| หน้าแรก | หน้าต่อไป | พระพุทธมหามณีรัตน์ปฏิมากร | พระพุทธชินราช | พระพุทธสิหิงค์ | พระพุทธเทวปฏิมากร |
| พระศรีสากยมุนี | พระพุทธชินสีห์ | พระศาสดา | พระโต (วัดบวรนิเวศวิหาร) | พระสิทธารถ | หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ |
| พระพุทธไตรรัตนนายก | หลวงพ่อวัดมงคลบพิตร | พระไสยา | พระนอนจักรสีห์ | พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก |
| พระนอนวัดขุนอินทประมูล | พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ | พระนอนวัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ) | พระพุทธโสธร |
| หลวงพ่อเพชร | หลวงพ่อบ้านแหลม | หลวงพ่อโตวัดอินทร์ |
พระพุทธชินราช
ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารใหญ่ด้านทิศตะวันตกของวัด ซึ่งเป็นด้านหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หน้าตักกว้าง ๕ ศอก คืบ ๕ นิ้ว
ผันพระพักตร์ไปทางแม่น้ำ พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทรงเคารพนับถือสักการะบูชา
มาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังมีรายพระนามที่ปรากฎในพงศาวดาร คือ สมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร สมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าบรมโกฐ พระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี องค์ต่อ ๆ มาเกือบทุกพระองค์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสรรเสริญไว้ว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศาสดา ทั้ง ๓ พระองค์ เป็นพระพุทธปฏิมากรดีล้ำเลิศ ประกอบไปด้วยพุทธลักษณะอันประเสริฐ มีสิริอันเทพยดาหากอภิบาลรักษา  ย่อมเป็นที่สักการะบูชานับถือแต่โบราณ

พระพุทธสิหิงค์
เป็นพระพุทธรูปหล่อหุ้มทอง ปางสมาธิ ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้ากรุงลังกาองค์หนึ่งได้สร้างขึ้นไว้ ต่อมาเจ้านครศรีธรรมราช ได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้มีผู้นำไปไว้ที่ เมืองกำแพงเพชร และที่เชียงราย  เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานที่เชียงใหม่ พร้อมกับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา ๑๐๕ ปี เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ชาวเชียงใหม่ซึ่งสมัยนั้นยังอยู่ข้างพม่า ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่
เมื่อมณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทย ในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท จึงได้โปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพ ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘ โดยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระบวรราชวัง

พระพุทธเทวปฏิมากร
เป็นพระประธานในอุโบสถวัดพระเชตุพน ฯ ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๕ ศอก คืบ ๔ นิ้ว เดิมเป็นพระประธานอยู่ที่ วัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์ปัจจุบัน) แขวงจังหวัดธนบุรี เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างวัดโพธาราม ให้เป็นวัดใหญ่สำหรับพระนคร และได้ทรงขนานนามใหม่ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระองค์ได้ทรงเลือกหาพระพุทธรูป ที่มีพุทธลักษณะงามสมควรเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัด จึงได้พบและเลือกพระพุทธรูปองค์นี้จากวัดศาลาสี่หน้า ดังกล่าว

พระศรีสากยมุนี
เป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม หล่อด้วยโลหะ หน้าตักกว้าง ๓ วา ๑ คืบ นับเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในยุคก่อน ๒๕ พุทธศตวรรษ เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวง
วัดมหาธาตุ สุโขทัย สร้างสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ให้อัญเชิญมายังกรุงเทพ ฯ ได้ทรงมีพระราชดำริจะสร้างพระอาราม ที่มีพระวิหารใหญ่อย่างวัดพนัญเชิงที่อยุธยา โดยประดิษฐานไว้กลางพระนคร เมื่อชลอพระศรีศากยมุนีมาถึงกรุงเทพ ฯ แล้วให้ประทับท่าสมโภช ๗ วัน แล้วจึงทรงชักเลื่อนองค์พระทางสถลมารค และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินตามขบวนแห่พระในรัชสมัยของพระองค์ ทำได้เพียงอัญเชิญองค์พระขึ้นตั้งไว้ ตัววิหารลงมือสร้างในรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระพุทธชินสีห์
สร้างขึ้นคราวเดียวกันกับพระพุทธชินราช และพระศาสดา เป็นพระพุทธรูปสำคัญพระองค์หนึ่งของหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกมาแต่ต้น ต่อมาพระวิหารชำรุดทรุดโทรมลง ขาดการปฏิสังขรณ์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ โดยประดิษฐานไว้มุขหลังของพระอุโบสถที่เป็นจตุรมุข ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยเมื่อยังทรงผนวช และครองวัดบวรนิเวศวิหารอยู่ ได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพนับถือพระพุทธชินสีห์มาก ได้โปรดให้กะไหล่รัศมีองค์พระด้วยทองคำ ฝังพระเนตรฝังเพชรที่พระอุณาโลม แล้วปิดทองทั้งองค์พระ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๓ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗ ได้โปรดให้หล่อฐานด้วยทองสัมฤทธิ์ ปิดทองใหม่ทั้งองค์พระและฐาน แล้วให้มีการสมโภช ๕ วัน



| หน้าแรก | หน้าต่อไป | บน | พระพุทธมหามณีรัตน์ปฏิมากร | พระพุทธชินราช | พระพุทธสิหิงค์ | พระพุทธเทวปฏิมากร |
| พระศรีสากยมุนี | พระพุทธชินสีห์ | พระศาสดา | พระโต (วัดบวรนิเวศวิหาร) | พระสิทธารถ | หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ |
| พระพุทธไตรรัตนนายก | หลวงพ่อวัดมงคลบพิตร | พระไสยา | พระนอนจักรสีห์ | พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก |
| พระนอนวัดขุนอินทประมูล | พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ | พระนอนวัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ) | พระพุทธโสธร |
| หลวงพ่อเพชร | หลวงพ่อบ้านแหลม | หลวงพ่อโตวัดอินทร์ |