| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

ไประนอง(๔)

            ระนองนั้นได้ชื่อว่า มีพระมหากษัตริย์เสด็จมาประทับแรมมากถึง ๔ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒
            ทั้งสามพระองค์นี้ได้เสด็จมาประทับที่พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จมาระนองเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาประทับแรมที่เมืองระนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ ขณะนั้นเจ้าเมืองระนองคือ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิม ก๊อง ณ ระนอง) เป็นบุบตรคนที่ ๒ ของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ต้นตระกูล ณ ระนอง ได้สร้างพลับพลาที่ประทับรับเสด็จและได้ขอรับพระราชทานชื่อ
            ในพระราชนิพนธ์ว่าด้วยเมืองระนอง ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า "พระยาระนองขอให้ตั้งชื่อพลับพลานี้เป็นพระที่นั่ง ด้วยเขาจะรักษาไว้เป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา และขอให้ตั้งชื่อถนนด้วย จึงได้ให้ชื่อพระที่นั่งว่า "รัตนรังสรรค์" เพื่อจะใให้แปลกล้ำพอมีชื่อผู้ทำเป็นที่ยินดี เขาที่ทำเป็นวังนี้ใให้ชื่อว่า "นิเวศน์คีรี" ถนนตั้งแต่ท่าขึ้นมาจนสุดตลาดเก่า แปดสิบเส้นเศษใช้ชื่อว่า "ถนนท่าเมือง" ถนนทำใหม่ตั้งแต่สามแยกตลาดเก่า ไปตามหน้าบ้านใหม่พระยาระนองถึงตะพานยูง เป็นถนนใหญ่เกือบเท่าถนนสนามไชย ให้ชื่อว่าถนน "เรืองราษฎร์" ถนนตั้งแต่ตะพานยูงออกไปจนถึงที่ฮ่องซุ้ยพระยาดำรงสุจริต สัก ๗๐ เส้นเศษ หย่อนหน่อยหนึ่งให้ชื่อ "ถนนชาติเฉลิม" ถนนตั้งแต่ถนนไปบ่อน้ำร้อนถึงเหมืองในเมืองให้ชื่อ "ถนนเพิ่มผล" ถนนทางไปบ่อน้ำร้อน ๗๐ เส้นเศษให้ชื่อถนน "ชลระอุ" ถนนหน้าวังซึ่งเป็นถนนใหญ่ให้ชื่อ "ถนนลุวัง" ถนนออกรอบตลาดนัดต่อกับถนนลุวังกับถนนเรืองราษฎร์ เป็นถนนใหญ่ระยะทางสั้นให้ชื่อ "ถนนกำลังทรัพย์" ถนนตั้งแต่ถนนเรืองราษฎร์ถึงถนนชลระอุ ผ่านหน้าศาลชำระความซึ่งทำเป็นตึกสี่มุกขึ้นใหม่ยังไม่แล้ว ให้ชื่อ "ถนนดับคดี" ถนนแยกจากถนนเรืองราษฎร์ไปทางริมคลองให้ชื่อ "ถนนทวีสินค้า" กับอีกถนนซึ่งพระยาระนองคิดจะทำออกไปถึงตำบลหินดาด ซึ่งเป็นทางโทรเลข ขอชื่อไว้ก่อนจึงได้ชื่อว่า "ถนนผาดาด" ถนนซึ่งเขาทำและได้ให้ชื่อทั้งปวงนี้ เป็นถนนที่น่าจะได้ชื่อจริง ๆ ให้ถมด้วยศิลากรวดแร่แข็งกร่าง และวิธีทำท่อน้ำของเขาเรียบร้อยทุกหนทุกแห่ง ฝนตกทันใดนั้น จะไปแห่งใดก็ไปไม่ได้..."
            ชื่อถนนทุกสายที่พระราชทานชื่อให้ไว้นั้น หากเอามาเขียนเรียงกันไว้จะเห็นว่าคล้องจองกันไปหมด เริ่มจากถนนท่าาเมือง เรืองราษฎร์ ชาติเฉลิม เพิ่มผล ชลระอุ ลุวัง กำลังทรรัพย์ ดับคดี ทวีสินค้า และผาดาด รวม ๑๐ สาย
            ในพระนิพนธ์ได้กล่าวไว้ ๑๐ สาย แต่ได้พระราชทานไว้ทั้งสิ้น ๑๓ สาย อีก ๓ สายคือ ถนนราชพาณิชย์ ถนนกิจผดุง และถนนบำรุงสถาน คล้องจองกับอีก ๑๐ สาย
            พระที่นั่งรัตนรังสรรค์  นี้ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ได้ดัดแปลงก่อสร้างเป็นเรือนตึก ๒ ชั้น แล้วใช้อาคารหลังนี้เป็นศาลากลางเมืองระนอง ซึ่งต่อมาได้รื้อออกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ เพื่อสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดใหม่ แต่ในปัจจุบันได้สร้างพระที่นั่งจำลองขึ้นใหม่ บนเนินเขาในเส้นทางจากรีสอร์ทเขานางหงส์ มาผ่านสุสานเจ้าเมือง จะมาผ่านพระที่นั่งทางซ้ายมือ งดงาม สง่า อยู่บนเนินเขา
            เส้นทางนี้จะผ่านต่อไปยังในเมือง ซึ่งยังเป็นถนนแคบ ๆ และมีตึกเก่าแก่อายุประมาณกว่า ๑๐๐ ปี ลักษณะการก่อสร้างมีโครงสร้างแข็งงแรง ศิลปะแบบจีนผสมตะวันตก มีทั้งอาคารเดียวและติดต่อกันเป็นแนวยาว มีซุ้มประตูโค้ง เสาอาคารต้นโตและแข็งแรง ชั้นบนประตูและหน้าต่าง มีรูปทรงโค้งกลมกลืนกับชั้นล่าง
            ภายในตัวเมืองเก่านี้จะออกไปเชื่อมต่อกับถนนสายที่ไปยังท่าเรือ และท่าเรือข้ามไปเกาะพยาม (มีป้ายบอก) สายไปท่าเรือ เป็นถนนสี่เลน และข้างซ้ายของถนนจะมีร้านอาหาร หลายร้าน ลองชิมดูร้านหนึ่งในยามเช้าเป็นร้านเป็ดย่าง ไม่มีชื่อนอกจากเขียนว่าเป็ดย่าง อยู่ติดกับอาคารมูลนิธิระนองสงเคราะห์ เป็ดย่าง หมูแดง อร่อยมาก ๆ และยังมีมะระตุ๋น ฟักตุ๋น เป็นตุ๋นยาจีน ร้านรวงแถวย่านท่าเรือนี้จะอธิบายอะไรจะใช้ ๒ หรือ ๓ ภาษาคือไทย พม่า และอังกฤษ เพราะลูกจ้างเป็นชาวพม่ามากมาย
            พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บนเนินประวัติศาสตร์ ทางทิศตะวันออกของศาลากลาง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗
            พระบรมราชานุสาววรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณสนามกีฬาระนอง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓
            ศาลหลักเมืองจังหวัดระนอง เทศบาลเมืองระนอง ได้ริเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ ส่วนไม้ที่เป็นเสาหลักเมืองนั้น เป็นไม้จากต้นราชพฤกษ์อายุร่วมร้อยปี
            ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เดิมเรียกว่า พระเสื้อเมือง ริมถนนเพชรเกษมติดแม่น้ำปากจั่น
            หอพระประจำจังหวัดระนอง  อยู่ทางทิศใต้ของศาลากลางจังหวัดประดิษฐานรูปพระเกจิอาจารย์ ๙ องค์ หลวงพ่อบรรณ หลวงพ่อจันทร์ หลวงพ่อเบี้ยว หลวงพ่อนุ้ย หลวงพ่อติ้ว หลวงพ่อน้อย หลวงพ่อรื่น หลวงพ่อลอย และหลวงพ่อคล้าย
            บ่อน้ำพุร้อน  ระนองมีบ่อน้ำพุร้อนหลายบ่อ แต่ที่รู้จักและนิยมมาท่องเที่ยวกันตั้งแต่แรกนั้นคือ บ่อน้ำพุร้อนรักษะวาริน แต่ปัจจุบันมีหลายบ่อที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และบริการอาบน้ำแร่ร้อน หากเรามาจากชุมพรตามถนนเพชรเกษม และไม่เลี้ยวขวาเข้าไปยังรีสอร์ท คงมาตามทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ เรื่อยมาจนเข้าชานเมืองระนอง จะพบโรงแรมใหญ่ ซึ่งต่อน้ำแร่ร้อนมาบริการถึงห้องน้ำในห้องพัก เป็นโรงแรมใหญ่ที่ตั้งก่อนโรงแรมอื่น เดี๋ยวนี้ริมถนนเพชรเกษมมีหลายโรงแรม แต่โรงแรมอื่นเข้าใจว่า ไม่ได้ต่อท่อน้ำร้อนมายังห้องอาบน้ำในห้องพัก เพราะอาจจะอยู่ไกลไปก็ได้ หากมาตามเส้นทางดังกล่าว ก่อนถึงโรงแรมจันทร์สมธารา สักประมาณ ๕๐ เมตร จะมีถนนแยกซ้ายคือ ถนนชลระอุ ไปยังบ่อน้ำร้อนรักษะวาริน บ่อน้ำร้อนผุดขึ้นมาจากลำธาร อยู่ด้านขวาของถนนมี ๓ บ่อคือ บ่อพ่อ บ่อแม่ และบ่อลูก แต่เป็นบ่ออยู่กลางแจ้ง ไปอาบเห็นจะไม่เหมาะ แต่มีสถานที่อาบน้ำร้อน บริการหลายแห่ง เช่น ใกล้บ่อน้ำร้อนก็มีของเทศบาลมาจัดไว้ ไม่ไกลกันก็มีของ วัดตโปทาราม ดูจะมีผู้มาใช้บริการมากกว่าแห่งอื่น เพราะสถานที่ดี ราคาย่อมเยา เมื่อก่อนคิดค่าบริการครั้งละ ๑๐ บาท เดี๋ยวนี้ไม่ทราบว่าขึ้นราคาไปหรือเปล่า ไม่ได้แวะอาบเลยไม่ทราบราคา และอีกแห่งหนึ่งที่บริการเพื่อการรักษาโรคด้วยคือ ที่โรงพยาบาลระนอง บ่อน้ำร้อนอยู่ติดถนนและติดธารน้ำแร่ที่ไหลมาจากเขา ไม่เคยลงไปแช่ในลำธาร แต่เข้าใจว่า อย่างน้อยน้ำก็น่าจะอุ่น
            ระนองแคนย่อน  จากบ่อน้ำร้อนรักษะวาริน วิ่งไปตามถนนที่เลียบลำธาร และชายเขาไปอีกประมาณ ๙ กม. ธาน้ำจะไหลอยู่ทางด้านซ้ายเป็นส่วนใหญ่ และจากการที่หินบนภูเขาถล่มลงมาขวางทางน้ำ ทำให้เพิ่มความงดงามของธารน้ำ หากน้ำมากก็จะไหลลดหลั่นกันเหมือนน้ำตก เมื่อไปถึงระนองแคนย่อน ทางขวามือจะเห็นเป็นบึงน้ำใหญ่ น้ำจะอยู่ลึกจากถนนประมาณ ๓๐ เมตร ล้อมรอบด้วยหน้าผาสูงชัน แต่สามารถเดินขึ้นไปตามชายเขาได้ สูงพอสมควร ผมเคยตะกายขึ้นไป แต่ไปคราวนี้เห็นจะไม่ยอมตะกายขึ้น กลัวหัวใจวาย ร่างกายไม่อำนวย มองลงมาที่พื้นน้ำจะสวยมาก ริมบึงน้ำมีศาลา ลอยในน้ำ ๒ หลัง ไปนั่งเล่น ไปนั่งกินอาหารได้ และที่สำคัญคือ ในบึงนี้มีปลามากมาย เราไปเดินริมบึงสักครู่เดียว เด็กจะสะพายย่าม มาขายอาหารปลาถุงละ ๑๐ บาท โปรยลงไปตรงไหน ปลามากมายก่ายกอง จะมาแย่งอาหารกัน ดูแล้วเพลินดี ร้านอาหารมีเหมือนกัน ไม่ทราบว่าเปิดทุกวันหรือไม่ วันที่ไปไม่เปิดสักร้านเดียว ซื้อไปกินดีกว่า
            ร้านขนมจีน ร้านนี้ไปกินยามเช้าจะดีที่สุด เพราะมีปาท่องโก๋ เอามาราดน้ำยาได้ด้วย ไปสาย "หมด" ขนมจีนและข้าวแกง รวมทั้งขนมท้องถิ่น จะมีขายไปจนมื้อเที่ยง มีเท่าไร ขายแค่นั้น คือ ไม่ทำเพิ่มอีก ประมาณเที่ยงเศษ ๆ ก็หมดแล้ว มื้อวันนี้ผมไปกินมื้อเที่ยง กลับจากไประนองแคนย่อน ก็มาแวะเลย หวิดอด ทุกทีเคยไปกินมื้อเช้า วันนี้มื้อเช้าไปกินเป็ดย่าง หมูแดง ที่ร้านข้างมูลนิธิเสียก่อน แล้วมาบ่อน้ำร้อน
            เส้นทางไปร้านขนมจีน ผมจะบอกเส้นที่ไปง่ายแต่อ้อมสักนิด สำหรับคนในเมืองหากมาจากชุมพร ผ่านหน้าโรงแรมจันทร์สมธารา  มาผ่านทางแยกเข้าสนามกีฬา ผ่านปั๊มน้ำมันเอสโซ่ พอพ้นศูนย์ ISUZU กม.๖๑๔ ก็กลับรถ เลั้ยวซ้ายเข้าถนน จากจุดเลี้ยวไปประมาณ ๔๐๐ เมตร ทางขวาจะเป็นสถานีอุตุ ทางซ้ายเป็นถนนให้เลี้ยวซ้าย ร้านอยู่ทางซ้ายมือเป็น ศาลาหลังใหญ่ โล่ง นั่งสบาย มีแกงตั้งไว้หลายหม้อ จะสั่งข้าวราดแกง หรือสั่งใส่ชามมาก็ได้ ที่ลืมไม่ได้คือ "ไข่ต้ม"
            บนโต๊ะ ตั้งถาดใส่ผักเหนาะไว้ถาดใหญ่ มีผ้าขาวคลุมไว้ ให้กินฟรี ในถาดใหญ่แบ่งใส่จานเล็กๆ แยกเอาไว้ เช่น ผักดองต่าง ๆ ผักสด แตงดอง ผักกาดดอง ถั่วงอกดองและสด ผักบุ้งดอง เป็นต้น ส่วนน้ำราด สั่งใส่ถ้วยมามี น้ำยา น้ำพริก แกงเขียวหวาน และลืมไม่ได้คือ แกงไตปลา ตัวนี้จะเป็นตัวชูรส และเน้นความเผ็ดอร่อย ขนมจีนจะจัดใส่จานมาให้ จัดการเอาขนมจีนในจานราดด้วยน้ำยาเสียก่อน อย่าลืมเหยาะไตปลาลงไปนิดหนึ่ง จะอร่อยยิ่งขึ้น ตักใส่ปากแล้ว ตามด้วยผักสด หรือผักดอง
            จานที่ ๒  ดับเผ็ดด้วยขนมจีนน้ำพริก จานนี้ไม่ต้องเติมไตปลา
            จานที่ ๓  (ไม่ได้ให้กินขนมจีนหมดจาน ที่เขาจัดมาให้แบ่งเอาก็ได้)
            ขนมจีนราดด้วยแกงเขียวหวาน ตามด้วยการเหยาะไตปลา ตามด้วยผักดอง
            อิ่มแล้ว เดินไปที่โต๊ะขนมหวาน ไปหยิบเอาข้าวเหนียวปิ้ง ไส้กล้วย ไส้เผือก ใส่จานมากินเป็นของหวาน
            ยังไม่อิ่มขนม สั่งสาคูเปียกมะพร้าวอ่อน ราดด้วยกะทิสด ยังไม่พอสั่งมาเป็นกองกลาง กล้วยไข่เชื่อมราดกะทิสด หอม หวาน อร่อยจริง ๆ
            จ่ายเงินด้วยความสบายใจ เพราะขายราคาย่อมเยา

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |