| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

    นครประวัติศาสตร์
                พระประแดงแหล่งชนรามัญ   เมืองพระประแดงเดิมมีประวัติศาสตร์เก่าแก่มาก่อนปี พ.ศ.๑๑๐๐  เคยเป็นที่อยู่ของชาวละว้า  ต่อมาเมื่อขอมเข้ามาปกครอง ก็สร้างเมืองและโบราณวัตถุ สำคัญไว้เป็นจำนวนมาก ในอดีตพระประแดงเป็นเมืองปากแม่น้ำ ขอมใช้เป็นเมืองหน้าด่าน
                เมื่อขอมเสื่อมอำนาจ ไทยได้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรอยุธยามาตามลำดับ พระประแดงก็ยังคงเป็นเมืองด่านชั้นใน ทางทิศใต้
                เมืองพระประแดง ลดความสำคัญลงในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม  (พ.ศ.๒๑๖๓ - พ.ศ.๒๑๘๑)   โดยได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเมืองสมุทรปราการเป็นเมืองปากน้ำแทน และพระประแดงก็ถูกยุบในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์
                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่ ปากลัด  และได้โปรดเกล้า ฯ ให้ครอบครัวมอญ พวกพระยาเจ่งจากเมืองปทุมธานี กว่าสามร้อยคนไปอยู่  บุตรหลานพระยาเจ่งซึ่งเป็นต้นตระกูลคชเสนี ได้เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์มาถึงเก้าคน
                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อนครเขื่อนขันธ์ เป็นจังหวัดพระประแดง

                ย่านประวัติศาสตร์ปากน้ำ  เมืองสมุทรปราการเป็นเมืองปากแม่น้ำเจ้าพระยา คอยป้องกันข้าศึกไม่ให้เข้ามารุกรานเมืองหลวง ทางปากแม่น้ำมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสริมสร้างให้เกิดเอกลักษณ์ของไทยไว้ที่ปากน้ำ ต่อจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้นราชวงศ์จักรีคือ เสริมพระสมุทรเจดีย์ให้สูงสง่าให้เป็นที่ประทับใจ แก่ผู้พบเห็นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อเดินทางมาสู่ประเทศไทยทางปากน้ำ  นอกจากนั้นยังโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระที่นั่งและอาคารต่าง ๆ ที่เมืองนี้
                ตัวเมืองชั้นในในอดีต มีพื้นที่ประมาณ ๓๖๐ ไร่  ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีผู้คนเข้ามาอาศัยทำมาหากิน แม้แต่คนจีนก็อาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่เกิน ๕ ไร่  แต่ไม่ให้กรรมสิทธิในที่ดิน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๔  เกิดไฟไหม้ปากน้ำ ในปี พ.ศ.๒๔๘๕  จึงมีผู้คนเข้าถือครองที่ดิน ปี พ.ศ.๒๕๐๐  จึงเปลี่ยนจาก นส.๓  เป็นโฉนด  แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นที่ราชพัสดุ
                    พระที่นั่งสมุทาภิมุข   ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกว่าราชการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                    พระที่นั่งสุขไสยาสน์   ใช้สำหรับเป็นที่ทรงธรรมและบรรทม
                    พระตำหนักนาฎนารีภิรมย์  ใช้เป็นตำหนักที่พักของนางสนมกำนัล ที่ตามเสด็จ
                    โรงสัณฐาคาร   ใช้เป็นโรงมหรสพ
                    โรงศึกษาสงคราม   เป็นโรงที่พักทหาร
                    ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้พระราชทานพระที่นั่งสมุทาภิมุข  เป็นศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ และที่ว่าการอำเภอเมือง ฯ  ส่วนพระที่นั่งสุขไสยาสน์ ให้เป็นที่ทำการไปรณีย์ โทรเลข โทรศัพท์แห่งแรกของประเทศสยาม  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑
                    สิ่งก่อสร้างและย่านประวัติศาสตร์ของเมืองสมุทรปราการ ปัจจุบันไม่เหลือซากให้เห็น
            แหล่งอุตสาหกรรม   ปัจจุบันจังหวัดสมุทรปราการเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย รองลงมาจากกรุงเทพ ฯ
            สถาปัตยกรรมดีเด่น

                พระสมุทรเจดีย์   เป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด เริ่มสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ตั้งอยู่ที่ตำบลบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ชาวบ้านเรียก พระเจดีย์กลางน้ำ
                ในการถวายพระเพลิงศพของพระองค์  เจ้าอนุเวียงจันทร์มาช่วยงาน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เกณฑ์ชาวเวียงจันทน์ผลัดละ ๑,๐๐๐ คน  ไปตัดต้นตาลจากเมืองสุพรรณบุรี และเมืองเพชรบุรี มาทำเป็นรากฐานองค์พระสมุทรเจดีย์
                ในปี พ.ศ.๒๓๘๐  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระมหาเจดีย์ขึ้นตามแบบที่เขียน  เมื่อสร้างเสร็จเป็นพระเจดีย์ทรงย่อมุมไม้สิบสอง  ฐานกว้าง ๑๐ วา  สูง ๙ ศอก  ยางเหลี่ยมละ ๕ วา สูง ๒ ศอกคืบ  หน้ากระดานองค์พระเจดีย์สูง ๙ วา ๓ ศอก  พร้อมสร้างศาลารายสี่หลัง เป็นเก๋งจีน รวมค่าก่อสร้าง ๑๓๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๙ บาท ใช้เวลาสร้าง ๒๑๑ วัน  บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่คอระฆังขององค์พระสมุทรเจดีย์
                ในปี พ.ศ.๒๔๐๓  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ถ่ายแบบเจดีย์ลอมฟาง มาจากกรุงศรีอยุธยามาสวมทับพระเจดีย์องค์เดิม จนมีความสูงเพิ่มขึ้นเป็น ๑๙ วา ๒ ศอกคืบ   และให้สร้างพระวิหารใหม่หันหน้าออกทะเล สร้างพระเจดีย์สี่องค์ พระแท่นสำหรับวางเครื่องบูชา  หอระฆังและหอเทียนอย่างละ ๑ คู่ เป็นเงิน ๕๘๘ ชั่ง
                ลักษณะองค์พระสมุทรเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานล่างย่อมุมไม้สิบสอง  ต้นแบบเป็นอย่างสุโขทัย เพิ่มเติมอย่างรัตนโกสินทร์ รอบนอกเป็นกำแพงแก้ว มีช่องทางเดินสำหรับทำทักษิณาวรรต  ฐานล่างเจาะเป็นซุ้มช่อง ๔๐ ช่อง แต่ละช่องมีช้างเผือกยืนหันหน้าออก บันไดทางขึ้นสู่ชั้นที่ ๒ และ ๓ อยู่ทางด้านทิศตะวันตก  และตะวันออก ส่วนมุมทั้งสี่เป็นเจดีย์รูปพระเกี้ยว  ชั้นนี้มีทางเดินโดยรอบองค์พระเจดีย์  ที่ฐานพระเจดีย์ชั้นนี้มีซุ้มจระนำ ขึ้นไปเป็นฐานล่างของพระเจดีย์ทรงกลม  นับแต่ฐานบัวคว่ำบัวหงาย ขึ้นไปถึงองค์ระฆัง เสาหาน ปล้องไฉน  ส่วนยอดสุดตรงหยาดน้ำค้าง สร้างอย่างได้สัดส่วนสวยงาม
    รูปปั้น อนุสาวรีย์

                พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ขนาดเท่าองค์จริง ประทับยืนบนแท่นหินอ่อน ตั้งอยู่ในบริเวณศาลากลางจังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา  สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕  ทางการจังหวัดจัดให้มีพิธีวางพวงมาลา เป็นประจำทุกปี ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม

                พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  สร้างขึ้นเพื่อเน้นความสืบเนื่องของป้อมพระจุลจอมเกล้า ฯ  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕  องค์พระบรมรูป สูง ๔.๒๐ เมตร หรือสองเท่าของพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมพลเรือ สวมพระมาลา ส่วนฐานพระบรมรูปมีขนาด ๙๓๕  ตารางเมตร  มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่เบื้องหน้า ใช้งบประมาณ ๓๒ ล้านบาท
                ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ด้านหลังเป็นห้องโถง ปรับอากาศขนาดใหญ่ ใช้แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการสร้างป้อม ในเมืองสมุทรปราการ จำนวน ๒๑ แห่ง มีหุ่นจำลอง การยุทธนาวีในเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒  ที่กองเรือฝรั่งเศสรุกรานไทย

                พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย   พระบรมรูปประทับนั่งในเครื่องทรงพระมหากษัตริย์ บนพระที่นั่งกง สร้างด้วยสำริด น้ำหนัก ๕๗๐ กิโลกรัม  จัดแท่นที่ประทับไว้ในศาลาทรงยุโรป ด้านทิศเหนือของพระสมุทรเจดีย์ แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นหินอ่อน ยาว ๑๓๒ เซนติเมตร  กว้าง ๙๗ เซนติเมตร สูง ๑๖๐ เซนติเมตร ประทับนั่งผินพระพักตร์ทอดพระเนตร ออกไปทางปากอ่าวไทย
            สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จ ฯ แทนพระองค์ทำพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙
    สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง

                ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ  ได้มีพิธีฝังหลักเมือง เมื่อปี พงศ.๒๓๖๒  ศาลหลักเมืองเดิม เป็นอาคารทรงไทย ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรม จึงได้มีการเปลี่ยนรูปแบบจากเดิม มาเป็นแบบศาลเจ้าพ่อของจีน เจ้าพ่อในศาลหลักเมืองเป็นรูปปั้น ขุนนางจีนโบราณในเครื่องแต่งกายเต็มยศ
                      เสาหลักเมือง  อยู่ทางเบื้องซ้ายของเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นไม้กลึงกลมสูงประมาณ หกศอกเศษ ยอดเสากลึงเป็นดุม ลดหลั่น ยอดเป็นพุ่มแหลมเป็นอย่างไทย  แต่มีการแกะสลักเป็นมังกรพันเสาหลักเมืองขึ้นไป

                ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดง   ทำพิธีฝังอาถรรพ์หลักเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๘  ปัจจุบันศาลนี้มีผู้ดูแลเป็นชาวจีน  บรรยากาศจึงเป็นแบบจีน ไม่มีความเป็นมอญเหลืออยู่  มีแต่เพียงรูปบูชา เป็นรูปพระพิฆเนศ ซึ่งคงจะให้สอดคล้องกับนามของพระยาเจ่ง ที่แปลว่า ช้าง

                ศาลพระเสื้อเมือง  ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของทางเข้าตลาดสดพระประแดง ภายในศาลมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติประดิษฐานอยู่ เดิมศาลแห่งนี้เคยใช้เป็นที่สาบานตน และปฏิญาณตนของทหารในกองทัพเรือที่ ๓ ต่อมามีการรื้อป้อมที่อยู่รอบ ๆ ออกไป
               ต่อมาศาลพระเสื้อเมืองชำรุดไปมากจึงได้มีการเรี่ยไรเงินทางงภาคเอกชนร่วมกับทางราชการ สร้างศาลขึ้นมาใหม่ตามแบบของกรมศิลปากร

                เครื่องบินบนเรือรบหลวงแม่กลอง  เรือรบหลวงแม่กลองซึ่งปลดประจำการแล้วได้นำไปตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ณ ป้อมพระจุล ฯ บนเรือรบหลวงแม่กลอง จะมีเครื่องบินทะเลสีขาวตั้งอยู่กลางลำเรือ
                เครื่องบินลำนี้เรียกว่า บรน.๑ ได้มาจากการบริจาคเงินของชาวเมืองสมุทรปราการ ได้มาเป็นเงิน ๓๗๗,๐๐๐ บาท ซื้อจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ เนื่องจากช่วงเวลานั้นไทยกับฝรั่งเศสมีกรณีพิพาทอินโดจีน
                บรน.๑ เป็นเครื่องบินทะเลเครื่องยนต์เดียว ใช้ใบพัด มีสองที่นั่ง สำหรับนักบินและพลปืนหลัง กว้าง ๙.๕๕ เมตร ยาว ๘.๑๐ เมตร สูง ๘.๑๐ เมตร น้ำหนัก ๑,๑๔๘ กิโลกรัม บรรทุกน้ำหนักได้ ๒๗๓ กิโลกรัม บรรจุเชื้อเพลิงได้ ๒๕๐ ลิตร ความเร็วสูงสุด ๑๗๕ ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง บินได้นาน ๕ ชั่วโมง เพดานบิน ๔,๙๐๐ เมตร พิสัยบิน ๒๕๒ และ ๔๐๐ ไมล์ทะเล อาวุธประจำเครื่องบินปืนกลขนาด ๗.๗ มิลลิเมตร อยู่ทางส่วนหัวของเครื่องบิน และมีปืนหลังอีก ๑ กระบอก
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |