| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

ศาสนสถาน
            วัดหนองคันจาม  ตั้งอยู่ที่บ้านหนองคันจาม สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมเป็นสำนักสงฆ์ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๕๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
            บริเวณบ้านหนองคันจาม แต่เดิมเป็นทุ่งกับป่าต่อกันไปจนถึงทุ่งรังสิต เมื่อประมาณกว่าร้อยปีมาแล้ว บริเวณดังกล่าวมีโขลงช้างป่าจำนวนมาก เข้ามาบริเวณทุ่งหลังวัด เนื่องจากบริเวณทุ่งหลังวัดมีหนองน้ำขนาดใหญ่ ช้างจึงเข้าไปอาศัยแหล่งน้ำ จึงมีการใช้บ่วงดักช้างเรียกว่า คันจาม นอกจากนั้นยังมีพิธีคล้องช้างที่บริเวณหนองคันจาม มีกรมโขลงช้างเป็นผู้ดูแล
                อุโบสถ  เดิมสร้างแบบก่ออิฐถือปูน โครงสร้างหลังคาเป็นไม้มุงกระเบิ้องว่าว โครงหลังคาเป็นแบบลดชั้นซ้อนกันสองชั้น มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนฐานโค้งตกท้องช้างหรือแบบหรือสำเภา ผนังร้านรับน้ำหนักบนหลังคาขนาดกว้าง ๓ วา ยาว ๑๐ วา สูง ๓ วา ขนาดอิฐยาว ๑๐ เซนติเมตร กว้าง ๔ เซนติเมตร หนา ๓ เซนติเมตร
                ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ทางวัดได้รื้ออุโบสถหลังเดิมออก แล้วสร้างหลังใหม่จากรูปถ่ายของอุโบสถหลังเดิมขึ้นแทน เป็นโครงสร้างไม้รับน้ำหนักด้วยผนังด้านข้าง มีมุขทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งประตูทางเข้าออกทั้งสองข้าง โครงสร้างหลังคาเช่นเดียวกับอุโบสถสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ลักษณะไม่กว้าง จึงคลุมส่วนผนังด้านข้างไม่มากนัก รูปแบบอุโบสถคล้ายอุโบสถที่วัดอัมพวัน ตำบลบางอ้อ อำเภอบ้านนา
                เจดีย์  ตั้งอยู่มุมด้านตะวันออกของอุโบสถ เป็นเจดีย์แบบย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งแต่ฐานจนถึงองค์ระฆัง ฐานเป็นแข้งสิงห์ซึ่งรองรับบัวปากระฆัง องค์ระฆังเป็นลวดลายประดับที่เรียกว่า ทรงเครื่อง และยอดส่วนที่เหลือจากการหักพังลงมานั้น สันนิษฐานว่า เป็นลักษณะบัวกลุ่ม
                รูปแบบของเจดีย์คล้ายเจดีย์ที่วัดป่ากระทุ่ม บ้านวังต้น ตำบลพราหมณี อำเภอเมือง ฯ และเจดีย์วัดกุฎีเตี้ย บ้านสระโบสถ์ ตำบลอาสา อำเภอบ้านนา ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย และรัตนโกสินทร์ตอนต้น
                โบราณวัตถุที่สำคัญ  มีเสาหงส์ ซุ้มเรือนแก้ว ตู้พระธรรม หีบพระธรรม พระพุทธรูปและเครื่องถ้วย

                    เสาหงส์  เป็นรูปหงส์ขนาดใหญ่ยืนอยู่บนแท่นหรือหัวเสาสำหรับเสียบ หรือครอบบนหัวเสาไม้ ตัวหงส์มีลวดลายประดับทั่วไปเป็นลายกนก เดิมปักอยู่ทางตะวันออกของอุโบสถหลังเดิม เมื่อรื้ออุโบสถแล้วได้นำเอาเสาหงส์ออก ปัจจุบันทางวัดได้นำตัวหงส์ไปติดตั้งไว้บนยอดหอระฆัง
                    เสาหงส์นี้เป็นโบราณวัตถุสมัยอยุธยา เมื่อพม่าครอบครองไทยได้สั่งประดับเสาหงส์ทุกวัด ภายหลังได้มีการรื้อออกทุกวัดเว้นบางวัดที่มีพระสงฆ์เป็นชาวมอญอยู่ ศิลปะแบบมอญจะตั้งเสาหงส์ไว้หน้าอุโบสถ
                    ซุ้มเรือนแก้ว  สร้างเพื่อครอบพระพุทธรูปที่เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทำด้วยสำริด ขนาดหน้าตักประมาณสองศอก ส่วนล่างของซุ้มเรือนแก้ว เป็นรูปบุคคลทั้งสองด้าน เพื่อใช้เสียบเดือยบนหัว ลักษณะคล้ายนั่งชันเข่า มือทั้งสองยกขึ้นเหนือศีรษะ นุ่งผ้าหยักยั้งไม่สวมเสื้อ ขนาด ๑๕ x ๑๖ เซนติเมตร พระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริดในซุ้มเรือแก้วเดิม เป็นพระประธานในโบสถ์หลังเดิม เมื่อรื้อโบสถ์หลังเดิมออกไปแล้ว ได้อัญเชิญไปประดิษฐานในอุโบสถหลังใหม่ โดยถอดซุ้มเรือนแก้วออก
                    ตู้พระธรรม  มีลวดลายลงรักปิดทองทั้งสี่ด้าน ด้านหน้าคือ บานเปิดและปิดตู้ ด้านขวาเป็นรูปกลุ่มทหารและเสนา ด้านซ้ายบนเป็นรูปกลุ่มทหารถืออาวุธซ่อนตัวในพุ่มไม้ สวมเสื้อราชปะแตน นุ่งโจงกระเบน และสวมหมวกกะโล่ ด้านล่างเป็นรูปบุคคลถืออาวุธ และมีผู้เข้าเฝ้า ด้านล่างซ้ายเป็นรูปพระพุทธเจ้าตอนมารผจญ ด้านหลังเป็นเรื่องมหาเวสสันดรชาดก
                    หีบพระธรรม  ลงรักปิดทอง

                    พระพุทธรูป  หล่อด้วยสำริด ปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ เป็นพระประธานในอุโบสถ นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย และพระมาลัยโปรดสัตว์ หล่อด้วยสำริด สมัยรัตนโกสินทร์

                    เครื่องถ้วย  ทำเป็นสี่ประเภทคือ เครื่องถ้วยเบญจรงค์ มีหลายรูปแบบ เครื่องถ้วยลายคราม มีรูปแบบต่าง ๆ ตามศิลปะจีน เครื่องถ้วยญี่ปุ่น เป็นประเภทจานเคลือบขาวเขียนลายใต้เคลือบสีแดง เขียว น้ำเงิน และเหลือง เครื่องถ้วยพม่า ประเภทชามขนาดใหญ่เขียนลายสีครามเคลือบสีขาว

            วัดอัมพวัน  อยู่ในตำบลบางอ้อ อำเภอบ้านนา เป็นวัดสร้างในสมัยอยุธยาแล้วก่อตั้งใหม่ ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมดีเด่น และงดงาม
                อุโบสถ  ก่ออิฐถือปูน มีขนาดใหญ่ยาว ๒๐.๕๐ เมตร กว้าง ๙ เมตร สูงประมาณ ๑๒ เมตร ขนาดห้าห้อง หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง อยู่ภายในกำแพงแก้วสูง ๕๐ เซนติเมตร มีมุขด้านหน้าหรือด้านตะวันออกและด้านหลัง หรือด้านตะวันตก มุขทั้งสองมีเสาขนาดใหญ่รองรับมุขละสี่ต้น เป็นเสาลบมุม ซึ่งนิยมใช้มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ใช้ผนังด้านข้างรับน้ำหนักหลังคาโบสถ์ ส่วนมุขประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ได้แก่

                    เครื่องบนหลังคา เป็นหลังคาลดสองชั้น เครื่องไม้มุงกระเบื้องว่าว ต่อมาได้เสริมเชิงชายที่มุขหลังคาเพื่อกันฝน หน้าบันไม้แกะสลัก รวงผึ้ง สาหร่าย หน้าอุดปีกนก กรอบประตูปูนปั้น ประตูไม้บานคู่แกะ สลักงดงาม หน้าต่างมีกรอบลายปูนด้านละสี่บาน ส่วนที่เป็นบานไม่แกะสลัก
                    เพดานอุโบสถ  มีดาวเพดานลงรักปิดทอง ติดกระจกขาว น้ำเงิน เหลืองและค้างคาว ส่วนผนังภายในไม่มีภาพจิตรกรรม
                    ซุ้มเสา  ก่ออิฐถือปูนทำเป็นมณฑปยอดปราสาท กรอบด้านข้างเป็นลายปูนปั้นแบบลายประจำยาม มีซุ้มลงโค้งเป็นลายปูปปั้นรูปเกลียวกนกทั้งสี่ด้าน ด้านล่างเป็นฐานปัทม์ บนฐานแข้งสิงห์ ส่วนบนของหลังคามณฑปทำเป็นรูปเศียรนาคทั้งสี่มุม
                    พระประธาน  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แบบศิลปะรัตนโกสินทร์

                ใบเสมา ทำจากหิน แกะสลักเป็นรูปพญานาคหันเศียรออกทั้งสองด้าน ตรงกลางเป็นลายกลีบดอกไม้ ลงรักปิดทอง และติดกระจกสี ซุ้มเสมาทรงมณฑปยอดปราสาทมีเฉพาะตรงกลางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มุมทั้งสองด้านของเสาด้านตะวันออก ตั้งอยู่บนฐานปัทม์ลักษณะบัวหงาย ทำเป็นกลีบซ้อนกันโดยรอบ ด้านล่างเป็นฐานแข้งสิงห์รองรับอีกชั้นหนึ่ง ไม่มีซุ้มมณฑปเช่นเดียวกับฐานเสมาตรงมุมตะวันตก ส่วนด้านข้างไม่มีทั้งสองด้าน อาจเป็นเพราะอยู่ภายในกำแพงแก้วแล้ว
                    ลานประทักษิณ  อยู่ภายในกำแพงแก้วโดยรอบอุโบสถ
                    กำแพงแก้ว  ด้านตะวันออกและตะวันตก อยู่ในแถวกับเสามุข ดังนั้นความยาวของกำแพงแก้ว จึงเท่ากับความยาวของอุโบสถ
                เจดีย์ราย  อยู่ทางด้านตะวันออกของอุโบสถ ห่างออกไปประมาณ ๑๐ เมตร เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ก่ออิฐถือปูน ส่วนยอดชำรุด ฐานกว้างประมาณ ๒ เมตร สูง ๓ เมตร

                หอระฆัง (เก่า)  เป็นเครื่องไม้ สูง ๖ เมตร กว้างด้านละประมาณ ๒ เมตร เครื่องบนหลังคามุงกระเบื้อง หางหงส์ หน้าบันแกะสลักเป็นรูปพานรัฐธรรมนนูญ อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยม ล้อมรอบด้วยลายก้านขดและลายเกลียวกนกในกรอบสามเหลี่ยม ลงรัก ปิดทอง ติดกระจกสีน้ำเงินเป็นพื้นของลาย เพดานมีลายดาวเป็นรูปกลีบบัวใหญ่อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบบด้วยกลีบบัวสี่มุม ลงรักปิดทองประดับกระจกสีเขียว พื้นเพดานทาสีแดง เครื่องไม้ประกอบตัดเส้นสีเหลือง มีคันทวยไม้แกะสลักเป็นรูปนาคห้อยเศียรลงมารับกับเสา หางรับเชิงชาย ส่วนเศียรและหางนาค ทาสีแดง มีลายดอกสี่กลีบอยู่กลางลำตัว มีนาคมุมละสามตัว รวมสิบสองตัว
                หอระฆังยกพื้นสูงประมาณ ๒ เมตร เสาทั้งสี่ด้านมีลักษณะสอบขึ้นด้านบน และเข้าสลักเครื่องไม้เช่นเดียวกับเรือนไทย
                ศาลาการเปรียญ  เป็นอาคารเครื่องไม้ มุงกระเบื้องขนาดกว้างประมาณ ๑๖ เมตร ยาวประมาณ ๑๘ เมตร สูงประมาณ ๑๒ เมตร อาคารยกพื้นสูงหนึ่งชั้น ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เป็นเครื่องไม้หน้าบันแกะสลักรูปพระพุทธรูป ส่วนเชิงชายเป็นเท้าแขนทำด้วยเหล็ก โครงสร้างบางส่วนช่วงระหว่างเชิงชายใช้เหล็กยึด แต่ส่วนอื่นเข้าสลักไม้ เสาไม้ด้านบนสอบเข้าหากัน
                หมู่กุฎิเรือนไทย  เป็นเรือนไทยขนาดสามห้อง ฝาแบบสายบัวคือ ฝาไม้กระดานตีตามแนวตั้งและทับแนวด้วยไม้เส้นเล็ก ด้านล่างมีร่องตีนช้างรองรับ ซึ่งมักพบในฝาปะกน ส่วนเท้าแขนเป็นโครงเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องว่าว ปั้นลมเป็นไม้ หน้าบันแบบใบปรือ ตัวเรือนยกพื้นสูง ด้านล่างเป็นที่เก็บเกวียนหรือเรือได้
                กุฎิเรือนแพ  เดิมเป็นเรือนแพอยู่ในกรุงเก่า ได้ถวายแก่วัดอัมพวัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ เพื่อทำเป็นกุฎิ โดยปล่อยส่วนที่รับน้ำหนักแพให้จมลง และใช้อิฐก่อเป็นเสาตั้งรับบแทน เป็นเรือนแพแฝด แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนในเป็นห้องพัก ส่วนนอกเป็นชาน ประตูเป็นแบบฝาเฟี้ยม ซึ่งนิยมกันในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ หลังคาแฝดเพื่อรับความกว้างของแพ ซึ่งเป็นลักษณะแบบพิเศษ บั้มลงด้านละสองข้าง หน้าบันแบบใบปรือเช่นเดียวกับหมู่กุฎิเรือนไทย ฝาผนังแพด้านนอกเป็นแบบฝาถัง วางตามขวาง
                เรือนแพ กว้าง ๙.๒๕ เมตร ยาว ๑๑.๒๐ เมตร สูง ๒.๕๐ เมตร มีหน้าต่างด้านข้าง ๆ ละสองบาน
                ธรรมมาสน์  เป็นไม้แกะสลัก ขนาด ๑.๕๐ x ๑.๕๐ เมตร สูง ๒.๔๐ เมตร เสาเป็นเกลียวเลียนแบบเสาแพ มีลวดลายแกะสลักคล้ายก้านขดแบบเดียวกับบานประตู
                หอไตรเก่า  เป็นเรือนไม้แบบหกเหลี่ยม ตั้งอยู่กลางสระใหญ่ มีสะพานไม้พาดไปจากขอบสระ ปัจจุบันรื้อออกแล้ว
            วัดใหญ่ทักขิณาราม  ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งของแม่น้ำนครนายก เป็นวัดที่ชาวเวียงจันทน์อพยพเป็นผู้สร้าง มีรูปแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย

                อุโบสถ  ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เป็นโบสถขนาดสามห้อง มีมุขด้านหน้า ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาวประมาณ ๑๐ เมตร สูงประมาณ ๑๐ เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีเจดีย์แบบย่อมุมไม้สิบสองอยู่ด้านนอกกำแพงแก้ว ตัวโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนานกับแม่น้ำนครนายก มีประตูเข้าโบสถ์หนึ่งบาน ผนังด้านข้างมีหน้าต่างและประตูด้านละแห่ง และประตูที่ผนังด้านหลังข้างละแห่ง
                    ประตู  อุโบสถด้านหน้า มีกรอบประตูแบบประตูยอดปราสาท หรือซุ้มทรงมณฑป มีลายปูนปั้นเป็นรูปดอกไม้ใบเทศประดับ บานประตู หน้าบัน ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคหน้าอุด ปีกนก สาหร่ายหรือรายริ้ว คันทวย เป็นไม้แกะสลัก
                    หน้าต่าง  เป็นกรอบไม้ มีมุขด้านหน้าโบสถ์ หน้าบันด้านหน้าเป็นไม้
                    บัวหัวเสา  เป็นลายปูนปั้น ลงรักปิดทองเรียกว่า บัวแวง เป็นกลีบดอกบัวชนิดบัวสายมีกลีบตั้งยาว ส่วนศิลปะประกอบสถาปัตยกรรมจะหุ้มหัวเสาทั้งแบบเหลี่ยมและแบบกลม บางครั้งทำเป็นลายดุมประดับพานและกระโดมโลหะ ใต้บัวหัวเสาเป็นหน้ากระดานและท้องไม้ลายกรุยเชิง เสามีโคนใหญ่แล้วเรียวไปหาปลายจนถึงบัวหัวเสา ซึ่งเป็นแบบที่นิยมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
                    เครื่องบนหลังคา  เป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องแบบกระเบื้องมอญคือกระเบื้องตัดเฉียงปลายแหลม ส่วนเชิงชายพื้นหลังคาด้านในทาสีแดง ตรงกลางส่วนบนหลังคาเป็นรูปมณฑปทรงจตุรมุขขนาดเล็ก ทำด้วยปูนปั้น ลักษณะดังกล่าวปรากฎในกลุ่มของโบสถ์หรือวิหารทางภาคเหนือ
                    ฐานโบสถ์  เป็นลักษณะบัวคว่ำบัวหงาย คั่นด้วยหน้ากระดานท้องไม้ และลูกแก้วอกไก่ เรียงอิฐแบบสลับยาวและกว้าง
                    ใบเสมา  ทำด้วยหินชนวน มีลายกนกด้านข้าง ส่วนกลางเป็นรูปพญานาค สองตัวไขว้กัน ตรงกลางเป็นรูปดอกสีติดกระจกสีน้ำเงิน ด้านล่างเป็นลายแข้งสิงห์ ภายในซุ้มปั้นรูปใบเสมา
                    กำแพงแก้ว  ก่ออิฐถือปูน วงโค้งระหว่างเสาสี่เหลี่ยม มีประตูซุ้มวงโค้งเลียนแบบศิลปะตะวันออก อยู่ระหว่างกลางกำแพงทั้งสี่ด้าน วงโค้งของประตูมีเจดีย์ย่อมุมขนาดเล็กประดิษฐานอยู่กึ่งกลางลำตัวของพญานาค ซึ่งหันหน้าออกทางทิศเข้าประตู บนวงโค้งด้านทิศใต้มีเจดีย์อยู่บนมณฑปทรงจตุรมุข ภายในมณฑปมีรอยพระพุทธบาทคู่ ทำด้วยหินชนวนสีเทา นอกจากนั้นมีรูปทหารสวมหมวกถือกระบอง แต่งกายแบบบยุโรปเป็นทวารบาล ประตูละสองคน

                เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง  ตั้งอยู่ด้านนอกกำแพงแก้ว ทางทิศตะวันตกหรือด้านหลังอุโบสถ เป็นแบบเจดีย์ทรงเครื่อง ก่ออิฐถือปูน สูงประมาณ ๕ เมตร เป็นลักษณะศิลปะอยุธยาตอนปลาย และรัตนโกสินทร์ตอนต้น

            วัดศรีเมือง ฯ  อยู่ในตำบลนครนายก อำเภอเมือง ฯ เดิมอยู่ติดกับวัดเกาะ สันนิษฐานว่า เป็นวัดสมัยอยุธยาตอนปลาย
                ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ดีเด่นคือ อาคารหมู่กุฎิเรือนไทย ซึ่งได้บูรณะปฏิสังขรณ์จากกุฎิเดิม ประยุกต์ให้เข้ากับสภาพปัจจุบันได้อย่างปราณีต และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
                วัดศรีเมืองได้รับคัดเลือกให้เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมดีเด่นของจังหวัดนครนายก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐

            วัดบางอ้อใน  ตั้งอยู่ที่บ้านบางอ้อ ตำบลบางอ้อ อำเภอบ้านนา เป็นวัดเก่าที่สร้างมานานกว่า ๒๐๐ ปี ในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
            สถาปัตยกรรมดีเด่นของวัดคือ หมู่กุฎิเรือนไทย สร้างด้วยไม้ มีลักษณะงดงาม และมีความสมบูรณ์ เรือนไทยแต่ละหลังมีขนาดไม่เท่ากันคือมีขนาดตั้งแต่สามห้อง มีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี ประกอบด้วยอาคารเรือนไทยห้าหลัง เรือนตรงกลางมีลักษณะพิเศษคือมีลูกไม้ชายห้อย ประดับงดงามมาก ฝาเป็นฝาสายบัว ส่วนเท้าแขนเป็นไม้ โครงหลังคามุงกระเบื้องว่าว ปั้นลมเป็นไม้ ตัวเรือนยกพื้นสูง
            วัดอุดมธานี  เป็นวัดเก่ามีอายุกว่าสองร้อยปี เดิมชื่อวัดแก้วตา แม่แก้วตาชาวเวียงจันทน์เป็นผู้สร้าง ต่อมาแม่สาวหนู เชื้อสายชาวเวียงจันทน์ มีศรัทธาได้สร้างวัดในที่อยู่อาศัยของตนติดกับวัดแก้วตา โดยยกทั้งที่และบ้านให้เป็นที่สร้างวัดเรียกว่า วัดอุดม เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้รวมวัดแก้วตากับวัดอุดมเป็นวัดเดียวกันเรียกว่า วัดอุดมรัตนาวาส แล้วสร้างอุโบสถหลังใหม่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ ระหว่างที่สร้างโบสถ์อยู่นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้เสด็จเมืองนครนายกแล้วทรงเยี่ยมวัดนี้ และได้มีพระดำรัสให้เปลี่ยนชื่อวัด เป็นวัดอุดมธานี เมื่อสร้างอุโบสถเสร็จแล้วจึงนำพระประธานในโบสถ์เก่ามาประดิษฐานเป็นพระประธาน เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย หน้าตักกว้างประมาณ ๒๖ นิ้ว

            วัดทองย้อย  เป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอบ้านนา ชาวมอญที่อพยพจากกรุงศรีอยุธยา มาตั้งบ้านเรือนบริเวณริมคลองบ้านนา สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๕ ต่อมาได้สร้างอุโบสถเพื่อใช้ทำสังฆกรรม อุโบสถยังอยู่ถึงปัจจุบัน และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาห้าครั้งแล้ว
            ภายในวัดมีรอยพระพุทธบาทสี่รอย มีอายุประมาณ ๑๒๐ ปีมาแล้ว ประดิษฐานอยู่ภายในมณฑป
            วัดท่าแดง  เป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอปากพลี สร้างสมัยธนบุรี โดยชาวไทยพวนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านท่าแดง เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๒๑ และได้ประดิษฐานพระพุทธศรีอาริย์สำริดที่นำมาด้วย เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และผู้มีเคราะห์กรรมจะไม่สามารถยกองค์พระขึ้นได้
            วัดประสิทธิเวช  เป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอองครักษ์ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๓

| ย้อนกลับ | บน |