| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

 

เล่ม ๑๕ ธรรมวัตร - นิลเอก       ลำดับที่ ๒๖๙๐ - ๒๙๔๑      ๑๕/ ๙๑๗๗ - ๙๘๓๖

            ๒๖๙๐. ธรรมวัตร มีบทนิยามว่า "ลักษณะเทศน์ทำนองธรรมดาอย่างหนึ่งที่แสดงอยู่ทั่วไป ไม่ใช่ทำนองแบบเทศน์มหาชาติ
                การเทศน์ของพระมีทำนองเทศน์อยู่สองแบบด้วยกันคือ เทศน์ทำนองอย่างหนึ่ง และเทศน์ธรรมวัตรอีกอย่างหนึ่ง
                อีกสำนวนหนึ่งเรียกกันว่า สำนวนกลอนเทศน์ เป็นคำร้อยกรองประเภทร่ายยาว        ๑๕/ ๙๑๗๗
            ๒๖๙๑. ธรรมศักดิ์มนตรี - เจ้าพระยา  (ดูครูเทพ - ลำดับที่ ๙๑๙)         ๑๕/ ๙๑๘๑
            ๒๖๙๒. ธรรมศาสตร์
                    ๑. เป็นชื่อคัมภีร์  เรียกว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ เป็นกฎหมายที่นักปราชญ์ พราหมณ์ผู้หนึ่งในชมพูทวีปเป็นผู้แต่งไว้หลายพันปีมาแล้ว ผู้แต่งมีนามว่า "มนู" ในทางสากลเรียกกฎหมายนี้ว่ากฎหมายมนู หรือธรรมศาสตร์ฮินดู
                    เนื้อหาของคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของท่านมนูนั้นกล่าวกันว่า เกี่ยวกับการสร้างโลก และสภาพของวิญญาณเมื่อมนุษย์ตายไปแล้ว และเรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับจารีตประเพณีและสังคมอินเดียสมัยนั้น เช่นหน้าที่ของวรรณะหรือชนชั้นต่าง ๆ การศาสนาและอื่น ๆ ซึ่งถือกันว่าเป็นกฎหมายที่ดีและมีอิทธิพลยิ่งในสมัยนั้น และสมัยต่อมา
                    คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ฉบับฮินดู คาดว่ามีขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.๑๔๓ - ๓๔๓
                    ในประเทศไทยได้ใช้กฎหมายคัมภีร์พระธรรมศาสตร์สืบมาแต่โบราณ หลักกฎหมายนี้สันนิษฐานว่า เข้ามาสู่ประเทศไทยพร้อมกับพระพุทธศาสนา สมัยเมื่อชาวอินเดียได้พากันอพยพเข้ามายังสุวรรณภูมิ ระหว่างปี พ.ศ.๒๗๐ - ๓๐๐ ชาวอินเดียได้นำศิลปวิทยาการต่าง ๆ ตลอดจนศาสนาพราหมณ์ และหลักพระธรรมศาสตร์เข้ามาด้วย ดังจะเห็นว่าศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ก็มีร่องรอยวัฒนธรรมฮินดูอยู่ ในสมัยอยุธยาไทยได้ใช้กฎหมายนี้อย่างบริบูรณ์ ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ต้นฉบับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์สำหรับศาลหลวงก็สาบสูญไปหมด ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมกฎหมายขึ้นไว้เรียกว่า
กฎหมายตราสามดวง พระธรรมศาสตร์เป็นลักษณะหนึ่งปรากฎอยู่ในกฎหมายดังกล่าว
                    ๒.
เป็นชื่อมหาวิทยาลัย  เดิมชื่อว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เรียกชื่อว่า ม.ธ.ก. ก่อตั้งโดย พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ.๒๔๗๖
            ๒๖๙๓.
ธรรมาธิกรณาธิบดี - เจ้าพระยา  เป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์ ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง ตั้งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑)         ๑๕/ ๙๑๙๔
            ๒๖๙๔.
ธรรมาภิมณฑ์ - หลวง  นามเดิมถึก จิตรตถึก เป็นครูกวีและนักแต่งตำราการประพันธ์ที่มีชื่อเสียงมากในรัชกาลที่ห้า และรัชกาลที่หก ท่านเกิดในรัชกาลที่สี่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ที่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี เดิมเป็นครู ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๖ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่ หลวงธรรมาภิมณฑ์ มีตำแหน่งในกรมราชบัญฑิต ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ได้ย้ายมาเป็นพนักงานฝ่ายหนังสือไทย ในหอพระสมุดวชิรญาณ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๐ จึงลาออกจากราชการและถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑
            ท่านได้แต่งบทประพันธ์ร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก เช่น โคลงนิราศวัดรวก (พ.ศ.๒๔๒๘) สิทธิศิลปคำฉันท์ (พ.ศ.๒๔๓๔)  เพชรมงกุฎคำฉันท์ (พ.ศ.๒๔๔๕)  กฎาหกคำฉันท์ (พ.ศ.๒๔๕๖)  ประชุมลำนำเป็นตำราสำหรับแต่งกลอน - กานต์           ๑๕/ ๙๑๙๗
            ๒๖๙๕.
ธวัชบุรี  อำเภอขึ้น จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีป่าโปร่งและป่าละเมาะ ทางตอนใต้
                อ.ธวัชบุรี เปลี่ยนชื่อเป็น ต.ธวัชบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ คงเรียกชื่อว่า อ.ธวัชบุรี ถึง พ.ศ.๒๔๕๗ ย้ายไปตั้งที่ว่าการอำเภอที่ ต.มะอี แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า อ.แซงบาดาล แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ธวัชบุรี ตามเดิมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒           ๑๕/ ๙๒๐๐
            ๒๖๙๖.
ธัญชาติ  มีบทนิยามว่า "เป็นคำรวมเรียกข้าวต่างๆ เช่น ข้าวเปลือก และข้าวสาลี ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา พร้อมทั้งสูจิ ว่ามีเจ็ดอย่างคือ  ๑.ข้าวไม่มีแกลบ   ๒.ข้าวเปลือก  ๓.หญ้ากับแก้  ๔.ข้าวละมาน  ๕.ลูกเดือย  ๖.ข้าวแดง  ๗. ข้าวฟ่าง"
                คำ ธัญชาติ มักรู้จักกันในความหมายว่า ธัญพืชมากกว่า            ๑๕/ ๙๒๐๐
            ๒๖๙๗.
ธัญบุรี   อำเภอขึ้น จ.ปทุมธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ทำนาได้ทั่วไป           ๑๕/ ๙๒๐๓
            ๒๖๙๘.
ธาตุ ๑ - ยา  เป็นยาผสมด้วยตัวยาหลายอย่างเข้าด้วยกัน ใช้บริโภคเพื่อบำรุงธาตุให้ดีขึ้น เพื่อเจริญอาหาร จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน           ๑๕/ ๙๒๐๔
            ๒๖๙๙.
ธาตุ ๒  ในทางปรมัตถธรรม หมายถึง ดิน น้ำ ลม ไฟ รวมเรียกว่า ธาตุสี่ประการ ธาตุแต่ละอย่างมีสมบัติเฉพาะตัวแต่อาศัยกันเป็นอยู่และเป็นไปคือธาตุดินมึความกระด้างและแข้นแข็ง ธาตุน้ำมีการหลั่งไหลหรือซึมซาบ ธาตุไฟมีความอบอุ่นและเผาผลาญ ธาตุลมมีการกระพือพัดหรือเคลื่อนไหว  เมื่อกล่าวในแง่ขันธ์ห้า ธาตุสี่อย่างดังกล่าวที่เรียกมหาภูตนี้จัดเป็นรูปขันธ์ กล่าวในแง่ที่เกี่ยวกับคนนอกจากธาตุสี่แล้ว ยังมีอากาศธาตุ (ช่องว่าง) แบละวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้) ซึ่งในที่บางแห่งเรียกว่าจิต  กล่าวในแง่กรรมฐานที่เรียกว่ากรรมฐานหรือธาตุววัฎฐานคือการพิจารณากำหนดความเป็นธาตุ โดยพิจารณาแยกกายออกเป็น ๓๔อาการ ๓๑หรือ ๓๒           ๑๕/ ๙๒๐๕
            ๒๗๐๐.
ธาตุ ๓  ในวิชาเคมี กำหนดว่า ธาตุ คือ สารเนื้อเดียวซึ่งประกอบด้วยอะตอม ที่เหมือนกันทุกประการ
                บรรดาธาตุเท่าที่ค้นพบแล้ว มี ๑๐๕ ธาตุ ธาตุสุดท้ายที่ค้นพบคือ ธาตุฮาห์เนียม
                ธาตุหนึ่ง ๆ เมื่อเกิดปฎิกิริยาทางเคมี เข้ารวมตัวกับธาตุอื่นแล้ว ผลที่ได้จะเป็นสารประกอบ
                ธาตุที่ค้นพบแล้วทั้งสิ้นนั้น มีปรากฎอยู่ทั้งสามภาวะคือ ของแข็ง ของเหลว และก๊าช
                ในบรรดาธาตุทั้งหมดนั้น จัดแบ่งออกกเป็นสองพวกใหญ่ คือ พวกโลหะ และพวกอโลหะ
                ธาตุออกซิเจน มีมากที่สุดในโลกคือ มีอยู่ถึงร้อยละ ๔๙.๘๕ และธาตุซิลิคอน มีมากเป็นที่สองคือ ร้อยละ ๒๖.๐๓           ๑๕/ ๙๒๑๑
            ๒๗๐๑.
ธาตุพนม ๑ - พระ  ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง อันเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทย กับประเทศลาว
                องค์พระธาตุเป็นพระเจดีย์สี่เหลี่ยม วัดโดยรอบ ๔๙.๓๖ เมตร สูงจากพื้นดิน ๕๓ เมตร (พ.ศ.๒๔๘๒) มีฉัตรปักอยู่บนยอดอีก ๔ เมตร
                สถานที่ประดิษฐานองค์พระธาตุพนมสมัยโบราณเรียกว่า
ภูกำพร้า หรือดอยกำพร้า เป็นเขตแขวงของเมืองศรีนครโคตรบูร เมืองนี้อยู่ใต้ปากเซบั้งไฟ ในประเทศลาว ห่างจากฝั่งแม่น้ำโขงเข้าไปประมาณ ๕ - ๖ กม. ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า เมืองขามแท้
                พระธาตุพนมเป็นพระเจดีย์เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เชื่อว่าสร้างในปี พ.ศ.๑๐๐๗  ลักษณะลวดลายและรูปภาพอิฐจำหลัก เป็นศิลปทวารวดีตอนต้น                    ๑๕/ ๙๒๓๓
            ๒๗๐๒.
ธาตุพนม ๒  อำเภอขึ้น จ.นครพนม มีอาณาเขตทิศตะวันออก ตกแม่น้ำโขง ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบ ตอนใต้มีป่าบ้างเล็กน้อย
                อ.ธาตุพนม ตั้งอยู่ใกล้วัดธาตุพนม จึงมีนามตามนั้น           ๑๕/ ๙๒๔๑
            ๒๗๐๓.
ธิเบต  (ดู ทิเบต - ลำดับที่ ๒๕๖๘)           ๑๕/ ๙๒๔๒
            ๒๗๐๔.
ธีบอ หรือสีปอ  เป็นชื่อเจ้าชายในราชวงศ์อลองพญา เป็นพระราชโอรส พระเจ้ามินดง และเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายที่ครองประเทศพม่า เมื่อเสียเอกราชแก่อังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑   นับแต่พระองค์ขึ้นครองราชย์สภาพของประเทศพม่าเลวลงไปตามลำดับ โจรผู้ร้ายชุกชุม พวกกะชินในภาคเหนือก่อการขบถ กองโจรจีนยกเข้าปล้น และเผาเมืองบาโม (บ้านหม้อ) เจ้าผู้ครองไทยใหญ่หลายองค์เลิกสวามิภักดิ์ ภายในกรุงมัณฑเลเองพระนางสุปยาลัต ผู้เป็นพระมเหสีทรงใช้จ่ายเงินทองสุรุ่ยสุร่ายจนกระทั่งเงินหลวงไม่มีเหลือในท้องพระคลัง พระเจ้าธิบอทรงใช้วิธีหาเงินเข้าท้องพระคลังด้วยการออกหวยเบอร์หรือลอตเตอรี่ ปรากฏว่าราษฎรพากันซื้อหวยเบอร์จนไม่เป็นอันทำมาหากินและยากจนลงมาก จึงได้ยกเลิกเสียหลังออกมาได้สามปี    พระเจ้าธีบอทรงดำเนินพระราโชบายต่างประเทศผิดพลาด เพราะทรงผูกไมตรีกับฝรั่งเศส ซึ่งอังกฤษถือว่าเป็นการแทรกแซงในพม่าอันขัดต่อผลประโยชน์ของตน  เนื่องจากฝรั่งเศสกำลังแสวงหาผลประโยชน์ในพม่าหลายเรื่องด้วยกัน ข้าหลวงใหญ่อังกฤษจึงเปลี่ยนใจจากเดิมที่จะไม่ผนวกพม่าและให้ความเห็นว่า ถ้าฝรั่งเศสยังไม่สละสัมปทานตามที่เสนอไว้ อังกฤษไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากรวมพม่าเหนือของพระเจ้าธีบอเข้ากับพม่าใต้  พระเจ้าธีบอได้โอนสัมปทานป่าไม้ของบริษัทปมอเบย์ ฯ ของอังกฤษ อังกฤษจึงตกลงดำเนินการกับพม่าเด็ดขาด ส่งเรือกลไฟลำหนึ่งไปยังกรุงมัณฑเลพร้อมกับให้พระเจ้าธีบอรับคำขาดของตน คำขาดนี้ต้องการให้พระเจ้าแผ่นดินพม่ามีฐานะเป็นมหาราชาองค์หนึ่งของอินเดียเท่านั้น  เมื่อพม่าปฏิเสธคำขาดของอังกฤษกองทัพอังกฤษก็ได้เปิดฉากการรบ ตีหัวเมืองรายทางไปยังมัณฑเลและยึดกรุงมัณฑเลได้ พระเจ้าธีบอต้องยอมแพ้ตกเป็นเชลยของอังกฤษ อังกฤษได้ปกครองประเทศพม่าทั้งหมดในปลายปี พ.ศ.๒๔๒๘          ๑๕/ ๙๒๔๒
            ๒๗๐๕.
ธุดงค์  มีบทนิยามว่า "องคคุณเครื่องกำจัดกิเลส ชื่อ วัตรปฎิบัติของภิกษุ ๑๓ อย่าง เช่น การถือบริโภคอาหารหนเดียว การอยู่ป่า การอยู่โคนไม้ "
                การถือธุดงค์นี้ สำเร็จด้วยการสมาทานคือ อธิษฐานด้วยใจ หรือแม้ด้วยเปล่งวาจา           ๑๕/ ๙๒๕๑
            ๒๗๐๖.
ธุรกิจ  มีความหมายที่ใช้คลุมกระบวนการทั้งหมด ของการนำทรัพยากรธรรมชาติมาเปลี่ยนสภาพ โดยมนุษย์และเครื่องจักร เป็นสินค้าแล้วเก็บรักษาไว้ เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อ หรืออีกนัยหนึ่ง ธุรกิจ หมายถึง การปฎิบัติ๑๕/ที่เกี่ยวกับการผลิต และการซื้อเพื่อไว้ขายโดยหวังผลกำไร ฉะนั้น ธุรกิจจึงรวมทั้งการพาณิชย์ และอุตสาหกรรม
                ธุรกิจมิได้ก่อให้เกิดเฉพาะสินค้าเท่านั้น แต่ยังคลุมถึงการสนองความต้องการเกี่ยวกับการบริการอีกด้วย
                วัตถุประสงค์ของธุรกิจคือ การแสวงหากำไร โดยที่เห็นว่าผลกำไรนั้น คุ้มค่ากับความอุตสาหะ และการลงทุน
                หน้าที่ทางธุรกิจ อาจแยกเป็นหน้าที่สำคัญได้สี่อย่างคือ การผลิต การขาย หรือการตลาด การเงิน และการเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลากร
                ปัจจุบันปรัชญาทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ อาจแบ่งระบบเศรษฐกิจได้เป็นสามประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ ระบบเสรี ระบบวางแผน และระบบผสม
                ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ธุรกิจมีแนวโน้มที่จะมีโครงสร้างขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ  โดยที่มีส่วนได้เปรียบทางเศรษฐกิจมากกว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก           ๑๕/ ๙๒๕๓
            ๒๗๐๗.
ธุวดารา  มีนิยามว่า ดาวเหนือ คำนี้มาจากภาษาบาลี
                ชาวอินเดียคุ้นเคยกับดวงดาวในท้องฟ้ามาแล้วแต่โบราณ พราหมณ์ผู้ประกอบศาสนพิธีจะต้องศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ หลายคัมภีร์ โดยเฉพาะต้องศึกษาคัมภีร์พระเวท ในบรรดาคัมภีร์เหล่านี้ มีเวทางคู้เป็นคัมภีร์ประกอบที่สำคัญ แยกออกเป็นหกสาขา คัมภีร์สาขาสุดท้ายเป็นวิชาว่าด้วยดวงดาวในท้องฟ้า ทำให้อินเดียเป็นชาติที่มีความรู้เกี่ยวกับดวงดาวดีที่สุดชาติหนึ่งในสมัยโบราณ
                การที่ดาวธุวดาราหรือดาวเหนือ เป็นดาวที่เห็นอยู่ประจำที่และมีดาวดวงอื่น ๆ หมุนไปรอบ ๆ ย่อมทำให้ชาวอินเดียโบราณถือว่าดาวธุวดารานี้เป็นดาวพิเศษ บางคัมภีร์กล่าวว่าดาวธุวดารานี้เป็นแกนกลางของสากลจักรวาล แกนนี้หมุนรอบตัวเองและพาดวงดาวต่าง ๆ หมุนไปตามแกนนั้นด้วย แดนของดาวธุวดาราเป็นแดนแห่งวิษณุบรมเทพ อยู่เหนือโลกสาม เป็นดาวที่พยุงดาวพระเคราะห์ และกลุ่มดาวนักษัตรทั้งหลาย           ๑๕/ ๙๒๖๐
            ๒๗๐๘.
ธูป  มีบทนิยามว่า "ของหอมชนิดหนึ่ง ทำด้วยผงกระแจะพอกกับไม้ยาว เป็นเครื่องจุดบูชาคู่กับเทียน ลักษณะนามเรียกว่า ดอก"
                ธูปเป็นคำสันสกฤตและบาลีแปลว่า กลิ่นหอม เครื่องหอม ธูปที่เป็นก้านไม้เล็ก ๆ อย่างที่เห็นอยู่เป็นของคิดขึ้น เป็นวิธีของชาวตะวันออกมีจีนเป็นต้น ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงก็กล่าวแต่เผาเทียน ไม่กล่าวถึงธูปเลย           ๑๕/ ๙๒๖๔

น.

            ๒๗๐๙. น.พยัญชนะตัวที่ยี่สิบห้าของพยัญชนะไทย  นับเป็นพวกอักษรต่ำ เป็นตัวสุดท้ายของวรรคที่สี่ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กน และเป็นตัวสะกดพยางค์สุดท้ายในคำสันสกฤตที่ออกเสียง อันและอิน ในภาษาไทยจัดเป็นพยัญชนะพวกโฆษะคือมีเสียงก้อง และออกเสียงเช่นเดียวกับ ณ            ๑๕/ ๙๒๖๖
            ๒๗๑๐.
นก  เป็นสัตว์เลือดอุ่นพวกหนึ่ง ตามตัวปกคลุมด้วยขนแบน ๆ มีตีนหน้าที่วิวัฒนาการมาเป็นปีกสำหรับบิน มีตีนหลังสำหรับเดินหรือเท้ากิ่งไม้ ปากแหลมมากน้อยผิดกัน นกในปัจจุบันไม่มีฟัน สืบพันธุ์ด้วยการวางไข่
                นกส่วนมากชอบบินย้ายถิ่นไปอยู่และหากินตามท้องถิ่นไกล ๆ ในฤดูต่าง ๆ กัน นกที่พบเห็นในประเทศไทยไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ชนิด ที่ทำรัง วางไข่ในประเทศแถบหนาวเหนือ ในฤดูร้อนแล้วพากันบินย้ายถิ่นฐานเข้ามาหากินในประเทศไทยในฤดูหนาว
                นกบางชนิดพากันบินย้ายถิ่นรวม ๆ กันไปเป็นหมู่ใหญ่ ๆ แต่บางชนิดชอบบินไปตัวเดียวโดด ๆ นกส่วนมากเคยบินย้ายถิ่นมาที่บริเวณไหน ปีต่อมาก็จะบินมาหากินตรงที่เดิม หรือที่ต้นไม้ต้นเดิม และเมื่อบินกลับไปทางประเทศหนาวเหนือ เพื่อวางไข่ก็จะไปถูกที่ที่ทำเลเดิม และทำรังในที่เดิม           ๑๕/ ๙๒๖๖
            ๒๗๑๑.
นกแก้ว - ปลา  จัดอยู่ในวงศ์ปลานกแก้ว ตัวป้อมและแบนข้าง มีอยู่ด้วยกันราวสี่ชนิด และทุกชนิดพบในกรุงเทพ ฯ ทั้งสิ้น           ๑๕/ ๙๒๘๔
            ๒๗๑๒.
นกกระจอก - ปลา  จัดอยู่ในวงศ์นกกระจอก มีรูปร่างค่อนข้างยาว ตัวแบนกลม ริมปากเท่ากัน มีครีบอกแผ่กว้างเป็นแผ่นใหญ่ ซึ่งใช้เป็นเครื่องร่อนได้ในระยะสั้นหรือยาว สุดแต่ชนิดของปลา เป็นปลาอยู่ในทะเลเขตร้อน           ๑๕/ ๙๒๘๔
            ๒๗๑๓.
นกกระจิบ โนรา - ปลา  เป็นปลาในวงศ์ปลาผีเสื้อ มีรูปร่างสูงและแบนข้างมาก อยู่ในทะเลเขตร้อน           ๑๕/ ๙๒๘๕
            ๒๗๑๔.
นกนางแอ่น  เป็นชื่อโรคติดต่อร้ายแรงอย่างหนึ่ง อยู่ในจำพวกไข้กาฬ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไข้กาฬนกนางแอ่น เป็นโรคติดเชื้อ ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง ติดต่อกันได้โดยทางเสมหะ เพราะผู้ป่วยมีเชื้อโรคอยู่ในบริเวณจมูกและคอ ผู้ที่ได้รับเชื้อโรคนี้แล้วจะมีอาการของโรคภายใน ๒ - ๑๐ วัน
            ผลตามหลังจากการเป็นโรคนี้ในรายที่รอดตาย อาจเกิดโรคหรือภาวะพิการได้หลายประการ เช่น หูหนวก จากการที่ประสาทหูเกิดอันตราย ตาบอด ศีรษะโต           ๑๕/ ๙๒๘๖
            ๒๗๑๕.
นกหก  เป็นนกแก้วพวกหนึ่ง ที่มีขนาดเล็กและหางสั้น มีขนาดโตกว่านกกระจอกเล็กน้อย ชอบเกาะกิ่งไม้ ห้อยหัวนอนอย่างค้างคาว           ๑๕/ ๙๒๘๗
            ๒๗๑๖.
นกุล  เป็นชื่อเจ้าชายองค์ที่สี่ในหมู่เจ้าชายปาณฑพห้าองค์ แห่งราชสกุลจันทรวงศ์ ในเรื่องมหากาพย์ มหาภารตะ
            นกุล เป็นเจ้าชายที่มีรูปโฉมงดงามอย่างยิ่งและชื่นชมในความงามของตนว่าล้ำเลิศยิ่งกว่าใครหมด ความงามของนกุลเป็นที่จับจิตจับใจผู้หญิงทั้งหลาย ทำให้เกิดวุ่นวายบ่อย ๆ ในบรรดาเจ้าชายปาณฑพพี่น้องทั้งห้า นกุลได้ชื่อว่ามีฝีมือยอดเยี่ยมทางดาบ และมีความสามารถยอดเยี่ยมในวิชาอัศวศาสตร์หาผู้เสมอมิได้           ๑๕/ ๙๒๘๘
            ๒๗๑๗.
นครกัณฑ์  เป็นชื่อกัณฑ์ที่ ๑๓ ซึ่งเป็นกัณฑ์สุดท้ายในเรื่องเวสสันดรชาดก เมื่อจบกัณฑ์นี้เป็นอันจบนิบาตชาดก ซึ่งมีจำนวน ๕๕๐ เรื่อง แต่คงปรากฎมีเพียง ๕๔๖ เรื่อง ขาดไปสี่เรื่อง เวสสันดรชาดกเป็นเรื่องสุดท้าย จึงนับเป็นเรื่องที่ ๕๔๖           ๑๕/ ๙๒๙๐
            ๒๗๑๘.
นครชัยศรี  อำเภอขึ้น จ.นครปฐม ภูมิประเทศเป็นที่ยาวไปตามลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี ทั้งสองฝั่งเป็นทุ่งนาตลอด ตามริมฝั่งมีไร่และสวนบ้าง
                อ.นครชัยศรี เป็นเมืองเก่า ตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ยังมีซากเมืองปรากฎอยู่ นครชัยศรีคงเป็นเมืองตลอดมาจนในรัชกาลที่ห้า จึงย้ายที่ว่าการเมืองไปตั้งที่พระปฐมเจดีย์เรียกว่านครปฐม ลดเมืองนครชัยศรีลงเป็น อ.นครชัยศรี           ๑๕/ ๙๒๙๑
            ๒๗๑๙.
นครไชยศรีสุรเดช - กรมหลวง  พระนามเดิมเจ้าชายจิรประวัติวรเดช เป็นพระราชโอรสองค์ที่เจ็ด ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ประสูตด้วยเจ้าจอมมารดาทับทิม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ ทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอรุ่นใหญ่ ซึ่งขณะทรงพระเยาว์มีอยู่ด้วยกันสี่พระองค์ ครั้นพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์ ทรงพระเจริญทั้งพระชันษา และวิทยาการแล้ว ก็โปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาเพิ่มเติม ณ ประเทศอังกฤษ อันเป็นกิจที่เริ่มปฎิบัติขึ้นเป็นครั้งแรก
                 เฉพาะกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช ทรงกำหนดให้ศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเดนมาร์ก จนสำเร็จวิชานายทหารปืนใหญ่ แล้วได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เข้าฝึกราชการในกรมยุทธนาธิการ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งปลัดทัพบก เป็นเสนาธิการ และบังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ด้วย ได้รับสถาปนาเป็น กรมหมื่น ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ แล้วเลื่อนยศทหารเป็น นายพลตรี ราชองครักษ์พิเศษ ต่อมาได้เลื่อนยศเป็น นายพลโท และนายพลเอก เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ได้ทรงจัดปรับปรุงกิจการฝ่ายทหารหลายประการ เช่น การออก พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร วิธีฝึกหัดทหารแบบยุโรป และได้ทรงเลื่อนเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และยุบตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้ทรงรับสถาปนาเป็น กรมหลวง ต่อมาได้เลื่อนพระยศขึ้น จอมพล สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖             ๑๕/ ๙๒๙๒
            ๒๗๒๐.
นครไทย  อำเภอขึ้น จ.พิษณุโลก ภูมิประเทศโดยมากเป็นป่าเขา มีลำห้วย ลำธาร อยู่ทั่ว ๆ ไป มีที่ราบบ้างแต่ในส่วนกลาง    นครไทยเคยเป้นเมืองเก่า ยังมีเนินดินเป็นหลักฐานอยู่    ๑๕/ ๙๒๙๘
            ๒๗๒๑.
นครธม  เมืองพระนครธม หรือเมืองพระนครหลวง พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้าย แห่งอาณาจักรขอม (พ.ศ.๑๗๒๔ - ๑๗๖๑) ทรงสร้างขึ้นซ้ำที่กับเมืองพระนคร ซึ่งพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ ทรงสร้างเมื่อราว พ.ศ.๑๔๕๐ แต่มีขนาดเล็กกว่า
                เมืองนครธม มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีกำแพงล้อมรอบ กว้าง ยาว ด้านละ ๓ กม. กำแพงนี้ก่อด้วยศิลาแลงสูงเกือบ ๘ เมตร มีเชิงเทินอยู่ภายใน และมีคูกว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร ล้อมรอบภายนอก มีอาคารเล็ก ๆ เรียกว่า ปราสาทจรุง อยู่ที่มุมกำแพงทั้งสี่มุม มีปราสาทบายน เป็นจุดศูนย์กลาง
                เมืองนครธม ได้เป็นราชธานีของขอมอยู่จนถึงปี พ.ศ.๑๙๗๔ เมื่อสมเด็จพระบรมราชาที่สอง (เจ้าสามพระยา)  ทรงตีเมืองนครธมได้ในปีนั้นแล้ว พวกขอม หรือเขมรจึงย้ายราชธานีไปอยู่ที่อื่น           ๑๕/ ๙๒๒๙
            ๒๗๒๒.
นครนายก  เป็นจังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.สระบุรี และ จ.นครราชสีมา ทิศตะวันออก จด จ.ปราจีนบุรี ทิศใต้จด จ.ฉะเชิงเทรา ทิศตะวันตก จด จ.ปทุมธานี ภูมิประเทศตอนเหนือ เป็นเนินสูง แล้วลาดต่ำลงไปทางใต้ แถบนี้เป็นป่าไม้ และภูเขา ตอนกลางและตอนใต้ เป็นที่ราบลุ่มทำนาได้ตลอด
                จ.นครนายก เดิมเรียกว่า
บ้านนา มีเมืองโบราณสมัยขอมเมืองหนึ่ง มีเทวสถานฝีมือขอมปรากฎอยู่ ตัวเมืองตั้งอยู่ใน ต.ดงละคร ชาวบ้านเรียกกันว่า เมืองลับแล ยังมีแนวเป็นเนินดิน และคูปรากฎอยู่ ภายหลังย้ายมาตั้งใหม่ ที่ฝั่งขวาแม่น้ำนครนายก สันนิษฐานว่า คงจะย้ายมาในสมัยอยุธยาตอนต้น เพื่อตั้งเป็นเมืองหน้าด่าน ทางทิศตะวันออก เดิมมีกำแพงป้อมคูแข็งแรง และมารื้อเสียในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ คราวเดียวกับเมื่อรื้อกำแพงเมืองสุพรรณ และเมืองลพบุรี           ๑๕/ ๙๓๐๐
            ๒๗๒๓.
นครปฐม  จังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.สุพรรณบุรี ทิศตะวันออก จด พระนครศรีอยุธยา จ.นนทบุรี และกรุงเทพ ฯ ทิศใต้ จด จ.สมุทรสาคร ทิศตะวันตก จด จ.ราชบุรี ภูมิประเทศยาวไปตามลุ่มน้ำนครชัยศรี ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นที่ดอนมีป่าไม้เบญจพรรณ  และป่าโปร่ง
                นครปฐม เป็นเมืองเก่า เมืองหนึ่งในประเทศไทย มีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองสำคัญมาตั้งแต่สมัย เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่มาถึงสุพรรณภูมิ แต่จากการขุดค้นโบราณวัตถุ ปรากฎว่ามีศิลปวัตถุสมัยคุปตะ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒)  ทั้งบนศิลาจารึกต่าง ๆ ที่ขุดได้ทางแถบนี้ มักเป็นอักษรคฤนต์ ราวสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑  (ก่อนนี้อาจตกอยู่ในอาณาจักรโคตรบูร ซึ่งจีนเรียกว่า ฟูนัน ก็เป็นได้)  ครั้นถึงราว พ.ศ.๑๕๔๔ กษัตริย์แห่งอาณาจักรนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย มีอำนาจมากขึ้น ตั้งตัวเป็นเอกราช แล้วแผ่อาณาเขตมาครองทวารวดี และประเทศเขมร นครปฐมจึงตกอยู่ในอำนาจนครศรีธรรมราช แล้วเลยตกเป็นของเขมร ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ครั้นต่อมาราว พ.ศ.๑๖๐๐ พระเจ้าอนุรุธมหาราช (อโนรธามังช่อ)  มาตีละโว้ของเขมรได้ จึงน่าจะยกมาตีเอาบริเวณเมืองนครปฐมไปด้วย ต่อมาปรากฎว่า อาณาจักรที่มีเมืองนครปฐมนี้ ได้ตกเป็นของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ผู้สืบเชื้อพระวงศ์จากพระเจ้าพรหม และเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ฉะนั้น เมืองนครปฐม จึงถูกทิ้งร้างในคราวเมื่อพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ ๑ ต้องย้ายไปตั้งราชธานีที่เวียงเหล็ก
                ต่อมา ไม่ค่อยปรากฎเรื่องราวเมืองนครปฐม นอกจากว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ โปรดให้แบ่งท้องที่เมืองราชบุรี กับเมืองสุพรรณบุรีมารวมตั้งเป็นเมืองนครชัยศรีขึ้น ที่คลองบางแก้ว ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เมื่อยังทรงผนวชอยู่ได้เสด็จมาทางนครชัยศรี ทรงเห็นพระสถูปเจดีย์ ซึ่งขอมสร้างสวมพระสถูปเดิม ซึ่งมีรูปเป็นสถูปอย่างอินเดีย ทรงสันนิษฐานว่า เป็นโบราณสถานครั้งสมัยเมื่อพระพุทธศาสนา เข้ามาประดิษฐานในแถบนี้ จึงทรงตั้งนามว่า เมืองนครปฐม ครั้นเสด็จขึ้นเสวยราชย์ จึงโปรด ฯ ให้ตั้งต้นปฎิสังขรณ์ แต่มาทำเสร็จในรัชกาลที่ห้า           ๑๕/ ๙๓๐๑
            ๒๗๒๔.
นครพนม  จังหวัดภาคอีสาน มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.หนองคาย ทิศตะวันออก ตกแม่น้ำโขง ทิศใต้ จด จ.ยโสธร ทิศตะวันตก จด จ.สกลนคร ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอน ตอนใต้มีเทือกเขา นอกนั้นเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เป็นป่าและห้วยหนองบ้าง
                จ.นครพนม อยู่ชายแดนตรงข้ามกับเมืองท่าแขกของประเทศลาว เป็นเมืองด่าน และชุมทางสำคัญทั้งทางบก และทางน้ำ เป็นท่าเรือติดต่อกับเมืองต่าง ๆ ตามฝั่งแม่น้ำโขง มีสิ่งสำคัญคือ
พระธาตุพนม อยู่ที่ อ.ธาตุพนม
            ๒๗๒๕.
นครราชสีมา จังหวัดภาคอีสานเรียกกันเป็นสามัญว่าโคราช ตั้งอยู่ตอนต้นของแม่น้ำมูล มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ชัยภูมิ และ จ.ขอนแก่น ทิศตะวันออกจด จ.บุรีรัมย์ ทิศใต้จด จ.ปราจีนบุรี และ จ.นครนายก ทิศตะวันตกจด จ.สระบุรี และจ.ลพบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีป่าดงและเขามาก
                จ.นครราชสีมา สร้างในสมัยอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ช่างฝรั่งเศสเป็นผู้ให้แบบอย่าง เป็นเมืองมีป้อมปราการ มีคูเมืองล้อมรอบ กว้าง ๑,๐๐๐ เมตร ยาว ๑,๗๐๐ เมตร มีสี่ประตู ประตูด้านเหนือเรียกประตูพลเเสน ด้านตะวันออกเรียกประตูพลล้าน ด้านใต้เรียกประตูชัยณรงค์ ด้านตะวันตกเรียกประตูชุมพล ข้างนอกเมืองทางทิศตะวันออกมีบึงใหญ่ สำหรับขังน้ำไว้เลี้ยงสัตว์เรียก หัวทะเล
                จ.นครราชสีมา เดิมเป็นหัวเมืองชั้นโท ภายหลังยกเป็นหัวเมืองเอก เมื่อราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เพราะเป็นหัวเมืองสำคัญในการปกครอง พระราชอาณาจักรทางด้านตะวันออก ด้วยเป็นหัวเมืองใหญ่อยู่ต้นทาง ที่จะไปมาระหว่างหัวเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากับหัวเมืองทั้งหลายในลุ่มแม่น้ำโขง ชื่อเมืองนครราชสีมานั้นรวมมาจากชื่อเมืองเก่าสมัยขอมสองเมืองคือ
เมืองโคราช ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งเหนือลำตะกอง (เดี๋ยวนี้เป็นเมืองร้าง)  และเมืองเสมา ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งใต้ของลำตะกอง (เดี๋ยวนี้เป็นเมืองร้าง)           ๑๕/ ๙๓๐๕
            ๒๗๒๖.
นครวัด - ปราสาท  เป็นปราสาทก่อศิลาทราย เป็นศาสนสถานที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ได้ทรงสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๑๖๕๐ - ๑๗๐๐ อุทิศถวายแด่พระนารายณ์ ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ผิดกับปราสาทขอมอื่น ๆ ที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
                บริเวณปราสาททั้งหมดมีกำแพงล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๑,๐๒๕  ๘๐๐ เมตร และมีคูกว้าง ๑๙๐ เมตร ล้อมรอบอยู่ชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง นับเป็นศาสนสถานขอมที่มีขนาดกว้างใหญ่ที่สุด
                ปราสาทนครวัด ตั้งอยู่ภายใน
เมืองพระนคร หรือยโสธรปุระ ที่พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ ทรงสร้างทางมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปราสาทที่สง่างามที่สุดในศิลปะขอม และอาจสร้างเพื่อหมายถึง เขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ตัวปราสาทมีฐานสามชั้นมีระเบียงวางล้อมรอบทุกชั้น มีปราสาทอยู่ที่มุมทุกมุม และมีซุ้มประตูซุ้มทำเป็นทางเข้าทุกทิศ มีบรรณาลัย หรือหอสมุดสี่หลัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกบนฐานเป็นชั้น ชั้นที่หนึ่งสองหลัง และชั้นที่สองสองหลัง บนชั้นยอดสุดมีปราสาทห้าหลัง หลังหนึ่งอยู่ตรงกลาง อีกสี่หลังอยู่ที่สี่มุม หลังคาปราสาทเป็นรูปพุ่ม ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลไปจากปราสาทหินพิมาย นอกจากนี้ยังมีระเบียงตัดกันเป็นรูปกากบาทสองแห่ง แห่งหนึ่งเชื่อมปราสาท ข้างบนห้าหลังเข้าด้วยกัน และอีกแห่งหนึ่งเชื่อมระเบียงชั้นที่หนึ่ง เข้ากับระเบียงชั้นที่สอง
                ทางเดินปราสาทนครวัด ปูด้วยแผ่นศิลาทรายยาว ๓๕๐ เมตร กว้าง ๙.๔๐ เมตร มีรูปนาคสลักเป็นราวลูกกรงอยู่ทั้งสองข้างทางเดินนี้ มีหอประชุมที่เรียกกันว่า บรรณาลัย ตั้งอยู่สองข้าง หลังจากนั้นจึงมีสระรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส อยู่สองข้างของทางเดิน ด้านหน้าประตูทางเข้าที่สำคัญคือ ทิศตะวันตกมียกพื้นสูงสองชั้น รูปกากบาท ซึ่งอาจใช้เป็นเวทีสำหรับการฟ้อนรำ หรือเป็นที่ประทับของพระราชา เวลามีงานพิธีก็ได้
                ระเบียงชั้นที่หนึ่ง ซึ่งมีภาพสลักอยู่บนผนังด้านในโดยรอบ มีขนาด ๑๘๗ x ๒๑๕ เมตร แต่ระเบียงชั้นที่สองมีขนาดเพียง ๑๐๐ x ๑๑๕ เมตร หลังคาระเบียงเหล่านี้มีเพดานไม้สลักเป็นรูปดอกบัวปิดอยู่ ในระเบียงชั้นที่สองนี้มี "พระพันองค์" คือ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยหลังปราสาทนครวัด เก็บรวบรวมไว้ บนผนังระเบียงชั้นที่สองมีรูปเทพธิดา ในศิลปะแบบนครวัด ระเบียงชั้นบนสุดมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
                ภาพสลักบนผนังระเบียงชั้นที่หนึ่ง ต้องดูโดยการเวียนซ้ายที่น่าสนใจคือ ปีกใต้ด้านตะวันตก ยาว ๙๐ เมตร เป็นภาพการยกทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ซึ่งมีกองทัพไทย (สยามก๊ก)  อยู่ทางด้านขวาสุด (ทิศตะวันออก)  ภาพสลักด้านนี้สลักเป็นแนวซ้อนกันอย่างมีระเบียบ
                สรุปแล้ว ภาพสลักบนผนังระเบียงชั้นที่หนึ่ง อาจแบ่งออกได้เป็นสามสมัยคือ สามภาพที่สลักปะปนกันอย่างยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบจัดเป็นสมัยแรก สามภาพสลักอย่างมีระเบียบเป็นแนวขนานซ้อนกัน จัดเป็นสมัยที่สอง สองสมัยนี้สลักขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง อีกสร้างภาพสลักขึ้นที่หลังในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑            ๑๕/ ๙๓๐๗
            ๒๗๒๗.
นครศรีธรรมราช  จังหวัดภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.สุราษฎร์ธานี และตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันออก ตกทะเลในอ่าวไทย ทิศใต้ จด จ.พัทลุง จ.ตรัง และ จ.สงขลา ทิศตะวันตก จด จ.กระบี่ และ จ.สุราษฎร์ธานี  ภูมิประเทศตอนตะวันตกประกอบด้วย ภูเขาและเนิน มีที่ราบระหว่างภูเขา ตอนกลางส่วนมากเป็นที่ราบ ตอนตะวันออกเป็นพื้นที่ระหว่างที่ราบตอนกลางกับทะเล ตอนที่เป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา ตอนริมทะเลเหมาะแก่การทำสวนมะพร้าว
                นครศรีธรรมราช เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ในแหลมมลายู มีชื่อเรียกตามศิลาจารึกว่า
ตามพรลิงค์ และมีชื่อเรียกตามตำนานต่าง ๆ เช่น นครดอนพระ ศรีธรรมนคร ศิริธรรมราช เป็นต้น ตัวเมืองเดิมเล่ากันว่า ตั้งอยู่ที่เขาวัง ต.ลานสะกา อ.ลานสะกา จ.นครศรีธรรมราช ต่อมาได้ย้ายมาตั้งที่หาดทรายแก้ว
                ในสมัยก่อนสุโขทัย เมืองนครศรีธรรมราชเหมือนกับเมืองใหญ่อื่น ๆ ทั้งหลายคือ บางครั้งก็มีอำนาจมาก มีหัวเมืองใหญ่น้อยฝ่ายใต้ตลอดแหลมมลายู อยู่ในปกครองเป็นจำนวนมาก มีกษัตริย์ปกครองโดยอำนาจสิทธิขาด บางครั้งก็เสื่อมอำนาจ ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น เช่น ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย เป็นต้น
                ในตอนที่เมืองนครศรีธรรมราช มีอำนาจมากนั้นได้แบ่งการปกครองเมืองขึ้นเป็นทำนอง
สิบสองนักษัตร ตามปูมโหร ให้ใช้ตรารูปสัตว์ประจำปี เป็นตราของเมืองนั้น ๆ คือ
                    ๑. เมืองสาย (บุรี)  ถือตราหนู (ชวด)            ๒. เมืองปัต (ตานี)  ถือตราวัว (ฉลู)
                    ๓. เมืองกลันตัน  ถือตราเสือ (ขาล)            ๔. เมืองปะหัง  ถือตรากระต่าย (เถาะ)
                    ๕. เมืองไทร (บุรี)  ถือตรางูใหญ่  (มะโรง)            ๖. เมืองพัทลุง   ถือตรางูเล็ก (มะเส็ง)
                    ๗. เมืองตรัง   ถือตราม้า (มะเมีย)            ๘. เมืองชุมพร   ถือตราแพะ (มะแม)
                    ๙. เมืองบันไทยสมอ   ถือตราลิง (วอก)            ๑๐. เมืองสอุเลา   ถือตราไก่ (ระกา)
                    ๑๑. เมืองตะกั่ว ถลาง   ถือตราหมา (จอ)            ๑๒. เมืองกระ (บุรี)  ถือตราหมู (กุน)
                ในสมัยสุโขทัย ปรากฎตามศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ฯ ว่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นกรุงสุโขทัย ถึงสมัยอยุธยาปรากฎว่า ในกฎมณฑียรบาลว่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็น
เมืองชั้นพระยามหานคร โดยแยกเอาเมืองอยองตะหนะ เมืองมะละกา เมืองมลายู เมืองวรวารี ออกจากแคว้นยกขึ้นเป็นเมืองกษัตริย์ ถวายต้นไม้เงินทอง เมืองนคร ฯ จึงเป็นเพียงเมืองหน้าด่านคุ้มครองดินแดนส่วนต่าง ๆ ทางใต้
                ต่อมาปรากฎในศักดินาทหารหัวเมือง ซึ่งตราในปี พ.ศ.๑๙๑๙ ว่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็น
เมืองเอก เทียบเท่าเมืองพิษณุโลก
                ในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร พระองค์ได้เสด็จไปปราบแคว้นลานนาไทย แล้วโปรดให้อพยพครอบครัวลานนาไทย ลงไปไว้เมืองนคร ฯ และหัวเมืองทางปักษ์ใต้สองครั้ง
                ในปี พ.ศ.๒๑๗๓  เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ยกพระอาทิตยวงศ์ขึ้นเสวยราชย์ แล้วใช้อุบายให้พระยาเสนาภิมุข (ยามาดา นากามาซา)  ให้เป็นเจ้าพระยานคร ฯ คุมพวกอาสาญี่ปุ่นทั้งกรมลงไปครองเมืองนคร ฯ ต่อมาเจ้าพระยากลาโหม  ฯ ได้ปราบดาภิเษกเป็น สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมืองปัตตานีไม่ยอมอ่อนน้อม ทัพกรุงยกมาชุมนุมที่เมืองนคร ฯ   ปราบเมืองปัตตานีสำเร็จ จึงโปรดให้เมืองนคร ฯ และเมืองปักษ์ใต้ทั้งปวง ขึ้นสมุหพระกลาโหม ในปี พ.ศ.๒๑๗๘
                ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา เมืองนครราชสีมา และเมืองนคร ฯ เป็นขบถ ทัพกรุงต้องยกไปปราบ พระยายมราชเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้หนีไปพึ่งพระยารามเดโช เจ้าเมืองนคร ฯ สมเด็จพระเพทราชาจึงโปรด ฯ ให้พระยาสุรสงคราม คุมทัพยกไปตีทัพบกพระยายมราช (สังข์)  แตก และให้พระยาราชวังสัน คุมทัพเรือไปตีทัพเรือฝ่ายนคร ฯ แตก แล้วทัพทั้งสองก็เข้าล้อมเมืองไว้ พระยารามเดโชเห็นว่า จะสู้ไม่ได้จึงมีหนังสือไปถึงพระยาราชวังสัน ขอให้ช่วยให้หนีได้ เพราะเคยเป็นสหาย และ
เป็นเชื้อแขกด้วยกัน พระยาราชวังสันจึงจัดเรือให้พระยารามเดโชหนีไปได้ พระยาราชวังสันจึงต้องโทษประหารชีวิต
                เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ครั้งนั้น พระปลัดผู้รักษาเมืองนคร ฯ ตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เรียกกันเป็นสามัญว่า เจ้านคร ครองเมืองนคร ฯ อยู่ได้สามปี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เสด็จยกทัพไปตีได้เมืองนคร ฯ แล้วนำตัวเจ้านคร เข้ามาไว้ในกรุงธนบุรี และโปรดให้เจ้านราสุริยวงศ์ ไปอยู่ได้ไม่ช้าก็ถึงแก่พิราลัย สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ จึงโปรดให้เจ้านครกลับไปครองเมืองนคร ฯ อีก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๙ ได้รับสุพรรณบัฎ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช มีเกียรติยศเสมอเจ้าประเทศราช
                ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้ลดบรรดาศักดิ์เจ้านคร ลงเป็นเจ้าพระยานคร และให้ลดตำแหน่งเสนาบดีเมืองนคร ฯ  ลงเป็นกรมการ เหมือนหัวเมืองขึ้น
                ถึงแม้เมืองนคร ฯ จะได้ลดฐานะลงเป็นชั้นเมืองพระยามหานคร แล้ว แต่ก็ยังได้รับการยกย่อง ทำนองประเทศราช โดยโปรดให้ส่งต้นไม้เงินทองมาทูลเกล้า ฯ ถวาย จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๓ จึงได้เลิก
                เมืองนคร ฯ  สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีหัวเมืองขึ้นตั้งแต่เมืองชุมพร ไปจนถึงเมืองสะลังงอ เขตแคว้นมลายู ภายหลังเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๕ แยกเมืองสงขลาออกจากเมืองนคร ฯ ให้ปกครองเมืองปัตตานี กลันตัน ตรังกานู ส่วนเมืองนคร ฯ ให้ปกครองเมืองไทรบุรี และหัวเมืองตกมหาสมุทรอินเดีย ทั้งหมด
                เมืองนคร ฯ ตั้งอยู่ในย่านกลางที่ชาวต่างประเทศอาศัยผ่านไปมา จึงเป็นเมืองที่มีความเจริญมาแต่โบราณ มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก           ๑๕/ ๙๓๑๐
            ๒๗๒๘.
นครสวรรค์  จังหวัดภาคเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.กำแพงเพชร และ จ.พิจิตร ทิศตะวันออก จด จ.เพชรบูรณ์ และ จ.ลพบุรี ทิศใต้ จด จ.อุทัยธานี และ จ.ชัยนาท ทิศตะวันตก จด จ.อุทัยธานี และ จ.ตาก ภูมิประเทศตอนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำปิง น้ำยม น้ำน่าน เป็นที่ลุ่ม นอกนั้นเป็นป่าดง มีเขามาก
                จ.นครสวรรค์  เป็นเมืองโบราณ ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง  เรียกว่า
เมืองพระบาง ตั้งอยู่ในที่ดอน มีเขตตั้งแต่ชายเขาขาด ลงมาจนจดหลังตลาดปากน้ำโพ ยังมีเชิงเทินดินเป็นแนวกำแพงปรากฎอยู่ ต่อมาย้ายที่ทำการไปตั้งทางฝั่งซ้ายใต้เมืองเก่าลงมา ๘ กม. ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ จึงย้ายไปตั้งทางฝั่งขวาอีก
                เมืองนครสวรรค์ เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในการสงคราม มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาทำสงครามกับกรุงสุโขทัย ต่อมาสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ก็เป็นที่ตั้งรบทัพพม่า ซึ่งยกมาทางทิศเหนือ
                ปากน้ำโพ เป็นที่แม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน มาสบกันเกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นชุมทางการค้า บึงบรเพ็ดเป็นสถานีเพาะพันธุ์ปลา ถนนข้ามบึงหูกวาง สร้างครั้งพระเจ้าเสือครองกรุงศรีอยุธยา           ๑๕/ ๙๓๑๖
            ๒๗๒๙.
นครสวรรค์วรพินิต  เป็นพระนามจอมพล และจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ทรงเป็นองค์ที่ ๓๓ ในบรรดาพระราชโอรส และพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ และทรงมีพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี เป็นพระมารดา ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔ ได้เสด็จไปศึกษาวิชาสามัญ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ และเสด็จไปศึกษาวิชาทหารบก ณ ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.๒๔๔๖ และได้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรีราชองค์รักษ์พิเศษ นอกจากนั้นยังได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จไปสดับตรับฟังราชการแผ่นดินเป็นครั้งคราว ที่กรมราชเลขาธิการ พระองค์จึงทรงมีโอกาสรอบรู้ราชการแผ่นดินทั้งฝ่ายทหาร  และพลเรือนพร้อมกัน
                ในปี พ.ศ.๒๔๔๖ พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ทรงมียศเป็นนายพลเรือโท ในปี พ.ศ.๒๔๔๘ ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายโดยการสร้างกำลังทางเรือมีกำหนดเวลา ๑๖ ปี ใช้เงิน ๑๖๐ ล้านบาท แต่ในที่สุดไม่สามารถปฏิบัติตามโครงการนี้ได้ เพราะงบประมาณแผ่นดินไม่เพียงพอ
                    พ.ศ.๒๔๕๓ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือเป็นพระองค์แรก
                    พ.ศ.๒๔๕๔ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต
                    พ.ศ.๒๔๖๐ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นจอมพลเรือ
                    พ.ศ.๒๔๖๓ ทรงเข้ารับตำแหน่งเสนาธิการทหารบก และได้รับพระราชทานยศเป็นจอมพล
                    ในตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอภิรัฐมนตรี
                    พ.ศ.๒๔๖๘ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
                    พ.ศ.๒๔๖๙ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และเปลี่ยนเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ใน พ.ศ.๒๔๗๒ จึงได้เปลี่ยนแปลงการปกครองใน ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งในเวลานั้นทรงเป็นผู้สำเร็จราชการพระนคร ประธานอภิรัฐมนตรี และประธานเสนาบดีสภา รวมสามครั้ง สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗
                    สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์ทรงเป็นต้นตระกูล "บริพัตร ณ อยุธยา"        ๑๕/ ๙๓๑๗
            ๒๗๓๐.
นครโสเภณี  มีบทนิยามว่า "หญิงงามเมือง หญิงคนชั่ว หญิงแพศยา"
                หญิงโสเภณี มักอยู่กันเป็นกลุ่มในสถานการค้าประเวณีที่เรียกกันว่า ซ่องโสเภณี หรือตามกฎหมายเก่าเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ เรียกว่า "โรงหญิงนครโสเภณี"
                จากการศึกษาพบว่า หญิงโสเภณีกำเนิดมาจากพิธีการทางศาสนา ปฏิบัติกันอยู่ในเอเซียตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ คือหญิงสาวจะต้องกระทำพิธีสละพรหมจารีของตนเพื่อบูชาพระแม่เจ้า ผู้มีนามเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น และชายผู้ร่วมประเวณีด้วยนั้น ก็มักจะเป็นแขกแปลกหน้าที่หญิงนั้นไม่รู้จัก โดยถือกันว่าแขกแปลกถิ่นเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ และจะนำโชคลาภมาสู่ตน บางแห่งก็มีสิ่งตอบแทน บางท้องที่นักบวชหญิงร่วมกัน จัดพิธีกรรมต่าง ๆ  ทางโสเภณีถือว่าเป็นการพลีกายเพื่อศาสนา เงินที่ได้จากพิธีกรรมทางเพศส่งเข้าบำรุงศาสนา บางแห่งหญิงสาวต้องไปวัดขอให้นักบวชชายเบิกพรหมจารีให้ โดยถือว่านักบวชเป็นตัวแทนของพระเจ้า
                ต่อมาเกิดมีธรรมเนียมใหม่คือ หญิงสาวหันมาเป็นโสเภณี เพื่อสะสมทุนสำหรับสมรส และถือกันว่าหญิงที่ผ่านการเป็นโสเภณีมาแล้ว เป็นแบบอย่างของเมีย และแม่ที่ดี
                หลังสงครามโลกครั้งที่สอง องค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ยกเลิกการค้าประเวณีต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ก็ได้มีการประชุมกันร่างอนุสัญญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้น ประเทศไทยก็ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้ด้วย           ๑๕/ ๙๓๒๕
            ๒๗๓๑.
นครหลวง  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศตอนตะวันออกของแม่น้ำป่าสักเป็นที่ดอน ส่วนทางตะวันตกเป็นที่ลุ่ม
                อ.นครหลวง สมัยอยุธยาร่วมการปกครองอยู่ใน
แขวงขุนนคร เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ยกกรุงเก่าเป็นเมืองจัตวา แล้วเปลี่ยนชื่อแขวงขุนนครเป็นแขวงนคร ต่อมาในรัชกาลที่สามได้แยกแขวงนครออกเป็นแขวงนครใหญ่ และแขวงนครน้อย ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้แบ่งแขวงนครตอนใต้เป็น อ.นครกลาง จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๖ เปลี่ยนชื่อ อ.นครกลาง เป็น อ.นครหลวง ตามชื่อที่ประทับเดิม
                ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ.๒๑๗๔ เขมรซึ่งตั้งตัวเป็นอิสระมาแต่ต้น รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้กลับมาขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาอีก จึงโปรดให้สร้างพระนครหลวงขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำป่าสักฝั่งขวา เป็นที่ประทับร้อนตามระยะทางไปท่าเรือพระพุทธบาท           ๑๕/ ๙๓๓๗
            ๒๗๓๒.
นครอินทร์  เป็นชื่อขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายมอญผู้หนึ่ง เดิมชื่อมะสะลุม เป็นทหารเอกของสมิงสามพลัด เจ้าเมืองแปร ผู้ซึ่งยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าราชาธิราช ต่อมามะสะลุมได้มีเรื่องบาดหมางกับสมิงสามพลัด จึงเข้ามาถวายตัวต่อพระเจ้าราชาธิราช มีตำแหน่งเป็นทหารรักษาพระองค์มีฝีมือ มะสะลุมได้แสดงฝีมือครั้งแรก เมื่อมะกราน เจ้าเมืองกรานยกทหารมาตีปล้นกองทัพพระเจ้าราชาธิราช มะสะลุมทำอุบายออกไปตัดศีรษะมะกรานมาถวาย จึงได้ไปกินเมืองคล้า และให้เป็นเจ้าสมิงนครอินทร์
                พระเจ้าราชาธิราชทรงโปรดสมิงนครอินทร์ว่าเป็นผู้มีฝีมือ ต่อมาสมิงนครอินได้รบชนะ มังมหานรธา แม่ทัพพม่า พระเจ้าราชาธิราช ไปรดพระราชทานเงินรางวัลเป็นอันมาก ต่อมาสมิงนครอินทร์ได้ลอบเข้าไปในที่บรรทมของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องในตอนกลางคืน แต่ไม่ฆ่าพระองค์ เพียงแต่เอาพระแสงกับพานพระศรีที่ข้างพระบรรทม มาถวายพระเจ้าราชาธิราช การกระทำของสมิงนครอินทร์ทำให้พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องสมพระทัย จึงมีพระราชสาน์ขอดูตัว พระองค์ทรงชมว่าสมิงนครอินทร์รูปงาม สมควรเป็นทหารมีลักษณะซื่อสัตย์ หาผู้เสมอยาก แล้วพระราชทานพระธำมรรค์ปัทมราชกับเครื่องม้าทองคำสำรับหนึ่ง
                สมิงนครอินเป็นกำลังของพระเจ้าราชาธิราชในการรบกับพม่ามาตลอด จนกระทั่งพม่ากับมอญเป็นไมตรีกันเป็นเวลา ๒๒ ปี ต่อมามังกะยอฉะวา ราชโอรสของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เริ่มทำสงครามกับพระเจ้าราชาธิราชอีก และได้คิดอุบายจับสมิงนครอินทร์ได้ และถึงแก่ความตายในสามวันต่อมา พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจัดตั้งโกศให้สมิงนครอินทร์แบบโกศกษัตริย์ แล้วใส่เรือขนานลอบไปให้พระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าราชาธิราชทรงจัดการพระราชทานเพลิง เก็บอิฐิใส่ผอบทองประดับพลอยไปบรรจุที่พระมุเตา แล้วให้หล่อรูปสมิงนครอินทร์ด้วยสำริด แล้วยกไปตั้งไว้บนตำหนัก ทำผลีกรรมบวงสรวงทุกวันมิได้ขาด           ๑๕/ ๙๓๓๘
            ๒๗๓๓.
นครินทราธิราช - สมเด็จพระ  ทรงมีพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า สมเด็จพระอินทราธิราช เป็นเจ้าแห่งราชวงศ์สุวรรณภูมิ เป็นพระราชนัดดาของ สมเด็จพระบรมราชาที่หนึ่ง เป็นโอรสของพระอนุชาและเป็นเจ้าเมืองสุพรรณบุรีมาก่อน พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่หก ครองราชย์อยู่ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๕๒ - ๑๙๖๗
                พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา พระองค์แรกที่ได้เสด็จไปถึงราชสำนักพระเจ้ากรุงจีน แห่งราชวงศ์เหม็ง ณ เมืองนานกิง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๐ ในรัชสมัยของพระองค์โปรดให้แต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี ถึงเมืองจีนหลายครั้ง และชาวจีนได้มาตั้งภูมิลำเนาไปมาค้าขายในเมืองไทยมากขึ้น ได้มาตั้งเตาเผาเครื่องถ้วยชามใน จ.สิงห์บุรี เป็นเตาแบบเดียวกับที่เมืองสุโขทัย และสวรรคโลก
                พระองค์มีราชโอรสสามองค์ ให้ไปครองเมืองต่าง ๆ กันคือ เจ้าอ้ายพระยา ครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยา ครองเมืองแพรก และเจ้าสามพระยา ครองเมืองชัยนาท           ๑๕/ ๙๓๔๑
            ๒๗๓๔.
นนท์  เป็นชื่อยักษ์ ในหนังสือเทศน์ภาคอีสาน เรื่อง "รามชาดก" ซึ่งเปรียบเหมือนรามเกียรติ์ภาคอีสาน หรือบางทีเรียกว่า รามายณลาว นนท์เป็นยักษ์มีหน้าที่เฝ้าประตูเมืองของพญาไอศวร (พระอิศวร)  ปู่พระยารามราช มีนิ้วเพชรศักดิ์สิทธิ์ ชี้ใครต่อใครตายไปเป็นอันมาก นางทิพโสต ลูกสาวคนธรรพ์ต้องมาปราบ โดยชวนให้รำกับนาง เมื่อนางเอานิ้วชี้เข้าที่ตัวเอง นนท์ก็ชี้ตามเลยถึงแก่ความตาย   (ดู นนทุก - ลำดับที่ ๒๗๑๓... ประกอบ)           ๑๕/ ๙๓๔๓
            ๒๗๓๕.
นนทบุรี  จังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือ จด จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี ทิศตะวันออก จด จ.ปทุมธานี และกรุงเทพ ฯ ทิศใต้จดกรุงเทพ ฯ ทิศตะวันตก จด จ.นครปฐม ภูมิประเทศเป็นที่ราบโดยมากเป็นส่วนใหญ่ ไม้ยืนต้น ทางทิศตะวันตก ตลอดขึ้นไปทางเหนือเป็นทุ่งนา หน้าน้ำ น้ำท่วมตลอด
                ในจังหวัดนี้ มีชาวไทยเชื้อสายมอญอยู่มากแถว อ.ปากเกร็ด  ซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๗ คราวหนึ่ง กับเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๘ อีกคราวหนึ่ง เรียกว่า มอญใหม่ โปรดให้แบ่งครัวไปอยู่เมืองปทุมธานีบ้าง เมืองนนทบุรีบ้าง และเมืองนครเขื่อนขันธ์บ้าง
                ชาวไทยอิสลามตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ต.บางกระสอ และที่บ้านตลาดแก้ว ใน ต. บางตะนาวศรี อ.เมือง ฯ มีเชื้อสายเป็นชาวปัตตานี มาอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ไทยอิสลามที่ ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด เป็นเชื้อสายชาวไทรบุรี เข้ามาอยู่ในรัชกาลที่สาม
                ชาวไทยเมืองตะนาวศรี เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.ตะนาวศรี อ.เมือง ฯ ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร พ.ศ.๒๓๐๒  ครั้งทัพไทยไปตั้งรวมพลอยู่ที่แก่งตูม นอกเขตไทย ต้นน้ำตะนาวศรี พม่ายกทัพจะมาตีชาวตะนาวศรี ก็หนีเข้ามา
                จ.นนทบุรี ตั้งในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ราวปี พ.ศ.๒๐๙๒ คือ ยก
บ้านตลาดขวัญขึ้นเป็นเมืองนนทบุรี ตัวเมืองเดิมบัดนี้เรียก ต.บางกระสอ อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๗๙ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้ขุดคลองแต่ปากน้ำ อ้อมมาทะลุปากคลองบางกรวย ยาว ๕ กม. ภายหลังกลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยา สมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดให้สร้างป้อมขึ้นไว้ตรงปากคลองแม่น้ำอ้อม ในปี พ.ศ.๒๒๐๘ แล้วย้ายเมืองนนทบุรีไปตั้ง ณ ที่นั้น อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา
                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เจ้าเมืองนนทบุรีคนแรกไปจอดแพอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเลื่อนศาลากลางไปตั้งที่ปากคลองบางซื่อฝั่งใต้ ที่เป็นท่าเรือตลาดขวัญบัดนี้ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๑ จึงย้ายศาลากลางมาอยู่ที่บางขวาง
                จ.นนทบุรี มีสิ่งสำคัญคือ วัดเขมาภิรตาราม เป็นวัดโบราณเดิมชื่อ
วัดเขมา วัดปรมัยยิกาวาส ที่ ต.ปากเกร็ด เดิมชื่อวัดปากอ่าว เป็นวัดโบราณ วัดชัยพฤกษ์ เป็นวัดโบราณ ร้างอยู่จึงได้รื้อเมื่อรัชกาลที่หนึ่ง           ๑๕/ ๙๓๔๓
            ๒๗๓๖.
นนทรี   เป็นไม้ต้นใหญ่ แผ่กิ่งก้านไพศาลเปลือกมีรสฝาดมาก ใบคล้ายใบหางนกยูง หรือใบกระถิน แต่โตกว่า ดอกออกเป็นช่อใหญ่บ้างเล็กบ้าง กลีบดอกชั้นในสีเหลืองสด งามมาก ฝักเป็นรูปโล่ห์ สีเหลือบทองแดง           ๑๕/ ๙๓๔๖
            ๒๗๓๗.
นนทุก หรือนนทก  เป็นชื่อยักษ์ นับอยู่ในอสูรเทพบุตร มีเรื่องปรากฎในรามเกียรติ์ของไทยว่า เป็นยักษ์ที่ถูกพระนารายณ์ฆ่าตาย แล้วกลับชาติมาเกิดเป็นทศกัณฐ์ คือ ราพนาสูร เจ้ากรุงลงกา ทำให้พระนารายณ์ ต้องอวตารลงมาเกิดเป็นพระราม เพื่อปราบปรามอีกครั้งหนึ่ง           ๑๕/ ๙๓๔๖
            ๒๗๓๘.
นนทุกปกรนัม  เป็นหนังสือรวมนิทานโบราณ ๒๕ เรื่อง ดำเนินเรื่องแบบนิทานซ้อนนิทาน เช่น หิโตปเทศ หนังสือเล่มนี้เข้าใจว่า มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
                นิทานต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้เป็นนิทานสันสกฤตบ้าง นิทานชาดกภาษาบาลีบ้าง และเป็นนิยายพื้นบ้าน พื้นเมืองของอินเดีย หรือที่อื่นบ้าง           ๑๕/ ๙๓๔๘
            ๒๗๓๙.
นพเคราะห์ ๑  เป็นดาวเคราะห์ทั้งเก้า ซึ่งโคจรรอบดวงอาทิตย์ อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ตามลำดับคือ พุธ ศุกร์ โลก อังคาร พฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส เนปจูน และพลูโต คนบนโลกสามารถมองเห็นดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ได้ด้วยตาเปล่า เว้นดาวยูเรนัส เนปจูน และพลูโต
                ดาวเคราะห์เป็นดาวพเนจร และเป็นบริวารส่วนหนึ่งของระบบสุริยะ ทางโคจรเป็นวงรี เมื่ออยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่เร็วกว่า เมื่อยู่ไกลดวงอาทิตย์ โลกจึงเคลื่อนตัวเร็วที่สุด ในต้นเดือนมกราคม และเคลื่อนช้าที่สุด ในต้นเดือนกรกฎาคม           ๑๕/ ๙๓๔๙
            ๒๗๔๐.
นพเคราะห์ ๒  เป็นคำเรียกดาวเก้าดวง คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์ และเสาร์ ในทางโหราศาสตร์มีชาวเคราะห์ชั้นเดิมเพียงแปดดวง เรียกว่า "อัฐเคราะห์" ต่อมามีดาวที่คำนวณแบบใหม่ ตามคัมภีร์สุริยาตรอีกสองดวงคือ ดาวเกตุ และดาวมฤตยู รวมเป็นสิบ แบ่งย่อยออกเป็นสองพวกคือ ฝ่ายใหญ่คุณ เรียกว่า ศุภเคราะห์ ฝ่ายให้โทษ เรียกว่า บาปเคราะห์ ดาวเคราะห์ทั้งหลายโคจรเป็นอุตราวัฎ แต่ราหูกับเกตุเดินสวนทางเป็นทักษิณาวัตร
            ๒๗๔๑.
นพบุรี  ในเรื่องรามเกียรติ์ว่าเป็นเมืองใหม่ ที่พระรามสร้างประทานพญาอนุชิตคือ หนุมาน เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้ว เมืองนี้เดิมเป็นที่ภูเขาเก้ายอด เรียกว่า นพคีรี เมื่อพระรามแผลงศรหาที่สร้างเมืองให้หนุมาน ศรตกลงตรงนี้ ทำลายภูเขาทั้งเก้านั้นเตียนราบหมด พญาอนุชิตก็ลงไปเอาหางกวาดให้เป็นกำแพงกั้นเขตแดนไปทั่วทิศ
                เรื่องเมืองนพบุรีนี้ ในเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่หนึ่ง กล่าวถึงเมืองลพบุรี มีความหมายคล้าย ๆ กันว่า เมืองลพบุรีเดิมเรียกว่า นพบุรี เพราะมีเขาเก้ายอด
                อนึ่ง เมืองนพบุรีนี้ว่าเป็นชื่อเดิมของเมืองเชียงใหม่ เพราะมีประวัติกล่าวความตอนหนึ่งว่า เชียงใหม่ เป็นเมืองเก่าก่อนสมัยสุโขทัย เดิมชื่อเมืองระเมิง ตำนานบางเล่มเรียกเมืองนพบุรี เข้าใจว่าอยู่บริเวณวัดเจดีย์เจ็ดยอด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๙ พระเจ้าเมงราย ได้สร้างขึ้นอีกเมืองหนึ่งต่อจากเมืองระเมิง มาทางใต้เรียกว่า เมืองเชียงใหม่            ๑๕/ ๙๓๖๐
            ๒๗๔๒.
นพพวง  เป็นวิธีฝึกหัดเลขโบราณอย่างหนึ่ง ก่อนจะไปเรียนโคศัพท์ ซึ่งเป็นวิธีหารเลขของไทย ( ดู โคศัพท์ - ลำดับที่ ๑๒๑๑)            ๑๕/ ๙๓๖๒
            ๒๗๔๓.
นพพัน  เป็นวิธีฝึกหัดเลขโบราณอย่างหนึ่ง ก่อนจะไปเรียนโคศัพท์ ซึ่งเป็นวิธีหารเลขอย่างหนึ่งของไทย  (ดู โคศัพท์... ลำดับที่ ๑๒๑๑)           ๑๕/ ๙๓๖๒
            ๒๗๔๔.
นพมาศ - นาง  เป็นชื่อสตรีผู้หนึ่ง ซึ่งต่อมาได้เป็นพระสนมของพระร่วงเจ้า แห่งกรุงสุโขทัย นางเป็นธิดาของพราหมณ์ มีตำแหน่งเป็นที่พระศรีมโหสถ ได้รับการศึกษาอบรมอย่างดีจากบิดา จนนับได้ว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดรู้ ปราชญ์ ทั้งคดีโลกและคดีธรรม
            นางได้เป็นพระสนม เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี พอถึงการพระราชพิธีจองเปรียง ในวันเพ็ญ เดือนสิบสอง เป็นนักขัตฤกษ์ชักโคม ลอยโคม นางนพมาศคิดทำโคมลอยตกแต่งให้งามกว่าของผู้อื่น เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระราชดำรัสว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า ถึงกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือนสิบสอง พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการะพระพุทธบาท ที่นัมมนานที ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า
ลอยกระทงทรงประทีป           ๑๕/ ๙๓๖๐
            ๒๗๔๕.
นพรัตน์  คือ แก้วเก้าอย่าง อันได้แก่ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดาหาร เพทาย ไพฑูรย์  เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งมีชื่อเรียกเต็มว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคล นพรัตน์ราชวราภรณ์ (ดู เครื่องราชอิสิรยาภรณ์ ลำดับที่ ๑๑๒๘)           ๑๕/ ๙๓๖๔
            ๒๗๔๖.
นม ๑  เป็นคำนำมาใช้ผสมกับคำอื่นแล้ว ใช้เรียกชื่อพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ สุดแต่ละท้องถิ่นในประเทศไทย แยกได้เป็นสองนัยด้วยกันคือ พันธุ์ไม้มีดอก หรือผล ลักษณะสัณฐานคล้ายเต้านมของมนุษย์ หรือสัตว์ อย่างหนึ่ง กับพันธุ์ไม้เถา ที่มีใบค่อนข้างใหญ่ เป็นมัน หรือไม่ก็ใบหนาค่อนข้างจะอวบน้ำ แล้วน้ำยางสีขาวคล้ายสีน้ำนม อีกอย่างหนึ่ง            ๑๕/ ๙๓๖๔
            ๒๗๔๗.
นม ๒  อวัยวะของร่างกายอยู่บริเวณหน้าอก มีสองเต้า เรียกเต้านม เมื่อเข้าวัยหนุ่มสาวเด็กหนุ่มนมจะตีขึ้น เรียกว่า นมแตกพาน เด็กสาวเมื่อเริ่มมีประจำเดือน นมจะมีการเจริญเติบโตขึ้นจนเห็นได้ชัด เมื่อย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เต้านมจะมีขนาดเล็กลง           ๑๕/ ๙๓๖๔
            ๒๗๔๘.
นมควาย  เป็นพันธุ์ไม้พุ่มรอเลื้อย เมื่อเลื้อยแล้วกลายเป็นไม้เถาใบใหญ่ ดอกออกเป็นช่อ ตามซอกใบ หรือตามกิ่งใกล้ ๆ ใบ รูปร่างดอกคล้ายนมสัตว์            ๑๕/ ๙๓๖๗
            ๒๗๔๙.
นมชะนี  เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยเถาใหญ่ เป็นพันธุ์ไม้จำพวกกระดังงาจีน และการะเวก  (ดู การะเวก - ลำดับที่... และกระดังงาจีน ลำดับที่ ๗๘) เป็นไม้เถามีหนามแข็ง ใบเป็นมัน ดอกเวลาตูม มีรูปคล้ายเต้านมเล็ก ๆ            ๑๕/ ๙๓๖๗
            ๒๗๕๐.
นมช้าง  เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยเถาใหญ่ และอยู่ในสกุลเดียวกับนมควาย แต่ใบใหญ่กว่านมควายมาก ดอกค่อนข้างโต มองดูคล้ายเต้านมเต่ง ๆ ผลเป็นช่อเวลาสุก ดูคล้ายกล้วยหวีเล็ก ๆ บริโภคได้            ๑๕/ ๙๓๖๗
            ๒๗๕๑.
นมตำเรีย  (ดู นมตำเลีย - ลำดับที่ ๒๗๕๑)           ๑๕/ ๙๓๖๘
            ๒๗๕๒.
นมตำเลีย  เป็นไม้เถา ลำเถากลม ใบหนาอวบน้ำเกิดตรงกันข้าม มีน้ำยางสีขาว ดอกออกเป็นช่อ ตามซอกใบ ช่อคล้ายดอกผักชี           ๑๕/ ๙๓๖๘
            ๒๗๕๓.
นมนาง - หอย  ใหญ่กว่าหอยนมสาว เปลือกเป็นมุกงามมาก นิยมทำทำเป็นเครื่องประดับ           ๑๕/ ๙๓๖๘
            ๒๗๕๔.
นมพิจิตร  เป็นพันธุ์ไม้เถา เอามาปลูกเก็บผลบริโภคได้           ๑๕/ ๙๓๖๘
            ๒๗๕๕.
นมแมว  เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง แตกกิ่งก้านมากจนทึบ ใบยาวรี ออกเฉลียงกัน ดอกออกเดี่ยว ๆ ใกล้ ๆ ช่อใบ หรือซอกใบสีน้ำตาลอ่อนเกือบนวล รูปคล้ายเต้านมเล็ก ๆ บานเวลาเย็นมีกลิ่นหอม            ๑๕/ ๙๓๖๘
            ๒๗๕๖.
น.ม.ส.  เป็นนามปากกาของกวีเอก นักประพันธ์และปาฐก ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของไทย คำว่า น.ม.ส.ย่อจากพระนามของพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ผู้เป็นต้นสกุล "รัชนี"  มีพระอิสริยศักดิ์เป็น พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๒๒ ในกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ห้า ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙  สิ้นพระชนม์ปี พ.ศ.๒๔๘๘
                น.ม.ส. โดยเสด็จรัชกาลที่ห้า ในการเสด็จประพาสยุโรป ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ และได้ศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อเสด็จกลับในปี พ.ศ.๒๔๔๒ ได้มาช่วยราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติตามเดิม ได้รับเลื่อนชั้นสูงขึ้นตามลำดับที่สำคัญคือ ปลัดกรมธนบัตร ต่อมาทรงเป็นอธิบดีกรมกษาปณ์สิทธิการ ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ทรงย้ายไปเป็นอธิบดีกรมตรวจและกรมสารบาญชี (ต่อมาเปลี่ยนเป็น กรมบัญชีกลาง)
                ในรัชกาลที่หก ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี พ.ศ.๒๔๕๖ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าทรงกรม เป็นพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ศักดินา ๑๑,๐๐๐ พ.ศ.๒๔๕๘ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพาณิชยและสถิติพยากรณ์ ได้ทรงตั้งการสหกรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น รองเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ ในปี พ.ศ.๒๔๖๔
                ในรัชกาลที่เจ็ด ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอุปนายกกรรมการ หอพระสมุด สำหรับพระนคร ต่อมาได้รวมเข้ากับกรมศิลปากร เปลี่ยนชื่อเป็น ราชบัณฑิตสภา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ทรงได้รับเลือกให้เป็น นายกสภาองคมนตรี รวมเวลารับราชการ ๔๐ ปี
                พระนิพนธ์ชิ้นสุดท้ายอันนับว่าเป็นผลงานดีเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งของ น.ม.ส.คือ กวีวัจนะเรื่อง
สามกรุง เป็นงานร้อยกรองที่รวมประเภทต่าง ๆ ของคำประพันธ์ร้อยกรองทุกชนิดเข้าไว้ในเล่มเดียวกัน นิพนธ์จบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗           ๑๕/ ๙๓๖๙
            ๒๗๕๗.
นมสวรรค์  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๑ - ๒ เมตร ใบใหญ่ ออกตรงข้ามกัน ช่อดอกออกทางยอด ตั้งตรงยาว ๑๕ - ๓๐ ซม. มีรูปทรงแบบสามเหลี่ยม แตกกิ่งแขนงโปร่งสีแดง ตัวดอกเป็นหลอดเรียงยาว ๑.๕ - ๒ ซม. ผลเล็กมีเนื้อหนาเล็กน้อย           ๑๕/ ๙๓๗๖
            ๒๗๕๘.
นมสาว - หอย  มีรูปร่างม้วนเป็นวง ตอนปากใหญ่ปลายแหลม ขนาดเล็กกว่าหอยนมนาง เปลือกเป็นมุก ใช้ทำกระดุม           ๑๕/ ๙๓๗๗
            ๒๗๕๙.
นฺยายะ  เป็นชื่อปรัชญาอินเดียสาขาหนึ่ง จัดอยู่ในปรัชญาสายพระเวท หกสำนัก
                คำว่า นฺยายะ แปลว่า นำไปสู่ธรรม คือ ความแท้จริง หมายถึง วิธีการหาเหตุผล เพื่อพิสูจน์ความแท้จริง ชื่อและเนื้อหาของปรัชญานี้ มาจาก "นฺยายสูตร"  ของมหาฤาษีโคดม ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นผู้ก่อตั้งปรัชญานี้ขึ้น เมื่อราวต้นพุทธกาล หรือก่อนนั้นเล็กน้อย  ปรัชญานยายะ พัฒนามาพร้อม ๆ กับปรัชญาไวเศษิกะ พยายะพัฒนาไปทางญาณวิทยาและตรรกศาสตร์ ส่วนไวเศษิกะพัฒนาไปทางอภิปรัชญา และปรัชญาทั้งสองนี้ก็รับเอาทรรศนะของกันและกัน เมื่อกล่าวเฉพาะปรัชญาสำคัญของนยายะก็อาจบ่งออกเป็นสี่สาขาคือ ญาณวิทยา ตรรกศาสตร์ อภิปรัชญา และจริยศาสตร์         ๑๕/ ๙๓๗๗
            ๒๗๖๐.
นรก  มีบทนิยามว่า "โลกเป็นที่ลงโทษผู้ทำบาปเมื่อตายไปแล้ว" ในพระพุทธศาสนาจัดเป็นอบายภูมิ ข้อที่หนึ่ง ในอบายภูมิสี่ (นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน) ลักษณะนามเรียกว่า ขุม นรกมี ๔๕๗ ขุม คือ มหานรก ๘ ขุม อุสสุทนรก ๑๒๘ ขุม ยมโลกนรก ๓๒๐ ขุม โลกันตนรก ๑ โลกันตนรกเป็สนนรกขุมพิเศษอยู่นอกจักรวาล อยู่ระหว่างกลางโลกจักรวาลสามโลก (โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ โลกนรก)  ๑๕/ ๙๓๘๖
            ๒๗๖๑.
นรกาสูร  อสูร ชื่อ "นรก"  เป็นพญาอสูรที่ร้ายกาจตนหนึ่ง มีเรื่องปรากฎทั้งในมหาภารตะ และคัมภีร์ปุราณะต่าง ๆ ตลอดจน หริว ํศ           ๑๕/ ๙๓๘๙
            ๒๗๖๒.
นรรมทา  เป็นชื่อแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของอินเดีย ถือกันว่าเป็นแม่น้ำที่แบ่งเขตแดนระหว่างอินเดียภาคเหนือ หรือฮินดูสตาน กับอินเดียภาคใต้ ตั้งแต่ที่ราบสูงเดคกันลงมา ต้นกำเนิดจากทิวเขาไมกลา ในมัธยมประเทศ แล้วไหลผ่านหุบผาระหว่างทิวเขาวินธัย กับทิวเขาสัตปุระ มุ่งไปทิศตะวันตกลงสู่อ่าวบอมเบย์ รวมความยาว ๑,๒๘๐ กม.
                แม่น้ำนี้ได้รับความนับถือจากชาวฮินดู ว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์อันดับสองรองจากแม่น้ำคงคา ในวรรณคดีบาลีแม่น้ำนัมมทา จัดอยู่ในประเภทกุนนที หรือแม่น้ำน้อย แต่มีความสำคัญเพราะบนพื้นทรายแห่งหนึ่ง ที่ท้องน้ำมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ มีกล่าวอ้างถึงในหนังสือเรื่องนางนพมาศ           ๑๕/ ๙๓๙๐
            ๒๗๖๓.
นรสิงห์  เป็นบุรุษครึ่งคนครึ่งสิงห์ เป็นอวตารปางที่สี่ของพระนารายณ์ ในสมัยกฤดายุค ซึ่งเป็นยุคแรกในสี่ยุคของโลก เพื่อปราบพญาอสูรชื่อ หิรัญยกศิปุ            ๑๕/ ๙๓๙๓
            ๒๗๖๔.
นรสิงหาวตาร  อวตารปางที่สี่ของพระนารายณ์  (ดู นรสิงห์ - ลำดับที่ ๒๗๖๐)           ๑๕/ ๙๓๙๔
            ๒๗๖๕.
นราธิปประพันธ์พงศ์ - พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ  เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๕๖ ในรัชกาลที่ห้า และเจ้าจอมมารดาเขียน ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๔ ทรงมีพระนามว่า พระองค์เจ้าชายวรวรรณากร ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒ ได้ทรงรับราชการสืบต่อมา จนได้ดำรงตำแหน่งรองเสนาบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ
                ในรัชกาลที่หก พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็น กรมพระ ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐  พระองค์ทรงมีโอรส และธิดา รวม ๓๔ พระองค์  ทรงเป็นต้นสกุล "วรวรรณ" และสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ พระชนมายุ ๖๙ พรรษา ทรงเชี่ยวชาญในการประพันธ์หนังสือ บทความเรื่องสั้น และบทละครทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง รวมทั้งที่เป็นสารคดี และบรรเทิงคดี นอกจากนี้ยังทรงแปลและดัดแปลงหนังสือภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทยอีกด้วย รวมทั้งสิ้นราวร้อยเรื่อง           ๑๕/ ๙๓๙๔
            ๒๗๖๖.
นราธิปพงศ์ประพันธ์ - พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่น  ทรงเป็นบุคคลสำคัญของเมืองไทยและของโลก ทรงเป็นนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ นักการทูต และนักเขียน
                พระองค์มีพระนามเดิม หม่อมเจ้า วรรณไวทยากร ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ เป็นโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ในรัชกาลที่สี่ ได้เสด็จไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๔๘ ในวิชาการทูต ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้เสด็จไปศึกษาวิชาการทูตที่วิทยาลัยรัฐศาสตร์ ณ กรุงปารีส เสด็จกลับมารับราชการ ณ กระทรวงการต่างประเทศ ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นองคมนตรี รับปรึกษาราชการในส่วนพระองค์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๗ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ
                ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๙ - ๒๔๗๓  พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ในเวลาเดียวกัน ทรงดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ไปร่วมประชุมสมัชชาสันนิบาตชาติ ที่นครเจนีวา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้ทรงกลับเข้ารับราชการ ในกระทรวงการต่างประเทศดังเดิม
                พ.ศ.๒๔๘๒ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า และในปี พ.ศ.๒๔๘๖ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร
                หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงประสบผลสำเร็จในการเจรจาให้ประเทศไทย ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ทรงกลับเข้ารับราชการตามเดิม ในตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน และผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ
                พ.ศ.๒๔๙๕  ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระองค์เป็น เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า "พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ และในปีต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น พลตรี
                พ.ศ.๒๔๙๕  ได้ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
                พ.ศ.๒๔๙๙ - ๒๕๐๐ ทรงรับตำแหน่งเป็นประธานสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ
                พ.ศ.๒๕๐๒ - ๒๕๑๐ ทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แม้ว่าพระองค์ทรงมีพระชนมายุเกือบ ๘๐ พรรษา พระองค์ก็ยังทรงรับใช้ประเทศชาติอยู่ตลอดมา พระองค์ทรงเป็นนายกราชบัณทิตยสถานคนแรก และได้เป็นต่อมาอีกหลายสมัย จนพระชนมายุได้ ๘๔ พรรษา และสิ้นพระชนมม์เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๑๙ พระชนมายุได้ ๘๕ พรรษา           ๑๕/    ๙๓๙๘
            ๒๗๖๗.
นราธิวาส  จังหวัดภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ปัตตานี ทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ทิศใต้จดรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตกจด จ.ยะลา ภูมิประเทศเป็นที่ราบมีป่าและเขา
                จังหวัดนี้เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อำเภอบางนรา ขึ้นเมืองสายบุรี แล้วโอนไปขึ้นเมืองระแงะ ครั้นปี พ.ศ.๒๔๔๕ ได้ย้ายศาลากลางเมืองระแงะ ไปตั้งที่ อ.บางนรา เรียกว่า เมืองบางนรา แล้วตั้งเมืองระแงะเป็นอำเภอ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเมืองนราเป็นนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘           ๑๕/   ๙๔๐๙
            ๒๗๖๘.
นรินทร์ธิเบศร์ - นาย  เป็นบรรดาศักดิ์ของมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวร นายนรินทร์ธิเศร์ ผู้นี้มีนามเดิมว่า "อิน" อยู่ในรัชกาลที่สอง ได้รับพระราชทานยศเป็นหุ้มแพร นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) ได้แต่งโคลงที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ "โคลงนิราศนรินทร์" แต่งขึ้นเมื่อครั้งตามเสด็จสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จยกทัพหลวงไปปราบพม่า ซึ่งยกมาตีเมืองถลางและเมืองชุมพร เมื่อต้นรัชกาลที่สอง           ๑๕/ ๙๔๑๐
            ๒๗๖๙.
นริศรานุวัตติวงศ์ - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า กรมพระยา  เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๒ ในรัชกาลที่สี่ ประสูติเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๖ ภายหลังลาผนวชสามเณรในปี พ.ศ.๒๔๑๙ แล้วได้เข้ารับราชการเป็น "คะเด็ดมหาดเล็ก" หรือนักเรียนนายร้อยในกรมทหารมหาดเล็ก สำเร็จการศึกษาออกรับราชการเป็นนายทหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑ ต่อมาทรงเป็นเสนาบดีสี่กระทรวง ทรงเป็นนักการทหาร นักการโยธาและก่อสร้าง ผู้นำและวางรากฐานกิจการรถไฟของชาติ นักการคลัง และผู้นำทางวัฒนธรรมและระเบียบประเพณี อภิรัฐมนตรี ที่ปรึกษาสูงสุด อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐบุรุษผู้ทรงพระปรีชาสามารถยอดเยี่ยม นักวิชาการหลายด้านทั้งอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ยอดศิลปิน ปรมาจารย์และจอมปราชญ์แห่งศิลปะหลายสาขา
               พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโยธาธิการเป็นพระองค์แรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ทรงเลื่อนขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ทรงริเริ่มสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ ฯ - นครราชสีมา พระองค์ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (พ.ศ.๒๔๓๕ - ๒๔๓๗) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม (พ.ศ.๒๔๓๗ - ๒๔๓๙)  แล้วย้ายไปเป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการในปี พ.ศ.๒๔๔๒ ทรงกลับมาเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมอย่างเดิม แล้วทรงย้าายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๘ จึงย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง (พ.ศ.๒๔๔๘ - ๒๔๕๓)
                พ.ศ.๒๔๔๘ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระศักดินา ๕๐,๐๐๐
                ในรัชกาลที่เจ็ด พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอภิรัฐมนตรี และทรงดำรงตำแหน่งนี้ จนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕
                หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เสด็จไปประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ตอนปลายปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จ ฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
                ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ พระองค์ได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นสมเด็จ ฯ พรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ พระชนมายุได้ ๘๓ พรรษา           ๑๕/ ๙๔๑๑
            ๒๗๗๐.
นเรศวร - สมเด็จพระ  ทรงเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตรี ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๘ ณ เมืองพิษณุโลก
                สงครามคราวขอช้างเผือกในปี พ.ศ.๒๑๐๖ ซึ่งเป็นสงครามกับพม่าครั้งที่สองในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ์ ไทยต้องยอมรับเป็นไมตรีกับพม่า ครั้งนั้นพระเจ้าบุเรงนองได้ขอพระนเรศวรไปอยู่ ณ กรุงหงสาวดี เพื่อทรงเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรม พระนเรศวรต้องประทับ ณ กรุงหงสาวดีเป็นเวลา ๖ ปี จึงได้กลับมาเมืองไทย ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครังแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ พระองค์มีพระชันษาได้ ๑๕ ปี
                เมื่อตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว พระเจ้าบุเรงนอง โปรดให้ทำพิธีปราบดาภิเษกพระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แทนสมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้นสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงประกาศอิสระภาพของไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๗ สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ทรงครองราชย์ ต่อมาจนสวรรคตในปี  พ.ศ.๒๑๓๓ สมเด็จพระนเรศวร ฯ จึงได้ขึ้นครองราชย์ และได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราช โดยทรงยกย่องให้มีเกียรติเสมอพระเจ้าแผ่นดิน
                สมเด็จพระนเรศวร ฯ ต้องเผชิญสงครามกับพม่าหลายครั้ง แต่พม่าพ่ายแพ้ไปทุกครั้งคือในปลายปี พ.ศ.๒๑๒๗ ไทยรบชนะพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณบุรี
                พ.ศ.๒๑๒๘ ไทยรบชนะพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ
                พ.ศ.๒๑๒๙ พระเจ้านันทบุเรงยกกองทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา แต่ต้องล่าถอยกลับไป ในครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงดาบพระแสงดาบคาบค่าย นำทหารเข้าตีค่ายพระเจ้าหงสาวดี
                พ.ศ.๒๑๓๓ พระมหาอุปราชาคุมทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงดักซุ่มตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป
                พ.ศ.๒๑๓๕ พระเจ้านันทบุเรงให้พระมหาอุปราชายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้กระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ที่บริเวณหนองสาหร่าย แขวงเมืองสุพรรณบุรี พระองค์ได้จ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ถูกพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์           ๑๕/ ๙๔๒๐
                เพื่อเป็นอนุสรณ์ในชัยชนะครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวร ฯโปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่ง ณ ที่นั้น ปัจจุบันเรียกว่า
อนุสรณ์ดอนเจดีย์ ณ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
                ก่อนที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ จะยกทัพไปตีพม่าเป็นการตอบแทนพร้อมกับขยายอาณาเขตของไทย พระองค์โปรดให้กลับตั้งหัวเมืองเหนือขึ้นดังเดิม และปราบเสี้ยนหนามศัตรูให้ราบคาบ ทรงเห็นว่าเขมรเป็นศัตรูที่ลอบยกกองทัพมาเบียดเบียนบุกรุกหัวเมืองไทยหลายครั้ง ในขณะที่ไทยต้องทำศึกสงครามด้านอื่น ๆ พระองค์จึงยกทัพไปตีเมืองละแวกราชธานีเขมรในเวลานั้น เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองมั่นคงแล้ว สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงยกทัพไปตีพม่าสองครั้งคือ
                ครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๑๓๘ พระองค์ทรงยกทัพไปตีกรุงหงสาวดี ตั้งล้อมอยู่สามเดือนแต่ตีไม่ได้ ต้องเลิกทัพกลับ
                ครั้งที่สอง ในปี พ.ศ.๒๑๔๒ ในเวลานั้นพระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อ ซึ่งเป็นราชบุบตรพระเจ้าบุเรงนอง ยอมอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระนเรศวร ฯ ฝ่ายเมืองยะไข่และเมืองตองอูตกลงกันที่จะสกัดกั้นกองทัพสมเด็จพระนเรศวร ฯ มิให้ยกไปยังกรุงหงสาวดี พระเจ้าตองอูถือโอกาสเก็บทรัพย์สมบัติกวาดต้อนผู้คน พร้อมทูลเชิญพระเจ้านันทบุเรงหนีไปเมืองตองอู ส่วน
พวกยะไข่ ภายหลังที่ค้นคว้าสมบัติที่เหลืออยู่และเผาปราสาทราชวัง วัดวาอารามไฟไหม้ไปทั่วเมือง แล้วหลบหนีไปก่อนที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ จะเสด็จยกทัพไปถึงกรุงหงสาวดีแปดวัน สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงขัดเคืองจึงนำทัพติดตามไปยังเมืองตองอู ซึ่งอยู่ห่างออกไปเป็นระยะทาง ๒๔๐ กม. มีภูเขาเป็นเขตคั่นมั่นคง กองทัพไทยได้ล้อมเมืองตองอู แล้วขุดเหมืองไขน้ำในคูเมืองให้ไหลออกลงสู่แม่น้ำสะโตง ซึ่งชาวเมืองเรียกว่า "เหมืองอโยธยา" หรือ "เหมืองสยาม" แต่ก็ตีหักเอาเมืองไม่ได้ ครั้นเสบียงอาหารขาดแคลนจึงต้องเลิกทัพกลับไปเมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๓
                ในตอนปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงคุมทัพกลับจากเมืองตองอูมาทางเมืองเมาะตะมะ ทรงตั้งพระยาทะละเป็นเจ้าเมืองนี้ให้ปกครองหัวเมืองมอญทั้งปวง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้แบ่งกองทัพยกมาทางเมืองเชียงใหม่ เพื่อระงับเหตุวิวาทระหว่างเจ้าเมืองเชียง
ใหม่กับพระยารามเดโช ข้าหลวงไทยที่เมืองเชียงแสน ในระหว่างนั้นบรรดาเจ้าเมืองไทยใหญ่เช่น
เมืองนาย เมืองแสนหวี มาสวามิภักดิ์ขึ้นอยู่แก่ไทย
                ในปี พ.ศ.๒๑๔๖ พระเจ้าอังวะ ฟื้นตัวได้ทำพิธีราชาภิเษกทรงพระนามว่า พระเจ้าสีหสุธรรมราชา แล้วแผ่อำนาจออกไปทางแคว้นไทยใหญ่จนถึงเมืองนายและจะตีเมืองแสนหวี สมเด็จพระนเรศวร ฯ จึงยกทัพไปตีเมืองอังวะทางเมืองเชียงใหม่ และทรงให้พระเอกาทศรถยกทัพขึ้นไปทาง
เมืองฝาง ครั้นพระองค์ยกทัพไปถึงเมืองหางก็ทรงประชวรและเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง เมื่อวันจันทร์ เดือนหก ขึ้นแปดค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๑๔๘ พระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา
                สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงแผ่พระเดชานุภาพไปในแหลมอินโดจีน สามารถปราบข้าศึกได้ทุกสารทิศ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวเท่านั้น ที่ยกกองทัพไปตีพม่า           ๑๕/ ๙๔๒๐
            ๒๗๗๑.
นโรดม  เป็นพระนามของกษัตริย์เขมร มีทั้งสิ้นสามองค์คือ นโรดม นโรดม สุรามริต และนโรดม สีหนุ
           
     นโรดม  (พ.ศ.๒๓๗๘ - ๒๔๔๗)  เป็นพระโอรสของนักองค์ด้วง ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๒๔๐๒ พระองค์ต้องลี้ภัยมาอยู่ประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๔๐๔ เนื่องจากนักองค์ ศรีวัตถา พระอนุชา ก่อการจลาจลและได้กลับไปครองเขมรใหม่ ปี พ.ศ.๒๔๐๕ โดยการช่วยเหลือของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสในเขมร
                ระหว่างนั้น เขมรยังเป็นประเทศราชของไทย แต่ฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองอินโดจีนได้แล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๐๕ มีนโยบายที่จะยึดครองเขมร เพื่อเป็นบันไดก้าวไปสู่การยึดครองลาว และหาทางไต่เต้าไปตามลำแม่น้ำโขง เพื่อแข่งขันกับอังกฤษชิงตลาดการค้าในยูนนานของจีน ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๔๐๖ ฝรั่งเศสจึงได้ใช้กำลังบังคับให้เจ้านโรดม ลงนามในสนธิสัญญามอบเขมร ให้เป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส โดยที่ประเทศไทยไม่มีส่วนรู้เห็น เจ้านโรดมตกลงที่จะเดินทางมาประกอบพิธีบรมราชาภิเษก ที่ประเทศไทยตามประเพณี แต่โบราณแต่ฝรั่งเศสพยายามขัดขวาง โดยส่งทหารเข้ายึดพระราชวังที่เมืองอุดรมีชัยไว้ แล้วฉวยโอกาสสวมมงกุฎให้เจ้านโรดม ในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๐๗ แม้ทางไทยจะประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศส ในเรื่องนี้ก็ตาม ในที่สุด
ไทยจำต้องลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๔๑๐ รับรองว่าเขมรเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๗ ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำอินโดจีน บังคับให้เจ้านโรดมลงพระนามสนธิสัญญากับฝรั่งเศส ให้เขมรเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดจลาจลต่อต้านฝรั่งเศสในปีต่อมา การเคลื่อนไหวนี้ดำเนินไปจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ผู้แทนฝรั่งเศสในเมืองพนมเปญ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาเสนาบดีเขมร เป็นการริดรอนอำนาจและอิทธิพล ของพระเจ้านโรดม และพระองค์ได้สวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๔๗
               
นโรดม สุรามริต  เป็นพระราชบิดาของเจ้านโรดม สีหนุ ขึ้นครองเขมรแทนเจ้านโรดม สีหนุ ซึ่งเป็นโอรส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ทรงครองเขมรอยู่จนสวรรคตในปี พ.ศ.๒๕๐๓
          
      นโรดม สีหนุ  (พ.ศ.๒๔๖๕ - )  หลังจากพระเจ้านโรดมองค์แรกสวรรคต ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ แล้ว เจ้าชายศรีสวัสดิ์ พระอนุชาต่างมารดาของพระองค์แรกสวรรคต ทรงพระนามว่า กษัตริย์โสวาส จนถึง พ.ศ.๒๔๗๐ จากนั้น เจ้าชายมณีวงศ์ ซึ่งเป็นพระโอรสได้ขึ้นครองเขมรสืบต่อมา จนสวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ผู้เป็นกษัตริย์ต่อมาคือ นโรดม สีหนุ
                พระเจ้านโรดม สีหนุ ทรงพระราชสมภพที่เมืองพนมเปญ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้านโรดมองค์แรก พระราชบิดาคือ เจ้านโรดม สุรามริต
                ในปี พ.ศ.๒๔๘๘  เมื่อฝ่ายอักษะเริ่มปราชัยในสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นจึงล้มอำนาจการปกครองของฝรั่งเศส ในอินโดจีนโดยสิ้นเชิง พระเจ้านโรดม สีหนุ จึงฉวยโอกาสนี้ ปลดแอกฝรั่งเศสและประกาศเขมร เป็นเอกราชระหว่างนั้น นักการเมืองเขมรแตกแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีพระเจ้านโรดม สีหนุ ทรงเป็นผู้ดำเนินนโบายร่วมมือกับฝรั่งเศสต่อไปก่อน อีกกลุ่มหนึ่งคือ ขบวนการเขมรอิสระมี ซันง๊อก ทันห์ เป็นผู้นำ มีนโยบายเป็นปฎิปักษ์ กับฝรั่งเศสและต่อต้านการกลับมา มีอำนาจของฝรั่งเศสในเขมร
                ครั้นฝรั่งเศสกลับมามีอำนาจใหม่ในเขมรภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสก็บังคับให้พระเจ้านโรดม สีหนุ ลงพระนามในสนธิสัญญารอมชอมกับตน ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ยอมรับว่าเขมรเป็นเพียงรัฐอิสระ ในสหภาพฝรั่งเศส พระเจ้านโรดม สีหนุ จึงถูกเขมรอิสระโจมตีว่าเป็นเครื่องมือของฝรั่งเศส และในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙ กองทหารเขมรอิสระได้ปะทะกับทหารฝรั่งเศส ใกล้เมืองเสียมราฐ ฝรั่งเศสจึงกล่าวหาว่าไทยให้การสนับสนุน และใช้เป็นข้อบังคับไทยให้คืนเสียมราฐและพระตะบอง ให้ฝรั่งเศสไปในปลายปีนั้น พวกผู้นำเขมรอิสระจึงหนีเข้ากรุงเทพ ฯ และประกาศตั้งรัฐบาลเขมรอิสระขึ้นที่กรุงเทพ ฯ
                ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ พระเจ้านโรดม สีหนุ ประกาศยุบสภาแล้วเสด็จมาอยู่ประเทศไทย และทรงเรียกร้องของความเห็นใจจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเอกราชของเขมร ในที่สุด ๑๔ ประเทศ ที่เกี่ยวข้องเสนอให้เปิดการประชุมที่นครเจนีวา ที่ประชุมได้ลงมติให้ฝรั่งเศส มอบเอกราชโดยสมบูรณ์ให้แก่เขมร เวียดนาม และลาว พระเจ้านโรดม สีหนุ ทรงถือว่าพระองค์เป็นผู้ให้กำเนิดเอกราชแก่เขมร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
                ต่อมาได้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ทำให้พระองค์ต้องสละราชบัลลังก์ ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ เจ้านโรดม สุรามริต ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรแทน เจ้านโรดม สีหนุ ตั้งพรรคการเมืองชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นนายกรัฐมนตรี รับการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา
                เมื่อพระเจ้านโรดม สุรามริต สิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ เจ้านโรดม สีหนุ ได้กลับมาเป็นประมุขแห่งรัฐอีก และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๔ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย แล้วเริ่มเรียกร้องความเป็นกลางให้นานาชาติรับรอง เขตแดนเขมรซึ่งนำไปสู่การพิจารณาตัดสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย ถึงสองครั้งจนในที่สุด
ไทยต้องเสียเขาพระวิหารให้แก่เขมร ตามคำตัดสินของศาลโลก ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ เจ้านโรดม สีหนุ หันไปผูกไมตรีกับจีน  และตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐ ในปี พ.ศ.๒๕๐๘
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๓ รัฐสภาเขมรได้ปลดกพระองค์ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง นายเชงเอง ประธานรัฐสภา เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งประมุขของรัฐ และแต่งตั้ง นายพลลอนนอล เป็นนายกรัฐมนตรี เจ้านโรดม สีหนุ ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในประเทศจีน ประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มคอมมิวนิสต์อีก ๑๘ ประเทศ รับรองต่อจากจีน และประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลลอนนอล เขมรได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐเขมร ลอนนอลได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ในปี พ.ศ.๒๕๑๕
                กองทัพเขมรแดงยึดอำนาจการปกครองเขมรได้ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ เจ้านโรดมได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขของรัฐตลอดชีพ แต่อำนาจแท้จริงคือ นายเขียว สัมพันธ หัวหน้าเขมรแดง ทำให้เจ้านโรดม สีหนุ ต้องลาออกจากตำแหน่งประมุขของรัฐ ในปี พ.ศ.๒๕๑๙            ๑๕/ ๙๔๓๑
            ๒๗๗๒.
นล ๑  เป็นกษัตริย์องค์หนึ่งแห่งนิษัธ มีเรื่องใน นโลปาขยานัม อันเป็นเรื่องแรกในกาพย์มหาภารตะ เรื่องนี้เป็นนิทานสอนใจให้กล้าหาญไม่ย่อท้อสิ้นหวัง จนสามารถกอบกู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เสียไปให้กลับคืนมาได้ทั้งหมด เป็นเรื่องราวที่ฤาษีพฤหทัศวะ เล่าให้กษัตริย์ปาณฑพและนางเทราปทีฟังเป็นตัวอย่าง ในคราวที่กษัตริย์ปาณฑพเสียบ้านเสียเมือง ให้แก่ทุรโยชน์ และถูกเนรเทศถึง ๑๓ ปี            ๑๕/ ๙๔๓๙
            ๒๗๗๓.
นล ๒  เป็นพญาลิง ทหารเอกผู้หนึ่งของพระราม ในรามายณะมีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระนารายณ์อวตารมาเกิดเป็นพระราม เพื่อปราบพญายักษ์ชื่อ ราวณะ (ทศกัณฐ์) เทพต่าง ๆ ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ก็ให้โอรสของตน มาช่วยพระรามทำศึก
                นล เป็นโอรสของพระวิศวกรรมเทพศิลปิน ได้เป็นกำลังช่วยเหลือพระราม ในการสร้างถนนจากแผ่นดินใหญ่ ทอดไปถึงเกาะลงกา ถนนนั้นได้ชื่อว่า รามเสตุ  (ถนนพระราม) นลได้ชื่อว่า มีฤทธิ์มาก           ๑๕/ ๙๔๔๓
            ๒๗๗๔.
นวด  เป็นวิธีรักษาโรคอย่างหนึ่ง ในแขนงวิชากายภาพบำบัด หมดนวดที่ดีจะต้องทราบและเข้าใจอย่างถ่องแท้ ในเรื่องกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิสภาพ ตลอดจนการดำเนินของโรค
                สำหรับการนวดแผนโบราณของไทยนั้น รู้จักกันทั่วไปว่า "จับเส้น" เพื่อให้เลือดลมเดินได้สะดวก ซึ่งตรงกับการแพทย์แผนปัจจุบัน   วิธีการนวดได้รับการศึกาค้นคว้าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการนวดอีกหลายชนิดนอกจากใช้มือนวดแล้วยังใช้สิ่งอืนสำหรับนวด คือการใช้แสง ความร้อน คลื่อนไฟฟ้า และเครื่องมือนวด ฯลฯ     ๑๕/ ๙๔๔๓
            ๒๗๗๕.
นวนิยาย  หมายถึง เรื่องที่ผู้เขียนแต่งขึ้นเพื่ออ่านให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน รูปแบบของนวนิยายสมัยนี้ได้มาจากประเทศฝ่ายตะวันตก เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ แต่เดิมมามีเพียงนิทานที่ได้มาจากที่ต่าง ๆ เช่น นิทานชาดก นิทานอิงพงศาวดารจีน มอญ และนิทานพื้นเมือง พื้นบ้าน ที่มีรูปแบบเหมือนฟังการเล่านิทาน 

เรื่องที่นำมาเขียนเป็นนวนิยาย แบ่งเป็นที่มาได้ดังนี้

·         นวนิยายที่มีความจริงเป็นมูลฐาน

·         นวนิยายที่ใช้โครงเรื่องเลียนแบบนิทานพื้นเมือง

·         นวนิยายที่ใช้โครงเรื่องอิงวิชาการด้านต่าง ๆ

·  นวนิยายที่ประดิษฐ์โครงเรื่องขึ้นใหม่จากจินตนาการ ประสบการณ์ แล้วนำมาปรุงแต่งขึ้นใหม่          ๑๕/ ๙๔๕๐
            ๒๗๗๖.
นวรัตนกวี  หมายถึง นักปราชญ์เก้าคนในราชสำนักของท้าววิกรมาทิตย์ จักรพรรดิ์องค์หนึ่งของอินเดีย สมัยโบราณผู้ครองราชย์ ณ กรุงอุชเชนี
                ในจำนวนนักปราชญ์เก้าคนนี้ ถ้าจะนับที่เป็นกวีจริง ๆ ก็น่าจะมีเพียงสองคนคือ กาลิทาส และฆฎกรรบร นอกจากนั้นเป็นนักแต่งตำรา เช่น นักไวยากรณ์ นักดาราศาสตร์ ฯลฯ แต่ละคนล้วนอยู่ต่างยุคต่างสมัยกันแทบทั้งสิ้น           ๑๕/ ๙๔๕๒
            ๒๗๗๗.
นวลจันทร - ปลา  เป็นปลามีเกล็ด ในวงศ์ปลาตะเพียน อยู่ในน้ำจืดเป็นปลาขนาดกลาง มีอยู่ด้วยกันสามสกุล            ๑๕/ ๙๔๕๖
            ๒๗๗๘.
นวโลหะ  คือ โลหะเก้าชนิดหลอมให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว มีบทนิยามว่า "โลหะเก้าชนิดคือ เหล็ก ปรอท ทองแดง เงิน ทองคำ เพียงนี้เรียกว่า  เบญจโลหะ ถ้าเติมอีกสองชนิดคือ เจ้า (เจ้าน้ำเงินว่าเป็นแร่ชนิดหนึ่ง) และสังกะสี เรียกว่า สัตตโลหะ ถ้าเติมอีกสองชนิดคือ ชิน บริสุทธิ (ทองแดงบริสุทธิ) เรียกว่า นวโลหะ"           ๑๕/ ๙๔๕๗
            ๒๗๗๙.
นวอรหาธิคุณ, นวารหาธิคุณ  คำว่า นวอรหาธิคุณ แปลว่า พระคุณของพระพุทธเจ้าเก้าประการ มีบทว่า "อรหํ" เป็นต้น คำว่า นวารหาธิคุณ แปลว่า พระคุณอันยิ่งของพระอรหันต์เก้าบท
                พระพุทธคุณเก้าบทนั้น มีโดยย่อดังนี้
                    ๑. อรห ํ  เป็นผู้ไกลจากข้าศึกคือ กิเลส คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม
                    ๒. สมฺมาสมฺ พุทฺโธ  เป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
                    ๓. วิชฺชา จรณสมฺปนฺโน  เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ
                    ๔. สุคโต  เป็นผู้เสด็จไปดูแล้ว
                    ๕. โลก วิทู  เป็นผู้รู้แจ้งโลก
                    ๖. อนุตฺตโร ปุริสทมมสารถิ เป็นสารถีแห่งบุรุษ พึงฝึกได้ไม่มีบุรุษอื่นยิ่งไปกว่า
                    ๗. สตฺถา เทวมนุสฺสาน ํ  เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
                    ๘. พุทฺโธ  เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว
                    ๙. ภควา  เป็นผู้มีโชค              ๑๕/ ๙๔๕๙
            ๒๗๘๐.
นวังคสัตถุศาสน์  เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาของศาสนาพุทธ มีองค์เก้าคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม  และเวทัลละ
                    ๑.
สุตตะ  ได้แก่  ระเบียบคำที่ยกข้อธรรมขึ้นแสดง แล้วบรรยายข้อธรรมนั้นๆ ให้ประจักษ์
                    ๒.
เคยยะ  ได้แก่  ระเบียบคำที่เป็นไวยากรณ์ เป็นคาถาบ้าง ปนกัน จะกล่าวว่าเป็นคำร้อยแก้วบ้าง ร้อยกรองบ้างปนกันก็ได้
                    ๓.
เวยยากรณะ  ได้แก่ ระเบียบคำที่เป็นร้อยแก้วล้วน ไม่มีคาถาปน
                    ๔.
คาถา ได้แก่ ระเบียบคำที่ผูกขึ้นให้งาม และไพเราะด้วยอักขระอันประกอบด้วยลักษณะคำเป็นคณะ จำกัดด้วย ครุ ลหุ ทั้งที่เป็นวรรณพฤติ และมาตราพฤติ เป็นคาถาล้วน
                    ๕.
อุทาน  ได้แก่ ระเบียบคำที่ทรงเปล่งออกเป็น ไวยากรณ์ ก็มี แต่ส่วนมากเป็นคาถา
                    ๖.
อิติวุตตกะ  ได้แก่ ระเบียบคำที่ทรงยกธรรมบทใดบทหนึ่งขึ้น ตั้งเป็นประธานไว้แล้วตรัสอธิบายความในข้อธรรมนั้น ๆ สุดท้ายตรัสเป็นคำนิคม (คำสรุปท้าย) กำกับไว้อีก
                    ๗.
ชาดก  ได้แก่ ระเบียบคำที่ทรงแสดงถึงบุรพจริยาคือ ความประพฤติที่เคยทรงทำมาแต่ปางก่อน รวมถึงบุรพจริยาของพระสาวกด้วย
                    ๘.
อัพภูตธรรม  ได้แก่ ระเบียบคำอันแสดงถึงเหตุที่อัศจรรย์อันไม่เคยมี
                    ๙.
เวทัลละ  ได้แก่ ระเบียบคำถามและคำตอบ ซึ่งผู้ถามและผู้ตอบให้ความรู้แจ้ง ซึ่งผู้ถามและผู้ตอบให้ความรู้แจ้ง และความยินดีเป็นลำดับขึ้นไป           ๑๕/ ๙๔๖๒
            ๒๗๘๑.
น่อง - ยาง  เป็นไม้ขนาดใหญ่สูงถึง ๔๐ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม หรือรูปกระสวยกลาย ๆ ค่อนข้างแน่นทึบ ใบเป็นชนิดใบเดี่ยวติดเวียนสลับตามกิ่ง ใยรูปขอบขนานหรือมน ดอกเพศตัวผู้ดอกเล็ก รวมกันเป็นก้อนกลม ออกตามง่ามใบ อาจเป็นช่อเดี่ยว ๆ  หรือเป็นกระจุก ๆ ละ ๑ - ๓ ช่อ ดอกเพศเมียออกตามง่ามใบเช่นกัน และมักอยู่สูงกว่าดอกเพศผู้ในกิ่งเดียวกัน รูปทรงรี ๆ แล้วจะเจริญกลายเป็นผลต่อไป
            เนื่องจากยางน่องมีสารบางอย่างที่เป็นพิษถึงกับทำให้เสียชีวิตได้ ชาวพื้นเมืองสมัยก่อนจึงนิยมไปชุปปลายลูกธนู หรือหอก ไว้ยิงสัตว์หรือศัตรู           ๑๕/ ๙๔๖๕
            ๒๗๘๒.
นอต  เป็นหน่วยแสดงอัตราเร็ว หรือความเร็วของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตามระบบการเดินเรือซึ่งเท่ากับหนึ่งไมล์ทะเล (๑.๘๕๒ กิโลเมตร ) ต่อชั่วโมง            ๑๕/ ๙๔๖๗
            ๒๗๘๓.
น้อย ๑ - พระยา  เป็นชื่อของกษัตริย์แห่งเมืองพะโค (หงสาวดี) พระยาน้อย เมื่อปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์แล้ว ได้รับเฉลิมพระนามว่า "พระเจ้าราชาธิราช" มีเรื่องกล่าวอยู่ในหนังสือ "ราชาธิราช"  ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน)            ๑๕/ ๙๔๖๗
            ๒๗๘๔.
น้อย ๒ แม่น้ำ เป็นชื่อแม่น้ำแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ปากแพรกในท้องที่ อ.เมือง ฯ จ.ชัยนาท แล้วไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งขวาในท้องที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อยกว้าง ๘๐ เมตร ยาว ๑๔๕ กม. มีน้ำตลอดปี   ตัวแม่น้ำน้อยนี้ ตอนผ่านเขต อ.ผักไห่ บางทีก็เรียกว่าแม่น้ำแควผักไห่ และตอนผ่าน ต.เสนา อ.เสนา มาแล้ว บางทีก็เรียกว่าคลองสีกุก    

มีคลองขนาดใหญ่มาเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาคือ         

๑.คลองโพธิประจักษ์ไปร่วมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี ยาว ๕ กม.

๒. คลองกระทุ่มโพรง ไหลผ่านบ้านกระทุ่มโพรงไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ยาว ๕ กม.

๓.  คลองไชโย ไปร่วมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตลาดไชโย ต.ไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ยาว ๕ กม.

๔.  คลองศาลาแดง มาออกแม่น้ำเจ้าพระยา ที่วัดสนามชัย ต.ตลาดหลวง อ.เมือง จ.อ่างทอง ยาว ๑๒ กม.

๕.  คอลงบางปลากด ออกแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.บางปลากด อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ยาว ๑๐ กม.

๖.  คลองโผงเผง ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ยาว ๑๒ กม.        ๑๕/ ๙๔๗๑
            ๒๗๘๕.
น้อยหน่า  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๒ - ๓ เมตร ใบบางยาวรี ประมาณ ๕ - ๑๕ ซม. กว้าง ๓ - ๖ ซม. ดอกมักออกเดี่ยว แต่อาจออกเป็นกระจุก ๑ - ๔ ดอก ก็ได้สีเหลืองแกมเขียว
                ผลเกือบกลม โตเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ - ๑๐ ซม. สีเขียวด้าน ๆ ผิวนูนเป็นตา ๆ เวลาสุกจะน่วม เนื้อในผลหนา หยาบ สีขาวแกมเหลือง รสหวาน เมล็ดมีมาก สีดำ ฝังจมในเนื้อ            ๑๕/ ๙๔๗๒
            ๒๗๘๖.
น้อยโหน่ง  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลาง สูง ๔ - ๖ เมตร ใบออกเรียงสองข้างกิ่ง สลับกัน รูปใบมนยาว ๑๐ - ๑๕ ซม. กว้าง ๔ - ๗ ซม. ดอกสีเหลืองแกมเขียว มักออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก ๑ - ๔ ดอก
                ผลเกือบกลมโต เส้นผ่าศูนย์กลาง ๘ - ๑๒ ซม. เปลือกบางแต่เหนียว ผิวเปลือกเรียบ สีเขียวจาง ๆ มีแดงเรื่อ ๆ ปน เนื้อในผลหนา สีขาว หยาบ รสหวาน เมล็ดมีมาก สีดำ ฝังจมในเนื้อ           ๑๕/ ๙๔๗๓
            ๒๗๘๗.
นอร์ติก  เป็นชื่อของชนเผ่าหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ ศีรษะยาว ผมสีแดง ตาสีทอง และผิวขาว ส่วนใหญ่อยู่ในคาบสมุทรสแกนดิเนีเวีย และเขตใกล้เคียงของทวีปยุโรป ชนเผ่านี้ถือกันว่าเป็นพวกบริสุทธิ์ ได้แก่ ชาวสวีเดน ฟินแลนด์ ถัดมาชาวนอร์เว เดนมาร์ก ชาวอังกฤษ ในภาคเหนือของประเทศ และหมู่เกาะตะวันตก ของสกอตแลนด์            ๑๕/ ๙๔๗๓
            ๒๗๘๘.
นอร์มัน  เป็นพวกนอร์ส ที่พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสทรงมอบให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคว้นนอร์มังดี ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ในปี พ.ศ.๑๔๕๔ พวกนอร์สใช้ภาษาและวัฒนธรรมฝรั่งเศส ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๗ ได้ยกกองทัพไปตีอังกฤษ และส่วนหนึ่งของเวลส์ และไอร์แลนด์ ดังปรากฎในปี พ.ศ.๑๖๐๙ พระเจ้าวิลเลียม วิชิตราชตีอังกฤษได้และสถาปนาราชวงศ์ปกครองประเทศนั้นสืบต่อมา พวกนอร์มันยังได้กระจายไปอยู่ในสกอตแลนด์ และตีได้ภาคใต้ของอิตาลี ซิซิลี และมอลตา นอกจากนี้ยังได้แสดงบทบาทเด่นพวกหนึ่งในสงครามครูเสด ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พวกนอร์มันที่ตั้งหลักแหล่งในประเทศใด ก็กลายเป็นพลเมืองของประเทศนั้น            ๑๕/ ๙๔๗๔
            ๒๗๘๙.
นอร์สหรือนอร์สเมน  เป็นพวกไวกิง สังกัดชนเผ่านอร์ดิกในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย  ถิ่นเดิมของพวกนอร์สคือนอร์เว ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๗ ได้แล่นเรือไปปล้นสะดมหรือตั้งถิ่นฐานในอังกฤษ ไอร์แลน ฝรั่งเศสและไอซ์แลนด์ บางพวกได้อพยพไปอยู่ในรุสเซีย และกรีนแลนด์           ๑๕/ ๙๔๗๔
            ๒๗๙๐.
นักขัตฤกษ์ มีบทนิยามว่า "งานรื่นเริงตามฤดูกาล" คำนี้หมายความว่าการเล่นรื่นเริง ที่ประชาชนในถิ่นนั้น ๆ กำหนดขึ้นในฤดูกาลนั้น ๆ ที่เหมาะแก่ถิ่นนั้น ๆ แล้วถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบมาไม่ขาดสาย           ๑๕/ ๙๔๗๔
            ๒๗๙๑.
นักคุ้ม  เป็นชื่อนายทหารคนหนึ่ง มีลักษณะเป็นคนซื่อตรง ใจกล้า รักษาวาจา มีชื่อปรากฎในหนังสือพงศาวดารเหนือ ของพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ว่า "นักคุ้ม คุมเกวียน ๕๐ เล่ม กับไพร่ ๑,๐๐๐ มาบรรทุกน้ำเสวยพระเจ้าพันธุมสุริยวงศ์"
                ชื่อนักคุ้มนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ฯ ได้ทรงนำมาใช้ในเรื่องพระร่วงหรือขอมดำดิน ให้เป็นข้าหลวงของพระเจ้าพันธุมสิริยวงศ์ไปทวงส่วยน้ำที่เมืองละโว้ ในราวปี พ.ศ.๑๗๘๐           ๑๕/๙๔๗๕
            ๒๗๙๒.
นักธรรม  มีบทนิยามว่า "ผู้รู้ธรรม ผู้สอบความรู้ได้ตามหลักสูตรที่กำหนดสามชั้นคือ ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก" คำนักธรรมเดิมหมายถึงนักบวชทั่วไปซึ่งมีมาแต่ก่อนพุทธกาลที่รู้จักกันว่าฤษีชีไพร ฤาษีถ้าได้สำเร็จณานก็เรียกว่านักสิทธิวิทยาธร ที่เรียกกันว่าเพทยาธร ก็เป็นนักบวชทั้งนั้น           ๑๕/ ๙๔๗๖
            ๒๗๙๓.
นักษัตร ๑  เป็นคำสันสกฤต แปลว่ากลุ่มดาวหรือดวงดาว แต่ในที่นี้นักษัตรเป็นคำเรียกเวลารายปี โดยมีกำหนด ๑๒ ปีเป็นหนึ่งรอบ แต่ละปีมีรูปสัตว์เป็นเครื่องหมายประจำเช่น นักษัตร หรือปีชวดมีหนูเป็นเครื่องหมาย เป็นต้น
                ประเทศต่าง ๆ ในเอเซียหลายประเทศ มีวิธีนับปีหรือกำหนดปี โดยมีสัตว์เป็นเครื่องหมาย เครื่องหมายเหล่านี้มีสิบสองเหมือนกัน เป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน (หรือใกล้เคียงกัน) และมีลำดับก่อนหลังอย่างเดียวกัน ประเทศและชนชาติดังกล่าวได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา มอญ เวียดนาม จาม จีน ญี่ปุ่น และทิเบต
                มีหลักฐานว่าไทยใช้ปีนักษัตรมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑ ด้านที่ ๓,๔ มีกล่าวถึงปีมะโรง ปีกุน และปีมะแม
                วิธีคำนวณว่า พ.ศ.ใด จะตรงกับปีนักษัตรใด ให้เอาปี พ.ศ.ตั้งหารด้วย ๑๒ แล้วเอาเศษมาเทียบดังนี้ เศษ ๑ ปีนั้นตรงกับปีมะเมีย เศษ ๒ ปีมะแม เศษ ๓ ปีวอก เศษ ๔ ปีระกา เศษ ๕ ปีจอ เศษ ๖ ปีกุน เศษ ๗ ปีชวด เศษ ๘ ปี ฉลู เศษ ๙ ปีขาล เศษ ๑๐ ปีเถาะ เศษ ๑๑ ปีมะโรง ลงตัวไปเหลือเศษปีมะเส็ง
                คนโบราณใช้วิธียึดรอบ ๑๒ ปีนี้ออกไปโดยอาศัยรอบ ๑๐ ปี มาประกอบกับรอบ ๑๒  ปี จะทำให้การนับปีไม่ซ้ำกันจนครบรอบ ๖๐ ปี พงศาวดารไทยใช้วิธีนับรอบ ๑๒ ปี คู่กับ ๑๐ ปี อย่างนี้มานาน วิธีเรียกชื่อปีนักษัตร ตามแบบของไทยนั้น เอาปีนักษัตรขึ้นต้นแล้วตามด้วยเลข ๑ ถึง ๐ ซึ่งในกรณีของไทยนั้น ได้เอามาจากเลขสุดท้ายของปีจุลศักราช ชื่อเลขสุดท้ายของจุลศักราชที่ใช้ในการเรียกชื่อปีนั้น ใช้ศัพท์บาลี สันสกฤต ดังต่อไปนี้ เอกศก โทศก ตรีศก จัตวาศก เบญจศก ฉศก สัปตศก อัฐศก นพศก และสัมฤทธิศก           ๑๕/ ๙๔๗๗
            ๒๗๙๔.
นักษัตร ๒  ได้แก่ กลุ่มดาวที่อยู่ตามเส้นทางโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งมีอยู่ ๒๗ กลุ่มด้วยกันอย่างหนึ่ง และตามวิชาโหราศาตร์ของอินเดีย ซึ่งหมายถึงระยะของจักรราศีในท้องฟ้าที่มีอยู่ ๒๗  ช่วงด้วยกัน เรียงตามลำดับจากตะวันออก แต่ละช่วงกว้าง ๑๓ องศา ๒๐ ลิบดา อีกอย่างหนึ่งตามความหมายหลังนี้ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ต่าง ๆ จะโคจรผ่านระยะต่าง ๆ เหล่านี้ในอัตราความเร็วต่าง ๆ กันไป
                รายขื่อกลุ่มดาวนักษัตรที่สมบูรณ์เท่าที่ทราบในปัจจุบันมีอยู่สามรายชื่อด้วยกันได้แก่ของอินเดีย ของอาหรับ และของจีน
                ชาวอินเดียโบราณนั้นเห็นว่าดวงจันทร์โคจรไปจากกลุ่มดาวนี้ในคืนนี้และไปอยู่ในบริเวณของกลุ่มดาวกลุ่มต่อไปในวันรุ่งขึ้น จึงเกิดความคิดว่า กลุ่มดาวหรือนักษัตรแต่ละกลุ่ม ควรจะมีพื้นที่หรือขอบเขตขยายออกไปให้กว้างขวางกว่าเดิม จึงได้มีการแบ่งจักรราศีของท้องฟ้าออกเป็นส่วน ๆ แต่ละส่วนให้ชื่อเรียกว่า นักษัตรทั้งหมด มี ๒๗ ส่วนด้วยกัน เหตุที่มี ๒๗ ช่วงนั้น เพราะว่าดวงจันทร์โคจรรอบจักรราศีครบ ๓๖๐ องศา ในเวลา ๗ วัน นั้นประการหนึ่ง และเพราะว่าการแบ่งจักรราศีออกเป็น ๒๗ ส่วน ย่อมทำให้แต่ละส่วนมีระยะกว้างคิดเป็นมุมได้ลงตัวพอดี (คือ ๘๐๐ หรือ ๑๓ องศา ๒๐ ลิบดา) นั้นอีกอย่างหนึ่ง
                ดวงจันทร์โคจรผ่านนักษัตรต่าง ๆ ทั้ง ๒๗ นักษัตร (๓๖๐ องศา ของจักรราศี) ในเวลา ๒๗ วัน ๗ ชั่วโมง ๔๓ นาที ๑๑.๕ วินาที เมื่อเป็นเช่นนี้ดวงจันทร์ในเวลาแต่ละปีจึงไม่เต็มดวง ในนักษัตรที่เป็นชื่อของเดือน แต่จะล้าหลังตามไม่ทันปีละ ๑๐.๗ องศา ซึ่งจะห่างเพิ่มขึ้นตามลำดับในแต่ละปี กว่าจะกลับมาครบรอบก็ต้องใช้เวลาถึง ๓๐ ปีเศษ           ๑๕/๙๔๙๕
            ๒๗๙๕.
นั่งเกล้า  (ดูเจษฎาบดินทร์    ลำดับที่ ๑๕๑๓)           ๑๕/ ๙๔๙๕
            ๒๗๙๖.
นันทบุเรง - พระเจ้า  มีพระนามเดิมว่ามังชัยสิงห์ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง และดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชา ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๔ พระองค์ทรงตั้งมังกะยอชวา พระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นพระมหาอุปราชา
                ในปี พ.ศ.๒๑๔๒ เมื่อสมเด็จพระนเรศวร ฯ ยกทัพไปตีพม่า ณ กรุงหงสาวดี ครั้งที่สอง พระเจ้าตองอู ทูลเชิญพระเจ้านันทบุเรงหนีไปเมืองตองอู สมเด็จพระนเรศวร ฯ ยกทัพตามไปเมืองตองอู แต่ตีหักเอาเมืองไม่ได้ ครั้นเสบียงอาหารขาดแคลนจึงยกทัพกลับ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๓
                ฝ่ายพระสังกะทัต (นัตจิงหม่อง) ราชบุบตรและรัชทายาทพระเจ้าตองอู เห็นว่าตราบใดที่พระเจ้านันทบุเรงประทับอยู่ ณ เมืองตองอู สมเด็จพระนเรศวร ฯ คงจะกลับมาตีเมืองตองอูอีก จึงหาทางกำจัดพระองค์โดยลอบวางยาปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรง ในปี พ.ศ.๒๑๔๓ ภายหลังจากที่ได้เสด็จไปอยู่เมืองตองอูได้แปดเดือน          ๑๕/ ๙๔๙๕
                หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้านันทบุเรง เจ้านายพม่าที่เคยเป็นประเทศราชก็ได้เป็นอิสระรบชิงอำนาจกัน ในที่สุดเจ้าชายนะยองสาม ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้านันทบุเรง สามารถปราบคู่แข่งได้หมดแล้ว ทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า พระเจ้าสีหสุธรรมราชา           ๑๕/ ๙๕๑๐
            ๒๗๙๗.
นันทวัน  เป็นชื่อสวนสวรรค์ของพระอินทร์ในชั้นดาวดึงส์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกในสวนนั้นมีสระโบกขรณีใหญ่ ชื่อ นันทาโบกขรณี สวนนันทวันเป็นสวนสวรรค์คู่บารมีของสุนันทาเทพธิดา ผู้เป็นมเหสีองค์ที่สามของพระอินทร์           ๑๕/ ๙๔๙๙
            ๒๗๙๘.
นันทะ  เป็นชื่อราชวงศ์อินเดีย มีกษัตริย์สืบวงศ์เก้าองค์ครองราชย์ ณ กรุงปาฏลีบุตร (ปัตนะในปัจจุบัน) เป็นใหญ่อยู่ในชมพูทวีป เมื่อประมาณก่อน พ.ศ.๒๒๐
                ประวัติของราชวงศ์นันทะเกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์โมริยะอันเป็นราชวงศ์ยิ่งใหญ่ของราชาจันทรคุปต์ พระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช
                ความมีว่า มีผู้กล้าหาญคนหนึ่งชื่อมหานันทิน เป็นใหญ่อยู่ในขอบเขตกรุงปาฏลีบุตร มีลูกน้องคู่ใจชื่อมหาปัทมะมาจากตระกูลต่ำ แต่เป็นคนฉลาดและมีฝีมือ ต่อมาเกิดมีโจรมาปล้นทรัพย์เศรษฐีในกรุงปาฏลีบุตร มหาปัทมะได้แสดงความสามารถปราบโจรได้ ประชาชนพากันยกย่อง ในที่สุดก็ได้ประกาศยกตนขึ้นเป็นกษัตริย์เปลี่ยนนามใหม่ว่ามหาปัทมานันทะ ตั้งราชวงศ์นันทะขึ้นมาแต่ครั้งนั้น ได้ขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวาง กษัตริย์มหาปัทมานันทะครองราชย์จนพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ทรงเห็นภัยในราชสมบัติอันเกิดจากความรังเกียจของพวกพราหมณ์ ที่เห็นว่าพระองค์มาจากตระกูลต่ำ และไปยกย่องนักพรตเชนซึ่งเป็นข้าศึกของพราหมณ์ จึงทรงสละราชสมบัติออกเป็นสันยาสีแสวงธรรม พระราชโอรสขึ้นครองราชย์ได้ไม่นานก็ถูกชิงบัลลังก์ โดยน้ำมือของจันทรคุปต์ แล้วตั้งวงศ์โมริยาขึ้นใหม่          ๑๕/ ๙๕๐๐
            ๒๗๙๙.
นันทา  เป็นชายาท้าวคนธรรม์นุราช เจ้าเมืองดิศศรีสินในเรื่องรามเกียรติ์มีโอรสชื่อท้าววิรุฬพัท           ๑๕/๙๕๐๓
            ๒๘๐๐.
นันโทปุนันทสูตร  เป็นชื่อวรรณคดีเรียกเต็มว่า นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระราชนิพนธ์เล่มหนึ่งของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ฯ (กุ้ง) เป็นวรรณคดีเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เนื้อเรื่องเดิมอยู่ในคัมภีร์อรรถกกา แห่งเถรคาถา (ปรมัตถทีปนีของธรรมปาล) พระองค์แต่งจบเมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๙ ในระหว่างที่ทรงผนวชอยู่ ณ วัดโคกแสง วิธีแต่งทรงเลียนแบบมหาชาติคำหลวง คำประพันธ์ที่ทรงใช้เป็นร่ายยาวโดยตลอด
                เนื้อเรื่องย่อมีอยู่ว่า เช้าวันหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันตสาวก จำนวน ๕๐๐ องค์ เสด็จไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยเหาะข้ามศรีษะพญานาคที่มีชื่อว่า นันโทปนันทนาคราช ทำให้พญานาคโกรธจึงเนรมิตกายให้มีขนาดใหญ่โตเข้าพันเขาพระสุเมรุปิดกันทางไปยังดาวดึงส์เสีย พระโมคคัลลานะอาสาต่อสู้กับพญานาคด้วยฤทธิ์จนในที่สุดพญานาคยอมแพ้แล้วพามาเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังคำสอนแล้วยอมตนเป็นสาวก และตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์ตั้งแต่นั้นมา          ๑๕/ ๙๕๐๓
            ๒๘๐๑.
นา  มีบทนิยามว่า "พื้นที่ราบทำเป็นคันสำหรับปลูกข้าว" โดยนัยนี้นาก็คือพื้นที่ราบมีคันดินกั้นไว้โดยรอบเป็นกระทง ๆ สำหรับขังน้ำไว้หล่อเลี้ยงต้นข้าว
                แต่เดิมนา หมายถึง ที่ปลูกข้าวอย่างเดียว ในปัจจุบัน คำ "นา" ได้ขยายความหมายออกไปและใช้กันแพร่หลายว่า นากุ้ง นาผักกระเฉด และนาอื่น ๆ อีกหลายอย่าง
                นามีหลายอย่าง เช่น นาคู่โค นาดำ นาปรัง นาปี นาฟางลอย นาเมือง นาสวน นาหว่าน        ๑๕/ ๙๕๐๔
            ๒๘๐๒.
นาก ๑ เป็นโลหะผสมสีทองปนแดง เกิดจากการเอาโลหะทอง เงิน และทองแดง มาผสมเข้าด้วยกัน ประโยชน์ของนากใช้ทำรูปพรรณเครื่องประดับต่าง ๆ             ๑๕/ ๙๕๐๖
            ๒๘๐๓.
นาก ๒  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ชอบอยู่และหากินในน้ำ นากชอบอยู่ในโพรงดินตามริมฝั่ง นากรู้จักย้ายถิ่นไปหากินตามลำน้ำใกล้เคียง ส่วนมากชอบอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ระหว่างพ่อแม่และลูก ๆ
                นากในประเทศไทยมีอยู่สี่ชนิดคือ นากเล็กเล็บแบน นากใหญ่ธรรมดา นากใหญ่ขนเรียบ และนากใหญ่ขนหนวด          ๑๕/ ๙๕๐๖
            ๒๘๐๔.
นากลาง  อำเภอขึ้น จ.อุดรธานี ภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาประมาณร้อยละ ๔๐ นอกนั้นทำไร่
                อ.นากลาง แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ ขึ้น อ.หนองบัวลำภู ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒           ๑๕/ ๙๕๐๗
            ๒๘๐๕.
นาแก  อำเภอ ขึ้น จ.นครพนม ภูมิประเทศลุ่ม ๆ ดอน ๆ เป็นโคกหินแร่มีป่าและเขา เดิมตั้งที่ว่าการที่ ต.หนองสูง ขึ้นเมืองมุกดาหาร ครั้นยุบเมืองมุกดาหารเป็นอำเภอไปขึ้น จ.นครพนม จึงย้ายอำเภอนี้จาก ต.หนองสูง ไปตั้งที่ ต.นาแก แล้วเปลี่ยนชื่อตำบลตามที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ         ๑๕/ ๙๕๐๗
            ๒๘๐๖.
นาค ๑  เป็นชื่อมนุษย์เผ่าหนึ่ง อาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขาชื่อเดียวกัน อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพม่า และอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นอัสสัม
                มนุษย์เผ่านาค มีอยู่หลายสาขา มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน มีจำนวนทั้งหมดไม่เกินหนึ่งล้านคน แผ่นดินที่ชนชาวเผ่านาคเข้าครอบครอง ได้รับการยกฐานะจากรัฐบาลอินเดีย ขึ้นเป็นรัฐที่ ๑๔ เรียกว่า
นาคาแลนด์ มีอำนาจปกครองตนเองเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕          ๑๕/ ๙๕๐๘
            ๒๘๐๗.
นาค ๒ - มหา  เป็นพระภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ที่วัดภูเขาทอง และมีบทบาทในการช่วยทำนุบำรุงการป้องกันกรุงศรีอยุธยาให้แข็งแรงมั่นคงยิ่งกว่าแต่ก่อน
                ในระหว่างที่กองทัพพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กำลังล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๐๙๑ มหานาคได้ลาสิกขาออกมาช่วยราชการ โดยชักชวนญาติโยมและศิษย์ เป็นกำลังร่วมมือกันขุดคลองคูพระนครทางด้านเหนือเพื่อให้ไกลจากระยะปืนใหญ่ ที่ข้าศึกอาจใช้ยิงวังหลวง คนทั่วไปเรียกคลองนั้นว่า
คลองมหานาค พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้ขุดคลองเหนือวัดสระเกศ มีชื่อว่า คลองมหานาคเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา ได้เกณฑ์เขมร ๑๐,๐๐๐ คน มาขุดคอลงคูพระนคร ด้านตะวันออกตั้งแต่บางลำพู มาออกแม่น้ำข้างใต้เหนือวัดสามปลื้ม ยาว ๘๕ เส้น  ๑๓ วา กว้าง ๑๐ วา ลึก ๕ ศอก พระราชทานชื่อว่า คลองรอบกรุง  (คลองบางลำพู และคลองโอ่งอ่าง) ด้านแม่น้ำตั้งแต่ปากคลองรอบกรุงข้างใต้ ไปถึงปากคลองข้างเหนือยาว ๙๑ เส้น ๑๖ วา รวมทางน้ำรอบพระนคร ๑๗๗ เส้น ๙ วา แล้วขุดคลองหลอดจากคลองคูเมืองเดิมสองคลอง ออกไปบรรจบคลองรอบกรุงที่ขุดใหม่       

คลองมหานาคเป็นที่สำหรับชาวพระนคร ได้ลงเรือไปประชุมเล่นเพลง และสักรวาในฤดูน้ำ เหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา      ๑๕/ ๙๕๑๐
            ๒๘๐๘
. นาค ๓  เป็นสัตว์ในนิยาม บางท่านกล่าวว่า นาคเป็นตัวเดียวกับเงือก เพราะในภาษาไทยอาหมแปลคำเงือกว่า นาคน้ำ ภาษาไทยขาวแปลว่า งู ตามนิยายอยู่ตามห้วย ภาษาไทยปายีในประเทศจีนแปลว่ามังกร แต่ภาษาไทยภาคอีสานคำว่าเงือกเป็นบริวารของนาคซึ่งจำแลงแปลงตัวได้ต่าง ๆ เช่นเดียวกับนาคซึ่งเป็นใหญ่ ทางภาคพายัพถือว่าเงือกคือ งูหงอน           ๑๕/ ๙๕๑๒
            ๒๘๐๙.
นาคทวีป  เป็นดินแดนตอนเหนือของประเทศศรีลังกา เคยเป็นราชธานีของพวกชนเผ่านาค ซึ่งเป็นชาวศรีลังกาดั้งเดิมมาก่อน ประเทศศรีลังกาดั้งเดิมเรียกกันโดยทั่วไปว่า เกาะลังกา ประชาชนชาวลังกาดั้งเดิมมีเผ่าสำคัญสองเผ่าคือ เผ่ายักษ์ เผ่าหนึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในที่สูงจึงมักอยู่ข้างตอนกลางของเกาะ มีราชธานีที่ผู้เป็นใหญ่ของพวกยักษ์ปกครองเรียกว่า ลังกาบุรี อีกพวกหนึ่งเรียกว่าพวกนาค นิยมตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ต่ำ เรียกชื่อราชธานีว่านาคทวีป           ๑๕/๙๕๑๓
            ๒๘๑๐.
นาคบาศ  เป็นชื่อศรของอินทรชิตในเรื่องรามเกียรติ์ และชื่อบ่วงของพาณาสูรราชาแห่งโสณิต ศรนาคบาศเป็นศรที่พระพรหมประทานให้อินทรชิต เมื่อยังเป็นท้าวรณพักตร์            ๑๕/ ๙๕๑๖
            ๒๘๑๑.
นาคปรก  เป็นชื่อปางพระพุทธรูปางหนึ่ง เรียกว่า "ปางนาคปรก" พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอยู่เบื้องบนพระเศียรมีอยู่สองแบบคือ แบบหนึ่ง ประทับนั่งสมาธิบนขนดพญานาค แบบหนึ่งประทับนั่งสมาธิภายในขนดพญานาค
                พระพุทธรูปปางนี้มีตำนานว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธเจ็ดวันแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุติสุขยังร่มไม้จิก ชื่อว่ามุจลินท์ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศอาคเนย์ของต้นมหาโพธิ์ที่ได้ตรัสรู้ บังเอิญในเวลานั้นเกิดมีฝนตกพรำตลอดเจ็ดวัน พญามุจลินท์นาคราชออกจากพิภพมาทำขนดล้อมพระวรกายเจ็ดชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบน เหมือนกันฉัตรถวาย ครั้นฝนหายขาดแล้วจึงคลายขนดออกแล้วจำแลงเพศเป็นมาณพน้อยยืนอัญชลีกราบนมัสการพระพุทธองค์ ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงเปล่งอุทานเป็นใจความว่า
                "ความสงัดเป็นสุขของบุคคล ผู้มีธรรมอันสดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวง ตามความเป็นจริงอย่างไรความเป็นคนไม่เบียดเบียนคือ ความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นคนปราศจากความกำหนัด คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขในโลก ความนำออกเสียซึ่งอัสมิมานะ คือความถือตัวคนให้หมดได้นี้เป็นสุขในโลก"
                พระพุทธรูปปางนาคปรกนี้นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปที่สักการบูชาประจำวันของคนเกิดวันเสาร์        ๑๕/๙๕๑๖
            ๒๘๑๒
. นาคปุระ  เป็นชื่อเมืองศูนย์กลางการปกครองของเขตนาคปุระ และสาขาอยู่ในแคว้นมหาราษฎร์ ตอนกลางของประเทศอินเดีย เป็นนครโบราณที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนาค         ๑๕/ ๙๕๒๐
            ๒๘๑๓.
นาคราช  เป็นชื่อที่ใช้เรียกเฟิน หลายชนิดซึ่งมีลักษณะลำต้นเลื้อยเป็นเถา เกาะติดตามต้นไม้ตามหิน ตามดิน ฯลฯ และมีเกล็ดรอบลำต้น ดูคล้ายเกล็ดงู           ๑๕/ ๙๕๒๑
            ๒๘๑๔.
นาคเสน  เป็นชื่อพระเถระรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ปรากฎชื่อในประวัติศาสตร์อินเดีย ระหว่างปี พ.ศ.๔๕๐ - ๕๕๐
                ในคัมภีร์มิลินทปัญญากล่าวว่า พระนาคเสนเกิดที่บ้านกชังคลคามเป็นบุตรพราหมณ์ เมื่อเรียนจบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์อิติหาสะและนิคัณฑุศาสตร์ และได้ศึกษาศิลปะสิบแปดประการมีความรู้ความชำนาญแต่ยังหนุ่ม เมื่ออายุ ๑๖ ปี ได้ช่วยบิดามารดาทำกิจการ ประพฤติตนเรียบร้อย มีอัธยาศัยใจคอกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเพื่อแผ่แก่คนทั่วไป เป็นที่รักใครของบิดา มารดาญาติมิตร เป็นผู้สติปัญญาเฉียบแหลมว่องไว พูดจาไพเราะชอบแสดงลัทธิของตน ต่อมาได้พบกับ
พระโรหนเถระ ผู้เป็นพระอรหันต์ได้ถามปัญหาในเรื่องไตรเพทเวทางคศาสตร์ ท่านแก้ได้ไม่ติดขัด พระโรหนเถระถามปัญหาในพุทธมนต์ นาคเสนกุมารตอบไม่ได้จึงขอเรียน พระโรหนเถระว่าต้องบวชจึงจะสอนให้ได้ เมื่อบวชเป็นสามเณรพระโรหนเถระฝึกหัดเบื้องต้นให้ เมื่ออายุครบบวชเป็นพระภิกษุได้อุปสมบทในสำนักพระโรหนเถระ เมื่อได้เรียนรู้ในคันถธุระแล้ว ก็ได้ฝึกสอนในวิปัสนาภูมิต่อไป พระนาคเสนพยายามฝึกตนจนได้บรรลุอรหันต์แล้ว อาจาย์และอุปัชฌายะได้ส่งไปพบพระยามิลินท์ ซึ่งเป็นกษัตริย์ชาติอินโด - กรีก (ดูเรื่อง มิสินท์ - ลำดับที่....) ยกเข้ารุกรานอินเดีย จะเอาอินเดียทั้งหมดไว้ในปกครอง แต่จะไม่ใช้วิธีรบ จะใช้วิธีทำลายลัทธิโปรดให้ประชุมนักปราชญ์ในที่ต่าง ๆเข้ามาถึงเมืองปาฏลีบุตร ไม่มีผู้ใดจะแก้ได้ ในที่สุดได้เสด็จมาพบพระนาคเสน ได้ปุจฉาวิสัชนากันในปัญหาพระพุทธธรรม ทรงพอพระทัยและเลื่อมใสในพระนาคเสน ยอมมอบพระองค์เป็นศิษย์ ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกคนสำคัญพระองค์หนึ่ง ทรงเป็นธรรมราชาทรงปกครองโดยธรรม ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้า
                ในหนังสือชินกาลมาลินี ฉบับหอพระสมุดกล่าวว่า พระนาคเสนกับพระยามิสินท์เป็นผู้เริ่มสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า
แบบคันธารราฐ เป็นศิลปะอินเดียยุคแรก         ๑๕/ ๙๕๒๒
            ๒๘๑๕.
นาคารชุน เป็นพระมหาเถรรูปหนึ่ง ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง หนึ่งในจำนวนสิบสี่รูป ในประวัติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นผู้ประกาศธรรมสายกลางตามชื่อของนิกายว่า มัธยามิกะ ซึ่งอยู่ในสายของปรัชญาสุญวาท (ดูคำสุญวาท - ลำดับที่... ประกอบ...)
                พระนาครชุนเกิดในวรรณะพราหมณ์ ชาวเมืองวิทรรพ์, ในอินเดียตอนใต้ ตามตำราฝ่ายจีนเล่าว่า ตระกูลของท่านเป็นชาวอินเดียตะวันตก เกิดเมื่อราวปี พ.ศ.๗๐๐ ได้เล่าเรียนคัมภีร์พระเวทจนจบ ต่อมาได้ศึกษาวิชาพระพุทธศาสนากับท่านกษิมาลา ผู้เป็นศิษย์คนโปรดของท่าน
อัศวโฆษ ปฐมาจารย์ฝ่ายมหายาน บำเพ็ญเพียรอยู่ใต้ต้นพญางูและได้นามว่า "นาคารชุม" เพราะนิมิตนี้ ท่านได้อุปสมบทในสำนักของอาจารย์ และมีชื่อเสียงมากในการโต้ปัญหาปรัชญา สุญวาทกับบรรดาพราหมณาจารย์ในอินเดียภาคใต้เป็นพระเถระองค์แรก ที่ประกาศทิฐิว่าด้วยอมิตาภพุทธเจ้า และเป็นปฐมาจารย์ผู้ตั้งทรรศนะมัธยามิกะ  (ดูมัธยามิกะ-ลำดับที่ ...ประกอบ)
               พระนาคารชุนปฏิเสธคำสอนในศาสนาพราหมณ์อันเกี่ยวกับสุญตาข้างสุดโต่งทั้งสองข้าง เป็นฝ่ายประนีประนอมตามสายกลาง โดยแสดงทรรศนะว่า วิญญาณสูญหรือไม่สูญไม่ใช่ทั้งสองอย่าง วิญญาถาวรหรือไม่ถาวรไม่ใช้ทั้งสองอย่าง เมื่อความตายเกิดขึ้นและจะว่าวิญญาณดับ หรือไม่ดับก็ไม่ใช้ทั้งสองอย่าง ท่านอธิบายถึงความไร้แก่นสารของสิ่งทั้งหลาย แม้แต่อาตมันตามคติของพราหมณ์ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นสรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นนามหรือรูปจึงตกอยู่ที่สูญ (สุญตา) ทั้งหมด สุญตาจึงไม่ใช้ทั้งภาวะและอภาวะ
                พระนาคารชุนรจนาคัมภีร์พุทธศาสนาไว้ไม่น้อยกว่าร้อยเล่มที่สำคัญ และมีชื่อเสียงมากได้แก่ อรรถกกาแห่ง
คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร และอรรถกกาแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร (ดูสัทธรรมปุณฑริกสูตร-ลำดับที่... ประกอบ)
                ประวัติเกี่ยวกับพระนาคารชุนในตอนหลังยกย่องเป็นทางอิทธิปาฏิหาริย์ถึงกับยกย่องว่าท่านเป็นมหาโพธิสัตว์ หรือพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง
                ตำนานฝ่ายจีนกล่าวว่า ท่านมีศิษย์สำคัญองค์หนึ่งชื่อ อารยเทพ ศิษย์คนต่อมาชื่อพุทธปาลิต เป็นผู้สืบต่อปรัชญาของอาจารย์            ๑๕/ ๙๕๒๔
            ๒๘๑๖.
นาคาวโลก  เป็นชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง เรียกว่า "ปางนาคาวโลก" อยู่ในพระอิริยาบทยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยยื่นมาข้างหน้า ประทับไว้ที่พระเพลาข้างซ้าย พระหัตถ์ขวาห้อยลงข้างพระองค์ตามปรกติ เอี้ยวพระกายผินพักตร์เหลียวไปข้างหลัง เป็นกิริยาทอดพระเนตรนครไพศาลีผิดปรกติ ตามสามัญชอบพวกว่า "ดูสั่ง"
                ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธองค์รับสั่งกับพระอานนท์ว่า การเห็นเมืองไพศาลีของพระองค์เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย แล้วเสด็จไปประทับยังกูฎาคารศาลา ไปป่ามหาวันสถานที่เสด็จประทับยืนทอดพระเนตร พร้อมกับรับสั่งเป็นนิมิตรเช่นนั้น เป็นเจดียสถานอันสำคัญ เรียกว่า "
นาคาวโลกเจดีย์"
                คำว่า นาคาวโลก แปลว่าดูอย่างช้าง       ๑๕/ ๙๕๒๖
            ๒๘๑๗.
นาคู่โค  (ดูคู่โค-ลำดับที่ ๑๑๐๗)           ๑๕/ ๙๕๓๐
            ๒๘๑๘.
นางกวัก  เป็นไม้ล้มลุกต้นเตี้ย ใบงอกเป็นกระจุกรอบโคนแบบต้นบุกขอน ทั่วไปก้านใบหนา ตัวใบรูปไข่เกือบกลม ช่อดอกเป็นก้านชูขึ้นไป มีดอกที่ปลายดอกทำนองชีร่ม จำนวน ๒ - ๑๕ ดอก กลีบดอกสีเหลืองอ่อนรูปไข่หรือเกือบกลม
                ส่วนพรรณไม้ที่ทางกรุงเทพฯ เรียกว่า "ว่านนางกวัก"นั้น หาใช่ชนิดเดียวกับต้นนางกวักไม่          ๑๕/ ๙๕๓๐
            ๒๘๑๙.
นางนพมาศ  เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง เชื่อกันว่าผู้แต่งคือ นางนพมาศ มีตำแหน่งเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ พระสนมเอกของพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย หนังสือเรื่องนี้สันนิฐานว่า เนื้อเรื่องบางตอนคงจะเป็นของเดิมที่แต่งมาแต่สมัยสุโขทัย เช่น ตอนที่กล่าวถึงพิธีพราหมณ์ต่าง ๆ และมีข้อความที่แสดงว่าเป็นสำนวนใหม่ ที่แต่งซ่อมแซมขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ความตอนที่กล่าวถึงชนชาติต่าง ๆ มีกล่าวถึงชนชาติฝรั่ง มะริกันและบางตอนกล่าวถึงปืนใหญ่ ซึ่งในสมัยสุโขทัยยังไม่มีใช้
                เนื้อเรื่องมีความตอนต้นกล่าวถึงมนุษย์ชาติต่าง ๆ ต่อมาเป็นประวัติศาสตร์สมัยพระร่วง โดยสังเขป ประวัตินางนพมาศตั้งแต่ก่อนถวายตัว และความตอนท้ายกล่าวถึงพิธีพราหมณ์ต่าง ๆ ที่ทำในแต่ละเดือนเริ่มตั้งแต่พิธีจองเปรียง ซึ่งทำในเดือนสิบสองและไปจบลงในพิธีอาศยุธเดือนสิบเอ็ด          ๑๕/ ๙๕๓๒
            ๒๘๒๐.
นางนวล - นก  แบ่งออกเป็นสองวงศ์ย่อย คือ พวกนกนางนวลใหญ่ และพวกนกนางนวลชนิดเล็กลงมา ซึ่งมักเรียกกันว่านกนางนวลแกลบ นกในวงศ์นี้มีกระจัดกระจายอยู่ในท้องทะเล และมหาสมุทรแทบทั่วไปทุกแห่งในโลก
                นกนางนวลใหญ่มีในโลกนี้ ๔๓ ชนิด ในน่านน้ำไทยมีเพียงสองชนิด ส่วนนกนางนวลแกลบมีในโลกนี้ ๓๙ ชนิด มีในน่านน้ำไทย ๑๒ ชนิด           ๑๕/ ๙๕๓๒
            ๒๘๒๑.
นางนูน  เป็นไม้เถาพบขึ้นปกคลุมต้นไม้ตามป่าชื้น และป่าดิบทั่วไป รากเป็นหัว และโคนเป็นเถามักมีเนื้อแข็ง ใบเป็นแบบธรรมดา รูปใบมักเปลี่ยนแปลงตามอายุของต้นไม้ ช่อดอกสั้นมีดอกหนึ่งถึงหลายดอก ปลายช่ออาจกลายเป็นมือยึดเกาะได้ ดอกแยกเพศอยู่ต่างดอกกัน ผลมีเปลือกหนาแข็ง เวลาแก่แตกออกเป็นสามซีก เมล็ดสีดำ ช่อดอกและผลอ่อนบริโภคได้           ๑๕/ ๙๕๓๗
            ๒๘๒๒.
นางพระกำนัล คือกุลสตรีสาวที่ยังไม่ได้สมรส ถวายตัวเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทรับใช้ใกล้ชิด และมีหน้าที่ตามเสด็จ ฯ องค์พระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์ มีมาแต่โบราณกาล เป็นราชประเพณีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาล           ๑๕/ ๙๕๓๘
            ๒๘๒๓.
นางไม้  เป็นเจ้าผีผู้หญิงที่สิงอยู่ตามต้นไม้ คตินี้ถือร่างต้นไม้ใหญ่ในป่าเป็นที่อยู่ของผีสางเทวดาที่เรียกกันว่ารุกขเทวดา หรือนางไม้  และว่าผีจำพวกนางไม้นั้นเป็นสาวสวยมาก ไว้ผมยาวปะบ่า ห่มผ้าสะฟักเฉวียงบ่า นุ่งผ้าจีบอย่างละคร        ๑๕/ ๙๕๓๙
            ๒๘๒๔.
นางแย้ม  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๑ - ๑.๕ เมตร กิ่งสี่เหลี่ยมมีปลูกตามบ้านทั่วไป ใบออกตรงข้ามกัน รูปไข่อย่างกว้างปลายใบแหลม โคนใบเว้าแบบหัวใจ ช่อดอกสั้นแน่น กลีบดอกเชื่อมติดกัน ดอนโคนเป็นหลอดสั้น ๆ สีขาวหรือสีชมพูเรื่อ ๆ กลิ่นหอม           ๑๕/ ๙๕๔๐
            ๒๘๒๕.
นางรอง  อำเภอขึ้น จ.บุรีรัมย์ ภูมิประเทศทางตอนใต้เป็นที่ราบสูงมีป่า และเขามาก ตอนกลางและตอนเหนือเป็นที่ราบสูง มีห้วยลำธารหลายสาย
                อ.นางรองเป็นเมืองเก่าสมัยขอม มีโบราณสถานสมัยนั้นปรากฏอยู่หลายแห่ง มีปรากฏชื่อในพงศาวดารกรุงธนบุรีว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๙ พระยานางรองเป็นกบฏไปคบคิดกับเจ้าอินเจ้าโอเมืองจำปาศักดิ์ถึงต้องยกทัพไปปราบ เป็นเหตุให้ได้เมืองจำปาศักดิ์มาเป็นของไทย และเกลี้ยกล่อมได้เขมรป่าดง เมืองตะลุง เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขันธ์ด้วย            ๑๕/ ๙๕๔๑
            ๒๘๒๖.
นางรำ  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๕๐ - ๑๒๐ ซม. บางท้องถิ่นเรียกว่า ช้อยนางรำ ช้องนางรำ (กลาง) ว่านมีดพับ (ลำพูน) ฯลฯ
                โดยที่ใบข้างของไม้ชนิดนี้เคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา จึงได้ชื่อดังกล่าว ใบเป็นแบบใบผสมมีสามใบ ช่อดอกสั้นออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง แตกแขนงยาว รูปดอกแบบดอกถั่วขนาดเล็ก กลีบดอกสีม่วงอ่อน เปลี่ยนเป็นสีส้มเวลาแก่ ฝักเล็ก ยาว ๑ - ๔ ซม.งอโค้ง           ๑๕/ ๙๕๔๒
            ๒๘๒๗.
นางเล็ด  เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำเป็นแผ่นกลมโรยน้ำตาลจัดเป็นขนมแห้งมีรสหวานมันกรอบ           ๑๕/ ๙๕๔๒
            ๒๘๒๘.
นางสนองพระโอษฐ์  เป็นสตรีอันมีศักดิ์ที่พระอัครมเหสี ทรงโปรดเกล้าให้มีหน้าที่รับพระราชเสาวนีย์ไปปฎิบัติ หรือเชิญพระราชเสาวนีย์ไปติดต่อข้อราชการตามพระราชประสงค์ แจ้งต่อข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้า เพราะตามราชประเพณีโบราณนั้น นางพระกำนัลจะติดต่อหรือแจ้งพระราชเสาวนียแก่ข้าราชการฝ่ายหน้านั้นไม่ได้ 

นางสนองพระโอษฐ์นี้มีกำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาล ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาท้าวนางผู้ใหญ่ที่โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง          ๑๕/ ๙๕๔๔
            ๒๘๒๙.
นางสิบสอง  เป็นชื่อลูกสาวเศรษฐีและเป็นอัครมเหสีของพระเจ้ารถสิทธิราช แห่งเมืองกุตารนคร ในเรื่องนิทานชาดกส่วนปัญญาสชาดก
                เรื่องนางสิบสองนี้ในตำนานเมืองพระรถ มีนิทานพื้นบ้านคล้ายกับในนิทานชาดกนี้            ๑๕/ ๙๕๔๖
            ๒๘๓๐.
นางหงส์  เป็นชื่อของวงปี่พาทย์ชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับบรรเลงในงานศพ นอกจากนั้นยังเป็นชื่อเพลงดนตรี ซึ่งบรรเลงประกอบกันขึ้นเป็นชุดเรียกว่า เพลงชุดนางหงส์อีกด้วย ใช้บรรเลงแต่เฉพาะในงานศพเช่นเดียวกัน            ๑๕/ ๙๕๕๒
            ๒๘๓๑.
นาเชือก  อำเภอขึ้น จ.มหาสารคาม ภูมิประเทศเป็นที่ราบ
                อ.นาเชือกแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๓ โดยยก ต.นาเชือกใน อ.พยัคฆภูมิพิสัยเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น อ.บรบือ ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖          ๑๕/ ๙๕๕๓
            ๒๘๓๒.
นาฎกรรม  หมายความถึง การฟ้อนรำ หรือการละคร  การฟ้อนรำ หมายถึงการร่ายรำที่ใช้แขนและมือเป็นส่วนสำคัญมีศรีษะ หน้า ลำตัว ขา และเท้า เป็นส่วนประกอบ  การละคร หมายเฉพาะแต่การแสดงที่ดำเนินเป็นเรื่องเป็นราวอาจใช้ท่าร่ายรำซึ่งเรียกว่า ละครรำ หรือการแสดงที่ไม่ใช้ท่ารำใช้เแต่ท่าสามัญชนก็ได้           ๑๕/ ๙๕๕๔
            ๒๘๓๓.
นาฎบุตร  เป็นชื่อเจ้าลัทธิคนหนึ่งในจำนวนหกคนที่เรียกว่า ครูทั้งหก ในสมัยพุทธกาล ชื่อเต็มที่เรียกกับทางพระพุทธศาสนาคือ นิคัณฐะ นาฏปุตตะ หรือนิครนถ์ นาฏบุตร
                นิครนถ์ นาฏบุตร เป็นคนเดียวกับศาสดา
มหาวีระ แห่งศาสนาเช่น มีนายเดิมว่า วรรธมานะ เป็นโอรสพระเจ้าสิทธารถ ซึ่งเป็นหัวหน้าเผ่ากษัตริย์ตระกูลนักฟ้อน พระมารดาเป็นกนิษฐภคินีของพระเจ้าเชตกะ หัวหน้าเผ่าลิจฉวี
                นาฏบุตรแก่กว่าพระพุทธเจ้าและผนวชก่อนพระพุทธเจ้า
                นิครนถ์ นาฏบุตรดับขันธ์ที่เมืองปาวา และหลังจากนั้นไม่นานสาวกของท่านได้แตกออกเป็นสองพวก (ดูนิครนถ์ - ลำดับที่ ๒๘๘๙  ประกอบ)         ๑๕/ ๙๕๕๙
            ๒๘๓๔.
นาฏราช  หมายถึง เจ้าแห่งการฟ้อนรำ เป็นสมญานามที่แพร่หลายนามหนึ่ง ของพระศิวะหรือพระอิศวร ในฐานะที่ทรงเป็นเทพผู้ประทานกำเนิดการฟ้อนรำในโลก           ๑๕/ ๙๕๖๕
            ๒๘๓๕.
นาฏศิลป์ ๑  หมายถึง ศิลปะแห่งการฟ้อนรำ หรือศิลปะแห่งการแสดงละคร           ๑๕/ ๙๕๗๒
            ๒๘๓๖.
นาฏศิลป์ ๒ - วิทยาลัย  เป็นชื่อสถานศึกษาของกรมศิลปกรซึ่งสอนวิชาสามัญ และวิชาร้องรำทำเพลง เปิดเรียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ ในชื่อว่าโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ สอบวิชาสามัญตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการกับวิชานาฏศิลป์ไทย ดุริยางค์ไทย และคีตศิลป์ไทย ถึงชั้นมัธยมปีที่แปด ต่อมากรมศิลปกรได้รับโอนข้าราชการกรมมหรสพจากกระทรวงวัง ซึ่งสามารถเป็นครูได้ทั้งทางนาฏศิลป์และช่าง จึงขยายกิจการโรงเรียนขึ้นเป็นสองแผนก ชื่อว่า โรงเรียนศิลปากรแผนกนาฏดุริยางคกับแผนกช่าง ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๘๕ โรงเรียนศิลปกรแผนกนาฏดุริยางค์ปรับปรุงหลักสูตรและชั้นเรียนใหม่ให้หนักไปในวิชาศิลปะ เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสังคีตศิลป์ ปี พ.ศ.๒๔๘๘ ได้มีการปรับปรุงโรงเรียนอีกครั้งให้มีวิชาเรียนเป็นหกสาขา คือ นาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์สากล (บัลเล่ย์) ดุริยางค์ไทย ดุริยางค์สากล สังคีตศิลป์ไทย และสังคีตศิลป์สากล กำหนดเรียนเป็นสามชั้น คือ ชั้นต้น หกปี (เทียบ ม.๖) ชั้นกลางสามปี (เทียบ ป.ป.ช.) ชั้นสูงสองปี (เทียบ ป.ม.ช.) เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนนาฏศิลป์ ต่อมาได้รับยกวิทยฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัย ชื่อ วิทยาลัยนาฏศิลป์          ๑๕/ ๙๕๗๖
            ๒๘๓๗.
นาดำ  มีบทนิยามว่า "นาที่มีคันน้ำขังได้ เมื่อไถดะ ไถแปรและคราด ทำเทือกแล้วจึงเอาต้นกล้ามาดำ" โดยนัยนี้นาดำเมื่อไถดะ ไถแปร และคราดแล้วจะต้องตกกล้าเสียก่อนแล้วจึงถอนกล้าไปปักดำในแปลงนี้จะปักดำโดยทำเป็นขั้นตอนคือ ทำเป็นร่องตื้น ๆ ห่างกันประมาณ ๑ - ๑.๒๕ เมตร ให้แปลงยาวไปตามทิศทางลม เพื่อให้อากาศบริเวณแปลงตกกล้าถ่ายเทได้สะดวก ปรับหน้าแปลงให้สม่ำเสมอไม่ให้เป็นแอ่งน้ำ ปล่อยให้น้ำไหลลงร่องที่เบิกไว้ทั้งหมด เมื่อปรับหน้าแปลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงหวานปุ๋ยแล้วจึงหว่านข้าว ที่ได้แช่หนึ่งคืนหุ้มสองคืน โดยโรยลงบนหลังแปลงไม่เกินแปดถังต่อเนื้อที่หนึ่งไร่ เมื่อกล้าเริ่มตั้งหน่อได้แล้วจึงค่อยๆ ระบายน้ำเข้าไปในแปลง รักษาระดับน้ำในแปลงตกกล้าให้พอดี อย่าให้ลึกเกินไปหรือน้ำแห้ง กล้าที่ดีควรมีลำต้นโต ใบค่อนข้างสั้นแต่กว้าง
                เมื่อกล้าอายุได้ ๒๕ - ๓๐ วัน ก็ถอนไปปักดำ          ๑๕/ ๙๕๗๗
            ๒๘๓๘.
นาทวี  อำเภอ ขึ้น จ.สงขลา ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ต.นาทวีเคยเป็นที่ตั้ง อ.จะนะมาก่อน มีอาณาเขตทิศใต้จดทิวเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย ภูมิประเทศทางตะวันออก ทิศใต้และทางตะวันตกเป็นป่ามีภูเขาล้อมรอบ          ๑๕/ ๙๕๗๘
            ๒๘๓๙.
น่าน  จังหวัดภาคเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือ และทิศตะวันออกจดประเทศลาว ทิศใต้จด จ.อุตรดิตถ์ ทิศตะวันตกจด จ.เชียงราย จ.ลำปางและจ.แพร่ ภูมิประเทศเป็นที่ดอน มีป่าและภูเขาทั่ว ๆ ไป มีโบราณสถานที่สำคัญคือ พระธาตุแช่แห้ง ประชากรในจังหวัดนี้นอกจากไทยแล้ว ยังมีพวก ทิ่น ฮ่อ ขมุ แม้ว เย้า ผีตองเหลือง รวมอยู่ด้วย
                จ.น่าน ในพงศาวดารเมืองน่าน กล่าวว่า ท้าวผากองราชวงศ์ภูคา เมืองปัวเป็นผู้สร้าง เมื่อปี พ.ศ.๗๓๐ ราชวงศ์ภูคาครองเมืองต่อมาได้ ๑๖ ชั่ว ในระยะเหล่านี้ เมืองน่านได้มาฝักใฝ่อยู่กับพญาเชลียงจึงเสียเมืองแก่พระเจ้าติโลกราช เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๓ เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชแล้วอำนาจเชียงใหม่เสื่อมลงจนตกไปเป็นของพม่า เมืองน่านก็ขึ้นแก่พม่าต่อมา บางคราวเมื่อไทยมีอำนาจก็กลับได้ลานนาไทยคืนมา จนถึงสมัยพระเจ้าตากสิน ฯ เมื่อลานนาไทยมาขึ้นแก่ไทยแล้ว เมืองน่านก็มาสวามิภักดิ์ต่อไทยด้วย          ๑๕/ ๙๕๗๙
            ๒๘๔๐.
นานกิง  เป็นชื่อนครใหญ่แห่งหนึ่งของจีน เป็นเมืองหลวงของมณฑลเกียงสู ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแยงซี เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและคมนาคม ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีน
                นานกิงเดิมมีชื่อว่า จินหลิง เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติยาวนานกว่า ๒,๐๐๐ ปี และมีชื่อเรียกต่าง ๆ ตามยุคสมัย เป็นเมืองหลวงของจีนในสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.๑๙๑๑ - ๒๑๘๗) ในปี พ.ศ.๑๙๑๑ พระเจ้าไท่จู่ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิงทรงขนานนามเมืองหลวงนี้ว่ายิ่งเทียน ครั้นถึงรัชสมัยพระเจ้าเฉินจู่ รัชการที่สามแห่งราชวงศ์หมิงได้ย้ายราชสำนักไปตั้ง ณ กรุงปักกิ่ง (นครหลวงเหนือ) ในปี พ.ศ.๑๙๖๔ เมืองยิ่งเทียนจึงเปลี่ยนชื่อเป็นหนันจิ่ง (เมืองหลวงใต้) และยังคงเป็นเมืองหลวงแฝดต่อไป เมื่อพวกแมนจูเข้ามายึดครองประเทศจีน ได้เปลี่ยนชื่อเมืองนี้เป็นเจียงหนิง แต่ก็ยังคงนิยมเรียกนานกิงสืบต่อมา
                เมืองนานกิงเป็นที่ลงนามในสนธิสัญญานานกิง ในปี พ.ศ.๒๓๘๕ ซึ่งยุติสงครามฝิ่น เป็นผลให้จีนต้องเปิดเมืองท่าสำคัญห้าเมือง สำหรับการค้ากับต่างประเทศ
                เมื่อเกิดขบถไต้เผง (ไท่ผิง) นานกิงเป็นเมืองหลวงของฝ่ายขบถ ตั้งปี พ.ศ.๒๓๙๖ ถึง พ.ศ.๒๔๐๗ และเปลี่ยนชื่อเป็นเทียนจิง
                ในระหว่างการปฏิวัติของจีน เมืองนานกิงถูกกองทัพปฏิวัติของ ซุนยัดเซ็นยึดได้ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ และใช้เป็นที่ตั้งชั่วคราวของรัฐบาลปฏิวัติในปี พ.ศ.๒๔๗๑ นานกิงเป็นเมืองหลวงของรัฐบาลจีนคณะชาติของเจียงไคเช็ก
                ในสงครามจีน - ญี่ปุ่น เมืองนานกิงตกเป็นของญี่ปุ่นในปี พ.ศ.๒๔๘๐ หลังจากที่รัฐบาลจีนคณะชาติได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่เมือง จุ้งชิ่ง เมื่อญี่ปุ่นลงนามยอมจำนนแก่จีนในกรุงนานกิงเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ แล้ว รัฐบาลจีนคณะชาติได้ย้ายเมืองหลวงกลับมาที่เมืองนานกิงอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ต่อมาเมื่อนานกิงถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดครองได้ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ รัฐบาลจีนได้กลับไปใช้กรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวงอีกครั้งหนึ่ง           ๑๕/ ๙๕๘๐
            ๒๘๔๑.
น่านเจ้า  เป็นชื่ออาณาจักรไทย วีรบุรุษไทยผู้หนึ่งชื่อสินุโลได้รวบรวมแคว้นต่าง ๆ ของชาวไทยรวมหกแคว้นตั้งเป็นอาณาจักรน่านเจ้า (เจ้าฝ่ายใต้) ใกล้เมืองหว่าติงใบ มณฑลยูนนาน อาณาจักรน่านเจ้าได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๑๙๗
              
พระเจ้าสินุโล (พ.ศ.๑๑๙๔ - ๑๒๑๗) ได้แต่ทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีนแห่งราชวงศ์ถัง พระเจ้าพีล่อโก๊ะ (พ.ศ.๑๒๗๑ - ๑๒๙๑) เป็นกษัตริย์ที่ทรงอานุภาพได้โค่นอำนาจเจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหกเข้ามาอยู่ในอำนาจของพระองค์โดยตรง พระองค์ได้รับความยกย่องจากจีนเป็นอันมาก เคยเสด็จไปสู่ราชสำนักจีน ช่วยจีนทำศึกกับทิเบต ตลอดจนปราบขบถและโจรผู้ร้ายตามหัวเมือง พระเจ้าโก๊ะล่อฝง พระราชโอรสพระเจ้าพีล่อโก๊ะ ได้ครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๒๙๑ ทรงย้ายราชธานีไปอยู่ที่ เมืองหนองแส หรือตาลีฟู ในมณฑลยูนนาน มีสาเหตุให้พระองค์กลายเป็นศัตรูกับจีน นำทัพเข้าตีดินแดนจีน กองทัพจีนพ่ายแพ้ถึงสองครั้ง ต่อมาพระองค์ได้ไปผูกไมตรีกับทิเบตเพื่อเพิ่มกำลังไว้สู้กับจีน กองทัพจีนบุกรุกดินแดนน่านเจ้าอีกครั้งในปี พ.ศ.๑๒๙๗ แต่ถูกตีล่าถอยกลับไป
                ในปี พ.ศ.๑๓๒๑ พระเจ้าอิโมสุน ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าโก๊ะล่อฝงได้ครองน่านเจ้าระหว่างปี พ.ศ.๑๓๒๑ - ๑๓๕๑ พระองค์ทรงเปิดฉากโจมตีจีนโดยอาศัยกองทัพทิเบตแต่ถูกตีโต้ล่าถอยกลับมา ต่อมาพระเจ้าอิโมสุมได้เห็นว่าน่านเจ้าไม่ได้ประโยชน์จากการเป็นไมตรีกับทิเบตจึงมีพระราชสารถึงพระเจ้ากรุงจีนว่า น่านเจ้าดูเหมือนจะเสียเปรียบในความสัมพันธ์กับทิเบต พอดีเวลานั้นพระเจ้าไท่จงแห่งราชวงศ์ถัง โปรดให้เจ้าเมืองเช็งตูเป็นทูตมาทาบทามขอเป็นไมตรีด้วย พระองค์จึงรับเป็นไมตรีกับจีน ต่อมาในปี พ.ศ.๑๓๓๗ ทิเบตแต่งกองทัพไปตีจีน และขอให้น่านเจ้าส่งกองทัพไปช่วย แต่กองทัพน่านเจ้ากลับตีกองทัพทิเบต เกิดการบกันที่แม่น้ำสาละวิน กองทัพทิเบตแพ้และเสียเมืองใหญ่น้อยหลายเมืองแก่กองทัพน่านเจ้า
                ต่อจากรัชสมัยพระเจ้าอิโมสุนแล้วมีกษัตริย์ครองน่านเจ้าอีกห้าองค์ น่านเจ้ากลับไปเป็นปรปักษ์ต่อจีน ครั้นถึงปี พ.ศ.๑๔๒๐ พระเจ้าลุงชุนขึ้นครองราชย์ รู้จักกันโดยพระนามว่า "พระเจ้าฟ้า" (พ.ศ.๑๔๒๐ - ๑๔๔๐) พระองค์โปรดให้ทำไมตรีกับจีน พระราชโอรสของพระองค์ได้พระราชธิดาเจ้ากรุงจีนเป็นพระชายา ยังผลให้น่านเจ้ากับจีนสนิทสนมกันยิ่งขึ้นพระเจ้าฟ้า ถูกขันทีลอบปลงพระชนม์ พระเจ้าชุนวาเชง พระราชโอรสของพระเจ้าลุงชุนก็ถูกลอบปลงพระชนม์เช่นเดียวกัน บ้านเมืองเริ่มเสื่อมลง ฝ่ายจีนแทรกซึมมีอำนาจปกครองเหนือน่านเจ้าขึ้นเป็นลำดับ ในเวลาเดียวกันชาวจีนสาขาต่าง ๆ เช่น พวกโลโล้ได้อพยพเข้าไปอยู่ในน่านเจ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดเมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๖ กองทัพพระเจ้ากุบไลข่านหรือง่วนสีโจ๊วฮ่องเต้แห่งราชวงศ์หงวนได้เข้าตีอาณาจักรน่านเจ้าได้ น่านเจ้าจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน
                อาณาจักรน่านเจ้ามีการปกครองเป็นระเบียบ การบริหารราชการแผ่นดินแบ่งออกเป็นเก้ากระทรวง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสำมะโนครัว และกระทรวงวังหรือราชประเพณีเป็นต้น อาณาจักรน่านเจ้าแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๑๐ มณฑล แต่ละมณฑลมีเมืองเอก เมืองโท เมืองตรีและเมืองจัตวา แต่ละเมืองมีเจ้าเมืองและข้าราชการแผนกต่าง ๆ ลดหลั่นกันลงมาเป็นสี่ชั้น คือ ชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรีและชั้นจัตวา ข้าราชการได้รับพระราชทานที่นาสำหรับทำกิน เพื่อหารายได้มากน้อยตามฐานะคล้ายระบบศักดินาของไทย ราษฎรมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของที่ดินตามที่ทางราชการกำหนดไว้ เหมือนกับข้าราชการ และเสียภาษีเป็นสิ่งของ           ๑๕/ ๙๕๘๒
            ๒๘๔๒.
นาน้อย  อำเภอขึ้น จ. น่าน ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบ นอกนั้นเป็นป่าและเขา ในเขต อ.นาน้อย เดิมเป็นเมืองเล็ก ๆ หลายเมือง คือ เมืองศรีษะเกษ เมืองหิน เมืองสี มีพ่อเมืองปกครองขึ้นนครน่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ทางราชการได้ตั้งข้าหลวงไปควบคุมการปกครองเรียกว่า ข้าหลวงประจำบริเวณ ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๐ เลิกตำแหน่งนี้แล้วรวมเมืองสามเมืองเข้าเป็นอำเภอเรียกว่า อ.ศรีษะเกษ ตั้งที่ว่าการที่ ต.นาน้อย แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.นาน้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖             ๑๕/ ๙๕๘๖
            ๒๘๔๓.
นานักคุรุ   เป็นศาสดาผู้ประกาศศาสนาซิกองค์ปฐม (ดูคำ "ซิก" - ลำดับที่ ๑๘๔๓ ประกอบ) ท่านนานักคุรุ (พ.ศ.๒๐๑๒ - ๒๐๘๑) เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๒ ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ตำบลหนึ่งชื่อตัลวันที ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นานักนคร อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองลาฮอร์ เมืองหลวงของแคว้นปัญจาบ ประมาณ ๔๘ กม. ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน ท่านอยู่ในตระกูลพราหมณ์ ท่านมีนิสัยเสียสละมาแต่เดิม เวลาเดินไปไหนจะสำรวม บางครั้งชอบพาเพื่อนเด็ก ๆ ออกไปในที่สงบเงียบ แล้วชวนให้นั่งสมาธิสวดมนต์ด้วยกัน มีนิสัยชอบสมณะและพราหมณ์ สงสัยสิ่งใดก็ไต่ถามแสวงหาความรู้จนหมดสงสัย จึงเป็นที่รักของคนทั้งหลายมาแต่เยาว์
                เมื่ออายุได้เจ็ดปี ได้เข้าศึกษาในโรงเรียน ท่านได้แสดงปัญญาสามารถ ไต่ถามความรู้เรื่องพระเจ้าต่ออาจารย์ มีความรู้แตกฉานในคัมภีร์ไตรเพท ตั้งแต่อายุเก้าปี มีความเพียรแรงกล้า ปรารถนาเรียนรู้ศาสนศาสตร์ของเพื่อนบ้าน จึงศึกษาภาษาเปอร์เซีย (อิหร่าน) เพื่อเรียนรู้
ศาสนาปาร์ซี (ดูคำ "ปาร์ซี-ลำดับที่... ประกอบ) จนเจนจบในวิทยาการนั้น ๆ จนสามารถปุจฉาวิสัชนาได้ในระหว่างคณาจารย์แห่งศาสนาอื่น ชาวซิกเชื่อกันว่าคัมภีร์ของศาสนาซิกที่เรียกว่า ครันถ์ ได้หลักหลายหลักมาจากคัมภีร์ในศาสนาปาร์ซี ที่ยังจารึกเป็นภาษาเปอร์เซีย อยู่ก็มีและเชื่อว่าปฐมศาสดาของตนสั่งสอนได้ตั้งแต่อายุเก้าปี ครูของท่านมีสี่คนมีทั้งที่เป็นพราหมณ์ มุสลิม
                นานักได้มีโอากาศเดินทางไกลได้ศึกษาภูมิประเทศ และชีวิตคน และได้แต่งงานเมื่อมีวัยสมควร นานักตั้งตัวเป็นซิก มุ่งหน้าแต่การศึกษา เมื่อถึงเวลาจะสั่งสอนคนอื่นได้ก็ตั้งตัวเป็นครู เที่ยวสั่งสอนคนตั้งแต่เป็นแพทย์เที่ยวพยาบาลคน และเที่ยวแนะนำให้คนทั้งหลายอยู่ในความยุติธรรม
                ก่อนหน้าที่นานักจะละบ้านเรือนเที่ยวสั่งสอนคน มีประวัติประกอบเป็นสองเรื่องด้วยกัน เรื่องหนึ่งคือ ระหว่างนั้นเกิดความขัดแย้งแข่งดีกันขึ้น ระหว่างพวกนับถือศาสนาฮินดูกับพวกนับถือศาสนาอิสลาม มุสลิมใช้อำนาจการเมืองเข้าข่มขี่ชาวฮินดูทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในบ้านเมือง ประกอบกับชีวิตครอบครัวไม่ปรกติสุข นานักจึงหลีกหนีไปหาความสงบอยู่ในป่าเมื่ออายุ ๓๖ ปี นานักได้รับปรากฏการณ์ทางจิต ว่ามีผู้ศักดิ์สิทธิ์คนหนึ่งให้ดื่มน้ำอมฤต และบอกว่าจะอยู่กับนานักให้นานักทำให้โลกสะอาดเป็นผู้มีเมตตา เป็นผู้สะอาด ทำใจเป็นสมาธิ และให้นานักเป็นคุรุ (ครู) ของคนทั้งหลาย หลังจากนั้นนานักก็สละสมบัติส่วนตัวทั้งหมด ท่องเที่ยวไปด้วยเครื่องแต่งกายชุดเดียว
                นานักมุ่งแก้ไขความขัดแย้งทุกทางด้วยการยอมตัวเป็นทั้งฮินดูและมุสลิมเพื่อน้อมนำศาสนิกทั้งสองฝ่ายให้ได้คติเป็นกลาง ท่านสอนว่าซิกเป็นศาสนาของคนทั้งหลาย พระเจ้าเป็นผู้ปราศจากภัย ปราศจากเวร เป็นผู้สร้างไม่ใช่เป็นผู้ทำลาย ไม่มีพระเจ้าสำหรับชาวมุสลิม ไม่มีพระเจ้าสำหรับชาวฮินดู เรามีพระเจ้าหนึ่งเดียว ผู้เป็นเจ้าโลก ไม่โปรดวรรณะ หรือลัทธิอันแยกบัญญัติไปแต่ละอย่าง พระเจ้าไม่มีความเกลียด ไม่มีการแช่งสาป เหมือนพระเจ้าองค์อื่น
                ในขณะที่ชาวฮินดูกับมุสลิมวิวาทกันด้วยเรื่องเชื้อชาติและศาสนา ท่านกลับมุ่งมั่นให้ฮินดูกับมุสลิมเลิกรังเกียจเดียจฉันท์กัน
                ตามประวัติปรากฏว่าท่านได้เดินทางไปเทศนาออกไปทั้งสี่ทิศ กำหนดเป็นเมืองใหญ่ได้หลายเมืองมีเดลี โครักขฆาต พาราณสีเป็นต้น และตลอดลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร อันเป็นแหล่งกลางของศาสนาฮินดู ขึ้นไปถึงแคว้นแคชเมียร์ ท่านใช้เวลาอยู่ในดินแดนเหล่านี้อยู่ ๑๒ ปี แล้วออกเดินทางไปสู่อินเดียภาคใต้ลงไปถึงแคว้นมัทราส อันเป็นศูนย์กลางของศาสนาเชน ข้ามไปเกาะลังกา และตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย และออกไปถึงแคว้นอาหรับ เข้านครเมกกะศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม ไปถึงเมืองเมตินะและนครแบกแดดในอิรัก
                นานักได้รับการยกย่องเป็นศาสดา (คุรุ) คนแรกในจำนวนสิบคนของศาสนาซิก           ๑๕/ ๙๕๘๗
            ๒๘๔๔.
นาปรัง  มีบทนิยามว่า "นาที่ต้องทำนอกฤดูทำนา เพราะในฤดูทำนาน้ำมักจะมากเกินไป" โดยนัยนี้นาปรังก็คือนาข้าวที่ทำนอกฤดูกาลจากนาปี ข้าวที่ใช้ทำนาปรังเป็นข้าวที่แสงไม่มีอิทธิพลต่อการออกดอก หรือมีน้อยมากซึ่งเรียกว่า ข้าวไม่ไวแสง เป็นข้าวที่ออกดอกตามอายุ ข้าวนาปรังนี้นำไปปลูกในฤดูนาปีได้ ถ้าสามารถควบคุมระดับน้ำได้ เพราะข้าวนาปรังส่วนใหญ่มักจะต้นเตี้ย ถ้าน้ำมีระดับสูงเกินไปจะท่วมเสียหาย           ๑๕/ ๙๕๙๔
            ๒๘๔๕.
นาปี  คือ ข้าวที่ทำในระหว่างเดือน เมษายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูทำนาตามปรกติ พันธุ์ข้าวนาปีจะออกดอกตามวันและเดือนที่ค่อนข้างตายตัว เนื่องจากช่วงของแสงต่อวันบังคับ ข้าวที่ปลูกในนาปีเมื่อกลางวันยาวขึ้นก็จะเจริญทางลำต้น ไม่ออกรวงหรือถ้าออกรวงได้ก็จะออกรวงไม่พร้อมกันในต้นเดียวกัน เมื่อช่วงของกลางวันเริ่มสั้นลง ข้าวพวกนี้จะเจริญทางพันธุ์ ดังนั้น การทำนาล่า เช่น ปักดำในเดือนตุลาคม ต้นข้าวจะเตี้ย แตกกอน้อย รวงเล็ก เพราะข้าวยังไม่เจริญทางลำต้นก็ต้องมาเจริญทางพันธุ์เสียแล้ว           ๑๕/ ๙๕๙๕
            ๒๘๔๖.
นาฟางลอย (ดูนาเมือง - ลำดับที่ ๒๘๔๘)           ๑๕/ ๙๕๙๖
            ๒๘๔๗.
นามธารี  เป็นนิกายสำคัญนิกายหนึ่งในศาสนาซิก เกิดขึ้นภายหลังสิ้นโควินทสิงห์คุรุคนที่สิบ ซึ่งเป็นศาสดาองค์สุดท้าย แต่นิกายนามธารีตั้งข้อนิยามว่า ศาสนาซิกต้องมีศาสดาเป็นผู้นำสืบศาสนาต่อไป คุรุองค์ที่ ๑๑ มีนามว่าคุรุบาลักสิงห์ คุรุองค์ที่ ๑๒ ชื่อศรีสัตยคุรุรามสิงห์องค์ที่ ๑๓ ชื่อศรีสัตยคุรุหริสิงห์คือองค์ปัจจุบัน เฉพาะพวกนามธารีไม่เกี่ยวกับซิกนิกายอื่น            ๑๕/ ๙๕๙๖
            ๒๘๔๘.
นามบัตร  เป็นแผ่นชื่อพิมพ์บนกระดาษแข็งอย่างบางขนาดเล็กเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๔ x ๖ ซม. จะเล็กกว่าหรือใหญ่กว่านี้ก็ได้ มักจะใช้กระดาษสีขาว กระดาษสีไม่เป็นที่นิยมและไม่ใช้ในวงราชการ
                กล่าวกับว่าการใช้นามบัตรหรือสิ่งในทำนองเดียวกันมีมาตั้งแต่กาลดึกดำบรรพ์ในประเทศจีน ส่วนในยุโรปมีการใช้นามบัตรในประเทศเยอรมนี มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑
                นามบัตรส่วนตัวมีสามลักษณะคือ นามบัตรที่มีชื่ออย่างเดียว นามบัตรคู่สามีและภริยา และนามบัตรสองลักษณะที่กล่าวมานี้ แต่แจ้งที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ไว้ด้วย         ๑๕/ ๙๕๙๙
            ๒๘๔๙.
นาเมือง  มีบทนิยามว่า "เรียกข้าวเปลือกที่มีเมล็ดสิ้นเนื้อฟ่ามว่าข้าวนาเมือง" โดยนัยนี้นาเมืองก็คือ นาที่เรียกว่า นา "ข้าวขึ้นน้ำ" ซึ่งข้าวประเภทนี้มักใช้วิธีหว่านสำรวย เนื่องจากมีรากยาว ถอนยาก ข้าวชนิดนี้มีลักษณะพิเศษคือสามารถหนีน้ำที่บ่ามาได้รวดเร็ว สามารถแตกแขนงตามข้อได้ และตามข้อมักจะมีรากออกมา ดังนั้นข้าวพวกนี้แม้จะขาดลอยจากโคนต้นเดิมแล้ว ก็ยังสามารถหาอาหาร และออกรวงได้ตามปรกติข้าวฟางลอย หรือข้าวขี้นน้ำจะปลูกในท้องที่ซึ่งมีระดับน้ำสูงตั้งแต่ ๑ เมตรขึ้นไปถึง ๔ เมตร หรือกว่านั้น ข้าวนาเมืองไม่ว่าจะตื้นหรือลึกจะล้มทั้งนั้น           ๑๕/ ๙๖๐๒
            ๒๘๕๐.
นายกเทศมนตรี  คือ หัวหน้าคณะเทศมนตรี ในสมัยโบราณนายกเทศมนตรีในยุโรปส่วนใหญ่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลหรือราชการฝ่ายปกครอง
                นายกเทศมนตรีของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปส่วนใหญ่สภาเทศบาลเป็นผู้เลือก โดยเลือกจากสมาชิกสภาเทศบาลนั้นเอง แต่ในสวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา อเมริกา และนิวซีแลนด์ นายกเทศมนตรีได้รับเลือกโดยประชาชนในท้องถิ่นนั้นเลยทีเดียว
                ประเทศไทยมีระบบเทศบาลหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยมี พ.ร.บ. ระเบียบเทศบาล พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นกฏหมายฉบับแรกจำแนกเทศบาลออกเป็นสามประเภทคือ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร
                เมื่อมีเทศบาลทำหน้าที่ปกครองท้องถิ่นแล้ว หน้าที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านย่อมมารวมอยู่ในหน้าที่ของคณะผู้บริหารคือคณะเทศมนตรี           ๑๕/ ๙๖๐๓
            ๒๘๕๑.
นายกรัฐมนตรี  คือ ผู้นำคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นคณะผู้บริหารของประเทศที่เรียกว่า คณะรัฐบาล ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้ มีต้นกำเนิดจากประเทศฝรั่งเศษ เมื่อตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒
                นายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นประมุขแห่งรัฐ แต่อยู่ภายใต้ประมุขแห่งรัฐซึ่งอาจเป็นกษัตริย์ ประธานาธิบดี หรือประธานผู้นำองค์กรการปกครองสูงสุดของประเทศนั้น ๆ แต่นายกรัฐมนตรีบางประเทศเป็นประมุขแห่งรัฐด้วย
                นายกรัฐมนตรีของบางประเทศเลือกตั้งโดยประชาชน บางประเทศแต่งตั้งจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง เว้นแต่กรณีรัฐบาลผสม         ๑๕/ ๙๖๐๖
            ๒๘๕๒.
นายแก้วนายขวัญ ๑  เป็นชื่อพี่เลี้ยงของพระลอในวรรณคดีเรื่องพระลอ มีตำแหน่งเป็นขุนแก้วและหมื่นขวัญ ในข้อความบางตอนใช้ว่า "สองขุน" และบางตอนก็ใช้ว่าสองนาย           ๑๕/ ๙๖๐๘
            ๒๘๕๓.
นายแก้วนายขวัญ ๒  เป็นพระนามแฝงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงใช้เมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องชุดนิทานนายทองอิน           ๑๕/ ๙๖๐๙
            ๒๘๕๔.
นายทุน - ระบบเศรษฐกิจ  คือ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมซึ่งเอกชนสามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทุกชนิด และมีเสรีภาพในการที่จะติดต่อค้าขายกับผู้อื่น และประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจตามที่เขาเป็นผู้เลือกโดยมีกำไรเป็นเครื่องจูงใจ ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนี้ รัฐบาลจะเข้ามามีบทบาทเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
                ในระบบเศรษฐกิจแบบนี้กลไกตลาดจะเป็นเครื่องตัดสินชนิดของสินค้าที่จะผลิต ปริมาณสินค้าเหล่านั้น และราคาที่จะซื้อขายกัน อุปสงค์ของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้า จะเป็นเครื่องกำหนดว่าสังคมนั้นควรจะผลิตสินค้าชนิดใดบ้าง ในปริมาณเท่าใดและราคาควรเป็นเท่าใด อย่างไรก็ตามระบบเศรษฐกิจในโลกแห่งความเป็นจริง นั้นล้วนแต่มิได้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ครบถ้วนตามทฤษฎี มักจะเป็นเศรษฐกิจแบบผสม เพราะทรัพย์สินบางชนิดรัฐยังเป็นเจ้าของ นอกจากนี้รัฐยังมีบทบาทเข้ามาดำเนินการในกิจการบางประเภทที่เห็นว่า จะกระทบกระเทือนต่อความอยู่ดีกินดี และความมั่นคงปลอดภัย เช่นกิจการสาธารณูปโภคต่าง ๆ           ๑๕/ ๙๖๐๙
            ๒๘๕๕.
นารท ๑  เป็นชื่อเทพฤาษีองค์หนึ่งในวรรณคดีสันสกฤต มีชื่อเสียงเลื่องลือในสมัยพระเวท (๓,๕๐๐ - ๔,๐๐๐ ปี) เรื่อยมาจนถึงสมัยมหากาพย์ และปุราณะมีประวัติว่ามเป็นโอรสประเภทที่เก่งจากใจองค์หนึ่งของพระพรหม ซึ่งมีอยู่สิบองค์เป็นประชาบดี เพื่อให้ทำหน้าที่สร้างเผ่าพันธุ์ เทพ มนุษย์ อสูร สัตว์และอื่น ๆ พระนางทฤาษีเป็นผู้เดียวที่ไม่ทำตามหน้าที่ของตน และเห็นว่าวิถิทางแบบพระพรหมไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องต้องดำเนินตามพระกฤษณะ (ปางหนึ่งของพระวิษณุ) พระพรหมโกรธจึงสาปพระนางทฤาษีให้เป็นทาสของอารมณ์มัวเมา ลุ่มหลงสตรี พระนางทฤาษีจึงสาปต่อไปว่า ให้พระพรหมลุ่มหลงมัวเมาในกามกิเลส และสาปต่อไปว่าตั้งแต่นี้สืบไปให้พระพรหมเสื่อมจากความเคารพนับถือของบุคคลทั้งหลาย
                มหาภารตเล่มที่ ๙ หรือศัลยบรรพ บรรยายรูปลักษณะของพระนางทฤาษีไว้และว่าเป็นเจ้าแห่งวิชาดนตรี และการฟ้อนรำ และยินดีในการทะเลาะวิวาท ในวรรณคดีสันสกฤตมักจะมีเรื่องพระนางทฤาษีแทรกอยู่แทบทั้งสิ้น         ๑๕/ ๙๖๑๒
            ๒๘๕๖.
นารท ๒  เป็นชื่อพระโพธิสัตว์ชาติหนึ่งในนิบาตชาดก ส่วนมหานิบาต คัมภีร์ขุทกนิกาย สุตตันตปิฎก และในอรรคกกาแห่งชาดกนั้น นับเป็นชาติที่แปดในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ
               ตามเรื่องมีว่าพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นนารทมหาพรหม ได้แปลงเพศเป็นบรรพชิต เหาะมาจากเทวโลก มากล่าวสรรเสริญคุณธรรมของเจ้าหญิงรุจาราชกุมารี พระราชธิดาของพระเจ้าอังคติราช ผู้ครองราชย์ในมิถิลานคร แคว้นวิเทหรัฐ แล้วแสดงธรรมให้พระเจ้าอังคติราชทรงละมิจฉาทิฐิ กลับพระทัยมั่นในสัมมาทิฐิ เหมือนเดิม          ๑๕/ ๙๖๑๕
            ๒๘๕๗.
นารอท  เป็นชื่อฤาษีโบราณมีอ้างในนิยาย หรือตำนานทางภาคเหนือของไทยในเมืองไทยชื่อฤาษีนารอท คงจะเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาแต่โบราณแล้ว และมีชื่อปรากฏในโคลงฤาษีดัดตนวัดพระเชตุพน ฯ (วัดโพธิ)             ๑๕/ ๙๖๑๘
            ๒๘๕๘.
นารายณ์ - พระ  เป็นชื่อเทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งในจำนวนสามองค์ของศาสนาพราหมณ์และฮินดูรู้จักกันในนามว่า วิษณุ โดยมากถือกันว่าเป็นผู้ถนอมโลก แต่คนอินเดียที่นับถือนิกายไวษณพ ซึ่งยกย่องพระนารายณ์เป็นเทพสูงสุดแต่องค์เดียว ถือว่าพระองค์เป็นทั้งผู้สร้าง ผู้ถนอมและผู้ทำลายโลก คำว่านารายณ์มาจากคำว่านารา (น้ำ) กับ อยน (การเคลื่อนไหว) รวมความว่าเป็นผู้เคลื่อนไหวไปในน้ำ คำนี้เดิมเป็นคำเรียกพระพรหม
                พระนารายณ์เป็นเทพเจ้าที่มีน้ำพระทัยดีมีเมตตากรุณาเป็นลักษณะที่เด่นชัดและสำคัญที่สุด รูปร่างของพระองค์ในรูปวาด และรูปปฏิมามีลักษณะเป็นเทพสี่กร พระหัตถ์ขวาด้านหน้าถือสังข์ ด้านหลังถือจักร พระหัตถ์ซ้ายด้าน๑๕/ถือดอกบัว ด้านหลังถือคทา
                ที่ประทับของพระนารายณ์คือ
สวรรค์ชั้นไวกูณฐ์ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของทะเลน้ำนม หรือเกษียรสาคร บรรทมอยู่บนอาสนะในวงขนดของพญาอนันดนาคราช มีพระชายาคือ พระศรี หรือลักษมี นั่งปฏิบัติอยู่ โดยเหตุที่พระนารายณ์ประทับในทะเลน้ำนมเป็นปรกติ รูปพระนารายณ์แบบนี้จึงเรียกกันว่า นารายณ์บรรทมสินธุ์ พาหนะของพระนารายณ์คือ ครุฑ ภาพพระนารายณ์ทรงครุฑเป็นภาพที่แพร่หลาย ในศิลปกรรมของไทยอย่างยิ่ง           หน้า ๙๖๑๘
            ๒๘๕๙.
นางรายเจงเวง ๑ - พระนาง  เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอินทรปัทม์ ผู้ครองอินทรปัทม์นคร และเป็นมเหสีของพระยาสุวรรณภิงคาระ ผู้ครองเมืองหนองหานหลวงสืบแทนขุนขอม เป็นผู้ได้ร่วมดำริกับพระยาสุวรรณภิงคาระที่จะก่ออุโมงค์เป็นที่บรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าที่พระราชอุทยานเจงเวง ซึ่งต่อมาเมื่อก่อสร้างเสร็จเรียกว่า "ธาตุนารายณ์เจงเวง" และได้บรรจุแต่เพียงพระอังคารเท่านั้น           หน้า ๙๖๒๐
            ๒๘๖๐.
นารายณ์เจงเวง ๒ - พระธาตุ  เป็นพระธาตุก่อด้วยศิลาแลง สลักลวดลายเป็นรูปต่าง ๆ ด้วยฝีมือขอม สูง ๑๒ เมตรเศษ ตั้งอยู่ที่วัดธาตุนาเวง ต.พังขว้าง อ.เมือง ฯ จ.สกลนคร ตามตำนานเล่ากันว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระนำพระอุรังคธาตุมาประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้า (พระธาตุพนม) ได้ผ่านมาทางจังหวัดสกลนคร
               สมัยนั้นมเหสีของพระยาภิงคาระประสงค์จะขอพระอุรังคธาตุบรรจุไว้เป็นมิ่งขวัญแก่ชาวเมืองจึงสร้างเจดีย์ เพื่อสวมพระอุรังคธาตุ แต่ไว้เพียงพระอังคารเท่านั้น           หน้า ๙๖๒๑
            ๒๘๖๑.
นารายณ์มหาราช - สมเด็จพระ  เป็นพระโอรสในพระเจ้าปราสาททอง ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๕ เมื่อทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาทั้งด้านหนังสือ และด้านการกีฬาพระองค์ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๙ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่สี่ของราชวงศ์ประสาททอง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่สาม แต่คนทั่วไปนิยมเรียกพระนามว่า สมเด็จพระนารายณ์ พระราชกรณียกิจของพระองค์พอประมวลได้ดังนี้
                    ๑.
การรักษาความสงบและมั่นคงภายในประเทศ  จากการทำให้บ้านเมืองสงบราบคาบเป็นผลให้รัฐบาลขาดข้าราชการรุ่นเก่า ผู้มีความรู้ความสามารถ และต้องจ้างชาวต่างประเทศทั้งฝรั่ง แขกชวา จีนเข้ามาเป็นทหาร และรับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
                    ๒.
การลดส่วยและภาษีอากร  พระองค์เมื่อขึ้นครองราชย์ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ลดการเก็บส่วยและภาษีอากรเป็นเวลาสามปีเศษ ทำให้ราษฏรสามารถประกอบอาชีพได้โดยเสรี ไม่ต้องกังวลเรื่องการเสียภาษี หรือถูกเกณฑ์แรงงาน
                    ๓.
การประกาศใช้กฏหมาย  พระองค์โปรดให้ออกกฏหมาย ๓๖ ข้อ ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๐๗ - ๒๒๓๐ พระราชกำหนดเก่าระหว่างปี พ.ศ.๒๒๑๓-๒๒๑๘ และกฏหมายเพิ่มเติมลักษณะรับฟ้อง ในปี พ.ศ.๒๒๑๔
                    ๔.
การส่งเสริมงานด้านวรรณกรรม  พระองค์ทรงส่งเสริมสนับสนุนบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิต ทรงให้การอุดหนุนบรรดาพวกเถรานุเถระ ให้ศึกษาหาความรู้ให้แตกฉานในพระไตรปิฎก พระองค์เองทรงมีพระปรีชาสามารถ และมีความเชี่ยวชาญในด้านการประพันธ์ได้ทรงนิพนธ์วรรณคดีไว้หลายเรื่อง
                    ในรัชสมัยของพระองค์มีกวีผู้มีชื่อเสียงหลายคน คือ พระมหาราชครู พระศรีมโหสถ ขุนเทพกวี และศรีปราชญ์ ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองแห่งวรรณกรรมของไทยยุคหนึ่ง
                    .
การสงครามกับเชียงใหม่และพม่า  ในปี พ.ศ.๒๒๐๓ ทหารจีนได้เข้ามารุกรานพม่า เชียงใหม่ซึ่งเป็นประเทศราชของพม่าในขณะนั้น ได้ส่งทูตเข้ามาขอสวามิภักดิ์กับไทย และขอให้ไทยส่งกำลังไปช่วยป้องกันเมืองเชียงใหม่ แต่ต่อมาเชียงใหม่ก็กลับไปสวามิภักดิ์ต่อพม่าตามเดิม สมเด็จพระนารายณ์ ฯ  จึงโปรดให้กองทัพไปตีเชียงใหม่ แต่ไม่สามารถตีได้ต้องยกทัพกลับ ในปี พ.ศ.๒๒๐๔ ในปีต่อมาได้ยกทัพไปตีเชียงใหม่ โดยพระองค์เป็นจอมทัพ สามารถตีเชียงใหม่ได้ และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาด้วย
                    ในปี พ.ศ.๒๒๐๖ พวกมอญเป็นขบถต่อพม่า แล้วหนีเข้ามาในดินแดนไทย พม่าส่งทูตเข้ามาขอให้ไทยส่งพวกมอญกลับคืนไป ฝ่ายไทยไม่ยอมพม่า จึงยกทัพเข้ามาในดินแดนไทย มีการรบกันที่เมืองกาญจนบุรี กองทัพไทยสามารถขับไล่พม่าออกไปได้ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๐๗ สมเด็จพระนารายณ์ได้จัดกองทัพไปตีพม่าทุกทิศทุกทาง แต่กองทัพไทยเกิดการขาดแคลนเสบียงอาหารและเกิดการเจ็บป่วยจึงต้องล่าถอยกลับ ในปี พ.ศ.๒๒๐๘
                    ๖.
ความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก  ในรัชการนี้การติดต่อกับต่างประเทศรุ่งเรืองมาก มีชาวต่างประเทศทั้งจีนรวมแขก ฝรั่ง เข้ามาติดต่อ และอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาก ชาวตะวันตกมีโปร์ตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศษสำหรับฝรั่งเศสเป็นช่วงที่เข้ามาใหม่ในรัชการนี้ คณะบาทหลวงฝรั่งเศษเข้ามาเมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๕ และพบว่าเมืองไทยสมควรเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ศาสนาของพวกตนได้ เพราะรัฐบาลไทยไม่กีดกันการนับถือศาสนาต่าง ๆ
                    ในปี พ.ศ.๒๒๐๕ ฮอลันดาได้ส่งทัพเรือมาปิดอ่าวไทย ทำให้ไทยต้องทำสนธิสัญญา พ.ศ.๒๒๐๗ ให้ฮอลันดาผูกขาดสินค้าหนังสัตว์ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่าควรมีการเตรียมป้องกันพระนครเพื่อต่อสู้ ข้าศึกที่จะมาทางทะเล โปรดให้สร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีอีกแห่งหนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๒๐๘ พร้อมกับการสร้างป้อมปราการที่เมืองธนบุรี และเมืองนนทบุรีด้วย
                    ในปี พ.ศ.๒๒๑๘ พ่อค้าชาวอังกฤษได้นำฟอลคอนเข้ามากรุงศรีอยุธยา ได้เข้ารับราชการในพระคลังสินค้าได้เป็นหลวงวิชาเยนทร์ ต่อมาได้ทำความดีความชอบจนได้เป็นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์
                    ในปี พ.ศ.๒๒๒๓ ฝรั่งเศษเริ่มเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ได้มีการส่งคณะทูตไทยไปฝรั่งเศษสามครั่ง ครั้งที่สามคณะทูตในการนำของพระวิสูตรสุนทร (ปาน) เป็นคณะทูตที่มีชื่อเสียงมาก ก่อน๑๕/นี้ฝรั่งเศสได้ส่งคระทูตในการนำของเชวาลิเอร์เดอโชมองต์มาไทยในปี พ.ศ.๒๒๒๘
                    ในปี พ.ศ.๒๒๓๐ ม.เซเบเรต์ และ ม.เดอลาลูแบร์ทูตฝรั่งเศษได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยอีกครั้ง มีทหารฝรั่งเศส ๔๙๒ คนเข้ามาด้วย สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้ทหารฝรั่งเศษดังกล่าวไปรักษาป้อมที่เมืองธนบุรี และเมืองมะริด และให้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไปฝึกหัดทหารไทยที่เมืองลพบุรี
                    ในระหว่างนั้นไทยกับอังกฤษเกิดกรณีพิพาทกับเรื่องเรือสินค้า เมืองดอลคอนดาในอินเดีย อังกฤษส่งเรือรบมารบเมืองมะริด สมเด็จพระนารายณ์ทรงประกาศสงครามกับอังกฤษ แต่รัฐบาลอังกฤษถือว่าเป็นการสงครามระหว่างไทยกับบริษัทบริติช อิสต์อินเดียของอังกฤษ
                    ในปี พ.ศ.๒๒๓๑ คณะทูตฝรั่งเศษเดินทางกลับโดยมีคณะทูตไทยไปฝรั่งเศสด้วยเป็นครั้งที่สี่ และสมเด็จพระนารายณ์ โปรดให้นักเรียนไทยไปเรียนที่ฝรั่งเศสด้วย
                    สมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตที่เมืองลพบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๑ พระชนมายุได้ ๕๑ พรรษา ครองราชย์ได้ ๓๒ ปี           หน้า ๙๖๒๑
           ๒๘๖๒.
นารายณ์สิบปาง ๑ - หนังสือ  ฉบับภาษาไทยมีอยู่หลายสำนวนด้วยกัน นารายณ์สิบปางที่ปรากฏเป็นภาษาไทยอยู่ในปัจจุบัน จัดลำดับปางไม่ตรงกันเพราะเรื่องพระนารายณ์ในยุคปุราณะมีองค์ต่างอยู่มากมายหลายสิบปาง
                นารายณ์สิบปางฉบับโรงพิมพ์หลวงนั้น ปางที่หนึ่งเริ่มต้นด้วยปางวราหาวดาร คือพระนารายณ์องดารเป็นหมูสังหารหิรันตยักษ์ ซึ่งตรงกับพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่หนึ่ง
               เนื้อเรื่องนารายณ์สิบปางโดยทั่วไป เป็นเรื่องที่กล่าวด้วยพระวิษณุนารายณ์เสด็จมาปราบยุคเข็ญ และยังความสงบสุขแก่โลกเป็นคราว ๆ            หน้า ๙๖๓๐
            ๒๘๖๓.
นารายณ์สิบปาง ๒  คือ การอวตารมาเกิดในโลกรวมสิบครั้งของพระนารายณ์เพื่อปราบยุคเข็ญ และยังความสงบสุขแก่โลก
                    ๑.
มัตสยาวตาร  อวตารมาเป็นปลาในสมัยกฤดายุค หรือสัตยยุค (สมัยต้นอายุของโลกซึ่งศีลธรรมของชาวโลกยังบริบูรณ์ ครบถ้วนอยู่)
            ครั้งนั้นจะเกิดน้ำท่วมโลก พระนารายณ์อวตารมาเกิดเป็นปลาศผริ เตือนพระมนูไววัสวัตให้ต่อเรือใหญ่บรรทุกสัตว์ อย่างสาคู่ ต้นไม้นานาพันธุ์และเชิญฤาษีทั้งเจ็ดลงเรือ พอถึงเวลาพระพรหมบรรทมก็เกิดน้ำท่วมโลก มนุษย์และสัตว์จมน้ำตายสิ้น เหลือแต่พระมนู และผู้ที่อยู่ในเรือใหญ่ เมื่อน้ำลดแล้วพระมนู และฤาษีทั้งเจ็ดก็ออกจากเรือ เริ่มต้นสร้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ขึ้นใหม่ พระมนูองค์นี้เป็นพระมนูองค์ที่เจ็ดถือกันว่า เป็นมนุษย์คนแรก และเป็นกษัตริย์องค์แรกในมันวันตระที่เจ็ด (สมัยที่เจ็ดของโลก) นี้ซึ่งมีระยะเวลา ๔,๓๒๐,๐๐๐ ปี
                    ๒.
กูรมาวตาร  อวตารมาเป็นเต่า อยู่ในสมัยกฤดายุค ครั้งนั้นบรรดาเทวดาประสบความเดือนร้อน เพราะความกำเริบของพวกอสูร เนื่องจากพระอินทร์และเทวดาถูกฤาษีทุรวาสสาบให้แพ้อสูร พระอินทร์และเทวดาไปขอความช่วยเหลือจากพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงแนะให้กวนน้ำอมฤต เพื่อว่าเทวดากินแล้วจะไม่ตาย ในการกวนน้ำอมฤตนั้น ได้ใช้ภูเขามันทรมาตั้งลงในเกษียรสมุทร ใช้ต่างไม้กวนขณะกวนภูเขานั้นได้เจาะแผ่นดินโลกลึกลงไปทุกที พระนารายณ์เกรงว่าพื้นโลกจะแตกทำลายเสีย จึงแบ่งภาคเป็นเต่าใหญ่ลงไปนอนรองรับอยู่ใต้ภูเขา
                    ๓.
วราหาวตาร  อวตารมาเป็นหมูในสมัยกฤดายุค ครั้งนั้นอสูรชื่อหิรันยากษะ ได้ลากเอาแผ่นดินลงไปไว้ก้นมหาสมุทร พระนารายณ์จึงแบ่งภาคมาเกิดเป็นหมูใหญ่ตามลงไปใต้ทะเลได้สู้รบกันถึงหนึ่งพันปี ในที่สุดหมูฆ่าหิรันยากษะตายแล้วช้อนแผ่นดินขึ้นมาตั้งไว้บนผิวน้ำตามเดิม
                    ๔.
นรสิงหาวตาร  อวตารมาเป็นนรสิงห์ในสมัยกฤดายุค เรื่องมีว่ามีอสูรชื่อหิรัณยกศิปุน้องหิรัณยากษะ ได้บำเพ็ญตบะจนพระพรหมต้องประทานพรให้ตามที่ขอ คือขอไม่ตายด้วยอาวุธใด ๆ ไม่ตายในเวลากลางวันหรือกลางคืน ไม่ตายในเรือนหรือนอกเรือน เมื่อได้พรแล้วก็มีความกำเริบใจ ก่อความเดือดร้อนแก่เทวและมนุษย์ ยกทัพไปตีได้เมืองสวรรค์ แล้วตั้งตัวเป็นเจ้าแห่งโลกทั้งสาม ต่อมาพระนารายณ์ในรูปนรสิงห์ได้ออกมาจับพญาอสูรลากออกไปที่กึ่งกลางระหว่างประตูปราสาทกับชานชาลา เวลานั้นเป็นเวลาสนธยา แล้วนรสิงห์ก็ฆ่าพญาอสูรตายด้วยกรงเล็บอันแหลมคม หิรัญยกศิปุ ตายลงด้วยลักษณะที่ไม่เข้ากับพรที่ตนได้รับ
                    ๕.
วามนาวตาร  อวตารมาเป็นพราหมณ์เตี้ยในสมัยไตรคายุคอันเป็นสมัยที่ศีลธรรมของชาวโลกลดลงไปหนึ่งในสี่ ในครั้งนั้นพญาอสูรชื่อพลี ได้รับความช่วยเหลือจากบรรดาพราหมณ์เหล่าภารควะในการประกอบยัญพิธีมีผลทำให้เป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ สามารถปราบได้สามโลก แล้วตั้งตนเป็นเจ้าสวรรค์แทนพระอินทร์ พวกเทวดาไปทูลขอความช่วยเหลือจากพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงอวตารมาเป็นพราหมณ์เตี้ย แล้วได้มาสู่สำนักของท้าวพลี ในขณะที่ท้าวพลีกำลังประกอบยัญกิจอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำบรรทม พลีได้ตอบรับเป็นอย่างดีและกล่าวว่าตนยินดีที่จะถวายทุกสิ่ง พราหมณ์เตี้ยจึงขอแผ่นดินชั่วสามก้าวย่าง พลีก็ยอมพราหมณ์เตี้ยจึงกลายรูปเป็นพระนารายณ์ย่างก้าวที่หนึ่งตลอดสิ้นแดนสวรรค์ ก้าวที่สองตลอดแผ่นดินโลก พลีทราบว่าเป็นพระนารายณ์จึงทูลขอโทษ และขอให้เหยียบพระบาทลงบนศรีษะตนเป็นก้าวที่สาม พระนารายณ์จึงให้พลีไปครองบาดาล ครั้นต่อมาพลีประพฤติดีจึงให้ขึ้นมาครองแดนสุตล ซึ่งเป็นแดนหนึ่งในบาดาลที่วิเศษสุด แล้วสัญญาว่าวันหนึ่งในภาย๑๕/จะให้พลีได้ครองสวรรค์อีก
                    ๖.
ปรศุรามาวตาร  อวตารมาเป็นพราหมณ์ชื่อ ราม ถือขวานเพชรในสมัยไตรคายุคเรื่องมีว่ากษัตริย์องค์หนึ่งชื่ออรชุน ได้รับพระแห่งฤาษีทัตตะไตรยให้มีเดชานุภาพเหนือราชาทั้งหลาย และมีแขนถึงสองพันสามารถปราบศัตรูได้ทุกหนทุกแห่ง อรชุนมีความกำเริบเที่ยวรุกรานฤาษีให้เดือดร้อน ฤาษีวสิษฐ์ผู้เป็นหัวหน้าฤาษีเหล่าหนึ่งจึงไปฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์อวตารมาเป็นพราหมณ์ชื่อราม ได้รับขวานเพชรจากพระศิวะจึงได้นามว่าปรศุราม แปลว่ารามผู้ถือขวาน และได้ฆ่าอรชุนเสีย
                    ๗.
รามจันทราวตาร  อวตารมาเป็นพระราม หรือรามจันทร์ในสมัยไตรดายุค การอวตารครั้งนี้ก็เพราะท้าวราพณ์ (ทศกัณฐ์) ผู้ครองกรุงลงกาเบียดเบียนมนุษย์ และเทวดาให้เดือดร้อน เรื่องราวรายละเอียดหาดูได้จากกาพย์สันสกฤตเรื่องรามายณะ บทประพันธ์ของฤาษีวาลมิกิ และฉบับภาษาอินดีของกาลิทาส ในพาทย์ไทยคือเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่หนึ่ง
                    ๘.
กฤษณาวตาร  อวตารมาเป็นพระกฤษณะ กษัตริย์จันทรวงศ์แห่งกรุงทวารกาในสมัยทวาบรยุคซึ่งศีลธรรมของชาวโลก ลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสอง เรื่องราวรายละเอียดหาดูได้จากบทที่สิบของคัมภีร์ภาควตะปุราณะและบทปลีกย่อย บางตอนในเรื่องมหาภารตะ
                    ๙.
พุทธาวตาร  อวตารมาเป็นพระพุทธเจ้า ในสมัยกลียุคเรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพวกพราหมณ์ไม่สามารถเอาชนะ
พระพุทธศาสนาได้ ยอมยกให้พระพุทธเจ้าเป็นอวตารปางที่เก้า แต่บิดเรื่องไปเป็นอย่างหนึ่งว่า การอวตารครั้งนี้เพื่อสั่งสอนลัทธิต่าง ๆ ให้คนบาปหยาบช้าประพฤติตามจะได้พากันไปสู่อบาย
                    ๑๐.
กัลกยาวตาร  อวตารมาเป็นพระกัลกี ในตอนจะสิ้นกลียุคนี้เป็นปางที่จะมีมาในอนาคตเป็นบุรุษขี่ม้าขาวถือดาบที่เป็นประกายรุ่งโรจน์ดังแสงดาวหาง ปราบเหล่าร้ายให้สิ้นไปและสถาปนาสันติสุขขึ้นใหม่ในโลก           ๑๕/ ๙๖๓๖
            ๒๘๖๔.
นาลันทา เป็นชื่อเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งในสมัยพระพุทธกาลตั้งอยู่ในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากเมืองราชคฤห์ นครหลวงของแคว้นมครประมาณ ๖ กม. บริเวณที่ตั้งเมืองในสมัยก่อนตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟนาลันทา ของทางรถไฟสายปักเตียร์ปูร - พิหาร แห่งการรถไฟสายตะวันออกของอินเดีย
                ในสมัยพุทธกาลเมืองนาลันทาเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง มีผู้คนอยู่อาศัยคับคั่ง ชื่อเมืองนี้ปรากฏในพระสูตรต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนา ในเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกมาสู่แคว้นมคธ ได้เสด็จมาพักแรมที่นาลันทานี้บ่อยครั้ง ที่ปาวาริกัมพวัน คือสวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี พระสูตรที่ทรงแสดงที่นาลันทามี เช่น พรหมชาลสูตร เกวัฎสูตร อุปาลิวาทสูตร
                เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว เมืองนาลันทาก็ได้เสื่อมโทรมลงและจางหายไปจากประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เป็นเวลาหลายร้อยปี และเริ่มปรากฏชื่อเสียงโด่งดังอีกครั้งหนึ่งในสมัยมหาวิทยาลัยนาลันทาซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นเป็นแหล่งกลางการศึกษาและเผยแพร่ พระพุทธศาสนาอยู่หลายศตวรรษ
                ประวัติมหาวิทยาลัยนาลันทา มีปรากฏอยู่ในบันทึกของพระภิกษุจีนเหี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) พระเจ้าศกราทิตย์ (พระเจ้ากุมารคุปตะที่ ๑) แห่งราชวงศ์คุปตะ ผู้ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๙๕๘ - ๙๙๘ ได้ทรงสร้างวัดหนึ่งในสวนมะม่วงที่เมืองนาลันทา ต่อมาวัดนี้ได้เป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยนาลันทา กษัตริย์ราชวงศ์คุปตะต่อ ๆ มาได้ทรงสร้างวัดขึ้นอีกสี่วัด และมีกษัตริย์ไม่ปรากฏพระนามองค์หนึ่งแห่งอินเดียกลาง ได้สร้างขึ้นอีกวัดหนึ่ง แล้วสร้างกำแพงสูงขึ้นล้อมรอบวัดทั้งหมด โดยมีประตูใหญ่เข้าออกเพียงประตูเดียว รวมเรียกว่า
นาลันทามหาวิหาร
                ภิกษุชาวจีนองค์แรกที่เดินทางไปสืบพระศาสนาที่อินเดียองค์แรกที่เดินทางไปอินเดีย ระหว่างปี พ.ศ.๙๔๓ - ๙๕๔ คือท่านฟาเหียน ซึ่งเมื่อตอนที่ท่านดินทางไปมหาวิทยาลัยนาลันทายังไม่เกิดขึ้น จดหมายเหตุของท่านจึงไม่ได้กล่าวถึงมหาวิทยาลัยนี้ไว้เลย
                ในปี พ.ศ.๑๑๘๐ ที่หลวงจีนเหี้ยนจังไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทาและได้เขียนบันทึกไว้นั้น เป็นตอนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังรุ่งโรจน์เต็มที่ มีนักศึกษาอยู่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน มีอาจารย์อยู่ ๑,๕๐๐ คน พระเจ้าหรรษวรรธนะทรงให้การอุปถัมภ์บำรุงอย่างเต็มที่ ตอนที่มหาวิทยาลัยจะรับนักศึกษาจะต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์อย่างเข้มงวด ผู้ที่เข้าศึกษาถือว่าเป็นผู้มีศักดิ์ศรีและมีเกียรติได้รับการยกย่องอย่างสูง
                มหาวิทยาลัยนาลันทามีหอสมุดใหญ่อยู่สามหลัง เป็นที่เก็บรวบรวมคัมภีร์ทางศาสนาและต้นฉบับนิพนธ์ของคณาจารย์ คนสำคัญของฝ่ายมหายานไว้เป็นจำนวนมาก
                สาเหตุสำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยนาลันทาค่อย ๆ เสื่อมโทรมลงโดยสำคัญในรัชสมัยของราชวงศ์ปาละนั้น ได้แก่การขึ้นของ
นิกายตันตระ แห่งพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ในอินเดียได้นำเอาวิธีการแบบกามสุขัลลิกานุโยค หรือการหมกมุ่นมัวเมาในกาม มาเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของภิกษุ นิกายนี้สอนวิถีทางแห่งความหลุดพ้นแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง คือถ้าต้องการความหลุดพ้นจากกามก็ต้องเสพกามให้เบื่อแล้วจะหลุดพ้นได้เอง ภิกษุฝ่ายตันตระ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า มนตรยาน จึงหมกมุ่นอยู่กับสุราและนารี
                พระพุทธศาสนาในอินเดียถูกซ้ำเติมโดยกองทหารมุสลิมที่ยกมาทำลายฆ่าพระภิกษุนักศึกษาและอาจารย์ตายเกือบหมด แล้วจุดไฟเผาพลาญมหาวิทยาลัยหมดสิ้น    ๑๕/ ๙๖๔๔
            ๒๘๖๕.
นาวิกโยธิน  เป็นชื่อพรรคเหล่าของทหารเรือพรรคหนึ่ง ที่ปฏิบัติหน้าที่คล้ายทหารบก คำนี้มีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๖๒ โดยกระทรวงทหารเรือได้ตราข้อบังคับทหารเรือว่าด้วยการจำแนก พรรค เหล่า จำพวกและประเภททหารเรือขึ้น ให้ทหารเรือพลเรือรบ แบ่งออกเป็นสามพรรค คือ พรรคนาวิน (ทหารประจำปากเรือ) พรรคกลิน (ทหารประจำท้องเรือ) และพรรคนาวิกโยธิน (ทหารเรือฝ่ายบก)     คำว่านาวิกโยธินในสมัยรัชกาลที่สี่เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า ทหารมะรีน

ทหารมะรีนของต่างประเทศนั้นเริ่มมาจากประทศอังกฤษตั้งแต่บยุคเรือใบ ต้องลงมาประจำอยู่ในเรือรบ ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในเรือ ป้องกันการลักขโมยจากพวกมิจฉาชีพ เมื่อเรือจอดทอดสมอในอ่าวหรือเทียบท่า ตลอดจนการป้องกันการปล้นสะดมจากพวกโจรสลัด และเมื่อเรือต้องเข้าทำการรบประชิด ทหารมะรีนต้องมีหน้าที่ต้องเข้าตลุมบอนกับข้าศึก โดยมีดาบและมีดสั้นเป็นอาวุธ ต่อมาในยุคเรือกลไฟ ปีนประจำเรือได้เปลี่ยนเป็นปืนป้อม อาวุธประจำกายของทหารมะรีนเปลี่ยนมาเป็นปืนเล็กยาว ทหารมะรีนได้รับหน้าที่เพิ่มให้ประจำยิงปืนป้อมท้ายเรืออีกหนึ่งป้อม ประเทศใมหาอำนาจทางนาวีชาติอื่น ๆ ในยุโรปขณะนั้นก็ใช้ทหารมะรีนประจำเรือ เช่นเดียวกับอังกฤษ ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้น นอกจาะจะใช้ทหารมะรีนประจำเรือเช่น้เดียวกับอังกฤษแล้ว ได้ใช้ทหารมะรีนรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่สำคัญอย่างกว้างขวาง ตามฐานทัพนอกประเทศและสถานทูตในประเทศต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของทหารมะรีนทั้งสิ้น      ๑๕/ ๙๖๕๐
            ๒๘๖๖.
นาวี   เป็นนามรวมเรียกทั่วไปของกองทัพเรือ หรือเรือรบ ได้ปรากฏมีคำว่าราชนาวีใช้เป็นทางการครั้งแรกในพระราชหัตถเลขา ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ ต่อมากระทรวงทหารเรือได้ตราข้อบังคับทหารเรือว่าด้วยระเบียบการใช้คำ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ กล่าวว่า "....นามรวมทั่วไปใช้ราชนาวี ถ้าเขียนเป็นอักษรย่อใช้ ร.น. ...)     

นาวี ได้เกิดขึ้นเป็นเวลานานมาแล้วในทะเลเมดิเตอเรเนียน ตั้งแต่ ๘๕๐ ปีก่อนพุทธศักราช     

นาวี อาจแบ่งได้เป็นสามยุคตามประเภทของเรือคือยุคเรือกรรเชียง ยุคเรือใบ และยุคเรือกลไฟ    ๑๕/ ๙๖๕๓
            ๒๘๖๗.
นาสวน  คือนาข้าวที่ปลูกในพื้นที่ซึ่งมีระดับน้ำลึก ตั้งแต่ ๑ เมตรลงมาไม่ว่าจะปลูกโดยวิธีปักดำ หรือหว่านก็ตาม ข้าวพวกนี้บางพันธุ์จะสามารถยึดตัวหนีน้ำได้เล็กน้อย           ๑๕/ ๙๖๕๖
            ๒๘๖๘.
นาหว่าน  คือนาที่ใช้ปลูกข้าวโดยวิธีหว่าน แบ่งออกเป็นสองชนิดคือ
                    ก.
หว่านสำรวย  เป็นการหว่านข้าวในลักษณะข้าวแห้ง ส่วนใหญ่ใช้กับข้าวขึ้นน้ำ หรือข้าวนาสวนที่พื้นที่มีความลาดเทมาก หรือที่ซึ่งหาน้ำตกกล้าปักดำไม่ได้
                    ข.
หวานน้ำตม หรือหว่านเทือก คือการทำนาหว่านในลักษณะข้าวออกโดยทว่าการไถดะ ไถแปร และคราดเช่นเดียวกับนาดำทุกประการ หลังจากหว่านข้าวปล่อยทิ้งไว้ ๕ - ๗ วัน เพื่อให้รากข้าวจับดินและเริ่มตั้งตัวแล้ว หลังจากนั้นก็จะระบายน้ำเข้าแปลง เพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าว และเพิ่มระดับขึ้นตามขนาดของต้นข้าว ตอนที่ข้าวจะออกดอกประมาณ ๔๐ วัน ถ้าเป็นไปได้ให้ระบายน้ำออกให้หมดปล่อยให้ดินแตกระแหงประมาณ ๓ - ๔ วัน แล้วจึงเอาน้ำเข้าใหม่           ๑๕/ ๙๖๕๖
            ๒๘๖๙.
นาแห้ว  อำเภอขึ้น จ.เลย มีอาณาเขตทิศเหนือจดประเทศลาว ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีที่ราบประมาณ ร้อยละ ๒๐
                อ.นาแห้ว แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ ขึ้น อ.ด่านซ้าย ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙          ๑๕/ ๙๖๕๙
            ๒๘๗๐.
นาฬิกา  เป็นสิ่งประดิษฐ์ชนิดหนึ่งที่ใช้วัดเวลาหรือบอกเวลา ณ ขณะใดขณะหนึ่งได้ ตามความต้องการ โดยกำหนดเวลาออกเป็นช่วงเท่า ๆ กัน ในรอบของวัน ด้วยตามมาตรฐานสากล เดิมทีเดียวการบอกเวลาอาศัยปรากฏการณ์จากธรรมชาติ ตำแหน่งต่าง ๆ ของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าจึงบอกเวลา เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็นของวัน ซึ่งวนเวียนเช่นนี้ตลอดไป ส่วนการหมุนของโลกรอบดวงอาทิตย์ทำให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ ทยอยกันไปโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบก็นับเป็นเวลาหนึ่งปี
                นาฬิกาสามารถใช้บอกหรือวัดเวลาได้โดยตรง จึงต้องทำให้สะดวกต่อการใช้
                เชื่อกันว่าชาวอียิปต์ริเริ่มประดิษฐ์นาฬิกาแดด โดยสังเกตจากเงาแสงของแสงแดดในระยะที่ใกล้เคียงกันนี้
ยังมีนาฬิกาทรายและนาฬิกาน้ำ ต่อมาจึงมีการประดิษฐ์นาฬิกาที่มีกลไกแทน         ๑๕/ ๙๖๕๙
            ๒๘๗๑.
น้ำ  ในสมัยโบราณประมาณสองพันปีมาแล้ว ถือกันว่าน้ำเป็นธาตุหนึ่งในบรรดาธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ในปี พ.ศ.๒๓๒๔ เฮนรี่ คาเวนดิช เป็นนักวิทยาศาสาตร์คนแรกที่พิสูจน์โดยวิธีสังเคราะห์ว่าน้ำเป็นสารประกอบซึ่งประกอบด้วยธาตุสองธาตุ คือโฮโดรเจน และออกซิเจน
                น้ำเป็นสารประกอบที่มีปรากฏอยู่เป็นปริมาณมากที่สุดในโลก และอยู่ในสภาพอิสระทั้งในสถานะที่เป็นของเหลว ของแข็งและเป็นไอ มีปรากฏอยู่ในสารประกอบอื่นมากมาย น้ำจึงเป็นสารประกอบที่สำคัญที่สุดต่อการดำรงชีวิตของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมด
                น้ำเป็นของเหลวง ณ อุณหภูมิปรกติ เมื่อบริสุทธิ์ไม่มีสีไม่มีกลิ่นไม่มีรส น้ำเป็นสารประกอบที่มีธาตุไฮโตรเจนและออกซิเจน เป็นองค์ประกอบด้วยอัตราส่วนของจำนวนอะตอมเป็น ๒:๑ น้ำเป็นตัวทำละลายที่ดีที่สุด สามารถละลายสารต่าง ๆ  ได้มากมายแม้แต่แก้ว น้ำช่วยเร่งปฏิกิริยาเคมี ระหว่างสารได้มาก สารให้เป็นไปโดยเร็ว และสะดวกขึ้น
                น้ำบริสุทธิ์ไม่มีในธรรมชาติเพราะน้ำเป็นตัวทำละลายที่ดีที่สุด   

น้ำฝนเป็นน้ำธรรมชาติชนิดเดียวเท่านั้นที่สะอาดที่สุดและเป็นน้ำเกือบบริสุทธิ์ สารที่ละลายอยู่ในน้ำฝนก็คือก๊าซที่มีปรากฎอยู่ในบรรยากาศ

น้ำทะเลคือน้ำที่มีเกลือเคมีละลายอยู่ประมาณร้อยละ ๓.๖ ในจำนวนนี้มีเกลือแกงซึ่งมีรสเค็มประมาณร้อยละ ๒.๖    ๑๕/ ๙๖๖๑
            ๒๘๗๒.
น้ำกระด้าง  เป็นน้ำเมื่อมีปฏิกิริยากับสบู่แล้วเกิดตะกอนขึ้น ซึ่งเรียกว่า ไคลสบู่ และไม่มีฟองสบู่เกิดขึ้นหรือมีน้อย ทั้งนี้เพราะน้ำกระด้างมีเกลือของแคลเซียม และแมกนิเซียมละลายอยู่จึงทำปฏิกิริยากับสบู่เกิดเป็นตะกอนของสารประกอบแคลเซียมและแมกนิเซียมขึ้น น้ำกระด้างแบ่งออกเป็นสอบชนิดคือ
                    ๑.
น้ำกระด้างชั่วคราว  คือน้ำกระด้างที่มีเกลือแคลเซียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต หรือแมกนีเซียมโฮโดรเจนคาร์บอเนต หรือทั้งสองละลายอยู่ สารประกอบทั้งสองนี้ เป็นสาเหตุให้น้ำเกิดความกระด้างชั่วคราว เราทำให้น้ำกระด้างชั่วคราวหายกระด้างได้ง่ายโดยการนำมาต้ม
                    ๒.
น้ำกระด้างถาวร  คือน้ำกระด้างที่มีเกลือซัลเฟต หรือคลอไรด์ของแคลเซียม หรือแมกนีเซียมหรือทั้งหมดละลายอยู่ เป็นเหตุให้น้ำเกิดความกระด้างถาวร          ๑๕/ ๙๖๖๗
            ๒๘๗๓.
น้ำกาม  คือน้ำเชื้อของเพศชายที่เคลื่อนออกมาจากอวัยวะสืบพันธุ์เมื่อเกิดความกำหนัด มีลักษณะเป็นของเหลว ข้น เหนียว สีขาวเหลือง แข็งตัวเมื่อถูกลมโดยตอนแรกจะมีลักษณะคล้ายวุ้นแล้วจะกลับเป็นน้ำใสถ้าเติมน้ำลงไป น้ำกามจะมีการแยกตัวเป็นฝอยใส เมื่อตั้งทิ้งไว้นาน ๆ จะเกิดผลึกฟอสเฟตของสเปอร์มิน
                น้ำกามประกอบด้วยส่วนที่เป็นน้ำและตัวเชื้อเพศชาย ซึ่งมีราว ๑๐๐ ล้านตัวต่อ ๑ มิลลิลิตรตัวเชื้อเพศชายในน้ำกาม
มีส่วนสำคัญในการสืบพันธุ์ จะเป็นตัวไปผสมกับไขในหญิง เกิดเป็นทารกขึ้นในครรภ์มารดา          ๑๕/ ๙๖๗๑
            ๒๘๗๔.
น้ำแข็ง  คือน้ำที่อยู่ในสภาพของแข็ง เป็นสารที่โปร่งแสง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เมื่ออุณหภูมิที่ผิวโลกลดลงถึง ศูนย์องศาเซลเซียส น้ำที่ผิวโลกจะกลายเป็นน้ำแข็ง แต่น้ำทะเลจะแข็งตัวเมื่ออุณหภูมิลดลงประมาณ ลบ ๑.๙ องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิลดลงน้ำจะหดตัวจนอุณหภูมิ ๓.๙๘ องศาเซลเซียส แล้วจึงจะเริ่มขยายตัว เมื่อน้ำกลายเป็นเป็นน้ำแข็ง จะมีปริมาณใหญ่กว่าเดิม ประมาณร้อยละ ๘ น้ำแข็งมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ เป็นตัวความร้อนที่เลว และเป็นสื่อไฟฟ้าที่เลวด้วย          ๑๕/ ๙๖๗๓
            ๒๘๗๕.
น้ำคร่ำ  คือของเหลวที่มีอยู่ในถุงน้ำคร่ำซึ่งทารกลอยตัวอยู่ขณะอยู่ในครรภ์ (มดลูก) ของมารดา น้ำคร่ำเกิดขึงจากเยื้อของถุงน้ำคร่ำที่ปกคลุมรก และสายสะดือของทารก หลังจากไข่ที่ถูกผสม (กับเชื้อเพศชาย) แล้วไปฝังตัวที่ผนังของมดลูก น้ำคร่ำจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมารที่สุดคือ ๑,๐๐๐ - ๑,๕๐๐๐ มิลลิลิตร ตอนระยะแรกของเดือนที่เจ็ด จากนั้นจะค่อย ๆ ลดลงจนคลอด           ๑๕/ ๙๖๗๔
            ๒๘๗๖.
น้ำคาวปลา คือของเหลวที่ถูกขับออกมาทางช่องคลอดภายหลังการคลอด ซึ่งจะหมดไปภายในเวลาสิบวันถึงหกสัปดาห์           ๑๕/ ๙๖๗๘
            ๒๘๗๗.
น้ำดอกไม้ ๑  เป็นชื่อชมพู่ชนิดหนึ่ง เรียกว่าชมพู่น้ำดอกไม้ มีลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาสูงราว ๖ ใบค่อนข้างแคบปลายเรียวปลายใบมน กว้าง ๒ - ๖ ซม. ยาว ๖ - ๒๐ ซม. ดอกออกเป็นช่อรวมเป็นกระจุกอยู่ปลายกิ่ง ดอกใหญ่สีขาวหรือสีครีมอ่อน ๆ กลิ่นหมอ ขนาดดอกกว้าง ๕ - ๖ ซม. ผลรูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ - ๕ ซม. ผลสุกสีเขียว หรือเหลืองขุ่น ๆ อมชมพูเนื้อสีขาวค่อนข้างแห้งและแข็งมีกลิ่นหอมเหมือนดอกกุหลาบ           ๑๕/ ๙๖๗๙
            ๒๘๗๘.
น้ำดอกไม้ ๒  เป็นชื่อมะม่วงพันธุ์หนึ่ง เรียกว่า มะม่วงน้ำดอกไม้ ขนาดของผลมีตั้งแต่ขนาดปานกลาง ถึงขนาดใหญ่ รูปร่างค่อนข้างยาว หัวใหญ่ปลายแหลม เมื่อแก่ผิวจะมีสีนวล และเนื้อมีรสมันผลสุกผิวเปลือกสีเหลืองนวลถึงเหลืองทอง เนื้อสีเหลืองรสหวานเย็น กลิ่นหอม           ๑๕/ ๙๖๘๐
            ๒๘๗๙.
น้ำดอกไม้ ๓ - ปลา  รูปร่างค่อนข้างยาวเกล็๋ดเล็ก หัวแหลม เป็นปลากินเนื้อค่อนข้างดุร้าย มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ตั้งแต่ขนาดใหญ่ยาว ๑.๕๐ เมตร และขนาดเล็กยาวราว ๓๐ ซม.           ๑๕/ ๙๖๘๐
            ๒๘๘๐.
น้ำดับไฟ เป็นชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า หญ้าน้ำดับไฟ เป็นไม้ล้มลุกสูงได้ถึง ๑ เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาใบออกตรงข้ามเป็นคู่ ๆ ใบรูปรีหรือรูปไข่ ขอบใจจักแหลมเหมือนฟันเลื้อยปลายใบแหลม ขนาดใบกว้าง ๑.๕ - ๓ ซม. ยาว ๒.๕ - ๖ ซม. ดอกออกเป็นช่อยาว มีดอกแน่นสีเหลือง ผลแห้งแก่แล้วแตกภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ จำนวนมาก
                หญ้าน้ำดับไฟนี้มีสรรพคุณเป็นสมุนไพร ใบใช้พอกฝีแก้ปวดบวม พอกแผลถูกไฟหรือน้ำร้อนลวก และรักษาโรคผิวหนัง          ๑๕/ ๙๖๘๒
            ๒๘๘๑.
น้ำตก  คือน้ำที่ไหลจากที่ที่มีระดับสูง ผ่านหน้าผาลงมาสู่ที่มีระดับต่ำกว่าทันที น้ำตกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ประเทศไทยมีน้ำตกที่มีชื่อเสียงในด้านความสวยงามและความน่าดูอยู่หลายแห่ง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้           ๑๕/ ๙๖๘๒
            ๒๘๘๒.
น้ำตะไคร้  เรียกเต็มว่าน้ำมันตะไคร้ น้ำหอมชนิดหนึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหยมีลักษณะใส สีเหลืองอ่อน หรือสีน้ำตาลแกมแดง มีกลิ่นหอมคล้ายตะไคร้ สกัได้จากต้นและใบตะไคร้ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น สบู่ ผงซักฟอก สเปรย์ ยาฆ่าแมลง เป็นต้น           ๑๕/ ๙๖๘๓
            ๒๘๘๓.
น้ำตาล  เป็นสารประกอบประเภทคาร์โบโฮเดตรที่มีรสหวาน ปราศจากโปรตีนและไขมันสกัดได้จากพืชผลไม้ เช่น กลูโคส จากผลไม้ทั่ว ๆ ไป และน้ำผึ้ง ชูโครส จากต้นอ้อย หัวบี มะพร้าว ตาลเป็นต้น
                น้ำตาลเป็นสารประกอบที่รู้จักกันมานาน เชื่อว่าอินเดียเป็นประเทศแรก ที่ทำการผลิตน้ำตาลจากอ้อย เมื่อราวปี พ.ศ.๑๔๓ ส่วนประเทศทางยุโรปได้มีการเผยแพร่การทำน้ำตาลจากหัวบีตราวปี พ.ศ.๒๒๙๐
                น้ำตาลทรายเป็นสารประกอบที่ใช้ในอุตสาหกรรม หลายชนิด เช่นอุตสาหกรรมทำลูกกวาด อุดสาหกรรมทำเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมการถนอมอาหาร เป็นสารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายสูงพอควร ให้คุณประโยชน์แก่ร่างกายมาก เป็นอาหารชนิดหนึ่งให้บริโภคน้ำตาลในปริมาณร้อยละ ๑๕ ต่อวันของจำนวนคาลอรีทั้งหมดที่ร่างกายต้องการ         ๑๕/ ๙๖๘๕
            ๒๘๘๔.
น้ำเต้า  เป็นไม้เถาล้มลุกเกษรตัวผู้และเกษรตัวเมียแยกอยู่คนละดอก ใบมนรีรูปไข่ กว้าง ๑๐ - ๓๐ ซม. โคนใบรูปหัวใจขอบใบหยักตื้น ๆ ดอกออกเดี่ยว โรยเร็ว ยาว ๒.๕ - ๕ ซม. กว้าง ๒ - ๔ ซม. สีขาว ผลมีรูปทรงต่าง ๆ ขนาดต่างกัน แต่ที่รู้จักกันมากคือ รูปทรงแบบน้ำเต้า ผิวเปลือกหนา แข็งแรง ทนทานเวลาแห้งสนิท
                พันธุ์ไม้นี้ มนุษย์รู้จักมาแต่โบราณกาล และปลูกใช้ผลเป็นอาหาร และใช้ผลที่แช่แห้งเป็นภาชนะของใช้ในครัวเรือน ตลอดจนใช้เป็นหุ่นในการประมง และใช้เป็นเครื่องดนตรี           ๑๕/ ๙๖๙๑
            ๒๘๘๕.
น้ำนมราชสีห์ เป็นชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง เป็นไม้ล้มลุกมียางสีขาวคล้ายน้ำนม ลำต้นมักทอดนอนไปตามพื้น อาจตั้งตรงและสูงได้ประมาณ ๑๐ ซม. ใบออกตรงข้ามเป็นคู่ ๆ รูปยาวขอบขนาน ปลายใบแหลมขอบใบจัก ขนาดของใบราว ๐.๗ - ๑.๕ ซม. ดอกออกที่ยอดหรือช่อใบเป็นช่อเล็ก ๆ และดูเป็นกระจุก ทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียมีใบประดับอวบหนา รูปคล้ายถ้วยหุ้มไว้ ที่ขอบใบประดับมีต่อมน้ำหวานยื่นออกมา
                น้ำนมราชสีห์เป็นสมุนไพร ทั้งต้น ดอก ผล มีสรรพคุณแก้ไอ และหืด แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ ถ่ายพยาธิ และโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ          ๑๕/ ๙๖๙๒
            ๒๘๘๖.
น้ำนอง ๑ - ต้น  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ดอกมีสองชนิด ชนิดหนึ่งเป็นไม้ต้นขนาดกลางอีกชนิดหนึ่งเป็นไม้ขนาดย่อม ทอดยอดกลายเป็นไม้เลื้อยได้            ๑๕/ ๙๖๙๓
            ๒๘๘๗.
น้ำนอง ๒ - ตัว  เป็นชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกพวกปลวกประเภทหนึ่ง ซึ่งมักจะรวบรวมกลุ่มกันตอนใกล้ตะวันตกดิน หลังจากน้ำลดเพื่อเก็บตะไคร่น้ำ นำไปเลี้ยงลูกอ่อนในรังดิน ปลวกพวกนี้มักตัวดำหรือค่อนไปทางดำ ในประเทศไทยมีอยู่หลายชนิด            ๑๕/ ๙๖๙๓
            ๒๘๘๘.
น้ำประสานทอง  คือเกลือเคมีชนิดหนึ่ง เรียกเป็นชื่อสามัญว่า บอแรกซ์ สารประกอบนี้มีปรากฏอยู่อย่างอิสระในธรรมชาติ เมื่อนำแร่นี้ไปทำให้เกิดการตกผลึก ก็จะได้ผลึกของน้ำประสานทอง ลักษณะเป็นของแข็งสีขาว ละลายน้ำได้ เมื่อละลายน้ำจะได้สารละลายมีฤทธิ์เป็นด่างอย่างอ่อน ๆ เมื่อหลอมตัวมีลักษณะใสคล้ายแก้ว
                น้ำประสานทองมีประโยชน์หลายประการ เช่น ใช้เป็นตัวประสานในการเชื่อม หรือบัดกรีโลหะ ใช้ในอุตสาหกรรมทำแก้วประเภทบอโรซิลิเกต เช่น แก้วไพเรกซซึ่งทนความร้อนมากใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบ ใช้เป็นสารขจดความกระด้างของน้ำ         ๑๕/ ๙๖๙๕
            ๒๘๘๙
น้ำปาด  อำเภอขึ้น จ.อุรดิตถ์ มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกจดประเทศลาว ภูมิประเทศตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ลุ่มแต่มีภูเขาและโคกมาก ตอนเหนือเป็นโคกและภูเขาตลอด
                อ.น้ำปาด เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งชื่อว่า
เมืองน้ำปาด ขึ้นเมืองพิชัย ตรีเมืองตั้งอยู่ที่ ต.บ้านฝาย ภายหลังยุบเป็นอำเภอเรียก อ.น้ำปาด ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.แสนตอ แล้วกลับเปลี่ยนชื่อเป็น อ.น้ำปาดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕           ๑๕/ ๙๖๙๕
            ๒๘๙๐.
น้ำผลึก  สารประกอบหลายชนิด เมื่อทำให้ตกผลึกจากน้ำ โมเลกุลของสารประกอบเหล่านั้น จะรวมตัวกับโมเลกุลของน้ำให้ผลเป็นผลึกของสารประกอบนั้น ๆ เรียกโมเลกุลของน้ำที่ปรากฏอยู่ผลึกของสารประกอบเหล่านั้นว่าน้ำผลึก และเรียกสารประกอบนั้น ๆ รวมทั้งน้ำผลึกด้วยว่า สารประกอบประเภทไฮเดรต            ๑๕/ ๙๖๙๖
            ๒๘๙๑.
น้ำผึ้ง  เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ลำต้นสูงราว ๒ - ๕ เมตร ใบออกเรียงสลับกัน รูปรี โคนใบมน ปลายใบแหลมทู่ๆ  ใบกว้าง ๑.๕ - ๒.๓ ซม. ยาว ๓.๕ - ๖.๕ ซม. ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบสีเหลือง ดอกบานคล้ายรูปดาว ออกดอกราวเดือน สิงหาคม-กันยายน ดอกจะบานพร้อมกันทั้งต้นสีเหลืองทอง เป็นช่อกลมตามกิ่งสวยงามมาก           ๑๕/ ๙๖๙๗
            ๒๘๙๒.
น้ำพอง  อำเภอขึ้น จ.ขอนแก่น ภูมิประเทศเป็นโคกสลับแอ่ง            ๑๕/ ๙๖๙๘
            ๒๘๙๓.
น้ำพุ  คือน้ำใต้ดินที่ไหลกลับขึ้นมาบนผิวโลกตามธรรมชาติ น้ำที่ไหลขึ้นมานั้น ถ้ามีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์เรียกว่า น้ำพุเย็น ถ้าสูงกว่าเรียกว่า น้ำพุร้อน มีแร่ธาตุละลายเจือปนอยู่  

น้ำพุเกิดขึ้นในบริเวณที่เป็นหินน้ำซึมคือชั้นหินที่มีน้ำขังอยู่เต็มทุกช่องว่างในหิน เป็นบริเวณน้ำจากผิวดินซึมลงไปรวมอยู่เป็นจำนวนมาก ใต้ชั้นหินน้ำซึมลงไปเป็นชั้นหินที่ไม่ยอมให้น้ำไหลผ่านลงไปได้เรียกว่า หินน้ำซับ น้ำที่รวมตัวกันอยู่ในชั้นหินน้ำซึมจะมีแรงอัดดันมากจนพุพุ่งขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นน้ำพุ          ๑๕/ ๙๖๙๘
            ๒๘๙๔.
น้ำมนต์  มีบทนิยามว่า "น้ำเสกเพื่ออาบเป็นมงคล" แต่น้ำมนต์โดยทั่วไปกำหนดได้เป็นสามอย่างคือ ใช้เพื่อเป็นมงคล ใช้เพื่อรักษาโรค และใช้ระงับทุกข์ภัย
                ที่ว่าเพื่อมงคลนั้น คือใช้ในการทำบุญทางศาสนาเรียกว่างานมงคล ตามปรกติก็ต้องจัดตั้งบาตร น้ำมนต์ หรือขั้นน้ำมนต์ ถ้าทำบุญขึ้นบ้านใหม่ตั้งบาตรทรายด้วย มีด้านสายสิญจน์โยงจากองค์พระพุทธรูปที่ตั้งเป็นประธานในพิธีนั้น วงมาที่บาตรน้ำมนต์ พระสงฆ์ในพิธีทั้งหมดถือด้ายสายสิญจน์นั้น ขณะเจริญพระพุทธมนต์ พระสงฆ์ผู้เป็นสังฆเถระจะหยดเทียน และดับเทียนเมื่อถึงบทมนต์ที่กำหนด รู้ไว้ (มงคลสูตรเมื่อจุดเทียน รัตนสูตรเมื่อดับเทียน -
เพิ่มเติม) เสร็จพิธีนั้นแล้ว พระสังฆเถระจะประพรมน้ำมนต์ให้แก่เจ้าของงาน และแก่ผู้มาร่วมงาน ถ้าเป็นงานขึ้นบ้านใหม่ หรือทำบุญบ้าน ท่านจะประพรหมทั่วบ้านพร้อมทั้งบริเวณบ้าน และชักทรายทั่วพื้นที่บริเวณบ้านด้วย
                น้ำมนต์นี้ ถ้าเสกด้วยพระพุทธมนต์เรียกว่า
น้ำพระพุทธมนต์ นิยมว่าต้องพระสงฆ์เสกถ้าเสกด้วยโองการตามลัทธิไสยศาสตร์เรียกว่า เทพมนต์ หรือทิพมนต์            ๑๕/ ๙๖๙๙
            ๒๘๙๕.
น้ำมัน  เป็นของเหลวสีเหลืองอ่อนมีกลิ่นเฉพาะ ลักษณะเป็นมันลื่นมือ เมื่อถูกกระดาษจะทำให้ กระดาษเป็นจุดใส ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ง่ายในตัวทำละลายอินทรีย์บางชนิด เช่น อีเทอร์ แหล่งที่มาของน้ำมัน อาจสกัได้จากพืช หรือสัตว์หรือหินน้ำมัน หรือปิโตรเลียม น้ำมันจากหินน้ำมันและปิโตรเลียมนำมาใช้เป็นเชื้อเพลงโซลา และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมบางชนิด
                น้ำมันจากหินน้ำมันได้จากการที่เอาหินน้ำมันมาอบด้วยความร้อนสูง ๆ จะได้น้ำมันดิบที่มีส่วนผสมของน้ำมันชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าดและสารอื่น ๆ คล้ายน้ำมันดิบจากปิโตรเลียมส่วนการสกัดน้ำมันปิโตรเลียม โดยขบวนการกลั่นลำดับส่วนนั้น รัฐบาลและเอกชนได้ดำเนินการอยู่ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันเตา น้ำมันโซลา น้ำมันจากพืชและสัตว์ มุ่งนำมาใช้ประโยชน์ในด้านบริโภคและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตหลายชนิด            ๑๕/ ๙๗๐๑
            ๒๘๙๖.
น้ำมันเขียว  เป็นน้ำมันระเหยที่กลั่นจากใบสด หรือยอดอ่อน ของต้นคาจูปุต โดยวิธีกลั่นร้อนด้วยไอน้ำ น้ำมันมีลักษณะสีเขียว มีกลิ่นหอมเฉพาะ ปัจจุบันใช้เป็นยาขับเสมหะ และใช้เป็นยาขับพยาธิลำไส้ และใช้ในการรักษาโรคผิวหนังหลายชนิด และใช้ฆ่าตัวปรสิต เช่น หิดเป็นต้น             ๑๕/ ๙๗๐๕
            ๒๘๙๗.
น้ำมันระกำ  เป็นน้ำมันหอมระเหย ไม่มีสีหรือสีเหลืองหรือสีแดง สะกัดจากใบของต้นกอลทีเรีย และจากลำต้นของเบดูลา กอลทีเรียเป็นพืชพวกไม้เถา หรือไม้เลื้อย ออกดอกสีขาว เบดูลาเป็นพืชยืนต้นถ้าต้าแก่จะสูงถึง ๒.๔๐ เมตร
                สารเคมีในน้ำมันระกำมีความสำคัญมาในการทำผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น การผลิตยาที่ใช้ทา เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยเคล็ดตามข้อ และกล้ามเนื่อ และยังใช้เป็นตัวทำละลายสารเซลลูโลส ทำยาฆ่าแมลง ทำหมึกพิมพ์ และหมึกโรเนียว เป็นต้น           ๑๕/ ๙๗๐๖
            ๒๘๙๘.
น้ำมันสลัด  โดยทั่ว ๆ ไปนิยมใช้น้ำมันพืช ชนิดที่นิยมมาแต่ดั้งเดิมคือ น้ำมันมะกอก             ๑๕/ ๙๗๐๙
            ๒๘๙๙.
น้ำมูก  คือ ของเหลวที่มีอยู่ในรูจมูกมีเป็นพัก ๆ โดยเซลล์สร้างเมือก ซึ่งมีอยู่เป็นส่วนหนึ่งของเยื่อเมือก ที่บุภายในช่องจมูก เมื่อน้ำมูกมีแล้ว จะฉาบอยู่บนผิวของเยื่อเมือกในจมูก โดยแยกเป็นสองชั้น ชั้นล่างมีลักษณะใส ส่วนชั้นบนของน้ำมูก จะมีลักษณะเหนียวข้นฉาบอยู่บน
                น้ำมูก อาจเกิดขึ้นโดยการกระตุ้นเฉพาะที่ (เช่น จากผงฝุ่น)  หรือการกระตุ้นโดยสารเคมี (เช่น แอมโมเนีย)  ด้วยก็ได้ น้ำมูกมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียคือ สามารถทำให้แบคทีเรียงัน และฆ่าแบคทีเรียด้วย น้ำมูกสามารถจับเศษผงขนาด ๑ ไมครอน ให้อยู่ในจมูกได้ร้อยละ ๑๐ - ๗๐ แล้วถูกขจัดออกปนกับน้ำมูก ผงและสิ่งที่ละลายได้ส่วนใหญ่จะถูกเม็ดเลือดขาวกิน             ๑๕/ ๙๗๑๐
            ๒๙๐๐.
น้ำยา  เป็นแกงชนิดหนึ่ง เครื่องปรุงจัดอยู่ในจำพวกแกงคั่ว นิยมบริโภคกับขนมจีน และเครื่องประกอบอื่น ๆ อีกมีทั้งผักดิบ นับว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าพร้อมชนิดหนึ่ง            ๑๕/ ๙๗๑๒
            ๒๙๐๑.
น้ำยืน  อำเภอ ขึ้น จ.อุบลราชธานี มีอาณาเขตทิศใต้จดประเทศกัมพูชา ภูมิประเทศประกอบด้วยทิวเขาพนมดงรัก กั้นเขตแดนด้านใต้
                อ.น้ำยืน แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ขึ้น อ.เดชอุดม ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗             ๑๕/ ๙๗๑๓
            ๒๙๐๒.
น้ำว้า - กล้วย  เป็นกล้วยที่แพร่หลายมากกว่ากล้วยชนิดอื่น ทั้งปริมาณและคุณภาพ ชาวบ้านนิยมเลี้ยงทารกด้วยำกล้วยน้ำว้า นอกจากนี้ยังทำกล้วยปิ้ง กล้วยทับ และกล้วยแขก ขายเป็นประจำวัน             ๑๕/ ๙๗๑๔
            ๒๙๐๓.
น้ำส้มสายชู  เป็นสารละลายใส ไม่มีสี หรือสีชาอ่อน ๆ มีกลิ่นฉุน และมีรสเปรี้ยว น้ำส้มสายชูแท้ จะต้องประกอบด้วยกรดน้ำส้มเท่านั้น น้ำส้มสายชูเป็นเครื่องปรุงอาหารที่นิยมใช้ในครัวเรือน ใช้เป็นสารถนอมอาหาร และยังใช้ส่วนผสมตัวยาไทย            ๑๕/ ๙๗๑๕
            ๒๙๐๔. 
น้ำโสม  อำเภอ ขึ้น จ.อุดรธานี ภูมิประเทศเป็นป่าดงทึบเป็นส่วนใหญ่ มีลำห้วยขนาดเล็ก จากภูเขาลงสู่ที่ราบเชิงเขาจำนวนมาก มีภูเขาสลับซับซ้อน
                อ.น้ำโสมแตกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ขึ้น อ.บ้านสือ ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗            ๑๕/ ๙๗๑๘
            ๒๙๐๕. 
น้ำหนัก  พบกันว่าประมาณทุก ๆ ๕,๐๐๐ โมเลกุลของน้ำธรรมดา จะมี ๑ โมเลกุล ของ "น้ำหนัก" ปนอยู่ด้วย จึงสามารถแยก "น้ำหนัก" ออกน้ำธรรมดาได้ กรรมวิธีที่ใช้แยกก็คือ การแยกน้ำธรรมดาเจือกรด หรือต่างด้วยไฟฟ้า
            ในทางวิทยาศาสตร์ใช้  "น้ำหนัก" เป็นตัวมอดเดอเรเตอร์ ในเครื่องปฎิกรณ์ปรมาณูเพื่อช่วยควบคุมจำนวนอนุภาคนิวตรอน ที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ไม่ให้ทั่วเกินไป จนถึงขั้นเป็นอันตรายได้             ๑๕/ ๙๗๑๙
            ๒๙๐๖. 
น้ำเหลือง  เป็นของเหลวที่อยู่ในหลอดน้ำเหลือง มีลักษณะใส สีเหลืองอ่อนและมีปฎิกิริยาเป็นด่าง แหล่งกำเนิดที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่นอน เข้าใจว่ามาจากเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย จึงมีส่วนประกอบต่าง ๆ คล้ายคลึงกับส่วนน้ำของเลือด ที่เรียกว่า "พลาสมา" น้ำเหลืองกับเลือดมีการติดต่อกันได้โดยหลอดน้ำเหลืองฝอย จากอวัยวะต่าง ๆ จะรวมตัวกันเป็นหลอดน้ำเหลืองขนาดใหญ่ น้ำเหลืองเข้าสู่หลอดเลือดดำใหญ่ หลอดน้ำเหลืองจะมีกระจายอยู่ทั่ว ๆ ไป แทบทุกอวัยวะ ยกเว้นเพียงสามแห่งที่ไม่มีหลอดน้ำเหลืองคือ ที่ถุงลมของปอด ที่ไขกระดูกและที่ระบบประสาท เฉพาะหลอดน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ ตามผนังของลำไส้เล็กนั้น ที่ช่วยรับเอาส่วนของอาหารต่าง ๆ ที่ย่อยถึงขั้นสุดท้ายแล้ว นำไปสุ่ระบบไหลเวียนเลือด นอกจากนี้ตามทางเดินของหลอดน้ำเหลืองใหญ่ ๆ จะมีต่อมน้ำเหลืองอยู่เป็นระยะ ๆ เช่น ที่ข้อศอก รักแร้ ข้อพับต่าง ๆ ในช่องท้อง ช่องอก และตามข้าง ๆ คอ เป็นต้น
            หน้าที่สำคัญของต่อมน้ำเหลืองคือ เป็นด่านกักเชื้อโรคต่าง ๆ เอาไว้ ก่อนที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด โดยจะแสดงอาการอักเสบของหลอดน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองก่อน ภายในต่อมน้ำเหลืองมี
เม็ดน้ำเหลือง ซึ่งจัดอยู่ในประเภทเดียวกับเม็ดเลือดขาว มีหน้าที่ไปช่วยต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าไปสู่ร่างกาย
            หน้าที่ของน้ำเหลืองคือ เป็นตัวกลางช่วยในการแลกเปลี่ยนสารต่าง ๆ และของเหลวระหว่างเลือด กับเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยรับและพาอาหารจากเลือดมาให้อวัยวะต่าง ๆ โดยใกล้ชิด ทั้งรับและพาของเสียซึ่งเกิดจากการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในอวัยวะนั้น ๆ ส่งต่อไปยังเลือด เนื่องจากหลอดน้ำเหลืองฝอย มีคุณสมบัติพิเศษกว่า หลอดเลือดฝอยจึงทำหน้าที่ช่วยนำสารพวกโปรตีน ที่อยู่ตามอวัยวะกลับคืนสู่เลือด และช่วยพาของเหลวต่างๆ ให้กระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้อวัยวะต่าง ๆ อยู่ในสภาพปรกติ และยังมีหน้าที่ช่วยพาเอาเชื้อโรคต่าง ๆ ออกไปจากอวัยวะด้วย
            มีสารบางชนิดที่เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปจะมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งของน้ำเหลืองได้ เช่น พวกน้ำตาลต่าง ๆ สารยูเรีย เกลือแกง เปปโทน ไข่ขาว น้ำสกัดตับ และลำไส้ เนื้อปู เลือดปลิง กุ้งน้ำจืด หอยกระพง และหอยแมลงภู่ สารอิสตามีน และโปรตีน แปลกปลอมบางชนิด            ๑๕/ ๙๗๒๐
            ๒๙๐๗. 
น้ำอบ  มีบทนิยามว่า "น้ำที่อบด้วยควันกำยาน หรือเทียน อบ และปรุงด้วยเครื่องหอม "น้ำอบที่เรียกกันว่า "น้ำอบไทย" นั้น แตกต่งจากน้ำหอมที่ชาวบ้านเรียกว่า "น้ำอบฝรั่ง" ทั้งลักษณะกลิ่น และกระบวนการทำเป็นอันมาก
            การใช้น้ำอบไทยในงานประเพณีของไทยต่าง ๆ เช่น ในงานพิธีมงคลสมรส งานสงกรานต์ งานขึ้นปีใหม่ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และประเพณีงานศพ เป็นต้น เป็นเครื่องแสดงถึงการสืบทอดวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของไทยอย่างหนึ่ง
            ๒๙๐๘.
น้ำอ้อย  เป็นของเหลวสีเหลือง มีรสหวาน องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นชูโครส สกัดได้จากต้นอ้อย ซึ่งเป็นพืชจำพวกหญ้าใหญ่ชนิดหนึ่ง
                น้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล         ๑๕/ ๙๗๒๘
            ๒๙๐๙.
นิกเกิล  เป็นธาตุลำดับที่ ๒๘ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนเป็นผู้ค้นพบธาตุนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๙๔ ธาตุนิกเกิลมีปรากฎในธรรมชาติในลักษณะเป็นสินแร่ โดยรวมตัวอยู่กับธาตุอื่นเช่นสารหนู กำมะถัน พลวง โคบอลต์ เหล็ก แมกนีเซียม แร่สำคัญที่สุดที่นำมาใช้ถลุงแยกธาตุนิเกิลออกก็คือแร่เพนต์แลนไดต์
                นิกเกิล เป็นโลหะแข็งมากแต่ไม่เปราะ มีสีเงินวาว ตีแผ่ให้เป็นแผ่นบาง และดึงให้เป็นเส้นลวดได้ มีสมบัติเป็นแม่เหล็ก ไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ณ อุณหภูมิธรรมดา ทำปฏิกิริยาได้อย่างช้ากับกรดแก่อย่างเจือจาง ไม่มีปฏิกิริยากับกรดไนตริกเข้มข้น ทนทานอย่างยิ่งต่อปฏิกิริยาของงด่าง ดังนั้นจึงทำเป็นเบ้าทนไฟที่ต้องใช้กับด่าง ใช้ทำขั้วไฟฟ้าที่ใช้กับสารละลายด่าง ใช้ทำภาชนะบรรจุสารละลายเข้มข้นของโซดาแผดเผาได้เป็นอย่างดี
                ประโยชน์ของนิกเกิลคือใช้ชุบฉาบผิวโลหะ นำไปผสมกับโลหะอื่นให้เป็นโลหะเจือ (อัลลอย) หลายชนิดซึ่งมีประโยชน์มาก ปัจจุบันมีโลหะเจือ ซึ่งผสมโลหะนิกเกิลมากกว่า ๓,๐๐๐ ชนิด และนำไปทำประโยชน์ในการสร้างเครื่องยนต์ไอพ่น จรวด ดาวเทียม และส่วนประกอบของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เป็นต้น            ๑๕/ ๙๗๓๒
            ๒๙๑๐.
นิกริโต  เป็นมนุษย์เผ่าหนึ่ง กระจายพันธุ์ออกเป็นพวกเงาะ จากุน เซมัง และพวกสะไก หรือซาไก มีรูปร่างเล็ก ตัวเตี้ย ผิวคล้ำคล้ายนิโกร มีภูมิลำเนาอยู่ในตอนกลาง และตอนใต้ของทวีปแอฟริกา กับตามเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสนมุทรอินเดีย ที่ได้ชื่อรวมว่าโอเซเนีย
                พวกนิกริโต มีผิวดำคล้ำเสมอกัน ต่างจากพวกนิโกรที่ริมฝีปากบนยาว แต่เชิดเล็กน้อย ขนดก ตามปรกติหัวสั้นและกว้าง รูปร่างสูงราว ๑ - ๑.๕ เมตร มีสติปัญญาต่ำมาก ในหมู่มนุษย์ด้วยกัน จึงเป็นพวกไม่รู้จักสร้างบ้านปลูกเรือน ได้แต่อาศัยนอนตามเชิงผาป่าไม้เป็นทับที่อยู่ ใช้กิ่งไม้วางปูเป็นพื้นสำหรับนอนและสร้างเป็นเพิงต่าง ๆ มุงและกรุด้วยใบไม้มีขนาดพอนอนได้ อาศัยรากไม้ เหง้าไม้ และไม้ในป่า จับปลาจับสัตว์เล็ก ๆ มาทำเป็นอาหาร
                ในแหลมมลายู นักชาติพันธุ์วิทยาสันนิษฐานว่า พวกนิกริโตคือพวกเซมัง ได้อพยพเข้ามาอยู่ก่อน ภายหลังพวกออสโตรเนเซียนหรือพวกฮินโดเนเซียนคือพวกสะไก พวกจากุน และพวกชาวน้ำได้อพยพตามกันเข้ามาแล้วเกิดผสมพันธุ์ขึ้น ในแง่ภาษาพวกนิกริโต คงจะได้ติดต่อกับพวกมอญ - เขมร มาแต่เดิมอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับพวกที่เข้ามาทีหลัง ภาษาพูดจึงมีคำในตระกูลภาษามอญ - เขมร ปนอยู่ไม่น้อย            ๑๕/ ๙๗๓๕
            ๒๙๑๑.
นิกาย  มูลคำ เป็นภาษาบาลีและสันสกฤต เอามาใช้เป็นคำไทยเป็นคำทับศัพท์ มีบทนิยามว่า "หมู่ พวก หมวด เรียกคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ที่แยกออกเป็นห้าหมวดคือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย ขุทกนิกาย ลักษณนามบอกหมวดหมู่ใช้แก่คณะนักบวชในศาสนาเดียวกันที่แยกออกเป็นพวก ๆ เช่นในพระพุทธศาสนา มีสองนิกายคือ อุตรนิกายและทักษิณนิกาย"
                ตัวอย่างตามคำนิยามนี้ หมู่ พวก เช่น เทวนิกาย หมู่เทวดา หมวดกองเช่น พลนิกาย กองทัพ
                ผู้ถือศาสนาต่าง ๆ ทั้งที่เป็นนักบวชและไม่เป็นนักบวชก็มักจะแยกออกเป็นนิกายมากบ้าง น้อยบ้าง ตามทิฐิและความประพฤติปฏิบัติของผู้ถือศาสนานั้น ๆ            ๑๕/ ๙๗๓๖
            ๒๙๑๒.
นิโกร  เป็นชื่อของชนหลายเผ่าที่มีกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา คำนิโกรมีรากศัพท์มาจากคำลาตินแปลว่า "ดำ" ชาวนิโกรมีลักษณะร่างกายคล้ายคลึงหรือเหมือนกันหลายอย่างเช่น มีผิวดำ ผมหยิก จมูกแบน และริมฝีปากหนา เป็นต้น            ๑๕/ ๙๗๔๒
            ๒๙๑๓.
นิครนถ์  เป็นชื่อของนักบวชลัทธินอกศาสนาลัทธิหนึ่ง ในอินเดียสมัยพุทธกาล มีนาฏบุตรเป็นเจ้าลัทธิ เรื่องราวของนักบวชพวกนี้ มีปรากฎอยู่ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามากมาย
                คำนิครนถ์ เป็นภาษาสันสกฤต ในภาษาบาลีใช้ว่า "นิคัณฐะ" แปลว่า ไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัดหรือเครื่องผูกพัน
                ต่อมาเมื่อนิครนถ์ นาฏบุตร ดับขันธุ์แล้วไม่นาน พวกนิครนถ์ได้แตกออกเป็นสองนิกายคือนิกายทิคัมพร แปลว่าพวกนุ่งห่มทิศคือไม่นุ่งผ้า กับนิกายเศวตัมพร แปลว่าพวกวนุ่งขาวห่มขาว
                สาระสำคัญของลัทธินิครนถ์นี้ตรงกับลัทธิสำคัญลัทธิหนึ่งในจำนวนลัทธิเดียรถีย์สามลัทธิคือ ลัทธิที่ตรัสว่า "มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรือไม่สุข ไม่ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่มีกรรมที่ทำไว้ แล้วแต่กาลก่อนเป็นเหตุ"
            ในปัจจุบันนักบวชพวกนิครนถ์ ยังมีอยู่แพร่หลายในอินเดีย เรียกกันว่า นักบวชเชน และเรียกนาฎบุตรว่า
มหาวีระ (ดูคำเชน - ลำดับที่ ๑๗๗๕  ประกอบ)     

เมื่อนิครนถ์ นาฏบัตร ดับขันธ์ลง สางวกทั้งหลายได้ประชุมหารือกันว่าสาระสำคัญของลัทธินี้เป็นอย่างไร สาวกฝ่ายหนึ่งบอกว่าเป็นสัสตทิฐิ อีกฝ่ายหนึ่งแย้งว่าเป็นอุจเฉททิฐิ

ความจริงลัทธิของนิครนถ์ นาฏบัตรนี้เป็นลัทธิหนึ่งในจำนวน ๖๒ ลัทธิ (ทิฐิ๖๒) ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในพรหมชาลสูตร ซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นลัทธิเศียรถีย์คือลัทธินอกพระพุทธศาสนา       ๑๕/ ๙๗๔๓
            ๒๙๑๔.
นิโคติน  เป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภทอัลคาลอยด์ เป็นสารสำคัญในต้นยาสูบ และมีอยู่ที่ใบเป็นจำนวนมาก โคตินมีลักษณะเป็นของเหลวข้น เมื่อบริสุทธิ์ไม่มีสี เป็นสารพิษอย่างแรง ออกฤทธิ์ต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง ชีพจรเต้นเร็วขึ้น และทำให้หลอดโลหิตตีบลง
                ประโยชน์ของนิโคติน คือใช้เป็นตัวยาฆ่าแมลงที่ทำลายพืช ใช้เป็นยาขับพยาธิลำไส้ในสัตว์            ๑๕/ ๙๗๔๗
            ๒๙๑๕.
นิโครธาราม - วัด  เป็นสังฆาราม ตั้งอยู่ที่กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดพระพุทธบิดา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรก ทางกรุงกบิลพัสดุ์ได้เตรียมการรับเสด็จ เลือกได้สวนของนิโครธ ซึ่งเป็นเจ้าชายในวงศ์ศากยะ จัดสร้างเสนาสนะที่ประทับของพระพุทธองค์ และของพระสงฆ์ที่ตามเสด็จ กับสถานที่รับรองแขกต่างเมืองที่ตามเสด็จด้วย และสร้างหอประชุมใหญ่ให้มีที่จงกรม ให้มีที่พักกลางวัน และกลางคืนที่เหมาะแก่พระภิกษุ        ๑๕/ ๙๗๔๘
            ๒๙๑๖.
นิจศีล  คือศีลที่ต้องรักษาไว้เป็นนิจได้แก่ศีลห้า นิจศีลนี้นิยมสมาทานกันอยู่สองกาลคือ
                    ๑. เมื่อทำพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกครั้งแรก ก็รับไตรสรณาคมน์ และศีลห้า กำหนดว่านับถือพระพุทธศาสานาเต็มตัวแล้ว
                    ๒.  เมื่อบอกลาสิกขา พระอุปัชฌายะ หรืออาจารย์ ให้สมาทานศีลอีกครั้งหนึ่ง            ๑๕/ ๙๗๔๙
            ๒๙๑๗.
นิติกรรม  ได้แก่ การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมาย และด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ โดยนัยนี้นิติกรรมก็คือ การกระทำที่มุ่งให้เกิดผลเกี่ยวกับสิทธิ หรือผลประโยชน์ของบุคคล ซึ่งกฎหมายรองรับและบังคับให้
                นิติกรรมอาจเป็นการกระทำของบุคคลเดียว หรือหลายฝ่ายก็ได้ นิติกรรมซึ่งจะมีผลทางกฎหมายนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยใจสมัคร และประสงค์จะให้มีความผูกพันกันตามกฎมายด้วย ผู้ทำนิติกรรมจะต้องเป็นผู้มีความสามารถบริบูรณ์ตามกฎหมาย นิติกรรมบางอย่างกฎหมายบังคับว่า ต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้  

 โดยปรกติแล้ว การใด ๆ ที่กฎหมายมิได้ห้ามไว้ บุคคลจะทำนิติกรรมให้เกิดผลอย่างไรก็ได้ แต่นิติกรรมนั้นจะต้องมีวัตถุประสงค์ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน     ๑๕/ ๙๗๕๐
            ๒๙๑๘. 
นิติบัญญัติ  หมายถึง การบัญญัติหรือตรากฎหมายเป็นอำนาจอธิปไตยประเภทแรก ในระบอบการปกครองประเทศ มักจะปรากฎในรูป "อำนาจนิติบัญญัติ" หรือบางทีก็เรียกว่า รัฐสภา
                รัฐสภา มักจะตรากฎหมายที่เป็นแม่บทวางหลักกว้าง ๆ ไว้ ในพระราชบัญญัติ และมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหาร ตรากฎหมายในข้อปลีกยอ่ย เป็นพระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวงเอาเอง ซึ่งจะต้องออกภายในขอบเขตของพระราชบัญญัติ ที่ให้อำนาจไว้  หากออกเกินขอบเขตก็อาจถูกศาล ซึ่งเป็นผู้ใช้กฎหมายปรับกับคดีชี้ขาดว่า พระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวงไม่มีผลเป็นกฎหมายใช้บังคับไม่ได้
                ศาล ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ ก็เป็นผู้บัญญัติขึ้นเหมือนกัน ทั้งนี้เนื่องจากประเทศที่ใช้กฎหมายประเพณี หรือคอมมอนลอว์ อย่างเช่นในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ กฎหมายส่วนใหญ่เกิดจากคำพิพากษาคดีสำคัญ ๆ ของศาลสูง และนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการตัดสินคดีต่าง ๆ ไปในเวลาข้างหน้าเสมอ จนกว่าคำพิพากษานั้น จะถูกลบล้างโดยคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่า หรือมีกฎหมายออกมาเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือยกเลิกหลักกฎหมายในคำพิพากษานั้น ๆ เสีย             ๑๕/ ๙๗๕๖
            ๒๙๑๙.
นิติบุคคล  คือ บุคคลที่เกิดขึ้น หรือมีขึ้นโดยอาศัยอำนาจกฎหมาย นิติบุคคลไม่ใช่บุคคลธรรมดา หากแต่เป็นคณะบุคคล หรือกองทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคล และยอมให้มีสิทธิ์และหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ ซึ่งโดยสภาพแล้ว จะพึงมีพึงเป็นได้ เฉพาะแต่บุคคลธรรมดาเท่านั้น
                ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘ บัญญัติว่า "อันว่านิติบุคคลนั้น จะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติทั้งหลายของประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่น
                นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแห่งและพาณิชย์ ได้แก่ ทบวงการเมือง วัดวา อาราม ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิได้รับอำนาจแล้ว
                นิติบุคคลตามกฎหมายอื่นนั้น จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นต้น
                นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งก่อตั้งนิติบุคคลนั้น ๆ บัญญัติไว้และต้องอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ดังที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งด้วย และจะต้องมีภูมิลำเนา เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา             ๑๕/ ๙๗๕๙
            ๒๙๒๐.
นิติภาวะ  หมายถึง การที่บุคคลมีความสามารถตามกฎหมายในภาวะต่าง ๆ แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ภาวะเป็นผู้เยาว์กับภาวะเป็นผู้ใหญ่ ในระหว่างเป็นภาวะผู้เยาว์นั้น กฎหมายให้บุคคลมีความสามารถได้แต่โดยจำกัด จะทำการต่าง ๆ ได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม
                การบรรลุนิติภาวะของบุคคลนั้น มีได้สองทางคือ เมื่อบุคคลมีอายุถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดทางหนึ่ง กับเมื่อบุคคลทำการสมรสอีกทางหนึ่ง            ๑๕/ ๙๗๖๐
            ๒๙๒๑. 
นิติศาสตร์  มีบทนิยามว่า "วิชากฎหมาย" ร่องรอยแห่งวิชานิติศาสตร์ ปรากฎมาแต่อดีตเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว
                นิติศาสตร์ประกอบด้วยกฎหมายสองระบบคือ ระบบคอมมอนลอว์ ซึ่งเป็นระบบกฎหมายที่มิได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และระบบประมวลกฎหมายคือ กฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในประเทศที่ใช้ระบบคอมมอนลอว์นั้น ศึกษากฎหมายจากคำพิพากษาของศาลเป็นประการสำคัญ ส่วนในประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายยึดตัวบทกฎหมาย ที่บัญญัติไว้เป็นหลัก คำพิพากษาของศาลสูงเป็นเพียงตัวอย่างประกอบ
                นิติศาสตร์ ที่ศึกษากันอยู่เวลานี้ ประกอบด้วยกฎหมายสาขาใหญ่ ๆ สามสาขาคือ
                    ๑.
กฎหมายมหาชน  เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎร ในฐานะเป็นฝ่ายปกครองราษฎร อันมีกฎหมายดังต่อไปนี้
                        ก. 
กฎหมายรัฐธรรมนูญ  เป็นกฎหมายกำหนดโครงสร้างของรัฐ และระบอบการปกครองประเทศ กฎหมายนี้ถือว่าเป็นใหญ่กว่ากฎหมายทั้งปวง บทบัญญัติของกฎหมายอื่นใด หากขัดแย้งกับบทบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ถือว่าเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ
                        ข. 
กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ ซึ่งอาจประกอบด้วย พระราชบัญญัติต่าง ๆ
                        ค. 
กฎหมายอาญา  เป็นกฎหมายที่กำหนดลักษณะความผิด และโทษที่ลงแก่ผู้กระทำผิด
                        ง. 
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เป็นกฎหมายที่กำหนดระเบียบ และวิธีดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญา เช่น การสอบสวน อำนาจศาล การยื่นฟ้อง การพิจารณา การรับฟังพยานหลักฐาน การตัดสินคดี และการอุทธรณ์ฎีกา
                        จ. 
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  เป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีการเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่ง
                        ฉ. 
ธรรมนูญศาลยุติธรรม  เป็นกฎหมายที่จัดวางระเบียบการศาลยุติธรรม เช่น การจัดตั้งและยุบเลิกศาล อำนาจศาล องค์คณะผู้พิพากษา และอำนาจผู้พิพากษาในการพิจารณาตัดสินคดี
                    ๒.
กฎหมายเอกชน  หรืออีกนัยหนึ่งว่ากฎหมายแพ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนต่อเอกชน ซึ่งมีฐานะทางกฎหมายเท่ากัน มีกฎหมายแพ่งว่าด้วยบุคคล ว่าด้วยทรัพย์ ว่าด้วยนิติกรรม ว่าด้วยหนี้ ว่าด้วยการซื้อขายแลกเปลี่ยน ว่าด้วยจำนำจำนองค้ำประกัน ว่าด้วยการรับขน ว่าด้วยการรับฝาก ว่าด้วยการกู้ยืม ว่าด้วยประนีประนอมความ ว่าด้วยเช่าทรัพย์ ว่าด้วยตั๋วเงิน ว่าด้วยประกัน ว่าด้วยหุ้นส่วน สมาคม ว่าด้วยครอบครัว และว่าด้วยมรดก
                    ๓.
กฎหมายระหว่างประเทศ  เป็นกฎหมายว่าด้วยความเกี่ยวพันระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกัน แบ่งได้เป็นสามสาขาคือ
                        ก.
กฎหมายระหว่างปวระเทศแผนกคดีเมือง  ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ในฐานะที่เป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่นการรับรองรัฐ การทูต การปักปันเขตแดน การทำสนธิสัญญา การใช้ทะเลหลวง องค์กรระหว่างประเทศ และหลักเกณฑ์ในการสงคราม
                        ข.
กฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล  เป็นกฎหมายที่วางหลักความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐในทางแพ่ง เช่นหลักเกณฑ์ในการใช้กฎหมาย เกี่ยวกับการสมรสของคนต่างด้าว การได้สัญชาติของคนต่างงด้าวกรณีสมรส การได้สัญชาติของบุตรคนต่างด้าว หลักเกณฑ์ในการเลือกกฎหมาย ที่จะพึงใช้บังคับกับสัญญาที่ทำโดยคู่สัญญา ซึ่งอยู่ในประเทศต่างกัน ว่าจะใช้กฎหมายของประะเทศใดบังคับ
                        ค.
กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา  เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันในทางคดีอาญา เช่นกำหนดว่า ความผิดอาญาที่ได้กระทำนอกประเทศลักษณะใดบ้าง ที่จะพึงฟ้องในประเทศได้ ตลอดจนกำหนดวิธีการ และหลักเกณฑ์ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ดูคำกฎหมาย - ลำดับที่ ๑๙ ประกอบด้วย)            ๑๕/ ๙๗๖๔
            ๒๙๒๒.
นิติสาส์น  เป็นหนังสือวารสารกฎหมายที่เก่าแก่มากเล่มหนึ่ง เริ่มพิมพ์ออกจำหน่าย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑ นักเรียนกฎหมายยึดถือหนังสือนี้เป็นคำสอน และเรียกหนังสือนี้ว่า "หนังสือกฎหมาย"            ๑๕/ ๙๗๖๗
            ๒๙๒๓.
นิทรา  แปลตามรูปคำว่า "นอนหลับ" หรือ "ความง่วง" ในวรรณคดีสันสกฤต สมัยแรก ๆ คือ สมัยพระเวทไม่มีกล่าวถึงคำนี้ มีปรากฎในสมัยต่อมาคือ สมัยกาพย์ และสมัยปุราณะ ซึ่งมีการสมมติอาการนาม หรือนามธรรมให้เป็นบุคคลมีรูปร่างขึ้น และโดยมากสมมติให้เป็นผู้หญิง
                คัมภีร์ภาควตปุราณะกล่าวว่า "นิทรา" เป็นภาคหนึ่งของพระพรหมในรูปของผู้หญิงกล่าวคือ ตอนที่พระพรหมสร้างโลกแล้วถึงคราวที่จะต้องพักผ่อน พระองค์ก็ได้แบ่งภาคเป็นสนธยา (เวลาโพล้เพล้) มีรูปเป็นเทวี จากนั้นก็เป็นนิทราเทวี และถึงการหลับสนิทในที่สุด เป็นการยุติภารกิจแห่งการสร้างสวรรค์ไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง            ๑๕/ ๙๗๖๙
            ๒๙๒๔.
นิทราชาคริต  เป็นกวีนิพนธ์ประเภทลิลิต พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ตามเค้าเรื่องนิทานอาหรับเรื่องหนึ่ง ในชุดเรื่องอาหรับราตรี หรือพันหนึ่งราตรี        ๑๕/ ๙๗๗๐
            ๒๙๒๕.
นิทาน  หมายถึง เรื่องที่เล่ากันมาแต่โบราณ ตรงกับคำว่า "นิทานกถา" ในภาษาบาลี ส่วนคำว่านิทานของภาษาบาลีแปลว่าเรื่องเดิม เรื่องที่ผูกขึ้น และเรื่องที่อ้างอิง นิทานที่มีในไทย อาจแบ่งตามสมัยได้คือ
                    ๑.
นิทานก่อนมีประวัติศาสตร์  ได้แก่ นิทานที่มีอยู่ในพงศาวดารเหนือ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีของไทย
                    ๒.
นิทานประเภทชาดกในนิบาตชาดก  มีอยู่ประมาณ ๕๐๐ เรื่อง สันนิษฐานว่า เข้ามาในไทยพร้อมกับพระพุทธศาสนาคือในสมัยสุโขทัย นิทานชาดกเป็นนิทานพื้นเมืองของอินเดีย บางเรื่องมีเค้าพ้องกับนิทานอีสป ซึ่งเป็นนิทานพื้นเมืองของกรีก
                    ๓.
นิทานประเภทคำสอน  ได้แก่ นิทานเก่าแก่ของอินเดียบ้าง ของกรีกบ้าง  นิทานเหล่านี้แทรกคำสอนในการดำเนินชีวิต เช่นนิทานต่าง ๆ ในหิโตประเทศ
                    ๔.
นิทานชาดกบอกนิบาตชาดก ได้มาจากเรื่องปัญญาสชาดก สันนิษฐานว่า เป็นนิทานพื้นเมืองของประเทศต่าง ๆ เช่นทิเบต ศรีลังกา เป็นต้น แล้วนำมาแต่งให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเรื่องชาดก มีลักษณะแอบอ้างว่าเป็นพุทธวจนะกลับชาติมาเกิด เป็นต้น บางประเทศเช่นพม่าให้เผาเสียหมด นิทานเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยราว ๆ สมัยอยุธยา ที่แต่งเป็นวรรณคดีก็มี ที่ใช้เล่นเป็นละครก็มีเช่นสมุทรโฆษคำฉันท์ สังข์ทอง สุธน เป็นต้น
                    ๕.
นิทานพื้นเมือง  ได้แก่ เรื่องที่เกี่ยวกับตำนานของสถานที่ตามเมืองต่าง ๆ บอกถึงสาเหตุที่ได้ชื่อนั้น ๆ เช่นเรื่องตาม่องล่าย ตำนานวัดพระเจ้าพระนางเชิง เป็นต้น
                    ๖.
นิทานประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ  ได้แก่ นิทานที่ผู้แต่งสร้างโครงเรื่องขึ้นเอง อาจจะใช้แนวเทียบก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ ลักษณะของเรื่องเป็นไปในแบบพรรณา ถึงชีวิตของเจ้าชายองค์หนึ่ง เริ่มตั้งแต่ออกไปแสวงหาวิชากับพระอาจารย์ เมื่อสำเร็จแล้วก็มีการผจญภัย พบคู่ครอง ในที่สุดได้ครองราชย์ มีความสุขตลอดไป
                    ๗.
นิทานสุภาษิต  มีแทรกอยู่กับสุภาษิต นักปราชญ์ได้ยกมาอย่างย่อ ๆ เช่น โคลงโลกนิติ มีที่กล่าวถึงเรื่องราวในนิทาน เรื่องหนูพาลกับราชสีห์ ซึ่งมีชื่อว่าสุกรชาดก นิทานเรื่องนกแขกเต้ากับโจร เป็นต้น
                    ๘.
นิทานยอพระเกียรติ์  ใช้แต่งรวมกับพฤติกรรมของพระเจ้าแผ่นดิน ที่กวีต้องการยกย่องเช่นนิทานเวตาล ที่จะแสดงให้เห็นถึงสติปัญญาของพระเจ้าวิกรมาทิตย์
            ๒๙๒๖.
นิพพาน  มีบทนิยามว่า "ความดับกิเลสและกองทุกข์" คำนิพพานเป็นชื่อของปฏิเวธธรรมคือ ผลแห่งการปฏิบัติจนเข้าใจตลอดหรือตรัสรู้ แปลได้เป็นสองนัย
                นัยหนึ่งว่า หาของเสียบแทงมิได้ ในคำว่า มีลูกศรเครื่องเสียบแทงอันถอนแล้ว เป็นคุณ
บทของพระอรหันต์ นัยหนึ่งว่า ไม่มีเครื่องร้อยรัดในคำว่า พระผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ พ้นแล้วจากเครื่องร้อยรัด
                นิพพาน ท่านแสดงว่า มีสองประการคือ
                    ๑.
สอุปาทิเสสนิพพาน  นิพพานธาตุ มีอุปทิเหลืออยู่ หรือดับกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ เรียกเป็นเฉพาะอีกอย่างหนึ่งว่า "กิเลสนิพพาน" คือ ดับเฉพาะกิเลส ผู้หมดกิเลส ยังมีชีวิตอยู่เป็นนิพพานของพระอรหันต์ ผู้ยังเสวยอารมณ์ที่น่าชอบใจ และไม่น่าชอบใจ ทางอินทรีย์ทั้งห้า รับรู้สุขรู้ทุกข์อยู่ หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นนิพพานของพระเสขะ
                    ๒.
อนุปาทิเสสนิพพาน  นิพพานธาตุมีอุปทิเหลืออยู่ไม่ หรือดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ เรียกเป็นเฉพาะว่า ขันธนิพพาน เป็นนิพพานของพระอรหันต์ ผู้ระงับการเสวยอารมณ์แล้วคือ ดับทั้งกิเลส ดับทั้งขันธ์ห้า อีกนัยหนึ่งเป็นนิพพานของพระอเสขะ
                นิพพานเป็นปฎิเวธธรรมขั้นสุดยอด เช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมกล่าวว่า นิพพานยอดยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นิพพานว่างอย่างยอดยิ่ง โดยสุตตันตนัยว่า เพราะละตัญหาเสีย ท่านกล่าวว่า นิพพาน โดยอภิธรรมนัยว่า พระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงพ้นแล้วจากเครื่องร้อยรัด ตรัสบทอันไม่เคลื่อน อันล่วงส่วนสุด อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ หาบทอื่นยิ่งกว่ามิได้ว่านิพพาน ความหมายของคำนี้ที่สูงสุดคือ ดับกิเลส และกองทุกข์ คือ ดับสนิท
                เมื่อนิพพาน หมายถึง การสิ้นภพสิ้นชาติ เป็นสุขสงบเย็นสนิท เป็นบรมสุข            ๑๕/ ๙๗๗๖
            ๒๙๒๗.
นิพัธบท - สมเด็จพระบรม  เป็นกษัตริย์เขมร ขึ้นครองราชย์ ณ พระนครหลวง เมื่อปี พ.ศ.๑๘๘๙ ครองราชย์ได้ห้าปีก็สวรรคต            ๑๕/ ๙๗๗๙
            ๒๙๒๘.
นิมมานนรดี  เป็นชื่อสวรรค์ชั้นที่ห้า ในสวรรค์หกชั้นฟ้า เป็นแดนที่สถิตของปวงเทพชาวฟ้า ผู้มีความยินดี เพลิดเพลินในกามคุณที่เนรมิตขึ้น ตามความพอใจของตน โดยมีท้าวสุนิมมิตเทวาราชเป็นอธิบดีผู้ปกครอง
                สวรรค์ชั้นนี้ เป็นเทพนครที่ตั้งอยู่เหนือสวรรค์ชั้นดุสิตขึ้นไปเบื้องบน ภายในเทพนครมีวิมาน ที่อยู่ของเหล่าเทวดาทั้งหลาย และองค์ประกอบอื่น ๆ เช่นเดียวกับสมบัติทิพยในสวรรค์ชั้นดุสิต เพียงแต่มีสภาพสวยสดงดงาม และประนีตกว่าทิพยสมบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต            ๑๕/ ๙๗๘๑
            ๒๙๒๙.
นิรมานกาย  เป็นกายหนึ่งของพระพุทธเจ้า ตามคติของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อันเกิดจากความเข้าใจในภาวะของมานุสพุทธเจ้าคือ พระสมณโคดม ตามรูปใหม่ นับเป็นกายที่สามในเรื่อง ตรีกาย ซึ่งแยกเป็น ธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมานกาย            ๑๕/ ๙๗๘๒
            ๒๙๓๐.
นิรันตราย  เรียกเต็มว่า พระพุทธรูปนิรันตราย หล่อด้วยทองสำริดกาไหล่ทอง ในปางสมาธิ (ขัดสมาธิเพชร) เบื้องหลังมีเรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ มีอักษรขอมจำหลักลงในวงกลีบบัว เบื้องหน้าเก้า เบื้องหลังเก้า พระคุณนาม แสดงพระพุทธคุณตั้งแต่ "อรห ฺ สมฺมา สมฺ พุทโธ จนถึง ภควา"  ยอดเรือนแก้วมีรูปพระมหามงกุฎ ตั้งติดอยู่กับฐานชั้นล่าง รองฐานพระ ซึ่งเป็นที่สำหรับรับน้ำสรงพระ มีท่อเป็นรูปศีรษะโค แสดงเป็นหมายพระโคตร ซึ่งเป็นโคตมะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงพระราชดำริแบบอย่างสร้างขึ้น            ๑๕/ ๙๗๘๒
            ๒๙๓๑.
นิราศ  เป็นชื่อที่ใช้เรียกบทประพันธ์เฉพาะตอน และวรรณคดีไทยประเภทหนึ่ง ที่มีลักษณะการแต่งเป็นการพรรณา อารมณ์รัก โศกเศร้า เสียใจ อาลัยอาวรณ์ควบคู่ไปกับการพรรณาธรรมชาติ และการเดินทาง
                คำว่า นิราศ มีบทนิยามว่า "ไปจาก ระเหระหน ปราศจาก"
                บทประพันธ์ที่กำหนดเรียกกันว่า "บทนิราศ" มักจะแทรกอยู่ในวรรณคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่มีกล่าวถึงการเดินทางของตัวพระเอกไปสู่ที่ใดที่หนึ่ง กวีก็จะแต่งพรรณาภาพ ที่ตัวละครได้ พบเห็นในการเดินทาง พร้อมทั้งพรรณาความในใจ ซึ่งส่วนมากจะเป็นความเศร้าโศกเสียใจ คิดถึง บางทีอยู่หลังเป็นการคร่ำครวญ
                วรรณคดีนิราศที่เก่าที่สุดของไทย ได้แก่ เรื่อง "
ทวาทศมาศ" แต่เดิมกวีไม่ได้ใช้ชื่อว่า นิราศ เรื่องที่ใช้นิราศเป็นเรื่องแรก ได้แก่ นิราศหริภุญชัย สันนิษฐานว่า แต่งก่อนปี พ.ศ.๒๑๘๑
                คำประพันธ์ที่นำมาใช้แต่งนิราศมีอยู่ประมาณห้าชนิด เรียงลำดับตามสมัยก่อนหลังคือ นิราศคำโคลง นิราศคำกาพย์ นิราศคำกลอน นิราศลิลิต และนิราศร้อยแก้ว            ๑๕/ ๙๗๘๔
            ๒๙๓๒.
นิรุกติศาสตร์  เป็นวิชาว่าด้วยภาษาแบ่งโดยประสงค์เป็นเจ็ดหมวดใหญ่
                ภาษา เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเรามากที่สุด เพื่อให้รู้เรื่องภาษาว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร จึงได้เกิดมีวิธีค้นคว้าสอบสวน เรื่องภาษาต่าง ๆ นำมาเปรียบเทียบกันดู แล้วจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ แยกแยะลักษณะต่าง ๆ ของภาษา เกิดเป็นตำรานิรุกติศาสตร์
                นิรุกติศาสตร์ เป็นวิชามีขึ้นในยุโรปเมื่อราวร้อยกว่าปีมาแล้ว ก่อนนี้ขึ้นไปการศึกษาภาษาของชาวยุโรป มุ่งศึกษาไปในทางไวยากรณ์ ซึ่งมีกำเนิดมาจากตำราไวยากรณ์ของภาษากรีก และภาษาละติน ทั้งสองภาษานี้สืบมาจาก ภาษาเฮบรูอีกต่อหนึ่ง
                ในปี พ.ศ.๒๔๑๙ เซอร์ วิลเลียม โจนส์ นักปราชญ์ทางภาษาสันสกฤต ชาวอังกฤษ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ภาษาสันสกฤต กรีก และละติน คล้ายกันมาก จนน่าจะมาจากต้นตระกูลภาษาเดิมเดียวกัน            ๑๕/ ๙๗๘๘
            ๒๙๓๓.
นิโรธ  คือ ความดับทุกข์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ นิพพาน อันเป็นธรรมดับกิเลสคือ ตัณหา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งปวง (ดู นิพพาน - ลำดับที่ ๒๘๙๙ ประกอบด้วย)  เรียกเต็มตามศัพท์ธรรมว่า "ทุกขนิโรธในคัมภีร์ขุทกนิกาย ปฎิสัมภิทามรรค สุตตันตปิฎก และในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ปกรณ์วิเสส กล่าวขั้นตอนแห่งนิโรธ เป็นห้าคือ
                    ๑. 
ดับด้วยข่มไว้  คือ ความดับกิเลสของผู้บำเพ็ญฌาน ถึงปฐมฌาน ย่อมข่มกิเลสไว้ได้ตลอดเวลาที่อยู่ในณานนั้น ความดับกิเลสโดยลักษณะนี้เรียกว่า วิกขัมภนนิโรธ
                    ๒.
ดับด้วยองค์นั้น ๆ   คือ ดับกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่อริ หรือธรรมที่ตรงกันข้าม เช่น ดับสักกายทิฐิด้วยความรู้ที่กำหนด แยกนามรูปออกมาได้ เป็นการดับชั่วคราวในกรณีนั้น ๆ เรียกว่า ตทังคนิโรธ
                    ๓.
ดับด้วยตัดขาด  คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นเด็ดขาดด้วยโลกุตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้นเรียกว่า สมุจเฉทนิโรธ
                    ๔.
ดับด้วยสงบระงับ  คือ อาศัยโลกุตรมรรค ดับกิเลสเด็ดขาดแล้วบรรลุโลกุตรผล กิเลสเป็นอันสงบระงับหมดไปแล้ว ไม่ต้องขวนขวายเพื่อดับอีก ในขณะแห่งผลนั้นเรียกว่า ปฏิปัสสัทธินิโรธ
                    ๕.
ดับด้วยสลัดออกได้  หรือดับด้วยปลอดโปร่งไป  คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้วดำรงอยู่ในภาวะที่ดับกิเลสแล้วนั้น ยั่งยืนตลอดไปเรียกว่า นิสรณนิโรธ ได้แก่ อมตธาตุ คือ นิพพาน            ๑๕/ ๙๗๙๒
            ๒๙๓๔.
นิลกัณฐ์  เป็นนามฉายาของพระศิวะคือ พระศิวะได้นามว่านิลกัณฐ์นั้น เนื่องมาจากการกวนน้ำอมฤตของพวกเทวดา เพื่อกินแล้วไม่ตาย และเอาชนะพวกอสูรได้ ตามคำแนะนำของพระนารายณ์ ในการกวนน้ำอมฤตครั้งนั้น พญานาควาสุกรีทนความร้อนที่ต้องเสียดสีอยู่กับภูเขาไม่ไหว จึงพ่นพิษออกมาเป็นเพลิงกรดเผาผลาญโลก พระศิวะเกรงโลกจะเป็นอันตรายจึงกลืนพิษร้ายเข้าไป พระศอของพระองค์จึงไหม้เกรียมเป็นรอยดำ จึงได้นามใหม่ว่า นิลกัณฐ์ แปลว่า ผู้มีคอดำ (ดูนารายณ์สิบปาง ตอนว่าด้วยกุรมาวตาร - ลำดับที่ ๕๒๑ ประกอบด้วย)            ๑๕/ ๙๗๙๓
            ๒๙๓๕.
นิลขัน  เป็นชื่อเสนาวานรในจำพวกสิบแปดมงกุฎในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นชาวชมพู คือกำเนิดมาจากพระพิเนก หรือพระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทวกุมารโอรสพระอิศวร เคยเป็นนายกองปีกซ้ายแห่งทัพพระอิศวร เมื่อปราบตรีบุรัม แล้วต่อมาอวตารเป็นเสนาวานรชื่อ นิลขัน เมื่อพระรามเดินดงไปชุมพลที่เขาคันธมาทน์ ท้าวมหาชมพูทราบว่า พระรามคือ พระนารายณ์จึงถวายพลทั้งกรุงชมพู ตัวนิลขันได้เป็นนายกองของพระราม คุมพลวานรไปร่วมรบในกองทัพพญาสุครีพคู่กับนิลราช    ๑๕/ ๙๗๙๓
            ๒๙๓๖.
นิลคีรี เป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ที่ฤาษีโคบุตร อาจารย์ของทศกัณฐ์ เอาตัวทศกัณฐ์ไปตั้งพิธีถอดจิตเป็นเวลาเก้าปี เก้าเดือน เก้าวัน เก้านาที จนดวงใจออกจากร่าง         ๑๕/ ๙๗๙๔
            ๒๙๓๗.
นิลนนท์ เป็นชื่อพญาวานรในเรื่องรามเกียรติ์ นับเข้าในจำพวกสิบแปดมงกุฎ เป็นชาวชมพูทวีปถือกำเนิดมาจากพระเพลิง เคยเป็นนายกองหลังแห่งทัพพระอิศวร เมื่อปราบตรีบุรัม แล้วต่อมาอวตารเป็นพญาวานรชื่อ นิลนนท์ เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้วได้รับบำเหน็จเป็นอุปราชเมืองชมพู เป็นทูตสื่อสารเมื่อครั้งพระพรตประกาศสงครามกับท้าวจักรวรรดิ์            ๑๕/ ๙๗๙๔
            ๒๙๓๘.
นิลปานัน เป็นชื่อเสนาวานรในจำพวกสิบแปดมงกุฎในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นชาวชมพู ถือกำเนิดมาจากพระศุกร์            ๑๕/ ๙๗๙๖
            ๒๙๓๙.
นิลพัท  เป็นชื่อพญาวานรชาวชมพู ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นลูกพระกาล เมื่อเสร็จศึกมลิวัลแล้ว ได้เป็นอุปราชเมืองชมพู มีศักดิ์สมญาว่า พระยาอภัยพัทวงศ์ นับเข้าในจำพวกสิบแปดมงกุฏ ได้ผูกใจเจ็บหนุมาน เมื่อครั้งหนุมานพาท้าวมหาชมพู มาทั้งแท่นไปถวายพระราม ในตอนจองถนนไปลงกา นิลพัททะเลาะกับหนุมานได้ต่อสู้กันขนานใหญ่ พระรามกริ้วไล่ให้นิลพัทไปรักษากรุงขีดขิน มีหน้าที่ส่งเสบียงแก่กองทัพเดือนละครั้ง
                เมื่อเกิดศึกลงกาครั้งหลัง นิลพัทอาสาเป็นทัพหน้าในตำแหน่งหนุมาน ทอดตัวเป็นถนนข้ามน้ำ นิลพัทรบกับตรีกัน ฆ่าตรีกันตาย เมื่อพระสัตรุถูกหอกเมฆพัทของสุริยาภพ นิลพัทเข้ารบกับสุริยาภพจนพลบค่ำ จนสุริยาภพเลิกทัพกลับ แล้วนิลพัทได้อาสาไปเอายาแก้หอกเมฆพัทคือ ไปขอจันทน์แดงจากพระราม ไปเอามูลโคอุสุภราช ซึ่งเป็นอาสน์ของพระอิศวร ที่เขาอินทกาล แล้วเหาะขึ้นไปชั้นพรหมทูลขอศิลาบด แล้วลงไปพิภพบาดาล ทูลขอลูกศิลาบดต่อพญานาค ได้ครบทุกอย่างแล้วก็นำไปรักษาพระพรตได้ทันตามกำหนด
                เมื่อบรรลัยจักร แผลศรเหราพตไปมัดพระสัตุรุดได้ แล้วนำตัวไปให้ยักษ์ราหูรักษาไว้ นิลพัทกับหนุมาน สุครีพ และองคต ตามขึ้นไปแก้เอาพระสัตรุดคืนมาได้
                ต่อมา นิลพัทร่วมกับอสุรผัด ฆ่าท้าวไวตาลได้ เมื่อท้าวจักรวรรดิ์ออกรบเอง นิลพัทก็เข้าหักรถท้าวจักรวรรดิ์
                เมื่อเสร็จศึกมลิวัลแล้ว นิลพัทได้รับบำเหน็จความชอบเป็น พญาอภัยพัทวงศ์ ตำแหน่งอุปราชเมืองชมพู            ๑๕/ ๙๗๙๖
            ๒๙๔๐๖.
นิลราช  เป็นชื่อเสนาวานร ในจำพวกสิบแปดมงกุฎ ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นชาวชมพู ถือกำเนิดมาจากพระสมุทร เทวดาเจ้าทะเล เมื่อเสร็จศึกแล้วได้ตำแหน่งอุปราชเมืองอัศดงค์
                เมื่อพระรามให้ท้าวมหาชมพูเกณฑ์พลไปสมทบ โดยให้นิลพัทเป็นผู้บัญชาการไป ได้จัดให้นิลราชกับนิลขัน คุมพลวานรไปห้าสมุทรไท เมื่อคราวหนุมานจองถนน นิลราชได้อาสาช่วยในการจองถนนด้วย คราวหนึ่ง นิลราชไปล้อหลอกฤาษีคาวิน ฤาษีจึงสาปว่า จะทิ้งสิ่งใดลงในน้ำ ให้สิ่งนั้นจมดิ่งอยู่กับที่ เมื่อใดพระรามจองถนนข้ามทะเล พวกวานรขนศิลามาให้นิลราชรับศิลา ทิ้งทะเลแต่ผู้เดียวจนถนนแล้ว จึงพ้นสาปรวมเวลาถึงพันปี             ๑๕/ ๙๘๐๐
            ๒๙๔๑.
นิลเอก  เป็นชื่อเสนาวานร ในจำพวกสิบแปดมงกุฎ ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นชาวชมพู ถือกำเนิดมาจากพระพินาย เทวกุมาร โอรสพระอิศวร เคยเป็นนายกองปีกขวาแห่งกองทัพพระอิศวร เมื่อปราบตรีบุรัม ต่อมาอวตารเป็นพญาวานรชื่อ นิลเอก            ๑๕/ ๙๘๐๐

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |