| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

พื้นที่ป่า

            จังหวัดสมุทรปราการมีพื้นที่ตอนล่างติดกับอ่าวไทย เป็นระยะประมาณ ๔๗ กิโลเมตร  มีน้ำทะเลขึ้นมาปนกับน้ำจืด เป็นน้ำกร่อย มีป่าชายเลนมาก แต่เมื่อมีถนนสุขุมวิทตัดผ่านเป็นเขื่อนกั้นน้ำ พื้นที่ด้านเหนือถนนสุขุมวิทต้นแสม ถูกตัดและขุดตอหมดไปกลายเป็นที่นา และบ่อเลี้ยงปลา  ป่าชายเลนลดลง โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ชาวบ้านได้ตัดฟืนจากป่าแสม และป่าไม้ชายเลนอื่น พร้อมทั้งขุดตอออกไปจากพื้นที่ด้านใต้ของถนนสุขุมวิท
            จากการสำรวจของดาวเทียมพบว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘   มีป่าชายเลนอยู่ประมาณ ๓,๗๕๐ ไร่  ปี พ.ศ.๒๕๒๙  มีอยู่ประมาณ ๖๕๐ ไร่  และในปี พ.ศ.๒๕๓๒  ไม่มีพื้นที่ป่าอยู่อีกเลย  คงเหลืออยู่เป็นแนวแคบติดกับอ่าวไทย ในสถานศึกษา วัด สถานที่พักฟื้น และองค์กรเอกชนที่ได้อนุรักษ์เอาไว้
            พื้นที่ส่วนหนึ่งของจังหวัดอยู่ในอ่าวไทยตอนใน และปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นจุดพบของน้ำจืด และน้ำเค็ม  เหมาะสมต่อการวางไข่ของปลาและสัตว์น้ำ และเป็นที่รองรับตะกอนดินอันอุดม ที่ไหลมากับแม่น้ำเจ้าพระยา และลำคลองสาขาของแม่น้ำ  พื้นที่ชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์มาก  เป็นดินแดนปฐมภูมิของสิ่งมีชีวิตในทะเลหลายหลาก
พืชพันธุ์ไม้

           พืชป่าชายเลน   ขึ้นอยู่ทั่วไป ในพื้นที่มีน้ำทะเลขึ้นสูงสุด อยู่ในแนวขนานกับอ่าวไทยประมาณ ๑ กิโลเมตร  หรือระหว่างถนนสุขุมวิทกับอ่าวไทย
            พื้นที่ในกลุ่มนี้ ได้แก่  โกงกาง หัวกา หัวสุ่ม  โปรง ตะบูน ตะบัน แสม ลำพู ลำแพน โพทะเล พืชป่าชายเลนมีประโยชน์ด้านการเป็นแหล่งที่เกิด และสะสมอาหารตามธรรมชาติของสัตว์น้ำ
           พืชตระกูลปาล์ม   ได้แก่  มะพร้าว หมาก จาก เป้ง เต่ารั้ง  โดยเฉพาะมะพร้าว เคยปลูกมากติดอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย  แต่ปัจจุบันเหลืออยู่น้อย
           ไม้ผล  ได้แก่  มะม่วง ส้ม พุทรา  โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้  มีรสชาดหวานที่สุด และพุทราเจดีย์ มีรสอร่อย
            พืชพรรณในบางถิ่นมีมากถึงกับใช้ชื่อต้นไม้เป็นชื่อถิ่น ชื่อสถานที่ เช่น บางโปรง มีต้นโปรงมาก บางนางเกร็ง มีต้นจะเกร็ง หรือเหงือกปลาหมอมาก
สัตว์น้ำนานาชนิด
           สัตว์น้ำจำพวกน้ำเค็ม  ได้แก่  กุ้งมังกร  กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ็วย ปลากะพงขาว ปลาทู ปลากระบอก หอยแครง หอยแมลงภู่ แมงดาทะเล
           สัตว์พวกน้ำจืด   ที่มีมากได้แก่ ปลาสลิด  ปลากระดี่ ปลาหลด ปลาไหล ปลาซิว ปลาสร้อย  ปลาสร้อยนกเขา  ปลาแขยง ปลามังกร ปลากราย ปลาสลาด ปลาช่อน ปลาหมอ  ปลาหมอช้างเหยียบ  ปลาดุก ปลาตะเพียน กุ้งฝอย  ถิ่นที่มีปลามากก็ชื่อว่า บางปลา
            สัตว์ปลาชายเลน  ได้แก่ ปลาตีน  กุ้งก้ามดาบ  ตะกวด หรือเหี้ย  มีมากในเขตอำเภอบางบ่อ ด้านชายทะเล  เดิมชื่อ บางเหี้ย ปัจจุบันเป็นตำบลคลองด่าน
            สัตว์ปีก  ส่วนใหญ่เป็นนกชนิดต่าง ๆ ได้แก่  กา นกกระจอก นกกางเขน  นกปรอด นกเขา นกกระยาง  นกกระสา นกตีนเทียน  นกแขวก  นกอีลุ้ม และนกน้ำอีกมากมาย
            ในฤดูหนาว  มีนกนางนวลจำนวนมาก บินมาหาอาหารที่แม่น้ำเจ้าพระยา หลังศาลากลางจังหวัดและบางปู  เป็ดพันธุ์พื้นเมืองที่ให้ไข่ดกคือ  เป็ดปากน้ำ  ขนสีลายกาบอ้อย
            สัตว์อื่น ๆ เช่น ค้างคาวแม่ไก่  มีมากนับหมื่นตัวในบริเวณป่าชายเลน ที่เกาะผีเสื้อสมุทร นอกจากนี้มีการเลี้ยงจระเข้ เพื่อจำหน่ายมากกว่าสี่หมื่นตัว ที่ฟาร์มจระเข้  บางพื้นที่มีงูเห่าชุกชุมจึงได้ชือว่า หนองงูเห่า
ต้นน้ำลำธาร และแหล่งน้ำสำคัญ

            จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งอยู่ตอนล่างสุดของจังหวัดที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในอ่าวไทยตอนใน ก่อนที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลลงสู่ทะเลที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ มีคลองที่สำคัญ ได้แก่
                คลองสำโรง  เป็นคลองขุดสมัยอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม โดยขุดแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง  ไหลผ่านอำเภอเมือง ฯ  อำเภอบางพลี อำเภอบางบ่อ มีคลองแยกออกไปมากมาย มีทั้งคลองที่ใช้ประโยชน์มาแต่ดั้งเดิม ที่คดเคี้ยวหลายแยก และคลองตรงที่ขุดขึ้นมาเชื่อม และตัดใหม่ เมื่อถึงปลาย ๆ คลองย่อยก็จะมีคลองแยกเล็ก ๆ  เป็น คลองแพรก
                คลองสรรพสามิต   แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า ไปยังตำบลนาเกลือต่อกับคลองขุนราชพินิจใจ คลองที่ใช้ประโยชน์มาแต่เดิมก่อนมีคลองสรรพสามิต คือ คลองบางปลากด คลองสวน คลองคู คลองกระออม คลองสาขลา ที่ต่อเนื่องกัน มีความคดเคี้ยวถึงประมาณสามสิบคุ้งน้ำ
                คลองด่าน  เป็นคลองที่แยกมาจากคลองสำโรง  ไหลผ่านอำเภอบางบ่อ ที่บางเพรียง ลาดหวาย และคลองด่าน  แล้วไหลลงทะเลที่อ่าวไทย
                คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต   เป็นคลองขุดเพื่อการเกษตรกรรม ตั้งแต่ลาดกระบังถึงคลองสำโรง มีความยาว ๑๐ กิโลเมตร
                คลองบางปลา   เป็นคลองแยกจากคลองสำโรง  ไหลผ่านตำบลบางปลา  แล้วไหลลงสู่ทะเลที่บ้านตาเจี่ย ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรกรรม เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด และพืชผลไม้
เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ
   สิ่งที่มีอยู่ตามสภาพภูมิศาสตร์
                สันดอนหรือดอนทราย และแหล่งหอยหลอด  สันดอนทรายมักอยู่ส่วนพื้นล่าง โดยมีดินเลนกลบอยู่ที่ผิวหน้า บางพื้นที่ดินเลนหนาถึง ๓๐ เซนติเมตร หรือลางทีลึกกว่านั้นอีก เช่นที่แหลมสิงห์ ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์  การมีดินเลนกลบอยู่เหนือดอนทราย ทำให้เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ เช่น หอยหลอด ส่วนที่บางสำราญ ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมือง ฯ มีดินเลนกลบดอนทรายอยู่น้อย แต่ก็ยังมีผิวดินเลนลื่นพอให้ถีบกระดานได้  สำหรับดอนหอยหลอด ที่มีอยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ได้สูญหายไปหมดแล้ว
                ชวด   เป็นคำที่คนในท้องถิ่นย่านบางพลี บางบ่อ ใช้เรียก ลำรางเล็ก ๆ สำหรับลากกระบะลากข้าว หรือเรือบรรทุกผลผลิตออกจากไร่นา หรือขนเสบียงเข้าไปทำนา มีขนาดเล็กกว่าคลอง แต่ใช้งานนานเข้ามากเข้า ก็มีขนาดกว้างขึ้น  จนมีลักษณะเป็นคลอง จึงเรียกควบกันเป็น คลองชวด  เช่น คลองชวดตาเบียบ คลองชวดหมัน คลองชวดตานาค
                ลำรางเล็ก  ๆ ลักษณะเดียวกับชวด แล้วเรียกเป็นอย่างอื่นก็มี เช่น ลำรางที่ใช้ลาก หรือเข็นเรือบรรทุกเกลือขนาดเล็ก ผ่านเข้าออกที่นาเกลือ บ้านสาขลาเรียกว่า หลอด  จึงมีคำว่า คลองหลอด
                ลำรางอีกประเภทหนึ่ง ในเขตอำเภอเมือง ฯ  เรียก ลำกระโดง  ในอดีตใช้ลากเรือบรรทุกฟืนจากป่าแสม ที่พระประแดง มีลำกระโดง ทำหน้าที่รับน้ำ และถ่ายเทน้ำจากแม่น้ำเข้า - ออก จากสวน  ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ ในเรื่องทดน้ำเข้าสวนเข้านา
                แพรก  คือทางแยกของลำน้ำออกไป มีอยู่หลายแพรกด้วยกัน เช่น คลองแพรกตาตุ่ม  คลองแพรกน้ำ คลองแพรกน้ำขาว คลองแพรกตระเข้ คลองสามแพรก
    ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ
                แหลมฟ้าผ่า  เป็นบริเวณที่มีฟ้าผ่ามากกว่าที่อื่น และเกิดขึ้นเฉพาะที่อยู่เสมอ  เชื่อว่าบริเวณพื้นที่แห่งนี้ มีแร่ธาตุในดินที่เป็นสื่อชักนำให้เกิดฟ้าผ่าเป็นประจำ ในยามฝนตกฟ้าคะนอง ฟ้ามักผ่าตรงที่มีสิ่งปลูกสร้างที่สูงกว่าอาคารอื่น แหลมฟ้าผ่าอยู่ในเขตอำเภอพระสมุทรเจดีย์
    พืชพันธุ์ไม้และพันธุ์สัตว์
                โพทะเล  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกำหนดให้โพทะเลเป็นไม้มงคลประจำจังหวัดสมุทรปราการ
                โพทะเล มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับวิถีชีวิตชาวสมุทรปราการอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำมาหากิน ในด้านดักจับสัตว์น้ำ เนื่องจากเปลือก ลำต้น และกิ่งของโพทะเล สามารถใช้ทำเป็นเส้นปอ เช่น ใช้มัดไซ อย่างที่ชาวราชบุรีเรียก โพทะเลว่า ปอมัดไซ  เส้นใยของเปลือกใช้ทำเป็นสายเบ็ดได้  ช่างซ่อมเรือนิยมใช้เปลือกต้นโพทะเล ตอกหมันเรือ แทนการใช้เปลือกต้นหมัน  ต้นโพทะเลขนาดใหญ่สามารถนำไปเลื่อยเป็นไม้กระดานพื้น มีความเหนียว แข็งทนทาน ไสตกแต่งได้ง่าย ขัดชักเงาได้ดี ใช้ทำเครื่องเรือนได้  ทั้งเปลือกและเนื้อไม้มีสารที่เรียกว่า ฝาด  ใช้เป็นยาสมุนไพร ผลและใบนำมาใช้ตำพอกแก้หิด น้ำที่ต้นจากเปลือกใช้ชะล้างแผลเรื้อรัง รากใช้เป็นยากินเป็นยาบำรุง
                เป็ดปากน้ำ   มีขนสีลายกาบกล้วย เป็นเป็ดที่ให้พันธุ์ไข่ดก และไข่มีสีแดงสดเป็นสัตว์ปีก ที่อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก  จึงเหมาะสมที่เลี้ยงกันอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีตลิ่งริมน้ำอยู่ทั่วไป ทุกลำคลอง และอาหารของเป็ดในลำคลอง ก็มีสัตว์น้ำและปลาขนาดเล็ก พืชน้ำ เช่น แหน
                เป็ดปากน้ำ  เป็นเป็ดพื้นเมืองของจังหวัด ที่เคยได้รับความนิยมเลี้ยงเป็นอาชีพ ที่ทำรายได้ดีมาก
    ทรัพยากรอื่น ๆ
                เกลือ   พื้นที่ทำนาเกลือของจังหวัดทางด้านตะวันตก มีที่บ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์  ทางฝั่งตะวันออกมีนาเกลือตั้งแต่พื้นที่บางปูเก่า ไปจนถึงคลองด่าน และเลยไปถึงเขตติดต่ออำเภอบางปะกง  จังหวัดฉะเชิงเทรา
                การขนถ่ายเกลือ จะขนผ่านมาทางคลองสรรพสามิต มาเก็บ ณ บริเวณฉางเกลือริมแม่น้ำเจ้าพระยา
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |