| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

แหล่งประวัติศาสตร์

            สระแก้ว - สระขวัญ  อยู่ในตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง ฯ ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมือง
            ในสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพยกทัพไปตีกับกัมพูชา ได้มาพักทัพอยู่บริเวณสระทั้งสองนี้ กองทัพได้อาศัยน้ำในสระทั้งสองในการบริโภคและใช้สอย จึงได้ให้นามสระทั้งสองนี้ว่าสระแก้วและสระขวัญ
            หลังจากนั้นได้เมีการนำน้ำจากสระทั้งสองมาใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และในพระราชพิธบรมราชาภิเษก ต่อมาได้นำไปใช้ในงานพระราชพิธีอีกหลายครั้ง และเป็นที่มาของชื่อจังหวัดสระแก้ว

            จารึกพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลบจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  อยู่ที่บ้านช่องตะโก ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา เป็นจารึกลงบนก้อนหินขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหลังศาลาเพียงตา คำจารึกมีอยู่ว่า
                "ให้ข้าราชการสร้างเส้นทางระหว่างจังหวัดปราจีนบุรีกับทางภาคอีสาน"
            จังหวัดปราจีนบุรีในที่นี้คือจังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน
            จากแนวพระราชดำริดังกล่าว ชาวจังหวัดสระแก้ว จึงได้ดำเนินตามพระราชดำริ และสร้างเส้นทางเชื่อมจากเขตจังหวัดสระแก้ว กับเขตจังหวัดบุรีรัมย์
            สถานีรถไฟอรัญประเทศ  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จนิวัติพระนคร หลังจากเสด็จประพาสไซ่ง่อน เวียดนาม และอินโดจีนของฝรั่งเศส โดยรถยนต์พระที่นั่งถึงอำเภออรัญประทศ ประมาณ ๓๐ นาที แล้วจึงเสด็จประทับรถไฟขบวนพิเศษจากอรัญประเทศเข้ากรุงเทพ ฯ
            ถนนเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เป็นถนนโบราณสายหนึ่งที่ผ่านจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ทางเหนือหมู่บ้านอัญ ห่างออกไปประมาณ ๔๐๐ เมตร ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงห์เสนี) เป็นผู้สร้างไว้ ต่อมาจึงมีผู้ตั้งชื่อว่า ถนนเจ้าพระยาบดินทรเดชา
            สันนิษฐานว่า ถนนสายนี้เจ้าพระยาบดินทรเดชา คงสร้างขึ้นเมื่อคราวยกทัพกลับจากไปตีเขมร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แรงงานที่ใช้สร้างถนนสายนี้คงใช้แรงงานเชลยที่กวาดต้อนมา รวมทั้งทหารไทยในกองทัพช่วยกันสร้างเพื่อความสะดวก ในการเดินทัพครั้งต่อไป ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เส้นทางนี้คงถูกเกณฑ์มาช่วยสร้างด้วย
            เดิมถนนสายนี้มีความยาวถึง ๑๓๐ กิโลเมตร โดยเริ่มจากแม่น้ำศรีโสภณฝั่งขวาในเขตกัมพูชา จนถึงแควหนุมาน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาได้สร้างถนนสุวรรณศร ทับแนวถนนนี้เกือบตลอดสาย เหลือเพียงในอำเภอกบินทร์บุรี บางส่วนและในตลาด อำเภออรัญประเทศบางส่วนเท่านั้น
รูปปั้นอนุสาวรีย์

           พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ประดิษฐานอยู่ริมถนนสายสระแก้ว - อรัญประเทศ ก่อนถึงตัวที่ว่าการอำเภอวัฒนานครเล็กน้อย เป็นพระบรมรูปประทับยืนบนแท่นสูงมีขนาดใหญ่ พระหัตถ์ขวาชูพระขรรค์ ที่แท่นสลักพระราชประวัติว่า
                "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชต่อจากพระราชบิดา เมื่อทรงพระชนมายุดได้ ๓๕ พรรษา ครองราชย์อยู่ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๒๐ ถึงปี พ.ศ.๒๑๓๕ พระองค์มีพระปรีชาสามารถในการทำศึกสงคราม เพื่อปกป้องราชอาณาจักร ตั้งแต่ครั้งยังดำรงตำแหน่งพระยศ เป็นสมเด็จพระมหาอุปราช ในการปกป้องพระราชอาณาจักรทางด้านตะวันออก พระองค์ได้ยกทัพมาปราบปรามอริราชศัตรู ซึ่งลอบเข้ามาโจมตีกวาดต้อนผู้คนบริเวณชายแดนอยู่เนือง ๆ โดยในปี พ.ศ.๒๑๒๔ ได้ทรงยกทัพมาปราบปรามครั้งแรก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๒๕ จึงได้โปรดให้ตั้งค่ายคูเมือง ปลูกยุ้งฉางข้าวลำเลียงไว้ที่ค่ายพระทำนบ (บริเวณอำเภอวัฒนานครในปัจจุบัน) และในปี พ.ศ.๒๑๒๕ จึงได้ยกทัพปราบปรามอริราชศัตรูอย่างราบคาบ ดังปรากฎในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า

ฯลฯ
            เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงปกป้องรักษาผืนแผ่นดินไทยในอดีตกาล พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ในจังหวัดสระแก้ว ...ดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๘ สิ้นเงินดำเนินการ จำนวน ๓,๓๕๕,๓๐๓ บาท

       พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัด เป็นพระบรมรูปประทับยืน หล่อด้วยโลหะทองเหลืองรมดำ ฉลองพระองค์เต็มยศ ทรงพระภูษาโจง พระหัตถ์ขวา ทรงถือพระคฑา พระหัตถ์ซ้ายทรงกุมพระแสงกระบี่ มีขนาดเท่าของพระองค์จริง
            ประวัติการสร้างเนื่องจากจังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดใหม่แยกจากจังหวัดปราจีนบุรีเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ ชาวจังหวัดสระแก้วจึงร่วมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศเป็นเอนกประการ ตลอดจนทรงห่วงใยอาณาประชาราษฎร์ดุจบิดาห่วงใยบุตร จนได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยะมหาราช ได้มีการประกอบพิธีวางศิลาฟกษ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ และมีพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘

       อนุสาวรีย์เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนีย์)  ตั้งอยู่ที่กองกำกับการตำรวจตระเวณชายแดนที่ ๑๒ อำเภออรัญประเทศ ได้รับการตั้งชื่อค่ายว่า ค่ายเจ้าพระยารชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนีย์)  โดยได้รับความเห็นชอบจากตระกูลสิงหเสีนีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์และรำลึกถึงพระเกียรติประวัติของวีรบุรุษ นักรบผู้เก่งกล้าในอดีต
            ตามประวัติศาสตร์เมืองปราจีนบุรี เป็นที่ตั้งประชุมพลจัดกระบวนการทัพของพระยาราชสุภาวดี ในการยกทัพไปปราบกบฎทางหัวเมืองบูรพา คราวกบฎเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ท่านสมารถปราบกบฎได้โดยเรียบร้อยอย่างรวดเร็ว จนได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก ในปี พ.ศ.๒๓๗๐
            ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ และชื่อค่าย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓

           ประตูชัยอรัญประเทศ  ตั้งอยู่ที่พรมแดนไทย-กัมพูชา ที่บ้านคลองลึก ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ ประตูชัย ฯ เป็นประตูทางผ่านเข้าออกที่พรมแดน ด้านอำเภออรัญประเทศของไทยกับปอยเปตของกัมพูชา โดยมีสะพานเหล็กเชื่อมคลองลึก นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีประวัติศาสตร์ควรแก่การทรงจำ
           ประตูชัยสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ มีป้อมสองป้อมอยู่คนละฟากถนนเป็นรูปหกเหลี่ยมด้านเท่า สูง ๑๕ เมคร ที่ฐานประตูทำเป็นห้องรักษาการหกเหลี่ยมด้านเท่าด้านละ ๑.๕๐ เมตร ย่อมนเรียงลดหลั่นขึ้นไปจนถึงยอดบนสุดเป็นคอคอยหกเหลี่ยมด้านเท่า ด้านละ ๐.๓๐ เมตร มีลับแลบังตาสำหรับสังเกตการณ์ได้ทุกด้าน บนสุดหอคอยมีครุฑพ่าห์ อันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย
           ประตูชัย ฯ ได้รับการบูรณะซ่อมแซม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ หลังจากปล่อยให้เป็นซากปรักหักพังมานานถึง ๑๘ ปี เป็นการซ่อมให้รักษารูปเดิมไว้ เฉพาะด้านซ้ายเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความกล้าหาญและเสียสละของ ร้อยโท สุรินทร ปั้นดี กับพวกที่ได้พลีชีพเพื่อชาติไว้ ณ ที่นั้น ด้านขวามือสร้างเป็นเสมาขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางกัมพูชา ทำด้วยหินอ่อนสลักครุฑพ่าห์ไว้ด้านบน ด้านล่างใต้ตัวครุฑจารึกคำว่า "ประเทศไทย" บรรทัดถัดลงมา ได้อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์สยามานุสติ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บทหนึ่งมีความว่า
 

            หากสยามยังอยู่ยั้ง        ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง           ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง          ไทยอยู่ได้ฤา
เราก็เหมือนมอดม้วย        หมดสิ้นสกุลไทย

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |