| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

                วัดราษฎรบำรุง (บ้านตาเจีย)   อยู่ในตำบลบางปู  อำเภอเมือง ฯ  ภายในวัดมีพระเจดีย์เงิน - เจดีย์ทอง ตั้งอยู่สูงเด่น อยู่ในบริเวณที่โล่งแจ้ง มีความลงตัวพอดีกับตำแหน่ง ที่ตั้งของอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมที่กลมกลืน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

                วัดทรงธรรม   อยู่ในตำบลตลาด อำเภอพระประแดง เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร มีสถาปัตยกรรมที่สวยเด่นอยู่หลายแห่งด้วยกันคือ

                   พระเจดีย์องค์ใหญ่แบบรามัญ  เรียกว่า มหารามัญเจดีย์  ฐานกว้าง ๑๐ วา ๒ ศอก  มีพระเจดีย์องค์เล็กอยู่ที่มุมฐานทั้งสี่รวมสี่องค์  มีฐานประทักษิณได้สัดส่วนกลมกลืนกับองค์เจดีย์ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์องค์เล็กแบบรามัญ อีกองค์หนึ่งฐานกว้าง ๓ วา ๓ ศอก  สูง ๔ วา ๓ ศอก  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีรูปทรงคล้ายกับเจดีย์องค์เล็ก ที่มุมฐานของมหารามัญเจดีย์

                   พระอุโบสถ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน  เครื่องบนประดับด้วย ช่อฟ้า ใบระกา มีเสานางเรียงรับน้ำหนัก จากชายคาโดยรอบ เป็นเสาเหลี่ยม โคนเสาผายออก ยอดเสาเข้าไปรองรับน้ำหนักชายคา
                   พระวิหาร  ก่อด้วยอิฐถือปูน เครื่องบนประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา มีเสานางเรียงรับน้ำหนักจากชายคา โดยรอบเป็นเสาเหลี่ยม โคนเสาผายออก ยอดเสาเข้าไปรองรับน้ำหนักชายคา

                วัดกลาง พระประแดง  อยู่ที่บ้านเชียงใหม่ อำเภอพระประแดง เจดีย์ที่วัดนี้มีรูปแบบเหมือนจะเทียบเคียง ระหว่างเจดีย์ทรงมอญกับเจดีย์ทรงไทยย่อไม้สิบสอง  ซึ่งมีเอกลักษณ์ความงามไปคนละแบบ
                เรือสำเภาปูน หน้าวัดด้านริมคลอง เหมือนกับของวัดอื่น ๆ ที่อยู่ริมคลอง วัดที่สร้างและบูรณะปฎิสังขรณ์ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จะนิยมมีเรือสำเภาไว้หน้าวัด บริเวณริมคลอง แสดงให้เห็นถึงความเฟื่องฟูในทางการค้า ทางเรือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

                วัดโปรดเกศเชษฐาราม  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี  ชนิดสามัญ  อยู่ในตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง  มีสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่สวยงาม  และมีความสัมพันธ์สืบเนื่องกับการสร้างเมืองพระประแดง
                    พระอุโบสถ   หน้าบันทรงจีน มีมุขหน้า - หลัง  และรูปทรงองค์ประกอบของพระอุโบสถอันเป็นศิลปพระราชนิยม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีการออกแบบลวดลายประกอบเข้ากับเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ ลายครามชนิดต่าง ๆ ด้วยการล้อเลียนลายก้านแย่งได้สวยงาม วางดอกลายอย่างได้จังหวะ และกระจายอย่างมีสัดส่วน เต็มหน้าบัน ทำให้ดูสวยเด่นเป็นระเบียบในตัวเอง ภายในพระอุโบสถมีฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระประธาน ในพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก
                    พระวิหาร   มีลักษณะคล้ายพระอุโบสถแต่ไม่มีมุข ลวดลายที่หน้าบันก็คล้ายกับพระอุโบสถ ส่วนซุ้มเหนือหน้าต่างเป็นลายปูนปั้น ติดผนังที่เป็นดอกไม้ ใบไม้  วางจังหวะกระจัดกระจาย แต่ดูสวยงาม ภายในพระวิหารมี พระพุทธไสยาสน์  ประดิษฐานอยู่มีพระพักตร์ที่งาม เหนือประตู - หน้าต่าง มีภาพสีน้ำมันเป็น ภาพปริศนาธรรม
                    พระมณฑปยอดเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ   ที่ยอดมีบัวกลุ่มเครื่องยอดมณฑปที่สวยเด่นมาก

               วัดไพชยนต์พลเสพย์   เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร  อยู่ในตำบลบางฝั่ง อำเภอพระประแดง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๒  โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์  เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ เจ้าต่างกรม กำกับราชการพระกลาโหม  สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมในวัด ทรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ ของศิลปพระราชนิยม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

                    พระอุโบสถ  มีความสวยงามตามแบบพระราชนิยม โดยได้นำเอาสถาปัตยกรรมอย่างจีนมาประยุกต์ใช้ ความสวยงามที่หน้าบันพระอุโบสถงดงามด้วยลายปูนปั้น โดยปั้นติดกับผนังหน้าบัน ใช้วิธีการผูกลายให้ได้ความเป็นธรรมชาติ  ของใบไม้ที่นำมาใช้จัดประดับ ดอกไม้ก็ใช้เครื่องลายคราม และเบญจรงค์เป็นวงชั้นในของดอก กลีบดอกก็มีปูนปั้นเป็นกลีบ และใช้เครื่องเคลือบช่วยในเรื่องสีสัน โดยเน้นการใช้สีจากเครื่องเคลือบเป็นองค์ประกอบสำคัญ
                    บุษบกยอดปรางค์จตุรมุขในพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมที่งดงาม มีจุดเด่นที่ใช้ฐานชุกชีของพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระประธานในพระอุโบสถ บุษบกยอดปรางค์นี้เรียกกันว่าไพชยนต์ เป็นฝีมือช่างหลวง ซึ่งเดิมประสงค์ให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

                    ลวดลายสถาปัตยกรรมฝาผนังในพระอุโบสถได้ทำขึ้นเพิ่มเติมมาภายหลัง แต่มีความสวยงามเป็นเลิศ ลายนี้ได้ถ่ายแบบมาจากพระบรมมหาราชวัง สำหรับลวดลายบนฝ้าเพดานและคานบน ล้วนผูกลายใส่ไว้ได้งามวิจิตร

                    พระวิหาร  ที่หน้าบันและลวดลายปูนปั้น ที่ใช้ประดับอยู่ในส่วนต่าง ๆ เป็นปูนปั้นที่มีสันมีเส้นและมีลายที่ซ้อนทับสูง - ต่ำ อย่างมีมิติสวยงาม ยากจะหาที่ติ ลวดลายเหล่านี้เน้นเครื่องเคลือบ ถ้วย จาน ลายคราม และเบญจรงค์เช่นกัน
                    บานประตูแกะสลัก ภายในมีการเขียนภาพเซี่ยวกาง มีความสวยขรึม จากความดุดันบนใบหน้าของผู้พิทักษ์
                    พระพุทธรูปปางถวายเนตร สูง ๑ วา ๙ นิ้ว ประดิษฐานอยู่ที่ซุ้มที่มุขหน้าพระวิหาร

                วัดบางพึ่ง    อยู่ที่บ้านพึ่ง อำเภอพระประแดง  มีอุโบสถเลียนแบบจีน  มีลวดลายประดับด้วยจานลายครามบนหน้าบันอุโบสถ

                วัดป่าเกด   อยู่ในตำบลทรงคะนอง  อำเภอพระประแดง  อุโบสถหลังเก่า (วิหาร)  ที่หน้าบันมีเครื่องไม้สักแกะสลัก เป็นภาพนารายณ์ทรงครุฑ เป็นเครื่องแกะสลักลอยตัว นำมาประกอบติดประดับที่หน้าบันจึงสวยงามกว่า ภาพแกะสลักบนพื้นผนังธรรมดาเป็นอย่างมาก
                ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องมารผจญ  พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์  และภาพชุดทศชาติเป็นฝีมือช่างหลวง วัดนี้สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีสมเด็จพระสังฆราช (ค่อน)  เป็นประธานร่วมกันกับ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

                วัดบางน้ำผึ้ง  อยู่ในเขตอำเภอพระประแดง  มีจิตรกรรมบนบานหน้าต่างอุโบสถ ด้านในเป็นภาพชาวมอญในอิริยาบทอันงดงาม เป็นศิลปะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้เจ้าอยู่หัว  เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว เป็นภาพที่ให้ความรู้สึก และมีชีวิตชีวามาก

                วัดสาขลา   อยู่ที่บ้านสาขลา  ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์  พระปรางค์วัดสาขลา เป็นพระปรางค์ที่ยอดเอนไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๕ องศา  มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า การสร้างครั้งก่อนชาวบ้านเกรงว่า จะเอนล้มไปทางตะวันออกแล้ว จะลงคลองจึงวางเข็มนอนทางด้านคลองไว้มาก ด้านในมีเข็มนอนน้อยจึงเอนอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน มีจารึกบนแผ่นศิลาว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗
| ย้อนกลับ | บน |