นของเด็ก  ได้แก่ ตายีและแกและปูรง เป็นต้น
            การละเล่นของผู้ใหญ่  ได้แก่ โต๊ะหมุน อาแวลูตง ซีละ วอแยกูเละ ลิเกฮูลู มะโย่ง และจาโต เป็นต้น
            นาฎสิลป์  ได้แก่ รองเง็ง เป็นต้น
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
            การแต่งกายของชาวไทยอิสลาม จังหวัดยะลา  มีประเพณีการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ คล้ายการแต่งกายของชาวมาเลเซีย บ้างก็ว่าคล้ายกับชาวอินโดนีเซีย แต่การแต่งกายของชาวไทยอิสลามก็ไม่เหมือนสองชาติดังกล่าว
            ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยอิสลามในภูมิภาคอื่น ๆ ได้ทวีความสำคัญมากขึ้น กับมีกลุ่มดะวะห์ช่วยเผยแพร่ศาสนา ทำให้ศาสนาอิสลาม มีบทบาทต่อการแต่งกายของชาวไทยอิสลามมากขึ้น แต่เดิมลักษณะการแต่งกายเป็นศาสนาวัฒนธรรมอยู่แล้ว แต่อาจจะมีบางอย่างที่ขัดต่อศาสนาบ้าง เมื่อมีการเผยแพร่หลักปฏิบัติในการแต่งกายให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม โดยถือว่าการเปิดเผยอวัยวะบางส่วนของร่างกายเป็นการไม่เหมาะสม บริเวณที่ควรปกปิดสำหรับผู้ชายได้แก่ อวัยวะตรงกลางลำตัวตั้งแต่บั้นเอวไปถึงกลางน่อง ถ้าเป็นผู้หญิงจะต้องปกปิดทั่วร่างกาย เว้นแต่ใบหน้ากับมือเท่านั้น ขณะนี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการแต่งกายของชาวไทยอิสลามอย่างขนานใหญ่ กล่าวได้ว่าเป็นการปฏิวัติการแต่งกายก็ว่าได้ ภาพการแต่งกายคล้ายชาวอาหรับ ชาวปากีสถาน ชาวบังคลาเทศและอื่น ๆ ได้ปรากฎให้เห็นตามท้องถนน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้างแล้ว ในขณะเดียวกันเอกลักษณ์การแต่งกายดั้งเดิม ก็ถูกดัดแปลงให้เข้ากับหลักศาสนาอิสลาม และสมัยนิยมมากขึ้นตามลำดับ

            การแต่งกายของชาวไทยอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวิวัฒนาการมาตามลำดับ การแต่งกายบางแบบก็เลิกใช้แล้วอย่างชุดกระโจมอก เป็นการแต่งกายของหญิงอิสลามในอดีต และเลิกใช้มาประมาณ ๘๐ ปีแล้ว การแต่งกายแบบนี้สมัยก่อน เป็นที่นิยมทั่วไปสำหรับสวมใส่อยู่ในบ้าน หรือออกงานนอกบ้านก็ได้ ประกอบด้วยผ้าสามชิ้น ชิ้นแรกเป็นผ้าโสร่งปาเต๊ะ หรืออาจใช้ผ้าสตือรอ (ผ้าไหม) ก็ได้ ลักษณะเป็นถุงนุ่งยาวกรอมเท้า ชิ้นที่สองเป็นผ้ากระโจมอก มักใช้ผ้าแอแจ๊ะ (เป็นผ้าไหมลายต่าง ๆ ) หรืออาจใช้ผ้าตลือโป๊ะ (ผ้าไหมมลิโป จากจีน) หรือผ้าปาเต๊ะ ผ้าผืนนี้ยาวประมาณ ๕๐ - ๙๐ นิ้ว กว้างประมาณ ๓๐ - ๘๐ นิ้ว วิธีการกระโจมอกคือให้ชายผ้าทั้งสองข้างห้อยอยู่ตรงกลาง ชิ้นที่สามเป็นผ้าคลุมศีรษะ ซึ่งมักใช้ผ้าป่านมีดอกสวยงาม หรือผ้าปลาเงิน (ผ้าแพรชนิดหนึ่ง ทำเป็นดอกดวงโต โดยการใช้ใบตองแห้งย้อมสีพื้นของผ้า ผ้าชนิดนี้ทำในปัตตานีสมัยก่อน) วิธีคลุมก็อาจคลุมโดยปล่อยชายทั้งสองข้างไว้ข้างหน้า หรือจะตลบชายข้างใดข้างหนึ่ง ให้พาดโอบไปข้างหลังก็ได้ ผู้ที่แต่งกายแบบนี้มักนิยมเกล้าผมมวยแบบโบราณ หรือปล่อยสยายลงมาเมื่ออยู่กับบ้าน

            ในอดีตเมื่อฝ่ายหญิงแต่งกายกระโจมอกดังกล่าว ฝ่ายชายจะนิยมแต่งกายด้วยชุดปูฌอปอตอง ซึ่งปัจจุบันไม่นิยมแล้ว ประกอบด้วยเสื้อคอกลมสีขาว ผ่าหน้ายาวพอสมควร สวมทางศีรษะได้ ติดกระดุมสามเม็ด แขนสั้น ส่วนผ้าที่นุ่งมีลักษณะเหมือนผ้าขาวม้า ทำด้วยสีสันค่อนข้างฉูดฉาด มักเย็บเป็นถุง ใช้นุ่งทับบนเสื้อ วิธีนุ่งต้องให้ชายทั้งสองข้างห้อยอยู่ตรงกลางเป็นมุมแหลม (ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าปูฌอปอตอง) มีผ้ายือแฆ เป็นผ้าจากเมืองจีนคล้ายแพรดอกในตัวหรือไหม เป็นผ้าที่มีขนาดเล็กกว่านุ่งทับบนผ้าปูฌอปอตองอีกชั้นหนึ่ง เสร็จแล้วหน็บกริชหรือหอกด้วยก็ได้ การแต่งกายแบบนี้นิยมใช้สตาแงโพกศีรษะ ภาษามลายูเรียกว่า สตาวัน เป็นผ้าโพกศีรษะที่พับเป็นรูปต่าง ๆ

            การแต่งกายของหญิงไทยอิสลามตามประเพณีดั้งเดิม ที่ยังคงความนิยมในปัจจุบันสำหรับทุกวัยคือชุดกุรง ลักษณะเป็นเสื้อคอกลมติดคอ ผ่าหน้าพอสวมศีรษะได้ ติดกระดุมคอ ๑ เม็ด หรือเข็มกลัด ๑ ตัว แขนกระบอกยาวเกือบจรดข้อมมือ หรือต่ำกว่าข้อศอก ใต้รักแร้ ระหว่างตัวเสื้อและแขนต่อด้วยวผ้าสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ตัวเสื้อหลวม ยาวคลุมสะโพก (คล้ายเสื้อของหญิงปากีสถาน) เสื้อกุรงมักสวมเป็นชุดกับผ้าปาเต๊ะหรือจะใช้ผ้าชนิดเดียวกันกับเสื้อ ทำเป็นถุงธรรมดา หรือนุ่งจีบไว้ข้างเดียวที่สะเอว ข้างใดข้างหนึ่ง ตามแบบการนุ่งผ้าของชาวยะโฮร์มาเลเซีย และหากไปงานหรูหราก็อาจนุ่งผ้ายกเงินทองที่เรียกว่า ผ้าซอแก๊ะ การแต่งกายแบบนี้มีผ้าคลุมศีรษะโดยทั่วไป สมัยก่อนหญิงที่แต่งกายแบบนี้มักจะเกล้าผมมวยหรือถักเปีย

            การแต่งกายของหญิงในท้องถิ่นอีกแบบหนึ่งคือ เสื้อบายอ ลักษณะเป็นเสื้อคอวี ผ่าหน้าตลอดกหลัดหด้วยเข็มกลัด นิยมกลัดสามตัว แต่ละตัวมีสายโซ่ต่อกัน แขนยาวปลายกว้างเล็กน้อย ตัวเสื้อค่อนข้างหลวมยาวคลุมสะโพก ชายเสื้อตรงหรืออาจแหลมเล็กน้อย เสื้อบายอนี้ใช้กับผ้าถุงธรรมดา ปัจจุบันเสื้อบายอเป็นที่นิยมเฉพาะหญิงไทยอิสลามสูงวัยเท่านั้น และมักคลุมศีรษะเช่นเดียวกับการแต่งกายชุดกุรง
            สำหรับหญิงที่เป็นหะยี หรือฮัจยะห์ นิยมคลุมศีรษะสองผืน ๆ หนึ่งเป็นผ้าสีขาวบาง ๆ มีลวดลายเล็ก ๆ หรือไม่มีเรียกว่า มือดูวาเราะห์ เป็นผ้าที่ซื้อมาจากซาอุดิอาระเบีย ใช้สำหรับปิดผมให้มิดชิด และอีกผืนหนึ่งเป็นผ้าป่าน สำรับคลุมตามประพณีท้องถิ่น
            ต่อมาการแต่งกายของหญิงไทยอิสลามได้วิวัฒนาการไปอีกขึ้นหนึ่ง เป็นที่นิยมในหมู่หญิงสาวลักษณะคล้ายเสื้อบายอแต่เน้นรูปทรงกว่า เรียกว่า บานง (ภาษามลายูกลางเรียกว่า บันดง) เป็นเสื้อที่ได้รับอิทธิพลจากอินโดนิเซีย เสื้อบานงปักตัดเย็บด้วยผ้าค่อนข้างบาง อาจปักฉลุลวดลายตรงชายเสื้ออย่างสวยงามเป็นเสื้อคอวี ผ่าหน้าและพับริมปกเกยซ้อนไว้ตลอด กลัดด้วยเข็มกลัดสวย ๆ สามตัว ชายเสื้อด้านหน้าแหลมเสื้อแขนยาวรัดรูปจรดข้อมือ เสื้อบานงใช้นุ่งทับกับผ้าถุงธรรมดาหรือผ้ายก หรือผ้าพับที่ท้องถิ่นเรียกว่า กาเฮงบือเละ ผ้าพันเป็นผ้าลวดลายปาเต๊ะ ยาวประมาณ ๓ เมตร ไม่เย็บเป็นถุง วิธีนุ่งผ้าพันต้องมีเทคนิคเฉพาะเพื่อให้ก้าวขาเดินได้สะดวก โดยเหน็บชายผ้าตรงกลางสะเอวและนิยมให้ปลายผ้าด้านล่างทะแยงเล็กน้อยด้วย

            ต่อมามีการประยุกต์เสื้อบานงเป็นอีกแบบหนึ่ง คือเป็นเสื้อคอวี ปิดทับด้วยลิ้นผ้าสามเหลี่ยมเสื้อแบบนี้เรียกว่า บานงแบแด (ภาษามลายูกลางเรียกว่า บันดงเมดาน) เป็นเสื้อที่ได้รับอิทธิพลจากอินโดนิเซียเช่นกัน นิยมใช้ผ้าลูกไม้ ผ้ากำมะหยี่ ผ้าต่วน และผ้าชีฟอง อาจจุนุ่งกับผ้าถุงธรรมดา ผ้าถุงสำเร็จ ผ้าพันหรือกระโปรงยาวปลายบานก็ได้

            การแต่งกายของชายในท้องถิ่น แต่เดิมนิยมสวมเสื้อตือโละปลางอ ลักษณะเป็นเสื้อคอกลมอาจมีคอตั้งแบบคอจีน หรือไม่ม่ก็ได้ ผ่าหน้าครึ่งหนึ่ง ติดกระดุมโลหะสามเม็ด สมัยก่อนใช้กระดุมทองคำ แขนเสื้อกกระบอกกว้างยาวจรดข้อมมือ แต่พับชายขึ้นมาเล็กน้อย เสื้อแบบนี้ได้รับอิทธิพลจากอินโดนิเซียนิยมนุ่งกับผ้า ปาลิกัต ซึ่งเป็นผ้าจากอินเดีย (เป็นผ้าบางชนิดเดียวกับที่พวงเบงกาลีใช้นุ่ง แต่ชาวเบงกาลีไม่เย็บเป็นถุง ) ลักษณะเป็นผ้าถุงลายขวาง หรือตาหมากรุก ใช้วิธีนุ่งแบบทบทั้งสองข้างเข้าหากัน แลัวขมวดไว้กลางลำตัว
            การแต่งกายด้วยเสื้อตือโละบลางอ อาจมีผ้าคลุมใหญ่ที่เรียกว่า ตีรแบ หรือซือแบ (ภาษามลายูเรียกตีรบัน ) ชุดนี้เป็นที่นิยมสำหรับโต๊ะครู ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ศึกษาศาสนาอิสลาม และอุตตะห์ หรือครูสอนศาสนา โต๊ะครูบางคนนิยมสวมเสื้อนอกแบบสากลทับเสื้อตือโละบลางออีกชั้นหนึ่ง ส่วนบางคนสวมเสื้อสีขาวคล้ายเสื้อตือโละบลางอ แต่ตัวยาวกรอมเท้า และทับด้วยเสื้อนอกก็มี
            ปัจจุบันเสื้อตือโละบลางอบางแบบอาจใช้สวมกับกางเกงขายาวแบบสากล แต่ยังคงสวมหมวกซอเก๊าะ ที่ทำด้วยผ้ากำมะหยี่สีต่าง ๆ (คล้ายหมวกของชนบางกลุ่ม ในปากีสถาน และชาวตะวันออกกลางบางประเทศเช่นตุรกี) สีที่เป็นที่นิยมกันมากคือ สีดำ หรืออาจสวมหมวกขาว ที่เรียกว่า กูปีเยาะ เป็นหมวกทรงกลมทำด้วยผ้าปักดกิ้นแวววาว หรือปักด้วยด้ายธรรมดาหรือถักด้วยโครเชด์ ทั้งใบก็มี

            ในวันนักขัตฤกษ์ หรือวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม เช่นวันตรุษ ชายอิสลามในท้องถิ่นนี้อาจจะแต่งกายอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า สีลแน (ภาษามลายูกลางเรียกว่า เซอรเลนดัง ) ลักษณะเหมือนชุดประจำชาติมาเลเซีย เรียกว่า ชุดเกอบังซาอัน ใช้ในพิธีต่าง ๆ ที่เป็นทางการ ประกอบด้วยเสื้อตือโละบลางอ นุ่งกับกางเกงแบบจีน มีผ้าซอแก๊ะขนาดสั้นกว่า ใช้เป็นผ้านุ่งของผู้หญิง นุ่งทับกางเกงให้ยาวเหนือเข่าอาจเหน็บกริชที่เอว และสวมสตาแงก็ได้

            ในวันแต่งงานของชาวไทยอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คู่บ่าวสาวที่มีฐานะนิยมใช้ผ้าสีแวววาว หรือผ้าซอแก๊ะ บ่าวสาวมักใช้ผ้าชนิดเดียวกันทั้งชุด เจ้าสาวนิยมเสื้อบานง หรือแบบประยุกต์อื่น ๆ ยาวคลุมสะโพก นุ่งผ้าถุงแบบธรรมดา หรือถุงสำเร็จหรือกระโปรงยาวกรอมเท้า ประดับดก้วยเครื่องประดับหลายชิ้น มักเกล้ามวยเพื่อให้รับกับดอกไม้ที่ปักเรียงรายเป็นแถวดูสวยงาม เจ้าบ่าวแต่งด้วยชุดสีลแน ใช้ผ้าชนิดเดียวกันทั้งชุดตั้งแต่ตัวเสื้อกางเกง ผ้าทับกางเกงและสตาแง มักมีกริชเหน็บไว้ด้วย

            ปัจจุบันมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสามที่เรียกว่า โรงเรียนปอเนาะ เกิดขึ้นทั่วไปในถิ่นนี้ทางโรงเรียนได้กำหนดชุดนักเรียนขึ้น โดยให้นักเรียนชายจะสวมเสื้อเชิร์ตสีขาว กางเกงขายาวสีดำ หรือสีกกรมท่า สวมซอเกาะหรือกูปิเยาะ ส่วนนักเรียนหญิงจะแต่งกายด้วยชุดดะวะห์ ประกอบด้วยเสื้อกุรงสีขาว ผ้าถุงสีพื้นจะเป็นสีอะไรก็ได้ อาจเป็นผ้าถุงสำเร็จหรือกระโปรงปลายบานยาวกรอมเท้า มีผ้าคลุมศีรษะประกอบด้วยผ้าสีดำสำหรับปิดผม แล้วคลุมทับด้วยผ้าขาวหรือดำยาวคลุมไหล่อีกชิ้นหนึ่ง
            การแต่งกายชาวไทยอิสลามโดยทั่ว ๆ ไป ในปัจจุบันได้ประยุกต์ การแต่งกายแบบพื้นเมืองและแบบสากลเข้าด้วยกัน ตามชนบทชายไทยอิสลามมักจะแต่งกายแบบง่าย ๆ เรียบ ๆ ซึ่งจะพบเห็นอยู่ทั่วไป คือนุ่งผ้าปาลิกัต แบบหยักรั้งตลบชายทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน ม้วนชายพกไว้ด้านหน้า สวมเสื้อเชริ์ต หรือเสื้อยืดหรือไม่สวมเสื้อ นิยมใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าคลุมศีรษะของผู้หญิงพับเป็นแถว กว้างประมาณ ๔ นิ้ว พันศีรษะคาดไว้ที่หน้าผาก แล้วโพกโอบรอบไปทางท้ายทอยและพับเหน็บไว้ หรืออาจจะใช้ผ้าดังกล่าวคาดเอวไว้ ถ้าเป็นชาวบ้านไปทำไรทำสวนก็มักจะเหน็บพร้าไว้ที่สะเอวด้านหลัง ส่วนหญิงชาวบ้านยังนุ่งผ้าปาเต๊ะ เสื้อบานงหรือบายอ หรือกุรง
หรือเสื้อประเภทท่อนที่ตัดเย็บแบบสากลหรือเสื้อยืด ถ้าอยู่กับบ้านมักไม่ใช้ผ้าคลุมศีรษะ เมื่อออกจากบ้านบางครั้งจะคลุมศีรษะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะ วัย และการศึกษา
            ในห้วงระยะเวลาไม่นานมานี้ชาวไทยอิสลามได้เดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในตะวันออกลางเพื่อประกอบพิธีฮัจย์ หรือศึกษาหรือทำงานเป็นจำนวนมากขึ้น ทำให้ลักษณะการแต่งกายของชาวไทบอิสลาม ได้รับอิทธิพลจากประเทศดังกล่าวมากขึ้นตามลำดับ ประกอบกับการเผยแพร่ศาสนาของ กลุ่มดะวะห์ ทำให้เกิดการแต่งกายเลียนแบบผู้นำดะวะห์ อีกแบบหนึ่งด้วย
            การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ควรคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งทางด้านกายภาพ และประเพณีอันดีงาม ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวไทยอิสลาม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้สืบทอดกันมาแต่โบราณ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย สะอาด และประหยัด ไม่ควรไปตามประเทศอื่น ที่มีสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |