| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ภูมิปัญญาชาวบ้าน

            การทำนาปลูกข้าว  ฤดูทำนาของชาวท้องถิ่นสระแก้วโดยทั่วไปจะทำในฤดูฝนเรียกว่า การทำนาปี ส่วนการทำนาในฤดูแล้ง นอกฤดูทำนาที่เรียกว่า การทำนาปรัง ซึ่งต้องอาศัยระบบการชลประทาน มีคูคลอง ส่งน้ำเข้าถึงและต้องมีน้ำมากพอ และทำได้ในบางท้องที่เท่านั้น
            ในการปลูกข้าว ชาวบ้านจะพิจาณาดูลักษณะของพื้นที่ปริมาณน้ำว่าเหมาะที่จะปลูกข้าวด้วยวิธีการใด จึงจะได้ผลตอบแทนสูงมีทั้งการทำนาดำนาหว่าน และทำไร่ข้าว

                การทำนาดำ  พื้นที่นาสำหรับการทำนำดำ จะมีลักษณะเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง แปลงนานาดำ คือนาชนิดที่ใช้ต้นกล้ามาปลูก จะต้องเตรียมตกกล้า หรือทำเทือก คือเตรียมดินด้วยการไถคราด แล้วทำให้เป็นโคลนเป็นตม เตรียมเมล็ดข้าวเปลือกด้วยการเอาไปแช่น้ำ หรือรดน้ำให้ชุ่มจนแตกปากจาบคือ เปลือกข้าวแตกอ้ามีรากงอกยาว จึงนำไปหว่านลงแปลกล้าที่ทำเทือกแล้ว
                เมื่อต้นกล้าหรือต้นข้าวที่เพาะไว้เจริญเติบโตพอ จึงถอนกล้าเอาไปปลูกในแปลนาที่ไถคราด พร้อมไว้แล้วเรียกว่า ดำนา การทำนาดำข้าวจะแตกกอเจริญงอกงามดี เพราะต้นข้าวไม่เบียดเสียดแย่งกันขึ้น ทำให้ผลผลิตสูง ใช้เมล็ดข้าวเปลือกในการปลูกน้อย และเก็บเกี่ยวได้สะดวก
                การทำนาหว่าน  พื้นที่นาในการทำนาหว่านจะมีน้ำน้อยไม่สามารถทำการปักดำได้ หรือในกรณีที่ปักดำไม่ทัน หลังไถคราดเสร็จจึงทำนาหว่าน คือ ปลูกข้าวด้วยการหว่านเมล็ดข้าวเปลือกลงในนาแล้ว ปล่อยให้เจริญเติบโตจนเก็บเกี่ยวได้ เป็นการทำนาที่สะดวก ใช้เวลาและแรงงานน้อย
                การทำไร่ข้าว (การหยอดข้าวไร่) ก่อนฤดูทำนาปี ประมาณปลายฤดูร้อนพอมีฝนตกมาบ้างแล้ว ในพื้นที่ดอนชาวบ้านจะทำไร่ข้าวโดยวิธีหยอดเมล็ดข้าว โดยเอาข้าวเปลือกใส่กระบอกไม้ไผ่ลวก หยอดลงในหลุมที่ขุดด้วยการใช้ไม้ไผ่ปลายแหลมหนึ่งหรือสองอัน สักเดินเป็นหลุมเล็ก ๆ ห่างกันประมาณคืบเศษ แล้วหยอดเมล็ดข้าวลงไปในหลุมละ ๕ - ๖ เมล็ด จากนั้นใช้กระบอกปาดดินและกระทุ้งดินกลบหลุม ทิ้งไว้ให้เมล็ดข้าวเจริญเติบโตเอง โดยอาศัยฝนช่วงปลายฤดูร้อนที่เริ่มตกลงมาบ้าง จนเก็บเกี่ยวได้จะได้ข้าวไว้กินก่อนนาปี

                การเก็บเกี่ยวข้าว  ใช้เคียวเกี่ยว มีประเพณีลงแขกช่วยกันเกี่ยวข้าว เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวข้าวได้ทันเวลา ปัจจุบันใช้เครื่องจักรมาเกี่ยวข้าวทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
                การเตรียวต้นข้าวก่อนการเกี่ยวข้าว ชาวบ้านจะใช่ไม้ไผ่ลำยาว ๆ ออกไปนาบข้าวให้ต้นข้าวล้มเอนไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้สะดวก รวงข้าวที่เกี่ยวเสร็จแล้วนำมามัดรวมกันเรียก ฟ่อนข้าว

                การลำเลียงฟ่อนข้าวเข้ายุ้งฉาง ใช้เลื่อน ซึ่งเป็นพาหนะไม่มีล้อ จะใช้ไม้ท่อนยาว ๆ ตัดให้ปลายไม้โค้งงอน กระดกขึ้นแทนล้อ และใช้วัวควายลาก บรรทุกฟ่อนข้าวมารอการนวด ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเอาล้อมาใส่ โดยใช้ยางรถยนต์เก่าสวมกงล้อไม้เรียกกันว่า ล้อ ใช้บรรทุกสิ่งของได้สารพัดอย่าง
                การนวดข้าว  พื้นที่สำหรับนวดข้าวเรียกว่า ลานข้าว มีการถากปัดหน้าดินพื้นที่บริเวณนั้นให้เรียบแน่น ใช้มูลวัว ควาย เปียกมาผสมน้ำย่ำด้วยเท้า เทลาดปิดหน้าดินแล้วทิ้วไว้ให้แห้ง เป็นการเคลือบหน้าดินไม่ให้มีเศษวัสดุอื่นมาเจือปนกับเมล็ดข้าวเปลือก

                การนวดข้าวถ้ามีจำนวนมาก ๆ จะใช้วัวควายหลายตัวมาเหยียบย่ำฟ่อนข้าวที่เรียงไว้บนลาน จนเมล็ดข้าวร่วงหลุดจากฟางจนหมด จากนั้นจะใช้คันฉายเป็นเครื่องมือเขี่ยสงฟางออกจากเมล็ดข้าวไปกองไว้รอบ ๆ ลาน การรวมกองข้าวเปลือกจะใช้ไม้คทา หรือกะทา ลากกวาดเมล็ดข้าวมารวมกันเป็นกอง
                การแยกเศษฟาง  ชาวนาจะใช้วิธีสาดข้าว โดยการสาดข้าวเปลือกขึ้นไปบนอากาศ บรรดาผงฟาง ข้าวลีบ และฝุ่นละอองที่ปะปนอยู่จะถูกลมพัดปลิวออกไป คงเหลือแต่เมล็ดข้าวตกลงมากองรวมอยู่บนพื้นลาน
                การเก็บข้าวเปลือก  การขนข้าวเปลือกไปเก็บจะใช้เกวียนบรรทุก โดยมีเสื่อลำแพนที่สานจากไม้ไผ่กรุไว้ในเกวียน เพื่อรองรับข้าวเปลือก เกวียนหนึ่งเล่มบรรทุกข้าวเปลือกได้ ๑๐๐ ถัง
                ข้าวเปลือกจะนำไปเก็บไว้ในยุ้งฉางซึ่งมีทั้งที่ปลูกสร้างด้วยไม้และสร้างด้วยไม้ไผ่ โดยใช้ฟางข้าวที่ชุบหรือสอด้วยดิน มูลวัวมูลควาย มาทำเป็นพื้นและเป็นฝาของยุ้งข้าว ยุ้งข้าวนี้จะมีคุณสมบัติในการรักษาอุณหภูมิ จึงเก็บข้าวได้ดี และไม่สิ้นเปลืองไม้  วัสดุที่ใช้มีในท้องถิ่น หาได้ง่าย

                การแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร  ใช้วิธีสีและตำ เครื่องสีข้าวด้วยมือทำด้วยไม้ไผ่สานฉาบด้วยดินมูลวัวควาย มีลักษณะคล้ายโม่หินที่ใช้โม่แป้ง มีส่วนประกอบสามส่วนคือส่วนรองรับและบดเมล็ดข้าวเปลือก ส่วนที่หมุนได้เป็นลูกโม่ และที่ใส่ข้าวเปลือก และคันไม้มือจับสำหรับหมุนเพื่อบดสีข้าว
                ถ้าต้องการข้าวสารไม่มากจะใช้วิธีตำด้วยครกและสากไม้ ข้าวที่ได้จากการสีหรือการตำจะมีเปลือกข้าวหรือแกลบปนอยู่ ต้องนำไปฝัด แยกเอาแกลบและรำออก โดยใช้กระด้งฝัดข้าวหรือใช้สีฝัด คือเครื่องฝัดข้าวที่ใช้การหมุนกงพัดให้เกิดลมพัดแกลบ และรำออกจากเมล็ดข้าว
                ข้าวที่ได้ยังมีเปลือกข้าวอยู่ เรียกว่า ข้าวกล้อง  ชาวบ้านจะขัดเอาเปลือกข้าวออกบ้างเรียกว่า ซ้อมข้าว โดยการนำไปตำด้วยครกไม้ใช้ตะลุมพุก คือสากไม้คล้ายค้อนทำด้วยท่อนไม้ขนาดใหญ่มีด้ามจับ หรือใช้ครกกระเดื่อง ซึ่งตำด้วยเท้าก็จะได้ข้าวสารที่ขัดแล้ว

                การนำน้ำมาใช้ในครัวเรือนและการเกษตร  ชาวบ้านจังหวัดสระแก้วรู้จักหาแหล่งน้ำและกักเก็บน้ำเพื่อให้มีกินมีใช้ได้ตลอดปี
                การขุดบ่อ  เพื่อเป็นน้ำดื่มน้ำใช้ในครัวเรือน เป็นน้ำซึมจากหน้าดินคือบ่อน้ำตื้น หรือบ่อน้ำบาดาลซึ่งได้น้ำมาจากชั้นหินใต้ดิน
เป็นตาน้ำผุดขึ้นมาตามรอยแตกแยกของหิน น้ำที่ได้จะใสสะอาดเนื่องจากผ่านขบวนการกรองตามธรรมชาติจากชั้นดินมาแล้ว
                การขุดบ่อหรือสระใกล้กับบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติหรือในไร่นาเพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ขอบบ่อหรือสระจะยกสูงขึ้นทำประตู หรือช่องเปิดปิดน้ำเข้าออก ในฤดูแล้ง เมื่อน้ำแห้งงวดลงก็จะได้เปิดช่องให้น้ำเข้ามา ซึ่งมักจะมีสัตว์น้ำหลายชนิดตามหนองน้ำหรือในนาข้าวเข้ามาอาศัยอยู่ พื้นที่ปบริเวณขอบบ่อหรือสระก็ใช้เป็นที่เพาะปลูกพืชผักสวนครัว ส่วนในบ่อหรือในสระ ก็ปลูกพืชน้ำที่กินได้หลายชนิด
                การสำรวจพื้นที่หาแหล่งน้ำใต้ดิน  จะสำรวจในฤดูหนาวหรือฤดูแล้ง มีวิธีการต่าง ๆ ที่ใช้สำรวจคือ
                ใช้กะลามะพร้าวตรวจสอบปริมาณไอน้ำที่ระเหยจากดิน  โดยนำกะลามะพร้าวไปวางคว่ำไว้ ณ บริเวณที่คาดว่าจะมีน้ำ
ตามจุดต่าง ๆ ไว้ข้ามคืน รุ่งเช้ามาหงายกะลาดู บริเวณที่มีแหล่งน้ำใต้ดินจะมีหยดน้ำเกาะอยู่ภายในกะลาเป็นจำนวนมากจนชุ่มโชก
                สังเกตบริเวณที่มีจอมปลวก  ดินจอมปลวกจะมีความชื้นเปียกอยู่เสมอ
                สังเกตจากอุณหภูมิความอุ่นของพื้นดิน  ในเวลากลางคืนเมื่อพื้นดินคลายความร้อนแล้ว บริเวณใดมีน้ำใต้ดินอยู่ พื้นดินจะอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา
                สังเกตดูพื้นดินบริเวณที่มีน้ำซึมขึ้นมา  ผิวดินจะบวมพอง เมื่อเหยียบดู พื้นดินจะนิ่ม
                บริเวณที่มีต้นไม้ล้มลุก  ต้นหญ้าขึ้นเขียวงอกงามกว่าบริเวณอื่น ๆ ที่อยู่รอบ ๆ
                สังเกตลักษณะภูมิประเทศ  บริเวณพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มต่ำกว่าบริเวณอื่น ๆ โดยรอบ
                วิธีนำน้ำมาใช้  มีเครื่องทุ่นแรงและภาชนะตักน้ำอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน
                ภาชนะตักน้ำ  มีหลายแบบ ถ้าสานด้วยไม้ไผ่จะยาด้วยชัน ยางไม้ เพื่อป้องกันน้ำวิ่ง เรียกว่า ครุ หรือใช้ไม้ไผ่ตัดเป็นกระบอก หรือใช้กะลามะพร้าวตักน้ำใช้ในครัวเรือน ถ้านำมาต่อด้ามไม้เรียกกระบวยตักน้ำ นอกจากนี้ยังมีภาชนะอื่น ๆ ที่ใช้สำหรับบรรจุน้ำ เช่น โอ่ง ไห เป็นต้น

            การนำน้ำขึ้นจากบ่อจะใช้เชือกผูกกับภาชนะตักน้ำเช่น ครุ ถัง ปี๊บ ฯลฯ ถ้าไม่ใช้เชือกก็ใช้ลำไม้ไผ่รวกโยง สาวน้ำขึ้นมาด้วยกำลังคนซึ่งจะหนักแรง จึงได้มีการประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรง โดยการใช้คันกระเดื่อง ซึ่งทำจากลำไม้ๆผ่ลำใหญ่ยึดติดกับเสาหลัก ใช้ตักน้ำขึ้นจากบ่อ
                   การลำเลียงน้ำ  ชาวบ้านจะใช้ไม้คานซึ่งส่วนใหญ่ทำจากไม้ไผ่มาหาบน้ำ นอกจากนี้ยังมีการทำรถเข็นหรือรถไสมาใช้ลำเลียงน้ำซึ่งจะได้ปริมาณ และเบาแรงกว่าการหาบ
                   การนำน้ำเข้าสู่ไร่นา  จะขุดคลอง ส่งน้ำไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และสร้างคันดินกักเก็บน้ำ มีการสร้างทำนบกักน้ำ และทดน้ำไปใช้ ในกรณีที่แหล่งน้ำอยู่ต่ำกว่าพื้นที่การเกษตรจะใช้ระหัดวิดน้ำ ชักน้ำเข้าแปลงนา แปลงสวน
                    ปัจจุบันนิยมใช้คันโยก ปั๊มน้ำในการนำน้ำขึ้นจากบ่อ ใช้เครื่องสูบน้ำส่งน้ำเข้าพื้นที่ไร่นา

            เครื่องมือที่ใช้ในการเกษตรกรรม และในครัวเรือน  เพื่อใช้ในงานขุดดิน กำจัดวัชพืช ตีด ฟัน ถาก เหลา เสี้ยมไม้ เป็นต้น มีอยู่หลายชนิดด้วยกันสำหรับใช้ในงานต่าง ๆ คือ
                    จอบ  ใช้ขุดดิน ถากหญ้า ปรับหน้าดิน ขุดร่องทำแปลง ปั้นคันนา ฯลฯ
                    เสียม  ใช้ขุดแซะดินปลูกพืช ขุดหาอาหาร จากพืชที่มีหัวอยู่ใต้ดิน
                    อีปิก  ใช้ขุดของแข็ง หรือหิน
                    มีดโต้ (อีโต้)  ใช้ฟันตัดไม้ มีสันหนา ปลายมีดโต หรือหัวโต
                    มีดขอ (อีขอ)  ใช้เหลาไม้ไผ่ จักเส้นตอก มีใบมีดสั้น ปลายบางคม มีด้ามยาวงอน
                    ขวานหมู  ใช้ตัด ถาก ฟันไม้ มีสันหนา มีบ้องยาวตามสัน ด้ามสั้น
                    ขวานโยน  ใช้ตัด ขุด ถากไม้ บ้องที่หัวปิดได้ มีด้ามยาว
                    ขวานผ่าฟืน  ใช้ฟัน ตัดผ่าโค่นต้นไม้ ใบขวานใหญ่ ด้ามยาว
                เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา  แต่เดิมใช้เครื่องมือที่ใช้พลิกหน้าดินคือ ไถ ใช้แรงวัวความลากไปเพื่อกลับดิน การใช้วัวควายสามตัวเรียกว่า ไถคู่ ถ้าใช้เพียงตัวเดียวเรียกว่า ไถเดี่ยว
                ไถ  ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ประกอบด้วยส่วนที่เป็นผาล คือเหล็กสำหรับสวมติดกับหัวหมู ซึ่งเป็นส่วนของไถตอนล่างสุด ใช้ในการพลิกหน้าดิน ที่สำหรับผูกโยงเชือกเทียมควายคือ คันไถ หรือคันชัก ส่วนที่เป็นหางไถสำหรับมือถือจับเพื่อควบคุมบังคับในการไถเรียกว่า หางยาม ไม้ที่ใช้พาดวางบนคอวัวควาย และผูกติดกับคันไถเรียกว่า แอก มีทั้งแอกคู่ และแอกเดี่ยวหรือแอกน้อย
                การกำจัดวัชพืชออกจากพื้นที่เพาะปลูก จะใช้คราด ซึ่งทำด้วยไม้เนื้อแข็ง หรือไม้ไผ่ ใช้แรงวัวควายลาก มีแอกผูกโยงติดกับคันชัก ที่ตัวคราดเป็นซี่ไม้สั้น ๆ ปลายแหลมมน ผูกหรือตอกติดแน่นเป็นแถว เว้นระยะระหว่างซี่คราดพอสมควร ส่วนบนเป็นที่สำหรับมือจับบังคับการคราด
                การคราด จะทำหลังจากไถแล้ว เพื่อเก็บลากเอาวัชพืชต่าง ๆ ออก และทำดินให้ซุย พร้อมที่จะหว่าน ดำ หรือปลูกพืชได้

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |