| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

รูปปั้นอนุสาวรีย์

            พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เนื่องจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่บริเวณเขาชะโงก จึงได้มอบให้กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ในครั้งนั้น ปั้นหล่อพระบรมรูป เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาววรีย์ ถึงพระองค์ในฐานะพระผู้ทรงสถาปนา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นพระบรมรูปหล่อโลหะ ประทับบนพระราชอาสน์ ฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมทัพไทย พระหัตถ์ขวาทรงถือพระคทา พระหัตถ์ซ้ายทรงกุมพระแสงกระบี่ มีขนาดสองเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ หน้าตึกกองบัญชาการ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก

            เจ้าพ่อขุนด่าน  เป็นวีระบุรุษที่ป้องกันบ้านเมืองนครนายกให้พ้นภัยจากศัตรู เป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดนครนายก
            ลักษณะรูปปั้น หล่อด้วยสำริด อยู่ในอิริยาบทนั่งถือดาบ แต่งกายเต็มยศ หันหน้าสู่ทิศตะวันออก
สิ่งสำคัญคู่บ้าคคู่เมือง

            ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนครนายกตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจตุรมุข แต่เดิมศาลเจ้าพ่อหลักเมืองตั้งอยู่ในบริเวณบ้านพัก เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดติดกับสันคูเมือง ต่อมาได้ย้ายไปตั้งที่ตึกแดง ในบริเววณโรงเรียนศรีนคร

            ศาลเจ้าพ่อขุนด่าน  ตั้งอยู่บนเขาชะโงก ภายในเขตโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นวีรบุรุษ เพื่อเตือนใจอนุชนให้รำลึกถึงบุคคลสำคัญของชาวนยครนายก

            ศาลเจ้าพ่อองครักษ์  ตั้งอยู่ริมฝั่งนครนายก ในตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปจังหวัดปราจีนบุรี โดยได้เสด็จ ฯ ตามลำแม่น้ำนครนายก และได้ประทับแรมบริเวณศาลเจ้าพ่อองครักษ์ นายทหารองครักษ์ได้ป่วย และถึงแก่กรรม พระองค์จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งศาลเป็นอนุสรณ์ถึงเจ้าพ่อองครักษ์ ด้วยเหตุที่บริเวณหน้าศาลเป็นวังน้ำวน ทำให้ผู้ที่สัญจรทางน้ำบริเวณดังกล่าวต้องเซ่นไหว้จึงจะผ่านโดยสะดวก
            อนึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าบริเวณดังกล่าวเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันจึงได้นำน้ำในบริเวณนี้เข้าพิธีพุทธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น
            ประติมากรรม  แต่ละท้องถิ่นของจังหวัดนครนายก มีงานศิลปกรรมที่เป็นลักษณะเฉพาะท้องถิ่น หรือบางชิ้นเป็นศิลปะฝีมือสกุลช่างโบราณ ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
                โบสถ์วัดใหญ่ทักขินาราม  เป็นประติมากรรมปูนปั้น และไม้แกะสลัก เป็นฝีมือช่างพื้นบ้านชาวเวียงจันทน์ ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่บ้านใหญ่ลาว (บ้านใหญ่)

                    ประตูโบสถ์ด้านตะวันออก  มีกรอบประตูเป็นแบบประตูยอดปราสาท มีลายปูนปั้นรูปดอกไม้ และใบเทศประดับเป็นส่วนใหญ่ ดอกไม้สีขาวคล้ายดอกลำดวน ใบไม้สีเขียวมีลายกระจังประดับเหนือหน้ากระดาน ซุ้มประตูทรงมณฑปเป็นศิลปะที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ลักษณะลายใบไม้และดอกไม้เทศนนั้นขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                    บานประตู  มีสองบานเป็นไม้แกะสลัก ภายในกรอบด้านขวาเป็นรูปยักษ์ถือกระบอง ด้านล่างเป็นรูปบุคคลยืนถือหรอือุ้มรูปวงกลม ส่วนบนด้านซ้ายด้านบน เป็นรูปครุฑยุดนาค ด้านล่างเป็นรูปยักษ์จับนาค พื้นบานประตูติดกระจกสีขาวและสีน้ำเงิน
                    หน้าปันเป็นไม้แกะสลักรูปเทพพนมอยู่บนรูปยักษ์ ท่ามกลางลวดลายก้านขด
                    ช่อฟ้า  ใบระกา หางหงส์ และนาค เป็นไม้แกะสลัก
                    หน้าอุดปีกนก  เป็นไม้แกะสลักรูปกวาง ท่ามกลางลวดลายก้านขด
                    สาหร่ายหรือรวงผึ้ง  เป็นไม้แกะสลักรูปดอกไม้ และลายก้านขด
                    คันทวย  เป็นไม้แกะสลักรูปพญานาค ห้อยหัวลงมารับยันกับผนังด้านข้างและเสา ส่วยปลายงอรับคานที่ส่วนเชิงชายด้านละห้าแห่ง ส่วนหัวและหางนาค แกะสลักพร้อมติดกระจกสีน้ำเงิน โดยทาสีแดงที่เส้นและขอบของลำตัวพญานาค
                    กรอบหน้าต่าง  เป็นลวดลายปูนปั้น ซุ้มเลียนแบบหน้าบันลดสองชั้น ภายในเป็นลายรูปดอกไม้และใบเทศ ทำที่หน้ากระดานต่อเนื่องกัน ส่วนบนและล่างหน้ากระดาน เป็นรูปใบพุดตาน หรือใบฝ้าย ด้านบนและล่างของกรอบเป็นลายในเทศทั้งสองข้าง ระหว่างกลางเป็นลายประจำยามหรือดอกสีกลีบ ส่วนหน้ากระดานใต้กรอบหน้าต่างล่าง เป็นลายดอกไม้และใบเทศต่อกัน รองรับด้วยบัวหงายเป็นลายรูปกระจัง แต่ทำคล้ายใบพุดตานซ้อนต่อเนื่องกัน รองรับด้วยกรอบแข้งสิงห์ซ้อนกันสองชั้น ส่วนแข้งสิงห์ทำเป็นรูปใบเทศซ้อนกันสองใบ ด้านล่างรองรับด้วยกลุ่มลายดอก และใบเทศขนาดใหญ่ต่อเนื่องกัน ส่วนพื้นของลายปูนปั้นทาสีน้ำเงิน กรอบทาสีแดง
                    หน้าต่างเป็นไม้ลายรดน้ำ

                    ผนังด้านข้างของกรอบประตู และประตูทั้งสองด้าน  ซุ้มกรอบประตูเป็นลายปูนปั้นแบบหน้าบัน ซ้อนกันสองชั้นเช่นเดียวกับหน้าต่าง เสาประดับกรอบประตู มีลายใบเทศที่ส่วนบนและล่างของหัวเสา กลางเสามีลายดอกประจำยามหรือดอกสีกลีบซ้อนกันสองชั้น ส่วนหน้าต่างใต้กรอบซุ้มประตู เป็นลายปูนปั้นดอกพุดตาน ด้านล่างกรอบประตูมีบันไดก่ออิฐถือปูนรับสามชั้น
                    มุขด้านหน้าโบสถ์  ส่วนผนังด้านนอกของมุขทั้งสองด้านมีลวดลายปูนปั้น เลียนแบบกระเบื้องปรุ ซึ่งนิยมกันมากในสมัยรัตนโกสินทร์ ลายบริเวณส่วนกลาง เลียนแบบลายเพดาน ภายในกรอบคล้ายใบเทศลาย ส่วนกรอบคล้ายเกลียวโดม มีดอกประจำยามแทรกกลางปิดหัวท้ายกรอบ พื้นลายทาสีน้ำเงินตัวลายทาสีเขียว
                    ผนังด้านซ้ายของมุข ส่วนกรอบลายใช้ลายเกลียวกาบกนก ตรงกลางมีดอกประจำยาม

                    หน้าบันด้านหลัง  ส่วนบนเป็นลายปูนปั้นแบบลายก้านขด และมีลายช่อเป็นจุด ๆ ส่วนล่างสอดแทรกลายใบเทศ คั่นด้วยลายแกะสลักไม้เป็นรูปลายกระจัง แถวบน แถวล่างคล้ายใบเทศ พื้นลวดลายติดกระจกสีน้ำเงิน
                    หน้าบันตอนล่างเป็นลายปูนปั้นรูปลิงยักษ์และกษัตริย์ต่อสู้กัน  ภาพตรงกลางเป็นสตรีแสดงเรื่องรามเกียรติ์ตอนพระรามต่อสู้กับทศกัณฑ์เพื่อชิงนางสีดาคืน
                    ส่วนหน้าอุดปีกนก  เป็นลายรูปดอกไม้ทั้งสองด้าน ทาสีแดงที่ดอกใบสีเขียว บนหน้ากระดานใต้ภาพเป็นลายรูปกระจังสีขาวติดกระจกสีน้ำเงิน หน้ากระดานเป็นลายรูปก้ามปู ด้านล่างเป็นลายคล้ายใบเทศต่อเนื่องกันสีขาว ติดกระจกสีน้ำเงิน ส่วนล่างเป็นรูปตุ๊กแกอยู่ตรงกลางและด้านซ้าย ส่วนด้านขวาเป็นรูปตุ๊กแกและเต่า

                โบสถ์วัดอัมพวัน  เป็นฝีมือช่างจากวัดระฆังโฆษิตารามวรวิหาร ร่วมก่อสร้างกับชาวบางอ้อ วางศิลาฤกษ์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖
                    หน้าบันมุขด้านหน้า  เป็นไม้แกะสลักลวดลายรูปดอกบัวตูมต่อเนื่องกันในกรอบรูปสามเหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น กรอบสามเหลี่ยมตรงกลางแกะสลักเป็นรูปมณฑปยอดปรางค์ มีรูปบุคคลอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยอาคารขนาดเล็กเลียนแบบอุโบสถทั้งสองด้าน มีลายดอกบัวบานหกดอก แวดล้อมกลุ่มอาคาร ประดับกระจกลายแกะไม้ในกรอบหน้าบัน ด้านหลังเป็นลายลูกฟัก และลายใบเทศ ต่อเนื่องด้านล่างอีกชั้นหนึ่ง
                    รวงผึ้ง  เป็นลายแกะสลักไม้ในกรอบสามเหลี่ยมสามแถว
                    สาหร่าย  เป็นลายแกะสลักไม้รูปพญานาคลงตามเสามุขทั้งสองด้าน
                    หน้าอุดปีกนก  เป็นลายแกะไม้รูปเทพพนมครึ่งตัว กลุ่มลายก้านขดทั้งสองด้าน พื้นประดับกระจกสีขาว
                    เสามุข  ก่ออิฐถือปูนเป็นสามเหลี่ยมรับเครื่องบนหลังคาสองต้น และเชิงชายสองต้น หัวเสาเป็นบัวแว้งทาสีแดง เสารับมุขด้านตะวันออกและตะวันตกมีด้านละสี่ต้น
                    หน้าบันส่วนบน หรือส่วนบนของหลังคาชั้นที่หนึ่ง  ทั้งด้านตะวันตกและด้านตะวันออก เป็นไม้แกะสลัก ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทำจากไม้

                    กรอบประตู  ด้านตะวันออกเป็นลายปูนปั้น ทำเลียนแบบเครื่องบนหลังคา กลางหน้าบันเป็นเทพพนมครึ่งตัว ทาสีเหลืองตัดขอบสีแดงและน้ำเงิน เทพพนมอยู่ในกลุ่มลายกนก ซึ่งทาสีดำด้านหน้าบันเป็นยอดทรงปราสาท ทาสีแดง เหลืองและน้ำเงิน
                    กรอบประตูด้านข้างมีสองชั้น  หัวเสาเป็นลายใบเทศ ทั้งด้านบนและด้านล่างกรอบประตู ตกแต่งด้วยลายดอกไม้สีน้ำเงิน กลีบดอกสีเหลือง ลายเกลียวใบเทศทาสีแดงจำนวนสองแถว
                    ประตู  เป็นไม้แบบบานคู่สองประตู ด้านขวาและด้านซ้ายบานประตูทั้งสองด้าน แกะสลักเป็นรูปเทวดา ยืนถือพระขรรค์อยู่บนพญานาค มีฐานแบบแข้งสิงห์รองรับอีกชั้นหนึ่ง ทวารบาลลงรักปิดทอง ส่วนพื้นติดกระจกขาว ยกเว้นกลุ่มดอกไม้ด้านประตูขวาติดกระจกสีเหลือง ส่วนใหญ่เป็นกระจกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๒ x ๓ เซนติเมตร ตรงกลางด้านบน และด้านล่างของอกเสาแกะสลักเป็นรูปดอกไม้ติดกระจก คมฐานสิงห์ที่รองรับนาคแกะสลัก บอกเวลาการสร้างไว้ทั้งสองด้านคือปี พ.ศ.๒๔๖๖
                    กรอบประตูด้านหลัง  เป็นลายปูนปั้นเหมือนด้านหน้า ประตูไม้ทั้งสองด้านแกะสลักเป็นรูปเทวดายืนถือพระขรรค์อยู่บนพญานาค หันหน้าเข้าหากัน ด้านล่างเป็นฐานแข้งสิงห์รองรับอีกชั้นหนึ่ง ลงรักปิดทอง  ส่วนพื้นดินติดกระจกสีขาว ด้านบนเป็นกลุ่มลายดอกไม้ลงรักปิดทอง กลางดอกไม้ติดกระจกสีแดง พื้นกระจกสีเหลืองและสีขาว พื้นแข้งสิงห์แกะสลักชื่อผู้สร้างโบสถ์

                    กรอบหน้าต่าง  ซุ้มกรอบหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นทำเลียนแบบซุ้มหน้าต่างยอดปราสาทหรือยอดมงกุฎในสมัยรัตนโกสินทร์ ตอนต้น เป็นรูปวงโค้ง ส่วนยอดเกือบถึงเพดาน เชิงชายและส่วนล่างถึงฐานอุโบสถ ส่วนยอดเป็นลายปูนปั้นเทพนมครึ่งตัวผุดขึ้นมาจากกลุ่มลายใบไม้ ภายในซุ้มส่วนใหญ่เป็นลายคล้ายก้านขด  ส่วนกรอบวงโค้งในเป็นลายหน้าสัตว์คล้ายสิงโตในวงรูปไข่ อยู่ท่ามกลางใบไม้ขดเป็นลักษณะแบบตะวันตก เป็นการผสมผสานอย่างกลมกลืน ระหว่างลวดลายแบบไทยกับแบบตะวันตก
                    ด้านล่างกรอบหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นรูปหนุมานแบกในกรอบสี่เหลี่ยม ภายในกรอบด้านบนเป็นลายประจำยามรูปดอกบัว กรอบข้างเป็นลายรูปดอก และใบบัวในกระถางทั้งสองด้าน ด้านในเป็นลายกลุ่มดอกไม้
                    บานหน้าต่าง  เป็นไม้ ไม่มีการแกะสลักลวดลาย
                    เพดานภายในอุโบสถ  มีดาวเพดานลงรักปิดทองและติดกระจกสีขาว สีน้ำเงิน สีเหลือง  มีมุมเพดานลงรักปิดทองติดกระจกขาว ผนังภายในไม่มีภาพจิตรกรรม
            จิตรกรรม  มีจิตรกรรมที่งดงามดังนี้
                ภาพเขียนสีที่เพิงผาเขาคอก  อยู่ที่วัดเขาคอก ตำบลบ้านพร้าว อำเภอเมือง ฯ  ภาพเขียนอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๑๐๐ เมตร  จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ พบว่าเป็นภาพเขียนสีอยู่ในสมัยอยุธยาซึ่งนิยมใช้สีขาว แดงและดำ เป็นภาพมองด้านเดียว มีภาพเขียนสมัยประวัติศาสตร์บนเชิงผาไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นภาพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กลุ่มภาพเขียนที่เพิงผาประกอบด้วย

                    ภาพกลุ่มที่ ๑  เป็นภาพพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร พระเศียรมีรัศมีเป็นพื้นสีน้ำเงินตัดเส้นสีขาวและสีแดง องค์พระเป็นสีขาว พระศกสีดำ ลักษณะสีแสดงถึงการเขียนทับภาพเดิม เพิ่มเติมบาตร ด้านบนซ้ายแสดงให้เห็นสีเดิมคือ ลงพื้นด้วยสีขาวตัดเส้นด้วยสีแดงและดำ ดังนั้นการใช้สีน้ำเงิน จึงเป็นการเพิ่มเข้ามาในสมัยหลัง
                    ภาพเดิมคงจะเป็นปางเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ มีหมู่เทพเข้าเฝ้า  เขียนภาพด้วยสีขาวแล้วตัดเส้นด้วยสีดำและแดง
                    ภาพกลุ่มที่ ๒  เป็นภาพคนยืนและนั่ง ด้านซ้ายของภาพถูกต่อเติมเป็นรูปพระพุทธสาวกอุ้มบาตร ตามหลักฐานทาง ประวัติศาสตร์ปรากฏเป็นภาพสลักลอยตัว หรือภาพสลักนูนต่ำบนผนังถ้ำในสมัยทวาราวดี เช่น ถ้ำพระงาม จังหวัดลพบุรี และภาพลายนูนเป็นสมัยสุโขทัยที่วัดตระพังทองหลาง จังหวัดสุโขทัย ไม่ปรากฏมีการอุ้มบาตร
                    ภาพกลุ่มที่ ๓  เป็นภาพบุคคลกำลังเหาะอยู่ระดับพระเศียร ทั้งด้านขวาและด้านซ้ายของภาพพระพุทธเจ้า แต่งเติมสีแดงและสีน้ำเงินเข้าไปในภาพเดิม  ภาพเดิมคงเขียนด้วยสีขาว ตัดเส้นด้วยสีแดงและดำแลัวต่อเติมพื้นที่ด้านขวาเดิมเป็นหลุมลึก ๑.๔๐ เมตร เป็นลักษณะพื้นเดิมของลานบริเวณด้านหน้ารูปเขียนสีบนผนังเพิงผา
                    กลุ่มภาพเขียนสีที่เพิงผาเขาคอกมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก

                แหล่งภาพเขียนสีเขาชะโงก (วัดพระฉาย)  อยู่ที่บ้านเขาชะโงก ตำบลพราหมณี อำเภอเมือง ฯ  ลักษณะภาพเขียนสีเดิม คงใกล้เคียง และอยู่ในรูปเดียวกับภาพเขียนสีเขาคอก ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับภาพเขียนสีเขาชะโงก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๑ ได้มีการเขียนทับใหม่ ปัจจุบันทางวัดพระฉายได้ก่อสร้างอาคารคลุมไว้

                ภาพจิตรกรรมผนังวิหารวัดโบสถ์การ้อง  อยู่ในตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง ฯ  เป็นภาพเขียนด้วยสีน้ำตาล เขียว แดง และดำ เป็นรูปบุคคลในสมัยรัตนโกสินทร์ แสดงวิถีชีวิตในสมัยนั้น เป็นภาพที่เขียนรอบผนังด้านบนของวิหาร
                ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดแก้วตา  อยู่ในตำบลนครนายก อำเภอเมือง ฯ  อยู่ในบริเวณวัดอุดมธานี มีร่องรอยภาพเขียนสีในโบสถ์ด้านทิศตะวันออก เป็นภาพลายดอกไม้ และลายประจำยามขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นภาพที่เขียนพร้อมกับการสร้างโบสถ์วัดแก้วตาซึ่งเป็นวัดในสมัยอยุธยา ต่อมาวัดดังกล่าวได้รวมอยู่กับวัดอุดมธานี

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |