| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

พื้นที่ป่าไม้

            ประกอบด้วยป่าสงวนแห่งชาติกับอุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า
            ป่าสงวนแห่งชาติ  มีอยู่ ๑๑ ป่าด้วยกัน มีพื้นที่ประมาณ ๖๖๘,๐๐๐ ไร่ ดังนี้
            ป่ากะบัง ๑๖๙,๐๐๐ ไร่  ป่าลาบู ๒๐๙,๐๐๐ ไร่  ป่าลาก๊ะ ๑๑,๐๐๐ ไร่  ป่าจะก๊วะ ๑๗,๕๐๐ ไร่  ป่าตันหยงกาลอ ๗,๒๐๐ ไร่  ป่าเซาใหญ่ ๒๔,๐๐๐ ไร่  ป่าสกายอกูวิง ๘,๑๐๐ ไร่  ป่าเบตง ๑๗๕,๐๐๐ ไร่  ป่ากาโสด ๖,๓๐๐ ไร่  ป่าเทือกเขากาลอ ๔๒,๐๐๐ ไร่ และป่าบูกิ๊ตตำมะซู ๓๐๐ ไร่
            นอกจากนี้ยังมีป่าเตรียมสงวนอีกสองป่ามีพื้นที่ประมาณ ๓๑๙,๐๐๐ ไร่ คือป่าฝั่งขวาแม่น้ำปัตตานี ๒๕๔,๐๐๐ ไร่ และป่าหลา - ฮาลา ๖๕,๐๐๐ ไร่
            อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  มีอยู่แห่งเดียวคือ อุทยานแห่งชาติบางลาง มีพื้นที่ครอบคลุมเขตอำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีพื้นที่ประมาณ ๑๖๓,๐๐๐ ไร่
ต้นน้ำลำธารและแหล่งน้ำสำคัญ

            จังหวัดยะลามีพื้นที่ลุ่มน้ำอยู่ประมาณ ๘,๖๕๐ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขาคือ แม่น้ำปัตตานีตอนกลางอยู่บริเวณอำเภอเมือง ฯ และอำเภอบันนังสตา มีพื้นที่ประมาณ ๓,๘๑๐ ตารางกิโลเมตร  แม่น้ำปัตตานีตอนบนบริเวณอำเภอเบตง และอำเภอธารโต มีพื้นที่ประมาณ ๑,๖๘๐ ตารางกิโลเมตร  แม่น้ำปัตตานีตอนล่างบริเวณอำเภอยะหา มีพื้นที่ประมาณ ๒,๑๘๐ ตารางกิโลเมตร  คลองเทพาบริเวณอำเภอยะหา มีพื้นที่ประมาณ ๔๔๐ ตารางกิโลเมตร และแม่น้ำสายบุรีในเขตอำเภอรามัน มีพื้นที่ประมาณ ๕๔๐ ตารางกิโลเมตร
เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ

            น้ำพุร้อน  ตั้งอยู่ที่บ่อน้ำร้อน ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง ความร้อนของน้ำสามารถต้มไข่สุกได้ ภายใน ๗ นาที ผู้ที่นิยมอาบน้ำแร่เชื่อว่าสามารถรักษาโรคปวดเมื่อยและโรคผิวหนังได้

            เบตงเมืองในหมอก  เบตงเป็นภาษามลายูหมายถึงไม้ไผ่ เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศไทย เป็นประตูสู่มาเลเซีย โอบล้อมด้วยทิวเขาสูง อากาศเย็นสบาย มีฝนตกชุก มีหมอกปกคลุมตอนเช้าในฤดูหนาวจะมีนกนางแอ่นมาพักอาศัยในเมืองนับแสนตัว ทางไปสู่อำเภอเบตงเต็มไปด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์ของป่าบาลา - ฮาลา เต็มไปด้วยป่าดงดิบชื้น และทะเลสาบบนภูเขา มีเกาะเล็ก เกาะใหญ่อยู่ในทะเลสาบมากมาย

            กล้วยหิน  เป็นกล้วยป่าชนิดหนึ่ง ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีมากในเขตอำเภอบันนังสตา มีลักษณะหวีและผลแตกต่างไปจากกล้วยชนิดอื่น ๆ ขนาดเล็กกว่ากล้วยน้ำว้าเล็กน้อย เปลือกหนา เนื้อน้อย
            ต้นกล้วยหิน  สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนคือ
                - ราก  นำมาทำสมุนไพรทั้งสดและแห้ง
                - ลำต้น  ปอกส่วนที่เป็นหยวกใช้แกงกับเนื้อหรืออื่น ๆ มีรสอร่อยกว่าหยวกกล้วยชนิดอื่น
                - ใบ  ใช้ห่อขนม
                - ปลี  ใช้กินได้เช่นปลีกล้วยทั่วไป
                - ผล  ไม่นิยมกินตอนสุกงอมเหมือนกล้วยอื่น ๆ แต่นิยมทำแปรรูปเป็นขนมได้หลายชนิดเช่น ทำกล้วยเชื่อม กล้วยบวชชี กล้วยยทับ กล้วยยทอด กล้วยหมก กล้วยต้ม

            ปลามังกร  เป็นปลาน้ำจืดตระกูลกินเนื้อ มีนิสัยดุร้าย ชอบเล่นแสงไฟมีรูปร่างยาวเรียว ตัวแบนคล้ายปลากระบอก ตัวโตเต็มที่ยาวประมาณสองฟุตเศษ ลำตัวกว้างประมาณ ๑๐ นิ้ว เป็นปลาที่มีอายุยืน ชอบกินสัตว์ที่มีชีวิต มีสีสันแตกต่างกัน แบ่งเป็นสามชนิดคือ
                - ปลามังกรเงิน  เล็ดจะมีสีขาว พบมากในลุ่มแม่น้ำสายบุรี บึงน้ำใส
                - ปลามังกรทอง  เล็ดเป็นสีทองออกแดงเรื่อ ๆ เป็นปลาที่หาได้ยากในประเทศไทย มีราคาสูง
                - ปลามังกรเกล็ดสีน้ำเงิน  มีราคาแพงที่สุด
            ปลามังกร บางพื้นที่เรียกปลายตะพัด ส่วนในจังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียงเรียกว่า ปลากรือซอ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |