| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            จังหวัดสระแก้ว มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์มาเป็นเวลากว่า ๔,๐๐๐ ปี โดยพิจารณาจากการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
การตั้งถิ่นฐาน

            ในเขตจังหวัดสระแก้ว ได้พบโบราณวัตถุเช่น โครงกระดูก เครื่องปั้นดินเผา ลูกปัดหิน ฯลฯ ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับโบราณวัตถุที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และพบโบราณสถานในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ สมัยเมืองพระนคร สมัยทวารวดีอย่างต่อเนื่องจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
            ชนเผ่าดั้งเดิม ได้มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเครื่องปั้นดินเผา เนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ฯลฯ ที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ และพบถ้ำที่มีร่องรอยการพักอาศัยของมนุษย์ในสมัยโบราณคือ ถ้ำเขาสำพุง ตำบลเขาหนองหว้า อำเภอเขาฉกรรจ์ โบราณวัตถุดังกล่าวมีอายุระหว่าง ๒,๕๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีก่อนพุทธกาล
            การพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นเครื่องปั้นดินเผา โลหะสำริด มีชุมชนท่าไม้แดง บ้านใหม่ไพรวัลย์ ตำบลสระขวัญ ชุมชนบ้านคลองขนุน บ้านหนองเตียน ตำบลท่าแยก และชุมชนบ้านโคกชายธง ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอเมือง ฯ โบราณวัตถุดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ในระยะเริ่มต้นโดยอยู่กันเป็นครอบครัวเล็ก ๆ อาศัยอยู่ในถ้ำโดยเฉพาะถ้ำในเขาสำพุง ต่อมาเมื่อครอบครัวใหญ่ขึ้น ก็ขยายถิ่นฐานออกมาที่ตำบลสระขวัญ ตำบลท่าแยก ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอเมือง ฯ
            ชนเผ่าขอม มอญ ละว้า  เป็นกลุ่มชนตั้งแต่ยุคฟูนัน เจนละ ในพุทธศตวรรษที่ ๙ เป็นต้นมา ขอมมีอิทธิพลทั้งในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกของไทย
            ในตำนานสิงหนวัติ ตำนานสุวรรณโคมคำ บันทึกไว้ว่า ขอมมีตั้งแต่ปากน้ำโขงขึ้นไปถึงยูนนาน และในรัฐฉาน เป็นพวกที่ก่อตั้งอาณาจักรเจนละ ดินแดนในกัมพูชา คือหลักแหล่งดั้งเดิมของขอม แล้วขยายขึ้นไปทางเหนือ เมื่อบ้านเมืองทางเหนือพินาศก็เกิดสังคมใหม่ของขอมคือ เจนละ
            ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่ยุคเจนละ และทวารวดีเป็นต้นมา คงมีชนชาติขอมเป็นผู้ปกครอง มีชนชาติละว้าที่ตกเป็นทาสเป็นข่า เป็นส่วย เป็นผู้ใช้แรงงานในการก่อสร้างปราสาทและขุดบ่อน้ำ ส่วนมอญนั้นนอกจากจะเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทวารวดีแล้ว ยังเป็นกำลังรบในกองทัพไทยด้วย ปัจจุบันมีชนชาติที่มีเชื้อสายเขมร แต่เป็นสัญชาติไทย ตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอตาพระยา บ้านละลมดิน กิ่งอำเภอโคกสูง บ้านตุ่น อำเภออรัญประเทศ และอำเภอคลองหาด นอกจากนี้ยังมีพวกส่วย อยู่บ้านฝักมีด อำเภอวังน้ำเย็น ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์
            ชนเผ่าไทยใช้วัฒนธรรมอีสาน  ในเขตจังหวัดสระแก้วมีชาวลาวมาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก ประมาณร้อยละ ๗๐ ของประชากรทั้งหมด ชาวลาวดังกล่าวมีที่มาแตกต่างกันดังนี้
                กลุ่มไทยอีสาน  เป็นกลุ่มชนที่สืบเนื่องมาจากอาณาจักรลานช้าง เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๓๑ ได้มีการอพยพข้ามแม่น้ำโขง แล้วแผ่ขยายไปตามลำน้ำชี ลำน้ำมูล และลำน้ำอื่น ๆ ในจังหวัดอุบล ฯ ยโสธร ร้อยเอ็ด ขอนแก่น
                กลุ่มไทยย้อ  มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองปันนาหรือยูนนาน ได้มีบางส่วนอพยพมาตามแม่น้ำโขง มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรีของลาวในปัจจุบัน ในปี พ.ศ.๒๓๗๓ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ได้กวาดต้อนชาวย้อไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองบุเลง เมืองคำเกิด ต่อมาได้ถูกกองทัพไทยกวาดต้อนมาอยู่ที่เมืองท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ภายหลังได้อพยพไปอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี และสกลนคร
                กลุ่มไทยยวน  เป็นกลุ่มของชาวล้านนาเดิม ที่เรียกกันว่า กลุ่มไทยโยนกหรือลาวพุงดำ เดิมอาศัยอยู่แถบเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่และน่าน จากผลของสงครามจึงได้อพยพจากถิ่นเดิมมาตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ สมเด็จพระนารายณ์ ฯ และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เคยนำไทยยวนไปอยู่ที่พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช จันทบุรี อยุธยา และราชบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๔๕ - ๒๓๔๗ พระเจ้ากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ร่วมกับสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท นำชาวไทยยวนจากเชียงแสนมาอยู่ที่ราชบุรีและสระบุรี
                กลุ่มผู้ไทย  ถิ่นฐานเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไท และสิบสองปันนา โดยเฉพาะที่เมืองแดงหรือแถบของแค้วนสิบสองจุไทย กลุ่มผู้ไทยได้เข้ามาอยู่ในครั้งแรก เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๒๒ ที่เพชรบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เมื่อไทยยกกำลังไปปราบเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ก็ได้มีการอพยพชาวผู้ไทยข้ามแม่น้ำโขง เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคอีสานมากที่สุด
                กลุ่มเผ่าไทยที่ใช้วัฒนธรรมอีสานในเขตจังหวัดสระแก้วเป็นกลุ่มคนรุ่นหลานเหลน เพราะบรรพบุรุษได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยเมื่อกว่า ๒๐๐ ปีมาแล้ว ในจังหวัดสระแก้วมีกลุ่มชนดังกล่าวมาตั้งถิ่นฐานตามอำเภอต่าง ๆ ดังนี้
                อำเภอเมือง ฯ อำเภอวัฒนานคร อำเภอเขาฉกรรจ์ เป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากอำเภอประจันตคามเป็นส่วนใหญ่ เรียกตนเองว่าลาว อพยพมาจากอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนที่จะมาตั้งหลักแหล่งในอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรีและอำเภอเมืองสระแก้ว
                อำเภออรัญประเทศ  จะเป็นกลุ่มชนที่เรียกตนเองว่าไทยย้อ เป็นจำนวนมากที่สุด
                อำเภอวังน้ำเย็น  มีกลุ่มชนที่เรียกว่าไทยยวน บางส่วนอพยพมาจากจังหวัดสระบุรี มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านซับพลูและหมู่บ้านข้างเคียง นอกนั้นส่วนมากจะอพยพมาจากภาคอีสาน
                ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๔ เป็นต้นมา หลังจากที่ได้ตัดถนนสายสระแก้ว - จันทบุรี ทำให้มีคนทั่วประเทศอพยพเข้ามาจับจองที่ดินทำกิน โดยเฉพาะกลุ่มชนที่ใช้วัฒนธรรมอีสาน จากจังหวัดอื่น ๆ เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ทุกอำเภอ
                ชาวจีนและชาวญวน  ชาวจีนในจังหวัดสระแก้วได้อพยพมาจากถิ่นฐานเดิมสองแหล่งด้วยกันคือ กลุ่มแรกอพยพมาจากพระตะบอง ก่อนปี พ.ศ.๒๔๕๐ ชาวจีนกลุ่มนี้ถือว่าตนเองเป็นคนไทยเพราะในขณะนั้นพระตะบองเป็นส่วนหนึ่งของไทย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ไทยจำเป็นต้องยกพระตะบอง ศรีโสภณ และเสียมราฐให้กัมพูชา ตามสนธิสัญญาไทยกับฝรั่งเศส ทำให้ชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยโดยเฉพาะที่อำเภออรัญประเทศ ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับชาวญวน ที่ต้องอพยพจากพระตะบองมาอยู่ที่ อำเภออรัญประเทศ
                กลุ่มที่สอง อพยพมาจากชลบุรี เป็นชาวจีนที่มีบรรพบุรุษอพยพมาจากจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๗๓ เป็นต้นมา ต่อมากลุ่มที่สองนี้ได้อพยพเข้ามาในเขตจังหวัดสระแก้ว และตั้งถิ่นฐานในชุมชนเมืองทุกอำเภอของจังหวัดสระแก้ว
ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (๒๕๐๐ ปีก่อนพูทธกาล - พ.ศ.๖๐๐)  จากการพบโบราณวัตถุที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสามสิบ อำเภอฉกรรจ์ และที่ตำบลสระขวัญ ตำบลท่าแยก ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอเมือง ฯ โบราณวัตถุที่พบยืนยันการตั้งหลักแหล่งของชุมชนมาตั้งแต่ ๒๕๐๐ ปี ก่อนพุทธกาลจนถึง พ.ศ.๖๐๐ คือภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ โครงกระดูกมนุษย์ ขันคนโท หม้อ จาน ทำด้วยดินเผา ส่วนโบราณวัตถุที่มีอายุระหว่างพุทธกาลถึง พ.ศ.๖๐๐ ที่พบได้แก่ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินคาร์เนเลียน ที่อำเภอเขาฉกรรจ์ กำไลสำริด และเครื่องปั้นดินเผา ที่มีลายเชือกทาบ ที่อำเภอเมือง ฯ
            โบราณวัตถุดังกล่าวมีอายุร่วมกับโบราณวัตถุที่พบที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และที่บ้านโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี จึงกล่าวได้ว่าในห้วงเวลาดังกล่าว ผู้คนในเขตจังหวัดสระแก้วเริ่มต้นด้วยครอบครัวเล็ก ๆ อาศัยอยู่ในถ้ำ เช่น ถ้ำเขาสำพุง อำเภอฉกรรจ์ แล้วขยายเป็นครอบครัวใหญ่ขึ้น พัฒนามาเป็นหมู่บ้านที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาสกรรจ์ แล้วขยายหมู่บ้านออกไปที่ชุมชนท่าไม้แดง ตำบลสระขวัญ ชุมชนคลองขนุน ตำบลท่าแขก และชุมชนโคกชายธง ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอเมือง ฯ
            สมัยเจนละ - ทวารวดี  (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๔ )  มนุษย์ในยุคนี้ได้รวมตัวกันเป็นหน่วยทางการเมืองของกลุ่มชนที่เรียกว่า ชาวกัมพู มีจุดเริ่มต้นการตั้งถิ่นฐาน เกิดเป็นชุมชนบ้านเมือง ที่เก่าแก่ที่สุดของตอนเหนือของลุ่มน้ำชี ในขณะที่ประชากรบางส่วนแถบใกล้ทะเล หรือลำน้ำใหญ่ หรือไปเส้นทางคมนาคม มีโอกาสได้รับอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมทั้งจากอินเดียและจาม กลุ่มชนที่เจริญกว่าเหล่านี้ได้ถ่ายทอดอารยธรรม ซึ่งมีอิทธิพลของอินเดียและจามปนกัน แพร่ขยายเข้าสู่อีสานแถบอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดอุบล ฯ และบริเวณทะเลสาบเขมร บริเวณดังกล่าวได้พบจารึกสัมพันธ์กับกษัตริย์องค์สำคัญในสมัยเจนละคือ พระเจ้าจิตรเสน (มเหนทรวรมัน) และพระเจ้าอีสานวรมัน (โอรสพระเจ้าจิตรเสน) โบราณวัตถุที่สำคัญของจังหวัดสระแก้วคือ
                จารึกช่องสระแจง  จารึกในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ อยู่ในเขตอำเภอตาพระยา
                จารึกเขาน้อย  จารึกในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ อยู่ในเขตอรัญประเทศ
                จารึกบ้านกุดแต้  จารึกในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ อยู่ในเขตอำเภออรัญประเทศ
                จารึกเขารัง  จารึกใน พ.ศ.๑๑๘๒ อยู่ในเขตอำเภออรัญประเทศ
                ข้อความในจารึกช่องสระแจงเป็นการประกาศว่า พระเจ้าจิตรเสนเหมือนพระศิวะ มีบ่อน้ำไว้ใช้ ส่วนจารึกเขาน้อยกล่าวถึงบุคคลที่นับถือพระวิษณุ บูชาตามพิธีพระเวท จารึกเขารังมีเนื้อหากล่าวถึงการให้ทาส ให้สวน และสร้างวัตถุถวายให้กับวิหาร
                ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมาได้เกิดอาณาจักรทวารวดีขึ้น มีบริเวณแกนอำนาจอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางของไทย วัฒนธรรมทวารวดีได้แผ่ขยายเข้ามาทางตะวันออก ผ่านเมืองดงละคร จังหวัดนครนายก เมืองพระรถ (พนัสนิคม) จังหวัดชลบุรี เมืองศรีมโหสถ (โคกปีบ) และเมืองศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี เข้าสู่อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ลักษณะของสังคมทวารวดีมีความหลากหลายของประชากร ประกอบด้วย มอญ ไต สาม สยาม นอกเหนือจากจีน และอินเดีย มีพื้นที่ทางเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม พอเลี้ยงตัวได้ใช้วัวไถนาแทนแรงงานคน แต่ลักษณะร่วมประการสำคัญของทวารวดีคือ พุทธศาสนา
                ในห้วงระยะเวลาดังกล่าว ในเขตจังหวัดสระแก้วได้พบแหล่งชุมชนโบราณ (จากภาพถ่ายดาวเทียม) อีก ๑๗ แห่ง อยู่ที่ตำบลท่าข้าม เมืองไผ่ หันทราย อำเภออรัญประเทศ ๖ แห่ง อยู่ในตำบลตาพระยา อำเภอตาพระยา ๓ แห่ง อยู่ที่ตำบลโคกสูง กิ่งอำเภอโคกสูง ๑ แห่ง อยู่ที่ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร ๓ แห่ง และที่ตำบลท่าเกษม อำเภอเมือง ๔ แห่ง
                ดังนั้นในห้วงเวลาดังกล่าวพื้นที่ในจังหวัดสระแก้ว ได้พัฒนาจากบ้านเป็นชุมชนเมืองขนาดย่อม รู้จักการใช้ตัวอักษรปัลลวะ เขียนภาษาสันสกฤต ภาษาบาลี ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม มีการนับถือศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู
            สมัยเมืองพระนคร (พ.ศ.๑๓๔๕ - ๑๗๖๓)  เริ่มนับตั้งแต่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ กลับจากชวาและสถาปนากัมพูชเทศะ ด้วยการรวมเจนละบก เจนละน้ำ เข้าด้วยกันเป็นเมืองพระนคร และได้นำลัทธิเทวราชมาใช้ ยกกษัตริย์ขึ้นเป็นสมมติเทพ มีสัญลักษณ์แห่งเทวราชคือ ศิวลิงค์ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยนี้ผู้หนึ่งคือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ.๑๕๕๓ - ๑๕๙๓) พระองค์นับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แต่ศาสนาฮินดูก็ยังคงได้รับการสนับสนุนตามปกติ กษัตริย์ที่สำคัญอีกองค์หนึ่งคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔ - ๑๗๖๓) เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์ชื่อว่า พระชัยพุทธมหานาถ และนำไปประดิษฐานไว้ตามเมืองต่าง ๆ ในภาคกลางของดินแดนไทย เช่น ละโว้ สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ เป็นต้น เมื่อสิ้นสุดสมัยของพระองค์ เป็นระยะที่สุโขทัยตั้งตัวเป็นอิสระตั้งอาณาจักรขึ้น
            ในระหว่างปี พ.ศ.๑๓๔๕ - ๑๗๖๓  เป็นช่วงที่เมืองพระนครรุ่งเรือง บริเวณจังหวัดสระแก้วปัจจุบัน และบริเวณชายแดนกัมพูชาที่ติดกับจังหวัดสระแก้ว อยู่ในอิทธิพลของเมืองพระนคร ได้พบโบราณสถาน และโบราณวัตถุแบบศิลปะเขมร ในเขตกิ่งอำเภอโคกสูง อำเภอตาพระยา อำเภออรัญประเทศ และอำเภอวัฒนานคร หลายแห่ง เช่น ปราสาทสด๊กก๊อกธม  ซึ่งมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ จารึกทวลระลมทิม มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ จารึกทัพเสียม อายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ปราสาทหนองบอน บ้านหอย ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร นอกจากนี้ยังมีปราสาทอีกหลายแห่ง ที่ตั้งอยู่ในเขตกิ่งอำเภอโคกสูง อำเภอตาพระยา และนอกเขตอำเภอตาพระยา ออกไปทางอำเภอทมอพวก จังหวัดบันเตียเมียนเจย ของกัมพูชา มีปราสาทบันทายฉมาร์ สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เพื่อเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอตกพระยาออกไปประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
            ตอนปลายสมัยเมืองพระนคร ตั้งแต่สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ จนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  พบหลักฐานว่ามีการนับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และพุทธศาสนาจากวัฒนธรรมทวาราวดี ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองศรีมโหสถ ได้แผ่ขยายเข้ามาในบริเวณจังหวัดสระแก้วปัจจุบันด้วย เพราะได้พบโบราณวัตถุเกี่ยวกับพุทธศาสนา ที่มีอายุช่วงเดียวกัน ที่จังหวัดสระแก้วหลายชิ้น
            สมัยสุโขทัย (พ.ศ.๑๗๗๘ - ๑๘๙๓)  หลังจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  กำลังไพร่พลและเศรษฐกิจตกต่ำจนไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นเหตุให้คนพื้นเมืองได้แยกตัวเป็นอิสระเป็นรัฐอิสระขึ้นโดยทั่วไป ในดินแดนไทยก็มีสุโขทัย ละโว้  เมื่อศูนย์กลางการปกครองที่เมืองพระนครล่มสลาย เมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรขอมก็เสื่อมสลายตามไปด้วย
            สมัยอยุธยา (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๒๓๑๐)  อยุธยาเป็นรัฐที่สืบต่อจากละโว้ มีความสัมพันธ์กับละโว้หรือขอมมาก่อน เมื่ออยุธยามีอำนาจเข้มแข็งขึ้น ก็ได้รวมสุโขทัยกับสุวรรณภูมิ และดินแดนที่เคยอยู่ในอำนาจของเมืองพระนครบางส่วน ดังนั้น พื้นที่จังหวัดสระแก้วจึงน่าจะอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของอยุธยาด้วย
            ในปี พ.ศ.๒๑๓๖ ทัพหลวงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ยกจากกรุงศรีอยุธยาไปทางตะวันออก ผ่านพิหารแดง (วิหารแดง)  บ้านนา เมืองนครนายก  ด่านกบแจะ (ประจันตคาม)  ด่านหนุมาน (กบินทร์บุรี)  ด่านพระปรง (อำเภอเมืองสระแก้ว)  ช่องตะโก ด่านพระจารึก (พระจฤติ) ที่อรัญประเทศ - ตาพระยา ตำบลทำนบ (ด่านพระจารึกและตำบลทำนบ)  เป็นชื่อที่ปรากฏในพงศาวดารสมัยอยุธยา อยู่ระหว่างเมืองอรัญประเทศและเมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์และเมืองละแวก
            สมัยธนบุรี (พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๒๕)  เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขึ้นครองราชย์ที่กรุงธนบุรี พระนารายณ์ราชา กษัตริย์กัมพูชาไม่ยอมสวามิภักดิ์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) และนักองนบไปตีได้เมืองเสียมราฐ และให้พระยาอนุชิตราชา กับพระยาโกษาธิบดี ยกทัพไปตีได้เมืองพระตะบอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๒  ต่อมาได้มีการยกทัพไปปราบปรามกัมพูชาอีก จนถึงปี พ.ศ.๒๓๒๔
            เส้นทางเดินทัพผ่านไปทางภาคตะวันออก โดยใช้เส้นทางจากกรุงเก่า บ่อโพรง พระแก้ว พิหารแดง บ้านนาเมืองนครนายก เมืองปราจีน เมืองใหม่ ด่านหนุมาน ช่องตะโก ด่านพระปรง ยางเก้าต้น หนองสะโม่ง ด่านพระจาฤก เส้นทางเดินทัพดังกล่าวจะผ่านดินแดนที่เป็นเขตอำเภอเมืองสระแก้ว และหยุดพักที่สระแก้ว - สระขวัญ ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสระแก้วในปัจจุบัน
            สมัยรัตนโกสินทร์
                รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  (พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๓๕๒)  มีเหตุการณ์สำคัญ ๓ ประการคือ
                    ประการแรก  เลื่อนเจ้าพระยายมราช (แบน) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ไปสำเร็จราชการมณฑลเขมรส่วนในคือ เสียมราฐ พระตะบอง และให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ
                    ประการที่สอง  เลื่อนและแต่งตั้งนักองเอง โอรสสมเด็จพระนารายณ์ราชา เป็นสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ไปปกครองกัมพูชา เว้นเสียมราฐ พระตะบอง ในฐานะประเทศราชของไทย
                    ประการที่สาม  สนับสนุนให้องเชียงสือไปปกครองเมืองญวนที่ไซ่ง่อน
                    ดังนั้นในช่วงนี้เป็นระยะเวลาที่ปลอดจากสงครามทางภาคตะวันออกของไทย และปราจีนบุรียังมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นใน เหมือนครั้งสมัยอยุธยา
                รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  (พ.ศ.๒๓๕๒ - ๒๓๖๗)  เริ่มมีความแตกแยกในกัมพูชา เมื่อนักองจัน หรือพระอภัยราช (โอรสนักองเอง) ขึ้นครองราชย์ ขุนนางแตกแยกกันเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งนิยมไทย อีกฝ่ายหนึ่งนิยมญวน  กัมพูชาได้ส่งกำลังมาตีพระตะบอง แต่ไทยป้องกันไว้ได้ ทำให้แนวชายแดนไทยด้านนี้เกิดความไม่สงบขึ้น
                รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๙๔)  ได้มีการจัดการบ้านเมืองโดยเฉพาะหัวเมืองมหาดไทย
ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองในปี พ.ศ.๒๓๙๓ คือ
                ยกด่านหนุมานขึ้นเป็นเมืองกบินทร์บุรี ยกบ้านแร่หินขึ้นเป็นเมืองอรัญประเทศ ยกบ้านเขยกขึ้นเป็นเมืองวัฒนานคร และยกบ้านสวายขึ้นเป็นเมืองศรีโสภณ
                สำหรับอำเภอเมืองสระแก้วในปัจจุบัน ในครั้งนั้นยังคงเป็นด่านพระปรงขึ้นอยู่กับเมืองกบินทร์บุรี
                รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๓๙๔ - ๒๔๑๑)  ในช่วงเวลานี้ ฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ได้อ้างสิทธิ์ในการปกครองกัมพูชา ในสมัยพระเจ้านโรดม แทนไทยโดยอ้างว่าฝรั่งเศสมีอำนาจปกครองญวน ก็ต้องมีอำนาจปกครองกัมพูชาด้วย เพราะญวนมีอำนาจปกครองกัมพูชา ยกเว้นพระตะบอง ศรีโสภณและเสียมราฐ ยังคงเป็นหัวเมืองชั้นในของไทยตามเดิม
                รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๕๓)  ในห้วงเวลานี้ เขตจังหวัดสระแก้วปัจจุบัน ซึ่งขึ้นอยู่กับมณฑลปราจีนบุรี มีการพัฒนาไปอย่างมากคือ
                พ.ศ.๒๔๑๒ ได้มีการระดมพลจากเมืองต่าง ๆ มาช่วยทำอิฐเพื่อก่อสร้างป้อมปราการเมืองปราจีน โดยเกณฑ์คนจากเมืองสุรินทร์ ขุขันธ์ สังขะ ศรีสะเกษ เดชอุดม มาทำ และได้เกณฑ์มอญบ้านสามโคก เมืองปทุมธานี มาตั้งเตาเผาอิฐ สามารถสร้างกำแพงเมืองปราจีนบุรีเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๑๕
                พ.ศ.๒๔๓๕ มณฑลปราจีนประกอบด้วยเมืองปราจีนบุรี เมืองนครนายก เมืองพนมสารคาม เมืองฉะเชิงเทรา
                พ.ศ.๒๔๓๖ ในห้วงเวลาที่เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรีได้จัดส่งกำลัง และเครื่องยุทธภัณฑ์ ไปยังชายแดนตะวันออกได้อย่างรวดเร็ว
                เมืองปราจีนบุรีในครั้งนั้นแบ่งท้องที่การปกครองออกเป็นสามภาคคือ
                   ภาคที่ ๑  มีอาณาเขตจากบ้านท่าประชุม (ศรีมหาโพธิ) ไปถึงบ้านเขาฉกรรจ์ วังหอก (สระแก้ว) ให้หลวงจ่าเมือง (อ่ำ)
เป็นผู้ปกครอง เรียกว่า เจ้ากรมหริรักษ์ที่ ๑
                   ภาคที่ ๒  มีอาณาเขตในเมืองปราจีนบุรี ให้หลวงบำรุงรัฐนิกร (บุศย์  อเนกบุณย์) เป็นผู้ปกครอง เรียกว่า เจ้ากรมหริรักษ์ที่ ๒
                   ภาคที่ ๓  มีอาณาเขตตั้งแต่คลองยางพวง ถึงบ้านบางแตน (บ้านสร้าง) ให้หลวงนครบุรี (เดช) เป็นผู้ปกครอง เรียกว่า เจ้ากรมหริรักษ์ที่ ๓
                พ.ศ.๒๔๔๑ ให้ยกเลิกชื่อเจ้ากรมแขวง เปลี่ยนเป็นนายอำเภอ
                พ.ศ.๒๔๔๓  ยุบอำเภอหาดทรายรวมกับอำเภอเมืองกบินทร์ พร้อมทั้งให้จัดตั้งด่านสระแก้ว เมืองวัฒนานคร เมืองอรัญประเทศ ให้เป็นกิ่งอำเภอ ขึ้นกับอำเภอกบินทร์บุรี
                พ.ศ.๒๔๔๖  เมืองปราจีนบุรี แบ่งการปกครองออกเป็น ๕ อำเภอ กับ ๓ สาขาอำเภอคือ อำเภอเมือง อำเภอบ้านสร้าง อำเภอประจันตคาม อำเภอศรีมหาโพธิ แยกสาขาอำเภอ ๑ สาขาคือ ท่าประชุม อำเภอกบินทร์บุรี แยกสาขาอีก ๒ สาขาคือ วัฒนานครและสระแก้ว
                รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๔๕๓ - ๒๔๖๘)  ได้มีการสร้างทางรถไฟต่อจากเมืองฉะเชิงเทรา ไปเชื่อมกับทางรถไฟกับกัมพูชาที่คลองลึก อำเภออรัญประเทศ ได้เปิดการเดินรถไฟจากฉะเชิงเทรา ถึงกบินทร์บุรี ระยะทาง ๑๐๐ กิโลเมตร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗  และเปิดการเดินรถไฟจากกบินทร์บุรี ถึงอรัญประเทศ ระยะทาง ๙๔ กิโลเมตร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ ในรัชสมัยต่อมา
                รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๔๖๘ - ๒๔๗๗)  อรัญประเทศได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอมีขุนเหี้ยมใจหาญ เป็นนายอำเภอ และให้กิ่งอำเภอวัฒนานครไปขึ้นกับอำเภออรัญประเทศ
                รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พ.ศ.๒๔๗๗ - ๒๔๘๙)  ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ไทยได้เรียกร้องเอาดินแดนมณฑลบูรพาคือ เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ กลับคืนมา แต่เมื่อเสร็จสิ้นสงครามมหาเอเซียบูรพา ฝ่ายฝรั่งเศสเป็นผู้ชนะสงครามไทยต้องคืนดินแดนดังกล่าวกลับไปให้ฝรั่งเศสอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙
                ในปลายปี พ.ศ.๒๔๘๔ เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา ญี่ปุ่นได้ยกกองทัพ (กองทัพที่ ๑๕)  เข้าสู่ประเทศไทยด้านอำเภออรัญประเทศใช้เส้นทางศรีโสภณ - อรัญประเทศ - วัฒนานคร - สระแก้ว - กบินทร์บุรี - อำเภอเมืองปราจีนบุรี เข้าสู่กรุงเทพ ฯ ทหารญี่ปุ่นใช้เครื่องบินขับไล่ ๑๑ เครื่อง เครื่องบินทิ้งระเบิด ๒ เครื่อง โจมตีสนามบินวัฒนานคร ซึ่งมีฝูงบินที่ ๕๓ ของกองทัพอากาศไทยประจำอยู่
                จังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน  ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้ตั้งจังหวัดสระแก้วขึ้นโดยแยกจากอำเภอสระแก้ว อำเภอคลองหาด อำเภอตาพระยา อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวัฒนานคร และอำเภออรัญประเทศ ออกจากจังหวัดปราจีนบุรีมาขึ้นกับจังหวัดสระแก้ว
                ปัจจุบันจังหวัดสระแก้วเป็นย่านการค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา มีด่านถาวรคลองลึก - ปอยเปต ที่อำเภออรัญประเทศ มีตลาดโรงเกลือ เป็นตลาดการค้าชายแดนที่ใหญ่โตแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ยังมีจุดผ่อนปรนบ้านหนองปรือ - บ้านมาลัย ที่อำเภออรัญประเทศ จุดผ่อนปรนบ้านเขาดิน - บ้านกิโลเมตรที่ ๓ อำเภอคลลองหาด และจุดผ่อนปรนบ้านตาพระยา - บ้านบึงตากวน ที่อำเภอตาพระยา นับว่าเป็นประตูการค้าสู่อินโดจีนคืออรัญประเทศ - จังหวัดบันเตียเมียนเจย - พนมเปญ ในกัมพูชา ไปจนนถึงโฮจิมินต์ซิตี้ (ไซ่ง่อน) ในเวียดนาม
                สระแก้วเป็นแหล่งโบราณวัตถุ โบราณสถานมาแต่โบราณกาล เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ เมืองแห่งวัฒนธรรมและเมืองท่องเที่ยว มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรมอยู่เป็นจำนวนมาก

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |