| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

            การขุดทอง  แร่ทองคำมีแหล่งอยู่ที่บ้านโนน บ้านบ่อนางชิง อำเภอวัฒนานคร และที่เขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ การขุดทองในเขตจังหวัดสระแก้ว มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปรากฎร่องรอยการขุดพื้นที่เป็นบ่อลึก และร่องรอยการหลอมทองอยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟ ปัจจุบันชาวบ้านยังคงมีการขุดหาแร่ทองคำกันอยู่เนือง ๆ
            กำารหาทองที่เขาสามสิบ และที่บ้านบ่อนางชิง จะพบแร่ทองคำอยู่ในชั้นดิน ชาวบ้านจะใช้กะบั้งเป็นเครื่องมือในการร่อนทอง โดยตักเอาดินใส่กระบั้งและเอาไปร่อนในน้ำ แร่ทองคำจะตกไปอยู่ที่ก้นกระบั้งจมอยู่ใต้เม็ดดินเม็ดทราย จากนั้นก็ร่อนปาดเอาดินออกไป เมื่อเห็นแร่ทองจะเก็บแยกออกจากดินทราย โดยการเอานิ้วมือแตะน้ำไปแตะเกล็ดทองจะติดนิ้วมือ แล้วจึงเอาไปหย่อนเก็บลงในขวดใส่น้ำที่แขวนคล้องคอเอาไว้
            ส่วนการหาแร่ทองคำที่บ้านโนน จะต้องขุดดินลึกลงไปกว่า ๖ เมตร จึงจะพบแร่ทองคำฝังอยู่ในเนื้อหินแก้ว จากนั้นนำไปสกัดแล้วเอามาใส่เครื่องโม่จนละเอียด ร่อนแยกเอาหินออก แล้วเอาปรอทจับผงทองแยกออกมาจากเศษหิน การแยกทองจากปรอทจะใช้เบ้าหลอมทองในเบ้า ปรอทจะถูกไฟเผาไหม้ไปจนเหลือแต่ทองคำที่ถูกความร้อนละลายจนเป็นของเหลว เมื่อปล่อยให้เย็นลงก็จะได้ทองคำบริสุทธิ์เป็นแท่งเป็นก้อน
            งานหัตถกรรม  เป็นงานฝีมือที่ใช้วัสดุในท้องถิ่นทำขึ้นใช้สอย ยามว่างจากงานในไร่นา ผลงานมีความงามอย่างเรียบง่าย แฝงไว้ด้วยความฉลาดของผู้สร้างงาน ส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของคนในท้องถิ่น

                เครื่องจักรสานไม้ไผ่  มีแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านใหม่ปากฮ่อง ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ ในการทำจะมีเทคนิค แฝงลวดลายที่งดงามไว้ในตัว มีการรมควันเพื่อป้องกันมอด และทำให้วัสดุที่ใช้ทำมีความทนทาน มีอายุการใช้งาน ยาวนานขึ้น
                การทำเครื่องจักรสานมักจะผลิตตามฤดูกาลเช่น ฤดูฝนจะจักสานเครื่องจับสัตว์น้ำ มีหลายชนิดด้วยกันเช่น กระชัง ไซ ข้อง ลอบ กระด้ง กระบุง ตะกร้า ฯลฯ เป็นผลงานที่ละเอียด ปราณีต เรียบยร้อย แข็งแรง และสวยงาม

                การทำกรงนกด้วยศิลปะลายไทย  ในเขตอำเภออรัญประเทศ มีดินแดนติดต่อกับกัมพูชา มีพื้นที่เป็นป่าเขาลำเนาไพรอยู่มาก มีนกนานาชนิดอาศัยอยู่ จึงเกิดมีอาชีพทำกรงนกไทย มีแหล่งผลิตที่นิคมสงเคราะห์สร้างตนเองคลองน้ำใส อำเภออรัญอระเทศ
                กรงนกไทยที่ผลิตมีรูปร่างแปลกกว่าในท้องถิ่นอื่นคือเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ส่วนประกอบของกรงจะประดิษฐ์เป็นศิลปะลายไทยที่งดงาม โครงสร้างทำด้วยไม้ประดู่ หรือไม้ชิงชัน ฉลุลวดลายไทยทุกด้าน ด้านข้างและด้านล่างจะใช้ไม้ไผ่เหลาให้กลมเป็นซี่ ประกอบกันเป็นกรง หัวกรงเป็นไม้ที่กลึงเป็นรูปสวยงาม ยึดติดกับตะขอเงินหรือทองเหลือง การผลิตกรงนกแต่ละกรงจะใช้เวลา ๓ - ๔ วัน

                การผลิตผ้าไหมไทยบ้านหันทราย  อยู่ในตำบลหันทราย อำเภออรัญประเทศ การทอผ้าไหมได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ได้ทอใช้เองมาโดยตลอด ในการทอผ้าไหมแต่ดั้งเดิม จะเลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมสี และคิดลวดลายขึ้นเองทั้งหมด ลวดลายจะแปลกกว่าที่อื่น คือมีลักษณะเป็นลวดลายโบราณ มีความละเอียด งดงาม เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า และผ้าต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
                ปัจจุบันการทอผ้าฝ้ายเพิ่มขึ้นโดยซื้อเส้นใยไหม เส้นฝ้ายมาจากท้องถิ่นอื่น เพราะสะดวกและง่ายกว่าทำเอง นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดวิธีการทอผ้า การย้อมเส้นใยแบบมัดหมี่แก่ผู้ที่สนใจด้วย เพื่อให้รู้จักการทอผ้ายามว่างจากการทำนาและเป็นอาชีพเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง ทำให้ผ้าไหมกลายเป็นสินค้าสำคัญของหมู่บ้านหันทราย

                การตีเหล็กแบบอนุรักษ์  มีแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านหนองแข้ ตำบลฝากห้วย อำเภออรัญประเทศ มีการประกอบอาชีพตีเหล็กเป็นเครื่องใช้เช่นมีด จอบ และเสียม โดยตีเป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามที่ต้องการด้วยการนำวัสดุของเก่าที่ใช้แล้วจนหมดสภาพการใช้งานมาดัดแปลงใหม่ หรือนำเหล็กที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ มาหลอมและตีตามที่ต้องการ
                อุปกรณ์ในการหลอมและตีเหล็กเป็นวัสดุที่ไม่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกระบอกสูบลมที่ทำจากปลอกกระสุนปืนใหญ่ รางชุบน้ำเหล็กได้จากรางข้าวหมูของชาวบ้าน เครื่องปั่นฝนแต่งเหล็กทำจากล้อรถจักรยานโดยใช้มือหมุน
                แต่เดิมการตีเหล็กเป็นอาชีพเสริมหลังว่างจากงาน อาชีพเกษตรกรรม ปัจจุบันการตีเหล็กเป็นอาชีพหลัก เพราะนอกจากจะหลอมตีเหล็กเป็นเครื่องใช้ใหม่ แล้วยังรับซ่อมเครื่องมือทางการเกษตรทุกชนิดให้กลับใช้งานได้ใหม่

                การทำกลองยาว  มีแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านหนองหว้า ตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ เดิมทำขึ้นเพื่อใช้งานเอง ต่อมาได้รับความนิยมจึงผลิตทำเป็นอาชีพ และนำไปแสดงในงานต่าง ๆ ด้วย
                เทคนิคในการทำกลองยาว ที่สามารถทำให้มีเสียงดังไพเราะดึงตัวกลองต้องทำจากไม้ขนุนหรือไม้มะเกลือเลื่อมเท่านั้น โดยตัดมาเป็นท่อนขนาดใหญ่ ทิ้งไว้จนแห้ง แล้วใช้สิ่วมือเจาะตรงกลางตามแนวยาวตลอดจนทะลุหัวท้าย แล้วค่อย ๆ ถาก แต่งด้านนอกให้เป็นรูปกลองยาว ส่วนหน้ากลองใช้หนังวัวจากโรงฆ่าสัตว์ นำมาผึ่งวตากแดดให้แห้งแล้วแช่น้ำ นำไปตำในครกมือให้นุ่ม ผึ่งแดดให้แห้งสนิท จากนั้นตัดหนังใให้ใหญ่กว่าหน้ากลองประมาณสองนิ้ว ขึงให้ตึงใช้เชือกมัดยึดไว้กับตอนส่วนกลางของกลอง
                กลองยาวหนึ่งชุดประกอบด้วยกลองยาวห้าใบ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกลองไม่เท่ากัน ตั้งแต่ ๘ - ๑๒ นิ้ว การทำกลองยาวเป็นงานฝีมือ ที่ต้องใช้ความพยายาม และอุตสาหะเป็นอย่างมาก

                การทำเครื่องสีข้าว (สีมือ)  มีแหล่งผลิตอยุ่ในตำบลคลองน้ำใส แต่เดิมการจักสานเครื่องสีข้าว (สีมือ) ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิมของไทยเป้นเพียงอาชีพเสริม วัสดุที่ใช้ทำคือไม้ไผ่ ไม้แปยาง (ทำหู) ไม้แสมสารหรือแก่นไม้ขี้เหล็ก ดินจอมปลวก น้ำเกลือ ขี้วัวผสมน้ำ
                ส่วนประกอบของเครื่องสีข้าวแบ่งออกเป็นสองส่วนได้แก่ฐานล่างเป็นรูปทรงกระบอก สูงประมาณ ๓๕ เซนติเมตร มีใบสำหรับบรองรับข้าวเปลือกที่สีออกมา มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘๐ เซนติเมตร ส่วนบนเป็นรูปทรงกระบอก สูง ๔๐ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๕ เซนติเมตร ระหว่างส่วนบนและส่วนล่าง จะมีเขี้ยวที่ทำด้วยไม้แสมสาร หรือไม้แก่นขี้เหล็ก มีคันโยกยาวประมาณ ๒ เมตร ไปเกาะกับหูส่วนบน เมื่อโยกคันโยกจะทำให้ส่วนบนหมุน ทำการสีข้าว
                การสีข้าวเปลือกทำสองครั้ง แล้วนำไปฝัดเอาแกลบออก ได้ข้าวเรียกว่า ข้าวกล้อง จากนั้นนำข้าวกล้องไปตำ หรือซ้อมด้วยครกกระเดื่อง หรือครกมือแล้วฝัดอีกครั้ง จะได้ข้าวซ้อมมือ ซึ่งมีสารอาหารมากกว่าข้าวสารที่สีด้วยเครื่องจักร
                ปัจจุบันมีการทำเครื่องสีข้าว (สีมือ) เป็นอาชีพหลักแทนการทำนา เดือนหนึ่งบจะผลิตได้ประมาณ ๓ - ๔ เครื่อง
                การเผาถ่าน  เตาเผาถ่านต้องขุดเป็นหลุมลยึกไม่มากนัก ขนาดกว้าง ยาว ตามจำนวนไม้ที่จะเผา นำท่อนไม้ที่จะนำมาเผาถ่านไปเรียงในหลุม วางทับซ้อนสูงขึ้นมาให้ฐานล่างใหญ่ข้างบนเล็ก แล้วใช้หญ้าแห้งฟาง ขี้เลื่อยหรือแกลบ แล้วแต่จะหาได้สะดวกนำมาคลุมทับท่อนไม้ให้มิด จากนั้นเอาดินกลบทับโดยจะเว้นช่องทางหัวหรือท้ายกองไม้ สำหรับจุดไฟให้ลุกไหม้ เมื่อไปติดกองไม้แล้วก็เอาดินกลบด้านที่เปิดไว้บาง ๆ พอให้มีอากาศเข้าไปได้ ปล่อยทิ้งไว้ให้ฟืนไหม้ทั่วกอง และคอยสังเกตกองดิน ถ้ายุบตัวลงก็ไปเปิดหลุมถ่านได้โดยใช้จอบและคราดมือ ถ่านที่ยังติดไฟอยู่ให้เอาน้ำพรมให้ดับสนิท จึงเก็บเอามาใช้งานได้
                ถ่านที่มีคุณภาพดีจะมีน้ำหนักมาก เนื้อถ่านแน่นแข็ง เมื่อโกยหรือเททำให้ก้อนถ่านกระทบกันจะมีเสียงดังกังวาล ถ่านเช่นนี้จะให้เปลวไฟและความร้อนสูงลุกไหม้ดี ไม่มีควัน ไม่แตกเป็นสะเก็ดไฟ ไม่มอดดับง่าย
                ไม้ที่เผาถ่านได้ดีคือไม้กระบก การเผาถ่ายแต่เดิมใช้ไม้ในป่าซึ่งมีอยู่มากมาย แต่ปัจจุบันหายากขึ้นและผิดกฎหมาย ชาวบ้านจึงเผาถ่านจากไม้ที่ปลูกเพื่อใช้สอยได้แก่ ไม้ยูคาลิบ ไม้กระถิน เป็นต้น ไม้เหล่านี้เป็นไม้โตเร็ว

                เครื่องเรือนไม้มาค่าวังน้ำเย็น อาชีพงานช่างฝีมือ ทำเครื่องเรือนจากไม้ทำกันอยู่หลายอำเภอ เช่นอ อำเภอวัฒนานคร อำเภอคลองหาด อำเภออรัญประเทศ อำเภอตาพระยา และกิ่งอำเภอโคกสูง แต่อำเภอที่มีการผลิตหัตถกรรมจากไม้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และมีการผลิตมากที่สุดของจังหวัดคือ อำเภอวังน้ำเย็น โดยกลุ่มผู้ผลิตรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์หัตถกรรม ผลิตภัณฑ์จากไม้วังน้ำเย็น
                ผลิตภัณฑ์ประดับมุก  ห้วยโจด เป็นงานหัตถกรรมที่นำเปลือกหอยมุกมาประดับตกแต่งบนเครื่องเรือน และเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสวยงาม และทำให้สิ่งนั้นมีมูลค่าสูงขึ้น มีแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านห้วยโจด ตำบลห้วยโจด อำเภอวัฒนานคร
บุคคลสำคัญของท้องถิ่น

            เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)  เป็นนักรบผู้เก่งกล้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นผู้ทำให้มีการเคลื่อนย้ายประชากร จากเวียงจันทน์ และท่าอุเทน มาตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภออรัญประเทศ เนื่องในการปราบกบฎเจ้าอนุวงซ์ เวียงจันทน์ เมื่อเสร็จการปราบกบฎ ได้กวาดต้อนชาวเวียงจันทน์และท่าอุเทนกลุ่มหนึ่ง มาตั้งถิ่นฐานอยู่ชั่วคราวที่ดงอรัญ อำเภอศรีโสภณ (ปัจจุบันเรียกว่า บ้านดงอรัญเก้า) ภายหลังได้เลือกทำเลที่อยู่ใหม่ริมห้วยพรหมโบสถ์ เรียกว่า บ้านอรัญทุ่งแค ซึ่งได้พัฒนามาเป็นอำเภออรัญประเทศ มีพระสาระบุตร เป็นเจ้าเมืองอรัญคนแรก ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระเหี้ยมใจหาญ
            เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๗๕ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองเขมร และเมืองญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชา ได้สร้างถนนจากแม่น้ำศรีโสภณ ผ่านเมืองอรัญเก่า อรัญใหม่ วัฒนานคร สระแก้ว พระปรง จรดแม่น้ำหนุมาน อำเภอกบินทร์บุรี เรียกว่า ถนนเจ้าพระยาบดินทรเดชา ปัจจุบันได้สร้างถนนสุวรรณศรทับแนวถนนเจ้าพระยาบดินทรเดชาเกือบตลอดสาย
            จากการยกทัพไปตีกัมพูชาของเจ้าพระยาบดินทรเดชาครั้งนี้ ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นที่มาของชื่ออำเภอตาพระยา และตำบลอีกหลายตำบลในอำเภอตาพระยา เพราะเดิมคำว่า ตาพระยา เป็นการเรียกเพี้ยนมาจากเขมร จากคำว่า เตียบพระยา คำว่าเตียบ แปลว่าทัพ สาเหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะเมื่อคราวที่เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพมาตีนครธม และเมืองอุดง (เมืองบันทายละแวก) ได้แวะพักทัพอยู่ ณ ดินแดนที่เป็นอำเภอตาพระยาปัจจุบัน โดยแบ่งที่ตั้งกองทัพออกเป็นสามส่วนคือ บริเวณหนองตำหนักเสด็จ ปัจจุบันคือ ตำบลทัพเสด็จ อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านเจียงคำ ประมาณ ๓ กิโลเมตร ส่วนที่สองตั้งอยู่ที่หนองทัพพระยา  ปัจจุบันคือ บ้านนตาพระยา และส่วนที่สามพักอยู่ที่หนองทัพราช ปัจจุบันคือ หนองทัพราช อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของบ้านตะโกประมาณ ๓ กิโลเมตร

            เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์)  เป็นบุตรเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์  (เยีย) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง เกิดที่เมืองพระตะบอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๔ บิดานำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการในกรุงเทพ ฯ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระอภัยพิทักษ์ เมื่อบิดาถึงแก่อสัญกรรม จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองแทน เมื่อฝรั่งเศสยึดลาว เวียดนาม กัมพูชา รวมทั้งเมืองจันทบุรีของไทย ทางฝ่ายไทยได้เจรจากับฝรั่งเศส เพื่อขอแลกเมืองพระตะบอง และเสียมราฐแทนเมืองจันทบุรี ทำให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ต้องอพยพผู้คนจากพระตะบองกลับมาไทย

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |