| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน

            ชนเผ่าชอง  เป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิมเผ่าหนึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายทะเลภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ในเขตจังหวัดระยองและจันทบุรี มีความชำนาญในป่าเขาลำเนาไพร มีภาษาพูดของตนเอง นิยมใช้ลูกปัดสีต่าง ๆ และทองเหลืองเป็นเครื่องประดับ จัดอยู่ในสายตระกูลมอญ - เขมร เชื่อว่าอยู่ในถิ่นนี้มาก่อนสมัยสุโขทัย มีอิทธิพลของภาษาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่มีภาษาเขียน
            ประเพณีบางอย่างของชาวชอง ได้มีการปฎิบัติสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ โดยไม่ถูกกลืนหรือเลือนหายไปเช่น ประเพณีการแต่งงานลูกสาวคนโต ประเพณีการเล่นผีหิ้ง และประเพณีการเล่นผีโรง เป็นต้น
            ปัจจุบันแทบไม่มีชนเผ่าชองเหลืออยู่ในเขตจังหวัดระยองแล้ว คงมีเหลืออยู่ในป่าเขาในเขตจังหวัดจันทบุรี เพราะชนเผ่านี้ไม่ชอบอยู่ในย่านชุมชน การสูญพันธุ์ของพวกชองน่าจะเกิดจากถูกคนไทยเรากลืนชาติ เช่นเดียวกับชนเผ่าโบราณอีกหลายเผ่าที่เคยอาศัยอยู่ในถิ่นนี้มาก่อน
            ที่มาของคำว่าระยอง  คำว่า ระยอง ไม่มีคำอธิบายอยู่ในพจนานุกรม ไม่มีคำแปลอยู่ในภาษาไทย สันนิษฐานว่าเป็นภาษาของชอง คือ คำว่า ราย็อง ในภาษาชองแปลว่า เขตแดน หมายถึง ดินแดนหรือเขตแดนที่พวกชองตั้งรกรากอยู่ ต่อมาได้เพี้ยนมาเป็นระยอง ดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
            นอกจากนั้นคำว่า ราย็อง ในภาษาชองยังแปลว่าไม้ประดู่ หรือต้นประดู่ เนื่องจาบริเวณที่ตั้งเมืองระยอง แต่เดิมเต็มไปด้วยต้นประดู่ มีวัดเก่าแก่คู่กับเมืองระยองมีชื่อว่า วัดป่าประดู่
            การสร้างเมือง  จากสภาพแวดล้อมและหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ทำให้เชื่อได้ว่าเมืองระยอง น่าจะได้ตั้งขึ้นมาแล้วในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ อันเป็นสมัยที่ขอมกำลังเรืองอำนาจในดินแดนสุวรรณภูมิ ที่นักโบราณคดีเรียกว่า สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๙) ครั้งนั้นขอมมีเมืองนครธมเป็นราชธานี ได้แผ่อำนาจเข้ามาครอบครองถึงอาณาจักรทวารวดี ซึ่งเป็นดินแดนส่วนใหญ่ในภาคกลางของไทยในปัจจุบันแทนที่พวกมอญ โดยขอมได้ตั้งอุปราชเข้ามาปกครอง ดูแลดินแดนแถบนี้อยู่ที่เมืองลพบุรี
            ส่วนดินแดนภาคอื่น ๆ ได้แก่ ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบัน ขอมได้เข้ามาปกครองโดยตรง เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอมได้สร้างเมืองนครพนม เป็นเมืองหน้าด่านแรก มีเมืองพิมายเป็นเมืองอุปราช ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ขอมได้สร้างเมืองจันทบูร (จันาบุรี) เป็นเมืองหน้าด่าน ด้วยเหตุนี้จึงปรากฎโบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่สร้างขึ้นในสมัยลพบุรีกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่บริเวณนี้กว่า ๑๐ จังหวัด ในอาณาจักรไทยปัจจุบัน
            เมืองระยองซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชิดมีเขตแดนติดต่อกับจันทบูร จึงเชื่อว่าระยองจะต้องเป็นเมืองหนึ่ง ซึ่งขอมได้สร้างขึ้นแต่ครั้งนั้น คูเมืองแนวคันดินที่น่าจะเป็นเชิงเทิน หรือกำแพงเมืองที่ปรากฎอยู่ซากศิลาแลง ซากโบราณวัตถุที่เป็นหินสลักรูปต่าง ๆ ที่พบที่บ้านดอน อำเภอเมือง ฯ และที่บ้านคลองยายล้ำ ตำบลบ้านค่าย พอเป็นหลักฐานถึงความเป็นเมืองเก่าสมัยลพบุรีของเมืองระยอง
            หลักฐานทางประวัติศาสตร์  ระยองเริ่มมีชื่อปรากฎในอัยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๘ ในรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ระบุเมืองระยองเป็นหัวเมืองชั้นตรี มีเจ้าเมืองตำแหน่งออกพระราชภักดีสงคราม ส่วนการปรากฎชื่อเมืองระยองในพงศาวดาร เริ่มในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา มีความตอนหนึ่งว่า
                "พระยาละแวก แต่งพลมาลาดตระเวณทั้งทางบกและทางเรือหลายครั้ง และเสียชาวจันทบูร ชาวระยอง ชาวฉะเชิงเทรา ชาวนาเริ่งไปแก่ข้าศึกละแวกเป็นอันมาก"
            การตั้งเมือง  ที่ตั้งของเมืองระยองในปัจจุบัน อยู่ในเขตตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง ฯ ส่วนเมืองเก่ามีหลักฐานร่องรอยอยู่สองแห่งคือ ในเขตตำบลบ้านเก่า อำเภอบ้านค่ายแห่งหนึ่ง และที่บ้านในซึ่งติดต่อกับบริเวณสะหมู่ของบ้านดอน ตำบลหนองบัว (ปัจจุบันเป็นตำบลเชิงเทิน) อำเภอเมือง ฯ อีกแห่งหนึ่ง
            ที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอบ้านค่าย ซึ่งอยู่ห่างจากตำบลเชิงเทิน อำเภอเมือง ฯ ประมาณ ๓ กิโลเมตร ดูจะมีน้ำหนักและเป็นที่แพร่หลายมากกว่า
ลำดับการพัฒนาการทางประวัติศาตร์

            การพัฒนาการของเมืองระยอง  หลังจากที่เมืองระยองได้ย้ายจากตำบลบ้านเก่ามาตั้งอยู่ที่ตำบลท่าประดู่แล้ว ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับคือ
            เมืองระยองในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา เป็นหัวเมืองชั้นนอก ขึ้นสังกัดกับกรมท่า หัวเมืองชั้นนอกที่ขึ้นสังกัดกรมท่าในครั้งนั้นมีสามเมืองคือ เมืองระยอง เมืองจันทบูร และเมืองตราด
                ปี พ.ศ.๒๔๔๙ เมืองระยองขึ้นกับมณฑลจันทบุรี โดยมีเมืองตราด และเมืองประจันตคีรีเขต (เกาะกง) ขึ้นอยู่กับมณฑลจันทบูรด้วย
                ปี พ.ศ.๒๔๕๑ โอนอำเภอเมืองแกลงมาขึ้นกับเมืองระยอง จากเดิมนั้นขึ้นอยู่กับเมืองจันทบุรี เมืองแกลงนี้เดิมเป็นเมืองจัตวาคู่กับเมืองขลุง เมืองแกลงถูกยุบเป็นอำเภอแกลงในปีเดียวกันนี้ มีหลวงแกลงแกล้วกล้า (ศรี บุญศิริ) เป็นนายอำเภอคนแรก
                ปี พ.ศ.๒๔๕๔ เมืองระยองได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็นสามอำเภอคือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอแกลง และอำเภอบ้านค่าย
                ปี พ.ศ.๒๔๕๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนชื่อเมืองระยองมาเป็นจังหวัดระยอง และยังขึ้นต่อมณฑลจันทบุรี
                ปี พ.ศ.๒๔๗๔ ยุบมณฑลจันทบุรี จังหวัดระยองย้ายไปขึ้นกับมณฑลปราจีนบุรี
                ปี พ.ศ.๒๔๗๖ ยกเลิกระบบเทศาภิบาล มณฑลต่าง ๆ ถูกยุบ และให้ถือจังหวัดเป็นเขตการปกครองใหญ่ในส่วนภูมิภาค จังหวัดระยองจึงขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทย
                ปี พ.ศ.๒๔๘๔ มีการจัดตั้งภาคขึ้นมาควบคุมดูแลทำนองเดียวกับมณฑล จังหวัดระยองขึ้นอยู่กับภาค ๒ ในจำนวน ๕ ภาค ที่ทำาการภาคตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาได้ย้ายมาอยู่กับภาค ๑ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ มีที่ทำการภาคอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลภาคเรียกว่า ข้าหลวงตรวจการภาค
                พ.ศ.๒๔๙๕ กำหนดให้มี ๙ ภาค มีผู้ว่าราชการภาค ปกครองบังคับบัญชา จังหวัดระยองขึ้นอยู่กับภาค ๒ มีที่ทำการภาคอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
                พ.ศ.๒๕๐๐ ยกเลิกการปกครองระบบแบ่งเขตการปกครองเป็นภาค คงให้จังหวัดเป็นหน่วยราชการส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด
                พ.ศ.๒๕๑๓ จังหวัดระยองแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๓ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ฯ อำเภอแกลง อำเภอบ้านค่าย และกิ่งอำเภอปลวกแดง (เป็นอำเภอปลวกแดงในปี พ.ศ.๒๕๒๒)
                พ.ศ.๒๕๑๖ จังหวัดระยองมี ๓ อำเภอกับ ๒ กิ่งอำเภอคือ เพิ่มกิ่งอำเภอบ้านฉาง (เป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘)
                พ.ศ.๒๕๒๐ จังหวัดระยองมี ๓ อำเภอกับ ๓ กิ่งอำเภอคือ เพิ่มกิ่งอำเภอวังจันทร  (เป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔)
                พ.ศ.๒๕๒๒ จังหวัดระยองมี ๔ อำเภอกับ ๒ กิ่งอำเภอ โดยกิ่งอำเภอปลวกแดงถูกยกฐานะเป็นอำเภอ
                พ.ศ.๒๕๒๘ จังหวัดระยองมี ๕ อำเภอกับ ๑ กิ่งอำเภอ โดยกิ่งอำเภอบ้านฉางถูกยกฐานะเป็นอำเภอ
                พ.ศ.๒๕๓๔ จังหวัดระยองมี ๖ อำเภอ โดยกิ่งอำเภอวังจันทร ถูกยกฐานะเป็นอำเภอ
                พ.ศ.๒๕๓๖ จังหวัดระยองมี ๖ อำเภอ กับ ๑ กิ่งอำเภอคือ กิ่งอำเภอเขาชะเมา
                พ.ศ.๒๕๓๙ จังหวัดระยองมี ๖ อำเภอกับ ๒ กิ่งอำเภอ คือเพิ่มกิ่งอำเภอนิคมพัฒนา
                พ.ศ.๒๕๔๑ จังหวัดระยองยังคงมีเขตการปกครองเป็น ๖ อำเภอกับ ๒ กิ่งอำเภอ แยกเป็นองค์การบริการส่วนตำบล ๕๔ ตำบล เทศบาล ๓ แห่ง สุขาภิบาล ๑๓ แห่ง หมู่บ้าน ๔๑๒ หมู่บ้าน
            เหตุการณ์สำคัญ  เป็นเหตุการณ์ในประวัติ พอประมวลได้ดังนี้
                การกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ในปลายสมัยอยุธยา เมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้จะเสียแก่พม่า พระยาวชิรปราการหรือพระยาตาก ได้ถูกเกณฑ์มารักษากรุง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๐๖ - ๒๓๑๐ เมื่อพิจารณาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงจะต้องเสียแก่พม่า เนื่องจากความอ่อนแอของฝ่ายไทย จึงได้หาทางออกเมื่อประมาณเดือนยี่ พ.ศ.๒๓๐๙ โดยได้รวบรวมกำลังประมาณ ๕๐๐ คน ออกไปตั้งหลัก ณ วัดพิชัย อยู่ทางด้านใต้ของสถานีรถไฟในปัจจุบัน แล้วยกกำลังมุ่งไปทางทิศตะวันออก ได้ปะทะกับพม่าแต่ตีฝ่าวงล้อมออกไปได้ จากนั้นก็มุ่งไปบ้านโพสามหาว (โพสาวหาร หรือโพสังหาร ก็เรียกกัน) และบ้านพรานนก ได้สู้รบกับพม่าไปตลอดทาง
                จากบ้านพรานนกไปบ้านคง หนองไม้ซุง ตามทางเมืองนครนายก ไปบ้านนาเริ่ง ถึงเมืองปราจีนบุรีข้ามด่านกบ และบ้านหัวทองหลาง พานทอง บางปลาสร้อย ถึงบ้านนาเกลือออกไปพัทยา มาจอมเทียน ไก่เตี้ย สัตหีบ หินโค่ง แวะหยุดพักไพร่พล ที่บ้านน้ำเก่า ปัจจุบันเข้าใจว่าเป็นบ้านเก่า ตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย
                ขณะนั้นผู้รั้งเมืองระยองคือ พระยาระยอง (บุญเมืองหรือบุญเรือน) ได้ทราบข่าวจึงพาคณะกรมการเมืองออกไปเชิญให้พระยาตากพาไพร่พลเข้ามาพักในเมือง พร้อมทั้งมอบธัญญาหารให้เกวียนหนึ่ง ให้พระยาตากเข้าพักที่ท่าประดู่ และพักแรมอยู่ที่วัดลุ่ม (วัดลุ่มมหาชัยชุมพล) สองคืน แล้วจึงได้ตั้งค่าย ขุดคู ปักขวากล้อมบริเวณที่พักไว้โดยมิได้ประมาท
                ในระหว่างเวลานั้น กรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พม่า พวกกรมการเมืองคิดระแวงว่า พระยาตากหลบหนีการสู้รบมาจึงนำเรื่องเข้าปรึกษาหารือกับพระยาระยอง แต่พระยาระยองไม่เห็นด้วย ดังนั้นขุนรามหมื่นซ่อง นายทองอยู่นกเล็ก ขุนจ่าเมือง (ด้วง) หลวงแสนพลหาญ กรมการเมืองระยองได้นำกำลังประมาณ ๑,๕๐๐ คน ยกกำลังมาโจมตีพระยาตาก โดยเข้าโจมตีค่ายทางด้านเหนือ ด้านวัดเนิน (ปัจจุบันรวมกับวัดลุ่ม) มีขุนจ่าเมืองเป็นหัวหน้า แต่ถูกกำลังของพระยาตากต่อต้านถอยกลับไป กำลังของพวกกรมการเมืองที่เหลืออยู่ก็พากันล่าถอยไป พระยาตากจึงระดมกำลังเข้าตียึดเมืองระยองไว้ได้ในคืนวันนั้น บรรดาทหารได้เห็นความสามารถของพระยาตาก จึงพากันยกย่องเรียกว่า เจ้าตาก และโดยที่ชื่อเดิมของท่านชื่อว่า สิน จึงพากันเรียกว่า เจ้าตากสิน
                เมื่อพระยาตาก ยึดเมืองระยองได้แล้ว ก็ให้พักไพร่พลอยู่ในเมืองประมาณ ๗ - ๘ วัน เพื่อบำรุงขวัญทหารและจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อย แล้วจึงนำกำลังเดินทางไปเมืองจันทบุรี เพื่อใช้เป็นที่ตั้งมั่นในการกอบกู้อิสรภาพจากพม่าต่อไป
                การเสด็จประพาสเกาะเสม็ดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเกาะเสม็ด ได้ทอดพระเนตรการทำเยื่อเคย (กะปิ) หลายแห่ง กะปิที่เกาะเสม็ดในครั้งนั้นราคาเพียงถังละหนึ่งบาท ผลจากการเสด็จประพาสครั้งนี้ จังหวัดระยองได้ใช้ตราสัญญลักษณ์ของจังหวัดเป็นรูปเกาะเสม็ด บนเกาะมีพลับพลา ซึ่งหมายถึงพลับพลาซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สร้างวัดในระยอง  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จ ฯ ชายฝั่งทะเลตะวันออก แหลมสน เมืองแกลง เสด็จ ฯ มาใกล้เจดียสถานทรงมีพระราชดำริว่าที่ตำบลปากน้ำแหลมสนนี้ สมควรเป็นที่สร้างพระอารามได้ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระแกลงแกล้วกล้า (มั่ง) ผู้ว่าราชการเมืองแกลง สร้างพระอารามขึ้นในบริเวณพระเจดีย์ซึ่งมีอยู่เดิม พระราชทานนามวัดว่า วัดสมมติเทพฐาปนาราม พร้อมกับพระราชทานที่ดินสร้างวัด จำนวน ๑๐ ไร่ ๒ งาน

            ระยองในอดีตถึงปัจจุบัน  เดิมระยองเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แต่มีชื่อในเรื่องผลไม้ที่มีรสอันโอชาหลายชนิดด้วยกัน โดยเฉพาะทุเรียน เงาะ และมังคุด นอกจากนั้นระยองยังมีน้ำปลาที่มีรสชาติดี มีกะปิที่ทำจากกุ้งตัวเล็ก ๆ ที่เรียกว่า กุ้งเคย สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ให้อย่างลงตัวก็มีอยู่มาก เช่น หาดแม่พิมพ์ เกาะแก้วพิศดาร และน้ำตกเขาชะเมา เป็นต้น และเรื่องที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ กวีเอกของสยามและของโลกคือ สุนทรภู่
            ปัจจุบันระยองได้กลายเป็นดินแดนแห่งอุตสาหกรรม มีโรงงานมากกว่า ๑,๐๐๐ แห่ง จนได้ฉายาว่า เมืองทองแห่งภาคตะวันออก

                การเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพ  เดิมชาวระยองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรกรรม เช่น ทำสวนผลไม้ สวนยางพารา ไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย และการทำนา นอกจากนั้นยังมีอาชีพการประมง ค้าขาย และอุตสาหกรรมเล็ก ๆ ซึ่งได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับ
                ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรกรรมจำนวนมาก กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ที่ดินมีราคาสูงอย่างรวดเร็ว ประชากรจากต่างจังหวัดหลั่งไหลมาสู่จังหวัดระยองเพื่อหางานทำ ประชากรที่เคยประกอบอาชีพทางการเกษตรเปลี่ยนอาชีพเป็นอุตสาหกรรม

                การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม  ชาวระยองจะตั้งถิ่นฐานกระจายกันเป็นหมู่บ้านใหญ่น้อยทั่วทุกอำเภอ ชาวสวนมักปลูกบ้านเรือนอยู่กับสวน เพื่อดูแลสวนได้อย่างทั่วถึง ชาวนาสร้างบ้านไม่ไกลจากนามากนัก สำเนียงภาษาพูดคล้ายคลึงกัน ครอบครัวอาศัยรวมกันในหมู่เครือญาติ เมื่อแยกครอบครัวออกไปก็ยังคงอยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็นส่วนใหญ่
                แบบบ้านเรือนใต้ถุนสูงมีนอกชาน ใต้ถุนบ้านจะโล่งตลอด ใช้เก็บของเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ทั้งในชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพ การทำงานบุญสมัยก่อนใช้เวลา ๓ - ๔ วัน ปัจจุบันลดเหลือประมาณวันครึ่ง
                ประเพณีและวัฒนธรรมชาวระยองมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น การละเล่นในประเพณีสงกรานต์ เช่น ผีครก ผีสาก ผีลิงลม ผีถ้วยแก้ว เป็นต้น ปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว คงเหลือแต่ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ยังคงมีอยู่
                การเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกบุกรุก และแผ้วถางเพื่อขยายการทำการเกษตร และขายสิทธิ์ให้นายทุนไปเป็นจำนวนมาก ป่าชายเลนที่มีอยู่มากเป็นที่สำหรับให้สัตว์น้ำมาแพร่พันธุ์และใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน ปัจจุบันมีเหลืออยู่น้อย และยังคงถูกทำลายลงเรื่อย ๆ เพื่อใช้เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ
                บริเวณชายฝั่งทะเลซึ่งมีความยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร มีธรรมชาติอันสวยงาม ก็ถูกความเจริญทางด้านอุตสาหกรรม และธุรกิจที่พักตากอากาศคุกคามจนทำให้ความเป็นธรรมชาติลดน้อยลงไป มลพิษเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |