| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ศาสนา พิธีกรรมและความเชื่อ
            ศาสนา  ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่เข้ามาในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่สมัยทวารวดีและลพบุรี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา ได้มีการขุดพบเศียรพระพิมพ์ ซึ่งมีรูปแบบศิลปะลพบุรี บริเวณในเขตอำเภอเขาฉกรรจ์ และพบพระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะลพบุรี และทวารวดีในเขตอำเภอตาพระยา
                ศาสนฮินดู (พราหมณ์)  ในสมัยโบราณเขตจังหวัดสระแก้ว อยู่ในอำนาจการปกครองของเขมร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนาฮินดูในแถบสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ - ๘ ดังจะเห็นจากโบราณสถานและโบราณวัตถุในเขตอำเภอตาพระยา อำเภออรัญประเทศ อำเภอวัฒนานคร มีทั้งลัทธิไศวนิกาย และไวษณพนิกาย จะเห็นได้ว่ามีความเชื่อตามคติพรหมณ์สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านอยู่มาก เช่น การตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ การทำขวัญนาค และการถือฤกษ์ผานาที เป็นต้น
                ต่อมาเมื่อเขมรเสื่อมอำนาจลงอิทธิพลของศาสนาพุทธได้ถูกปรับผสมกลมกลืนไปกับพุทธศาสนา กลายเป็นความเชื่อแบบไทยขึ้นคือ นับถือทั้งพระและเทพต่าง ๆ พิธีกรรมต่าง ๆ จึงมีทั้งพุทธและพราหมณ์ผสมกันไป
                ศาสนาคริสต์  ได้แพร่เข้ามาในดินแดนแถบนี้ พร้อมกับการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก หลังจากที่ไทยเสียเขมรส่วนในคือพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้ฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้เกิดความวุ่นวายในกัมพูชาเป็นเวลานานหลายสิบปี ทำให้การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ชะงักลง
                นิกายของศาสนาคริสต์ในเขตจังหวัดสระแก้วคือ นิกายโรมันคาธอลิค และนิกายโปรแตสแตนท์ นิกายโรมันคาาธอลิคได้รับความเชื่อถือมากกว่า ปัจจุบันพบโบสถ์คริสต์หลายแห่งเช่นที่อำเภอเมือง ฯ อำเภอวังน้ำเย็น และอำเภออรัญประเทศ นอกจากนี้ยังพบการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเขตที่มีผู้อพยพตามแนวชายแดน การเผยแพร่ศาสนาคริสต์มาในรูปแบบการจัดการศึกษาในโรงเรียนเอกชนตามหมู่บ้านต่าง ๆ มีการประกอบศาสนกิจเช่น สวดมนต์วันอาทิตย์ วันคริสต์มาส เป็นต้น
                 ศาสนาอิสลาม  มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่บ้างแต่ไม่ปรากฎศาสนสถาน มีการพบซากมัสยิดในตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ สันนิษฐานว่าการเข้ามาของศาสนาอิสลามในเขตจังหวัดสระแก้วน่าจะเข้ามาพร้อมกับการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของพวกแขกปาทาน ซึ่งประกอบอาชีพเลี้ยงวัวตามเขตอำเภอวัฒนานคร และอำเภอวังน้ำเย็น นิกายที่พบส่วนใหญ่เป็นนิกายสุหนี่ เหมือนชาวอิสลามในไทยทั่ว ๆ ไป
            ความเชื่อ  มีความเชื่อแและพิธีกรรมในเรื่องต่าง ๆ หลากหลายตามคติของแต่ละกลุ่มชน ส่วนใหญ่มีความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม และความเชื่อในเรื่องโชคลาง ความฝัน ปรากฎการณ์ธรรมชาติ ลักษณะของบุคคล ภูตผีปีศาจ รวมทั้งเครื่องลางของขลัง
ขนบธรรมเนียมประเพีณีท้องถิ่น
            ลักษณะทางสังคม วัฒนธรรมระยะแรกได้รับอิทธิพลจากเขมรที่นับถือศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู มีการบูชาเทพเจ้า เทวรูปต่าง ๆ ในสมัยต่อมามีการผสมผสานวัฒนธรรม ความเชื่อระหว่างศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธเข้าด้วยกัน
            สมัยต่อมามีประชากรจากหลายท้องถิ่นในภาคต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน รวมถึงชาวต่างชาติที่อยพยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเช่น ไทยย้อ ชาวจีน ชาวเวียดนาม และชาวกัมพูชา ดังนั้นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสระแก้ว จึงมีความหลากหลาย และมีลักษณะผสมผสานจากกลุ่มชนต่าง ๆ
            เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาสืบต่อกันมาช้านาน พุทธศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและทัศนคติในการดำเนินชีวิต วัดจึงเป็นศูนย์กลางเสมือนศาลาประชาคม เป็นแหล่งก่อให้เกิดการเรียนรู้ ระเบียบแบบแผน และค่านิยมของสังคม เป็นแหล่งประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีพระสงฆ์เป็นผู้นำด้านความเชื่อความศรัทธา
            การแต่งกาย  ในระยะแรกได้รับอิทธิพลจากเขมร ผู้ชายจะนุ่งผ้าแถบถกเขมร ไม่สวมเสื้อ ผู้หญิงบจะนุ่งผ้าสีคล้ายผ้าซิ่นไม่เย็บข้าง เวลานุ่งจะตวัดชายทั้งสองไว้ด้านข้าง แล้วคาดเข็มขัดทับ ใช้ผ้ารัดอก แทนเสื้อ มุ่นผม ต่อมาเริ่มปล่อยผมยาวประบ่า เมื่อรับวัฒนธรรมสมัยอยุธยา ผู้ชายจะนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมแขนสามส่วน ไว้ผมทรงหลักแจว ผู้หญิงนุ่งห่มผ้าจีบ และผ้ายก ห่มสไบ และผ้าแถบเวลาอยู่บ้าน ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม
            ปัจจุบันชาวสระแก้ว แต่งกายแบบสากล ตามปกติจะแต่งกายตามสบาย แต่สภาพทั้งแบบและสีของเสื้อผ้า ผู้ชายใส่ชุดสากลหรือชุดพระราชทาน ส่วนผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าประเภทผ้าซิ่น ผ้าทอ กางเกง กระโปรง สวมเสื้อสำเร็จรูป หรือเสื้อสวมเป็นชุดทำงานตามสมัยนิยม
            นอกจากนี้ชาวสระแก้วยังมีการแต่งกายของกลุ่มชนต่าง ๆ เช่นการแต่งกายของชาวไทยย้อ ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม และชาวไทยเชื้อสายเขมร
            ประเพณีส่วนสังคมของชาวไทยย้อ ที่สำคัญมีดังนี้
                ประเพณีสืบชะตาบ้าน  เป็นการทำบุญร่วมกันของคนทั้งหมู่บ้าน โดยผู้ใหญ่บ้านจะนัดหมายกับลูกบ้านว่าจะทำวันใด แล้วใช้ลานกว้างที่กลางหมู่บ้าน เป็นที่ประกอบพิธี และจะโยงสายสิญจน์ไปจากสถานที่ประกอบพิธีไปทั่วทุกเรือน นิมนต์พระสงฆ์เก้ารูปมาสวดมนต์ และฉันภัตตาหารเพล โดยชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายพระแล้ว ต้องนำกระทงสี่แจง (มุม) ที่ทำด้วยกาบกล้วย ที่มุมกระทงจะปักธงกระดาษสามชาย ภายในกระทงแบ่งเป็นสี่ช่องใส่ข้าว ของหวาน ของคาว ข้าวตอกดอกไม้ อย่างละส่วน นำมาเข้าพิธีเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ หลังจากนั้นจะทำพิธีหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) แล้วนำกระทงนั้นไปทิ้งในป่าทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน
                ประเพณีขึ้นเขาของไทยย้อคลองน้ำใส  เพื่อขึ้นเขาไปนมัสการเจ้าพ่อเขาน้อย จะทำพิธีในวันขึ้นสิบห้าค่ำ กลางเดือนหก โดยมีความเชื่อว่า เจ้าพ่อเขาน้อย หรือเจ้าพ่อขุนดาบนั้นคุ้มครองชาวบ้านคลองน้ำใสให้อยู่เย็นเป็นสุข ข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์ พิธีจะเริ่มจากการนิมนต์พระสงฆ์ทุกวัด ในตำบลคลองน้ำใสขึ้นไปเจริญพระพุทธมนต์ ฉันภัตตาหารเพล เวลาบ่ายชาวบ้านจะขนทรายขึ้นไปบนเขาเพื่อไปก่อพระเจดีย์ เป็นการบูชาเจ้าพ่อเขาน้อย
                ประเพณีทำบุญข้าวประดับดิน  จุดประสงค์ต้องการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งต้องทำเป็นประจำทุกปี เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว  พิธีจะกระทำในวันแรมสิบห้าค่ำเดือนเก้า ตอนเช้ามืด ของที่ใช้ในการทำพิธี มีดอกไม้ธูปเทียนและห่อหมก (ข้าว กับข้าว ของหวาน) จำนวนสองห่อ โดยนำห่อหมกสองห่อนี้ไปที่วัดพร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียน ห่อหมกห่อหนึ่งถวายพระ ส่วนอีกห่อหนึ่งไปไว้ที่ธาตุ (เจดีที่บรรจุอัฐิ) ของบิดามารดาหรือปู่ย่าตายาย แล้วจุดธูป หลังจากนั้นจะทำพิธีหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นอันเสร็จพิธี

                ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง  เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยย้อ ทำในวันออกพรรษาคือ วันขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ชาวบ้านจะช่วยกันสร้าง และตกแต่งปราสาทผึ้งให้สวยงาม โดยใช้ไม้ไผ่เป็นโครงและรูปร่างปราสาท แล้วนำต้นกล้วยหรือกาบกล้วยทำเป็นหลังคา แกะสลักเป็นลวดลายไทย แล้วนำขี้ผึ้งมาละลายหลอมเป็นรูปดอกไม้ โดยใช้แม่พิมพ์จากมะละกอสลักเป็นลวดลายที่ต้องการ นำไปจุ่มในขี้ผึ้งเหลว แล้วแช่ลงในน้ำให้ขี้ผึ้งแห้ง นำไปเสียบบนปราสาทผึ้ง ตัวองค์ปราสาทจะมีขนาดใหญ่ไม่เท่ากัน บางคนใช้ต้นกล้วยมาปักด้วยดอกขี้ผึ้ง แล้วนำไปถวายวัดเลยก็ได้ การทำปราสาทผึ้งจะทำตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๘.๐๐ - ๑๖.๐๐ นาฬิกา ในแต่ละตำบลในอำเภออรัญประเทศจะมีปราสาทผึ้งหลายองค์
                การทำปราสาทผึ้งขึ้นอยู่กับความศรัทธา บ้านใดมีฐานะดีก็จะทำเพียงคนเดียว ถ้าฐานะปานกลางหรือยากจน ก็จะรวมกันหลายครัวเรือนแล้วทำปราสาทหนึ่งองค์ องค์ปราสาทผึ้งจะตกแต่งด้วยโคมไฟ และนำสบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก สมุด ดินสอ ผ้าสบงและเงิน นำมาติดกับปราสาท ในเวลาเย็นชาวบ้านจะนำปราสาท ผึ้งแห่จากบ้านไปยังวัดมีการจัดขบวนแห่ และแต่งกายแบบดั้งเดิมแห่ไปที่วัด เมื่อไปถึงจะแห่รอบอุโบสถสามรอบแล้วนำขึ้นไปตั้งบนศาลา บางตำบลจะมีการประกวดปราสาทผึ้ง
                หลังจากนิมนต์พระเก้ารูป หรือนิมนต์พระทั้งวัดมาทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์เย็น เป็นการเฉลิมฉลองปราสาทผึ้ง เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับเจ้าของปราสาทผึ้ง และคนทั่วไป จากนั้นจะถวายปราสาทผึ้งเป็นพุทธบูชา ในวันรุ่งขึ้นคือวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสิบเอ็ด หลังจากพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเช้าแล้ว
                ชาวไทยย้อเชื่อว่า การกถวายปราสาทผึ้งมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยพระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชาแห่งกรุงสาวัตถี ได้ถวายปราสาทผึ้งแก่พระพุทธเจ้า ในวันออกพรรษาทุกปี และผู้ใดถวายปราสาทผึ้งจะได้มีอานิสงฆ์ หกประการคือ เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป เกียรติปรากฎรุ่งเรืองในสังคม เป็นคนกล้าหาญในสังคมมนุษย์ มีสติปัญญา มีสติสัมปชัญญะ ตายแล้วไปสู่โลกสวรรค์ ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงให้พุทธศาสนิกชน ทำเป็นประเพณีถวายพระสงฆ์ทุกปี และปฎิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
                ประเพณีตักบาตรเทโว (เทโวโรหณะ)  ทำในวันแรมหนึ่งค่ำ เดือนสิบเอ็ด แต่บางวัดทำพิธีในวันออกพรรษา คือวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสิบเอ็ด มีตำนานกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าในพรรษาที่เจ็ด พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อครบไตรมาสแล้ว พระองค์ได้ปวรณาออกพรรษ แล้วเสด็จจากดาวดึงส์มาสู่โลกมนุษย์ โดยบันไดทิพย์ทั้งสาม เชิงบันไดทั้งสามจดพื้นภูมิปบพี ณ ใกล้เมืองสังกัสสนคร หัวบันไดเบื้องบนจดยอดเขาสิเนรราช
                เมื่อพระพุทะเจ้าเสด็จสถิตอยู่เหนือยอดเขาสิเนรราชได้ทอดพระเนตรเครื่องสักการะแห่งเทพยดาและมนุษย์แล้ว ทรงแสดงโลกสิวรรณปาฎิหารย์คือ เปิดโลก โดยทอดพระเนตรไปในทิศเบื้องบน ในกาลนั้นเทวโลกและพรหมทั้งหลายก็แลเห็นกันหมด แล้วทอดพระเนตรไปในฝ่ายอโธภาคเบื้องต่ำ ในขณะนั้นสัตว์นรกในอเวจีก็สามารถมองเห็นเทวโลก จากนั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรไปในทิศทั้งแปด จักรวาลทั้งหลายก็เปิดกว้าง สวรรค์ มนุษย์ สัตว์นรกแลเห็นกันทั้งสิ้น จึงเรียกกันว่า พระเจ้าเปิดโลก
                เมื่อถึงวันดังกล่าว ชาวสระแก้วจะทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง สถานที่ที่จัดพิธีเป็นพิเศษเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ คือการตักบาตรเทโวที่ วัดถ้ำเขาฉกรรจ์ อำเภอเขาฉกรรจ์ โดยจะมีการตักบาตรพระสงฆ์ สามเณร ประมาณ ๓๕๐ รูป โดยจัดให้พระสงฆ์เดินลงมาจากถ้ำเขาทะลุ บนยอดเขามีบันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว มีการแต่งกายเหมือนเหล่าเทพยดาทั้งหลาย มีประชาชนมาร่วมทำบุญมากมาย นับเป็นประเพณีทางศาสนาที่สำคัญวันหนึ่งของชาวจังหวัดสระแก้ว

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |