| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พื้นที่ป่า

            พื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดนครนายกส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัด พื้นที่ประมาณหนึ่งในสี่อยู่ในเขตจังหวัดนครนายก หรือประมาณ ๒๓๒,๐๐๐ ไร่
            เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ มีราษฎรจากบ้านท่าด่าน และบ้านท่าชัย จังหวัดนครนายก ได้อพยพไปตั้งบ้านเรือนบนเขาใหญ่ เพื่อล่าสัตว์และเก็บของป่าขาย ตลอดจนแผ้วถางป่าเพื่อปลูกข้าว และพริกเป็นอาหารในครัวเรือน ต่อมาเมื่อประชากรมากขึ้นทางราชการจึงได้ยกฐานะหมู่บ้านขึ้น เป็นตำบลเขาใหญ่ อยู่ในอำเภอปากพลี จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๕ ทางราชการจึงได้มีคำสั่งให้ยุบตำบลเขาใหญ่แล้ว อพยพราษฎรทั้งหมดลงมาอยู่ในที่ราบตอนล่าง ด้วยเหตุผลว่าเขาใหญ่เป็นที่หลบซ่อนตัวของพวกกบฎเพื่อต่อต้านรัฐบาล ด้วยความเป็นมาดังกล่าวบริเวณสองข้างทางบนเขาใหญ่ ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้าน และที่ทำกินของชาวบ้านจึงกลายเป็นทุ่งหญ้าคาที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
            การตั้งอุทยานแห่งชาติ เริ่มเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๘ เพราะได้รับอิทธิพลและแรงกระตุ้นจากการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.๑๙๕๕ (พ.ศ.๒๔๙๘) คือ เยลโล่ สโตน แนชชันนัล ปาร์ค สมาคมนิยมไพรในประเทศไทยจึงได้กระตุ้นเตือนให้รัฐบาล สนใจสงวนที่ป่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
            ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดสรรที่ดินของรัฐในป่า ๑๔ แห่ง เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ อุทยานแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เมื่อได้สำรวจ และวางแผนป่าเขาใหญ่เสร็จแล้ว ก็ได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นอุทยาน ฯ แห่งแรก และมีพื้นที่มากที่สุดของประเทศไทยในขณะนั้น มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่สี่จังหวัดในภาคกลาง ตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดสระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี และนครราชสีมา มีพื้นที่ประมาณ ๑,๓๕๗,๐๐๐ ไร่ หรือประมาณ ๒,๑๗๐ ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันอุทยาน ฯ เขาใหญ่มีพื้นที่เป็นอันดับสาม รองจากอุทยาน ฯ แก่งกระจาน และอุทยาน ฯ ทับลาน
            อุทยาน ฯ เขาใหญ่  นานาชาติยอมรับว่ามีการจัดการด้านอนุรักษ์ที่ดีแห่งหนึ่งของโลก โดยได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในห้าของอุทยานแห่งชาติของโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๔ รัฐบาลไทยได้พยายามผลักดันให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก พร้อมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
            อุทยาน ฯ เขาใหญ่  เป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีพืชพันธุ์ไม่ต่ำกว่า ๑.๐๐๐ ชนิด มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า ๖๐ ชนิด และนกชนิดต่าง ๆ กว่า ๓๐๐ ชนิด ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ดังกล่าวทำให้เขาใหญ่เป็น ๑ ใน ๑๑ แห่งของโลก ที่เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรพืช และสัตว์ป่า อันล้ำค่าที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ สำหรับผลิตยารักษาโรค และผลิตสายพันธุกรรมในด้านการเกษตร เป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วโลกว่าเป็นอุทยาน ฯ ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และได้รับการพิจารณาให้เป็นอุทยานมรดกกลุ่มประเทศอาเซียน

            ลักษณะป่า   เป็นป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณผสม และทุ่งหญ้า
                ป่าดิบชื้น  อยู่ในระดับความสูง ๔๐๐ - ๑,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล สภาพพืชพันธุ์คล้ายกับป่าดิบแล้ง แต่มีพืชในวงศ์ไม้ยางชนิดต่าง ๆ ขึ้นมากกว่า บริเวณหุบห้วยมีไม้ตุ้มแต๋น หรือลำพูป่า และกระทุ่มน้ำ ขึ้นอยู่ทั่วไป มีไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบขึ้นอยู่ห่าง ๆ พืชพันธุ์ชั้นล่าง มีลักษณะคล้ายป่าดิบแล้ง แต่มีอัตราความหนาแน่นมากกว่า บริเวณริมลำธารมีไม้ปล้องยางขึ้นอยู่มาก และพืชจำพวกหมาก ในระดับสูงมียางแดง เคี่ยนคะนอง พยอม กะตุก มะมือ จำปีป่า พะอง และทะโล้ ส่วนไม้จำพวกกอมีอยู่มากเป็นไม้ชั้นรองปนกับไม้อื่น ๆ ตามพื้นชั้นล่างมีไม้พุ่มชนิดต่าง ๆ อยู่มาก มีไม้ไผ่ขนาดเล็กเรียกว่า ไม้หลอดขึ้นหนาแน่น บริเวณหุบห้วยริมลำธารมีกูดต้นหลายชนิดขึ้นปะปนกับผักกูดขนาดใหญ่ และกูดเลื้อยชนิดต่าง ๆ บนก้อนหินตามโกรกธาร มีพืชลักษณะคล้ายตะไคร่น้ำขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป
                ป่าดิบแล้ง  อยู่ในระดับความสูง ๒๐๐ - ๖๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล มีพันธุ์พืชปกคลุมอยู่เป็นบริเวณกว้างใหญ่ ประกอบด้วยไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ชั้นบน ส่วนไม้ชั้นรองได้แก่ กะเบาลิง พลวง ขี้อาย และกัดลิ้น เป็นต้น นอกจากนั้นมีพืชจำพวกหมาก และลานเป็นบริเวณมาก พืชชั้นล่างประกอบด้วยพืชจำพวกมะพร้าว นกคุ่ม ขิง ข่า กล้วยป่า และเตย เป็นต้น

                ป่าดิบเขา  อยู่ในระดับ ๑,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป มีพันธุ์ไม้ขึ้นปะปนหนาแน่น สภาพพืชพันธุ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ปรากฎพันธุ์พืชในวงศ์ไม้ยาง แต่มีพันธุ์ไม้จำพวกยิมโนสเปอร์ม คือ พญาไม้ ขนไม้ มะขามป้อมดง และสามพันปี โดยมีต้นเสือโคร่งขึ้นปะปน ไม้ชนิดนี้จะขึ้นอยู่ตามไหล่เขาพังริมถนน เป็นไม้รุ่นแรกที่ช่วยให้ป่ากลับคืนสภาพได้ดังเดิม นอกจากนั้นยังมีไม้ชั้นล่างอีกหลายชินด บริเวณพื้นป่ามีพืชชนิดต่าง ๆ ขึ้นปกคลุมหนาแน่น รวมทั้งผักกูดและกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ
                ป่าเบญจพรรณผสม  อยู่ทางด้านทิศเหนือในระดับความสูง ๒๐๐ - ๖๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล สภาพพืชพันธุ์ประกอบด้วย ไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบชนิดต่าง ๆ พืชชั้นล่างมีไม้ไผ่ป่า และหญ้าต่าง ๆ  ตามลาดภูเขาสูง มีไผ่ป่าเป็นปริมาณมาก ตามหุบห้วยจะมีกล้วยป่าขึ้นหนาแน่น บริเวณพื้นป่ามีหินผุดขึ้นอยู่ทั่วไป ในฤดูแล้งจะเกิดไฟไหม้ลุกลามป่าอยู่เสมอ

                   ทุ่งหญ้าและป่าละเมาะ  ลักษณะของพืชพันธุ์ในบริเวณดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำไร่เลื่อนลอยในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วย หญ้าคา หญ้าแขม หญ้ากง หญ้าผลตาช้าง มีหญ้าโขมง ขึ้นแทรก และยังมีผักกูดบางชนิด ขึ้นตามบริเวณที่ถูกไฟไหม้เป็นประจำ
                   ท้องที่บางแห่งของจังหวัดนครนายก มีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณคือ ป่าโปร่งประกอบด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ และขนาดกลางหลายชนิด บางแห่งมีไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ ขึ้นอยู่กระจัดกระจายทั่วไป ในฤดูแล้งต้นไม้ส่วนใหญ่จะผลัดใบ เมื่อเข้าฤดูฝนจะกลับเขียวชอุ่มเหมือนเดิม
                   จากข้อมูลในปี พ.ศ.๒๕๔๑ นครนายกมีพื้นที่ป่าประมาณ ๓๐๑,๐๐๐ ไร่
            สภาพพื้นที่ป่า  ประกอบด้วยป่าต่าง ๆ ดังนี้
                ป่าในเขตอุทยาน ฯ เขาใหญ่  มีพื้นที่ประมาณ ๓๔๓,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ ประมาณ ๑๙๒,๐๐๐ ไร่ และอยู่ในเขตอำเภอปากพลี ประมาณ ๑๕๑,๐๐๐ ไร่
                ป่าในเขตหวงห้ามที่ดิน  อยู่ในตำบลพราหมณี อำเภอเมือง ฯ และตำบลพร้าว อำเภอบ้านนา ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน เพื่อประโยชน์ในราชการทหาร พ.ศ.๒๔๘๔  ปัจจุบันคือที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พื้นที่ประมาณ ๕๒,๐๐๐ ไร่ (๘๓ ตารางกิโลเมตร)  มีบางส่วนทับซ้อนกับพื้นที่ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ ระบุว่าให้รักษาไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวร
                ป่าไม้ถาวร  เปลี่ยนแปลงตามมติคณะรัฐมนตรีเดิมเฉพาะแห่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ ให้รักษาไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวรสามแห่ง มีพื้นที่ประมาณ ๑๗,๗๐๐ ไร่ คือ
                    ป่าที่จัดสรรบ้านพรหมณี - บานเขาพระ  มีพื้นที่ประมาณ ๔,๘๐๐ ไร่ ใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรประมาณ ๑,๒๐๐ ไร่ ที่ป่าไม้ประมาณ ๑,๒๐๐ ไร่ ป่าเสื่อมโทรมประมาณ ๑,๘๐๐ ไร่ และที่ดินของรัฐประมาณ ๖๐๐ ไร่
                    ป่าน้ำตกสาริกา - เขาเขียว  คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ ให้รักษาป่าแห่งนี้ไว้เป็นป่าไม้ถาวร มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๒,๐๐๐ ไร่ และได้กำหนดพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.๒๕๐๕ ให้พื้นที่เฉพาะบางส่วนเป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงยังคงเหลือประมาณ ๓๐๐ ไร่ อยู่ในตำบลสาริกา อำเภอเมือง ฯ
                    ป่าเขาใหญ่  มีพื้นที่ประมาณ ๒๔๕,๐๐๐ ไร่ บางส่วนเป็นอุทยาน ฯ เขาใหญ่ คงเหลืออยู่ประมาณ ๑๓,๐๐๐ ไร่ ใช้เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรประมาณ ๖,๐๐๐ ไร่ ไม้ยืนต้นประมาณ ๓,๘๐๐ ไร่ ไม้ผลประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ เป็นที่ดินของรัฐประมาณ ๑,๖๕๐ ไร่ ป่าไม้ประมาณ ๓,๕๐๐ ไร่ ป่าเสื่อมโทรมประมาณ ๒๐๐ ไร่ หมู่บ้านประมาณ ๑๐๐ ไร่ แหล่งน้ำประมาณ ๑๕๐ ไร่
  พืชพันธุ์ไม้

            ความสมบูรณ์ของป่าไม้ในเขตจังหวัดนครนายก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอุทยาน ฯ เขาใหญ่ ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีพืชหายากและพืชเฉพาะถิ่นอยู่บนเขาเขียว มีพันธุ์ไม้ที่แปลกและหายากอยู่สองชนิดคือ จิกนก และชนิดไม่มีชื่อพื้นเมือง
            พืชพันธุ์เฉพาะถิ่นมีเพียงชนิดเดียวคือ พิศวง เป็นพืชกินซาก ไม่มีใบ สีเขียว ขึ้นในบริเวณดินปนทรายใกล้ลำธารในเขตอุทยาน ฯ เขาใหญ่ สูงประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล
            พันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดนครนายกคือ สุพรรณิการ์ หรือฝ้ายคำ เป็นไม้ต้นสูงประมาณ ๕ - ๑๐ เมตร ประเภทไม้ผลัดใบ เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา  ใบเดี่ยวออกเวียนสลับ ลักษณะเป็นรูปฝ่ามือมีห้าแฉก ปลายแฉกแหลม โคนเว้า ขอบเป็นคลื่นดอกสีเหลืองออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งทยอยกันบาน เมื่อบานเต็มที่จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางดอกประมาณ ๖ - ๘ เซนติเมตร  ผลรูปไข่มีปุยคล้ายปุยฝ้ายหุ้ม  มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางหรืออเมริกาใต้ มีทั้งชนิดดอกซ้อนและไม่ซ้อน ออกดอกประมาณเดือนธันวาคม ถึงกุมภาพันธ์ ขยายพันธุ์โดยเมล็ดหรือปักชำ เป็นไม้ประดับ
            ไม้หอมหรือไม้กฤษณา  ในอดีตไทยได้นำไม้หอมจากเขาใหญ่ไปผลิตเครื่องหอมส่งเป็นสินค้าออกไปต่างประเทศ แต่ปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศให้ไม้หอม หรือกฤษณา เป็นของป่าหวงห้ามชนิดหนึ่ง ผู้เก็บหาไม้ดังกล่าวต้องขออนุญาตจากทางราชการ
            ลักษณะเนื้อไม้สีนวลขาว ไม่มีกลิ่นหอม แต่เนื้อไม้บางต้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ เมื่อดมหรือเผาไฟจะมีกลิ่นหอม ราคาในท้องตลาดมีตั้งแต่ราคาถูก จนถึงกิโลกรัมละหมื่นบาท เนื่องจากไม้เนื้อหอม ไม่ได้เกิดทุกต้น จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านลักลอบโค่นไม้หอม เพื่อหาส่วนที่หอมตลอดมา
            น้ำมันหอมระเหยจากไม้กฤษณาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม และการแต่งกลิ่นยาสูบ ในประเทศกลุ่มอาหรับใช้ไม้กฤษณาเป็นเครื่องหอม ผลิตธูปและผงไม้หอม ใช้โรยเสื้อผ้า และโรยตามตัวเพื่อป้องกันตัวเรือดหรือตัวไร นอกจากนั้นยังใช้เข้าเครื่องยาในตำรายาจีน มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ปวดบวมตามข้อ แก้ลมวิงเวียนศีรษะ ฯลฯ นอกจากนั้นคือใช้ทำลูกประคำ และหีบใส่เครื่องเพชร
สัตว์ป่า

            จังหวัดนครนายกเป็นแหล่งที่มีช้างชุกชุมตั้งแต่อดีตมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่เป็นช้างหลวงจับมาใช้ในราชการ โดยมีกองช้างอยู่ที่นครนายก
            ช้างเถื่อนในทุ่งหลวง ผิดกับช้างเถื่อนในที่อื่น ด้วยเป็นช้างโขลงของหลวงสำหรับจับไว้ใช้ในราชการ และเคยอยู่ในทุ่งหลวงมาหลายร้อยปี มีกำหนดต้อนเข้ามาเลือกจับที่เพนียดเป็นครั้งคราว ช้างที่ไม่ต้องการก็ปล่อยกลับออกไปอยู่ในทุ่งหลวงตามเดิม เป็นประเพณีที่สืบมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการขุดคลองรังสิตและคลองสายต่าง ๆ บรรดาช้างเถื่อนที่อาศัยอยู่บริเวณทุ่งหลวง ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เขตจังหวัดนครนายกถึงทุ่งบางกะปิ ได้หนีไปอยู่บริเวณทุ่งหลวงแถบนครนายกเป็นจำนวนมาก ในครั้งนั้นมีกรมโขลงตั้งอยู่ที่บ้านนา ทำหน้าที่รักษาช้างเถื่อน เมื่อมีการจับช้าง กรมโขลงจะทำหน้าที่เลี้ยงดูช้างต่อให้สมบูรณ์ที่บ้านนา ซึ่งเป็นที่สมทบกันของช้างต่อหลวง กับหมอควาญ พวกโพนช้างก่อนออกไปปกช้างเถื่อน นอกจากนั้นยังมีคอกเสาไม้ซุง สร้างไว้เพื่อรวบรวมโขลงช้างก่อนต้อนเข้าเพนียด เมื่อต้อนเข้าคอกที่บ้านนาได้ ๒๐๐ - ๓๐๐ เชือกแล้วจะต้อนไปเพนียดที่อยุธยา
            ด้วยเหตุนี้จังหวัดนครนายกจึงเป็นแหล่งที่มีช้างอยู่เป็นจำนวนมาก มีชื่อสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับช้าง เช่น วัดคเชนทรวราราม ตำบลท่าช้าง ฯลฯ  อำเภอเมือง ฯ เคยเป็นท่าข้ามของโขลงช้าง เป็นที่ตั้งเพนียดคล้องช้างมาแต่โบราณ ทำให้สัญลักษณ์ของตราจังหวัดเป็นรูปช้างชูรวงข้าว และกองฟาง
            เมื่อมีการบุกเบิกทุ่งหลวงให้เป็นไร่นามากขึ้น พื้นที่ป่าถูกทำลายทำให้เนื้อสมัน ซึ่งเป็นกวางที่มีเขา และรูปร่างสวยงามที่สุดชนิดหนึ่งของโลก และเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทยเพียงแห่งเดียว ที่มีถิ่นฐานในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง ถูกล่าจนหมด และสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย กล่าวกันว่าเนื้อสมันตัวสุดท้ายของประเทศไทยถูกฆ่าตายที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕
            ปัจจุบันสัตว์ป่าส่วนใหญ่ในเขตจังหวัดนครนายก อยู่ในเขตอุทยาน ฯ เขาใหญ่ ซึ่งมีชนิดพันธุ์สัตว์ป่าหลากหลาย เพราะมีถิ่นที่อยู่และแหล่งอาหาร เหมาะสมกับสัตว์ป่าเกือบทุกชนิด จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่ามีสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ๗๐ ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๖๔ ชนิด นก ๓๑๘ ชนิด
            สัตว์ที่สำคัญของอุทยาน ฯ เขาใหญ่ ได้แก่ ช้าง เสือ สัตว์กีบ ลิงและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น
                ช้าง  ชอบอยู่กันโขลง ๆ ละ ๕ - ๗ ตัว มีจ่าโขลงเป็นช้างพัง ส่วนช้างพลายที่โตเต็มวัยมักแยกเป็นช้างโทน ชอบออกหากินและชอบอาศัยเป็นระยะทางไกล ๆ มีอาณาเขตกว้างมาก อาหารที่ช้างชอบได้แก่ ไผ่ ขิง กล้วยป่า หญ้า เป็นต้น ทางเดินของช้างช่วยให้เกิดทางเดินทางธรรมชาติมีการสานต่อกันคล้ายร่างแห
                จำนวนช้างในอุทยาน ฯ เขาใหญ่ มีอยู่ประมาณ ๑๔๐ - ๒๐๐ ตัว

                เสือ  อุทยาน ฯ เขาใหญ่เป็นแหล่งที่สงวนพันธุ์เสือได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย คาดว่ามีเสืออยู่ประมาณกว่า ๕๐ ตัว ซึ่งจัดว่าน้อยมาก ส่วนใหญ่เสือจะปรากฎตัวให้เห็นบริเวณที่ทำการอุทยาน ฯ เพราะบริเวณดังกล่าวมีกวางอาศัยอยู่มาก จะไม่พบเสือปรากฎอยู่ในบริเวณที่มีเหยื่อตามธรามชาติน้อย เสือมีอาณาจักรค่อนข้างกว้างใหญ่ ตัวผู้อยู่ระหว่าง ๔๐ - ๖๐ กิโลเมตร ตัวเมียประมาณ ๑๕ ตารางกิโลเมตร เสือชอบหากินเวลากลางคืน และตราบใดที่ยังสามารถจับเหยื่อตามธรรมชาติได้ มันจะไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์

                สัตว์กีบ  ในอุทยาน ฯ เขาใหญ่ มีสัตว์กีบอยู่หลายชนิด เช่น กวางป่า เก้ง หมูป่า กระทิง เลียงผา และกระจง กวางชอบออกจากป่า เพื่อและเล็มหญ้าบริเวณทุ่งหญ้าในตอนใกล้ค่ำ เช่นเดียวกับเก้ง แต่หมูป่าและกระทิงจะระมัดระวังตัวมากจนไม่ค่อยมีผู้ใดพบ ปกติกระทิงจะอยู่ในป่าลึก และกระจัดกระจายทั่วพื้นที่ หากินในบริเวณทุ่งหญ้าเก่า ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน

                ลิงและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น  ในอุทยาน ฯ เขาใหญ่ มี ชะนี อยู่สองชนิดคือ ชะนีธรรมดาและชะนีมงกุฎ ซึ่งแยกกันอยู่มีอาณาเขตเป็นอิสระต่อกัน แต่อาจอยู่ร่วมกันในแนวเขตป่ากว้างถึง ๑๐ กิโลเมตร ฝูงหนึ่งมีประมาณ ๔ ตัว อาจประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก ตั้งแต่ ๑ - ๔ ตัว พบตามชายป่าและบริเวณทางเท้าในป่า
                    ลิงกัง  พบในป่าทั่วไปเป็นฝูง ๆ บางฝูงอาจมีจำนวนถึง ๙๐ ตัว อยู่ตามบริเวณป่าติดกับถนน
                    นางอาย  มีอยู่ทั่วไป แต่ต้องใช้ไฟส่อง และสายตาต้องไวมากจึงจะมองเห็น
                    หมีควายและหมาไน  จะปรากฎตัวให้เห็นนาน ๆ ครั้ง
                    หมีขอ  บางครั้งเห็นวิ่งอยู่ข้างถนนในตอนกลางคืน
                    กระรอก พญากระรอกดำ และชะมด  เห็นได้ง่ายตามถนนตอนกลางคืน ขณะไฟหน้ารถส่อง
                    ในอุทยาน ฯ เขาใหญ่ มีสัตว์ป่าที่อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อยู่หลายชนิด เช่น ชะนีขาว ชะนีมงกุฎ เสือโคร่ง และช้าง นอกจากนั้นยังมีปลาสายยู ซึ่งเป็นปลาที่หายาก และรู้จักกันน้อยมาก รูปร่างคล้ายปลาเนื้ออ่อน แต่มีหนวดสั้นรูปตะขอ และมีลักษณะแข็งคล้ายกระดูก อยู่ที่ริมฝีปากบนไม่ครีบหลัง ปลาสายยู ตัวแรกพบในแม่น้ำนครนายก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ ระยะหลังมีรายงานว่าพบในแม่น้ำโขง ในเขตจังหวัดอุบล ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |