| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

เล่ม ๑๔ ทะเบียน - ธรรมราชา      ลำดับที่  ๒๔๙๔ - ๒๖๖๘       ๑๔/ ๘๕๑๓ - ๙๑๗๒

            ๒๔๙๔. ทะเบียน  ชื่อบัญชีจดลักษณะ จำนวนคน จำนวนสัตว์ และจำนวนสิ่งของ ตลอดจนการงานต่าง ๆ ที่รัฐบันทึกไว้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับประชาชนพลเมือง
                   คำ "ทะเบียน" คงใช้กันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ถึงสมัยอยุธยาจึงปรากฎในกฎหมาย ลักษณะพยานที่ออกในปี พ.ศ.๑๘๙๔
                    คำทะเบียนในกฎหมายนี้ดูจะเป็นครั้งแรกที่มีในหนังสือไทยและเขียนเป็น "เกษียน" และยังมีคำ "หางว่าว" อีกคำหนึ่ง คำนี้ใช้กับทะเบียนเป็น "ทะเบียนหางว่าว"            ๑๔/ ๘๕๑๓
            ๒๔๙๕. ทะแย  เป็นชื่อเพลงไทยเพลงหนึ่ง แต่เดิมเป็นเพลงในอัตราสองชั้น มีมาแต่สมัยอยุธยา นับว่าเป็นเพลงเก่าแก่มากเพลงหนึ่ง
                    เพลงในอัตราสองชั้นนี้ ถ้าใช้เป็นหน้าพาทย์แสดงโขนละครแล้วเรียกว่า "ทะแยกลองโยน" นอกจากนี้ยังใช้เพลงนี้สำหรับปี่กลองชนะ บรรเลงประกอบขบวนเสด็จพยุหยาตราทางสกลมาร์คอีกด้วย เครื่องดนตรีที่ใช้ในการนี้ประกอบด้วยปี่ชวา เปิงมาง และกลองชนะ
                    เพลงทะแยสามชั้น มีผู้แต่งขึ้นในราวต้นรัชกาลที่สาม เดิมแต่งขึ้นสำหรับใช้ร้อง และบรรเลงในตับมโหรี  โดยที่ท่วงทำนองของเพลงทะแยสามชั้น มีลักษณะเป็นสำเนียงมอญปนไทยอันไพเราะ ประกอบกับใช้เสียงครบเจ็ดเสียง จึงนิยมเอามาใช้เป็นเพลงสำหรับเดี่ยวด้วยเครื่องมือต่าง ๆ           ๑๔/ ๕๘๑๘
            ๒๔๙๖. ทะเล  ๑. มีความหมายและมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับมหาสมุทร
                    ๒. ทะเลคือส่วนย่อย หรือส่วนหนึ่งของมหาสมุทร ทะเลโดยธรรมชาติจะมีความเกี่ยวพันกับส่วนต่าง ๆ ของระบบน้ำเค็มของโลกทั้งหมด ทั้งนี้ยกเว้นทะเลภายใน ทะเลแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ ชนิดทะเลเมดิเตอเรเนียน และชนิดข้างเคียง
                    ทะเลชนิดเมดิเตอเรเนียน เป็นทะเลที่ปรากฎเป็นหมู่ ๆ แยกออกต่างหากจากพื้นน้ำของโลก ส่วนใหญ่เป็นทะเลเกิดขึ้นโดด ๆ อยู่ในแผ่นดินและเป็นทะเลน้ำเค็ม อาจมีอาณาเขตแยกออกไปอยู่โดดเดี่ยวก็ได้ ส่วนทะเลชนิดข้างเคียงคือทะเล ซึ่งติดต่อเกี่ยวข้องกับทะเล หรือมหาสมุทรที่ใหญ่กว่า และมักจะอยู่รอบนอก ๆ ของพื้นแผ่นดิน
                    คำว่ามหาสมุทร คือบริเวณน้ำเค็มที่ต่อเนื่องกันเป็นพื้นที่ร้อยละ ๘๐.๘ ของพื้นที่ผิวโลก เป็นพื้นน้ำใหญ่ ๆ ที่อยู่ระหว่างทวีป และส่วนย่อยลงมาเรียกว่าทะเล ส่วนทะเลน้ำเค็มที่ไม่มีทางให้น้ำเค็มไหลซึมออกสู่มหาสมุทร ก็เรียกว่าทะเลเช่นกัน แต่เป็นทะเลชนิดเมดิเตอเรเนียนเช่น ทะเลเดดซี และทะเลแคสเบียน
                    น้ำทะเลมีรสเค็ม เกลือในทะเลเกิดจากหินของเปลือกโลกที่แตกออกมานานเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี บางชนิดก็เป็นสารที่ละลายได้ บางชนิดก็ไม่ละลาย สารที่ละลายได้ก็เป็นพวกเกลือ ความเค็มที่ใกล้ผิวน้ำทะเล เปลี่ยนแปลงไปตามเส้นรุ้งที่ศูนย์สูตรเค็มน้อยที่สุด
                    น้ำทะเลมีสีฟ้า (สีฟ้าทะเล) เหมือนกับสีท้องฟ้า ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการกระจายแสงโมเลกุลของน้ำทะเล และจากผลเน่าเปื่อยของพืชทำให้เกิดสีเหลืองขึ้น ดังนั้นน้ำทะเลตามชายฝั่งจึงมักมีสีเขียว
                    การเคลื่อนที่ของน้ำในทะเลหรือมหาสมุทร มีทั้งในทิศทางตามแนวตั้งคือ กระแสน้ำไหลขึ้น และกระแสน้ำไหลลง และเคลื่อนที่ตามแนวระนาบเรียกว่า "กระแสน้ำ" ซึ่งจะไหลติดต่อกันทั่วโลก มีทั้งกระแสน้ำอุ่น และกระแสน้ำเย็น
                    กระแสน้ำใกล้ผิวพื้นทะเล เกิดจากแรงลม และแรงกดดันภายใน ลมที่พัดยังทำให้เกิดการม้วนตัวของผิวน้ำด้วยเรียกว่า "คลื่น" คลื่นในทะเลเคลื่อนที่ไปได้ไกล ๆ หลายร้อยหลายพันไมล์ มียอดสูงสุดถึง ๑๕ เมตร        ๑๔/ ๘๕๑๙
            ๒๔๙๗. ทะเลทราย  คือที่รกร้างกันดาร มีสิ่งมีชีวิตอยู่น้อยมาก ได้แก่ พื้นที่แผ่นดินกว้างใหญ่ ที่มีอากาศหนาวจัด หรือร้อนจัด สภาพทางธรรมชาติยากแก่การดำรงชีวิต โดยทั่วไปเป็นที่โล่ง พืชขึ้นอยู่น้อยมาก ท้องฟ้าโปร่ง เมฆน้อย ทำให้อุณหภูมิของอากาศในเวลากลางวัน และกลางคืนแตกต่างกันมาก ความแห้งแล้งในทะเลทราย เกิดจากภาวะที่มีปริมาณการระเหยของน้ำ มากกว่าปริมาณของน้ำที่ได้รับ ในเขตร้อนที่มีอัตราการระเหยของน้ำสูง ถ้าปริมาณฝนที่ตกมีน้อยกว่า ๒๕๐ มม. (ต่อปี - เพิ่มเติม) ก็มักจะเป็นเขตทะเลทราย
                    ภูมิประเทศของทะเลทรายที่เป็นบริเวณที่สูง จะมีลักษณะเป็นภูเขาเกลี้ยง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของกรวดทราย แต่พื้นที่ประมาณสามในสี่ส่วนของทะเลทราย ที่มีอยู่ทั่วโลกมีลักษณะเป็นที่ราบ สวนมากเป็นลานก้อนหินใหญ่ ๆ หรือกรวด ทะเลทรายทางตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ มีพื้นที่เป็นทรายอยู่เพียงร้อยละสอง ในทะเลทรายสะฮารา มีทรายอยู่เพียงร้อยละสิบเอ็ด ส่วนฝนเมื่อตกลงบนที่ราบมักจะทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว น้ำจะไหลไปรวมในที่ต่ำ เกิดเป็นทะเลสาบชั่วคราวขึ้น บริเวณที่ต่ำนี้เรียกว่า "พลายา" ถ้าเป็นที่ต่ำมากจนมีระดับน้ำใต้ดิน รากพืชสามารถหยั่งถึงเรียกว่า "โอเอซิส"
                    ทะเลทรายแบ่งออกเป็นสามประเภทตามที่ตั้งของภูมิศาสตร์ ประเภทแรก ได้แก่ ทะเลทรายแถบขั้วโลก อยู่ในเขตอาร์กติกและแอนตาร์กติก เป็นเขตอากาศเย็นจัด น้ำเป็นน้ำแข็งตลอดปี เนื่องจากความทุรกันดารเขตเหล่านี้จัดว่าเป็นทะเลทรายประเภทหนึ่ง ประเภทที่สอง ได้แก่ ทะเลทรายแถบละติจูดกลาง ความแห้งแล้งเกิดจากตั้งอยู่ในใจกลางทวีปเช่น ทะเลทรายเตอร์กิสถาน  หรือเนื่องจากอยู่ในเขตอับลมของภูเขาเช่น ทะเลทรายในภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา และทะเลทรายในภาคตะวันออกของเทือกเขาแอนดิสในทวีปอเมริกาใต้ ประเภทที่สาม ได้แก่ ทะเลทรายในเขตละติจูดต่ำ เป็นเขตอยู่ใต้อิทธิพลลมสินค้า ซึ่งเป็นลมประจำตะวันออก พัดจากเขตอากาศเย็นไปสู่เขตอากาศอุ่นกว่าอากาศเก็บไอน้ำได้มากโดยไม่กลั่นตัว ทำให้อากาศมีความแห้งแล้ง นอกจากนี้ยังอยู่ในเขตฮอสละติจูด ซึ่งเป็นเขตที่มีความกดอากาศสูง อากาศลอยตัวต่ำลง ทะเลทรายในเขตละติจูดต่ำนี้มักมีขนาดใหญ่ และตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของทวีปต่าง ๆ ได้แก่ทะเลทรายสะฮารา ทะเลทรายวิกตอเรีย ทะเลทรายอาหรับ เป็นต้น
                     สิ่งมีชีวิตในทะเลทรายสามารถปรับปรุงตัวให้เข้ากับความแห้งแล้งของทะเลทรายได้         ๑๔/ ๘๕๒๕
            ๒๔๙๘. ทะเลสาบ คือ พื้นน้ำที่มีแผ่นดินล้อมรอบ บริเวณน้ำขังมีลักษณะเป็นแอ่งใหญ่ จะมีทางน้ำไหลออก หรือไม่มีก็ได้ แต่มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา น้ำที่ไหลลงสู่ทะเลสาบมาได้หลายทาง เช่น ฝน แม่น้ำ หิมะละลาย และน้ำใต้ดิน
                    ทะเลสาบ แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ทะเลสาบน้ำเค็ม และทะเลสาบน้ำจืด ทะเลสาบน้ำเค็มเกิดในบริเวณที่มีภูมิอากาศแห้งแล้ง และไม่มีทางน้ำไหลออก น้ำระเหยตัวออกไปอย่างรวดเร็ว เหลือพวกแร่ธาตุต่าง ๆ ตกค้างอยู่ เมื่อนาน ๆ เข้าน้ำในทะเลสาบจึงมีความเค็ม เช่น ทะเลสาบเกรตซอลต์เลค ในสหรัฐอเมริกา ส่วนทะเลสาบน้ำจืดเกิดในบริเวณที่มีภูมิอากาศชุมชื้น และมีทางน้ำไหลออก น้ำที่ไหลออกไปนั้น นำเอาพวกเกลือแร่ต่าง ๆ ออกไปด้วย น้ำจึงไม่เค็ม เช่น ทะเลสาบสุบีเรีย         ๑๔/ ๘๕๒๖
            ๒๔๙๙. ทะเลสาบเขมร  เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของทวีปเอเชีย ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศกัมพูชา ยาวประมาณ ๑๔๐ กม. กว้างที่สุดประมาณ ๔๐ กม. ในฤดูน้ำหลากจะมีอาณาบริเวณถึง ๒๕๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร และมีน้ำลึก ๑๐ - ๑๓ เมตร แต่ในฤดูแล้งจะเหลือเพียง ๒,๗๐๐ ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่ของน้ำในทะเลสาบได้มาจากแม่น้ำโขง ซึ่งไหลเข้ามาตามแม่น้ำทะเลสาบ ยาวประมาณ ๑๑๐ กม.         ๑๔/ ๘๕๒๘
            ๒๕๐๐. ทักทิน  มีคำนิยามว่า "วันชั่วร้าย" คำนี้มีใช้ในตำราหมอดู เนื่องในการประกอบการหาฤกษ์มงคลต่าง ๆ จำนวนวันทักทินอันเป็นวันห้าม มิให้ทำการมงคล นับตามสูตรที่ท่านแสดงไว้ รวมมีอยู่เก้าวัน         ๑๔/ ๘๕๒๙
            ๒๕๐๑. ทักษ์ หรือทักษะ  คือ ฤษีปชาบดี เป็นบิดานางสตี ซึ่งในชาติหลังไปเกิดเป็นพระอุมา มีเหตุวิวาทกับพระอิศวร เป็นเรื่องใหญ่โต พระทักษมุนีเป็นมานสบุตร (บุตรเกิดแต่ใจ) ของพระพรหม พระทักษะไม่ชอบพระอิศวร ครั้งหนึ่งได้จัดการยัญกรรมใหญ่ เชิญเทวดามาชุมนุมหมด แต่ไม่เชิญพระอิศวร นางสตีไปต่อว่าบิดา แต่ไม่เป็นผล จึงโทมนัสกลั้นใจหาย ความทราบถึงพระอิศวรก็กริ้ว ยิงพระแสงธนูถูกพระทักษะ หัวขาดไป และยิงเทวดาบาดเจ็บไปมาก เมื่อหายพิโรธแล้ว จึงประทานพรให้เทวดากลับคืนดีดังเดิม แต่พระทักษะนั้น ทรงเอาหัวแพะต่อให้แทน ฝ่ายนางสตีนั้น ได้ไปเกิดใหม่เป็นธิดาท้าวหิมวัต มีพระนามว่า อุมา เหมวดี ได้เป็นพระมเหสี พระอิศวร        ๑๔/ ๘๕๓๐
            ๒๕๐๒. ทักษา  เป็นชื่อเรียก อัฐเคราะห์ คือ พระเคราะห์แปดหมู่ ซึ่งประกอบกันเข้าเป็นองค์สมบัติของบุคคล ผู้ที่เกิดมาทุก ๆ คน นับแต่เวลาขณะคลอดจากครรภ์มารดา ที่เรียกกันว่า "ตกฟาก" ไปจนถึงกาลอายุขัย เป็นที่สุด
                    พระเคราะห์แปดหมู่นั้น ภาษาโหราศาสตร์ กำหนดคุณลักษณะเรียกว่า บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี กาลกิณี คนเกิดวันใดพระเคราะห์นามวันนั้น เป็นบริวารแล้ว นับเรียงกันไปโดยทักษาวรรต ตามแผนผังที่พระเคราะห์เดิน
                    คำว่า ทักษา แปลความว่า เวียนขวา ทักษาแปดหมู่นี้ เรียกอีกนัยหนึ่งว่า "ภูมิ" หรือ "เหย้า"  คือ เมื่อได้อัตภาพมาเป็นคนแล้ว ต้องอาศัยพระเคราะห์ทั้งแปดหมู่ ปรุงแต่งเป็นตัวกรรม พระเคราะห์นั้น ๆ จึงเข้าครองรักษาผู้นั้น ผลัดเปลี่ยนกันไปเป็นองค์ละหนึ่งปี นับเริ่มแต่พระเคราะห์นามวันเกิดแล้ว เรียงกันไปโดยเวียนขวา       ๑๔/๕๘๓๐
            ๒๕๐๓. ทักษิณาจาร  เป็นชื่อลัทธิพุทธตันตระแบบหนึ่ง เป็นแบบขวาหรือฝ่ายขวาคู่กับวามาจาร คือ แบบซ้ายหรือฝ่ายซ้าย (ดู ตันตระยาน - ลำดับที่ ๒๒๐๘  ประกอบ)  พุทธตันตระทั้งสองแบบนี้ แตกต่างกันที่หลักการคือ หลักพิธีกรรมและหลักปรัชญา ซึ่งยิ่งและหย่อนกว่ากัน หลักการของฝ่ายทักษิณาจาร มีดังนี้
                     ๑. หลักพิธีกรรม  อันดับแรกเรียกชื่อว่า อภิเษก คือ พิธีรับเข้าหมู่ หรือรับเป็นศิษย์ของพุทธตันตระ เป็นการครอบวิชาให้ เพราะในคติลัทธินี้ แม้พระโพธิสัตว์ก็จะต้องผ่านอภิเษก จากบรรดาพระพุทธเจ้าก่อนจึงจะบรรลุภูมิได้
                    พิธีกรรมอันดับที่สอง เรียกว่า มันตระ หรือ ธารณี คือ การสังวัธยายมนตร์ หรือการบริกรรมคาถา ต้องออกเสียงให้ถูกต้อง อักขรวิธี อย่าให้อักขรวิบัติ
                    การเชื่อถือเวทมนตร์คาถาอาคมขลังของไทย ก็คงมาจากพุทธตันตระนี้เอง แต่เรียกรวมว่า พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ พุทธตันตระนั้น ดึงเอาวิธีการของไสยศาสตร์ทางศาสนาพราหมณ์มา แต่เปลี่ยนเทพเป็นพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์แบบมหายาน
                    พิธีกรรมอันดับที่สามชื่อ มุทรา คือ แสดงท่าต่าง ๆ ด้วยนิ้วมือ หรือแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นเครื่องหมายประจำองค์พระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เช่น สมาธิมุทรา ธรรมจักรมุทรา วิตรรกมุทรา วัชระมุทธา เป็นต้น ที่เรียกว่า ปาง เช่น ปางสมาธิ ปางแสดงธรรมจักร ปางประทานอภัย เป็นต้น
                    พวกตันตระถือว่าผู้ใดทำรูปกายของตน ให้มีอาการดุจอาการ หรือมุทราของพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ หรือเทพองค์ใดก็เท่ากับเชิญท่านดังกล่าวนั้น ให้มาอยู่กับตน ท่ามุทรานี้เดิมเป็นของฮินดูตันตระ ต่อมาพุทธตันตระฝ่ายซ้ายนำมาใช้
                    พิธีกรรมถัดไปชื่อ สมาธิ คือ กำหนดจิตให้จดจ่ออยู่กับพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง จนปรากฎว่าเรากลายเป็นพระ หรือเทพ นั้น ๆ นี้คือ จุดหมายสูงสุดของพุทธตันตระ
                    คำว่า "ความว่าง" ก็คือ ศูนยตา ซึ่งเป็นหลักปรัชญาของสำนักพุทธปรัชญามาธยมิกะ และคำว่า พีชะในอาลัยวิญญาณ ก็คือ หลักปรัชญาของสำนักพุทธปรัชญาโยคาจาร
                     ๒. หลักปรัชญา  มีใจความว่า พระไวโรจนพุทธะ เป็นมูลธาตุของสากลจักรวาล สรรพสิ่งทั้งหลายในสากลจักรวาล จึงมีภาวะอย่างเดียวกับรูปกาย และนามกายของพระไวโรจนพุทธ จะเห็นได้ว่าพระไวโรจนพุทธะของพุทธตันตระนี้เป็นอย่างเดียวกับพรหมันของฮินดูนั่นเอง นับเป็นสัทธรรมปฏิรูปคือของแปลกปลอมในพระพุทธศาสนา ทำให้พระสัทธรรมเดิมอันตรธานจากความเข้าใจของชาวพุทธ        ๑๔/ ๘๕๓๔
           ๒๕๐๔. ทักษิณานุปทาน  มีคำนิยามว่า "ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย" คำว่าทักษิณา แปลว่าเครื่องเจริญสมบัติ หมายความว่าของทำบุญ ซึ่งประสงค์ให้ผู้ตายต่างจากของทำทาน ซึ่งประสงค์ให้คนเป็นเรียกกันเป็นสามัญว่าทำบุญทำทาน
                    ธรรมเนียมนี้มีมาแต่ดึกคำบรรพ์ก่อนพุทธกาล ตกมาถึงพุทธสมัยพระพุทธเจ้าทรงอนุมัติการทำทักษิณา แต่โปรดให้เพ่งประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ กำหนดให้ไทยธรรมคือ ของทำบุญนั้นต้องบริสุทธิ์โดยสามส่วนคือ ต้องเป็นธรรม ต้องได้มาโดยธรรม และต้องเป็นของควรแก่ผู้รับ        ๑๔/ ๘๕๓๘
            ๒๕๐๕. ทักษิโณทก  มีคำนิยามว่า "น้ำที่หลั่งเวลาทำทาน น้ำกรวดหรือเอาน้ำแทนสิ่งของที่ให้ซึ่งใหญ่โต หรือไม่มีรูปที่จะหยิบยกให้ได้เช่น วัด ศาลา หรือบุญกุศลเป็นต้น"
                     วิธีใช้น้ำแทนสิ่งของที่ให้นี้มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธกาลแล้ว ในครั้งพุทธกาลมัชฌิมโพธิกาล การให้ถือเสนาสนะนั้น มีภิกษุเจ้าหน้าที่แจกเสนาสนะ มอบเสนาสนะให้ถือด้วยใช้น้ำแทน
                     การกรวดน้ำที่เรายังทำอยยู่ในบัดนี้ในเวลาพระสงฆ์อนุโมทนา ใช้ภาชนะเช่นเต้า ขวด หรือจอก หรือภาชนะอื่นใดที่ควรกัน มีภาชนะอีกใบหนึ่งเช่นขันหรือถาดรับน้ำกรวดแล้วเอาไปเทที่พื้นดินหรือกรวดลงพื้นดินเลยทีเดียว ขณะกรวดเปลี่ยนความนึกให้ส่วนบุญ    ๑๔/ ๘๕๔๒
            ๒๕๐๖. ทังสเดน  เป็นธาตุโลหะชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติที่มีจุดหลอมตัวสูงมาก (๓๔๐๐ ซ) จึงมีประโยชน์ในการนำไปใช้ในกิจการด้านไฟฟ้าหลายอย่าง ใช้ทำไส้หลอดไฟฟ้าอื่น ๆ ใช้เป็นโลหะที่ต้องการความต้านทานสูง เครื่องมือที่ต้องการรอบหมุนสูง ทำลำกล้องปืน รถถัง         ๑๔/ ๘๕๔๔
            ๒๕๐๗. ทัณฑก - ป่า  เป็นป่าดงใหญ่ระหว่างแม่น้ำโคทาวารีกับแม่น้ำนรรมทา ในดงนี้มีสำนักดาบสอยู่หลายแห่ง เป็นที่ที่พระราม พระลักษณ์ และนางสีดา ไปท่องเที่ยวอยู่สิบปี        ๑๔/ ๘๕๔๔
            ๒๕๐๘. ทัณฑิมา เป็นชื่อนกในตำราสัตว์หิมพานต์ มีหัวเป็นนก ตัวเป็นครุฑ มีมือถือไม้เท้า        ๑๔/ ๘๕๔๕
            ๒๕๐๙. ทัตตเตรย, ทัตตไตรย - ฤาษี  เป็นบิดาพระทุรวาส (ดูทุรวาส - ลำดับที่ ๕๙๕๓)        ๑๔/ ๘๕๔๗
            ๒๕๑๐. ทันตแพทย์  คือผู้ที่มีอาชีพดูแลรักษาโรคทางฟัน เหงือก ขากรรไกร และโรคภายในช่องปาก       ๑๔/ ๘๕๔๗
            ๒๕๑๑. ทันตแพทย์ศาสตร์  เป็นแขนงวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับฟันและเรื่องในช่องปาก        ๑๔/ ๘๕๔๙
            ๒๕๑๒. ทับทาง - งู  เป็นงูที่ชาวบ้านใช้เรียกงูสามเหลี่ยม เป็นงูอยู่ในจำพวกงูเห่า มีลักษณะเป็นปล้อง สีเหลืองสลับดำ ท้องแบน และสันหลังเป็นสัน ทำให้เป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดยาวประมาณ ๗๐ - ๑๐๐ ซม. ชอบนอนและไม่เคลื่อนไหวในเวลากลางวัน ไม่ชอบแสงสว่าง มีพิษร้ายแรง กัดสัตว์และคนตายได้ พิษมีคุณสมบัติในทางทำลายเส้นประสาท และมีพิษทางโลหิตด้วย การรักษาเซรุ่มแก้พิษเฉพาะชนิด        ๑๔/ ๘๕๔๙
            ๒๕๑๓. ทับทิม  เป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง เนื้อข้างในเป็นเม็ดสีแดงคล้ายพลอย ทับทิม
                    ทับทิมเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น ตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๑.๘๐ - ๓.๐๐ เมตร ตามกิ่งมีหนามแหลมคม ใบมีขนาดเล็ก รูปร่างของใบเป็นแบบขอบขนาน ด้านใบสั้นติดกับกิ่งเป็นคู่ ๆ ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศคือมีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน มักออกดอกตอนปลายกิ่ง ส่วนมากมีสีแดงแสด ผลกลมคล้ายผลฝรั่ง ขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยง เปลือกค่อนข้างแข็งและเหนียว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมากอยู่เต็ม เมล็ดมีเนื้อใส ๆ หุ้มอยู่ภายนอก หนาใส มีสีชมพูอ่อนถึงแก่จนถึงสีแดง
                    ทับทิมในด้านเป็นสมุนไพรใช้รักษาโรคต่าง ๆ คือ
                    ๑. เปลือกของผลใช้แก้โรคบิดได้
                    ๒. ชาวอาหรับใช้รากต้มกับน้ำเป็นยาขับตัวตืด ส่วนคนจีนใช้แก้โรคฤดูขาวและขับปัสสาวะ
                    ๓. พวกฮินดูใช้น้ำและดอกเป็นเครื่องปรุงยาธาตุ เป็นยาสมานลำไส้ และแก้ท้องเสีย
                    ๔. เมล็ดในใช้เป็นยาบำรุงหัวใจและแก้ท้องเสีย
            ๒๕๑๔. ทับทิม ๒  เป็นชื่ออาหารหวานชนิดหนึ่งได้แก่ ทับทิมกรอบ ทำด้วยแห้วหรือมันแกว หั่นเป็นชิ้นเล็กขนาดเท่าเมล็ดทับทิม คลุกด้วยแป้งมัน และสีชมพูแก่ ต้มให้สุก จะมีลักษณะเหมือนเมล็ดทับทิม บริโภคกับน้ำเชื่อมใส่กระทิสด       ๑๔/ ๘๕๕๔
            ๒๕๑๕. ทับทิม ๓  เป็นชื่อสิ่งเคารพบูชาได้แก่ เจ้าแม่ทับทิม        ๑๔/ ๘๕๕๔
            ๒๕๑๖. ทับทิม ๔ - หอย  เป็นหอยชนิดหนึ่งประเภทหอยฝาเดียว หอยจูงนางเข้าห้องก็เรียก เป็นหอยขนาดเล็กมีสีแปลก ๆ แตกต่างกัน โดยมากเป็นสีชมพู เหมือนทับทิมจึงเรียกกันว่าหอยทับทิม        ๑๔/ ๘๕๕๔
            ๒๕๑๗. ทับทิม ๕ - พลอย  ได้แก่ พลอยที่เรียกว่าทับทิม ในบรรดาหินมีค่าด้วยกันแล้วทับทิมเป็นที่สองรองจากเพชร เป็นพลอยที่มีสีแดงสด ทับทิมมีสองชนิดด้วยกัน ชนิดที่เป็นพลอยสีแดงขุ่น เป็นทับทิมพม่า อีกชนิดหนึ่งเป็นพลอยสีแดงสด เนื้อใส เจียระไนเป็นเหลี่ยมเรียกทับทิมสยาม        ๑๔/ ๘๕๕๔
            ๒๕๑๘. ทับปุด  อำเภอขึ้น จ.พังงา ภูมิประเทศตอนใต้ เป็นที่ราบต่ำ ตอนกลางและตอนเหนือเป็นที่ราบสูง เป็นป่าและเขา เดิมเรียกว่า บ้านทับปุด ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐        ๑๔/ ๘๕๕๖
            ๒๕๑๙. ทับสมิงคลา - งู  เป็นงูในเครือเดียวกับงูสามเหลี่ยม เป็นงูจำพวกงูเห่า ลักษณะทั่ว ๆ ไป เหมือนงูสามเหลี่ยม ผิดกันที่ปล้องนั้นมีสีดำ และสีเทาค่อนข้างขาวสลับกันแทนที่จะเป็นเหลืองดำ พิษงูเหมือนกับพิษงูสามเหลี่ยม        ๑๔/ ๘๕๕๖
            ๒๕๒๐. ทับสะแก  อำเภอขึ้น จ.ประจวบคีรีขันธ์ อาณาเขตทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตกจดประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นที่ราบ
                    อ.ทับสะแก เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑         ๑๔/ ๘๕๕๘
            ๒๕๒๑. ทัพ - ทหาร  คำว่า "ทหาร" และ "ทัพ"  ได้เริ่มใช้ในสมัยอยุธยา ปรากฎสองคำนี้อยู่ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งได้ตราขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๑ ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
                    บรรดา "กองทัพ"  ที่ปรากฎอยู่ในพระราชพงศาวดาร หรือในตำนานไทย แต่โบราณจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ คงมีลักษณะตรงกับกองทัพสนาม เพราะเป็นหน่วยกำลังรบที่จัดขึ้น เพื่อจะส่งออกไปทำการรบ เมื่อเกิดสงครามขึ้นเท่านั้น มิได้จัดไว้เป็นกองทัพประจำ กองทัพประจำเพิ่งมาจัดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ที่เริ่มนำการจัดทหารแบบยุโรปมาใช้อย่างสมบูรณ์แบบ นับตั้งแต่การตรากฎมายเกณฑ์ทหาร จัดตั้งกองทัพประจำการทั้งทหารบก และทหารเรือ         ๑๔/ ๘๕๕๘
            ๒๕๒๒. ทัพทัน  อำเภอขึ้น จ.อุทัยธานี ภูมิประเทศทางทิศตะวันตกเป็นป่า และเขา โดยมาก นอกจากนั้นเป็นที่ราบลุ่ม        ๑๔/ ๘๕๖๕
            ๒๕๒๓. ทัพนาสูร  เป็นชื่อพญายักษ์ ในเรื่องรามเกียรติ์ บางทีเรียก เทพาสูร เป็นลูกท้าวลัสเตียนกับนางจิตรมาลา เป็นพี่ชายทศกัณฐ์ สีหงส์ดิน ครองเมืองจักรวาล ตายด้วยศรพระราม         ๑๔/ ๘๕๖๖
            ๒๕๒๔. ทาก ๑  สัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง เป็นพวกสัตว์ดูดเลือดที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มีลำตัวเป็นวงแหวนต่อกันเป็นข้อ ๆ รวมกับพวกปลิง รวมกับพวกปลิง ทากกินเลือดเป็นอาหารเท่านั้น โดยคูดกินเลือดจากคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การหาเหยื่อทากใช้ประสาทสัมผัสหลายอย่างเช่นอุณหภูมิ กลิ่น การสั่นสะเทือน และเงาที่ทอดจากวัตถุ ปรกติทากอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น มีมากในหุบเขาที่มีทางน้ำไหลผ่าน มีความชื้นสูง จะมีชุกชุมมากมายภายหลังฝนตก        ๑๔/ ๘๕๖๖
            ๒๕๒๕. ทาก ๒ - หอย  หอยทากยักษ์ เป็นศัตรูพืชที่สำคัญหลายชนิด หอยชนิดนี้เป็นหอยบกมีเปลือก ยาวเฉลี่ย ๕.๕ - ๑๐ ซม. เปลือกสีน้ำตาลแกมแดง ออกหากินเวลากลางคืน ฤดูระบาดอยู่ระหว่างฤดูฝน        ๑๔/ ๘๕๖๙
            ๒๕๒๖. ท่าคันโท  อำเภอขึ้น จ.กาฬสินธุ์ ภูมิประเทศตอนกลางเป็นป่าเขา ทิศเหนือและใต้ เป็นที่ราบสูง
                    อ. ท่าคันโท แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ขึ้น อ.สหัสขันธ์ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘         ๑๔/ ๘๕๗๓
            ๒๕๒๗. ทาง  ความหมายดั้งเดิม หมายถึง แนวหรือช่องสำหรับมนุษย์หรือสัตว์ ใช้สัญจร ต่อมาได้หาวิธีปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น จึงเกิดเป็นถนน
                    ตามประวัติศาสตร์พวกการ์เทจ เป็นพวกที่ได้เริ่มสร้างทางที่ได้ลงหิน หรือวัตถุอื่นเป็นพื้นทาง เมื่อ ๒๑๐๐ - ๒๕๐๐ ปี มาแล้ว ภายหลังพวกโรมันได้นำไปใช้
                    การสร้างทางในประเทศไทย ได้เริ่มมีขึ้นในรัชกาลที่ห้า ก่อนนั้นมีแต่ทางเดิน ทางต่าง ทางเกวียน
                    งานก่อสร้างทางหลวงของประเทศไทย ปรากฎว่าได้มีการก่อสร้างเป็นครั้งแรก ในสมัยสุโขทัย ถนนสายแรกเรียก "ถนนพระร่วง" สร้างเป็นคันดินถมสูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร กว้างประมาณ ๓ เมตร ในสมัยพญาลิไท โดยสร้างจากสวรรคโลกถึงสุโขทัย ไปกำแพงเพชรระยะทาง ๒๕๐ กิโลเมตร และจากสุโขทัยไปศรีสัชนาลัย ปัจจุบันแนวคันทางยังปรากฎให้เห็นอยู่
                    สำหรับทางสายแรก ที่สร้างขึ้นตามแบบแผนสมัยใหม่คือ "ถนนรับเสด็จ" จากสงขลาไปเมืองไทรบุรี สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินจากเมืองไทรบุรี ไปสงขลาโดยพาหนะและม้า เป็นครั้งแรก        ๑๔/ ๘๕๗๓
            ๒๕๒๘. ทางช้างเผือก  เป็นชื่อเรียกแถบเรืองบนท้องฟ้า ซึ่งมองเห็นได้ในคืนเดือนมืด ที่ท้องฟ้าปราศจากเมฆ แสงเรืองของทางช้างเผือกมาจากดาวฤกษ์จำนวนมากมาย กับทั้งกลุ่มกาซมหึมาที่ลุกเรืองอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรียงรายสลับซับซ้อนกันไกลออกไป ทางช้างเผือกคือ กาแลกซี หรือระบบดาวฤกษ์ ซึ่งดวงอาทิตย์เป็นสมาชิกหน่วยหนึ่ง กาแลกซีนี้ได้ชื่อว่า กาแลกซีทางน้ำนม หรืออาจเรียกแบบไทยว่า กาแลกซีทางช้างเผือก        ๑๔/ ๘๕๘๒
            ๒๕๒๙. ท่าจีน - แม่น้ำ  แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท แล้วไหลผ่าน จ.ชัยนาท จ.สุพรรณบุรี จ.นครปฐม และ จ.สมุทรสาคร ลงทะเลในอ่าวไทยที่ ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง ฯ จ.สมุทรสาคร ยาว ๓๑๕ กม. ที่ปากน้ำมีสันดอน ยื่นออกไปในทะเลไกล ๗ กม.
                    แม่น้ำนี้ยังมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันเป็นตอน คือ ตอนที่อยู่ในเขต จ.ชัยนาท เรียกแม่น้ำมะขามเฒ่า ตอนที่อยู่ในเขต จ.สุพรรณบุรี เรียกแม่น้ำสุพรรณบุรี ตอนที่อยู่ในเขต จ.นครปฐม เรียกแม่น้ำนครชัยศรี และตอนที่อยู่ในเขต จ.สมุทรสาคร เรียกแม่น้ำท่าจีน
            ๒๕๓๐. ท่าฉาง  อำเภอขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี อาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม ทางทิศตะวันตกเป็นที่ราบสูง และป่า         ๑๔/ ๘๕๘๓
            ๒๕๓๑. ท่าชนะ  อำเภอ ขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี อาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบ
                    อ.ท่าชนะ เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ไชยา ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙         ๑๔/ ๘๕๘๖
            ๒๕๓๒. ท่าช้าง  อำเภอขึ้น จ.สิงห์บุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖        ๑๔/  ๘๕๘๖
            ๒๕๓๓. ท่าแซะ  อำเภอขึ้น จ.ชุมพร อาณาเขตทางทิศตะวันตก จดประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นป่าและเขา
                     อ.ท่าแซะ เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ปะทิว ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓
            ๒๕๓๔. ท่าดินแดง  เป็นชื่อสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ อยู่ในเขต อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๗ พระยายมราช (แขก) คุมกำลังไปขัดตราทัพพม่าคอยรับครัวมอญอพยพ พ.ศ.๒๓๒๒ ราชบุตรพระเจ้าปดุงยกกองทัพที่หก มาตั้งที่ตำบลนี้ในครั้งสงครามเก้าทัพของพม่า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๒๙ พม่ายกเข้ามาตั้งอีก ได้ทำค่ายใหญ่น้อยหลายอย่างชักปีกกาติดต่อกันถึงค่ายสามสบ ถูกกองทัพรัชกาลที่หนึ่งตีแตกพ่ายไป        ๑๔/ ๘๕๘๙
            ๒๕๓๕. ท่าตะโก  อำเภอขึ้น จ.นครสวรรค์ ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ลุ่ม ตอนอื่น ๆ ลุ่มบ้าง ดอนบ้าง         ๑๔/ ๘๕๘๙
            ๒๕๓๖. ท่าตูม  อำเถอขึ้น จ.สุรินทร์ ภูมิประเทศเป็นโคกสลับแอ่ง มีอ่างเก็บน้ำโครงการลุงปุง
                    อ.ท่าตูม เดิมชื่อ อ.สุรพินนิคม เปลี่ยนชื่อเป็นท่าตูม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐         ๑๔/ ๘๕๙๐
            ๒๕๓๗. ทานกัณฑ์  เป็นชื่อกัณฑ์ที่สามในมหาชาติ เป็นเนื้อความตอนหนึ่งของเรื่องเวสสันดรชาดก ในกัณฑ์นี้มี ๒๐๙ คาถา มีลีลาของคาถาต่างกับกัณฑ์อื่น ๆ ในกัณฑ์นี้แสดงเนื้อความว่า เมื่อพระเวสสันดรถูกเนรเทศให้ไปอยู่เขาวงกต ก่อนที่จะเสด็จออกจากกรุงพิชัยเชตุดร พระองค์ทรงขอโอกาสพระราชทานมหาทานก่อน เป็นของรวมเจ็ดสิ่งเรียกว่า สัตตสดกมหาทาน        ๑๔/ ๘๕๙๒
            ๒๕๓๘. ทานตะวัน - ต้น  เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาเหนือ นำเข้ามาในประเทศไทย รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทานตะวันเป็นพืชล้มลุกมีอายุปีเดียว ใบชนิดใบเดี่ยว ออกสลับกัน ตัวใบรูปไข่หรือรูปหัวใจ ดอกออกที่ปลายกิ่ง เห็นเป็นดอกใหญ่ดอกเดี่ยว ๆ แต่ความจริงเป็นดอกประเภทดอกกลุ่ม รูปคล้ายจาน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕ ซม.
                    ปัจจุบันนิยมปลูกทานตะวันกันแพร่หลาย เพราะใช้ประโยชน์ได้เอนกประการ        ๑๔/ ๘๕๙๓
            ๒๕๓๙. ทานบารมี มีคำนิยามว่า "จรรยาอย่างเลิศคือทาน" นับเป็นบารมีคือคุณความดีที่ควรบำเพ็ญประการแรกในบารมีสิบประการ (ดูบารมี ๑๐ - ลำดับที่ ...ประกอบ) และเป็นขั้นแรกของการบำเพ็ญในสามวัน (ทานบารมี ทานอุปบารมี ทานปรมัตถบารมี)
                    ลักษณะของทานที่ถือว่าเป็นบารมีนั้นได้แก่การให้สมบัตินอกกาย โดยผู้ให้ตั้งใจให้อย่างจริงใจ เพื่อให้เป็นไปตามควารมปรารถนา หรือเพื่อให้บรรลุจุดหมายอันสูงส่งที่ได้ตั้งปณิธานไว้ เรียกการให้ชนิดนี้ว่าทานเจตนา คือความจงใจให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ท่านแสดงลักษณะเจตนาไว้สามอย่างคือ
                    ๑. ก่อนให้ก็จงใจว่าจะให้
                    ๒. เวลาให้ก็ให้ด้วยความจริงใจ
                    ๓. เมื่อให้แล้วก็มิได้แคลงใจในสิ่งที่ได้ให้และในผู้นั้นรับ แต่กลับยินดีว่าได้ทำสมจงใจแล้ว
            ๒๕๔๐.ท่านผู้หญิง  เป็นคำนำหน้าสตรี ดังมีหลักฐานเท่าที่พบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ทรงประกาศ พ.ร.บ.ให้ใช้คำนำหน้าชื่อชนต่าง ๆ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๔ มีข้อความตอนหนึ่งว่า "ภรรยาหลวงข้าราชที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการที่ถือศักดินาตั้งแต่นา ๑๐,๐๐๐ ลงมาจนถึง ๔๐๐ ก็ดี ที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศตามบรรดาศักดิ์ ก็มีคำว่าท่านผู้หญิง ว่าท่านนำหน้าชื่อ ที่ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องหมายยศบรรดาศักดิ์ก็ดีเป็นอนุภริยา มิใช่ทาสภริยาที่มีบุบตรด้วยกันก็ดีหญิง บุตรหลานข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ก็ดี หญิงยังไม่มีผัวก็ดี ไม่ต้องมีคำนำหน้าชื่อทั้งสิ้น
                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ มีปรากฎอยู่ในพระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำนามสตรี ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ว่า "สตรีที่มีสามีบรรดาศักดิ์ชั้นเจ้าพระยาและเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศด้วยแล้ว ให้ใช้คำว่า "ท่านผู้หญิง" เป็นคำนำ ประกอบด้วยราชทินนามของสามี..."
                    หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ รัฐบาลมีนโยบายไม่ขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่ข้าราชการ ทางการจึงได้วางหลักเกณฑ์การใช้คำนำหน้านามสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขึ้นไป สามีจะมีบรรดาศักดิ์หรือไม่ก็ตาม ใช้คำนำหน้าว่าท่านผู้หญิงทั้งหมด        ๑๔/ ๘๓๙๕
            ๒๕๔๑. ท่าบ่อ  อำเภอขึ้น จ.หนองคาย มีอาณาเขตด้านเหนือและด้านตะวันออกตกแม่น้ำโขง ภูมิประเทศเป็นที่ดอนสูง มีป่าทึบและภูเขามาก
                    อ.ท่าบ่อ เดิมเป็นหมู่บ้าน เมื่อเมืองเวียงจันทน์ตกไปเป็นของฝรั่งเศสแล้ว จึงตั้งเมืองขึ้นที่บ้านท่าบ่อราวปี พ.ศ.๒๔๓๗ เรียกว่าเมืองท่าบ่อ ขึ้นมณฑลหมากแข้ง (มณฑลอุดร) ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๓ เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพานพร้าว ครั้นยุบเป็นอำเภอ จึงให้ชื่อตามตำบลที่ตั้งเป็น อ.ท่าบ่อ        ๑๔/ ๘๕๙๙
            ๒๕๔๒. ท่าปลา  อำเภอขึ้น จ.อุตรดิตถ์ ภูมิประเทศทางทิศเหนือและตะวันออกส่วนมากเป็นภูเขา มีที่ราบเล็กน้อย ทางทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นป่าเสียมาก
                     อ.ท่าปลา เดิมขึ้น จ.น่าน โอนมาขึ้น จ.อุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖        ๑๔/ ๘๖๐๐
            ๒๕๔๓. ท่าม่วง  อำเภอขึ้น จ.กาญจนบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบทั่ว ๆ ไป ทางทิศตะวันตกมีป่าและเขาบ้าง
                     อ.ท่าม่วง เดิมเรียกว่า อ.ใต้ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการไปตั้งที่ ต.ม่วงชุม ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำแม่กลอง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.วังขนาย และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่าม่วง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑        ๑๔/ ๘๖๐๐
            ๒๕๔๔. ท่ามะกา  อำเภอขึ้น จ.กาญจนบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบและเป็นป่า
                     อ.ท่ามะกา เดิมตั้งที่ว่าการที่ ต.ลาด อ.บ้านโป่ง ต่อมาย้ายไปตั้งที่ ต.พงตึก เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พระแท่น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้ย้ายที่ว่าการไปตั้งที่ อ.ท่ามะกา ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำแม่กลอง ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่ามะกา ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ โอนมาขึ้น จ.กาญจนบุรี        ๑๔/ ๘๖๐๑
            ๒๕๔๕. ท้ายทอย  เป็นส่วนหนึ่งของศีรษะ อยู่ด้านหลังตั้งแต่กระหม่อมลงมาถึงต้นคอ มีหน้าที่สำคัญที่จะป้องกันส่วนสำคัญของสมอง มีหน้าที่รับและแปลความหมายจากประสาทที่มาจากนัยน์ตา
                     ท้ายทอยประกอบเป็นชั้น ๆ จากด้านในออกมา กระดูกท้ายทอยเป็นกระดูกชิ้นเดียวโค้งลงล่าง และยื่นไปข้างหน้ากลายเป็นพื้นส่วนล่างของโพรงสมอง ด้านข้างตอนหน้าต่อกับกระดูกขมับ จากนั้นเป็นของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อที่ยึดหรือตั้งต้นที่กระดูกท้ายทอยนี้ เป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเพราะเป็นความต้องการที่จะให้ศีรษะตั้งตรง มีอยู่หลายมัด ต่อมาเป็นชั้นพังผืด ไขมัน ผิวหนัง และผม        ๑๔/ ๘๖๐๑
            ๒๕๔๖. ท้ายสระ  เป็นพระนามพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๓๐ แห่งกรุงศรีอยุธยา และองค์ที่สามแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๕๑ - ๒๒๗๕ เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ของสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ)
                     สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการบูรณะปฎิสังขรณ์วัดวาอาราม ที่สำคัญหลายแห่งด้วยกัน
                     ในด้านการคมนาคม พระองค์โปรด ฯ ให้พระราชสงครามเป็นแม่กองขุดคลองโคกขาม ที่คดเคี้ยวให้ตัดลัดลง โดยเกณฑ์คนจากแปดหัวเมืองคือ เมืองนนทบุรี ธนบุรี สมุทรปราการ สาครบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ราชบุรี นครชัยศรี ได้ไพร่พล ๓๐,๐๐๐ คนเศษ ให้ชาวฝรั่งส่องกล้องดูให้ตรงปากคลอง ทางที่ตัดให้ตรงนี้ยาว ๓๔๐ เส้น ใช้เวลาขุดประมาณสามเดือน คลองลัดนี้ให้ชื่อว่า คลองมหาไชย ในปีต่อมา (พ.ศ.๒๒๖๕ โปรด ฯ ให้พระธนบุรีเป็นแม่กอง เกณฑ์ไพร่พลประมาณหมื่นเศษ ขุดคลองเกร็ดน้อย ลัดคุ้งบางบัวทองตัดให้เป็นเส้นตรง เป็นคลองลึกหกศอก กว้างหกวา ยาว ๒๙ เส้นเศษ ใช้เวลาขุดเดือนเศษ
                    ในด้านเศรษฐกิจ พระองค์ทรงสนพระทัยที่จะปรับปรุงการค้าขายกับต่างประเทศมาก สำเภาไทยได้ไปค้าขายที่ประเทศญี่ปุ่นสองครั้ง แต่งทูตไปเมืองจีนสี่ครั้ง ได้นำข้าวสารไปขายที่เมืองเอ้หมึงด้วย
                    ด้านการสงคราม ในปี พ.ศ.๒๒๕๔ นักเสด็จ กรุงกัมพูชาชื่อ พระธรรมราชาวังกระดาน กับนักพระแก้วฟ้าสะออก เป็นอริกัน นักพระแก้วฟ้าหันไปขอความช่วยเหลือจากญวน นักเสด็จกับนักพระองค์ทองมาพึ่งไทย สมเด็จพระเจ้าท้ายสระโปรด ฯ ให้เจ้าพระยาจักรี ยกทัพบกจำนวนหมื่นคน และให้พระยาโกษาธิบดีเป็นแม่ทัพเรือ เกณฑ์ไพร่หลวงอีกหมื่นคนไปตีกรุงกัมพูชา ทัพเรือถูกกองเรือญวนตีแตกพ่ายไป ที่ปากน้ำพุทไธมาศ ทัพบกตีได้เมืองเขมร นักพระแก้วยอมอ่อนน้อมถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง กรุงศรีอยุธยาจึงคงมีอำนาจเหนือกัมพูชาดังเดิม
                    ตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงมีประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๓ ห้ามมิให้นักบวชฝรั่งเศสแต่งหนังสือสอนคริสต์ศาสนาเป็นภาษาบาลี และภาษาไทย และห้ามเทศนาสั่งสอนเป็นภาษาไทย มอญ ลาว ญวน และจีน ห้ามมิให้ชักชวน และหลอกลวงประชาชน ให้หันไปนับถือคริสต์ศาสนา และห้ามมิให้ติเตียนพุทธศาสนา
                    เมื่อสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ใกล้เสด็จสวรรคตได้เกิดศึกกลางเมืองที่ใหญ่หลวง ยิ่งกว่าครั้งใดที่เคยเกิดในกรุงศรีอยุธยามาก่อน ระหว่างเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศวรฝ่ายหนึ่ง และกรมพระราชวังบวรอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายกรมพระราชวังบวรเป็นฝ่ายชนะ        ๑๔/ ๘๖๐๓
            ๒๕๔๗. ท้ายเหมือง  อำเภอขึ้น จ.พังงา มีอาณาเขตทางทิศใต้ และทิศตะวันตก ตกทะเลอันดามัน ภูมิประเทศลุ่ม ๆ ดอน ๆ  มีป่าไม้ และภูขา
                     อ.ท้ายเมือง เดิมตั้งที่ว่าการที่ ต.ทุ่งมะพร้าว ภายหลังย้ายมาตั้งที่ ต.ท้ายเหมือง         ๑๔/ ๘๖๐๙
            ๒๕๔๘. ท่ายาง  อำเภอขึ้น จ.เพชรบุรี มีอาณาเขตทางทิศตะวันออก ตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตกจดแดนประเทศพม่า ภูมิประเทศตอนทิศตะวันออก เป็นที่ราบลุ่ม ตอนกลางเป็นที่ดอน ตอนตะวันตก เป็นเนินเขา
                     อ.ท่ายาง  ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ เรียกว่า อ.แม่ประจัน ตั้งที่ว่าการที่ ต.วังไคร้ ครั้นปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้ย้ายไปตั้งที่ ต.ยางหย่อง เรียกว่า อ.บางหย่อง และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่ายาง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑        ๑๔/ ๘๖๐๙
            ๒๕๔๙. ทายาท  โดยทั่วไปหมายถึง ผู้สืบสันดาน ผู้สืบสกุล หรือผู้ที่จะรับทรัพย์สินของผู้ตาย คำว่า ทายาท ยังมีความหมายขยายรวมไปถึงผู้รับ หรือผู้อยู่ในฐานะที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ต่อจากบุคคลอื่นด้วย
                    ตามกฎหมายแพ่ง ทายาทหรือผู้ที่จะได้รับมรดกของผู้ตาย มีสองประเภทคือ ทายาทโดยธรรม และทายาทโดยพินัยกรรม ทายาทโดยธรรมได้แก่ บุตร บิดามารดา ญาติที่ใกล้ชิดกับคู่สมรส ของผู้ตาย
                    ทายาทโดยธรรม จะได้มรดกมากน้อยเพียงใดต้องไปตามส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนทายาทโดยพินัยกรรม จะได้รับมรดกมากน้อยเพียงใด ก็เป็นไปตามที่พินัยกรรมระบุไว้ ถ้าเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้เลย มรดกของผู้ตาย ญาติที่ใกล้ชิดของผู้ตาย ที่จะได้มรดกนั้นมีหกอันดับคือ
                    ๑.  ผู้สืบสันดาน  หมายรวมถึง บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรบุญธรรม และบุตรนอกกฎหมาย ที่บิดารับรองแล้ว
                    ๒.  บิดามารดา
                    ๓.  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
                    ๔.  พี่น้องซึ่งร่วมเฉพาะบิดา หรือมารดาแต่อย่างเดียว
                    ๕.  ปู่ ย่า ตา ยาย
                    ๖.  ลุง ป้า น้า อา
                    ถ้าเจ้าของมรดกไม่มีทั้งญาติ และคู่สมรส และไม่ได้ทำพินัยกรรม ยกทรัพย์ให้ใคร มรดกก็ตกได้แก่ แผ่นดิน        ๑๔/ ๘๖๑๐
            ๒๕๕๐. ทารก  คือ เด็กที่มีอายุตั้งแต่คลอดออกมาจนถึง อายุได้สองขวบ ในระยะนี้ทารกมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จะเรียนรู้ถึงเรื่องต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบ ๆ ตัวเป็นไปตามลำดับ พ้นวัยนี้ไปก็จะรู้จักเรื่องคำพูด และรู้จักพูดได้เป็นคำ หรือประโยคสั้นๆ ได้ เริ่มมีฟันน้ำนมขึ้น รู้จักกัด แสดงอาการดีใจ เสียใจ ทารกจะทำความรู้จักกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม        ๑๔/ ๘๖๑๖
            ๒๕๕๑. ท่าเรือ ๑  หมายถึง ประตูทางเข้ามีทั้งท่าเรือทะเล ท่าเรือแม่น้ำ ท่าเรือทะเลสาบ ท่าเรือลำคลอง เป็นถานที่ที่เรือจอดพักอาศัย เพื่อบรรทุกและขนถ่ายสินค้าที่เป็นประตูทางเข้า หรือจุดผ่านระหว่างแผ่นดินกับแม่น้ำ  หรือแผ่นดินกับทะเล
                    ด้านหนึ่งของประตูทางเข้าใช้สำหรับเรือขนาดใหญ่และขนาดย่อม อีกด้านหนึ่งใช้สำหรับรถไฟและรถยนต์บรรทุก ประตูดังกล่าวนี้เป็นทางผ่านเพื่อขนส่งสินค้าหรือคนโดยสารหรือทั้งสองอย่าง     ๑๔/ ๘๖๑๗
            ๒๕๕๒. ท่าเรือ ๒  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา
                     อ.ท่าเรือ สมัยอยุธยาแบ่งท้องที่ปกครองออกเป็นแขวง ๆ อ.ท่าเรือเป็นแขวงขุนนคร สมัยรัตนโกสินทร์ได้ยกกรุงเก่าเป็นเมืองจัตวาแล้วเปลี่ยนชื่อแขวงขุนนครเป็นแขวงนคร ต่อมาในรัชกาลที่สามแยกแขวงนครออกเป็นแขวงนครใหญ่ และแขวงนครน้อย ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๘ แบ่งแขวงนครน้อยเป็นสองตอน ตอนเหนือเป็น อ.นครน้อย ตอนใต้เป็น อ.นครกลาง พ.ศ.๒๔๔๘ เปลี่ยนชื่อ อ.นครน้อยเป็น อ.ท่าเรือ        ๑๔/ ๘๖๒๓
            ๒๕๕๓. ท่าลี่  อำเภอขึ้น จ.เลย มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และทิศตะวันตกจดลำน้ำเหือง ต่อแดนเมืองแก่นท้าวขึ้นเมืองปากสายของประเทศลาว ภูมิประเทศเป็นเขาและป่าดงโดยมาก        ๑๔/ ๘๖๒๓
            ๒๕๕๔. ท่าวังผา  อำเภอขึ้น จ.น่าน ภูมิประเทศเป็นป่าเขา พื้นที่หนึ่งในสี่เป็นที่ราบและอยู่ริมฝั่งทั้งสองของแม่น้ำน่าน
                     อ.ท่าวังผา แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘          ๑๔/ ๘๖๒๔
            ๒๕๕๕. ท่าวุ้ง  อำเภอขึ้น จ.ลพบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม หน้าน้ำน้ำท่วมตลอด
                     อำเภอนี้ชาวบ้านเรียกว่า อ.มะขามเทศ เพราะตั้งที่ว่าการอยู่ใกล้คลองมะขามเทศ        ๑๔/ ๘๖๒๔
            ๒๕๕๖. ท่าศาลา  อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศทางทิศตะวันตกเป็นภูเขาและป่า ตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม
                    อำเภอนี้เดิมชื่อ อ.กลาย เปลี่ยนชื่อเป็นท่าศาลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ เพราะย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ ต.ท่าศาลา          ๑๔/ ๘๖๒๕
            ๒๕๕๗. ทาส  ตามความหมายอย่างกว้างหมายถึง คนรับใช้หรือบ่าว ซึ่งมีสถานภาพแห่งบุคคลต่ำต้อยกว่าคนรับใช้ที่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง
                    ระบบทาสของประเทศต่าง ๆ ในอดีต มีลักษณะคล้ายคลึงกันอยู่หลายประการคือ ผู้เป็นทาสนั้นมีภาวะเป็นทรัพย์หรือเสมือนทรัพย์ของเจ้าของ เหตุที่ทำให้คนตกเป็นทาสหรือสงคราม หนี้สิน การสืบเชื้อสายจากทาส และการซื้อขายผู้เป็นทาสอยู่แล้ว ในบรรดาเหตุเหล่านี้สงครามจัดว่าเป็นเหตุสำคัญ
                    ในสมัยอยุธยา มีกฎหมายว่าด้วยทาสโดยตรงคือ ลักษณะทาส ฉบับแรกตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๘ ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ที่จริงแล้วไทยได้มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่กล่าวถึงทาสมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (อู่ทอง) ซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะผัวเมียอีกสองตอน ตอนแรกตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๓
                    คัมภีร์มานวศาสตร์ หรือที่ฝรั่งเรียกว่าประมวลกฎหมายมนู เป็นต้นแบบสถาบันทาสของไทยสมัยอยุธยา
                    ในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ และ ๒๓ นักปราชญ์ทางการเมืองของยุโรปได้แสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันทาสอย่างชัดแจ้งและแพร่หลาย ได้โน้มน้าวมติมหาชนของยุโรปให้ยกเลิกสถาบันทาส และปลดปล่อยทาสออกเป็นอิสระเสียโดยเร็ว ในปี พ.ศ.๒๓๗๖ อังกฤษ ได้ออกกฎหมายประกาศปลอดปล่อยทาสเป็นอิสระจำนวนถึง ๘๐๐,๐๐๐ คน ในอาณาเขตโพ้นทะเลที่อังกฤษปกครองอยู่ โดยรัฐบาลอังกฤษต้องใช้ค่าทดแทนเป็นเงินถึง ๒๐ ล้านปอนด์สเตอริงให้แก่บรรดาเจ้าของทาส ส่วนสถาบันทาสในอินเดียของอังกฤษได้เลิกไปเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๖
                    เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลงในปี พ.ศ.๒๔๖๑ สันนิบาตชาติได้มีส่วนทำอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทาส พ.ศ.๒๔๖๙ ด้วยความมุ่งหมายให้ประเทศที่เป็นภาคีช่วยกันขจัดระบบทาสในรูปแบบต่าง ๆ ให้หมดไป ปรากฎว่าประเทศสำคัญ ๆ ที่ได้ออกกฎหมายยกเลิกสถาบันทาสในอาณานิคม หรือเขตอธิปไตยของตน มีหลายประเทศเช่น สวีเดน (พ.ศ.๒๓๘๙) ฝรั่งเศสและเดนมาร์ก (พ.ศ.๒๓๙๑) โปร์ตุเกส (พ.ศ.๒๓๙๙) เนเธอร์แลนด์ (พ.ศ.๒๔๐๓) สเปญ (พ.ศ.๒๔๑๕) สหรัฐอเมริกา (พ.ศ.๒๔๐๘)
                   การเลิกสถาบันทาสในประเทศไทย เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระองค์ได้ทรงเตรียมการเป็นระยะ ๆ อย่างรอบคอบ ในที่สุดได้มีการตราพ.ร.บ.ลักษณะทาษ ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ.๒๔๔๘) เป็นสัญลักษณ์สำคัญประการหนึ่งของชาติ        ๑๔/ ๘๖๒๕
            ๒๕๕๘. ท่าสองยาง  อำเภอขึ้น จ.ตาก มีอาณาเขตทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตกจดประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นป่าเขา
                     อ.ท่าสองยางเดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตจังหวัดใหม่ ได้โอนไปขึ้น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑        ๑๔/ ๘๖๓๖
            ๒๕๕๙. ท่าใหม่  อำเภอขึ้น จ.จันทบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบมีเขาและเนินเล็ก ๆ สลับเป็นตอน ๆ
                     อ.ท่าใหม่ เดิมชื่อ อ.พลอยแหวน เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่าใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐        ๑๔/ ๘๖๓๗
            ๒๕๖๐. ท่าอุเทน  อำเภอขึ้น จ.นครพนม มีอาณาเขตทางทิศเหนือและทิศตะวันออกจดแม่น้ำโขง ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นโคกสลับแอ่ง มีลำน้ำเล็ก ๆ หลายสาย ตอนห่างจากฝั่งแม่น้ำโขงมีป่าไม้เบญจพรรณ ตอนกลางและตอนริมฝั่งโขงเป็นที่ราบลุ่ม ตอนใต้เป็นที่ดอนโดยมาก
                    อ.ท่าอุเทน เป็นเมืองเก่า ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ลำน้ำสงครามเรียกเมืองที่ตั้งใหม่ว่าชัยบุรี ภายหลังมีผู้คนมาอยู่ที่เมืองเก่ามากขึ้น จึงกลับตั้งเป็นเมืองท่าอุเทนในรัชกาลที่สาม และยุบเป็นอำเภอในรัชกาลที่ห้า        ๑๔/ ๘๖๓๗
            ๒๕๖๑. ทำนบ  เป็นสิ่งก่อสร้างที่ปิดกั้นลำน้ำไม่ให้น้ำไหลผ่าน หรือไหลข้ามสิ่งก่อสร้างนั้น ทำนบแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์และการสร้างได้เป็นสองประเภทคือ ทำนบชั่วคราว และทำนบถาวร
                    ทำนบถาวร ถ้าเป็นงานขนาดใหญ่นิยมเรียกว่าเขื่อนเก็บน้ำ        ๑๔/ ๘๖๓๙
            ๒๕๖๒. ทิคัมพร  เป็นชื่อนิกายหนึ่งในศาสนาเชน นักบวชในนิกายนี้ได้ชื่อว่าผู้นุ่งห่มทิศ คือไม่นุ่งผ้า มีชื่อเรียกตามคัมภีร์พุทธศาสนาเป็นต่าง ๆ ว่าอเจลกบ้าง นิครนถ์บ้าง
                    ศาสนาเชน ภายหลังจากพุทธศักราชล่วงไปราว ๕๐๐ ปีเศษ ได้แตกเป็นนิกายใหญ่สองนิกายคือนิกายเศวตัมพรได้แก่ พวกนุ่งขาวกับนิกายทิคัมพรได้แก่ พวกนุ่งฟ้าหรือชีเปลือย พวกทิคัมพรอยู่ในแคว้นเดกกันเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่แคว้นไมซอร์
                    พวกทิคัมพรปีหนึ่ง ๆ ปฏิบัติตนด้วยการทรมานกายเป็นวัตกิจมถานุโยคอย่างยิ่งยวด มีหลักปฏิบัติที่สำคัญอยู่สามอย่างคือ
                     ๑. ไม่กินอาหารใด ๆ แม้แต่น้ำก็ไม่ยอมให้ล่วงลำคอ
                     ๒. ไม่ควรมีสมบัติใด ๆ ติดตัวแม้ผ้านุ่ง
                     ๓. ไม่ยอมให้ผู้หญิงเป็นผู้บรรลุธรรมได้          ๑๔/๘๖๕๕
           ๒๕๖๓. ทิ้งกระจาด  เป็นประเพณีทางศาสนาอย่างหนึ่งของชาวจีน ปฏิบัติกันในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนเจ็ด (ตามจันทรคติแบบจีน) ความเชื่ออันเป็นต้นกำเนิดประเพณีนี้ ปรากฎในพระสูตรฝ่ายมหายานชื่อ อุลลัมพนสูตร แปลเป็นภาษาจีนระหว่างปี พ.ศ.๘๐๙ และ พ.ศ.๘๕๖ พิธีนี้ได้ทำอย่างใหญ่โตครั้งแรกในประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ.๑๐๘๑
                    พิธีอุลลัมพน ในสมัยต่อมาได้กลายเป็นพิธีในลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื๊อด้วย  ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ทำให้พิธีอุลลัมพนะแพร่หลายในประเทศจีนได้แก่ อโมฆวัชระ ภิกษุชาวอินเดีย นิกายโยคาจาร ซึ่งเดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศจีน ราวปี พ.ศ.๑๒๗๕ และเป็นผู้ริเริ่มใหม่ในการแปลพระสูตรมหายานจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน     ๑๔/ ๘๖๕๘
            ๒๕๖๔. ทิ้งถ่อน - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๒๕ - ๓๐ เมตร ใบเป็นใบประกอบ ยาว ๓๐ - ๔๕ ซม. มีใบย่อย ๖ - ๘ คู่ เรียงเป็นสองชั้น ใบย่อยรูปไข่กลับค่อนข้างเบี้ยว ดอกออกเป็นช่อใหญ่แยกแขนง มีดอกขนาดเล็กสีขาวติดเป็นกระจุกกลมตามใบแขนงของช่อ ผลเป็นฝักคล้ายฝักกระถิน
                    เนื้อไม้แข็ง ทนทานและมีลายสวยงาม นิยมใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ น้ำฝาดจากเปลือกใช้ย้อมผ้า เปลือกเป็นยาเบื่อปลา นอกจากนี้ทิ้งต่อปียังใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง เจริญอาหาร และสมานแผล         ๑๔/ ๘๖๖๐
            ๒๕๖๕. ทิ้งทูต  เป็นชื่อนกชนิดหนึ่งในจำพวกนกทืดทือ เท้งทูตก็เรียก (ดูทืดทือ - นก - ลำดับที่...)        ๑๔/ ๘๖๖๑
            ๒๕๖๖. ทิฐิ  โดยรูปคำแปลว่า ความเห็นหรือการเห็น ในพรมชาลสูตรแบ่งทิฐิเป็นสองอย่างก็มี สามอย่างก็มี และ ๖๒ อย่างก็มี ที่แบ่งเป็นสองอย่างคือ
                    ๑. สัสตทิฐิ ได้แก่ เห็นว่าอารามณ์หรือตน และโลกเป็นของเที่ยง ยั่งยืนเสมอไป ไม่มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เช่นเห็นว่าคนตายไปแล้วก็ต้องเป็นคน สัตว์อะไรตายไปแล้วก็ต้องเป็นสัตว์ชนิดนั้น
                    ๒. อุทเฉททิฐิ มีความเห็นว่าอารมณ์หรือตน และโลกเป็นของสูญ ตายแล้วสูญหมด ไม่มีเกิดใหม่
                    ทิฐิที่แบ่งเป็นสามอย่างได้แก่ อกิริยาทิฐิ อเหตุกทิฐิ และนัตถิกทิฐิ
                    ๑. อกิริยาทิฐิ มีความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ คนจะทำอะไรก็ทำไป แต่เท่ากับไม่ได้ทำ ไม่มีผลอะไร ทำดีก็ไม่ได้ดี ทำชั่วก็ไม่ได้ชั่ว สักแต่ว่าทำเท่านั้น
                    ๒. อเหตุกทิฐิ มีความเห็นว่า หาเหตุมิได้หรือไม่มีเหตุ เช่นเห็นว่าคนจะได้ดีก็ได้ดีเอง จะได้ชั่วก็ได้ชั่วเอง ไม่มีเหตุไม่มีผล
                    ๓. นัตถิกทิฐิ มีความเห็นว่าไม่มี เห็นว่าบุญไม่มี บาปไม่มี ทานที่ให้ไม่มีผล ไม่มีมารดาบิดา ไม่มีบุตรธิดา มารดาบิดาไม่มีคุณอะไรกับบุตรธิดา บุตรธิดาก็ไม่จำเป็นต้องมีกตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดา เป็นต้น
                    ทิฐิสามอย่างนี้อกิริยทิฐิ มีเจ้าลัทธิชื่อบูรณกัสสป ซึ่งเรียกว่า เป็นอกิริยวาที คือผู้มีวาทะ ว่าไม่เป็นอันทำ อเหตุกทิฐิ มีเจ้าลัทธิชื่อมักขวิโคสาล ซึ่งเรียกว่า เป็นอเหตุกวาทีคือผู้มีวาทะว่าไม่มีเหตุ นัตถิกทิฐิ มีเจ้าลัทธิชื่ออธิตะเกสกัมพล ซึ่งเรียกว่า เป็นนัตถิกวาที คือผู้มีวาทะว่าไม่มี
                    ในพรหมชาลสูตรแบ่งทิฐิออกไปอีกเป็น ๖๒ อย่าง โดยผู้บัญญัติ (สมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้ไม่รู้ไม่เข้าใจในสัจธรรม) กำหนดเอาขันธ์ (เรื่องของตน และเรื่องของโลก) ส่วนอดีตและมีความเห็นไปตามส่วนอดีต แล้วปรารถขันธ์ส่วนอดีตที่เป็นมาจึงแสดงทิฐิเป็นหลายอย่างด้วยเหตุ ๑๘ ประการ กำหนดเอาขันธ์ส่วนอนาคต และมีความเห็นไปตามขันธ์ ส่วนอนาคตแล้วปรารถขันธ์ส่วนอนาคตจึงแสดงทิฐิเป็นหลายอย่างด้วยเหตุ ๔๔ ประการ รวมเป็น ๖๒ ประการ           ๑๔/ ๘๖๖๑
            ๒๕๖๗. ทิณวงศ์  เป็นนิยายคำกลอนของไทยเรื่องหนึ่ง ไม่ปรากฎนามผู้แต่ง เป็นเรื่องที่เรียกกันว่า หนังสือประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ        ๑๔/ ๘๖๖๘
            ๒๕๖๘. ทิเบต  เป็นประเทศในเอเซียกลาง คำว่าทิเบตเป็นคำฝรั่งเรียก แปลว่า "แผ่นดินสูง"
                    ทิเบต เป็นแผ่นดินที่สูงที่สุดในโลก ใหญ่กว่าประเทศไทยราวสองเท่าเศษ อาณาเขตทิศเหนือจดมณฑลซินเกียง ทิศใต้จดประเทศเนปาล อินเดีย และปากีสถาน ทิศตะวันออกจดมณฑลซีคัง และมณฑลชืงไห่ของจีน ทิศตะวันตกติดกับประเทศอินเดีย
                    ภูมิประเทศแบ่งออกได้เป็นสี่ลักษณะคือ ที่ราบ เนินสูง ทุ่งเลี้ยงสัตว์ และเทือกเขา มีทะเลสาบอยู่มาก มีแม่น้ำสายสำคัญคือ แม่น้ำพรหมบุตรไหลผ่าน เมืองหลวงชื่อ ลาสา เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ของพ่อค้าเดินเท้าที่ผ่านมาออกจีน อินเดีย มองโกเลีย เตอร์กีสถาน เป็นศูนย์กลางแห่งการศาสนา ดุจเมืองกบิลพัสด์ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นิกายลามะ (ดูดาไลลามะ - ลำดับที่ ๑๙๗๗ ประกอบ)
                    ทิเบตเป็นเมืองภูเขาล้อมรอบด้วยภูเขา ลูกที่สูงที่สุดคือภูเขาหิมาลัย แนวหิมาลัยเป็นเกือบล้อมรอบทิเบต ทิเบตแห้งแล้งกันดาร โดดเดี่ยว ไม่มีหมู่บ้าน ไม่มีเส้นทางคมนาคม ชาวทิเบตได้เกลือจากทะเลสาบ เป็นสินค้าแลกเปลี่ยนกับเครื่องบริโภคในเนปาลและภูฐาน สินค้าออกธิเบตส่วนมากส่งไปอินเดีย มีสัตว์เลี้ยง ขนสัตว์ หนังสัตว์ หางจามรี ชะมดเชียง สมุนไพร เกลือ โบแรกซ์ เพชรนิลจินดา และศิลปวัตถุทางศาสนา
                    เชื้อชาติธิเบตเป็นเผ่ามองโกล ผิวและตาสีนาตาล พื้นเพเดิมอยู่บริเวณภูเขาทางตะวันตกของจีน แบ่งออกเป็นสามเผ่า ทุกเผ่ามีอุปนิสัยรักสงบบึกบึน นิยมการผจญภัย เลื่อมใสในศาสนาแรงกล้า มีนิสัยร่าเริง ชาวทิเบตมีภาษาที่มีรากฐานมาจากภาษาสันสกฤต มีพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นิกายลามะ และวัฒนธรรมอันเนื่องจากศาสนาเป็นของตนเองโดยเฉพาะ
                    ประวัติศาสตร์ธิเบตที่กำหนดได้จริง ๆ เริ่มประมาณ พ.ศ.๑,๐๐๐ เศษ พระเจ้าซรองซานกัมโปรวมชาติทิเบตไว้เป็นปึกแผ่น ขยายอาณาเขตออกไปถึงมณฑลเชนสี ในปประเทศจีนด้านเหนือ และนัยว่าแผ่นเข้าไปถึงแคว้นมคธในอินเดียด้วย ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ประวัติศาสตร์ทิเบตก็เปลี่ยนรูป เมื่ออังกฤษยึดชมพูทวีปไว้ในอำนาจ ข้าหลวงใหญ่อังกฤษในอันเดียเปิดการติดต่อกับข้าหลวงใหญ่ของจีน ที่ประจำอยู่ในทิเบต อังกฤษทำสัญญาร่วมกับจีนฉบับหนึ่งในปี พ.ศ.๒๔๓๓ มีผลให้อังกฤษได้ตลาดค้าขายในทิเบตและได้ชัยภูมิปิดทางรุสเซีย ซึ่งพยายามคืบเข้ามาในเวลานั้นด้วย
                    เมื่ออังกฤษรามือไป เพราะติดงานการเมืองในยุโรป จึงปล่อยให้จีน (ราชวงศ์เม่งจู) ได้โอกาสถือเอาทิเบตเป็นมณฑลหนึ่งของจีน จนกระทั่งซุนยัดเซ็นล้มราชวงศ์เม่งจูได้ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ ชาวทิเบตถือโอกาสรวมกันเป็นกองทัพขับไล่ข้าราชการและทหารจีน (เม่งจู) ออกไปจากกรุงลาซาได้หมด ประกาศเอกราชของตนอันมีแต่เดิมมา
                    เมื่อจีนค่อยสงบก็อ้างสิทธิเหนือธิเบตอีก คราวนี้ดาไลลามะหันไปพึ่งอินเดีย อังกฤษเข้าไกล่เกลี่ย มีการทำสัญญาที่เมืองสิมลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ขณะอังกฤษอยู่ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในยุโรป จีนถือโอกาสส่งทหารเข้าไปในทิเบตอีก แต่ทิเบตสามารถขับไล่มหารจีนออกจากทิเบตไปได้และรุกไล่ไปถึงแม่น้ำแยงซี ฐานะของทิเบตวราบรื่นมาจนถึงจีนคอมมิวนิสต์มีอำนาจในแผ่นดินจีน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ได้รื้อฟื้นการอ้างสิทธิ์ในธิเบตอีก และเริ่มรุกรานทิเบตในปี พ.ศ.๒๔๙๕ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๒ ดาไลลามะ ลามะองค์ที่ ๑๔ ต้องลี้ภัยไปยังอินเดีย และได้ทำคำฟ้องไปยังองค์การสหประชาชาติ แต่คณะมนตรีความมั่นคง เพียงแต่ประณามว่าจีนเป็นผู้รุกรานเท่านั้น         ๑๔/ ๘๖๗๒
            ๒๕๖๙. ทิพากรวงศ์ - เจ้าพระยา (พ.ศ.๒๓๕๖ - ๒๔๑๓)   นามเดิม ขำ บุนนาค ท่านได้ปฎิบัติหน้าที่ราชการสำคัญ ๆ ตลอดมาถึงสามแผ่นดิน สมัยที่ดำรงตำแหน่งปลัดกรมพระตำรวจ ได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายหลายครั้ง ทั้งยังได้ช่วยก่อสร้างสถานที่สำคัญ เช่น ในปี พ.ศ.๒๓๗๗ ครั้งสร้างเมืองจันทบุรีใหม่ ก็ได้สร้างป้อมที่แหลมด่านปากน้ำชื่อ ป้อมภัยพินาศ และสร้างป้อมที่แหลมสิงห์ชื่อ ป้อมพิฆาตปัจจามิตร
                    ในปี พ.ศ.๒๓๘๐ ได้ไปจับผู้ร้ายทางเมืองสมุทรสงคราม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๘๒ ได้ไปจับฝิ่นทางหัวเมืองปักษ์ใต้ ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงนครศรีธรรมราช และตั้งแต่ตะกั่วป่าถึงเมืองถลาง พ.ศ.๒๔๘๗  ไปปรามอั้งยี่ขายฝิ่นที่ปากน้ำบางปะกง พ.ศ.๒๓๘๘  ไปจับฝิ่นตั้วเหี่ยที่เป็นสลัดเที่ยวปล้นสะดมอยู่ทางหัวเมืองชายทะเลตะวันตก พ.ศ.๒๓๙๐ ไปปราบจีนตั้วเหี่ยที่เมืองสมุทรสาคร พ.ศ.๒๓๙๑ ไปปราบจีนตั้วเหี่ย ที่เมืองฉะเชิงเทรา
                    ในด้านการต่างประเทศ ท่านได้ช่วยงานด้านนี้ตั้งแต่รัชกาลที่สาม และครั้งสำคัญเมื่อ เซอร์ ยอห์น เบาริง ราชทูตอังกฤษเข้ามาติดต่อ ขอทำหนังสือสัญญากับไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘
                    งานด้านการก่อสร้างได้เป็นแม่กองขุดคลองเจดีย์บูชา (พ.ศ.๒๓๙๖) คลองถนนตรง (พ.ศ.๒๔๐๐) และคลองมหาสวัสดิ์ (พ.ศ.๒๔๐๓)  งานปฎิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ วัดเฉลิมพระเกียรติ พระสมุทรเจดีย์ วัดบางพระ และวัดเกาะสีชัง เป็นต้น
                    ในบั้นปลายชีวิต ท่านได้เขียนหนังสือที่มีประโยชน์ไว้หลายเล่ม โดยเฉพาะพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่สาม ถึงรัชกาลที่สี่        ๑๔/ ๘๖๘๑
            ๒๕๗๐. ทีฆนิกาย  เป็นชื่อคัมภีร์แห่งพระสุตตันตปิฎก ซึ่งมีอยู่ห้านิกายคือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย และขุทกนิกาย
                    ทีฆนิกาย  เป็นหมวดที่รวมพระสูตรที่มีเนื้อความ ที่ค่อนข้างยาวแบ่งย่อยออกไปเป็นสามวรรคคือ สีลขันธวรรค มหาวรรค และปาฎิกวรรค แต่ละวรรคดังกล่าวมี ๑๓ สูตร ๑๐ สูตร และ ๑๑ สูตร ตามลำดับ รวม ๓๔ สูตร        ๑๔/ ๘๖๘๖
            ๒๕๗๑. ทีฆาวุ - เจ้าชาย  เป็นพระราชโอรสองค์เดียวของพระเจ้าโกศลทีฆีติราช ในประเทศอินเดียสมัยโบราณ ในครั้งนั้นพระเจ้ากาสี พระนามว่า พรหมทัต ครองราชย์ในเมืองพาราณสี ทรงกรีธาทัพไปยึดครองแคว้นโกศล ของพระเจ้าโกศลทีฆีติราช พระเจ้าโกศลกับพระมเหสีเสด็จหนีไปอาศัยอยู่บริเวณบ้านนายช่างหม้อ จนกระทั่งได้มีพระราชโอรส ขนานพระนามว่า ทีฆาวุกุมาร พระราชกุมารได้ไปศึกษาศิลปวิทยา ในสำนักครูต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาขับรถม้า เมื่อเสด็จกลับมาเมืองพาราณสี ก็พบว่าพระราชบิดากับพระราชมารดา กำลังถูกพระเจ้าพรหมทัตจับไปปลงพระชนม์ และได้มีโอวาทสอนทีฆาวุกุมาร เป็นใจความว่า " อย่าเห็นยาวดีกว่าสั้น และอย่าเห็นสั้นดีกว่ายาว เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่ผูกเวร"
                    ต่อมา เมื่อทีฆาวุกุมารได้มีโอกาสอธิบายโอวาทนี้ ให้พระเจ้าพรหมทัตได้ทราบ พระเจ้าพรหมทัตทรงพอพระทัย สถาปนาเจ้าชายทีฆาวุ ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นโกศล ถวายพระนามว่า พระเจ้าทีฆาวุ พร้อมกับพระราชทานเจ้าหญิงเรณุกา พระราชธิดาของพระองค์ให้เป็นพระมเหสี         ๑๔/ ๘๖๘๗
            ๒๕๗๒. ทึดทือ - นก  เป็นนกเค้าแมวพวกหนึ่ง อยู่ในจำพวกนกแสก (ดู เค้าแมว - นก - ลำดับที่ ๑๑๔๑)         ๑๔/ ๘๖๙๑
            ๒๕๗๓. ทุก - ปลา  เป็นปลาในวงศ์ปลาค้าว  (ดู ค้าวดำ - ลำดับที่ ๑๐๗๑)        ๑๔/ ๘๖๙๒
            ๒๕๗๔. ทุกขนิโรธ  โดยรูปคำแปลว่า "ความดับทุกข์"  เป็นชื่อของอริยสัจที่สาม (ดู จตุราริยสัจ - ลำดับที่ ๑๒๘๑)         ๑๔/ ๘๖๙๒
            ๒๕๗๕. ทุกขสมุทัย  โดยรูปคำแปลว่า "เหตุให้เกิดทุกข์"  เป็นชื่อของอริยสัจที่สอง  (ดู จตุราริยสัจ - ลำดับที่ ๑๒๘๑)        ๑๔/ ๘๖๙๒
            ๒๕๗๖. ทุกฎ  โดยรูปคำแปลว่า "ความชั่ว" โดยความเป็นชื่ออาบัติจำพวกหนึ่ง  ในอาบัติเจ็ดพวก ในวินัยบัญญัติไว้ว่า ที่เรียกว่า "อาบัติ" นั้น คือ โทษที่เกิดเพราะความละเมิด ในข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ว่าโดยชื่อมีเจ็ดอย่างคือ ปาราชิก สังฆาทิเสส กุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฎิเทสนียะ ทุกฎ ทุพภาษิต
                    ทุกฎ เป็นอาบัติเล็กน้อย หรืออาบัติเบา เรียกว่า "ลหุกาบัติ" ภิกษุต้องเข้าแล้ว ต้องแสดงต่อหน้าสงฆ์หรือคณะ หรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเรียกว่า " แสดงอาบัติ" หรือ " ปลงอาบัติ" จึงจะพ้นได้
                   เมื่อจัดตามข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ซึ่งยกขึ้นเป็นสิกขาบท มีที่มาในพระปาติโมกข์ และไม่ได้มาในพระปาติโมกข์ แล้ว ทุกฎจัดอยู่ในจำพวกสิกขาบทที่ไม่ได้มาในพระปาฎิโมกข์สิกขาบทที่มาในพระปาฎิโมกข์ ได้แก่ ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสัสคศัยปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒ ปาฎิเทสนียะ ๔ เสขีย ๗๕ รวมเป็น ๒๒๐ นับทั้ง อธิกรณสมถะ ๗ ด้วย เป็น ๒๒๗
                    ทุกฎ เป็นสิกขาบทที่ยกขึ้นเป็นอาบัติส่วนย่อย และอาบัติพวกปาจิตตีย์ ๙๒        ๑๔/ ๘๖๙๒
            ๒๕๗๗. ทุกนิบาต  เป็นชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ที่กำหนดธรรม หรือคาถาอย่างละสองข้อ นับเนื่องอยู่ในคัมภีร์อังคุตุรนิกาย ที่จัดหมวดธรรมไว้เป็นองค์ ๆ เป็นข้อ ๆ  หรือเป็นหมวด เรียกว่า นิบาต แปลว่า ที่รวม          ๑๔/ ๘๖๙๓
            ๒๕๗๘. ทุกขกิริยา  โดยรูปคำแปลว่า การกระทำกิจที่ทำได้โดยยาก โดยความ ได้แก่ การกระทำความเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ        ๑๔/ ๘๖๙๔
            ๒๕๗๙. ทุกัง , กด - ปลา  อยู่ในวงศ์ปลากดทะเล ซึ่งไม่มีเกร็ด มีหนวดยาว รูปร่างค่อนข้างยาว ยาวราว ๕๐ ซม. ปลาชนิดนี้มีมาก และเป็นสินค้าสำคัญของเมืองไทย ตามปรกติมักจะไปเป็นฝูงใหญ่ จับได้เป็นจำนวนมาก ตามชายฝั่งแต่ไม่สม่ำเสมอ        ๑๔/ ๘๗๐๐
            ๒๕๘๐. ทุงงะ, แช่แป้ง - ปลา  อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน อาศัยอยู่ตามลำธารบนภูเขา ขนาดยาว ๑๒.๕ - ๑๕.๕ ซม.        ๑๔/ ๘๗๐๑
            ๒๕๘๑. ทุ่งช้าง  อำเภอขึ้น จ.น่าน  มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และทิศตะวันออก จดประเทศลาว ภูมิประเทศทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก มีเขาขนานขึ้นไปทั้งสองข้าง ระหว่างกลางเป็นที่ราบลุ่ม ทางใต้กว้าง และค่อย ๆ เรียวขึ้นไปทางทิศเหนือ
                    อ.ทุ่งช้าง เดิมชื่อ อ. และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ทุ่งช้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔         ๑๔/ ๘๗๐๒
            ๒๕๘๒. ทุ่งยั้ง  เคยเป็นชื่อเมืองเก่า ปรากฎในพงศาวดารเหนือว่า บาธรรมราช เจ้าเมืองสวรรคโลก เป็นผู้สร้าง และว่าเดิมชื่อ เมืองกำโพชนคร ในกฎหมายเก่าสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง บ่งชื่อเมืองนี้ว่า คู่กับเมืองบางยม เป็นเมืองขึ้นของเมืองสวรรคโลก
                    สมัยสุโขทัย เมืองทุ่งยั้ง ยังเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันขอม ทางด้านตะวันออก
                    ปัจจุบันเมืองทุ่งยั้ง เป็นตำบลขึ้น อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ มีโบราณสถานหลายแห่งคือ เวียงท้าวสามล เวียงเจ้าเงาะ วัดมหาธาตุ และพระแท่นศิลาอาสน์        ๑๔/ ๘๗๐๒
            ๒๕๘๓. ทุ่งสง  อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบสูง ลาดลงสู่แม่น้ำตาปี ทางทิศเหนือ และลาดลงสู่แม่น้ำตรัง ทางทิศใต้ มีภูเขามาก
                    อ.ทุ่งสง เดิมตั้งที่ว่าการที่ ต.ทุ่งสง ต่อมาย้ายมาตั้งที่ ต.ปากแพรก ซึ่งเป็นชุมทางรถไฟสายใต้ และสายแยกไปกันตัง         ๑๔/ ๘๗๐๔
            ๒๕๘๔. ทุ่งเสลี่ยม  อำเภอขึ้น จ.สุโขทัย ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบและป่าไม้
                     อ.ทุ่งเสลี่ยม แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ขึ้น อ.สวรรคโลก ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒         ๑๔/ ๘๗๐๔
            ๒๕๘๕. ทุ่งหว้า  อำเภอขึ้น จ.สตูล มีอาณาเขตทางทิศตะวันออก จดทิวเขาบรรทัด จ.พัทลุง ทางทิศตะวันตก ตกมหาสมุทรอินเดีย ภูมิประเทศทิศตะวันออกเป็นที่ราบสูง เต็มไปด้วยภูเขา ทางด้านทิศตะวันตก และทิศเหนือ เป็นป่าชายเลน
                     อ.ทุ่งหว้า เดิมเป็นที่ตั้ง อ.สุไหงอุเป ต่อมาเมื่อราว พ.ศ.๒๔๖๕ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ทุ่งหว้า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๓ ถูกยุบลงเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ละงู ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖         ๑๔/ ๘๗๐๕
            ๒๕๘๖. ทุ่งใหญ่  อำเภอ ขึ้น จ.นครศรีธรรมราช ภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีภูเขามาก
                    อ.ทุ่งใหญ่ เดิมเป็นกิ่ง อ.ท่ายาง ขึ้น อ.ทุ่งสง ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ในชื่อเดิม และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ทุ่งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔        ๑๔/ ๘๗๐๕
            ๒๕๘๗. ทุน  ความหมายทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง ปัจจัยในการผลิตอย่างหนึ่ง ในบรรดาปัจจัยการผลิตทั้งหลาย อันได้แก่ แรงงาน ที่ดิน รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ทุนและผู้ประกอบการ        ๑๔/ ๘๗๐๖
            ๒๕๘๘. ทุนดรา  เป็นภูมิอากาศแบบหนึ่งของโลก ซึ่งมีอยู่ในเขตเส้นรุ้งสูงใกล้ขั้วโลก ในซีกโลกเหนือ บริเวณที่มีภูมิอากาศแบบนี้ได้แก่ เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรอาร์คติก ชายฝั่งอาร์คติกของอะแลสกา และแคนาดา  ตอนเหนือของเกาะไอซแลนด์ และชายฝั่งของเกาะกรีนแลนด์ ส่วนในซีกโลกใต้จะมีอยู่ตามบริเวณบางเกาะ ในย่านแอนตาร์กติก
                   ในเขตภูมิอากาศแบบทุนดรา มักมีอุณหภูมิเฉลี่ยประจำเดือนต่ำกว่าขีดเยือกแข็งราว ๘ - ๙ เดือน ในรอบหนึ่งปี และอุณหภูมิระหว่างเดือนที่ร้อนที่สุด กับเดือนที่หนาวที่สุดก็แตกต่างกันมาก พื้นดินปกคลุมด้วยหิมะเกือบตลอดทั้งปี มีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นทุกเดือน ฝนตกน้อยคือ น้อยกว่า ๓๗๐ มม. ต่อปี และมักตกในฤดูใบไม้ร่วง และฤดูใบไม้ผลิ
                    พืชพันธุ์ธรรมชาติ ในเขตภูมิอากาศทุนดรา แบ่งออกเป็นสามประเภท ได้แก่ ทะเลทรายทุนดรา อยู่ในเขตติดต่อกับทุ่งน้ำแข็ง อุณหภูมิต่ำกว่า ๕ ํ ซ. ไม่มีพืชขึ้น ประเภทที่สอง ได้แก่ ทุ่งหญ้าทุนดรา อุณหภูมิของเดือนที่ร้อนที่สุดอยู่ระหว่าง ๔.๔๕ ํซ. ถึง ๑๐ ํ ซ. มีหญ้ามอส และตะไคร่น้ำไลเคน ขึ้นได้ ประเภทที่สาม ได้แก่ ไม้พุ่มทุนดรา อยู่ในเขตอบอุ่นกว่าสองประเภทแรก พืชที่ขึ้นเป็นไม้พุ่มเล็ก ๆ หรือสนขนาดเล็ก
            ๒๕๘๙. ทุนทรัพย์  หมายถึง ทุนทำการของกิจการ คือ "สินทรัพย์ หมุนเวียน" ที่มากกว่า "หนี้สินหมุนเวียน" ทุกขณะ
                     สินทรัพย์หมุนเวียน คือ เงินสด และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่อาจเปลี่ยนหรือหมุนเวียนเป็นเงินสดได้ ภายในระยะเวลาที่ดำเนินการ โดยปรกติ ซึ่งมักถือเอาระยะเวลาหนึ่งปีเป็นเกณฑ์
                     หนี้สินหมุนเวียน หมายถึง หนี้สินหรือพันธะทั้งหมดที่เกิดจากการดำเนินงานตามปรกติ และครบกำหนดชำระภายในรอบระยะเวลา การดำเนินงานตามปรกติของกิจการ และหนี้สิน หรือพันธะอื่น ซึ่งจะถึงกำหนดชำระภายในระยะเวลาหนึ่งปี        ๑๔/ ๘๗๐๘
            ๒๕๙๐. ทุพภิกขันดรกัป  มีคำนิยามว่า "ระยะเวลาที่กำหนดไว้ว่า เป็นตอนที่ขาดแคลนอาหาร คู่กับสัตถันดรกัป คือ ระยะเวลาที่ฆ่ากันไม่หยุดหย่อน "จัดเป็นช่วงเวลาหนึ่งของอันตรกัป"         ๑๔/ ๘๗๐๘
            ๒๕๙๑. ทุรบท - ท้าว  เป็นชื่อผู้ครองแคว้นปัญจาละ ในเรื่องมหาภารตะของอินเดีย เป็นบิดาของนางเทราปที (กฤษณา) เป็นผู้ได้สู้รบขับเคี่ยวกับกษัตริย์ปาณฑพทั้งห้า โดยบัญชาของโทรณาจารย์ (ดู เทราป ที่ - ลำดับที่ ๒๕๘๙ ประกอบด้วย)        ๑๔/ ๘๗๐๙
            ๒๕๙๒. ทุรโยชน์  เป็นชื่อของกษัตริย์ฝ่ายตรงข้ามกับกษัตริย์ปาณฑพ ในสงครามกุรุเกษตรในเรื่องมหาภารตยุทธ เป็นโอรสของท้าวธฤตราษฎร (กษัตริย์บอด) เป็นลูกผู้พี่ของกษัตริย์ปาณฑพทั้งห้า (ดู เทราปที - ลำดับที่ ๒๕๘๙ ประกอบด้วย)        ๑๔/ ๘๗๑๒
            ๒๕๙๓. ทุรวาส  เป็นชื่อฤาษีสำคัญ ผู้ "นุ่งห่มปอน"  เป็นคนโทโสร้าย เป็นต้นเหตุแห่งกุรมาวตาร ในเรื่องนารายณ์สิบปาง เมื่อใดใครทำให้ขัดใจ แม้เล็กน้อยก็มักจะสาปเสียทันที ครั้งหนึ่งพระกฤษณ์ได้นิมนต์ฤษีทุรวาสฉัน แต่ลืมเช็ดเศษอาหารที่ได้ตกเปื้อนเท้าฤษีตนนั้น ฤษีโกรธจึงทำนายว่า พระกฤษณ์จะตายโดยอาการเลวทราม เป็นการแช่งให้พระกฤษณะ ต้องตายด้วยมือพรานผู้หนึ่ง        ๑๔/ ๘๗๑๘
            ๒๕๙๔. ทุเรียน - ต้น  เป็นพันธุ์ไม้ผล ที่ปลูกเก็บผลบริโภคกันมากมายทั่วทั้งภาคเอเชียอาคเนย์ มีหลายพันธุ์ต่างกันตามลักษณะ เป็นต้นไม้ใหญ่ดอกออกเป็นกระจุกตามกิ่ง ผลมีหนามแข็งเต็มทั่วทั้งลูก มองเห็นเป็นพู ๆ ห้าพูด้วยกัน ภายในมีเมล็ดซึ่งมีเนื้อเยื่อหุ้มอยู่ เนื้อนี้ใช้บริโภค มีรสหวานมัน และมีกลิ่น          ๑๔/ ๘๗๑๙
            ๒๕๙๕. ทุษยันต์  เป็นกษัตริย์จันทรวงศ์ สกุลโปรพ ในเรื่องศกุนตลา ครองนครหัสตินปุระ เป็นพระสวามีนางศกุนตลา เป็นพระราชบิดาพระภรต จันทรวงศ์ ผู้เป็นปฐมจักรพรรดิ์ เป็นตัวเอกในละครเรื่อง ศกุนตลา ของกาลิทาส         ๑๔/ ๘๗๒๐
            ๒๕๙๖.  ทู - ปลา  อยู่ในวงศ์ปลาอินทรีย์ มีเกล็ดละเอียด ปลาสกุลนี้ว่ายน้ำเก่ง ในอ่าวไทยมีพอแยกออกเป็นสองชนิดคือ
                    ๑. ปลาทู  มักอยู่รวมกันเป็นฝูง ตามชายฝั่งทะเล เคยมีข่าวว่าเมื่อว่างไข่ที่เกาะไหหลำ เมื่อถึงฤดูลมหนาวพัดเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งในเวลานั้นจะมีเรือสำเภาจากจีนเข้ามา กระแสน้ำก็จะพัดพาปลาตัวเล็ก ๆ จากเกาะไหหลำ เข้าสู่อ่าวไทย และแตกออกเป็นสองสาย ตรงแหลมมลายูตอนตรังกานู สายหนึ่งแยกออกทางซ้ายมือ  ส่วนอีกสายหนึ่งแยกออกทางขวามือ กระแสน้ำไหลเลาะตามฝั่ง ผ่านสุราษฎรธานี ขึ้นมาสู่อ่าวไทย ที่ท่าจีน สมุทรปราการ และชลบุรี เป็นต้น
                    ๒. ปลาทูหัวโม่ง  มีขนาดใหญ่กว่าประเภทแรก ตัวยาวประมาณ ๒๕ ซม. พบที่ จ.ระยอง เป็นส่วนใหญ่
                    มีปลาอีกชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า "ปลาทูนา" ในเมืองไทยมีอยู่ด้วยกันสองสกุล ที่จัดอยู่ในวงศ์ปลาโอ อยู่ตามทะเลเขตอบอุ่น มีขนาดโตมาก พบอยู่ในอ่าวไทยตอนใน
                    นอกจากนี้ ยังมีปลาทุกัง ซึ่งมีที่มาจากภาษามลายู เฉพาะปลาทูน้ำจืด คงเป็นคำกลางใช้เรียกปลา ซึ่งมีรูปร่างคล้ายปลาทู จึงเรียกว่า ปลาทูน้ำจืด        ๑๔/ ๘๗๒๑
            ๒๕๙๗. ทูต ๑ - กบ  เป็นกบใหญ่ หรือกบยักษ์ ก็เรียก มีอยู่มากมายหลายชนิด มีขนาดยาว ๒๗ ซม. น้ำหนัก ๑.๖ กก. รูปร่างเหมือนกบทั่วไป มีเสียงร้องค่อนข้างดังมาก         ๑๔/ ๘๗๒๔
            ๒๕๙๘. ทูต ๒  ได้แก่ บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทางการให้เป็นผู้แทนของประมุข หรือรัฐบาลของตน ในการติดต่อเจรจากับรัฐบาลต่างชาติ
                    การส่งทูตไปติดต่อเจรจากันนั้น มีมาแต่โบราณกาลแล้ว แต่การส่งทูตไปประจำอย่างถาวรนั้น เริ่มขึ้นโดยรัฐต่าง ๆ ในอิตาลี เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และแพร่หลายทั่วยุโรปในระยะต่อมา พร้อมกันนั้นก็มีการพัฒนาระเบียบแบบแผนขึ้น ซึ่งถือปฎิบัติเป็นสากลในปัจจุบัน เช่น การใช้กิริยาวาจาที่สุภาพต่อกัน
                    ระเบียบแบบแผนในการทูต ที่สำคัญ ได้แก่ พิธีทางการทูต อภิสิทธิและสิทธิคุ้มกัน และการไม่แทรกแซงในการกิจการภายใน
                     หน้าที่และบทบาทของทูต  ที่สำคัญที่สุดคือ การติดต่อเจรจากับอีกรัฐบาลหนึ่ง เพื่อให้เกิดการตกลงที่จะสนองผลประโยชน์ของประเทศ ตามนโยบายที่รัฐบาลของตนได้วางไว้ นอกจากนั้น ทูตยังมีหน้าที่สร้างภาพลักษณ์และความรู้สึกที่ดีต่อรัฐบาล และประเทศของตน การดูแลพิทักษ์คนในชาติของตน ที่พำนักอยู่ในประเทศที่ตนประจำอยู่ รวมทั้งการรายงานสถานการณ์ในประเทศนั้น ไปยังรัฐบาลของตน
                     การทูตไทย  ประวัติการทูตไทย เป็นเรื่องของความพยายามที่จะรักษาเอกราช และความมั่นคงของประเทศ  ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของการทูตไทย ที่ช่วยรักษาเอกราชของประเทศมาได้คือ ความยืดหยุ่นหรือการดำเนินนโยบายแบบลู่ลม โดยพร้อมที่จะปรับตัวและนโยบายให้เข้ากับสถานการณ์         ๑๔/ ๘๗๒๔
            ๒๖๙๙. ทูษณ์  เป็นชื่อพญายักษ์ ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นน้องร่วมครรภ์กับทศกัณฐ์ เกิดด้วยนางรัชฎา ผู้เป็นมเหสีคนที่ห้าของท้าวลัสเตียน มีพี่น้องร่วมครรภ์เดียวกันหกตน ทูษณ์ เป็นองค์ที่ห้า ครองกรุงจารึก แคว้นชนบท เมื่อทราบข่าวว่าพญาขร ผู้พี่ชายถูกพระรามฆ่า ก็ยกทัพไปรบพระราม ถูกศรพระรามตาย         ๑๔/ ๘๗๓๑
            ๒๖๐๐. เทคโนโลยี  เราอาจให้ความหมายของคำนี้อย่างกว้าง ๆ ว่า "วิทยาการ" หรือ "วิชาความรู้" ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทำ สร้างประดิษฐ์หรือผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์
                เทคโนโลยีอาจนับได้ว่า มีมาแต่โบราณ วิทยาศาสตร์ซึ่งเริ่มเมื่อประมาณ ๓๕๐ ปีมานี้ และเพียงร้อยปีที่แล้วมานี้ ที่วิทยาศาสตร์เริ่มให้ประโยชน์อย่างมากทางเทคโนโลยี ปัจจุบันเทคโนโลยีแทบทุกชนิด ได้ใช้หรืออาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์         ๑๔/ ๘๗๓๒
            ๒๖๐๑. เทนนิส  เป็นกีฬาอย่างหนึ่ง ซึ่งเล่นกันเป็นที่แพร่หลายทั่วโลก อาจจัดให้เล่นทั้งกลางแจ้งและในร่ม คำว่า เทนนิส มีความเข้าใจเป็นสองอย่างคือ
                   ๑. ลอนเทนนิส  หรือเทนนิส ที่เรียกกันโดยทั่วไป เป็นการเล่นกลางแจ้ง
                   ๒. เทนเบิลเทนนิส หรือปิงปอง  เป็นการเล่นในร่ม
                   ลอนเทนนิส  เป็นกีฬาที่เล่นข้างหนึ่งคน หรือสองคน โดยใช้ไม้แร็กเกตตีลูกบอลกลมข้ามตาข่าย เล่นข้างละคนเรียกว่า ประเภทเดี่ยว เล่นข้างละสองคน เรียกว่า ประเภทคู่ การเล่น จะเล่นบนพื้นเรียกว่า คอร์ต แบ่งกึ่งกลางมีตาข่ายขึง แต่ละครึ่งของสนามแบ่งออกเป็นสองแดน ซ้ายกับขวา ผู้เล่นพยายามตีลูกไปยังฝ่ายตรงข้าม และเมื่อฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถตีลูกกลับได้ หรือตีลูกออกก็เสียแต้ม
                    เชื่อกันว่า กีฬาเทนนิสได้เริ่มเล่นมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยเล่นกันในรชวงศ์ของประเทศฝรั่งเศส ใช้มือตีลูกบอลข้ามเชือก ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ได้เปลี่ยนจากการใช้มือ มาเป็นใช้ไม้แร็กเกตตี
                   เทเบิลเทนนิส  (ปิงปอง)  เริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๓ ใช้เล่นกับพื้นโต๊ะ เล่นด้วยลูกกลมทำด้วย เซลลูลอย ใช้ไม้ตีเรียกว่า แร็กเกต เหมือนกัน วิธีเล่นใช้แร็กเกตตีลูกข้ามตาข่าย จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะทำเสีย ก็นับเป็นคะแนนได้ การเล่นมีทั้งประเภทเดี่ยว และประเภทคู่          ๑๔/ ๘๗๓๒
            ๒๖๐๒. เทพ  เป็นชื่อตำแหน่งพระราชาคณะ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดิน พระราชทานแก่พระภิกษุผู้บริหารหมู่คณะสงฆ์ ฝ่ายพระพุทธศาสนา
                    คำว่า "เทพ"  เป็นเครื่องกำหนดชั้นของพระราชาคณะ นับแต่สมเด็จพระราชาคณะลงมา ชั้นเทพเป็นชั้นที่สี่ ในจำนวนหกชั้น พระราชาคณะชั้นเทพ เพิ่งมาปรากฎในสมัยอยุธยา พระราชาคณะชั้นนี้มีราชทินนามกำกับ คำว่า เทพ โดยเฉพาะอีก เช่น พระเทพกวี พระเทพโมลี พระเทพมุนี และเพิ่มพระเทพเมธี ขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่งในรัชกาลที่ห้า ประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๗         ๑๔/ ๘๗๓๔
            ๒๖๐๓.  เทพกษัตรี - พระ  เป็นพระราชธิดาองค์ที่สอง ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย
                    พระชัยเชษฐา พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต หลังจากถูกพม่าตีเมืองเวียงจันทน์ได้ และกวาดต้อนผู้คนรวมทั้งพระมเหสี ไปยังกรุงหงสาวดี จึงได้ให้ทูตเชิญพระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ขอพระราชทานพระเทพกษัตรีไปเป็นมเหสี แต่กองทัพพม่าชิงพระเทพกษัตรี ระหว่างเดินทางไปเวียงจันทน์ไปได้         ๑๔/ ๘๗๓๖
            ๒๖๐๔. เทพทาโร - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง ๔๐ เมตร ใบเดี่ยวเรียว สลับรูปรี ป้อม ยาว ๕ - ๘ ซม. กว้าง ๓ - ๕ ซม. ดอกเล็กสีขาว หรือเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อเรียว ๆ ตามง่ามใบ ผลรูปกลมรี
                    เนื้อไม้ละเอียดสีชมพู แกมน้ำตาล มีกลิ่นหอมน้ำหนักเบา ใช้ในการก่อสร้างภายใน และหีบศพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ทางการได้กำหนดให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ห้ามมิให้ตัดฟันนำออก เว้นแต่จะได้อนุมัติเป็นกรณีพิเศษ         ๑๔/ ๘๗๓๙
            ๒๖๐๕. เทพธิดาราม - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ภายในกำแพงพระนคร ถนนมหาไชย แขวงสำราษฎร์  เขตพระนคร
                    วัดเทพธิดาราม เดิมคงเป็นวัดราษฎร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรด ฯ ให้สถาปนาวัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง ซึ่งสร้างจากวัดเก่าเดิม เสร็จในปี พ.ศ.๒๓๘๒ เมื่อเสร็จแล้วได้เสด็จ ฯ มาในพิธีผูกพัทธสีมา และพระราชทานนามวัดว่า วัดเทพธิดาราม ด้วยทรงมีพระราชดำริจะเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
                    ถาวรวัตถุที่สร้างในวัดนี้ มีอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ การก่อสร้าง และเครื่องประดับเป็นศิลปะแบบจีน
                    มีกุฏิหลังหนึ่ง ที่คณะ ๗ ข. เป็นกุฎิที่สุนทรภู่ กวีเอกของไทย เคยมาจำพรรษาอยู่ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๓ - ๒๓๘๕         ๑๔/ ๘๗๔๐
            ๒๖๐๖. เทพนม, เทพประนม  มีคำนิยามว่า "ชื่อรูปหรือลาย มีเทวดาประนมมือ, ชื่อท่ามวยท่าหนึ่ง, ชื่อท่ารำท่าหนึ่ง
                    ชื่อรูปหรือลาย มีเทวดาประนมมือ จะเป็นการเขียนเพียงครึ่งองค์ หรือเต็มองค์ ถ้าเป็นแต่เฉพาะโดด ๆ ก็เรียก "ภาพเทพนม"  แต่ถ้าประกอบลวดลายเข้าเป็นทรงพุ่มเมื่อใด ก็เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ลายพุ่มข้าวบิณฑ์เทพนม" ถ้าเป็นภาพเขียนทั้งองค์ในท่านั่งประนมมืออยู่ตามผนัง ภายในพระอุโบสถหรือหอพระ โดยเขียนนั่งเรียงกันเป็นแถวเรียกว่า "เทพชุมนุม" ถ้าเป็นภาพเทพนมท่ายืนที่บานหน้าต่างพระอุโบสถ พระที่นั่ง หอพระ หอไตร อันหมายถึงเทพารักษ์ ซึ่งมีหน้าที่อภิบาลรักษาสถานที่ หรือปูชนียวัตถุนั้นเรียกว่า "เทพนมทวารบาล"
                    ชื่อท่ามวยท่าหนึ่ง หมายถึงนักมวยไทย (รำไหว้ครู และชกแบบมวยไทย) ก่อนจะเริ่มการชกมวยแบบไทย ในการไหว้ครูนี้มีท่ารำเทพนมของท่ามวยด้วยท่าหนึ่ง
                    ชื่อท่ารำท่าหนึ่ง หมายถึงรำแม่บทของโขน ละครไทย ในกระบวนท่ารำหลายท่า         ๑๔/ ๘๗๔๓
            ๒๖๐๗. เทพฤาษี  เป็นฤาษีพวกหนึ่งในจำนวนฤาษีสี่เหล่า ที่จำแนกไว้ในศาสนาพราหมณ์ และในวรรณคดีสันสกฤตคือ มหาฤาษี ราชฤาษี เทพฤาษี และพรหมฤาษี
                   เทพฤาษี เป็นฤาษีที่จัดว่าสูงสุดโดยชาติกำเนิด กล่าวคือเป็นเทพมาตั้งแต่เกิด แล้วบำเพ็ญพรตถือเพศเป็นฤาษีภายหลัง แม้พระศิวะก็เป็นเทพฤาษี
                    เทพฤาษี รุ่นเก่าแก่ที่สุดนับย้อนไปถึงสมัยพระเวทคือ พระพฤหัสบดีถือว่าเป็นเทวปุโรหิตของทวยเทพคู่กับพระอัคคี จนถึงสมัยมหากาพย์ และปราณะจึงกลายเป็นฤาษีโดยสมบูรณ์ เทพฤาษีแต่ยุคพระเวทคู่เคียงกับพระพฤหัสบดีคือ พระศุกร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของพวกอสูรทั้งมวล ส่วนพระพฤหัสบดีเป็นอาจารย์ของทวยเทพทั้งหลาย         ๑๔/ ๘๗๕๐
            ๒๖๐๘. เทพสตรี - ท้าว  เป็นนามบรรดาศักดิ์วีรสตรีไทยท่านหนึ่ง มีนามเดิมว่าจันทร์ เป็นภริยาพระยาถลางภูธร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เป็นที่รู้จักในนามคุณหญิงจันทร์ ท่านมีความดีความชอบในราชการ ด้วยการเป็นหัวหน้าร่วมกับกรมการเมืองถลาง ต่อสู้ศึกพม่าที่ยกมาตีเมืองถลาง เมื่อเสร็จงานพระราชสงครามครั้งนี้แล้ว ท่านได้รับโปรปดเกล้า ฯ ให้เป็นท้าวเทพสตรี         ๑๔/ ๘๗๕๑
            ๒๖๐๙. เทพศิรินทราวาส - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ในแขวงเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบ กรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงสร้างอุทิศถวายสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชชนนี พระบรมราชชนี เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙         ๑๔/ ๘๗๕๓
            ๒๖๑๐. เทพอัปสร  โดยรูปคำแปลว่านางฟ้า เกิดเป็นคู่บุญบารมีของเทพบุตร เทพธิดา และเกิดเป็นหมู่พร้อมกัน ผู้ที่ได้ทำบุญกุศลไว้ในมนุษย์โลก ท่านว่ามีวิมานผุดรออยู่ในเมืองฟ้าแล้ว นางเทพอัปสรก็เกิดพร้อมกับวิมานนั้น และเฝ้าวิมานไว้คอยท่าคนที่ทำบุญ ซึ่งจะเป็นเจ้าของวิมานนั้น นางเทพอัปษรนี้เกิดเป็นคู่บุญบารมีของเทพบุตรเทพธิดาและเกิดเป็นหมู่พร้อมกัน        ๑๔/ ๘๗๕๘
            ๒๖๑๑. เทพา ๑  อำเภอขึ้น จ.สงขลา มีอาณาเขตทิศเหนือ และทิศตะวันออก ตกทะเลอ่าวไทย ภูมิประเทศตามชายทะเลตอนทิศตะวันออกเป็นที่ราบทำนาได้ ตอนเหนือเป็นที่สูง ทางใต้และทางตะวันตกเป็นที่สูงมีป่า และเขาโดยมาก
                    อ.เทพาเดิมเป็นเมืองขึ้นเมืองปัตตานี ต่อมาถูกยุบเป็นอำเภอ เมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล         ๑๔/ ๘๗๕๙
            ๒๖๑๒. เทพา ๒ - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง และมีขนาดใหญ่กว่าปลาอื่นในเมืองไทย เท่าที่สำรวจพบมีขนาดยาว ๓ เมตร มีขนาดใกล้เคียงกับปลาบึกของแม่น้ำโขง         ๑๔/ ๘๗๖๐
            ๒๖๑๓. เทพี - ต้น  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ลำต้นเป็นเถาใหญ่ ตามกิ่งก้าน มีหนามแหลมปลายงองุ้ม ใบเป็นแบบใบประกอบสองชั้น ยาว ๒๐ - ๓๐ ซม. ดอกออกตามยอดหรือตามง่ามใบ ตอนปลาย ๆ กิ่ง เป็นช่อกลมยาว ๑๔ - ๒๒ ซม. มีดอกดกสีเหลืองอ่อน ๆ กลิ่นหอม ผลเป็นฝักแบน ๆ มีปีกบางยาวหนึ่งปีก         ๑๔/ ๘๗๖๒
            ๒๖๑๔. เทพี ๒  มีคำนิยามว่า "เรียกหญิงที่นำหน้าที่โปรยพืชธัญญาหารในพิธีแรกนาว่านางเทพี"
                    เทพีในพิธีแรกนา เริ่มต้นมีการกำหนดจำนวนจริงจังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลบจอมเกล้า ฯ พระองค์ได้โปรดให้มีนางเเทพีขึ้นด้วยสี่คน นางเทพีแรกนาขวัญมีหน้าที่นั่งรับศีล ฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ อยู่ในพระฉากหลังพระแท่น พร้อมกับพระยาแรกนา         ๑๔/ ๘๗๖๓
            ๒๖๑๕. เทโพ - ปลา  เป็นปลาอยู่ในสกุลเดียวกับปลาเทพา และในวงศ์ปลาสวาย ได้ตั้งชื่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๙ ได้กระจายพันธุ์อยู่ตามลำน้ำเจ้าพระยา และเขตติดต่อกับลุ่มน้ำนี้         ๑๔/ ๘๗๖๗
            ๒๖๑๖. เทราปที  เป็นชื่อเจ้าหญิงองค์หนึ่งในมหากาพย์เรื่องมหาภารตะของอินเดีย นามจริงคือ "กฤษณา" ซึ่งแปลว่าดำ เพราะนางมีผิวคล้ำ แต่มีความงามยอดยิ่งชื่อเทราปที แปลว่าธิดาธิดาแห่งท้าวทุรบท ท้าวทุรบทแห่งแคว้นปัญจา และให้พราหมณ์ทำพิธีชุบลูกให้เแก่พระองค์ บังเกิดเป็นกุมารองค์หนึ่งขึ้นกลางกองไฟ พระองค์รับมาเป็นโอรส ต่อมาเกิดกุมารีขึ้นกลางเวที พระองค์ให้นามว่าเทราปที นอกจากนี้นางยังได้นามอื่น ๆ อีกหลายนาม และเมื่อเวลาปลอมตนเป็นนางพนักงานของราชินีแห่งแคว้นจิราฎใช้นามว่า "ไสรินธรี"
                    เมื่อนางเจริญวัยถึงคราวควรจะมีคู่ ท้าวทุรบทได้ประกาศพิธีสยุมพรให้แก่นาง โดยเชิญหน่อกษัตริย์ทั้งหลายมาประชุมแข่งขัน แสดงฝีมมือยิงธนู ปรากฎว่าเจ้าชายอรชุน ผู้เป็นเจ้าองค์หนึ่งในหมู่เจ้าชายปาณฑพห้าองค์ได้ชัยชนะ จึงได้รับเลือกให้เป็นสามีของนางเทราปที เมื่อพานางกลับมายังตำหนักในป่า อันเป็นที่หลบภัยของเจ้าชายทั้งห้าและมารดา อรชุนได้ทูลพระนางกุนดี ผู้เป็นพระมารดาว่าตนได้ลาภมา พระนางกุนดีจึงตรัสว่า "จงแบ่งกันระหว่างพี่น้องเถิด" เลยเกิดมีปัญหา ฤาษีวยาสต้องมาจัดการให้เรียบร้อย ตกลงนางจำต้องมีสามีทั้งห้าคน แต่นางก็รักอรชุนมากว่าคนอื่น
                    เมื่อยุธิษเฐียร แพ้พนันสกาแก่ทุรโยชน์ เทราปทีต้องตกเป็นทาสของผู้ชนะถูกประจาน และถูกทำให้อับอาย ในที่สุดท้าวธฤตราษฎร์ราชาพระเนตรบอด ผู้เป็นพระชนกของทุรโยชน์ต้องเข้ามาไกล่เกลี่ย โดยให้เนรเทศเจ้าปาณฑพทั้งห้า กับนางเทราปทีไปอยู่ป่ามีกำหนด ๑๒ ปี และในปีที่ ๑๓ ให้ซ่อนตัวมิให้ใครจำได้ พ้นจากนั้นแล้ว จึงให้กลับมาเอาบ้านเมืองคืน
                    เมื่อครบ ๑๓ ปี เจ้าชายปาณฑพกับนางเทราปนีกลับบ้านเมือง ทุรโยชน์ไม่ยอมคืนเมืองอินทรปรัสถ์ให้ จึงเกิดสงครามใหญ่ระหว่างฝ่ายเการพ (ทุรโยชน์กับพวกพ้อง) กับฝ่ายปาณฑพ เป็นมหาสงครามรบกัน ๑๘ วัน และฝ่ายเการพเเป็นฝ่ายปราชัย
                    ในบั้นปลายแห่งชีวิต กษัตริย์ปาณฑพทั้งห้า และนางเทราปที ยุธิษเฐียรได้มอบราชสมบัติให้เจ้าชายปรีกษิตครอบครอง (หลานอรชุน) แล้วออกเดินป่าพร้อมด้วยภราดาทั้งสี่ และเทราปที มีสุนัขติดตามไปด้วยตัวหนึ่ง มุ่งสู่ภูเขาหิมาลัย เพื่อไปสู่สวรรค์ของพระอินทร์ ระหว่างทางทุกคนทะยอยกันล้มตายไปหมด เหลือแต่ยุธิษเฐียรเดินทางไปถึงประตูสวรรค์ พร้อมกับสุนัขตัวนั้น ซึ่งปรากฎภายหลังว่าเป็นธรรมเทพ (ลูกพี่ลูกน้อง)          ๑๔/ ๘๗๖๙
            ๒๖๑๗. เทวกี  เป็นราชธิดาของราชาเทวะ และมีศักดิ์เป็นน้องสาวของพญากงส์ โอรสของอุครเสน แห่งนครมถุรา พญากงส์ คือ อสูรกาลเนมิ มาเกิดเป็นคนโหดเหี้ยมทารุณ และไม่นับถือพระวิษณุ ได้แย่งราชสมบัติจากบิดาของตน แล้วคบพวกอสูรชั่วร้าย ทำความเดือดร้อนแก่คนทั้งหลาย บรรดาเทพจึงพากันไปอ้อนวอนพระวิษณุ ขอให้อวตารลงไปปราบพญากงส์ และพรรคพวก พระวิษณุโปรดให้พระอทิติเทพมารดร ชายาพระกัศยปฤษีเทพบิดร ลงไปเกิดเป็นนางเทวกี เพื่อจะได้เป็นมารดาของพระองค์ ในคราวอวตารไปเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อจะปราบพญากงส์
                    เมื่อนางเทวกี เจริญวัยได้เป็นชายาของวสุเทพ ผู้เป็นเจ้าชายเผ่ายาทพ แห่งจันทรวงศ์ แต่พระองค์ไร้ฝีมือทางอาวุธ ต่อมาพญากงส์ทราบว่าลูกของนาวเทวกี จะเป็นผู้ฆ่าตนเสีย จึงตกใจและโกรธแค้น จะฆ่านางเทวกีแต่วสุเทพ ขอชีวิตนางไว้ โดยสัญญาว่าเมื่อไรนางคลอดบุตร ตนจะเอาลูกของนางมาให้พญากงส์ฆ่าแทน
                    ต่อมานางเทวกีคลอดบุตรรวม ๖ คน พญากงส์ก็เอาไปฆ่าเสียสิ้น เมื่อนางตั้งครรภ์บุตรคนที่เจ็ดคือ พระกฤษณะ พระวิษณุก็ทำอุบายจนพญากงส์เอาตัวมาฆ่าไม่ได้ เมื่อพระกฤษณะเจริญวัยขึ้น มีอานุภาพหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ได้กลับมาฆ่าพญากงส์ และประหารอสูรร้าย อันเป็นพวกพญากงส์เสียสิ้น         ๑๔/ ๘๗๗๓
            ๒๖๑๘. เทวดา ๑ - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดสวยงาม ที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลาย ถิ่นเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ แถบลุ่มแม่น้ำอเมซอน และออริโนโด
                    ลักษณะทั่วไปของปลาเทวดาคือ มีลำตัวแบนข้างมาก ครีบหลัง และครีบก้นแผ่ตัวสูง ครีบท้องมีก้านครีบยื่นออกไปเส้นยาวมาก ครีบหางตัดตรง ลำตัวมีสีผิดกันไปตามพันธุ์ โดยปรกติเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ขนาดโตเต็มที่ยาว ๑๒ .๕ - ๑๕ ซม.         ๑๔/ ๘๗๗๖
            ๒๖๑๙. เทวดา ๒   มีคำนิยามว่า "หมู่เทพ  พวกชาวสวรรค์"  ผู้เป็นเทวดาคือ ผู้มีแสงสว่างซ่านออกจากตัว ผู้เกิดเป็นเทวดาต้องทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ด้วยใจเลื่อมใสศรัทธา ที่อยู่ของเทวดาเรียกว่า สวรรค์
                    คำว่า "เทวดา"  โดยรูปคำเป็นเพศหญิง แต่โดยความหมายเป็นได้ทุกเพศ โดยปรกติมักหมายถึง เพศชาย ถ้ามุ่งถึงเพศชายใช้ว่า เทวบุตร หรือเทพบุตร ถ้ามุ่งถึงเพศหญิงใช้ว่า เทวธิดาหรือเทพธิดา
                    ในคัมภีร์จูฬนิทเทส ขุทกนิกาย สุตตันตปิฎก แบ่งเทวดาออกเป็นสามประเภทคือ
                    ๑. สมมติเทพ ได้แก่ พระราชา พระเทวี และพระกุมาร
                    ๒. อุปปัติเทพ ได้แก่ เทวดา ชาวสวรรค์
                    ๓. วิสุทธิเทพ ได้แก่ พระอรหันต์ สาวกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า
                    ส่วนพระพุทธเจ้าเป็นอติเทพ นับเข้าในวิสุทธิเทพ ในพระสูตรหลายแห่งกล่าวถึง ความสูงต่ำของเทวดาไว้ว่า เป็นอำนาจของบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญไว้ต่างกัน         ๑๔/ ๘๗๗๙
            ๒๖๒๐. เทวทัต  เป็นพระภิกษุรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นโอรสของพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งโกลิยวงศ์ ในนครเทวทหะ กับพระนางอมิตา พระภคินีของพระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดา  มีพระภคินีองค์หนึ่งคือ เจ้าหญิงพิมพา หรือยโสธรา ซึ่งได้สมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ
                    หลังจากบรรพชาอุปสมบทแล้ว พระเทวทัตกับพระภิกษุอีกหกรูปได้พักจำพรรษา เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย อยู่กับพระบรมศาสดา ณ อนุปิยอัมพวัน และในระหว่างพรรษานั้น พระภัททิยะได้สำเร็จวิชชาสาม พระอนุรุทธ์ได้ทิพจักษุ ต่อมาได้ฟังมหาปุริสวิตักกสูตร จึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระอานนท์ได้สำเร็จพระโสดาบัน พระภคุ พระกิมพิละ ได้สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนพระเทวทัตได้ฌานสี่ และมีฤทธิ์ขั้นปุถุชน สามารถนิรมิตตน ให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้
                    ต่อมาประมาณแปดปี ก่อนพุทธปรินิพพาน พระเทวทัตได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปยังนครโกสัมพี พร้อมกับเถระผู้ใหญ่ แปดสิบรูป มีพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะ เป็นต้น ปรากฎว่าชาวเมืองพากันนำภัตตาหาร ผ้าและเภสัช ไปถวายพระพุทธองค์ และพระเถระผู้ใหญ่วันละมาก ๆ แต่ไม่มีผู้ใดถามหาพระเทวทัตเลย ทำให้ท่านน้อยใจมาก
                    วันหนึ่ง พระเทวทัตเกิดความคิดว่า ทำไมจึงไม่มีใครรู้จักตนบ้าง จะหาผู้ใดดีให้เป็นผู้อุปัฎฐาก จึงจะมีลาภสักการะเช่นพระเถระรูปอื่น ๆ แล้วก็คิดถึงยุพราช แห่งมคธรัฐ คือ เจ้าชายอชาติศัตรู ราชโอรสพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งขณะนั้นยังทรงพระเยาว์ ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา จึงได้เดินทางไปยังนครราชคฤห์ พอได้โอกาสจึงนิรมิตตน เป็นกุมารน้อย มีงูพิษพันอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แล้วเหาะไปปรากฎตัวบนพระเพลาของเจ้าชายอชาติศัตรู แล้วคลายฤทธิ์กลับเป็นพระภิกษุ เจ้าชายทรงเลื่อมใสในอิทธิฤทธิ์นั้นมาก ถึงกับปวารณาตนเป็นผู้อุปถัมภ์พระเทวทัต และทรงให้สร้างวิหารถวายที่ตำบลคยาสีสะ
                   เมื่อได้รับลาภสักการะและได้รับคำสรรเสริญมาก พระเทวทัตก็หลงลืมตัวเกิดความปรารถนาว่า ต่อไปจะปกครองสงฆ์แทนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องนี้จากพระมหาโมคคัลลานะ จึงตรัสว่าการกระทำของเทวทัตจักปรากฎผลออกมาเอง แล้วตรัสเทศนาเรื่องศาสดาห้าจำพวกให้ฟัง ต่อมาพระพุทธองค์ได้เสด็จไปถึงพระเวฬุวันได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า สักวันหนึ่งพระเทวทัตจักเสื่อมลาภสักการะ และจักเสื่อมจากกุศลกรรมทั้งหลาย และตรัสเปรียบเทียบว่าผลกล้วยย่อมฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่ย่อมฆ่าต้นไผ่ และลูกม้าอัสดรย่อมฆ่าแม่ม้า ฉันใด ลาภสักการะ และสรรเสริญที่เกิดแก่เทวทัตย่อมฆ่าพระเทวทัตฉันนั้น
                    ต่อมาวันหนึ่งพระเทวทัตไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลขอปกครองสงฆ์แทนพระพุทธองค์ โดยอ้างว่าพระพุทธองค์ทรงชรามากแล้ว แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต พระเทวทัตโกรธจัดจึงผูกอาฆาตพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก พระพุทธเจ้าได้ตรัสให้สงฆ์ทำปกาสนียกรรมแก่พระเทวทัต ได้รับสั่งให้พระสารีบุตร เป็นตัวแทนสงฆ์ไปประกาศในกรุงราชคฤห์แทนสงฆ์ ตามความเป็นจริงว่า แต่ก่อนพระเทวทัตเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้กลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใด พูดอย่างใด ไม่พึงเห็นว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเป็นเรื่องเฉพาะตัวพระเทวทัตเท่านั้น
                    พระเทวทัตคิดว่าตนถูกพระพุทธเจ้าทอดทิ้งแน่แล้ว จึงวางแผนจะสร้างความพินาศแก่พระพุทธเจ้า แล้วเข้าไปเฝ้าเจ้าชายอชาติศัตรู ทูลยุยงให้ปลงพระชนม์พระราชบิดา แล้วขึ้นครองราชย์เสียเอง ส่วนตนเองก็จะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า แล้วขึ้นทำหน้าที่แทน เจ้าชายอชาติศัตรู ได้ดำเนินการตามจนเป็นผลสำเร็จ จากนั้นพระเทวทัตก็เริ่มดำเนินการให้คนไปยิงพระพุทธเจ้า แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงดำเนินการขั้นที่สองคือ ขึ้นไปบนเขาคิชกูฎ แล้วกลิ้งก้อนหินให้ตกมาทับพระพุทธเจ้า แต่ไม่เป็นผล เพียงแต่มีเศษหินกระเด็นไปถูกพระบาทพระพุทธเจ้า ทำให้เกิดห้อพระโลหิตขึ้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายที่ติดตามว่า การกระทำดังกล่าวจัดเป็นอนันตริยกรรมคือ บาปหนักยิ่งประการหนึ่ง
                    พระเทวทัตได้พยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าต่อไปอีก โดยให้ช้างนาฬาคีร์ของพระเจ้าอชาติศัตรูที่กำลังตกมัน มาทำรายพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงปราบช้างนั้นได้ ประชาชนผู้ประสบเหตุการณ์ต่างพากันแซ่ซ้องสาธุการ และเลื่อมใสในพุทธานุภาพ ในขณะเดียวกันก็กล่าวโจษขานกันว่า เรื่องนี้พระเทวทัตเป็นตัวการ และตำหนิพระเจ้าอชาติศัตรู ที่ยังบำรุงพระเทวทัตอยู่ พระเจ้าอชาติศัตรูจึงงดการบำรุงพระเทวทัต และชาวกรุงก็ไม่ยอมใส่บาตรให้ด้วย
                    เมื่อเสื่อมลาภสักการะแล้ว พระเทวทัตกับเพื่อคู่ใจอีกสี่รูปก็เที่ยวกล่าวอวดตนให้ประชาชนเลื่อมใส แต่ประชาชนก็มิได้หลงเชื่อ วันหนึ่งพระเทวทัตไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอให้ทรงบัญญัติวัตถุห้าประการคือ ให้ถือการอยู่ป่า ถือการบิณฑบาตร ถือผ้าบังสุกุล ถือการอยู่ตามโคนไม้ และถือมังสวิรัติ เป็นวัตรตลอดชีวิต แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต พระเทวทัตจึงพาคณะเที่ยวโฆษณาชวนเชื่อในกรุงราชคฤห์ว่า วัตถุห้าประการเป็นของดี มีประชาชนหลงเชื่อเป็นจำนวนไม่น้อย พระพุทธองค์ทรงทราบจึงเรียกพระเทวทัตมาตรัสเตือน แต่พระเทวทัตไม่ยอมเชื่อ
                    เช้าวันหนึ่งพระเทวทัตพบพระอานนท์ จึงสั่งให้มากราบทูลพระพุทธเจ้าว่า นับแต่วันนั้นไปท่านจะทำอุโบสถสังฆกรรมแยกจากพระพุทธเจ้า แยกจากสงฆ์ แล้วชักชวนพระภิกษุบวชใหม่ชาววัชชี ๕๐๐ รูป ให้เข้าเป็นพวกและนำไปอยู่ที่วิหารคยาสีสะ กล่าวสอนลัทธิของตนว่า สิ่งที่พระสมณโคดมทำ ไม่ใช่ธรรม สิ่งที่ตนทำเท่านั้นคือ ธรรม
                    เนื่องจากพระภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้น เป็นสานุศิษย์ของพระสารีบุตร พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งให้พระสารีบุตรติดตามาไปนำกลับมา เมื่อพระเทวทัตรู้เข้า ก็ล้มป่วยอยู่เก้าเดือน เกิดสำนึกตน ก่อนตายขอให้ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าขอขมาโทษ แต่เมื่อเดินทางมาถึงหน้าพระเชตุวัน ก็ถูกแผ่นดินแยกตัวพระเทวทัตตกจมลงไป ขณะจมถึงแค่คางได้กล่าวคำสรรเสริญพระพุทธคุณ และขอถึงพระพุทธองค์เป็นที่พึ่ง         ๑๔/ ๘๗๘๓
            ๒๖๒๑. เทวทูต  โดยรูปคำแปลว่า ผู้ที่เทวดาส่งมาหรือส่งไป มีบทนิยามว่า "ชื่อคติแห่งธรรมดาสามประการคือ ชรา พยาธิ มรณะ"
                    คำว่าเทวทูตนี้สันนิษฐานได้เป็นสองนัย นัยหนึ่งเป็นบุคคลาธิษฐานคือ ภาพที่ปรากฎแก่ตาที่สมมติเรียกกันว่าคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย หรือภาพต่าง ๆ ที่ใช้เป็นนิมิตรหมาย  อีกนัยหนึ่งเป็นธรรมาธิษฐาน คือสภาวธรรมที่ได้นามบัญญัติว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือภาพลักษณ์อันปรากฎแก่ใจ ทำให้เกิดความสังเวชสลดใจ ได้สติแล้วตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทำให้ชีวิตมีประโยชน์ควรแก่ภาวะนั้น ๆ            ๑๔/ ๘๗๙๕
            ๒๖๒๒. เทวธรรม  มีบทนิยามว่า "ธรรมสำหรับเทวดา ธรรมสำหรับทำบุคคลให้เป็นเทวดา คือหิริ และโอตคัปปะ ธรรมหมวดนี้ในคัมภีร์ทุกนิบาต อังคุตรนิกาย สุตตันตปิฎก เรียกชื่อว่า ธรรมเป็นโลกบาลคือคุ้มครองโลก" ได้แก่หิริ - ความละอายใจ และโอตตัปปะ - ความเกรงกลัวบาป        ๑๔/ ๘๗๙๗
            ๒๖๒๓. เทวนาครี เป็นชื่ออักษรที่ใช้สำหรับเขียนภาษาสันสกฤต และภาษาอินเดียบางภาษาเช่น ฮินดี บางทีเรียกว่านาครี
                   คำว่านาครี เป็นคำคุณศัพท์มาจากคำนามว่า นคร (หรือนครี) "เมือง" นาครีจึงแปลว่า "เกิดในเมืองเกี่ยวกับเมือง"
                   คำว่าเทวนาครี อาจวิเคราะห์ความหมายได้สองทางคือ "อักษรที่เกิดในเมืองเทวดา อีกษรที่ใช้ในเมืองเทวดา" อีกทางหนึ่งอาจแปลได้ว่า "อักษรแห่งทวยเทพ"
                   อักษรเทวนาครี เป็นอักษรที่วิวัฒนาการจากอักษรพราหมีฝ่ายเหนือ ปรากฎในจารึกเก่าแก่ที่สุดที่ใช้อักษรชนิดนี้ล้วน ๆ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และต้นฉบับตัวเขียนเก่าแก่ที่สุด มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗
                   ตัวเลขที่ใช้ในระบบอักษรเทวนาครี เป็นต้นเค้าของเลขอารบิก ซึ่งพ่อค้าอาหรับได้ถ่ายทอดจากอินเดียไปสู่ยุโรป จนเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายทั่วโลก หลักการเขียนตัวเลขระบบเทวนาครีนี้ เหมือนกับหลักของเลขอารบิกฐานสิบ        ๑๔/ ๘๘๐๑
            ๒๖๒๔. เทวยานี  เป็นชื่อธิดาของพระศุกร์ ผู้เป็นครูของอสูรทั้งปวง นางมีประวัติเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ แห่งจันทรวงศ์ อย่างพิสดาร
                    ในกาลต่อมา นางเทวยานีได้ออกบวช กระทำความเพียรตามภักติมารค มุ่งเฉพาะพระวิษณุ ก็ได้บรรลุความหลุดพ้นในที่สุด         ๑๔/ ๘๘๐๓
            ๒๖๒๕. เทวรูป  คือ รูปของเทวะ หรือ เทพ ที่สร้างขึ้นด้วยการแกะสลัก ปั้นหรือหล่อ ใช้เป็นเครื่องหมายที่ระลึก หรือเป็นตัวแทนของเทพ เพื่อเป็นที่สักการบูชา หรือเซ่นสรวง เทวรูปขนาดเล็ก อาจใช้เป็นเครื่องรางคุ้มกันอันตราย หรือใช้เป็นเครื่องประดับกาย ส่วนขนาดใหญ่ใช้ตั้งบูชาในบ้านเรือนและโบสถ์วิหาร การสร้างหรือประดิษฐ์เทวรูป มีความเป็นมาแสดงวิวัฒนาการ ตามลำดับรวมสี่ขั้นด้วยกันคือ
                     ขั้นที่หนึ่ง  เป็นรูปสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายแทนเทพ เป็นระยะเริ่มแรกที่สุดที่มนุษย์คิดสร้าง สิ่งที่ใช้แทนเทพที่ตนเกรงกลัว และเคารพนับถือ โดยทำเป็นเครื่องหมายง่าย ๆ เช่น ชาวอียิปต์ เมื่อ ๗,๐๐๐ ปี มาแล้ว สมมติเอาเสาหินรูปร่างแปลก ๆ แทนเทพโอสิริส
                     ขั้นที่สอง  สร้างเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่ามีอำนาจ หรือมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวมัน จึงสร้างรูปสัตว์ขึ้นเคารพบูชาแทนองค์เทพ เช่น ชาวอียิปต์โบราณสร้างรูปจรเข้ขึ้น สมมติว่าเป็นองค์เทพซีเบก แม้ในคัมภีร์ไบเบิลตอนแรก ที่เรียกว่า คัมภีร์เดิมของศาสนายิว และศาสนาคริสต์ ก็มีเรื่องเล่าว่า ชาวยิวเคยสร้างรูปลูกวัวทองคำขึ้น เป็นที่เคารพบูชาแทนพระยะโฮวา และสร้างรูปงูทองเหลือง แทนบริวารของพระยะโฮวา
                     ขั้นที่สาม  สร้างเป็นรูปครึ่งสัตว์ครึ่งมนุษย์ ชาวอียิปต์โบราณเชื่อกันว่า เทพรา หรือ อาเมนรา คือ ผู้ให้กำเนิดแก่ราชาและราชินีของอียิปต์  และสร้างเทวรูปอาเมนราขึ้นให้มีกายเป็นมนุษย์ แต่มีศีรษะเป็นนก
                     ขั้นที่สี่ อันเป็นขั้นสุดท้าย แสดงความเจริญสูงสุด ทั้งในด้านความรู้สึกนึกคิด และฝีมือการช่าง เทวรูปจึงมีลักษณะที่เป็นอุดมคติ และเป็นความจริงผสมผสานกันอย่างสนิท ระหว่างความเป็นเทพกับมนุษย์ มนุษย์ได้สร้างเทวรูปขึ้น จากรูปร่างของมนุษย์ แต่ได้เสริมแต่งความงามที่นับว่า เป็นพิเศษแทรกเข้าไว้ด้วยฝีมือช่าง ประกอบด้วยจินตนาการอันสูงส่ง รูปที่ปรากฎจึงมิใช่รูปของมนุษย์ธรรมดา แต่มีสุนทรียะ และศักดิ์เหนือกว่ามนุษย์ รูปของเทพจึงนับเป็นจุดยอดแห่งการสร้างสรรค์ สิ่งที่เป็นตัวแทนของรูปร่าง ทวยเทพให้เข้ากับรสนิยมของมนุษย์ที่มีความเจริญถึงที่สุด
                     เทวรูป ดังกล่าวจะเห็นได้จากเทวรูปต่าง ๆ ของอียิปต์รุ่นหลัง ซึ่งมีรูปร่างเป็นคนโดยสมบูรณ์ แต่มีเครื่องประดับตกแต่งศีรษะเป็นรูปแปลกๆ อันเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นเทพโดยเฉพาะ เช่น ชายหนุ่มสวมรองเท้ามีปีก และถือไม้เท้ามีรูปงู หมายถึง เฮอร์เมส หรือเมอร์คิวรี
                     การสร้างเทวรูปแบบนี้ของกรีก ประมาณว่าเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สอง เป็นต้นมา
                     ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลามไม่มีเทวรูป เพราะพระเจ้าของศาสนาทั้งสองถือว่า มีอยู่เพียงองค์เดียวในสากลจักรวาล และไม่นิยมสร้างรูปใด ๆ ขึ้นแทนองค์พระเจ้า จะมีก็แต่เฉพาะรูปของเอนเจลต่างๆ ซึ่งแปลว่า ทูตสวรรค์ ไม่ใช่พระเจ้า
                     ศาสนาพราหมณ์ของพวกอารยันอินเดีย ก็ไม่เคยมีเทวรูป แต่ในสมัยต่อมาเมื่อล่วงพุทธกาลมาแล้วเล็กน้อย ศาสนาพราหมณ์ได้แปลงรูปเป็นศาสนาฮินดู ความนิยมสร้างเทวรูปจึงมีขึ้น ส่วนศาสนาพุทธ แม้จะมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นครั้งแรก ที่แคว้นคันธาราษฎร์ และนิยมสร้างในสมัยต่อ ๆ มา ไม่ถือว่าเป็นเทวรูปในทรรศนะของชาวพุทธ เพราะพระพุทธเจ้ามิใช่เทพ         ๑๔/ ๘๘๐๘
            ๒๖๒๖. เทวสถาน  เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป บางทีก็เรียกว่า เทวาลัย ถ้าเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะเรียกว่า "โบสถ์พราหมณ์"
                    เทวสถานมีอยู่หลายศาสนา แต่ที่รู้จักกันแพร่หลายในประเทศไทย เป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ เทพเจ้าที่สำคัญยิ่งของศาสนาพราหมณ์ ตามคัมภีร์ปุราณะ มีอยู่สามองค์คือ พระพรหม พระวิษณุ (พระนารายณ์) และพระศิวะ (พระอิศวร)         ๑๔/ ๘๘๑๕
            ๒๖๒๗. เทวะวงศ์วโรปการ - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา  พระองค์ทรงเป็นนักการทูตที่ปรากฎพระนาม เป็นที่ยกย่องอย่างสูงในวงการทูต ตลอดสมัยที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีดกระทรวงการต่างประเทศ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ (พ.ศ.๒๔๒๖ - ๒๔๖๖)  พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ องค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ และเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ทรงเป็นผู้ทูลเสนอให้ตั้งทูตไทยไปประจำอยู่ในราชสำนักต่างประเทศเป็นครั้งแรก ไทยจึงเริ่มตั้งกงสุลขึ้นในอังกฤษเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๒๕ แล้วจึงตั้งในประทศฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ ต่อมาทำให้นานาประเทศเริ่มยกย่องเกียรติยศของประเทศไทย และจัดตั้งราชทูตมาประจำในเมืองไทยเป็นการตอบแทน
                    กรมหมื่นเทวะวงศ์ ฯ ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ได้เสด็จไปร่วมงานฉลองในการที่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ครองราชย์ครบ ๕๐ ปี แทนพระองค์ ในขณะเดียวกันทรงเป็นผู้แทนไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศ สวีเดน ฝรั่งเศส และเยอรมัน เมื่อเสด็จกลับจากยุโรป เมื่อเสด็จถึงญี่ปุ่นได้เป็นผู้เจรจาทำหนังสือแสดงทางไมตรีกับญี่ปุ่น
                    ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ มีการตั้งเสนาบดีสภาขึ้น ๑๒ ตำแหน่ง กรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ ทรงเป็นหัวหน้าเสนาบดี มาทั้งสองรัชกาล ตลอดพระชนมายุ รวม ๓๑ ปี ระหว่างเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ หรือ "เหตุการณ์ที่ปากน้ำ" กรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ ทรงใช้สติปัญญาอันเฉลียวฉลาด พระราชดำริอันสุขุมรอบครอบ ในการเจรจากับผู้แทนฝรั่งเศส แก้ไขสถานการณ์อันตึงเครียดลงได้
                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ  และทรงดำรงตำแหน่งผู้รักษาราชการพระนคร เมื่อไม่ทรงประทับอยู่ เป็นนายกสภาการคลัง นายกกรรมการตรวจร่างประมวลกฎหมาย ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และราชการในพระองค์เป็นประจำ
                    สมเด็จ ฯ กรมพระยาเทวาวงศ์วโรปการ สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ เสด็จดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศเป็นเวลา ๓๘ ปี นานที่สุดเท่าที่เคยปรากฎมาคือ พระองค์ทรงรับราชการสืบเนื่องในสองรัชกาลรวม ๔๙ ปี           ๑๔/ ๘๘๒๔
            ๒๖๒๘. เทวาลัย  (ดูเทวาสถาน - ลำดับที่ ๒๖๒๖)         ๑๔/ ๘๘๓๔
            ๒๖๒๙. เทศบัญญัติ  หมายถึง ข้อบังคับที่เทศบาลตราออกใช้บังคับ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ตราเทศบัญญัติขึ้น เป็นองค์กรที่มีอำนาจลดหลั่นรองลงมา จากอำนาจของสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ เทศบัญญัติจึงมีฐานะต่ำกว่าพระราชบัญญัติ หรือรัฐบัญญัติ
                    สำหรับบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนเทศบัญญัตินั้น สากลนิยมถือกันว่าให้กำหนดได้เพียงโทษปรับ มิให้กำหนดโทษจำคุก ร่างเทศบัญญัติก่อนมีผลใช้บังคับ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หรือตัวแทนของรัฐมนตรีนั้นเสียก่อน โดยปรกติเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เทศบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบแล้วให้ใช้บังคับได้ เมื่อประกาศไว้โดยเปิดเผยที่สำนักงานเทศบาลแล้วเจ็ดวัน         ๑๔/ ๘๘๓๔
            ๒๖๓๐. เทศบาล  มีบทนิยามว่า "ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น" ตามความหมายสากลหมายถึงเมืองหรือนคร ที่มีเอกสิทธิ์บางประการในการปกครองตนเอง ทั้ง ๆ ที่เมืองหรือนครนั้น ๆ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศหรือรัฐและอยู่ในอำนาจปกครองของรัฐบาลกลาง จึงมีผู้เรียกเทศบาลว่า "รัฐบาลท้องถิ่น"
                    ระบบเทศบาล มีการนำมาใช้กันอย่างจริงจังในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ นี้เอง หลักการในเรื่องอำนาจของเทศบาลในโลกเสรีมีอยู่ข้อหนึ่งที่ตรงกันคือ ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับความต้องการของท้องถิ่นเท่านั้น
                    ความเป็นมาของการเทศบาลในประเทศไทย ได้มี พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นกฎหมายว่าด้วยเทศบาลฉบับแรก เทศบาลในประเทศไทยมีสามระดับคือ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล         ๑๔/ ๘๘๓๙
            ๒๖๓๑. เทศมนตรี  คือผู้บริหารงานในท้องถิ่นเป็นตำแหน่งในฝ่ายบริหารของเทศบาล ปฏิบัติตามนโยบายของสภาเทศบาล ตำแหน่งเทศมนตรีนี้เรียกชื่อต่าง ๆ กันในแต่ละประเทศ ตามปรกติเทศมนตรีเป็นสมาชิกของสภาเทศบาล เทศมนตรีมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ตามความหมายของกฎหมายลักษณะอาญา (ประมวลกฎหมายอาญา)         ๑๔/ ๘๘๔๙
            ๒๖๓๒. เท้า  เป็นอวัยวะที่ใช้ยืน เดิน วิ่ง และกระโดด ประกอบด้วยกระดูกทั้งหมด ๒๘ ชิ้นด้วยกัน เรียงตัวประกอบเป็นรูปสะพานโค้ง ขวางจากด้านหัวแม่เท้ามายังส้นเท้า และโค้งขวางจากด้านหัวแม่เท้าไปสู่ด้านนิ้วก้อย ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องรับแรงกระแทกแบบเดียวกับแหนบรถ การที่กระดูกเหล่านี้จะทรงอยู่ในรูปสะพานโค้งดังกล่าวได้ ก็ด้วยมีกล้ามเนื้อ เอ็นและพังผืด หุ้มข้ออีกมากมายเป็นตัวช่วยยึด         ๑๔/ ๘๘๕๑
            ๒๖๓๓. เท้าช้าง - โรค  คืออาการที่มีหนังหนา หยาบคล้ายหนังช้าง และมีขนาดโตขึ้นของวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งมักจะพบบ่อยที่เท้า หรือขาจึงได้ชื่อว่า "โรคเท้าช้าง" หรือ "โรคขาช้าง" ความจริงนอกจากจะเกิดขึ้นกับขาแล้ว ยังอาจเกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนอื่นเช่น ถุงอัณฑะ ปากช่องคลอด เด้านม ฯลฯ ก็ได้ ซึ่งก็รวมเรียกว่า "โรคเท้าช้าง" ทั้งนั้น
                    อาการโรคเท้าช้างนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากมีอาการอุดตันของท่อทางเดินน้ำเหลืองของวัยวะนั้น ๆ ทั้งนี้เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดมีขึ้น ภายหลังจากการที่มีอาการอักเสบเรื้อรัง ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ของต่อมน้ำเหลือง และท่อทางเดินน้ำเหลืองของวัยวะมาก่อน ซึ่งต่อมาจะมีเยื่อพังผืดเกิดขึ้นแทนที่บริเวณอักเสบเหล่านั้น จนทำให้การไหลเวียนของน้ำเหลืองไม่สะดวกและมากขึ้น ๆ จนในที่สุดถึงกับมีการอุดตันเป็นผลให้อวัยวะนั้นบวมโต มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งผิวหนังบริเวณนั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยมีลักษณะหนา หยาบ มองดูคล้ายหนังบริเวณขาช้าง ดังกล่าวมาแล้ว         ๑๔/ ๘๘๕๕
            ๒๖๓๔. เท้ายายม่อม  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้สองชนิดที่พบขึ้นอยู่ในประเทศไทย เป็นพืชล้มลุก หัวหรือ เหง้า มีสัณฐานกลมแบน ใบมีจำนวน ๑ - ๓ ใบ งอกตรงขึ้นจากหัวโคนใบ มีกาบหุ้ม ตัวใบเป็นรูปไข่กลับรูปไข่ หรือรูปไข่ขอบขนาน ดอกขนาน ๖ - ๑๗ มม. ห้อยลง สีเหลืองอ่อน เหลืองแกมเขียว กลีบดอกหนาขอบบาง ผลกลม วัดผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ - ๒.๕ ซม. สีเขียว เมื่อสุกสีเหลือง
                    เนื่องจากหัวมีแป้งมาก ที่เรียกกันว่า แป้งเท้ายายม่อม ใช้เป็นอาหารได้ดี
                    ส่วนอีกชนิดหนึ่ง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๖๐ - ๑๕๐ ซม. ใบเป็นชนิดใบเดี่ยวเรียงเป็นวงรอบ กิ่ง ๓ - ๕ ใบ ตัวใบรูปหอกแคบ ๆ ยาว ๘ - ๒๐ ซม. ช่อดอกออกปลายกิ่ง ยาว ๒๐ - ๓๐ ซม. แยกแขนงสั้น ๆ โดยรอบ ผลกลม สุกสีดำ กล่าวกันว่าใช้ใบสูบแทนกัญชาได้         ๑๔/ ๘๘๕๘
            ๒๖๓๕. เทิง  อำเภอขึ้น จ.เชียงราย มีอาณาเขตทิศตะวันออกจดประเทศลาว ภูมิประเทศเป็นที่ราบ เป็นทุ่งนาบ้าง เป็นป่าบ้าง มีทุ่งกว้างเรียกว่า ทุ่งเทิง
                    อ.เทิง เคยเป็นอำเภอขึ้น อ.เชียงคำ เมื่อครั้งยังขึ้นกับ จ.น่าน ครั้นโอน อ.เชียงคำมาขึ้น จ.เชียงราย จึงยกฐานะกิ่ง อ.เทิง เป็น อำเภอ         ๑๔/๘๘๕๗
            ๒๖๓๖. เทียกากิม  เป็นชาวเมืองจี้จิว มณฑลซัวตัง ประเทศจีน เกิดในปลายสมัยราชวงศ์สุย มีนิสัยห้าวหาญแต่เล็ก ในวัยหนุ่มได้รวบรวมสมัครพรรคพวกหลายร้อยคน ทำหน้าที่ป้องกันตำบลของตนให้ปลอดพ้นจากโจรภัย ต่อมาได้เป็นนายทหารสมุนเอกของหลีมิก หัวหน้าขบถ ๑ ใน ๑๘ คน สมัยนั้น เทียกากิมเป็นผู้มีฝีมือในการรบ ภายหลังหันไปเข้าเป็นฝักฝ่ายกับเห่งซี่ซง หัวหน้าขบถอีกคนหนึ่ง ต่อมาไปสวามิภักดิ์หลีซีมิ้ง เมื่อบิดาของหลีซีมิ้งขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าถังเถาโจ้ว ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ถัง ต่อมาเมื่อหลีซีมิ้งได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ เทียกากิม ได้รับแต่งตั้งจนถึงขั้นเทียบเท่าสมเด็จเจ้าพระยา และมียศทางทหารเป็นจอมพล บุตรของเขาได้เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าถังไท่จง         ๑๔/   ๘๘๕๙
            ๒๖๓๗. เทียน  เป็นชื่อเรียกพืชล้มลุกสกุลหนึ่ง เป็นพืชที่ลำต้นอุ้มน้ำ เปราะ หักง่าย ใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับกันหรือตรงข้ามกัน ดอกสีสด ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ลำต้นอวบ สูงประมาณ ๕๐ ซม.
            ๒๖๓๘. เทียนชาน  เป็นเทือกเขาในเอเชียกลาง ทิศเหนือจดเทือกเขาอัลไต ทิศใต้จดเทือกเขาคุนลุน เทือกเขานี้มีบริเวณอยู่ในรัฐเดอร์กิเซีย ประเทศรัสเซีย และทางตอนเหนือของมณฑลซินเกียงของจีน
                    คำว่าเทียนชาน ในภาษจีนปลว่า "ภูเขาสวรรค์" เพราะเทือกเขานี้สูงมาก ยอดเขาสูงสุดชื่อเดงกรีข่าน อยู่ในตอนกลางของเทือกเขา สูงประมาณ ๗,๒๐๐ เมตร หินที่ประกอบกันเป็นภูเขานี้ส่วนใหญ่เป็นหินแกรนิต นอกจากนี้ยังมีธารน้ำแข็งปกคลุมอีกมาก ป่าไม้บริเวณนี้เป็นป่าสน ต้นสนบางต้น ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๑.๕ เมตร
                    ประชาชนที่อาศัยในบริเวณเทือกเขานี้ ทางด้านประเทศจีนเป็นพวกเร่ร่อน เลี้ยงสัตว์ ทางด้านประเทศรัสเซียเป็นพวกชาวนา และผู้อาศัยในเมือง         ๑๔/ ๘๘๖๑
            ๒๖๓๙. เทียนสิน  เป็นชื่อเมืองอยู่ในมณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน อยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๑๕๐ กม. เนื่องจากใกล้กับที่แม่น้ำหลายสายไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำไห่แล้วไหลลงสู่ทะเลเหลือง เทียนสินจึงเป็นทางผ่านออกสู่ทะเลของกรุงปักกิ่งและเป็นเมืองท่าของเมืองอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจีน รองจากเมืองเซี่ยงไฮ้
                    ในอดีตเมืองเทียนสินเป็นสถานที่ลงนามสนธิสัญญาในปี พ.ศ.๒๔๐๑ ระหว่างจีนฝ่ายหนึ่งกับฝรั่งเศส อังกฤษ รุสเซีย และสหรัฐอเมริกาอีกฝ่ายหนึ่ง สนธิสัญญาฉบับนี้เรียกว่า "สนธิสัญญาเทียนสิน" เป็นเหตุให้จีนต้องเปิดเมืองท่า ๑๑ แห่ง เพื่อการค้ากับต่างประเทศ เทียนสินเคยถูกฝรั่งเศส และอังกฤษยึดครองในปี พ.ศ.๒๔๐๑ และ พ.ศ.๒๔๐๓ เป็นสมรภูมิระหว่างขบถนักมวย และเป็นฐานทัพของทหารอเมริกัน และยุโรปชาติต่าง ๆ ในการบุกกรุงปักกิ่ง ในสมัยต่อมา เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในจีน ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ยึดเมืองนี้ไว้ได้ในปี พ.ศ.๒๔๙๒         ๑๔/ ๘๘๖๒
            ๒๖๔๐. เทียรราชา  (ดูเทียรราชา - ลำดับที่ ๑๙๔๘)         ๑๔/ ๘๘๖๓
            ๒๖๔๑. แทงทวย  เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ หรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑๐ - ๑๕ เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ลักษณะรูปไข่ ขนาดกว้าง ๓ - ๘ ซม. ยาว ๗ - ๑๕ ซม. ดอกออกเป็นช่อยาวที่ยอดหรือใกล้ยอด ดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย แยกกันอยู่คนละต้น ผลกลม มีสามพู ขนาดกว้าง ๕ - ๑๐ ซม. ยาว ๕ - ๗ ซม.         ๑๔/ ๘๘๖๓
            ๒๖๔๒. แทงวิลัย - การเล่น  เป็นการเล่นในงานโสกันต์ เดิมเป็นของผู้ชายเล่น ต่อมาการเล่นแทงวิลัยส่วนมากเล่นเฉพาะผู้หญิง
                    การเล่นใช้คนสองคน แต่งตัวดูลักษณะเหมือนเสี้ยวกางถืออาวุธยาวเป็นทวน หรือหอก วิธีเล่นเอาปลายอาวุธแตะกัน ข้างบนบ้างข้างล่างบ้าง เต้นเวียนไปทางซ้ายแล้วย้ายไปทางขวา เหมือนงิ้วรบกัน แต่งิ้วเคลื่อนไหวเร็วกว่า         ๑๔/ ๘๘๖๔
            ๒๖๔๓. แทตย์  เป็นคำในภาษาสันสกฤตแปลว่า "ลูกของนางทิติ" หรือเหล่ากอของนางทิติ ที่มีความหมายว่า ลูกของนางทิติได้แก่แทตย์รุ่นแรกแท้ ๆ ที่เป็นลูกของนางทิติกับพระทัศยปฤษีเทพบิดร มีอยู่สามตน สองตนแรกเป็นฝาแฝดชายชื่อหิรัณยกศิปุและหิรัณยากษะ น้องคนสุดท้องเป็นหญิงชื่อสิงหิกา
                    หิรัณยกศิปุ ได้รับพระจากพระอิศวรให้ได้เป็นใหญ่ในสามโลกคือสวรรค์ โลกมนุษย์ และบาดาล เป็นเวลาหลายล้านปี มีความกำเริบทะนงตนไม่นับถือพระวิษณุ แต่โอรสชื่อประหลาทกับนับถือบูชาพระวิษณุอย่างเคร่งครัด ในที่สุดพระวิษณุได้อวตารลงมาเป็นนรสิงห์คือ ครึ่งคนครึ่งสิงห์ และฆ่าหิรัณยกศิปุเสีย
                    ส่วนแทตย์ผู้น้องคือ หิรัณยากษะ (หิรันตยักษ์) ได้ม้วนแผ่นดินโลกแล้วหนีลงไปอยู่ใต้มหาสมุทร พระวิษณุต้องอวตารลงมาเป็นหมู ตามไปฆ่าหิรัณยากษะ แล้วเอาเขี้ยวช้อนแผ่นดินโลกให้ขึ้นมาลอยอยู่เหนือน้ำดังเดิม (ดูวราหาวตาร - ลำดับที่... ประกอบ)
                    นางสิงหิกา เป็นชายาของพญาทานพ (อสูรพวกหนึ่งเป็นเหล่ากอของนางทนุกับพระกัศยปฤษ์เทพบิดร) ชื่อวิประจิตติ มีลูกชื่อราหู
                    ในกาลต่อมาพวกแทตย์กับพวกทานพได้แต่งงานกันมากมายมีเผ่าพงศ์วงศ์วานสืบมา พวกนี้จะเรียกว่าแทตย์ก็ได้ ทานพก็ได้           ๑๔/ ๘๘๖๕
            ๒๖๔๔. แทนนิน  เป็นอนุพันธ์ของฟีนอล ไม่มีไนโตรเจนในโมเลกุล เป็นสารที่พบได้มากในส่วนต่าง ๆ ของพืชหลายชนิด
                     แทนนิน มีประโยชน์หลายอย่างเช่น
                     ๑. ป้องกันพืชจากการสลายเน่าได้
                     ๒. ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง
                     ๓. ใช้ทางการแพทย์ได้แก่เป็นยาห้ามเลือด เมื่อใช้เฉพาะที่ ใช้ในรายท้องเดิน และรายที่มีการอักเสบของลำไส้อย่างเรื้อรัง ใช้ผสมกับกลีเซอรีน ทาหัวนมหญิงมีครรภ์แก่ ป้องกันความเจ็บปวดตอนทารกดูดนม ใช้ผสมกับยาบางอย่างทาผิวหนัง ป้องกันแดดเผาตัวได้ ทำเป็นยาอมแก้อาการเจ็บคอ ทำเป็นขี้ผึ้งทาริดสีดวงทวารหนัก ใช้เฉพาะที่เช่นแต่งแผลไฟไหม้ ใช้เป็นยาแก้พิษ          ๑๔/ ๘๘๖๘
            ๒๖๔๕. โทง  เป็นเครื่องมือจักรสานชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายขวด สูง ๑.๖ เมตร กว้าง ๑ เมตร คอกว้าง ๒๗ ซม. ปากกว้าง ๓๐ ซม. ที่ก้นมีช่องปลาเข้าหนึ่งช่อง กว้าง ๑๖ ซม. ทำด้วยไม้ไผ่สาน ช่องตาถี่มาก วิธีใช้ผูกกับต้นไม้ไผ่ปักลงในน้ำ หรือผูกแขวนกับหลัก ซึ่งทำด้วยไม้ปักเป็นสามขา ให้ปากโทงอยู่พ้นน้ำ ก้นโทงอยู่สูงจากพื้นดินใต้น้ำประมาณ ๕๐ - ๘๕ ซม. ใช้ส่าเหล้าเป็นเหยื่อจับได้ปลาเทโพ ปลาสวาย มีใช้ในจังหวัดริมแม่น้ำโขง         ๑๔/ ๘๘๗๐
            ๒๖๔๖. โทงเทง - กระโทงเทง  เป็นปลาทะเลขนาดใหญ่ ลำตัวแบนข้าง ริมฝีปากยื่นยาวออกเป็นรูปดาบ และแหลมจึงเรียกว่า ปลาดาบ ไม่มีฟัน ปลาชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันว่า บางคราวก็ทำอันตรายเรือในมหาสมุทรอินเดีย ปากแหลมของมันได้แทงเรือให้ทะลุได้ คนไทยเรียกปลาเหล่านี้ เป็นสามัญว่า "ปลาโทงเทง" พบอยู่ในทะเลเขตร้อน
                    ปลาโทงเทง พอจะแบ่งออกได้เป็นสองวงศ์คือ วงศ์ปลาดาบ และวงปลาใบเรือ         ๑๔/ ๘๘๗๑
            ๒๖๔๗. โทณพราหมณ์  เป็นพราหมณาจารย์คนหนึ่งในสมัยพุทธกาล เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในไตรเพท มีลูกศิษย์มากมาย กล่าวกันว่าบรรดากษัตริย์และผู้ครองนครทั้งหลาย ทั่วชมพูทวีปในสมัยนั้น ต่างยกย่องนับถือว่า เป็นอาจารย์ตน แต่เมื่อพบพระพุทธเจ้าก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส กลับใจมายนับถือพระพุทธศาสนา และได้ทำประโยชน์แก่พระศาสนาคือ ระงับศึกแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุกัน
                    ครั้งหนึ่ง เมื่อโทณพราหมณ์เดินทางอยู่ระหว่างเมืองอุกกัฎฐะ กับเมืองเสตัพยะ พร้อมหมู่ศิษย์ได้พบรอยพระพุทธบาท และได้เห็นรอบกงจักรในรอยพระพุทธบาท จึงรำพึงว่า รอยเท้านี้คงไม่ใช่ของมนุษย์ธรรมดาแน่นอน คิดแล้วจึงเดินตามรอยพระพุทธบาทนั้นไป จนพบพระพุทธเจ้าก็เกิดความเลื่อมใส จึงเข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ว่าเป็นใคร พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระองค์ไม่ใช่เทวดา คนธรรพ์ ยักษ์ หรือมนุษย์ เพราะทรงละอาสวกิเลส ที่เป็นต้นเหตุให้เป็นอย่างนั้นหมดสิ้นแล้ว แล้วตรัสบอกให้โทณพราหมณ์ เรียกพระองค์ว่า พระพุทธเจ้า
                    โทณพราหมณ์ ได้ฟังแล้วก็บรรลุสามัญผลสามคือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล และอนาคามิผล สามารถแต่งคำประพันธ์สรรเสริญพระพุทธคุณ เรียกว่า "โทณคัชชิตะ" ได้ถึง ๑,๒๐๐ บท ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินารา หลังถวายพระเพลิงแล้ว บรรดากษัตริย์และผู้ครองเมืองเจ็ดเมือง ได้ส่งราชทูตมาขอแบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุ โทณพราหมณ์เสนอให้แบ่งออกเป็นแปดส่วน ส่วนละ ๑๖ ทะนาน ให้แก่บรรดากษัตริย์และผู้ครองนครดังกล่าว ส่วนโทณพราหมณ์ได้ทูลขอทะนานตวงพระบรมธาตุคือ ตุมพะ ไปสักการะบูชา         ๑๔/ ๘๘๗๓
            ๒๖๔๘. โทน  เป็นชื่อกลองประเภทหนึ่ง ซึ่งขึงด้วยหนังเพียงหน้าเดียว เช่นเดียวกับ รำมะนา กลองยาว และกลองแอว ที่ใช้อยู่ในภาคเหนือ โทนมีอยู่สองชนิดคือ โทนมโหรี กับโทนชาตรี
                    โทนมโหรี  ใช้ตีกำกับจังหวะในวงมโหรีหญิงมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยก่อนเรียกว่า "ทับ" ด้วยเหตุนี้ลีลาหรือลำนำ ของเครื่องหนังต่าง ๆ ที่ใช้ตีประกอบจังหวะในการบรรเลง จึงเรียกกันว่า "หน้าทับ"
                    ตัวโทน หรือหุ่น มักจะทำด้วยดินเผา ที่ทำด้วยไม้ก็มี ตัวโทนยาว ๓๕ - ๓๘ ซม.  ด้านหน้าจะขึ้นหนัง กว้างประมาณ ๒๐ - ๒๒ ซม.  หนังที่ใช้นิยมใช้หนังงูงวงช้าง เพราะให้เสียงดีมาก
                    ปัจจุบันมักจะเรียกโทนมโหรีว่า "โทนเครื่องสาย"  เพราะส่วนมากใช้ตีกำกับจังหวะในวงเครื่องสายนั่นเอง ส่วนวงมโหรีนั้น ในสมัยนี้มักเป็นวงมโหรีเครื่องสายเป็นส่วนใหญ่ จึงนิยมใช้กลองแขกขนาดเล็ก ตีกำกับจังหวะแทน
                    โทนชาตรี  หุ่นไทน ทำด้วยไม้ โทนชาตรีมีลักษณะเหมือนโทนมโหรีทุกอย่าง แต่สั้นม่อต้อกว่า หน้าโทน กว้างประมาณ ๑๗ ซม. ยาวประมาณ ๓๒ ซม.
                    โทนชาตรี ใช้ตีเป็นคู่ โดยตีขัดกันสองคน คนละลูก ใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ชาตรี ใช้บรรเลงประกอบการแสดงหนังตะลุง และมโนห์รา เป็นพื้น         ๑๔/ ๘๘๗๖
            ๒๖๔๙. โทรคมนาคม  หมายถึง การส่งกระจาย หรือการรับใด ๆ ซึ่งเครื่องหมายสัญญาณ ข้อเขียน ภาพ และเสียง หรือข่าวในลักษณะใด ๆ ก็ตาม โดยระบบสายวิทยุ ทรรศนะ หรือระบบแม่เหล็กไฟฟ้า อื่น ๆ
                    ดังนั้น คำว่า โทรคมนาคมจึงหมายรวมถึง โทรเลข โทรศัพท์ วิทยุสื่อสาร โทรภาพ การกระจายเสียง โทรทัศน์ ฯลฯ
                    การวิทยุสื่อสารในประเทศไทย เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ โดยห้างบีกริม ผู้แทนบริษัทเทเลฟุงเกน ได้ขอให้กระทรวงโยธาธิการ ตั้งสถานีวิทยุทดลองขึ้นที่เกาะสีชัง และที่ภูเขาทอง  วัดสระเกศ แต่การทดลองไม่ได้ผล
                    พ.ศ.๒๔๔๙  ได้มีการประชุมสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก ว่าด้วยการสื่อสารทางวิทยุ ที่กรุงเบอร์ลิน ไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมด้วย
                    พ.ศ.๒๔๕๐  ประเทศไทยได้มีเครื่องรับส่งโทรเลขแบบมาร์โคนี ใช้เป็นครั้งแรกเพื่อติดต่อในราชการทหารเรือ และในปีเดียวกัน กองทัพบกก็ได้เริ่มใช้วิทยุโทรเลขสนามแบบมาร์โคนี ด้วย          ๑๔/ ๘๘๘๐
            ๒๖๕๐. โทรทรรศน์  เป็นชื่อกล้องประเภทหนึ่ง เรียกกันว่า กล้องโทรทรรศน์ ใช้เป็นกล้องขยายสำหรับส่องดูวัตถุที่อยู่ไกล ที่มองดูด้วยตาเปล่าเห็นขนาดเล็ก และไม่ชัด ให้แลเห็นได้ชัดเจนขึ้น และมีขนาดขยายเสมือนกับว่า วัตถุนั้นอยู่ใกล้เข้ามา
                    ในปี พ.ศ.๒๑๒๕  กาลิเลโอ นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลี่ยนได้สร้างกล้องโทรทรรศน์ขึ้น เพื่อใช้ศึกษาค้นคว้าทางดาราศาสตร์ ได้ปรับปรุงแก้ไขจนมีกำลังขยาย ๑,๐๐๐ เท่า ได้ใช้กล้องนี้สำรวจท้องฟ้า และได้พบแอ่งต่าง ๆ บนดวงจันทร์ และพบว่าทางช้างเผือกประกอบด้วย ดาวต่าง ๆ มากมาย นับแต่นั้นมาก็ได้มีการปรับปรุงกล้องโทรทรรศน์ มาจนปัจจุบัน         ๑๔/ ๘๘๘๓
            ๒๖๕๑. โทรทัศน์  คือ การส่งกระจายเสียง พร้อมทั้งภาพที่เคลื่อนไหวออกไปในรูปของสัญญาณโทรทัศน์ และการรับเอาสัญญาณนี้ มาเปลี่ยนให้เป็นเสียง และภาพที่ต้องการ
                    การค้นพบโทรทัศน์ และการประดิษฐ์อุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นใช้งานกิจการโทรทัศน์ ได้มีนักวิทยาศาสตร์ และนักค้นคว้า ที่เกี่ยวข้องอยู่มากมาย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๗
                    เครื่องรับโทรทัศน์โดยปกติ เป็นเครื่องรับแบบซูเปอร์เฮเตโรไดน์ธรรมดา         ๑๔/ ๘๘๘๙
            ๒๖๕๒. โทรเลข  หมายความว่า
                    ก. การขีดเขียนไกล คือ เครื่องส่งข่าวสารโดยทางไฟฟ้า
                    ข. ระบบโทรคมนาคมที่รับส่ง และถ่ายทอดข่าวสารอันเกิดจาก การขีดเขียน โดยใช้รหัสสัญญาณ
                    ค. ข่าวสารอันเกิดจากการขีดเขียน ซึ่งมุ่งจะส่งไปโดยระบบโทรเลข
                    การโทรเลข ได้เริ่มมีขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๘๑ ในสหรัฐอเมริกา โดย ซามูเอล เอฟ. บีมอส ได้แสดงเครื่องโทรเลขที่ตนค้นคว้า และประดิษฐ์ขึ้นต่อสถาบันแฟรงกลิน
                    กิจการโทรเลขของไทยได้เริ่มมีขึ้นเมื่อปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โดยมีชาวอังกฤษคนหนึ่ง ได้เข้ามาขอสัมปทานตั้งบริษัทขึ้น เพื่อสร้างและบำรุงรักษาทางสายโทรเลข ตามหัวเมืองมณฑลต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยมีหลักการว่า จะทำตั้งแต่กรุงเทพ ฯ ลงไปจนถึงหัวเมืองตะวันตก ตลอดถึงเมืองปีนัง แต่เขาไม่สามารถดำเนินการได้
                    ต่อมารัฐบาลอังกฤษเสนอจะขอสร้างสายโทรเลขติดต่อกับไทย เข้ามาทางเมืองทวายแต่ไทยได้ตกลงที่จะทำการโทรเลขเสียเอง โดยในปี พ.ศ.๒๔๑๘ ได้มอบให้กรมกลาโหมเป็นผู้ดำเนินงานสร้างสายโทรเลข ระหว่างกรุงเทพ ฯ - สมุทรปราการ ตลอดถึงลำภูสาย เป็นระยะทาง ๔๕ กม. และต่อจากนั้นก็ต่อสายไปถึงประภาคาร โดยวิธีวางเคเบิลใต้น้ำ สายที่สองคือ สายกรุงเทพ ฯ - บางปะอิน สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑ ภายหลังได้สร้างต่อไปถึงอยุธยา สายโทรเลขทั้งสองสายนี้ ใช้เฉพาะในราชการเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๖  จึงให้ประชาชนใช้
                    เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๖ ได้จัดตั้งกรมโทรเลขขึ้น และรับช่วงการโทรเลขจากกรมกลาโหมมาทำต่อไป สายแรกที่สร้างขึ้นคือ สายบูรพา เริ่มจากกรุงเทพ ฯ ผ่าน จ.ปราจีนบุรี กบินทรบุรี อรัญประเทศ ศรีโสภณ จนถึงคลองกำปงปลัก ใน จ.พระตะบอง ต่อกับสายโทรเลขอินโดจีน เชื่อมโยงกับไซ่ง่อน เป็นสายโทรเลขสายแรก ที่ติดต่อกับต่างประเทศ  ทางสายตะวันตก จากกรุงเทพ ฯ ผ่านกาญจนบุรี ถึง ต.เขาแดน อันเป็นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า เชื่อมต่อกับสายโทรเลขของประเทศพม่า ทำการรับส่งโทรเลขติดต่อกับมะละแหม่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๖ ภายหลังได้ยกเลิก คงเหลือไว้เพียงกาญจนบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้สร้างสายแม่สอด ติดต่อกับประเทศพม่า  ทางด้านใต้ ได้สร้างสายต่อออกไปจากสงขลา ถึงไทรบุรี และกัวลามุดา เสร็จในปี พ.ศ.๒๔๔๑ สายนี้ติดต่อกับสายของมลายู (มาเลเซีย) ซึ่งเชื่อมปีนัง และสิงคโปร์
                    ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ ฝ่ายกรมรถไฟ และฝ่ายกระทรวงกลาโหม ได้จัดทำรหัสสัญญาณภาษาไทยขึ้นสำเร็จ และเริ่มใช้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา         ๑๔/ ๘๘๙๗
            ๒๖๕๓. โทรศัพท์  โดยรูปคำ แปลว่า เสียงไกล โดยทั่วไปหมายถึง อุปกรณ์ไฟฟ้า ที่สามารถเปลี่ยนคลื่นเสียง จากที่หนึ่งให้กลายเป็นคลื่นไฟฟ้า เคลื่อนที่ไปตามลวด ตัวนำจนถึงที่อีกแห่งหนึ่ง แล้วจึงเปลี่ยนคลื่นไฟฟ้าเป็นคลื่นเสียงตามเดิม
                    อะเลก ซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ชาวอเมริกันเป็นผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙           ๑๔/ ๘๙๐๒
            ๒๖๕๔. โทษ - ไข้  (ดู ไข้ ตอนว่าด้วยกำเนิดไข้ - ลำดับที่ ๘๕๒)         ๑๔/ ๘๙๐๘
            ๒๖๕๕. ไทเผง  (ดู ไต้เผง - ลำดับที่ ๒๓๕๘)         ๑๔/ ๘๙๐๘
            ๒๖๕๖. ไทฟอยด์  (ดู รากสาด - ลำดับที่...)         ๑๔/ ๘๙๐๘
            ๒๖๕๗. ไทย  เป็นชื่อประเทศตั้งอยู่ในเอเชียอาคเนย์ ตอนกลาง คาบสมุทรอินโดจีน มีพรมแดนยาว ๘,๐๐๐ กม. พรมแดนทางบกยาว ๕,๓๐๐ กม.  พรมแดนทางทะเล ๒,๗๐๐ กม.
                      ประเทศเพื่อนบ้านประเทศพม่า  ตั้งอยู่ทางตะวันตก และตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีแม่น้ำกระบุรี (แม่น้ำปากจั่น)  ทิวเขาตะนาวศรี ทิวเขาถนนธงชัย แม่น้ำเมย แม่น้ำสาละวิน ทิวเขาแดนลาว แม่น้ำสายและแม่น้ำรวก เป็นพรมแดน
                      ประเทศลาว  ตั้งอยู่ทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีแม่น้ำโขง ทิวเขาหลวงพระบาง ทิวเขาเพชรบูรณ์ แม่น้ำเหือง แม่น้ำโขง และทิวเขาพนมดงรัก เป็นพรมแดน
                      ประเทศกัมพูชา  ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบต่ำทางตะวันออกเฉียงใต้ มีทิวเขาพนมดงรัก คลองปลาอ้าว (ปะอาว) เส้นเขตแดนที่ตกลงกันโดยเฉพาะระหว่างพื้นที่ราบ คลองน้ำใส คลองด่าน คลองลึก คลองโป่งน้ำร้อน และทิวเขาบรรทัด เป็นพรมแดน
                      ประเทศมาเลเซีย  ตั้งอยู่ทางใต้มีแม่น้ำโกลก และทุ่งเขาสันกาลาคีรีเป็นพรมแดน
                     ประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ ๕๑๓,๑๑๕ ตาราง กม. ส่วนยาวสุด ๑,๖๒๐ กม. (เหนือจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ใต้ถึง อ.เบตง จ.ยะลา ) ส่วนกว้างสุด ๗๕๐ กม. (ตะวันตกจากด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี ตะวันออกถึงช่องเม็ก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี) ส่วนแคบสุด ๑๐.๖ กม. (ใน ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์)
                      ประเทศไทย แต่ก่อนเคยเรียกว่า ประเทศสยาม เท่าที่ทราบนักประวัติศาสตร์บางท่าน เช่น เซอร์ เจมส์ แลงแคสเตอร์ ชาวอังกฤษได้เรียกประเทศไทยว่า ประเทศสยาม เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๓ คนไทยนิยมเรียกชื่อประเทศตามชื่อราชธานี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โปรด ฯ ให้เรียกชื่อประเทศว่า ประเทศสยาม เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๓๙๘ ในการลงนามในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ ยังใช้เมืองไทยเป็นชื่อของประเทศไทย แต่ในการให้สัตยาบันเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ ใช้ชื่อ ประเทศสยาม ที่จริงคนไทยนิยมเรียกประเทศของเราว่า เมืองไทย ตั้งแต่สมัยโบราณ
                      ภูมิภาคทางภูมิศาสตร์  แต่เดิมประเทศไทยแบ่งภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ออกได้กว้าง ๆ เป็นสี่ภาคคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ได้แบ่งใหม่เป็นหกภาคคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก หรือภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
                      ภาคเหนือ  มี ๙ จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน และอุตรดิตถ์
                      ลักษณะภูมิประเทศ โดยทั่ว ๆ ไป ประกอบด้วยภูเขา และทิวเขาสูงทอดยาวในแนวเหนือ - ใต้ ขนานกับเส้นแวง แนวทิวเขาเหล่านี้ ต่อโยงมาจากเทือกเขาหิมาลัย และเทือกเขาในแคว้นยูนนานของจีน บริเวณระหว่างทิวเขาเป็นที่ราบระหว่างภูเขา มีแม่น้ำสายสำคัญ ๆ ไหลผ่าน
                      ภาคกลาง  มี ๒๒ จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพ ฯ นครนายก นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
                      ลักษณะภูมิประเทศ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยที่ราบ ซึ่งเกิดจากการที่แม่น้ำพัดพาเอาเศษหิน ดิน กรวด ทราย และตะกอนมาทับถมมานับล้าน ๆ ปี นับเป็นพื้นที่ราบที่มีขนาดกว้างใหญ่กว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ จากหลักฐานทางธรณีวิทยา สันนิษฐานว่าน้ำทะเลท่วมขึ้นไปถึง จ.อุตรดิตถ์ ในหลายยุคหลายสมัยด้วยกัน
                      ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มี ๑๖ จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร และศรีสะเกษ
                      ภูมิประเทศ มีลักษณะแยกตัวออกจากภาคเหนือ และภาคกลางอย่างเด่นชัด ทั้งนี้เพราะการยกตัวของแผ่นดินสองด้านคือ ด้านตะวันตก และด้านใต้ ทำให้ภูมิประเทศลาดเอียงไปทางตะวันออก การยกตัวของแผ่นดินด้านตะวันตก ทำให้เกิดของสูงชันตามแนวเขาเพชรบูรณ์ ต่อไปยังแนวทิวเขาดงพญาเย็น โดยที่ด้านขอบชันหันไปทางตะวันตก ต่อบริเวณที่ราบภาคกลาง ความสูงขอบชันประมาณ ๔๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล
                     ภูมิประเทศ ทางด้านใต้ตามแนวทิวเขาสันกำแพง และทิวเขาพนมดงรัก แผ่นดินยกตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกับภาคตะวันตก โดยที่หันด้านขอบชันไปทางประเทศกัมพูชา พื้นที่ตะแคงหรือเอียงไปทางเหนือ ความสูงของขอบชันด้านนี้เฉลี่ย ๔๐๐ เมตร
                     บริเวณตอนกลางของภาค มีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายกระทะ
                     ภาคตะวันตก  มี ๕ จังหวัด ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
                     ลักษณะภูมิประเทศ ประกอบด้วย ภูขา และทิวเขาสูงต่อจากแนวเขาสูง ทางภาคเหนือ และทอดยาวลงไปทางใต้  บางส่วนของทิวเขาใช้เป็นเส้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า แม่น้ำสายสำคัญที่เกิดจากแนวทิวเขาในตอนนี้ ทางตอนบนมีแม่น้ำเมย ทางตะวันออกของทิวเขาตะนาวศรี มีแม่น้ำแควน้อย และแควใหญ่ ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสายสั้น ๆ มีแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี เป็นต้น
                      ภาคตะวันออกเฉียงใต้  มี ๖ จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
                      ลักษณะภูมิประเทศแตกต่างไปจากภาคกลาง เพราะว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยภูเขา แนวทิวเขา ที่สูง ที่ราบแคบ ๆ ทางตอนบนและชายฝั่งทะเล แนวทิวเขาสูงทางภาคนี้ที่สำคัญได้แก่ ทิวเขาจันทบุรี สูงประมาณ ๑,๕๘๖ เมตร และ ๑,๖๓๓ เมตร (เขาสอยดาวเหนือ และเขาสอยดาวใต้) นอกจากนี้ยังมีทิวเขาบรรทัด ทางด้านตะวันออก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลูกฟูก
                      แม่น้ำสายสั้นๆ ที่เกิดจากทิวเขาสูงในภาคนี้ได้แก่ แม่น้ำระยอง แม่น้ำเวฬุ แม่น้ำประแส แม่น้ำจันทบุรี และคลองใหญ่
                      ภาคใต้  มี ๑๔ จังหวัด  ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล
                      ภูมิประเทศโดยทั่วไป มีลักษณะเป็นแหลมยื่นไปในทะเล โดยมีทะเลขนาบทั้งสองด้าน มีแนวทิวเขาภูเก็ต ทอดยาวตั้งแต่ จ.ชุมพร ถึง จ.พังงา และทิวเขานครศรีธรรมราช เป็นแนวต่อของทิวเขาภูเก็ต เริ่มจากทางภาคใต้ของ จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ ผ่านนครศรีธรรมราชไปถึง สตูล ทางด้านใต้สุดของภาค มีแนวทิวเขาสันกาลาคีรี ทอดยาวในแนวตะวันออก - ตะวันตก ใช้เป็นเส้นพรมแดนไทยกับมาเลเซีย
                      แม่น้ำสายสั้น ๆ ทางฝั่งทะเลด้านตะวันตก มีแม่น้ำกระบุรี แม่น้ำตรัง
                      ชนชาติไทย  เป็นชาติใหญ่ชาติหนึ่งในเอเชียฝ่ายตะวันออก มาตั้งแต่พุทธกาล นอกจากในประเทศไทยปัจจุบัน ยังมีชนชาติไทยตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอื่นอีกเป็นอันมาก อยู่ในดินแดนจีนหลายมณฑล ทั้งในแดนตังเกี๋ย แดนพม่า ตลอดไปจนมณฑลอัสสัม ในประเทศอินเดีย แต่คนทั้งหลายเรียกชื่อต่าง ๆ กันไป ตามถิ่นที่อยู่ เช่นเรียกว่า ชาวสยาม ลาว เฉียง ฉาน เงี้ยว ลื้อ เขิน ขำติ อาหม ฮ่อ ที่คงเรียกตามเค้านามเดิมว่า ผู้ไทย และไท ก็มีบ้าง พวกไทยดังกล่าว ล้วนเป็นชนชาติไทย พูดภาษาไทย และถือตัวว่าเป็นไทยด้วยกันทั้งนั้น ตามเรื่องพงศาวดารที่ปรากฎมาว่า เดิมนั้น ชนชาติไทยตั้งภูมิลำเนาอยู่ในดินแดนที่ทุกวันนี้ ตกเป็นอาณาเขตของจีนข้างฝ่ายใต้ ที่เรียกว่า มณฑลฮุนหนำ มณฑลกุยจิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลกวางไส ทั้งสี่มณฑลมีบ้านเมืองและเจ้านายของตนเอง ปกครองแยกย้ายกันอยู่เป็นหลายอาณาเขต จีนเรียกชนชาติไทยว่า ฮวน
                      จากการขุดค้นโบราณวัตถุที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ตำบลบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี และบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี แสดงว่าได้มีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ แต่ก็ไม่ทราบเป็นผู้คนเผ่าใด         ๑๔/ ๘๙๐๘
                       พงศาวดารจีนในสมัยเริ่มต้นได้กล่าวว่าเมื่อราวสี่พันปีล่วงมานี้ จีนเป็นประเทศเล็ก   มีอาณาเขตทางทิศใต้ไม่ถึงแม่น้ำเหลือง (ฮวงโห) เสียด้วยซ้ำ ถัดแม่น้ำเหลืองลงมาได้แก่ ภาคกลางของประเทศจีน ปัจจุบันเป็นที่อยู่ของชนชาติหนึ่ง มีหลายพวกหลายเหล่าด้วยกันซึ่งจีนเรียกชื่อรวมว่า พวกต้ามุง พวกต้ามุงก็คือ ชาวไทยนั่นเอง
                        เมื่อพิจารณาจากหลักฐานต่าง ๆ แล้วน่าจะสันนิษฐานได้ว่า ชนชาติไทยคงจะมีแหล่งกำเนิดอยู่แถบลุ่มแม่น้ำแยงซี คงเป็นมณฑลเสฉวน โดยเฉพาะภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลนั้น ได้ตั้งเป็นอาณาจักรคือ อาณาจักรลุง ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของลุ่มแม่น้ำแยงซี สันนิษฐานกันว่า ปัจจุบันเรียกกันว่า "แคว้นลุงเชา" ส่วนอาณาจักรปา ตั้งอยู่ทางใต้ลงมาในเขตมณฑลเสฉวน มีเมืองจุงกิงเป็นศูนย์กลาง
                        อาณาจักรทั้งสองนี้ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นเวลานับพัน ๆ ปี และได้ขยายตัวมาทางทิศตะวันออกตามลำน้ำแยงซี ได้สร้างเมืองขึ้นหลายเมืองตามลุ่มแม่น้ำนั้น มีเมืองสำคัญเรียกว่า เมืองยิว หรือเมืองเงี้ยว ปัจจุบันจีนเรียกเมืองจางชา ตั้งอยู่ระหว่างนครปากับฝั่งทะเลจีน
                        เมื่อแรกพบกันไทยและจีนก็ติดต่อกันอย่างปรกติ ไม่ปรากฎว่ามีการรบราฆ่าฟันกันเป็นศึกใหญ่ มาเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่ในระหว่างนั้นไทยคงถูกรุกเงียบ ด้วยวิธีที่จีนเข้ามาแย่งทางทำมาหากิน ในเวลาใดที่จีนถูกพวกตาดรุกเข้ามาทางทิศเหนือจีนก็ร่นลงมาทางทิศใต้อยู่ เมื่อ ๓๙๓ ปี ก่อนพุทธศักราชพวกตาด ได้รุกเข้าไปในดินดินแดนภาคตะวันตกของจีน ชาวไทยเลยพลอยถูกพวกตาดย่ำยีได้ด้วย พวกชาวไทยนครลุง ได้ร่นถอยลงมาทางใต้ไปสมทบกับชาวไทยที่นครปา เป็นการย้ายถิ่นฐานครั้งแรก
                        ฝ่ายจีนมีพระเจ้าวูหว่าง ครองราชย์อยู่ระหว่างปี ๕๗๘ - ๕๗๒ ก่อนพุทธศักราช เป็นกษัตริย์ที่มีบุญญาธิการมาก ทรงแบ่งดินแดนให้แม่ทัพนายกองไปปกครอง พวกเหล่านี้ได้ต่อสู้ชิงดินแดนต่อกัน พลเมืองได้รับความเดือดร้อน จึงพากันอพยพไปอาศัยอยู่ในดินแดนซึ่งเป็นของไทย ชาวไทยทนการเบียดเบียนไม่ได้ ก็ขยับขยายเคลื่อนลงไปตั้งภูมิลำเนาทางทิศใต้ต่อไป ต่อมาเมื่อราชวงศ์จิ๋นได้อำนาจปกครองหัวเมืองประเทศราชต่าง ๆ แล้วก็ได้ส่งกองทัพไปตีนครปาได้ ส่วนอาณาจักรเงี้ยวก็เสียอิสระภาพแก่จีนในเวลาต่อมา
                        ในรัชสมัยพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ (ครองราชย์ พ.ศ.๒๙๖ - ๓๓๓) ได้แผ่อาณาเขตลงมาทางใต้ของแม่น้ำแยงซีจนถึงมณฑลฟูเกี้ยน เป็นเหตุให้ชนชาติไทย ต้องเคลื่อนย้ายร่นลงมาทางภาคใต้ของจีน มณฑลยูนาน มณฑลไกวเจา (กุยจิ๋ว) มณฑลกวางสี และมณฑลกวางตุ้ง เฉพาะมณฑลยูนานเป็นดินแดนของพวกกะเหรี่ยง ซึ่งเรียกตนว่าชาติยูน ชาวไทยในมณฑลยูนนานได้ตั้งนครเพงายเป็นราชธานี นอกจากนี้ยังได้ตั้งเมืองอื่น ๆ เป็นอิสระแก่กันหลายเมือง ต่อมาได้รวบรวมกันเป็นอาณาจักรอ้ายลาว เมื่อราว พ.ศ.๔๒๑ มีขุนเม็งหรือขุนเมืองเป็นกษัตริย์ปกครอง แต่ต่อมานครเพงายก็ถูกจีนรุกรานอีก หลังจากการรวมอาณาจักรอ้ายลาวได้เพียง ๒๑ ปี พระเจ้าวู่ตี่ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออกได้สนใจในพระพุทธศาสนา ให้คณะทูตไปศึกษาพระพุทธศาสนาในอินเดีย คณะทูตจีนขอเดินทางผ่านอาณาจักรอ้ายลาว แต่กษัตริย์อ้ายลาวไม่ยอมให้ผ่าน พระเจ้าวูตี่จึงแต่งกองทัพมาตีอาณาจักรอ้ายลาว เมื่อปี พ.ศ.๔๔๓ ได้ต่อสู่กัน ๑๐ ปี จึงยอมขึ้นแก่จีนเมื่อปี พ.ศ.๔๕๖ จีนแต่งตั้งข้าราชการลงมาควบคุมชาวไทยที่นครเพงาย ชาวไทยส่วนหนึ่งได้อพยพมาสู่คาบสมุทรอินโดจีน เมื่อราว พ.ศ.๔๗๔ ก่อนอาณาจักรอ้ายลาวจะตกไปเป็นของจีน
                            ต่อมามีวีรบุรุษของไทยผู้หนึ่งชื่อสีนุโล สามารถรวบรวมแคว้นเล็กแคว้นน้อยของชาวไทยตั้งเป็นอาณาจักรน่านเจ้า มีราชธานีตั้งอยู่ใกล้เมืองหวาติง ในมณฑลยูนนาน เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๑๙๔ ต่อมาในปี พ.ศ.๑๗๙๖ กุบไลข่านตีได้อาณาจักรน่านเจ้า ทำให้ชาวไทยแผ่ซ่านออกไปยิ่งกว่าแต่ก่อน
                           ชาติพันธุ์ในประเทศไทย  อาจแยกออกได้ตามหลักภาษาและวัฒนธรรม ได้มีดังนี้
                        ๑. ไทย  ชาติพันธุ์ไทย พอประมวลได้ดังนี้
                            ก. กลุ่มไทยตะวันตกไทยอาหม  อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรอาหม เดิมบริเวณลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรในแคว้นอัสสัม ปัจจุบันถูกวัฒนธรรมอินเดียเข้าครอบงำเป็นอันมาก ไทยเหล่านี้ไม่มีอยู่ในประเทศไทย
                                - ไทยดำดี  อยู่ทางภาคเหนือของประเทศพม่า หรือตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำอิรวดี วัฒนธรรมพม่าเข้าครอบงำเป็นอันมาก ไทยเหล่านี้จะอพยพเข้ามาอยู่ใน จ.แม่ฮ่องสอนบ้าง
                                - ไทยใหญ่ในประเทศจีน  เรียกตนเองว่า ไทยหก อาจย่อมาจากคำว่าไทยหกเจ้าหรือไทยจากอาณาจักรทั้งหกของน่านเจ้า พูดสำเนียงไทยแบบไทยใหญ่ และไทยลื้อ อาศัยอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันตกของมณฑลยูนนาน มีวัฒณธรรมคล้ายไทยในสิบสองพันนา หรือส่วนผสมวัฒนธรรมพม่าและยูนนาน เชื้อสายไทยเหล่านี้อาจมีแทรกซึมเข้ามาทางภาคเหนือของไทย
                                - ไทยใหญ่  พม่าเรียกว่า ฉาน หรือชาน ไทยพวกนี้มักเรียกตนเองว่า ไทยใหญ่ หรือไทยหลวง หรือโตโหลง เพื่อให้แตกต่างกับพวกไทยทางใต้ ซึ่งพวกเขานิยมเรียกว่า ไทยใต้ หรือไตตาเออ ส่วนไทยในประเทศไทยกลับเรียกไทยใหญ่ว่า เงี้ยว ไทยใหญ่อาศัยอยู่ตามที่ลุ่มแม่น้ำ และภูเขาในเขตประเทศพม่า ทางภาคเหนือของยะไข่ (อาระกัน) และตะนาวศรี ส่วนในประเทศไทยอาศัยอยู่มากใน จ.แม่ฮ่องสอน  และ จ.ตาก พูดสำเนียงครึ่งไทยครึ่งลาว มีวัฒนธรรมค่อนไปทางพม่า นับถือพระพุทธศาสนา
                            ข. กลุ่มไทยใต้  ได้แก่ ไทยในประเทศไทย เรียกตนเองว่า คนไทย หรือชาวไทย เพื่อให้แตกต่างจากไทยยวน หรือลานนาไทย และลาว หรือคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในสมัยประวัติศาสตร์  อาศัยอยู่ทั่วไปในประเทศไทย
                                - ไทยโคราช  เป็นชาติพันธุ์ไทยที่อาศัยอยู่ในเขต จ.นครราชสีมา เข้าใจว่าเป็นไทยที่มีเชื้อสายเขมรกลุ่มหนึ่ง
                                - ไทยปักษ์ใต้  เป็นชาติพันธุ์ไทยที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไปจนสุดเขตแดน ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ประชากรส่วนใหญ่ มีส่วนผสมกับชาวมาเลเซีย และเนกริโต หรือเงาะ
                            ค. กลุ่มไทยลุ่มแม่น้ำโขง  ได้แก่ ไทยเหนือ เรียกตามสำเนียงท้องถิ่นว่า ไทยโทน หรือไทยเหนอ อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน ลุ่มแม่น้ำโขง และลุ่มแม่น้ำสาละวิน พูดภาษาคล้ายไทยลื้อ มีวัฒนธรรมค่อนไปทางจีน และคนไทยในสิบสองพันนา ไทยเหล่านี้อาจอพยพเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เพราะภาวะสงครามและการเมือง
                                - ไทยลื้อ  อยู่ในดินแดนสิบสองพันนา ตอนใต้ของมณฑลยูนนาน เชียงตุง เชียงราย น่าน พงสาลี น้ำทา น้ำเบง หลวงพระบาง และภาคเหนือของประเทศเวียดนาม มีวัฒนธรรมทั่วไปคล้ายคนไทยในถิ่นอื่น นับถือพระพุทธศาสนา
                                - ไทยเขิน  ถิ่นเดิมอยู่แถบรอบเมืองเชียงตุง ในแคว้นฉาน ของประเทศพม่า มีความใกล้ชิดกับพวกไทยลื้อ ไทยยวน และลาว ใช้ภาษาและตัวหนังสือคล้ายกับของลาว นับถือพระพุทธศาสนา ปัจจุบันทราบว่า พวกไทยเขินอาศัยอยู่ในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะใน จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย
                                - ไทยยวน  บางทีเรียกว่า ลานนาไทย ลาว โยน โยนก เป็นไทยที่อาศัยอยู่ใน จ.เชียงใหม่ เป็นส่วนมากมาแต่โบราณ ปัจจุบันกระจายไปใน จ.ลำพูน ลำปาง เชียงราย แพร่ และน่าน มีภาษาพูดคล้ายไทยลื้อ และไทยเขิน มีตัวอักษรลานนาไทย คล้ายกับอักษรพม่า และลาว ในลุ่มแม่น้ำโขง มีวัฒนธรรมที่งดงาม ไทยยวน สามารถรับวัฒนธรรมไทยภาคกลางไว้ได้มาก
                               - ลาว  บางทีก็เรียกว่า ผู้ลาว ลาวอาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง แถบหลวงพระบางลงไป จนสุดภาคใต้ของประเทศลาว และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีภาษาคล้ายภาษาไทย และไทยใหญ่ ส่วนอักษรคงแปลงมาจากอักษรบาลี สันสกฤต เขมร และพม่า
                                - ไทยกะเลิง, ย่อ, ย้อย  เป็นชาวไทยทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.สกลนคร และ จ.นครพนม
                            ง. กลุ่มไทยบนที่สูง  ได้แก่ ไทยดำ อาศัยอยู่ในแคว้นสิบสองพันนา หรือสิบสองเจ้าไทย ระหว่างแม่น้ำแดงกับแม่น้ำดำของประเทศเวียดนาม ได้อพยพเข้ามาอยู่ทางตอนเหนือของประเทศลาว และเลยเข้ามาอยู่ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พูดภาษาไทย เหมือนไทยกลุ่มอื่น นับถือพระพุทธศาสนา
                                - ไทยขาว  บางทีชาวเวียดนามเรียกว่า ไทยโท้ หรือไทยตรัง อาศัยอยู่บริเวณชายแดนแถบมณฑลยูนนาน แม่น้ำแดง และแม่น้ำดำ นับถือพระพุทธศาสนา
                                - ไทยแดง  อยู่ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม และใกล้บริเวณพรมแดนประเทศลาว พูดภาษาคล้ายไทยดำ และลาว ที่อาศัยอยู่ในแขวงซำเหนือ นับถือพระพุทธศาสนา
                                - ไทยเหนือ  อยู่ในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก และซำเหนือ ทางด้านตะวันออกของประเทศลาว แคว้นหลวงพระบาง เชียงขวาง และพงสาลี
                                - ไทยพวน  อยู่ทางภาคเหนือของประเทศลาว แถบเมืองพวน ในแคว้นเชียงขวาง และหลวงพระบาง
                                - ผู้ไทย  อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศลาว ในบริเวณหัวพันทั้งห้าทั้งหก สิบสองจุไทย และภาคเหนือของประเทศลาว
                                - ซ่ง   เดิมอยู่ในแคว้นซำเหนือ อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ในจังหวัดภาคกลาง และภาคตะวันตก เช่น จ.สุโขทัย จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี และ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น
                            จ. กลุ่มไทยตะวันออก  ไทยเหล่านี้ คงไม่มีในประเทศไทย ได้แก่ จุงเจีย ส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลไกวเจา
                                - ไทยจวง  ส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลกวางสี และกวางตุ้ง
                                - ไทยตุงเจีย  อยู่ในมณฑลไกวเจา ฮูนาน และกวางสี
                                - ไทยไท  อยู่ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม แถบแม่น้ำแดง และตามชายแดนของมณฑลกวางสี
                                - ไทยตรุงจา  อยู่ระหว่างพรมแดนประเทศจีน กับประเทศเวียดนาม
                                - ไทยนาง  อยู่ตามพรมแดนประเทศจีน กับประเทศเวียดนาม และในมณฑลยูนนาน
                                - ไทยทูลาว  อยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ติดกับพรมแดนประเทศจีน
                                - ปาอี  เดิมอยู่แถบมณฑลยูนนาน ปัจจุบันอพยพเข้ามาอยู่ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม
                                - กลุ่มกะได  อยู่ในเกาะไหหลำ
                        ๒. จีน  คนจีนเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแต่โบราณ เข้ามาอยู่ทางภาคกลางและภาคใต้
                                - ปันเทย  เป็นชาวจีนฮ่อพวกหนึ่ง พวกฮ่อจากมณฑลยูนนานชอบเข้ามาค้าขายกับจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะแม่ฮ่องสอน จ.เชียงรายและ จ.เชียงใหม่ พวกฮ่อนับถือศาสนาอิสลามได้เอาศาสนาอิสลามมาเผยแพร่ทางภาคเหนือด้วย กล่าวกันว่าบรรพบุรุษของพวกฮ่อเป็นพวกทหารตาดมองโกล ของพระเจ้ากุบไลข่าน ที่ยกมารบทางตอนใต้ของประเทศจีนแล้วตกค้างอยู่
                                - ฮ่อ  เป็นชาวยูนนานที่เป็นชาวจีน มักทำไร่นาอยู่บนภูเขาสูง
                        ๓. ทิเบต - พม่า เฉพาะที่อยู่ในประเทศไทย มีอยู่สี่ชาติพันธุ์คือ
                                - พม่า  ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยประวัติศาตร์ ตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามจังหวัดชานแดนของประเทศไทยเช่น ที่ จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงราย นับถือพระพุทธศาสนาเคร่งครัด
                                - ลีซอ  อยู่ตามบริเวณเทือกเขาทางตะวันตกของมณฑลยูนนาน ลงมาทางใต้ระหว่างแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขง ตลอดจนภาคเหนือของประเทศไทย
                                - มูเซอ  เป็นชาวภูเขาที่ควบคุมกันเองอย่างมีระเบียบ อยู่ในมณฑลยูนนาน ประเทศพม่า ลงมาจนถึงภาคเหนือของประเทศไทย
                                -  อีก้อ  อาศัยอยู่ตามเทือกเขาทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ลงมาทางใต้แถบสิบสองพันนา เชียงตุง ตอนเหนือของประเทศลาว ที่พงสาลี และในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย
                        ๔. กะเหรี่ยง  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ยาง อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศพม่า แถบลุ่มแม่น้ำจิรวดี สะโตง สาละวิน และบริเวณฝั่งทะเล ตะนาวศรี ตลอดจนตามบริเวณภูเขาพรมแดนไทย - พม่า
                        ๕. แม้ว - เย้า  เป็นเผ่าพันธุ์ที่มีภาษาพูดและขนบธรรมเนียมประเพณี แตกต่างจากพวกทิเบต - พม่า และกะเหรี่ยง
                                - แม้ว  อยู่ในมณฑลไกวเจา ฮูนาน เสฉวน กวางสี และยูนนาน ในประเทศจีน ในประเทศพม่า ในประเทศลาว ในประเทศเวียดนาม และในประเทศไทย
                                - เย้า อยู่ในมณฑลกวางตุ้งและกวางสี ในประเทศจีน ตลอดมาจนถึงประเทศพม่า ประเทศลาวและประเทศไทย
                        ๖. มอญ - เขมร  มีอยู่ทั้งหมดถึง ๗๖ ชาติพันธุ์ แต่ที่ปรากฎอยู่ในประเทศไทยมีอยู่ ๑๐ ชาติพันธุ์
                                - มอญ  มีถิ่นฐานอยู่ในลุ่มแม่น้ำอิรวดี สะโตง สาละวิน และบริเวณรอบอ่าวเมาะตะมะ มีภาษาของตนเอง มอญเข้ามาอยู่ในหลายจังหวัของไทยนานมาแล้ว วัฒนธรรมของมอญมีหลายอย่างที่คล้ายกับของไทยในลานนาไทย
                                - เขมร  อยู่ตามพรมแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชา มีภาษาของตนเองคือ ภาษาเขมร วัฒนธรรมของเขมร คงได้รับสืบทอดมาจากพวกขอม พวกจาม และมอญ รวมกับวัฒนธรรมอินเดียด้วย
                                - ขมุ  อยู่ทางภาคเหนือของประเทศลาวเช่น ที่หลวงพระบางและเชียงขวาง ลายะบุรี น้ำท่า และพงสาลี ในประเทศไทยมีอยู่ที่ จ.น่าน
                                - ละว้า  ปัจจุบันอยู่ใน จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน มากกว่าที่อื่น ใช้ภาษาใกล้เคียงกับภาษาปะหล่อง และว้าในประเทศพม่า
                                - ถิ่น  อยู่ทางภาคเหนือของประเทศลาว และประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณพรมแดนของ จ.น่าน พวกถิ่นพูดภาษาลาวและไทยได้ รูปร่างคล้ายขมุ
                                - เสก  อยู่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขง ทางด้านฝั่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทสไทย และประเทศลาว เสกพูดภาษาลาวได้ นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด
                                - โซ่  อยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเหมือนเสก และมักอยู่ใกล้เคียงกัน จึงปะปนและแต่งงานกัน มีวัฒนธรรมเช่นเดียวกับชาวลาว และชาวไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับถือพระพุทธศาสนา
                                - ชอง  อยู่ใน จ.กัมโพช และกะปงโสม ของประเทศกัมพูชา พวกชองในไทยอยู่ใน จ.ตราด และ จ.จันทบุรี
                                - กุย  อาศัยอยู่ตามภูเขาตามพรมแดนไทย - กัมพูชา ในประเทศไทยมีอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใน จ.สุรินทร์ จ.ศรีษะเกษ จ.อุบลราชธานี และจ.ร้อยเอ็ด คนไทยชอบเรียกพวกกุยว่า ส่วย
                                - ยุมบรี  เรียกชื่ออย่างอื่นว่า ผีตองเหลือง เป็นคนที่อพยพไปตามบริเวณภูเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย พูดภาษาคล้ายลาว แม้ว ว้า และขมุ ในเขต จ.เชียงใหม่
                        ๗. เวียด - มอง  เวียดนามเรียกชื่ออย่างอื่นว่า ชาวอันนัม ญวน และงวยดิน ชาวญวนเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ นับถือพุทธศาสนา และศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
                        ๘. เซมัง - เซนอย  คนไทยเรียกเงาะป่า อยู่ใน จ.พัทลุง และ จ.ตรัง
                        ๙. มลายู  อยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ประมาณตั้งแต่ จ.ภูเก็ต และ จ.นครศรีธรรมราช ไปจนสุดเขตแดนไทย
                                - สะไก อยู่ในแถบป่าทึบของประเทศมาเลเซีย มีเข้ามาอยู่ในประเทศไทยบ้างไม่มากนัก
                               - โมทาน เรียกอย่างอื่นว่า มอแกน คนไทยเรียกว่า ชาวน้ำ อาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ตั้งแต่ จ.ระนองไปจนสุดเขตแดนไทย       ๑๔/ ๘๙๐๘
            ๒๖๕๘. ไทร  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีกิ่งก้านสาขากว้าง ทำให้เกิดเป็นเรือนใบทึบ ทุกส่วนมีน้ำยางใสหรือสีน้ำนม ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับกัน ดอกขนาดเล็กมาก อัดรวมกันแน่นออกเดี่ยว ๆ เป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ตามกิ่งและลำต้น  กระทงที่หุ้มดอกและต่อมาเป็นผล มักจะเรียกกันว่า ผล เมื่อแก่จัดจะมีสีเหลือง หรือสีแดง ชนิดที่ผลออกตามลำต้นมักเรียกกันว่า มะเดื่อ ชนิดที่ขึ้นโอบพันลำต้นไม้ก็มีอยู่หลายชนิด ชนิดที่รากห้อยย้อยลงมาเป็นสายมากมาย เมื่อจดดินแล้ว เจริญเติบใหญ่ กลายเป็นลำต้นใหม่แยกสาขาออกไป                 ๑๔/ ๙๐๐๖
            ๒๖๕๙. ไทรน้อย  อำเภอ ขึ้น จ.นนทบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม
                    อ.ไทรน้อย เดิมเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น อ.บางบัวทอง ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙           ๑๔/ ๙๐๐๗
            ๒๖๖๐. ไทรบุรี  เคยเป็นหัวเมืองมลายูแห่งหนึ่ง ในพระราชอาณาเขตทางใต้ มีฐานะเป็นประเทศราชของไทย ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย มีสุลต่านปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ สันนิษฐานว่า ไทรบุรีอยู่ใต้การปกครองของไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเช่นเดียวกับ กลันตัน ตรังกานู เประ และมะละกา แต่ไทยต้องยกดินแดนดังกล่าวนี้ให้อังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ไทรบุรีมีอีกชื่อหนึ่งว่า เคดาห์
                    ไทรบุรี ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู ทิศเหนือจดปะลิส และสงขลา ทิศตะวันออกจดสงขลา และรามัน ทิศตะวันตก ตกทะเลตรงช่องแคบมะละกา ไทรบุรีมีหมู่เกาะรวมอยู่ด้วย เกาะใหญ่ที่สุดคือ เกาะลังกาวี นครหลวงคือ อลอร์สตาร์ เมืองท่าสำคัญคือ กัวลาปะหัง และกัวลาเมอร์บก
                    ในด้านศาสนานั้น แต่เดิมชาวไทรบุรี นับถือพระพุทธศาสนา ต่อมาพวกมลายูอพยพจากเกาะสุมาตรา มาอยู่ในไทรบุรี และเจ้าเมืองคนที่เจ็ดได้เปลี่ยนศาสนา ไปนับถือศาสนาอิสลาม ชาวพื้นเมืองเดิมก็พากันรับนับถือศาสนาอิสลาม พวกมลายูจึงเรียกพวกนี้ว่า พวก "สามสาม" หรือ "สยามอิสลาม"
                    ไทรบุรี เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย ต่อมาเมื่ออาณาจักรมะละกามีอำนาจขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ไทรบุรีก็ตกเป็นเมืองขึ้นของมะละกาบ้าง ของไทยบ้าง ครั้นมะละกาตกไปเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส ในปี พ.ศ.๒๐๕๔ ไทรบุรีจึงตกเป็นเมืองขึ้นของไทย
                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ไทยได้ส่งกองทัพไปปราบปรามเมืองปัตตานี พระยาไทรบุรีคนใหม่ (อับดุลลาห์) จึงเกิดความเกรงกลัวจึงหันไปติดต่อกับอังกฤษ พระยาไทรบุรีเสนอที่จะยกเกาะปีนัง ให้แก่อังกฤษ
                    ในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้า ฯ เจ้าพระยาไทรบุรี ประแงรัน พยายามจะเป็นพันธมิตรกับอังกฤษอีก แต่เจ้าหน้าที่ปีนังก็ได้รับคำสั่ง ห้ามให้ความคุ้มครองไทรบุรี ในการต่อต้านไทย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๕๙ ไทยสั่งให้เจ้าพระยาไทรบุรี ยกกองทัพเข้าโจมตีเประ และให้ส่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ไปยังราชสำนักไทย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๓ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงทราบข่าวว่า พม่าเตรียมยกทัพมาตีเมืองไทย และชวนเจ้าพระยาไทรบุรีให้ร่วมมือด้วย เมื่อสืบสวนได้ความแล้ว จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยานคร ฯ หรือพระยาศรีธรรมาโศกราช ยกกองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ไปตีเมืองไทรบุรี เจ้าพระยาไทรบุรีจึงหนีไปอยู่กับอังกฤษที่เกาะหมาก ฝ่ายพระยานคร ฯ เมื่อตีไทรบุรีได้แล้ว ก็ยังส่งกองทัพไปตีเกาะลังกาวี เมื่อเสร็จศึกแล้ว พระยานคร ฯ ได้กวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองไทรบุรี เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพ ฯ บ้าง อยู่ที่เมืองนครบ้าง แล้วแต่งตั้งบุตรชายชื่อ พระยาภักดีบริรักษ์ (แสง)  เป็นผู้รักษาเมืองไทรบุรี และต่อมาก็ตั้งให้เป็น พระยาอภัยธิเบศร์ เจ้าเมืองไทรบุรี
                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ อังกฤษส่ง นายเฮนรี เบอร์นี มาทำสนธิสัญญากับไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙  ตามสนธิสัญญาฉบับนี้ อังกฤษยอมรับความเป็นเจ้าอธิราชของไทยเหนือไทรบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๗๔ , ๒๓๗๙ และ ๒๓๘๑ เจ้าพระยาไทรบุรี อาหมัดยาอุดิน ได้พยายามขับไล่ไทยออกจากไทรบุรี แต่ไม่สำเร็จ
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เห็นสมควรที่จะยกไทรบุรีเป็นเมืองเหมือนปัตตานี แล้วแต่งตั้งให้ญาติของเจ้าพระยาไทรบุรี ซึ่งเป็นชาวมลายูปกครองกันเอง ดังนั้น จึงโปรดให้แบ่งไทรบุรีเป็นสี่เมือง โดยเลือกชาวมลายูที่มีความจงรักภักดีต่อไทย เป็นผู้ปกครองดังนี้คือ ไทรบุรี ปะลิส กะบังปาสู และสตูล แต่ละเมืองต่างก็เป็นอิสระในการปกครองตนเอง ต่างก็ขึ้นกับเมืองนคร ฯ
                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เจ้าเมืองไทรบุรี ถึงแก่อนิจกรรม พระองค์จึงโปรดเกล้า  ฯให้ตั้ง ตนกูมะหมัด บุตรคนโตของเจ้าเมืองไทรบุรี เป็น พระยาไทรบุรี แทน มีนามตามตำแหน่งว่า "พระยาฤทธิสงครามรามภักดี "
                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมเมืองไทรบุรี เมืองปะลิส และเมืองสตูล เข้าด้วยกัน และโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี เจ้าเมืองไทรบุรี เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรี สำเร็จราชการเมืองปะลิส เมืองสตูล และเมืองไทรบุรี
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ไทยตกลงมอบอำนาจเมืองขึ้นในมลายูสี่เมืองคือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้แก่อังกฤษ โดยอังกฤษจะต้องยกเลิกอำนาจศาลกงสุล และสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้เป็นการตอบแทน           ๑๔/ ๙๐๐๗
            ๒๖๖๑. ไทรโยค  อำเภอ ขึ้น จ.กาญจนบุรี มีอาณาเขตทางทิศตะวันตก จดประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นป่า และทุ่ง
                   อ.ไทรโยค เดิมเป็นเมืองเก่า ยุบเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ แล้วลดเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น อ.เมืองกาญจนบุรี แล้วยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖
 

            ๒๖๖๒. ธ พยัญชนะตัวที่ยี่สิบสี่ของพยัญชนะไทย  นับเป็นพวกอักษรต่ำ เป็นตัวที่ห้าของวรรคที่สี่ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กด ในคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต ในภาษาไทยจัดเป็นพยัญชนะพวกอโฆษะคือมีเสียงไม่ก้อง และเป็นพยัญชนะมูคะ (พยัญชนะใบ้) เพราะควบหรือกล้ำในพวกเดียวกันไม่ได้           ๑๔/ ๙๐๒๒
            ๒๖๖๓. ธง  มีคำนิยามว่า "ผืนผ้า โดยมากเป็นสี และบางอย่างมีลวดลายเป็นรูปต่าง ๆ  (๑) ใช้เป็นเครื่องหมายบอกชาติ ตำแหน่งในราชการ โดยมีกำหนดกฎเกณฑ์เป็นต้นเช่น ธงชาติ ธงแม่ทัพ ธงนายกองทหาร เป็นต้น  (๒) ใช้เป็นอาณัติสัญญาณตามแบบสากลนิยมเช่น ธงกาชาด บอกที่ตั้งกองบรรเทาทุกข์ ธงขาว บอกความจำนงขอสงบศึก หรือยอมแพ้ ธงเหลืองบอกเป็นเรือพยาบาลคนป่วย หรือเรือที่มีโรคติดต่ออันตราย ธงแดง บอกเหตุการณ์เป็นภัย  (๓) ใช้เป็นเครื่องหมายเรือเดินทะเล คณะสมาคม และอาคารร้านค้า และอาณัติสัญญาณอื่น ๆ  (๔) ใช้เป็นเครื่องตกแต่งสถานที่ในงานรื่นเริง หรือถือเข้าขบวนแห่"
                    เรื่องธงในประเทศไทยนั้น แต่ก่อนมาใช้ผ้าสีแดงเกลี้ยง ครั้นนถึงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงพระราชดำริว่า เรือหลวงกับเรือราษฎร์ ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งให้บรรดาเรือหลวงทั้งปวงทำรูปจักร อันเป็นนามสัญญาพระบรมราชวงศ์แห่งพระองค์ ลงไว้กลางธงผืนแดงนั้น เป็นเครื่องหมายใช้ในเรือหลวง
                    ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีพระบรมราชโองการ ฯ ให้ทำรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักรในเรือหลวงนั้นด้วย ส่วนเรือพ่อค้ายังใช้ธงแดงอยู่อย่างเดิม
                    ครั้นถึงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้มีพระบรมราชโองการ ฯ ให้ยกรูปจักรออกเสีย คงแต่รูปช้างเผือกบนพื้นแดง ให้ใช้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือราษฎร์ และให้ทำรูปช้างเผือกบนพื้นสีขาบขึ้นอีกอย่างหนึ่ง สำหรับชักที่หน้าเรือหลวงทั้งปวง และให้ทำธงสำหรับพระองค์ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางมีพระมหาพิชัยมงกุฎและเครื่องสูงเจ็ดชั้นสองข้าง สำหรับชักขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่ง และให้ชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้มีดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ทำธงไอยราบรรพต สำหรับใช้ชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวังในเวลาที่มิได้ประทับอยู่ในพระมหานครอีกอย่างหนึ่งด้วย
                    ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ธงสำหรับพระองค์นั้นได้โปรดเกล้า ฯ ให้เติมโล่ห์ตราแผ่นดินลงภายใต้มหาพิชัยมงกุฎด้วย ในโล่ห์แบ่งเป็นสามช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างไอยราพตอยู่บนพื้นเหลือง บอกนามสยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างข้างขวาเป็นรูปช้างเผือกอยู่บนพื้นชมพู เป็นนามสัญญาแห่งสางประเทศ ช่องล่างซ้ายเป็นรนูปกิชคดและตรงสองอันไขว้กันอยู่บนพื้นแดงบอกนามสัญญา มลายูประเทศ เบื้องบนมีจักรไขว้กันเป็นธงมหาราช
                    ต่อมาได้ตรา พ.ร.บ.ว่าด้วยแบบอย่างธงสยามขึ้นใหม่ ให้มีธงสำหรับพระองค์ ธงราชตระกูล ธงตำแหน่งข้าราชการและธงตำแหน่งนายทหารเรือ ทั้งธงนำร่องเพิ่มเติมขึ้น
                    ในรัชกาลต่อ ๆ มา ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมมาโดยลำดับ แบ่งเป็นหมวดธงได้ดังนี้
                        หมวด ๑ ธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยและชาติไทย
                        หมวด ๒ ธงพระอิสริยยศ
                        หมวด ๓ ธงทหาร
                        หมวด ๔ ธงพิทักษ์สันติราษฎร์
                        หมวด ๕ ธงอาสารักษาดินแดนและกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
                        หมวด ๖ ธงคณะลูกเสือแห่งชาติ และลูกเสือจังหวัด
                        หมวด ๗ ธงราชการทั่วไป
                        หมวด ๘ ธงแสดงตำแหน่งทั่วไป           ๑๔/ ๙๐๒๒
            ๒๖๖๔. ธชัคปริตร  โดยรูปคำแปลว่าปริตรยอดธง เป็นชื่อปริตบทหนึ่ง นับเป็นลำดับที่สี่ในเจ็ดตำนานหรือในจุลราชปริตร และเป็นลำดับที่เจ็ดในสิบสองบตำนาน หรือในมหาราชปริตร ในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ลังยุยตนิกาย สคาถวรรค สักสังยุต เรียกชื่อว่า "ธชัคสูตร"  เป็นสูตรลำดับที่สี่ในปฐมวรรคแห่งสักสังยุตนั้น
                    ปริตรบทนี้มีใจความว่าเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตุวัน กรุงสาวัตถี พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องสงครามระหว่างเทวดากับอสูรให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ฝ่ายเทวดามีท้าวสักกะเป็นจอมทัพมีเทพดำรัสว่า ขณะที่บรรดาเทวดาอยู่ในสนามรบ ถ้าเกิดความสะดุ้งกลัว ครั่นคร้าม ขนพองสยองเกล้าแล้วขอให้ดูยอดธงของบรรดาท้าวเทวราชต่าง ๆ ไปตามลำดับ แต่ความสดุ้งกลัว ฯลฯ ย่อมหายบ้างไม่หายบ้างเพราะท่านเหล่านั้นยังมีราคะ โทสะ โมหะ อยู่ ยังมีความสะดุ้งกลัว ฯลฯ และยังหลบหนีอยู่
                    แล้วพระพุทธองค์ตรัสยต่อไปว่า เมื่อพวกภิกษุไปอยยู่ในป่า โคนไม้ เรือนว่างแล้วเกิดความสะดุ้งกลัวขึ้น ฯลฯ ควรระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ไปตามลำดับ ความสะดุ้งกลัว ฯลฯ ก็ย่อมหายได้เพราะพระตถาคต พระธรรม พระสงฆ์ ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ แล้ว ไม่มีความหวาดกลัว ไม่มีความครั่นคร้าม ไม่มีความหวั่นพรั่นพรึง ไม่หนี       ๑๔/ ๙๐๒๘
            ๒๖๖๕. ธนบัตร  คือบัตรของรัฐบาลที่ใช้เป็นเงินตรา ธนบัตรได้ออกเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่สี่ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๖
                    ในปี พ.ศ.๒๔๑๗ ได้ทำอัฐกระดาษแทนอัฐดีบุก
                    ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ ได้สั่งทำธนบัตร (เงินกระดาษหลวง) ที่ประเทศเยอรมนี แต่ไม่ได้นำออกใช้
                    ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ ได้ตรา พ.ร.บ.ธนบัตรขึ้น แต่ธนบัตรยังมิใช่เงินตราของรัฐบาลทั่วราชอาณาจักร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๑ ได้ออก พ.ร.บ.เงินตรา ใน พ.ร.บ.นี้ได้ยกเลิก พ.ร.บ.ธนบัตร ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) ตลอดจน พ.ร.บ.บัญญัติเงินตราอื่น ๆ ที่ออกต่อ ๆ มา           ๑๔/ ๙๐๓๐
               ๒๖๖๖. ธนบุรี  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อ.ธนบุรี
                      ธนบุรี เดิมเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง ท้องที่ของจังหวัดอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับฝั่งพระนคร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ได้รวม จ.พระนครและ จ.ธนบุรี เข้าด้วยกัน เรียกว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี
                     ธนบุรีเคยเป็นเมืองหน้าด่านและท่าเรือตั้งแต่แรกสร้างเมื่อราว ปี พ.ศ.๒๑๐๐  ในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา ถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ฯ โปรดให้สร้างป้อม (วิชัยประดิษฐ์) ขึ้นที่ปากคลองบางหลวง ในปี พ.ศ.๒๒๐๘
                     เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งหลัง พม่าได้ยึดเมืองธนบุรีไว้เป็นที่มั่นทางทะเล ครั้นพระเจ้าตากสินกู้อิสระภาพตีเมืองธนบุรี และค่ายโพธิ์สามต้นได้จากพม่าแล้ว จึงตั้งเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี พร้อมกับทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในปี พ.ศ.๒๓๑๑
                    กรุงธนตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา โปรดให้ขุดคลองหลอดเป็นครูพระนครฝั่งตะวันออก และคูพระนครฝั่งตะวันตกที่เรียกกันว่า คลองบ้านขมิ้น คลองบ้านช่างหล่อ คลองบ้านหม้อ และคลองวัดท้ายตลาด ตอนออกคลองบางกอกใหญ่อีกตอนหนึ่ง
                    ธนบุรีเคยเป็นราชธานีของประเทศไทย เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ           ๑๔/ ๙๐๔๙
            ๒๖๖๗. ธนาคาร  เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี คำธนาคารปรากฎในปทานุกรมภาษาไทยครั้งแรกในปทานุกรม ของกรมตำรากระทรวงธรรมการ ฉบับ พ.ศ.๒๔๗๐ อธิบายความหมายไว้ว่า "ธนาคาร (มคธ) - (นาม) ที่ทำการรับกู้และให้กู้เงินตรา"
                    คำว่า "ธนาคาร" ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมีความหมายเป็นสองนัยคือ
                    ๑. ความหายแคบ ซึ่งหมายถึงแต่ธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารที่ประกอบธุรกิจรับฝากเงินเป็นสำคัญเท่านั้น
                    ๒. ความหมายกว้าง ซึ่งหมายถึงธนาคารที่ประกอบกิจการธนาคารโดยทั่วไป มิใช่แต่กิจการธนาคารพาณิชย์เท่านั้น
                    บทบาทธนาคารที่สำคัญต่อเศรษฐกิจคือ การเป็นสื่อกลางที่สำคัญอันหนึ่ง ที่จะระดมเงินจากการออม และนำเงินนั้นมาแจกแจง ให้นำไปใช้ในแหล่งที่มีความต้องการเงินทุน ธุรกิจใดจะถือว่าเป็นกิจการธนาคารหรือไม่ ต้องพร้อมด้วยองค์ประกอบสามประการคือ จะต้องดำเนินกิจการทั้งด้านรับเครดิตควบกันไปกับการให้เครดิต
                    ในประเทศไทยนอกจากธนาคารพาณิชย์แล้ว สถาบันการเงินที่ใช้คำว่า "ธนาคาร" เป็นชื่อ มีแต่ธนาคารที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายพิเศษคือ
                    ๑. ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศไทย ตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๔๘๕
                    ๒. ธนาคารออมสิน เป็นธนาคารรับฝากเงินออมทรัพย์รายย่อยเป็นสำคัญ ตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน พ.ศ.๒๔๘๙
                    ๓. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งเป็นธนาคารที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย ตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.๒๔๙๖
                    ๔. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นธนาคารที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร ตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.๒๕๐๙
                    นอกจากนี้ยังมีบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสวถาบันการเงิน ที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายพิเศษ เพื่อส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมส่วนเอกชน และเข้าขายประกอบกิจการธนาคารหนึ่งเหมือนกัน           ๑๔/ ๙๐๕๒
            ๒๖๖๘. ธนาณัติ  มีบทนิยามว่า "การส่งเงินทางไปรษณีย์ ตราสาร ซึ่งที่ทำการไปรษณีย์แห่งหนึ่ง ส่งให้ที่ทำการไปรษณีย์อีกแห่งหนึ่งจ่ายเงิน"
                    ธนาณัติมีสองประเภทใหญ่คือ ธนาณัติในประเทศ และธนาณัติระหว่างประเทศ ธนาณัติในประเทศมีสองชนิดคือไปรษณีธนาณัติและโทรเลขธนาณัติ
                    ไปรษณีธนาณัติแบ่งออกเป็นสามประเภทคือ ไปรษณีธนาณัติธรรมดา ไปรษณีธนาณัติ พ.ก.ง. และไปรษณีธนาณัติราชการ         ๑๔/ ๙๐๕๗
            ๒๖๖๙. ธนิษฐา  เป็นชื่อกลุ่มดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่ง ที่มีกล่าวถึงในวรรณคดีสันสกฤตของอินเดีย มาตั้งแต่สมัยโบราณ มีอยู่ด้วยกันสี่หรือห้าดวง แต่บางทีก็ว่ามีอยู่เพียงสามดวงเท่านั้น เรียงกันอยู่ มีรูปคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ไทยเรียกดาวกลุ่มนี้ว่า ดาวกาหรือดาวไซ ดาวกลุ่มนี้จะปรากฎอยู่กลางท้องฟ้าในเวลาเที่ยงคืน ประมาณกลางเดือนกันยายนทุกปี
                    กลุ่มดาวที่อยู่ประจำในท้องฟ้านี้ชาวอินเดียเรียกว่า นักษัตร ในคัมภีร์ปัจจุบันมีอยู่ ๒๗ กลุ่ม กลุ่มแรกได้แก่ กลุ่มดาวกฤติกา (ดาวลูกไก่) และลงท้ายด้วยกลุ่มดาวภรณี (ดาวก้อนเส้า) กลุ่มดาวธนิษฐา เป็นกลุ่มที่ ๒๒
                    ในตำราดาราศาสตร์ของไทย กลุ่มดาวในท้องฟ้ามีอยู่ ๒๗ กลุ่มเหมือนของอินเดีย แต่ขึ้นต้นด้วยกลุ่มดาวอัศรินี (ดาวม้า) และลงท้ายด้วยดาวเรววดี (ดาวปลาตะเพียน) ดาวธนิษฐาเป็นกลุ่มที่ ๒๓
                    ในทางโหราศาสตร์ของไทย ดาวธนิษฐาเป็นดาวที่มักให้โทษ เมื่อพระจันทร์เข้าเกาะกลุ่มดาวธนิษฐาแล้ว โหรมักจะห้ามมิให้ประกอบการมงคล           ๑๔/ ๙๐๖๐
            ๒๖๗๐. ธนุรเวท  มีบทนิยามว่า "วิชายิงธนู มาจากภาษาสันสกฤต"
                    คัมภีร์ธนุรเวท ถ้ากล่าวโดยเนื้อหาแล้วจึงหมายถึงตำราว่าด้วยการสงครามอย่างมีแบบแผน และรวมทั้งการต่อสู้ระหว่างบุคคล นับว่าเป็นคัมภีร์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์พอใช้ ถือว่าเป็นคัมภีร์อุปเวทหรือพระเวทรอง ซึ่งมีอยู่สี่คัมภีร์ด้วยกันคือ อายุรเวท คันธรรพเวท ธนุรเวท และสถาปัตยเวท         ๑๔/ ๙๐๖๓
            ๒๖๗๑. ธรณินทรวรมัน - พระเจ้า ในอาณาจักรขอมมีอยู่สององค์คือ
                    ๑. พระเจ้าธรณินทรวรมันที่หนึ่ง ทรงเป็นพระเชษฐาพระเจ้าชัยวรมันที่หก ได้ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าชัยวรมันที่หก ในปี พ.ศ.๑๖๕๐
                    ๒. พระเจ้าธรณินทรวรมันที่สอง ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าสุริยวรมันที่สอง ที่เมืองพระนคร ราวปี พ.ศ.๑๖๙๕ ทรงนับถือพระพุทธศาสนา           ๑๔/ ๙๐๖๘
            ๒๖๗๒. ธรณี - นาง  เป็นเจ้าแม่ประจำแผ่นดินหรือรักษาแผ่นดิน ตามคติที่เชื่อกันมาแต่โบราณก่อนพุทธกาล  น่าจะเป็นคติความเชื่อถือมาจากศาสนาพราหมณ์         ๑๔/ ๙๐๖๙
            ๒๖๗๓. ธรณีวิทยา  เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับโลก จึงเป็นวิชาที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก ในปัจจุบันจึงนิยมแบ่งออกเป็นสองสาขาใหญ่คือ
                    ๑. ธรณีกายภาพ  ศึกษากระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกทางด้านกายภาพ ตลอดจนผลที่เกิดจากกระบวนการนั้น ๆ
                    ๒. ธรณีประวัติ  ศึกษากำเนิดและประวัติของโลกว่า มีวิวิฒนาการอย่างไรจนถึงยุคปัจจุบัน
                    ทั้งสองสาขาใหญ่นี้ ยังจำแนกออกเป็นสาขาย่อยอีกมากมาย เช่น วิชาแร่ วิชาหิน ธรณีอุทกวิทยา ธรณีเคมี ธรณีกาลวิทยา วิทยาว่าด้วยธารน้ำแข็ง วิชาธรณีถ่ายภาพ บรรพชีวินวิทยา             ๑๔/ ๙๐๗๒
            ๒๖๗๔. ธรณีสงฆ์  ได้แก่ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัดคือ ที่ซึ่งให้เป็นของสงฆ์ และที่ดังกล่าวกฎหมายถือว่าเป็นสมบัติสำหรับพระศาสนา ที่ธรณีสงฆ์มีลักษณะแตกต่างจากที่วัด และที่กัลปนา กล่าวคือ ที่วัด หมายถึง ที่ตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น ๆ  ที่กัลปนา หมายถึง ที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้แก่วัด หรือพระศาสนา เช่น ค่าเช่า ค่าประกอบการ หรือดอกผลที่เกิดจากที่นั้น  โดยกรรมสิทธิ์ยังเป็นของเจ้าของผู้อุทิศเป็นที่กัลปนาอยู่ ส่วนที่ธรณีสงฆ์คือ ที่ดินที่ไม่ใช่เป็นที่ตั้งวัด แต่เป็นสมบัติของวัดซึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ และห้ามบุคคลยกอายุความขึ้นต่อสู้คดี เพราะกฎหมายถือว่า เป็นทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เช่นเดียวกับที่วัด           ๑๔/ ๙๐๘๑
            ๒๖๗๕. ธรณีสาร  ตามรูปคำ แปลว่า เสนียดจัญไร โดยความหมายถึงอุบาทว์ คือ ความอัปรีย์ จัญไร หรืออันตราย ซึ่งเกิดขึ้นเป็นลางบอกเหตุร้ายดี ที่จะให้ได้รับวิบัติและสมบัติ มีประการต่าง ๆ ตามความเชื่อถือมาแต่โบราณ ในคติของศาสนาพราหมณ์เชื่อกันมาว่า อุบาทว์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะเทพยดาแปดตน ซึ่งอยู่ประจำทิศแปดทิศ บันดาลเป็นสังหรณ์ หรือลางร้ายให้รู้ล่วงหน้าคือ
                    พระอินทร์ อยู่ประจำทิศบูรพา พระเพลิง - ทิศอาคเณย์ พระยม - ทิศทักษิณ  พระนารายณ์ - ทิศหรดี  พระพิรุณ - ทิศประจิม  พระพาย - ทิศพายัพ  พระโสม - ทิศอุดร พระไพรสพ - ทิศอีสาน           ๑๔/ ๙๐๘๔
            ๒๖๗๖. ธรรม  ตำแหน่งพระราชาคณะ ฐานันดรพระภิกษุ เป็นสมณศักดิ์ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่พระภิกษุ ผู้เป็นหัวหน้าหมู่คณะในคณะสงฆ์
                    คำว่า ธรรม แต่เดิมไม่ได้เป็นเครื่องกำหนดชั้นของพระราชาคณะ เป็นชื่อมีราชทินนามประกอบ เช่น พระธรรมโกษา พระธรรมเจดีย์ พระธรรมไตรโลก คำว่าธรรมไตรโลก แต่เดิมเป็นพระครู ตำแหน่งรองสังฆนายกชั้นสูงสุด ต่อมาจึงเป็นพระราชาคณะชั้นที่สาม ในจำนวนพระราชาคณะหกชั้น จัดเข้าเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่           ๑๔/ ๙๐๘๘
            ๒๖๗๗. ธรรมการย  ตามรูปคำแปลว่า กาย คือ ธรรม หรือ ธรรม คือ กาย ตามความหมายที่มุ่งเข้าหาตัวบุคคลได้แก่ พุทธภาวะ คือ ภาวะแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า
                    คำว่า "ธรรมกาย" ปรากฎในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท และในคัมภีร์ฝ่ายอาอริยวาท (มหายาน)  พระอรรถกถาจารย์ทั้งสองฝ่าย อธิบายความเป็นคนละอย่าง แต่โดยความคล้ายคลึงกัน และมีจุดสุดยอดอันเดียวกัน
                    ใน อัคคัญญสูตร สุตตนิบาต ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค สุตตันตปิฏก มีความตอนหนึ่งว่า "เพราะคำว่า ธรรมกาย ก็ดี คำว่า พรหมกาย ก็ดี คำว่า ธรรมภูต ก็ดี คำว่า พรหมภูติ ก็ดี เป็นชื่อของตถาคต"
                    ข้างคติของฝ่ายอาจริยวาท (มหายาน)  ตามตำนานกำหนดได้ว่า ทิฐิเรื่องธรรมกายเริ่มเกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพานประมาณ ๑๐๐ - ๑๔๐ ปี  พระสงฆ์แตกแยกออกเป็นสองพวกใหญ่ เพราะมีการละเมิดพระธรรมวินัยขึ้นในหมู่ภิกษุชาวเมืองวัชชี หนึ่ง และเพราะมีคณาจารย์รูปหนึ่งชื่อ มหาเทวะ แสดงคติใหม่ในเรื่องพระอรหันต์ขาดคุณธรรม หนึ่ง  พวกถือพระธรรมวินัยวินัยดั้งเดิมเรียกว่า สถวีระ พวกตั้งคติในธรรมและวินัยใหม่ เป็นพวกมหาสังฆิกะ
                    ทิฐิ ตรีกาย ของฝ่ายอาจริยวาท (ธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมานกาย) ท่านแสดงว่า พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ที่เกิดจากฌานของพระอาทิพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นอรูปธาตุ หรือพุทธเกษตร ห้าพระองค์ เรียกว่า ธยานีพุทธ เป็นธรรมกาย คือ พระโวโรจนพุทธ พระอักโษภยพุทธ พระรัตนสัมภวพุทธ พระอมิตาพุทธ และพระอโมฆสิทธิพุทธ           ๑๔/ ๙๐๙๒
            ๒๖๗๘. ธรรมขันธ์  โดยรูปคำ แปลว่า หมวดธรรม หรือกองธรรม หมายถึง หมวดธรรมอย่างหนึ่ง บทธรรมหรือข้อธรรมอย่างหนึ่ง ในคัมภีร์ปัญจกนิบาต อังคุตรนิกาย สุตตันตปิฎก เรียกกุศลธรรมหมวดหนึ่งว่า ธรรมขันธ์ มีห้าขันธ์คือ
                    ๑. สีลขันธ์  หมวดศีล  ๒. สมาธิขันธ์ หมวดสมาธิ   ๓. ปัญญาขันธ์ หมวดปัญญา  ๔. วิมุตติขันธ์ หมวดวิมุติ  ๕. วิมุตติญาณทัสมขันธ์ หมวดวิมุตติญาณทัศนะ
                    อีกนัยหนึ่ง ที่หมายถึง บทธรรมหรือข้อธรรมนั้น ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา  อรรถกถาวินัยปิฎก หรืออรรถกถาแห่งปิฎกอื่น ท่านกำหนดเอาข้อธรรม ข้อวินัย ที่พระพุทธเจ้า และพระสาวกแสดงตั้งแต่เวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ตราบเท่าถึงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานว่า ธรรมขันธ์ มีจำนวนถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์  ดังที่ พระอานนท์กล่าวตอบพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะว่า พระธรรม ที่ท่านจำได้ขึ้นใจนั้นได้ฟังจากพระพุทธเจ้ามีจำนวน ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ได้ฟังจากพระเถรานุเถระ เช่น พระสารีบุตร มีจำนวน ๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ (คัมภีร์เถรคาถา ขุทกนิกาย สุตตันตปิฎก)
                    รวมพระธรรมขันธ์ในพระวินัยปิฎกเป็น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ในพระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ในพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์           ๑๔/ ๙๐๙๖
            ๒๖๗๙. ธรรมจักร  โดยรูปคำแปลว่า จักร คือ ธรรม โดยความ หมายถึง การเผยแพร่ขยายของธรรม มีบทนิยามว่า "ชื่อปฐมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ แดนธรรม"  เป็นชื่อพระสูตร สูตรหนึ่งชื่อ ธัมมจักกัปวัตนสูตร  มีใจความสำคัญทีกำหนดได้เป็นห้าประการคือ
                    ๑. ตอนต้น  ทรงแสดงว่า ลัทธิสุดยอดสองอย่างคือ กามสุขัลลิกานุโยค การทำตนให้ติดอยู่ในกามคุณ ซึ่งเป็นของชาวบ้านคับแคบไม่ดี ไม่มีประโยชน์ อัตกิลมกานุโยค  การทำตนให้เหนื่อยเปล่า ก็ไม่ดี ไม่มีประโยชน์ ทั้งสองอย่างนี้เป็นลัทธิผิด ไม่สมควรดำเนินตาม
                    ๒. ทรงแสดงหลักที่ถูกต้องที่พอเหมาะพอควร (ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฎิปทา - เพิ่มเติม) ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด มีสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบคือ ความรู้ความเห็นที่ถูกต้อง เป็นต้น ซึ่งไม่เอนเอียงเข้าหาลัทธิสุดยอดทั้งสองนั้น
                    ๓. ทรงแสดงสัจธรรม ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ได้แก่ อริยสัจสี่ คือ ทุกข์  ทุกขสมุทัย  เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ทุกขนิโรธาคามินีปฎิปทา ข้อปฎิบัติที่ทำให้ถึงความดับทุกข์
                    ๔. อริยสัจสี่ นี้คือ ธรรมจักร และเป็นธรรมจักรที่หาตัวเปรียบไม่ได้ พระองค์ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน พระองค์ได้ดวงตาปรีชาญาณ หยั่งรู้ได้ด้วยพระองค์เอง ทรงหยั่งรู้ตามเป็นจริง กำหนดด้วยปริวัตรสาม อาการสิบสองอันบริสุทธิ์ หมดจด ทรงหลุดพ้นแล้ว ทรงได้ญาณทัศนะว่า วิมุติ คือ ความหลุดพ้นนี้ไม่กำเริบแล้ว ชาตินี้เป็นชาติที่สุดแล้ว ภพใหม่ไม่มี ไม่ค้องเกิดอีกต่อไป ทรงตรัสย้ำว่า พระองค์ได้ทรงปฎิวัติธรรมจักร ซึ่งยังไม่มีสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม ได้เคยปฏิวัติมาก่อน
                    ๕. เมื่อทรงแสดงธรรมจักรจบแล้ว พระโกณทัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทุกสิ่งมีความดับเป็นธรรมดา ดังนั้น (ยัง กิญจิ สมุทย ธัมมัง สัพพันตัง นิโรธ ธัมมัน ติ - เพิ่มเติม)" ชื่อว่า ตั้งอยู่ในอริยภูมิเบื้องต้น
                    เมื่อจบพระสูตรนี้ ข่าวการปฎิวัตินี้ก็แพร่กระจายไปตลอด หมื่นโลกธาตุ ฝ่ายพระโกญทัญญะ หยั่งทราบธรรมทั่วถึง หมดความสงสัยในธรรม โดยมิต้องเชื่อตามคำบอกเล่าแล้ว กราบทูลขอบรรพชา อุปสมบท พระพุทธองค์ทรงอนุญาตด้วย เอหิภิกขุวิธี ท่านเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก พระรัตนครบสามในวันนั้นด้วย           ๑๔/ ๙๑๐๐
            ๒๖๘๐. ธรรมชาติวิทยา  คือ วิชาวิทยาศาสตร์ สาขาธรรมชาติ หมายถึง เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ฯลฯ
                    ธรรมชาติวิทยาแบ่งออกเป็นสองหมวดย่อยคือ
                    ๑. วิทยาศาสตร์กายภาพ  เกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีชีวิต ได้แก่ เคมี ฟิสิกส์ ฯลฯ
                    ๒. วิทยาศาสตร์ชีวภาพ  ได้แก่ พฤกษศาสตร์ สัตววิทยา ฯลฯ           ๑๔/ ๙๑๐๔
            ๒๖๘๑. ธรรมเถึยร  เป็นข้าหลวงเดิมของเจ้าฟ้าอภัยทศ พระอนุชาต่างพระชนนีของสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ธรรมเถียร คิดแค้นพยาบาทที่เจ้าฟ้าอภัยทศ ถูกพระเพทราชา และขุนหลวงสรศักดิ์ ลวงไปสำเร็จโทษที่เมืองลพบุรี จึงได้ก่อการขบถขึ้น ตอนต้นแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ในปี พ.ศ.๒๒๓๒ โดยอ้างตนเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ รวมรวมกำลังคนจากเมืองนครนายก สระบุรี ลพบุรี ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกปราบปรามได้ ธรรมเถียรถูกจับได้ และถูกประหารชีวิต           ๑๔/ ๙๑๐๔
            ๒๖๘๒. ธรรมนูญ  เป็นกฎหมายซึ่งว่าด้วยระเบียบ และข้อบังคับ ใช้ในความหมายที่เป็นกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ เช่น รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมาย ที่จัดวางระเบียบการปกครองประเทศ
                    ในความหมายที่เป็นกฎหมาย ธรรมนูญก็ต่างกับกฎหมายทั่ว ๆ ไป เพราะเป็นกฎหมาย หรือข้อบัญญัติที่เป็นแม่บท หรือหลัก จึงไม่อาจใช้คำนี้ในความหมายที่เป็นกฎหมายทั่ว ๆ ไป           ๑๔/ ๙๑๑๒
            ๒๖๘๓. ธรรมเนียม  (ดู คำประเพณี - ลำดับที่ ....)           ๑๔/ ๙๑๑๒
            ๒๖๘๔. ธรรมบท  โดยรูปคำแปลว่า บทธรรม หรือข้อธรรม เป็นชื่อหมวดคัมภีร์หนึ่ง ในขุทกนิกาย สุตตันตปิฎฏ ธรรมบทเป็นพระพุทธพจน์ทั้งคัมภีร์ ประพันธ์เป็นสำนวนร้อยกรองคือ เป็นคาถาล้วน           ๑๔/ ๙๑๑๒
            ๒๖๘๕. ธรรมบาล  ๑. เป็นชื่อพระเถระรูปหนึ่ง เรียกกันว่า อาจารย์ธรรมบาลเถระ เป็นผู้แต่งคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา เป็นภาษาบาลีไว้เป็นจำนวนหลายเล่ม คัมภีร์เหล่านี้ได้ตกทอดมาสู่ประเทศไทย และใช้ศึกษากันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
                    ท่านมีชีวิตอยู่ประมาณ พ.ศ.๙๕๐ - ๑๐๐๐ หลังพระพุทธโฆษาจารย์ เล็กน้อย อยู่ในเกาะสิงหล ได้เคยไปศึกษาอยู่ใน สำนักมหาวิหาร ในลังกาทวีป
                    ๒. เป็นชาวลังกาคนหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่สุดในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในอินเดีย และได้รับการยกย่องว่า เป็นนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง รู้จักกันทั่วไปในนาม "อนาคาริกธรรมบาล" ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๗ ในกรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา
                    ขณะที่ท่านธรรมบาลกำลังเรียนอยยู่ที่โรงเรียนเซนต์โทมัส ได้มีเหตุการณ์ที่เป็นต้นเหตุให้ท่านเปลี่ยนวิถึชีวิตในกาลต่อมาคือการชุมนุมของชาวพุทธ เพื่อต่อต้านนักเผยแพร่ศาสนาฝ่ายตรงข้าม เพราะทนต่อการถูกกดขี่และเหยียดหยามทำลายต่อไปไม่ไหว ผู้ที่เป็นศูนย์รวมพลังของชาวพุทธครั้งนั้นก็คือพระเถระผู้ใหญ่ของศรีลังการูปหนึ่ง ท่านแสดงปาฐกถาเป็นประจำในวัดของท่าน ยังผลให้สะท้อนสะเทือนไปถึงศาสนฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรง จนฝ่านนั้นจัดให้มีการชุมนุมโต้วาทีกันขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ ผลปรากฎว่าท่านได้รับชัยชนะเด็ดขาด ข่าวนี้ได้เผยแพร่ไปทั่วศรีลังกาและปประเทศต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ธรรมบาลซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียงเก้าขวบเป็นผู้หนึ่งที่ตื่นเต้นและดีใจมากในชัยชนะนี้
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๗ ธรรมบาลได้ติดตามพันเอก เฮนรี่ สเตล ออลคอตต์ ชาวอเมริกา และนางปลาวัตสกี ชาวรัสเซีย ผู้ตั้งสมาคมเทวญาณปรัชญาทางพุทธศาสนา ไปอยู่ที่สำนักงานสาขาของสมาคมในอินเดีย เพื่อฝึกหัดงานพระศาสนาและท่านได้ตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นแบบอนาคาริกและใช้ชื่อว่า ธรรมบาล
                    เมื่อได้ช่วยงานพอสมควรแล้วท่านก็ได้เดินทางกลับลังกาและได้ร่วมกันจัดตั้งพุทธสมาคมขึ้น งานของสมาคมได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ต่อมาได้ตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นหลายแห่ง เพื่อดึงเยาวชนของชาติให้รักาาศาสนาและวัฒนธรรมของตนไว้
                    ต่อมาท่านได้จาริกไปตามชนบทจนทั่วประเทศ พยายามชักชวนเพื่อร่วมชาติให้ร่วมกันรักษาศาสนาและวัฒนธรรมของตนไว้ ปรากฎว่าได้รับผลสำเร็จมาก
                    ท่านกับพระภิกษุชาวญี่ปุ่นผู้หนึ่งได้ออกเดินทางไปพุทธคยา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ พบว่า พระวิหารพุทธคยาอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม พระพุทธรูปและภาพแกะสลักถูกทำลาย ทอดทิ้งอยู่เกลื่อนกลาด ดังที่เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ กล่าวไว้ก่อนหน้านั้น ท่านธรรมบาลจึงได้ปฏิญาณตนว่าจะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นในอินเดียให้ได้ หลังจากนั้นท่านได้เดินทางกลับศรีลังกาและร่วมกันจัดตั้งสมาคมศรีมหาโพธิ์ขึ้นที่กรุงโคลัมโบ ตัวท่านเองเป็นเลขาธิการ ได้เชิญผู้แทนจากประเทศไทย ญี่ปุ่น พม่า ศรีลังกา กัลกัตตา จิตตะกอง และยะไข่ ให้เข้าร่วมในการก่อตั้งสมาคมด้วย
                    ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ และถึงแก่มรณะภาพในปีเดียวกัน หลังจากที่ทำงานหนักเพื่อพระพุทธศาสนา ๔๐ ปี
                   ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ รัฐบาลอินเดียมีมติให้ตรากฎหมายฉบับหนึ่ง ให้พระพุทธศาสน่าอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการจัดการพระวิหารพุทธคยา ประกอบด้วยชาวพุทธสี่คน ชาวฮินดูสี่คน มีผู้ว่าราชการจังหวัดคยาเป็นประธานกรรมการ             ๑๔/ ๙๑๑๔
            ๒๖๘๖. ธรรมบาลกุมาร  เป็นชื่อบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง เป็นเทวบุตรลงมาเกิด เป็นผู้รู้ภาษานก และได้ศึกษาไตรเพทจนจบเมื่ออายุเจ็ดขวบ ต่อจากนั้นได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่ประชาชน กบิลพรหมจึงลงมาถามปัญหาสามข้อ ซึ่งเรียกกันว่า "มนุษย์สามราศรี"  ให้ธรรมกุมารแก้ ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย แต่ถ้าแก้ได้ก็จะตัดศีรษะตนเองบูชา
                   ในที่สุด ธรรมบาลแก้ปัญหาได้ กบิลพรหมจึงทำตามสัญญา โดยให้ธิดาทั้งเจ็ดตนของท่านเอาพานมารับศีรษะของท่านไว้ แล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ที่มณฑป ถ้าคันธชุลี เขาไกรลาส ครั้นถึงกำหนด ๓๖๕ วัน คือ หนึ่งปี ซึ่งถือเป็นสงกรานต์ครั้งหนึ่ง นางเทพธิดาทั้งเจ็ดตน ก็ผลัดเวรกันมาอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหม ออกไปแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุครั้งหนึ่ง แล้วกลับไปเทวโลก          ๑๔/๙๑๒๔
            ๒๖๘๗. ธรรมยุติ  เป็นชื่อเรียกย่อนิกายสงฆ์นิกายหนึ่งในพระพุทธศาสนา ชื่อเต็มว่าธรรมยุตินิกาย คณะสงฆ์นี้เกิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ครั้งทรงผนวชทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารเป็นผู้ทรงสถาปนาขึ้น แต่ในรัชกาลที่สามนั้นยังเป็นแต่สำนักเรียกว่า สำนักวัดบน รวมขึ้นอยู่ในคณะกลาง ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมประปรมานุชิตชิโนรส มาแยกเป็นคณะอิสระปกครองตนเองในคณะของตนต่อในรัชกาลที่สี่ ทรงลาผนวชออกมาครองราชย์          ๑๔/ ๙๑๒๗
            ๒๖๘๘. ธรรมยุทธิ์.แปลว่า การทำสงครามกันด้วยสติปัญญา หมายความว่า ไม่ต้องใช้ศัตราวุธ ตามหนังสืออรรถกถาชาดก มหานิบาตภาคเก้า ตอนว่าด้วยมโหสถชาดก ให้บทนิยามว่า รบด้วยเลศคือชั้นเชิงเรียกว่า ธรรมยุทธ์ มีอนุสนธิของเรื่องคือ พระเจ้าจุฬนีพรหมทัต แห่งกรุงอุตรปัญจาละ แคว้นกัปบิลรัฐ พระเจ้าจุฬนีพรหมทัตเสด็จกรีฑาทัพไปเที่ยวรบนครต่าง ๆ เอาพระราชาร้อยเอ็ดนครไว้ในอำนาจ เหลืออยู่เมืองเดียวคือกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหรัฐ มีมโหสถบัณฑิต กับอาจารย์อีกสี่คนเป็นราชปุโรหิต กองทัพพระเจ้าจุฬนีพรหมทัต ล้อมเมืองมิถิลาอยู่สี่เดือน ก็หักเอาไม่ได้ เพราะมโหสถเตรียมการป้องกันไว้ทุกวิถีทาง อาจารย์เกวัฎคิดอุบาย ให้พระเจ้าจุฬนีพรหมทัตทำเลศอย่างหนึ่งเรียกว่า ธรรมยุทธ์ แต่แพ้อุบายมโหสถ ต้องล่าทัพกลับพระนคร            ๑๔/ ๙๑๓๐
            ๒๖๘๙. ธรรมราชาตามรูปคำท่านแปลไว้สี่นัยคือ นัยหนึ่งว่า เพราะประพฤติตนอยู่ในธรรม นัยสองว่า เพราะชาวโลกพร้อมทั้งเทวดา และมนุษย์ยอมรับนับถือยกย่องโดยธรรม นัยสามว่า เพราะรุ่งเรืองโดยธรรม นัยสี่ว่า เพราะปกครองพศกนิกรโดยธรรม มีบทนิยามว่า ไว้สามนัยคือ  ๑.พระราชาแห่งธรรม คือ พระพุทธเจ้า  ๒. พญาโดยธรรม  ๓. พญายม
                นอกจากที่กล่าวมาแล้วคำว่าธรรมราชา ยังเป็นชื่อสมณศักดิ์พระราชาคณะอีก
                เฉพาะที่เป็นพระนามสำหรับเรียกพระเจ้าแผ่นดินมีมาแต่สมัยสุโขทัย และเรียกเฉพาะเป็นองค์ ๆ ไปเช่น พระธรรมราชาที่ ๑  พระธรรมราชาที่ ๒  พระธรรมราชาที่ ๓ และลงยศเรียกเต็มว่า "มหาธรรมราชา"

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |