| หน้าแรก | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | หน้าต่อไป |
| มูลบทบรรพกิจ | ข้อเตือนใจในแบบเรียนเร็ว | ข้อเตือนใจจากบทดอกสร้อย |
| คำปฏิญาณของลูกเสือไทย | ข้อเตือนใจจากที่อื่นๆ | วรรณคดีไทยร้อยกรอง | โคลงพระราชพงศาวดาร |

การเรียนหนังสือไทยสมัยก่อน

            ระบบการศึกษาของไทย ได้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เริ่มต้นด้วยการจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้น และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร)  เมื่อครั้งเป็นหลวงสารประเสริฐ  เรียบเรียงหนังสือแบบเรียนภาษาไทยขึ้นมาชุดหนึ่ง คือหนังสือมูลบทบรรพกิจ  วาหนิต์นิกร  อักษรประโยค  สังโยคพิธาน  ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์  เป็นแบบเรียนภาษาไทยว่าด้วยวิธีใช้ตัวอักษร  พยัญชนะเสียงสูงต่ำ  การผันการประสมอักษร และตัวสะกดการันต์  เฉพาะมูลบทบรรพกิจ น่าจะมีเค้ามูลมาจากหนังสือจินดามณีอันว่าด้วยระเบียบภาษา ซึ่งพระโหราธิบดีแต่งไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  พร้อมทั้งได้แทรกเรื่องกาพย์พระไชยสุริยา  ซึ่งสุนทรภู่ได้แต่งไว้ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เข้าไว้เป็นตอน ๆ ไป  กาพย์พระไชยสุริยาเป็นบทประพันธ์ที่ไพเราะและเป็นคติ
            ในระยะต่อมากระทรวงศึกษาธิการ  ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากกระทรวงธรรมการ  ได้ประกาศใช้แบบหัดอ่านเบื้องต้น  แบบเรียนเร็ว  แต่ทุกเล่มก็ใช้หลักการเรียนการสอนจากหนังสือชุดนี้เป็นแม่บท
            หลังจากที่ได้มีการนำระบบการเรียนแบบสหรัฐมาใช้ หลังปี พ.ศ. 2500  แล้วการหัดอ่านเขียนเบื้องต้นของเยาวชน ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก  ทำให้ผู้ที่เคยเรียนหนังสือไทยเบื้องต้นมาแล้ว และไม่ได้มีการนำมาใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน  จะไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้  ผิดกับการเรียนหนังสือไทยแบบเดิมซึ่งเมื่อเรียนหนังสือไทยเบื้องต้นแตกแล้ว  จะสามารถอ่านเขียนหนังสือไทยได้ชั่วชีวิต
            นอกจากนั้นการเรียนหนังสือไทยยังได้มีการนำคติสอนใจตามวิถีชีวิตไทย ในพื้นฐานแห่งพระพุทธศาสนามาสอดแทรกไว้ในทุกขั้นตอนของการเรียนการสอน ในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เด็กไทยเข้าใจวิถีชีวิตไทย และรักความเป็นไทย และมีความภูมิใจในมรดกของไทยอย่างลึกซึ้ง หนักแน่นไม่แคลนคลอนมาตั้งแต่ต้น


มูลบทบรรพกิจ

            เป็นแบบเรียนหนังสือไทยในขั้นรากฐานเบื้องต้น  ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้วจะอ่านเขียนหนังสือไทยขั้นต้นได้อย่างดี  และนำไปสู่การเรียนรู้ในขั้นต่อไปได้ง่าย  ดังนั้นมูลบทบรรพกิจจึงเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญสูงสุด
            หนังสือมูลบทบรรพกิจเริ่มด้วยการแสดงรูปสระ  ตัวอักษร  วรรณยุกต์  และเครื่องหมายพิเศษต่าง ๆ  อักษรแบ่งออกเป็น 3 หมู่ คือ  อักษรสูง  อักษรกลาง  และอักษรต่ำ  จากนั้นนำอักษรไปประสมเสียงตามสระเป็น แม่ ก กา  แล้วผันด้วยวรรณยุกต์ แจกด้วย แม่ กน  แล้วผันด้วยวรรณยุกต์  แจกในแม่ กง  แล้วผันด้วยวรรณยุกต์  แจกด้วยแม่ กก แม่ กด  แม่ กบ  ทั้ง 3 แม่นี้  เป็นคำตาย  ผันด้วย วรรณยุกต์ เอก โท  ไม่ได้  การมี ห นำ อักษรต่ำใน แม่ กก กด กบ  แจกในแม่กม  แล้วผันด้วยวรรณยุกต์  แจกด้วยแม่ เกย  แล้วผันด้วยวรรณยุกต์
คำกลอนอ่านเทียบในแม่ก กา  (ใช้ตัวเขียนแบบเก่าเป็นบางคำ)
            ยานี๑๑          สะ ธุ สะ จะขอไหว้   พระศรีไตรสรณา พ่อแม่แลครูบา   เทวะดาในราศี          ข้าเจ้าเอา  ก  ข   เข้ามาต่อ ก กา มี แก้ไขในเท่านี้   ดีมิดีอย่าตรีชา          จะร่ำคำต่อไป   พอล่อใจ กุมารา     ธรณีมีราชา   เจ้าภาราสาวะถี          ชื่อพระไชยสุริยา   มีสุดามเหสี    ชื่อว่าสุมาลี   อยู่บุรีไม่มีภัย          ข้าเฝ้า เหล่าเสนา   มีกริยาอัชฌาสัย     พ่อค้ามาแต่ไกล   ได้อาศัยในภารา           ไพร่ฟ้าประชาชี   เชาบุรีก็ปรีดา     ทำไร่เขาไถนา   ได้ข้าวปลาแลสาลี          อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า   ก็หาเยาวนารี     ที่หน้าตาดีดี   ทำมโหรีที่เคหา          ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ   เข้าแต่หอล่อกามา     หาได้ให้ภริยา   โลโภพาให้บ้าใจ          ไม่จำคำพระเจ้า   เหไปเข้าภาษาไสย     ถือดีมีข้าไท   ฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา          คดีที่มีคู่   คือไก่หมูเจ้าสุภา     ใครเอาข้าวปลามา   ให้สุภาก็ว่าดี          ที่แพ้แก้ชนะ   ไม่ถือพระประเวณี     ขี้ฉ้อก็ได้ดี   ไล่ด่าตีมีอาญา          ที่ซื่อถือพระเจ้า   ว่าโง่เง่าเต่าปูปลา     ผู้เฒ่าเหล่าเมธา   ว่าใบ้บ้าสาระยำ          ภิกษุสมณ   เล่าก็ละพระสะธำม์     คาถาว่าลำนำ   ไปเร่ร่ำทำเฉโก          ไม่จำคำผู้ใหญ่   ศีรษะไม้ใจโยโส     ที่ดีมีอักโข   ข้าขอโมทะนาไป          พาราสาวะถี   ใครไม่มีปรานีใคร     ดุดื้อถือแต่ใจ   ที่ใครได้ใส่เอาพอ          ผู้ที่มีฝีมือ   ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ     ไล่คว้าผ้าที่คอ   อะไรล่อก็เอาไป          ข้าเฝ้าเหล่าเสนา   มิได้ว่าหมู่ข้าไทย์     ถือน้ำร่ำเข้าไป   แต่น้ำใจไม่นำพา          หาได้ใครหาเอา   ไพร่ฟ้าเศร้าเปล่าอุรา     ผู้ที่มีอาญา   ไล่ตีด่าไม่ปรานี          ผีป่ามากระทำ   มรณกรรมชาวบุรี     น้ำป่าเข้าธานี   ก็ไม่มีที่อาศัย          ข้าเฝ้าเหล่าเสนา   หนีไปหาภาราไกล     ชีบาล่าลี้ไป   ไม่มีใครในธานี

-------------------------

คำกลอนอ่านเทียบในแม่กน
            สุรางคนาง  ๒๘       ขึ้นใหม่ใน กน  ก  กา   ว่าปน   ระคนกันไป     เอ็นดูภูธร   มานอนในไพร   มณฑลต้นไทร   แทนไพชยนต์สถาน         ส่วนสุมาลี   วันทาสามี   เทวีอยู่งาน     เฝ้าอยู่ดูแล   เหมือนแต่ก่อนกาล   ให้พระภูบาล   สำราญวิญญา          พระช่วยนวลนอน   เข็ญใจไม้ขอน   เหมือนหมอนแม่นา     ภูธรสอนมนต์   ให้บ่นภาวนา   เย็นค่ำร่ำว่า   กันป่าภัยพาล          วันนั้นจันทร   มีดารากร   เป็นบริวาร     เห็นสิ้นดินฟ้า   ในป่าท่าธาร   มาลีคลี่บาน   ใบก้านอรชร          เย็นฉ่ำน้ำฟ้า   ชื่นชะผกา   วายุพาขจร     สารพันจันอิน   รื่นกลิ่นเกสร   แตนต่อคล้อร่อน   ว้าวอนเวียนระวัน          จันทราคลาเคลื่อน   กระเวนไพรไก่เถื่อน   เตือนเพื่อนขานขัน     ปู่เจ้าเขาเขิน   กู่เกริ่นหากัน   สินธุพุลั่น   ครื้นครั่นหวั่นไหว          พระฟื้นตื่นนอน   ไกลพระนคร   สะท้อนถอนฤทัย     เช้าตรู่สุริยน   ขึ้นพ้นเมรุไกร   มีกรรมจำไป   ในป่าอารัญ
คำกลอนอ่านเทียบในแม่กง
         ฉบัง ๑๖         ขึ้นกงจงสำคัญ   ทั้งกนปนกัน   รำพันมิ่งไม้ในดง          ไกรกร่างยางยูงระหง   ตลิงปลิงปริงประยง   คันทรงส่งกลื่นฝิ่นฝาง         มะม่วงพลวงพลองช้องนาง   หล่นเกลื่อนเถื่อนทาง   กินพลางเดินพลางหว่างเนิน         เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน   เหมือนอย่างนางเชิญ   พระแสงสำอางข้างเคียง          เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง   เริงร้องซ้องเสียง   สำเนียงน่าฟังวังเวง         กลางไพรไก่ขันบันเลง   ฟังเสียงเพียงเพลง   ซเจ้งจำเวียงวัง         ยูงทองร้องกระโต้งโห่งดัง   เพียงฆ้องกลองระฆัง   แตรสังข์กังสะดาลขานเสียง         กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง   พญาลอคล้อเคียง   แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง         ค้อนทองเสียงร้องปองเปง   เพลินฟังวังเวง   อีเก้งเริงร้องลองเชิง         ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิง   คางแข็งแรงเริง   ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง         ป่าสูงยูงยางช้างโขลง   อึงคะนึงผึงโผง   โยงกันเล่นน้ำคล่ำไป
คำกลอนสำหรับอ่านเทียบแม่กก
            ยานี ๑๑         ขึ้นกก ตกทุกข์ยาก   แสนลำบากจากเวียงชัย     มันเผือกเลือกเผาไฟ   กินผลไม้ได้เป็นแรง          รอน ๆ อ่อนอัสดง   พระสุริยงเย็นยอแสง     ช่วงดังน้ำครั่งแดง   แฝงเมฆเขาเงา เมรุธร         ลิงค่างครางโครกครอก   ฝูงจิ้งจอกออกเห่าหอน     ชะนีวิเวกวอน   นกหกร่อนนอนวังเวียง          ลูกนกยกปีกป้อง   อ้าปากร้องซ้องแซ่เสียง     แม่นกปกปีกเคียง   เลี้ยงลูกอ่อนป้อนอาหาร         ภูธรนอนเนินเขา   เคียงคลึงเคล้าเยาวมาลย์     ตกยากจากศฤงคาร   สงสารน้องหมองพักตรา         ยากเย็นเห็นหน้าเจ้า   สร้างโศกเศร้าเจ้าพี่อา     อยู่วังดังจันทรา   มาหม่นหมองลอองนวล         เพื่อนทุกข์สุขโศกเศร้า   จะรักเจ้าเฝ้าสงวน     มิ่งขวัญอย่ารัญจวน   นวลพักตร์น้องจะหมองศรี         ชวนชื่นกลืนกล้ำกลิ่น   มิรู้สิ้นกลิ่นมาลี     คลึงเคล้าเย้ายวนยี   ที่ทุกข์ร้อนหย่อนเย็นทรวง
คำกลอนสำหรับอ่านเทียบในแม่กด
            ยานี ๑๑         ขึ้นกด บทอัศจรรย์   เสียงครื่นครั่นชั้นเขาหลวง     นกหกตกรังรวง   สัตว์ทั้งปวงง่วงงุนโงง         แดนดินถิ่นมนุษย์   เสียงดังดุจเพลิงโพลง     ตึกกว้านบ้านเรือนโรง   โคลงคลอนเคลื่อนขะเยื่อนโยน         บ้านช่องคลองเล็กใหญ่   บ้างตื่นไฟตกใจโจน     ปลุกเพื่อนเตือนตะโกน   ลุกโลดโผนโดนกันเอง         พิณพาทย์ระนาดฆ้อง   ตะโพนกลองร้องเป็นเพลง     ระฆังดังวังเวง   โหง่งหง่างเหง่งเก่งก่างดัง         ขุนนางต่างลุกวิ่ง   ท่านผู้หญิงวิ่งยุดหลัง     พัลวันดันตึงตัง  พลั้งพลัดตกหกคะเมน          พระสงฆ์  ลงจากกุฎ วิ่งอุตลุตฉุดมือเณร     หลวงชีหนีหลวงเถร   ลงโคลนเลนเผ่นผาดโผน          พวกวัดพลัดเข้าบ้าน   ล้านต่อล้านซ่านเซโดน     ต้นไม้ไกวเอนโอน   ลิงค่างโจนโผนหกหัน         พวกผีที่ปั้นลูก   ติดจมูกลูกตาพลัน     ขิกขิกระริกกัน   ปั้นไม่ทันมันเดือดใจ          สององค์ทรงสังวาส   โลกธาตุ หวาดหวั่นไหว     ตื่นนอนอ่อนอกใจ   เดินไม่ได้ให้อาดูร
คำกลอนสำหรับอ่านเทียบในแม่กบ
            ยานี ๑๑         ขึ้นกบจบ แม่ กด   พระดาบสบูชากูณฑ์     ผาสุกรุกขมูล   พูนสวัสดิ์สัถาวร          ระงับดับเนตรนิ่ง   เอนองค์อิงพิงสิงขร     เหมือนกับหลับสนิทนอน   สังวรศีลอภิญญาณ         บำเพ็ญเล็งเห็นจบ   พื้นพิภพจบจักรวาล     สวรรค์ชั้นวิมาน   ท่านเห็นแจ้งแหล่งโลกา         เข้าฌานนานนับเดือน   ไม่ขะเยื่อนเคลื่อนกายา     จำศีลกินวาตา   เป็นผาสุกทุกเดือนปี          วันนั้นครั้นดินไหว   เกิดเหตุใหญ่ในปฐพี     เล็งดูรู้คดี   กาลกิณีสี่ประการ          ประกอบชอบเป็นผิด   กลับจริตผิดโบราณ     สามัญอันธพาล   ผลาญคนซื่อถือสัตย์ธรรม์         ลูกศิษย์คิดล้างครู   ลูกไม่รู้คุณพ่อมัน     ส่อเสียดเบียดเบียนกัน   ลอบฆ่าฟันคือปัญหา         โลภลาภบาป บ่ คิด   โจทย์จับผิดริษยา     อุระพะสุธา   ป่วนเป็นบ้าฟ้าบดบัง          บรรดาสามัญสัตว์   เกิดวิบัติบัติปาปัง     ไตรยุคทุกขตะรัง   สังวัจฉะระ อวสาน
คำกลอนสำหรับอ่านเทียบในแม่กม
            ฉบัง ๑๖         ขึ้นกมสมเด็จจอมอารย์   เอ็นดูภูบาล   ผู้ผ่านพาราสาวัดถี          ซื่อตรง  หลงเล่ห์เสนี   กลอกกลับอัปรีย์   บุรีจึงล่มจมไป         ประโยชน์จะโปรดภูวไนย์   นิ่งนั่งตั้งใจ   เลื่อมใสสำเร็จเมตตา         เปล่งเสียงเพียงพิณอินทรา   บอกข้อมรณา   คงมาวันหนึ่งถึงตน         เบียนเบียด เสียดส่อฉ้อฉล   บาปกรรมนำตน   ไปทนทุกข์นับกัปกัลป์         เมตตากรุณาสามัญ   จะได้ไปสวรรค์   เป็นสุขทุกวันหรรษา         สมบัติสัตว์มนุษย์ครุทธา   กลอกกลับอัปรา   เทวาสมบัติชัชวาลย์         สุขเกษมเปรมปรีวิมาน   อิ่มหนำสำราญ   ศฤงฆารห้อมล้อมพร้อมเพรียง         กระจับปี่สีซอทอเสียง   ขับลำจำเรียง   สำเนียงนางฟ้าน่าฟัง         เดชพระกุศลหนหลัง   สิ่งใดใจหวัง   ได้ดังมุ่งมาทปรารถนา         จริงนะประสกสีกา   สวดมนต์ภาวนา   เบื้องหน้าจะได้ไปสวรรค์         จบเทศน์เสร็จคำรำพรรณ์   พระองค์ทรงธรรม์   ด้นดั้นเมฆาคลาไคล
คำกลอนสำหรับอ่านเทียบในแม่เกย
            ฉบัง ๑๖         ขึ้นเกยเลยกล่าวท้าวไทย์    ฟังธรรมน้ำใจ   เลื่อมใสศรัทธากล้าหาญ         เห็นไภยในขันธสันดาน   ตัดห่วงบ่วงมาร   สำราญสำเร็จ เมตตา          สององค์ทรงหนังพยัคฆา   จัดจีบกลีบชะฎา   รักษาศีลถือฤาษ         เช้าค่ำทำกิจพิธี   กองกูณฑ์อัคคี   เป็นที่บูชาถาวร         ปะถะพีเป็นที่บรรฐร   เอนองค์ลงนอน   เหนือขอนเขนยเกยเศียร         ค่ำเช้าเอากราดกวาดเตียน   เหนื่อยยากพากเพียร   เรียนธรรมบำเพ็ญเคร่งครัน         สำเร็จเสร็จได้ไปสวรรค์   เสวยสุขทุกวัน   นานนับกัปกับป์พุทธันดร         ภุมราการุญสุนทร   ไว้หวังสั่งสอน     เด็กอ่อนอันเยาว์เล่าเรียน         ก  ข  ก  กา  ว่าเวียน   หนูน้อยค่อยเพียร   อ่านเขียนผสม กม เกย          ระวังตัวกลัวครูหนูเอ๋ย   ไม้เรียวเจียวเหวย   กูเคยเข็ดหลาบขวาบเขวียว         หันหวดปวดแสบแปลบเสียว   หยิกซ้ำช้ำเขียว   อย่าเที่ยวเล่นหลงจงจำ         บอกไว้ให้ทราบบาปกรรม   เรียงเรียบเทียบทำ   แนะนำให้เจ้าเอาบุญ         เดชะพระมหาการุญ   ใครเห็นเป็นคุณ   แบ่งบุญให้เราเจ้าเอย
วิธีนับศัพท์สังขยา
                 เด็กเอ๋ยเจ้าจงศึกษา  ตำหรับนับรา  จะรู้กระทู้ที่นับ
                ห้าสองหนเป็นสิบสับ  สิบสองหนนับ  ว่ายี่สิบอย่าสงสัยไสย  (๕, ๑๐, ๒๐)
                 สิบสามหนเป็นต้นไป  ท่านเรียกชื่อใช้  สามสิบสี่ตามกัน  (๓๐, ๔๐)
                 สิบสิบหนเป็นร้อยพลัน  สิบร้อยเป็นพัน  สิบพันเป็นหมื่นหนึ่งนา  (๑๐๐, ๑,๐๐๐, ๑๐,๐๐๐)
                 สิบหมื่นเป็นแสนหนึ่งหนา  สิบแสนท่านว่า  เป็นล้านหนึ่งพึงจำไว้  (๑๐๐,๐๐๐, ๑,๐๐๐,๐๐๐)
                 สิบล้านนั้นเป็นโกฏิไซร้  ร้อยแสนโกฏิไป  เป็นปะโกฏิ หนึ่งตามมี  (๑๐,๑๐๑๔)
                 ร้อยแสนปะฏิโกฏินี้ เป็นโกฏิปะโกฏิ  พึงกำหนดอย่าคลาดคลา  (๑๐๒๑)
                 ร้อยแสนโกฏิปะฏิปะโกหนา  ท่านเรียกชื่อมา  ว่าเป็นนะหุตหนึ่งไป  (๑๐๒๘)
                 ร้อยแสนนะหุตนั้นไซร้  ท่านเรียกชื่อไว้   ว่าเป็นนินนะหุตนา (๑๐๓๕)
                 ร้อยแสนนินนะหุตหนา  ได้นามตามมา  ว่าอะโขภินีหนึ่งมี  (๑๐๔๒)
                 ร้อยแสนอะโขภินี  ได้นามตามมี  ว่าพินธุอันหนึ่งหนา  (๑๐๔๙)
                 ร้อยแสนพินธุหนึ่งนา  ท่านเรียกกันมา  ว่าอัพพุทพึงจำไว้  (๑๐๕๖)
                 ร้อยแสนอัพพุทไซร้  ได้นามตามใช้  ว่านิรัพพุทหนึ่งนา  (๑๐๖๓)
                 ร้อยแสนนิรัพพุทหนา  ท่านเรียกชื่อมา  ว่าอหะหะตามมี  (๑๐๗๐)
                 ร้อยแสนอหะหะนี้  มีนามตามที่  ว่าอพะพะหนึ่งนา  (๑๐๗๗)
                 ร้อยแสนอพะพะนั้นหนา  ท่านเรียกกันมา  ว่าอฏะฏะตามมี  (๑๐๘๔)
                 ร้อยแสนอฏะฏะนี้  มีนามตามที่  ว่าโสคันทิกะหนึ่งนา  (๑๐๙๑)
                 ร้อยแสนโสคันทิกะ  ท่านเรียกชื่อว่า  เป็นกมุทอันหนึ่งไป  (๑๐๙๘)
                 ร้อยแสนกมุทไซร้  มีนามตามใช้  ว่าบุญฑริกหนึ่งนา  (๑๐๑๐๕)
                 ร้อยแสนบุณฑริกแท้  ท่านเรียกกันแล  ว่าเป็นปทุมหนึ่งไป  (๑๐๑๑๒)
                 ร้อยแสนปทุมไซร้  ท่านตั้งชื่อไว้  ว่ากะถานะอันหนึ่งนา  (๑๐๑๑๙)
                 ร้อยแสนกถานะนั้นหนา  ท่านเรียกกันมา  ว่ามหากถานะหนึ่งไป  (๑๐๑๒๖)
                 ร้อยแสนกถานะไซร้  เป็นอสงไขย  คือเหลือจะนับพรรณา
                          อนึ่งลำดับที่นับกันมาผิดจากเทศนา ของพระชิโนวาที
                          ลำดับที่นับนี้  นิรัพพุทมี  แล้วอพะพะ อฏะฏะมา
                          อหะหะกมุทา  โสคันทิกา  แล้วอุปปละบุณฑริกนี้
                     ปทุมะ กถานะตามที่ จงรู้วิธี  แล้วสังเกตกำหนดแล
                     แต่ร้อยถึงโกฏินี้แท้เอาสิบคูณแน่ เร่งรู้หนาอย่าหลงไหล
                          แต่โกฏิถึงอสงไขย  เอาร้อยแสนไซร้  เร่งคูณเข้าอย่าลืมแล
มาตราวัดความยาว
                อนึ่งโสดนับมีสามแท้  นับด้วยวัดแล  ด้วยตวงด้วยชั่งเป็นสาม
               โยชน์หนึ่งสี่ร้อยเส้นตาม  เส้นหนึ่งโดยความ  ยี่สิบวาอย่าสงไสย
           วาหนึ่งสี่สอกบอกไว้  สอกหนึ่งท่านใช้  สองคีบไซร้ตามมีมา
           คืบหนึ่งสิบสองนิ้วหนา  นิ้วหนึ่งท่านว่า  สี่กระเบียดจงจำเอา
           กระเบียดหนึ่งสองเมล็ดเข้า  เมล็ดเข้าหนึ่งเล่า  แปดตัวเหาจงรู้รา
           ตัวเหาหนึ่งนั้นท่านว่า  แปดไข่เหาหนา  ไข่เขาหนึ่งแปดเส้นผม
           เส้นผมหนึ่งนั้นนิยม  แปดธุลีลม  ธุลีหนึ่งแปดอณูนา
                อณูหนึ่งนั้นพึงรู้หนา  ท่านใช้กันมา  ว่าแปดปรมาณูแล
มาตราวัดพื้นที่
           หนึ่งนานับโดยกว้างแท้  ยี่สิบวาแล  ยาวยี่สิบวาเป็นไร่
           ถ้าโดยกว้างห้าวาไป  ยาวเส้นหนึ่งไซร้  เป็นงานหนึ่งพึงจดจำ
           สี่งานท่านประสมทำ  เป็นไร่หนึ่งกำ  หมดไว้ให้ดีดังว่ามา
มาตราวัดปริมาตร
           ไม้หน้ากว้างสอกหนึ่งหนา  ยาวสิบหกวา  เป็นยกหนึ่งพึงจำไว้
           นับด้วยวัดอย่างนี้ไซร้  นับด้วยตวงไป  จงนับใช้ดังนี้นา
           เข้าเกวียนหนึ่งนั้นท่านว่า  ห้าตะล่อมหนา  ตะล่อมหนึ่งยี่สิบสัด
           สัดหนึ่งยี่สิบทะนานชัด  ทะนานหนึ่งสังกัด  สองจังออนจงจำไว้
           จังออนหนึ่งสี่กำมือได้  กำมือหนึ่งไซร้  สี่ใจมือตามมีมา
           ใจมือหนึ่งนั้นท่านว่า  ร้อยเมล็ดเข้าหนา  นับด้วยตวงเพียงนี้แล
มาตราวัดน้ำหนัก
           ทองภาราหนึ่งแท้  ยี่สิบดุนแน่  ดุนหนึ่งยี่สิบชั่งนา
           ชั่งหนึ่งยี่สิบตำลึงหนา  ตำลึงหนึ่งรา  สี่บาทถ้วนจงจำไว้
           บาทหนึ่งสี่สลึงไทย  สลึงหนึ่งท่านใช้  สองเฟื้องจงจำไว้นา
               เฟื้องหนึ่งนั้นสี่ไพหนา  ไพหนึ่งท่านว่า  สองกล่ำจงกำหนดไว้
                กล่ำหนึ่งสองกล่อมตามใช้  กล่อมหนึ่งลงไป  สองเมล็ดเข้าตามมีมา
           อันนี้นับด้วยชั่งหนา  จงเร่งศึกษา  เป็นสามประการวิธี
มาตรานับวันเวลา
               หนึ่งโสดปีตามชื่อมี  อยู่สิบสองปี  นับชวดเป็นต้นไปนา
               ปีชวดเป็นชื่อหนูนา  ปีฉลูโคนา  ปีขานเป็นเสือสัตว์ไพร
           ปีเถาะเป็นกระต่ายไซร้มโรงงูใหญ่มเส็งงูเล็กแลนา
              มะเมียเป็นชื่อมิ่งม้า มแมแพะหนา วอกว่าลิงระกาไก่
           จอสุนักข์กุญหมูไซร้  สิบสองปีได้  โดยนิยมดังกล่าวมา
                     ปีหนึ่งสิบสองเดือนหนา  สิบสามบ้างรา  นับเดือนห้าเป็นต้นไป
                     แล้วเดือนหกเดือนเจ็ดไซร้  เดือนแปดเก้าไป  เดือนสิบเดือนสิบเอ็ดมา
                          เดือนสิบสองเดือนอ้ายหนา  เดือนญี่สามมา  เดือนสี่เป็นสิบสองไป
                          ปีใดอธิกมาศใส่  เดือนเข้าอีกไซร้  ปีนั้น สิบสามเดือนนา
                          เดือนหนึ่งนั้นสองปักษ์หนา  คือข้างขึ้นมา  ข้างแรมเป็น  สองปักษ์ไป
                       ข้างขึ้นสิบห้าวันได้ข้างแรมท่านใช้  สิบห้า สิบสี่วันบ้าง
                          เดือนใดเป็นเดือนขาดค้าง  ข้างแรมท่านวาง  สิบสี่วันตามวิไสย
                                    เพราะดังนี้เดือนถ้วนได้  วันสามสิบไป  เดือนขาดยี่สิบเก้าวัน
                                    เดือนหกถ้วน เดือนห้านั้น  เป็นเดือนขาดพลัน  ทั้งสิบสองเดือนเปลี่ยนไป
                                   จึงมีเดือนถ้วนหกเดือนได้  เดือนขาดเล่าไซร้  ก็ได้หกเดือนเหมือนกัน
                                    ถ้ามีอธิกมาศนั้น  เดือนแปดสองปัน  เดือนถ้วนจึ่งเป็นเจ็ดนา
                                    วันมีชื่อเจ็ดวันหนา  วันอาทิตย์มา  วันจันทร์วันอังคารนี้
                                    วันพุฒวันพฤหัสบดี  วันศุกร์ศักดิ์ศรี  วันเสาร์ครบ เสร็จเจ็ดวัน
                                     กลางวันกลางคืนควบกัน  ท่านนับเป็นวัน  หนึ่งควรจะใส่ใจจำ
                               วันหนึ่งนั้นแปดยามย่ำ  กลางวันท่านกำ  หนดไว้ว่าสี่ยามมี
                                     กลางคืนก็นับยามสี่  วันกับราตรี  จึงเป็นแปดยามตามใช้
                               ยามหนึ่งสามนาลิกาไซร้  นาลิกา ท่านใช้  กลางวันเรียกว่าโมงนา
                                    กลางคืนเรียกว่าทุ่มหนา  นาลิกาหนึ่งรา  ได้สิบบาด ท่านบอกไว้
                               บาดหนึ่งสี่นาทีไทย  นาทีหนึ่งได้  สิบห้าเพ็ชชะนาที
                                    เพ็ชชะนาทีหนึ่งนี้  หกปราณด้วยดี  ปราณหนึ่งสิบอักษรไซร้
                                     ปีหนึ่งมีนับวันได้  สามร้อยวันไป  กับห้าสิบสี่วันวาร
                                     ปีใดท่านเพิ่มวันกาล  เป็นอธิกวาร  เพิ่มเข้าอีกวันหนึ่งนา
                                     ปีนั้นวันสามร้อย หนา  กับห้าสิบห้า  วันตามที่โลกยินยล
                                      ถ้าปีอธิกมาศปน  เดือนแปดสองหน  ปีนั้นมีวันมากรา
                                      นับวันได้ สามร้อยหนา  กับแปดสิบห้า  วันยิ่งตามโหรนิยมไว้
ฤดูกาลทั้งสาม
               อนึ่งฤดูมีสามไซร้  คือเหมันต์ไป คิมหันต์วัสสานะนา
               เดือนสิบสองแต่แรมมา  เดือนสี่เพ็ญหนา  สี่เดือนนี้ชื่อเหมันต์
           แต่แรมเดือนสี่จนวัน  เพ็ญเดือนแปดนั้น  สี่เดือนนี้คิมหันต์นา
               แรมค่ำหนึ่งเดือนแปดมา  ถึงเพ็ญวารา  กะติกะมาศจงรู้
               สี่เดือนล้วนวัสสานะฤดู  แบบโหรเป็นครู  ว่าตามศศิโคจร
ทิศทั้งแปด
               ทิศแปดปันโดยนามกร  คือทิศบูรพ์ก่อน  เป็นทิศตะวันออกนา
           แล้วอาคเณย์ทิศา ทักษิณนี้หนา  เป็นทิศข้างใต้ตามมี
                แล้วต่อไปทิศหรดี  จึงประจิมนี้  เป็นทิศตะวันตกหนา
                แล้วจึงทิศพายัพมา  ทิศอุดรรา  เป็นทิศด้านเหนือจง จำ
           แล้วทิศอิสาณสำ  เหนียกให้ แม่นยำ  ปันทิศแปด คงตรง

พายัพ               อุดร                อิสาณ
___________________________________
ประจิม                ทิศ                  บูรพ์
___________________________________
หรดี                 ทักษิณ             อาคเณย์

    จบมูลบทเบื้อง
เป็นปฐมควรสถิตย์
เป็นแบบสั่งสอนศิษย์
ความที่รุกลับอ้น
บรรพกิจ
ที่ต้น
สายสืบ  ไว้นา
อัดอั้นออกขยาย



ข้อเตือนใจในหนังสือแบบเรียนเร็ว

กิจวัตรประจำวันของนักเรียน

     เราต้องตื่นขึ้นล้างหน้าเวลาเช้า พันผมเฝ้าพึงชำระให้สะอาด
เราจงทำหน้าที่กระวีกระวาด ไม่ต้องคาดคั้นเตือนเรื่องเรือนชาน
แล้วรีบไปให้ทันโรงเรียนเข้า เลิกแล้วเรามุ่งหน้ากลับมาบ้าน
ช่วยพ่อแม่เก็บงำและทำงาน ว่างก็อ่านคัดเขียนเล่าเรียนเอย
กิจวัตรประจำวันของเด็กนักเรียน
     ทำเทียบเปรียบเอาว่า เราเป็นนาฬิกาเอง เข็มบ่งชี้ตรงเผง และราบรื่นทุกคืนวัน
ย่ำรุ่งสะดุ้งตื่น โดยแช่มชื่นลุกขึ้นพลัน  อาบน้ำชำระฟัน ขัดโสมมผมเผ้าหวี
โมงเช้าเข้าแต่งตัว เครื่องเรียนทั่วทุกอย่างมี  เตรียมไปให้ทันที ที่พวกเราเข้าเรียนกัน
ตอนบ่ายหมายสิบหน้า นาฬิกามุ่งมาพลัน ถึงเหย้าเราขยัน หยิบงานทำโดยจำนงค์
ว่าด้วยช่วยแม่พ่อ สิบเจ็ด น พอแล้วลง  อาบน้ำค่ำแล้วจง ฟื้นความรู้ที่ครูสอน
เล่าเรียนเขียนอ่านพอ ยี่สิบ น ก็เข้านอน
ข้อคำนึงถึงประเทศ
     สยามงามอุดม ดินดีสม เป็นนาสวน เพื่อนรักเราชักชวน ร่วมช่วยกัน มุ่งหมั่นทำ
วิชาต้องอาศัย เป็นหลักได้ ใช้ช่วยนำ ให้รู้สู่ทางจำ ค้นคว้าไว้ ให้มากมาย
ช่วยกันอย่างขันแข็ง ด้วยลำแข้ง ลงแรงกาย ทำไปไม่เสียดาย แม้อาบเหงื่อ เพื่อแลกงาน
ดั่งนี้มั่งมีแท้ร่มเย็นแน่ หาไหนปาน โลกเขาคงเล่าขาน ถิ่นสยาม นี้งามเอย
แนวทางดำเนินชีวิต
     ในวัยเด็กเล็กอยู่จงรู้ว่า เรียนวิชาชั้นต้นจนจบสิ้น
แล้วเลือกเรียนวิชาเชิงหากิน ให้ถูกถิ่นถูกเวลาถูกท่าที
เมื่อโตไปได้ครองของทั้งสิ้น ทั่วทุกสิ่งที่มีในถิ่นที่
รู้จักกินรู้จักใช้เก็บให้ดี เมื่อแก่มีเจ็บไข้ได้ใช้เอย
การฝึกตนให้เป็นคนดี
     เราต้องปองฝึกฝนตนให้ตนเป็นคนดี  โดยข้อย่อ ๆ มีที่น่าจำควรคำนึง
หนึ่งนั้นคือหมั่นนึกน้อมรู้สึกระลึกถึง  พ่อแม่แลเราพึงรักลึกซึ้งสุดวันตาย
สองให้ใจโอนอ่อนหวังว่านอนสอนง่ายดาย  ฟังเชื่อผู้เชื้อสายเช่นยายย่าปู่ตาตน
สามจำทำให้ผู้รักเอ็นดูทุกหมู่ชน  ชมเห็นว่าเป็นคนมีกิริยาวาจาดี
สี่นี้มีใจหนักเยือกเย็นนักรู้จักมี ยับยั้งรั้งไว้ที่ไม่ใจน้อยคอยแต่ฉุน
ห้าให้มีใจเผื่อแผ่เอื้อเฟื้อและเจือจุน  กอบเกื้อเอื้ออุดหนุนเนื่องน้อมนำเหนี่ยวน้ำใจ
หกหรือคือรอบคอบระมัดรอบระวังไว  ก่อนจะทำอะไรให้คิดดูจนรู้ดี
เจ็ดนี้มีใจหวังในสิ่งดั่งตั้งใจมี มุ่งไว้ไม่หน่ายหนีทำเต็มที่มิหวาดหวั่น
แปดจะละหลบชั่วห่างจากตัวไม่พัวพัน สิ่งเล่นเป็นพนันหลีกแม่นมั่นหมั่นเก็บออม
เก้าให้ใส่ใจคือเราต้องซื่อชื่อจึงหอม คนชอบนิยมยอมวางใจย่อมนอบน้อมเอย


| มูลบทบรรพกิจ | ข้อเตือนใจในแบบเรียนเร็ว | ข้อเตือนใจจากบทดอกสร้อย |
| คำปฏิญาณของลูกเสือไทย | ข้อเตือนใจจากที่อื่นๆ | วรรณคดีไทยร้อยกรอง | โคลงพระราชพงศาวดาร |
| หน้าแรก | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | หน้าต่อไป | บน |