| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


หัตถกรรมทางช่างฝีมือ

            กริช  เป็นคำในภาษาชวา - มลายู ส่วนในภาษาถิ่นยะลาเรียกว่า กรือเระฮ์ กริชมีความเกียวข้องกับชาวชวาสมัยโบราณทีเชื่อในเทพเจ้า ลักษณะของด้ามกริชมักจะทำเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยายของชวา และไม่ขัดกับหลักทางศาสนาอิสลาม
            กริช มีความเป็นมาอย่างไรไม่เป็นที่แน่ชัด แต่จากเรื่องราวในเทพนิยายและตำนาน กริชจะเป็นอาวุธประจำตัว และสืบทอดให้แก่คนในตระกูลสืบไป ทั้งยังมีคุณค่าในเชิงศิลปวัตถุ ที่เป็นมงคลและเป็นศักดิ์ศรีของผู้พกพา กริชของจังหวัดยะลามีชื่อและประวัติความเป็นมาที่ยาวนานคือ
                - กริชเมืองรามัน  เป็นกริชตระกูลสำคัญในประวัติของกฤช และเป็นที่ขึ้นขื่อมานาน มีประวัติว่าเมื่อประมาณ สามร้อยปีที่ผ่านมา เจ้าเมืองรามันประสงค์จะมีกริชไว้ประจำตัว และอาจเป็นกริชคู่บ้านคู่เมือง หรือในบางคราวจะมีไว้ประทานแก่ขุนนางผู้จงรักภักดี หรือผู้ทำความดีแก่บ้านเมือง หรือเป็นของขวัญแก่แขกบ้านแขกเมือง แต่กริชดี ๆ ในช่วงนั้นหายากมาก เจ้าเมืองรามันจึงได้ให้คนไปเชิญช่างฝีมือดี และแก่กล้าด้วยอาคมจากชวา มาตั้งเป็นช่างประจำเมืองเรียกว่า ปาแนะซาระห์ ได้ทำกริชตามรูปแบบของตนเองจนเป็นที่รู้จัก และได้เรียกชื่อกริชว่า กริชปาแนซาระห์ ต่อมาได้ถ่ายทอดการทำกริชแก่ลูกศิษย์เจ็ดคน แต่ละคนได้ความรู้คนละแบบและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ กริชจือรีตอ กริชอาเนาะลัง กริชสบูฆิส กริชแบคอสบูการ์ กริชปแดนซาระห์ กริชบาหลี กริชแดแบะ หรือกายีอาริส แต่ละแบบมีความแตกต่างกันในรูปแบบและรายละเอียดของตัวกริช
                - ส่วนสำคัญของกริช  ตัวกริชหรือเรียกว่าตากริช หรือใบกริช ส่วนนี้เป็นโลหะผสมที่มีส่วนผสมอย่างพิสดาร ตามความเชื่อของช่างกริชหรือผู้สั่งทำกริช ตัวกริชมีลักษณะตรงโคนกว้าง ส่วนปลายเรียวแหลมมีคมทั้งสองด้าน ตัวกริชมีโครงสร้างที่แตกกต่างกันอยู่สองแบบคือ ตัวกริชแบบใบปรือ กับตัวกริชคด
            ตัวกริชแบบใบปรือ  เป็นรูปยาวตรง ส่วยปลายค่อย ๆ เรียวและบางจนบางที่สุด ซึ่งอาจจะแหลมหรืออาจจะมนก็ได้ คล้าย ๆ กับรูปใบปรือ (พืชน้ำชนิดนึ่งมีใบยาวเรียว) กริชใบปรือบางเล่ม จะมีร่องลึกยาวขนานไปกับคมกริช บางเล่มมีร่องลึกดังกล่าว ๒ - ๔ ร่องก็มี
            ส่วนตัวกริชคดนั้นมีลักษณะคดไปคดมาและค่อย ๆ เรียวยาวลงคล้ายกับเปลวเพลิง การทำกริชให้คดนั้นกล่าวกันว่ามีจุดประสงค์คือ เมื่อใช้แทงจะทำให้บาดแผลเปิดกว้างกว่า และสามารถแทงผ่านกระดูกได้ด้วย
            การทำตัวกริชในสมัยโบราณต้องเตรียมกระบอกเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๒๐ นิ้ว เอาชิ้นเหล็ก หรือโลหะหลาย ๆ ชนิดรวมทั้งเหล็กกล้า เหล็กเนื้ออ่อน นำมาบรรจุลงในกระบอกเหล็กดังกล่าว ตีกระบอกเหล็กนั้นให้แบนพอเหมาะ แล้วนำมาตั้งบนเตาไฟหลอมให้เหล็กนั้นเหลวจนเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้าเหล็กดังกล่าวหลอมไม่เข้ากันสนิท ให้นำชิ้นเหล็กเหล่านั้นมาแช่ลงในน้ำดินเหนียว แล้วตั้งไฟหลอมใหม่จนกว่าเนื้อเหล็กจะเข้ากันสนิทดี จากนั้นจึงนำมาวางบนแท่น และตีให้แบนเป็นรูปร่างกริชที่ต้องการซึ่งต้องใช้เวลามาก จากนั้นจึงนำมาฝนลับ และตกแต่งให้เกิดรายละเอียดของลวดลาย ตามชนิดของกริชตามที่ต้องการ
            การหลอม การตี การฝนและการลับจะเป็นไปด้วยความประณีตบรรจง การกำหนดสัดส่วนของโลหะที่ใช้ผสมกันต้องใช้ประสบการณ์สูง
            หัวกริชหรือด้ามกริชสำหรับจับ นิยมทำเป็นรูปหัวคน หัวสัตว์  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่ไม่ผิดหลักศาสนาอิสลาม หัวกริชจะแกะจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ไม้เนื้อแข็ง งาช้าง เขาสัตว์ หรือหล่อด้วยโลหะ
            ปลอกสามกั่น เป็นส่วนที่ติดกับหัวกริช เพื่อให้หัวกริชยึดติดกันอย่างมั่นคงและไม่ให้หัวกริชแตกร้าวได้ง่าย นิยมทำด้วยโลหะทองเหลือง เงินหรือทองคำ และมีการแกะสลักลวดลายที่ประณีต
            ฝักกริช  เป็นที่เก็บคมกริชเพื่อความสะดวกในการพกพา มักจะทำด้วยโลหะชนิดเดียวกับโลหะที่ทำปลอกสามกั่น และแกะสลักด้วยความประณีตสวยงาม

            กรงนกเขา  นกเขาชวาหรือนกเขาเล็ก มีสีเทาคล้ำ หางยาวประมาณ ๘ - ๙ นิ้ว เป็นนกที่ชาวไทยอิสลามในภาคใต้นิยมเลี้ยงไว้ดูเล่น ฟังเสียงและเป็นสวัสดิมงคลแก่ตน และครอบครัว การเลี้ยงนกเขาจะใช้กรงซึ่งส่วนใหญ่จะขังกรงเดี่ยว กรงที่นิยมใช้กันคือ กรงแกะดอก มีขนาดและรูปร่างไม่แตกต่างจากกรงธรรมดา ต่างกันที่ซี่กรงจะแกะเป็นรูปต่าง ๆ  โดยทั่วไปจะแกะเป็นรูปดอกไม้ชนิดต่าง ๆ
            กรงนกเขาชวา  แบ่งส่วนประกอบส่วนต่าง ๆ คือ
                - ตัวกรง  ขนาดที่นิยมใช้ในปัจจุบันก้นกรงมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๔ นิ้ว สูงประมาณ ๑๖ - ๑๘ นิ้ว ตัวกรงจะมีส่วนประกอบคือ ซี่กรง ต้องมีขนาดเล็ก และแข็งแรงดี ประตูปิดเปิดกรง นิยมทำที่ก้นกรง ไม่นิยมทำข้างกรงเพราะจะทำให้เสียรูปทรง และขาดความสวยงาม คอน สำหรับให้นกเกาะ มักจะแกะสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ อาจทำจากไม้ธรรมดาหรืองาช้างขนาดประมาณ ๕ - ๖ หุน สูงประมาณ ๓ นิ้ว ภาชนะใส่อาหารและน้ำ - หัวกรงนก นิยมทำด้วยไม้ธรรมดาหรืองาช้าง นำมากลึงให้สวยงาม  ขอเกี่ยว อาจทำด้วยเหล็กธรรมดาหรือทำด้วยทองเหลืองเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น รูปนกโบราณ ตัวมังกร  ผ้ารองมูลนกและเศษอาหาร ทำเป็นรูปวงกลมห้อยไว้ภายนอกกรงนก ผ้าคลุมกรงนก มีสองแบบคือ แบบมีสี่ชายเป็นการคลุมแบบถาวร นิยมใช้ผ้าแพรลายดอกสีสด ที่ปลายชายจะผูกห้อยลูกตุ้มแก้วสี มีรูปแบบแตกต่างกัน  อีกแบบหนึ่งเป็นการคลุมชั่วคราวเวลาเคลื่อนย้ายนก เพื่อไม่ให้นกตกใจ มักใช้ผ้าที่มีลวดลายและสีสด


            เครื่องดนตรีของชาวซาไก  เป็นเครื่องดนตรีประเภทให้จังหวะด้วยการดีดหรือตี ประดิษฐ์ขึ้นจากไม้ไผ่อย่างง่าย ๆ  มีอยู่ ๘ ชนิด เรียกกันว่า บาแตช
                - ชนิดที่หนึ่ง  มีลักษณะเป็นกระบอกกลม ทำจากปล้องไม้ไผ่ขนาดใหญ่ยาวประมาณ ๑ เมตร ทะลุข้อออกหมดทุกข้อ เว้นแต่ข้อสุดท้าย โดยเจาะรูไว้ที่ข้อสุดท้ายขนาดปลายนิ้วก้อย เครื่องดนตรีชนิดนี้ใช้ใบไม้ใหญ่ตีทางปากกระบอกด้านที่ทะลุข้อทั้งหมด จะมีเสียงดังปึง ปึง
                - ชนิดที่สอง  มีลักษณะเป็นกระบอกกลม ทำจากปล้องไม้ไผ่ขนาดเล็กกว่าชนิดที่หนึ่งเล็กน้อย ยาวประมาณ ๒ ฟุต ปลายข้างหนึ่งตัดตรง ๆ  อีกข้างหนึ่งตัดในลักษณะเฉียงอย่างฝานบวบ ทะลุข้อหมดทุกข้อ เมื่อใช้ฝ่ามือตีทางปลายกระบอกด้านที่ตัดตรง จะให้เสียงแหลมกว่าอีกชนิดหนึ่งเล็กน้อย
                - ชนิดที่สาม  ชาวบ้านเรียกว่า กลองจำปี หรือโทนเงาะ  ทำจากปล้องไม้ไผ่ขนาดกลางหนึ่งปล้อง โดยตัดปล้องไม้ไผ่ให้มีข้อติดอยู่ทั้งสองข้าง ไม่ต้องทะลุข้อ จากปลายทั้งสองข้างเข้ามาประมาณ ๑ นิ้ว แล้วเฉือนผิวไม้ไผ่ออกกว้างประมาณ ๑ นิ้ว เจาะรูให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งเซนติเมตร ไว้ตรงกลางปล้องไม้ไผ่ระหว่างรอยผิวที่ถูกเฉือนออกไปนั้น แล้วใช้ปลายมีดกรีดแงะเอาผิวไม้ไผ่ออกให้เป็นเส้นเล็ก ยาวตลอดแนวของรอยผิวไม้ไผ่ที่ถูกเฉือนออกไปทั้งสองข้าง จะได้เส้นไม้ไผ่สองเส้นขนานกัน ที่ปลายปล้องไม้ไผ่ทั้งสองข้าง ใช้หวายมัดให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นไม้ไผ่สองเส้นนี้ฉีกขาดออกจากปล้อง แล้วใช้หมอนรองเส้นไม้ไผ่ทางด้านปลายทั้งสองข้าง จากนั้นเอาไม้ไผ่บาง ๆ กว้างประมาณ ๑ นิ้ว ยาวประมาณนิ้วครึ่ง ผ่าเล็กน้อยระหว่างกลางตามแนวนอน แล้วเอาไปเสียบไว้ ระหว่างเส้นไม้ไผ่ให้อยู่บนรูที่เจาะไว้พอดีบนผิวไม้ไผ่ด้านตรงกันข้ามแบบเดียวกัน เวลาตีใช้ตีตรงแผ่นไม้ไผ่บาง ๆ ที่อยู่บนรูกลางปล้องไม้ไผ่ จะให้สูงหรือต่ำแล้วแต่ความตึงหย่อนและขนาดของเส้นไม้ไผ่ที่ใช้หมอนรอง
                - ชนิดที่สี่  ทำจากปล้องไม้ไผ่หนึ่งปล้องขนาดเดียวกันกับกลองจำปี ปลายด้านหนึ่งตัดให้ติดกับข้อ อีกด้านหนึ่งตัดไม่ให้ติดกับข้อ ที่ด้านนี้จะผ่าผิวไม้ไผ่ออก แล้วสอดกาบหมากที่มีขนาดกลมพอดี กับวงด้านในของปล้องไม้ไผ่ การใช้ ใช้มือตีบนกาบหมากนั้น
                - ชนิดที่ห้า  ทำจากปล้องไม้ไผ่ขนาดเท่าข้อมือ ยาวประมาณ ๑ ฟุต ตัดไม้ไผ่ให้มีข้ออยู่ห่างจากปลายด้านหนึ่งเล็กน้อยพอจับถือได้เลยข้อไปประมาณ ๑ นิ้ว เจาะรูสองรูอยู่คนละข้าง ห่างจากรูนี้เล็กน้อยจะปาดปล้องไม้ไผ่ให้เป็นรูซ่อมสองขา ใช้ด้านที่เป็นรูซ่อมเคาะกับฝ่ามือ จะให้เสียงดังหวึง หวึง
                - ชนิดที่หก  ทำจากไม้ไผ่สองชิ้นขนาดใหญ่พอจับถือได้ถนัด ยาวประมาณ ๑ ฟุต ใช้ตีมีเสียงดังกรับ - กรับ เช่นเดียวกับไม้กรับในเครื่องดนตรีไทย
                - ชนิดที่เจ็ด  เป็นเครื่องเคาะให้จังหวะ เช่นเดียวกับไม้กรับ โดยมากทำจากกะลา เพราะมีเสียงดังก้องดีกว่าใช้วัสดุอย่างอื่น
                - ชนิดที่แปด  ทำจากปล้องไม้ไผ่ยาวประมาณ ๒ ฟุต ตัดให้ติดข้อทั้งสองด้าน เจาะรูขนาดปลายนิ้วก้อยที่ข้อทั้งสองด้าน แล้วใช้หวายขนาดเล็ก มัดขึงตึงตลอดหัวท้าย เวลาเล่นใช้นิ้วดีดหวายให้กระทบกับปล้องไม้ไผ่ จะได้เสียงดังแต็ก - แต็ก

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |