| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์



            เมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ในแถบลุ่มแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำวังทอง แม่น้ำน่าน และแถบภูเขาสูงในเขต อำเภอนครไทย และอำเภอชาติตระการ ได้พบหลักฐานรอยขูดขีด และสลักหินบนผนังหินที่ถ้ำกา เขาช้างล้วง อำเภอนครไทย ที่ผาขีดเขาภูขัด อำเภอนครไทย ที่ผากระดานเลข เขาอ่างน้ำ อำเภอชาติตระการ และได้พบเครื่องมือเครื่องใช้ยุคหิน และยุคโลหะเป็นจำนวนมาก
การตั้งถิ่นฐานสมัยประวัติศาสตร์
        การตั้งถิ่นฐานสมัยทวาราวดี
            เมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ ได้มีการตั้งถิ่นฐานในเขตเมืองนครไทยเก่า เขาสมอแครงวัดโพธิญาณ และเมืองยมราช ได้พบใบเสมาหินทรายแกะสลักที่วัดมหาธาตุ อำเภอนครไทย พบพระพุทธรูปศิลาศิลปทวาราวดีตอนปลายสององค์ บนเขาสมอแครง อำเภอวังทอง จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศพบว่า วัดโพธิญาณ และเมืองยมราช ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปทรงกลม เหมือนเมืองโบราณสมัยทวาราวดีมาก ชุมชนในสมัยนี้เป็นชุมชนเมืองเล็กถึงชุมชนขนาดกลาง มีประชากรมากพอสมควร
        การตั้งถิ่นฐานสมัยลพบุรี
            เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ ก่อนการตั้งอาณาจักรสุโขทัย ได้มีการตั้งถิ่นฐานในบริเวณวัดจุฬามณี และที่เมืองนครไทยเก่า ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีสมัยลพบุรี คือ เทวสถาน พระปรางค์วัดจุฬามณี ซึ่งเป็นศิลปสมัยขอม ได้พบพระพุทธรูปศิลาสมัยลพบุรีที่ วัดกลางศรีพุทธารามสององค์ ที่อำเภอนครไทย ชุมชนสมัยนี้เป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ หรืออาจเป็นอาณาจักรก็ได้
        การตั้งถิ่นฐานสมัยสุโขทัย
            ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ เป็นระยะเริ่มต้นสร้างเมืองสองแคว หรือเมืองพิษณุโลก สันนิษฐานว่า อยู่ในการปกครองของเชื้อพระวงศ์ กษัตริย์แห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถม และเป็นเมืองอิสระมาจนถึงรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย เมืองสองแควจึงได้ถูกผนวกรวมเข้ากับอาณาจักรสุโขทัย ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท) พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่เมืองสองแคว ทำให้เมืองสองแควมีฐานะเป็นราชธานีของอาณาจักรสุโขทัย ต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๔ (พระยาบาลเมือง)
            การตั้งถิ่นฐานที่เมืองนครไทย ได้มีการสืบต่อกันมาตั้งแต่ก่อนสุโขทัย เมืองนครไทยโบราณมีลักษณะเป็นเนินดินสูงคล้ายหลังเต่า มีพื้นที่ประมาณ ๑๔๒ ไร่ มีคูน้ำกับคันดิน ๓ ชั้น เป็นลักษณะgr=iง เช่นเดียวกับกำแพงเมืองสุโขทัย เมืองนครไทยเป็นที่รวมของประชาชน ทั้งที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ และที่อพยพเข้ามาใหม่ จากอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต และจากภาคอีสาน ทำให้เกิดชุมชนผสมผสานทั้งสองด้านเชื้อชาติ และศิลปวัฒนธรรม
            การตั้งถิ่นฐานของชาวเมืองสองแควในสมัยสุโขทัย มีการอพยพเข้ามาของประชาชนจากอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต อาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรอยุธยา
        การตั้งถิ่นฐานสมัยอยุธยา
            ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๔ ในช่วงต้นสมัยอยุธยา ขุนหลวงพะงั่ว หรือพระบรมราชาที่ ๑ ได้เสด็จยกกองทัพมาตีเมืองสองแคว เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๑๘
            ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ขึ้นครอง เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๑ เมืองสองแควมีฐานะเป็นเมืองเอก พระยายุทธิษเฐียร (เจียง) ได้คบคิดกับพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา ยกกองทัพมาตีหัวเมืองเหนือ และได้ให้พระยายุทธิษเฐียร ครองเมืองเพิ่มอีก ๓ เมือง คือ  เมืองแพร่  เมืองงาว และเมืองพร้าว
            ในปี พ.ศ. ๒๐๐๒ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดให้ยกกองทัพ จากกรุงศรีอยุธยาไปตีเมืองแพร่ แต่ถูกหมื่นด้งนคร นำทัพเมืองเชียงใหม่ตีกองทัพกรุงศรีอยุธยาจนต้องถอยทัพกลับไปเมืองสองแคว พระเจ้าติโลกราช ได้นำกองทัพเมืองเชียงใหม่มาล้อมเมืองสองแคว แต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตีฝ่าออกมาได้
            ในปี พ.ศ. ๒๐๐๔ พระยาเชลียง เจ้าเมืองเชลียงได้นำพระเจ้าติโลกราชยกกองทัพเมืองเชียงใหม่ มาตีเมืองสองแคว และเมืองชากังราว (กำแพงเพชร) อีกแต่ตีไม่ได้
            ในปี พ.ศ. ๒๐๐๕ เจ้าเมืองนครไทยอพยพครอบครัวหนีการปกครองของกรุงศรีอยุธยาไปอยู่เมืองน่าน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดเกล้า ฯ ให้พระยากลาโหมยกกองทัพไปตีเมืองนครไทยกลับคืนมาได้
            ในปี พ.ศ. ๒๐๐๖ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จมาประทับ ณ เมืองสองแคว และได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองสองแควเป็นเมืองพิษณุโลก ส่วนทางกรุงศรีอยุธยาได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระบรมราชา พระราชโอรสซึ่งดำรงตำแหน่งมหาอุปราชทรงปกครองแทน
            ในปี พ.ศ. ๒๐๐๗ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวัดจุฬามณี เพื่อที่จะเสด็จออกทรงผนวช พระเจ้าติโลกราช พระเจ้าตองอู และพระเจ้าล้านช้าง ได้ทรงแต่งเครื่องอัฐบริขารมาถวาย พร้อมทั้งจัดมหรสพมาแสดงสมโภชพระพุทธชินราช ๑๕ วัน ๑๕ คืน
            ในปี พ.ศ. ๒๐๐๘ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงผนวช มีข้าราชบริพารบวชโดยเสด็จ ๒๓๔๘ รูป ขณะที่ทรงผนวชทรงขอบิณฑบาตรเมืองเชลียง จากพระเจ้าติโลกราชแต่ไม่สำเร็จ พระองค์ทรงผนวชอยู่ ๘ เดือน ๑๕ วัน จึงลาผนวชเสด็จไปกรุงศรีอยุธยา แล้วจึงเสด็จกลับมาครองเมืองพิษณุโลกตามเดิม ในปีเดียวกันนั้นได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างกำแพงเมืองพิษณุโลก
            ในปี พ.ศ. ๒๐๑๗ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดเกล้า ฯ ให้ยกกองทัพไปตีเมืองได้เมืองเชลียง และในปีเดียวกันนี้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระเจ้าติโลกราช ทรงเจริญสัมพันธไมตรีต่อกัน ทำให้การสงครามระหว่างอาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรล้านนา ที่ดำเนินมาถึง ๒๔ ปี (พ.ศ. ๑๙๙๔ - ๒๐๑๗) ยุติลง
            ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเมืองนครไทยขึ้นมาใหม่
            ในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงทำสงครามยุทธหัตถีมีชัยชนะ พระมหาอุปราชา แม่ทัพพม่าแล้ว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระชัยบูรณ หรือพระชัยบุรี เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช เจ้าเมืองพิษณุโลก ทำให้เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองเอกคู่กับเมืองนครศรีธรรมราช
            เมืองพิษณุโลก มีการตั้งถิ่นฐานต่อเนื่องกันมาตลอดสมัยอยุธยา โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระมหาธรรมราชา และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง พระมหาอุปราช ได้มีการอพยพทหารข้าราชการ และประชาชนจากอาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรอยุธยา มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองพิษณุโลก เมืองพิษณุโลกจึงมีฐานะเป็นทั้งราชธานี เมืองมหาอุปราช เมืองประเทศราช เมืองเอกอุ และเมืองขนาดใหญ่ มีอำนาจปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ รวมทั้งเมืองนครไทย
    การตั้งถิ่นฐานสมัยกรุงธนบุรี
            ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ช่วงปี พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕ หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เมืองพิษณุโลกเป็นที่ตั้งชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ต่อมาชุมนุมเจ้าพระฝางได้ยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลกได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๑ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลกได้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๓
            เมืองพิษณุโลกสมัยกรุงธนบุรี เจ้าเมืองมียศเป็นเจ้าพระยา ในปี พ.ศ. ๒๓๑๘ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลกได้ ได้กวาดต้อนชาวเมืองไปพม่า และบางส่วนได้อพยพหลบหนีภัยไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองอื่น เมื่อสงครามสงบแล้ว จึงได้มีการตั้งถิ่นฐานที่เมืองพิษณุโลกใหม่
    การตั้งถิ่นฐานสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
            เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อพยพชาวเมืองพิษณุโลก และชาวหัวเมืองฝ่ายเหนือ ไปตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลปากพิง เมืองพิจิตร และเมืองนครสวรรค์ เพื่อเตรียมสู้ศึกพม่าครั้งสงครามเก้าทัพ หลังจากได้ชัยชนะพม่าในสงครามครั้งนี้แล้ว พระองค์จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเมืองพิษณุโลก และหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นใหม่ทุกเมือง การสร้างเมืองดังกล่าวได้กระทำต่อเนื่องมาจนถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำนุบำรุงเมืองพิษณุโลกขึ้นใหม่ ทำให้เมืองพิษณุโลกมีความเจริญเติบโตเป็นเมืองใหม่ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
    การตั้งถิ่นฐานของชาวเมืองพิษณุโลก
            ชาวจีน  การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในจังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่ามีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยต่อเนื่องมาถึงสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่วัดตาปะขาวหาย เป็นที่ตั้งเตาเครื่องปั้นดินเผาประเภทไหหินแกร่ง บริเวณนี้ในสมัยโบราณมีชื่อว่า บ้านเตาไห มีอายุประมาณ ๕๐๐ ปีมาแล้ว ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา
            ชาวอินเดีย  สันนิษฐานว่า ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองพิษณุโลกก่อนสร้างเมืองพิษณุโลก ปัจจุบันมีอยู่ไม่มากนัก เป็นพวกนับถือศาสนาพราหมณ์ ส่วนพวกที่นับถือศาสนาอิสลามเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ปัจจุบันมีศาสนสถานอยู่ ๑ แห่งคือ มัสยิดปากีสถาน สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓
            ชาวลาว  ชาวลาวได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย และได้อยู่สืบเนื่องกันมาตลอดสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แยกออกได้เป็นสี่กลุ่มด้วยกันคือ
                 - ชาวลาวเชียงแสน  ตามประวัติศาสตร์ลาวกล่าวว่าเจ้ามหาวันหรือเจ้ามหานาม เจ้าเมืองนครชัยบุรี (เชียงแสน) ได้อพยพผู้คนมาอยู่ที่ตำบลโนนจันทร์ (นครไทย) เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๗๓๑ เมื่อสิ้นเจ้ามหาวัน หรือเจ้ามหานามแล้ว พ่อขุนบางกลางหาวโอรสก็ได้ครองเมืองสืบต่อมา
                 - ชาวลาวล้านนาลำปาง  เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๗๕ พระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าเมืองพิษณุโลก ยกกองทัพไปตีเมืองลำปางได้ชัยชนะ จึงได้กวาดต้อนชาวล้านนาเมืองลำปางมายังเมืองพิษณุโลก
                 - ชาวลาวล้านช้าง  ในระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๑๗ - ๑๙๘๑ เจ้าวังบุรี และนายบ้านชาวเวียงจันทน์ ได้อพยพผู้คนมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองพิษณุโลก ที่บ้านด่านเมืองนครไทย เขาสมอแครง (อำเภอวังทอง) ห้วยปากพาน (อำเภอวัดโบสถ์) และที่วัดตายม (อำเภอบางกระทุ่ม) ในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ มีชาวลาวมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่บ้านนาไก่เตี้ยปี พ.ศ. ๒๔๓๕ มาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านหนองลาน และในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ มีชาวอีสานจากอำเภอด่านซ้าย และอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านบุ่งตารอด บ้านโป่งกะเฌอ บ้านโป่งเบี้ย บ้านป่ารวด บ้านน้ำพริก บ้านนาจาน และบ้านคล้าย
                 - ชาวลาวโซ่ง  ลาวโซ่งในจังหวัดพิษณุโลกเคยตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ จังหวัดเพชรบุรีมาก่อน ลาวโซ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองแถง (เมืองเดียนเบียนฟู) ในเวียดนาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๑ ในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์เป็นแม่ทัพ ยกกองทัพไปตีราชอาณาจักรลาวได้ทั้ง ๓ อาณาจักร คือ อาณาจักรหลวงพระบาง อาณาจักรเวียงจันทน์ และอาณาจักรจัมปาศักดิ์ ได้กวาดต้อนชาวลาวมาด้วยเป็นจำนวนมาก ส่วนที่มาจากเวียงจันทน์ให้ไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองสระบุรี ส่วนลาวโซ่งให้ไปตั้งถิ่นฐานบริเวณชายทะเล ในเขตอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ชาวลาวโซ่งน่าจะอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายเหนือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ชาวลาวโซ่งได้ไปตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอวังทอง อำเภอบางระกำ และอำเภอพรหมพิราม
            ชาวเวียดนาม  การตั้งถิ่นฐานของชาวเวียดนามในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นเชลยศึกที่กองทัพไทยได้กวาดต้อนมาจากการทำสงครามกับเวียดนาม ๔ ครั้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๙ - ๒๓๘๘ อีกส่วนหนึ่งเป็นเชลยศึกชาวเวียดนามที่กองทัพไทยกวาดต้อนมาคราวกรณีพิพาทอินโดจีน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ และอีกส่วนหนึ่งเป็นชาวเวียดนามที่อพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองระหว่างเวียดนามเหนือ กับเวียดนามใต้ การตั้งถิ่นฐานของชาวเวียดนามในจังหวัดพิษณุโลกมีไม่มากนัก
            ชาวเขา  การตั้งถิ่นฐานของชาวเขาในเขตจังหวัดพิษณุโลก ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีมาแต่เมื่อใด เนื่องจากภูมิประเทศของจังหวัดพิษณุโลก ในเขตอำเภอนครไทย และอำเภอชาติตระการ เป็นทิวเขาสูง ชนชาวเขาสามารถเดินทางบนสันเขาติดต่อไปยังประเทศลาว เลยไปถึงเวียดนาม และจีน ทำให้มีการอพยพเคลื่อนย้ายของชุมชนชาวเขา เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอนครไทย และอำเภอชาติตระการ อยู่ตลอดเวลา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ในสองอำเภอดังกล่าวมีชนชาวเขาสามเผ่าคือ เผ่าม้ง เผ่าเย้า และเผ่าลีซอ เข้ามาอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ คน และในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๒๕ พื้นที่บริเวณสองอำเภอนี้ได้เป็นฐานที่มั่นของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุด ในเขตภาคเหนือตอนล่าง คือ ที่ภูหินร่องกล้า โดยมีการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และคุกคามอธิปไตยของไทย โดยมีชาวเขาทั้งสามเผ่าดังกล่าว ถูกบังคับให้ร่วมมือสนับสนุน และส่งเสริมผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ทำการสู้รบกับรัฐบาลไทยมาโดยตลอด ได้มียุทธการสำคัญที่ทางกองทัพไทยได้ส่งกำลังเข้าปราบปรามให้ ห้วงปี พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๑๖ คือ ยุทธการภูหินร่องกล้า และยุทธการสามชัย และในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ กองกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร ๓๓ (พตท.๓๓ ) ได้เปิดยุทธการผาเมืองเกรียงไกร เข้ายึดฐานที่มั่นของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ภูขัด และภูเมี่ยง ในเขตอำเภอชาติตระการได้ ทำให้การสู้รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในจังหวัดพิษณุโลกสิ้นสุดลง ชนชาวเขาได้รับอิสรภาพ ให้ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินได้โดยสะดวก
            นอกจากชาวเขาทั้งสามเผ่าดังกล่าวแล้ว ยังมีชาวเขาที่เป็นลูกจ้างของผู้ที่ได้รับสัมปทานทำป่าไม้ คือ เผ่าต้องสู้ กุลา และขมุ การทำป่าไม้ในเขตจังหวัดพิษณุโลก ได้ทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ชาวเขาดังกล่าว จึงน่าจะเข้ามาอยู่ในเขตเมืองพิษณุโลกแต่ครั้งนั้น
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
            พิษณุโลกเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีชื่อปรากฏอยู่ที่ต่าง ๆ กัน ทั้งในศิลาจารึก ตำนาน พงศาวดาร และนิทานพื้นบ้าน เช่น เมืองพิษณุโลก เมืองพระพิษณุโลก เมืองสองแคว เมืองสระหลวงสองแคว เมืองทวิสาขะ เมืองทวยนที เมืองชัยนาท เมืองโอมบุรี เมืองจันทบูร และเมืองอกแตก เป็นต้น
            เมืองพิษณุโลกเคยเป็นเมืองหลวง เมืองลูกหลวง เมืองเอกอุ เมืองเอก จึงเป็นเมืองใหญ่ และเป็นศูนย์กลางในหลาย ๆ ด้านของภาคเหนือตอนล่าง
   สมัยก่อนประวัติศาสตร์
            ในเขตจังหวัดพิษณุโลก เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหิน ได้พบขวานฟ้า หรือขวานที่ทำด้วยหินขัด และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในเขตอำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ อำเภอวังทอง และอำเภอพรหมพิราม นอกจากนี้ยังพบโบราณสถานก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะอีกสองแห่งคือ
            ถ้ำกา  บนเขาช้างล้วง อำเภอนครไทย ที่ผนังถ้ำมีภาพสลักบนหินเป็นรูปกากบาทพาดไปมาคล้ายรอยเท้าอีกา ชาวบ้านจึงเรียกว่า ถ้ำกา
            ผาขีด  เป็นหน้าผาหินอยู่ในถ้ำผาแดง บนเขาอ่างน้ำในเทือกเขาภูขัด อำเภอชาติตระการ เรียกว่า ผากระดานเลข เป็นผนังถ้ำหินทรายเรียบภาพเรียงเป็นแถว ประมาณ ๑๔ วง บางภาพแกะสลักเป็นลวดลายคล้ายภาพคนในท่าต่างๆ บางภาพคล้ายนก กวาง และปลา เป็นแนวเรียงกัน มีรอยขีดเป็นรูปแผนที่ หรือลายเรขาคณิต ชาวบ้านจึงเรียกว่า ผากระดานเลข
   สมัยทวาราวดี
            ในสมัยทวาราวดี สันนิษฐานว่า พิษณุโลกคงจะมีการตั้งถิ่นฐานจนเป็นชุมชนขนาดใหญ่แล้ว ในเขตเมืองนครไทย และเขาสมอแครง อำเภอวังทอง ได้พบพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีสององค์ ที่วัดตระพังนาคบนเขาสมอแครง พบใบเสมาหินแกะสลักรูปพระสถูปเจดีย์ และพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปสมัยทวาราวดี ที่วัดหน้าพระธาตุ หรือวัดเหนือ อำเภอนครไทย
   สมัยลพบุรี
            ในเขตจังหวัดพิษณุโลกพบโบราณสถาน อิทธิพลศิลปขอม คือพระปรางค์วัดจุฬามณี ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเทวสถานของพราหมณ์
            ที่วัดกลางศรีพุทธาราม อำเภอนครไทย ได้พบพระพุทธรูปศิลาอยู่สององค์ เป็นพระพุทธรูปหินทรายองค์หนึ่งเป็นปางนาคปรก ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ อีกองค์หนึ่งยังสร้างไม่เสร็จ ได้ร่างแบบโกลนไว้แล้วแต่ยังไม่ได้แกะสลักรายละเอียด
            เมืองพิษณุโลกในสมัยลพบุรี สันนิษฐานว่า อยู่ในการปกครองของพ่อขุนผาเมือง ในราชวงศ์ศรีนาวนำถม และเป็นอิสระ ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย พระองค์ได้ยกกองทัพมาตีเมืองสองแคว และได้ผนวกเมืองนี้ไว้ในอาณาจักรสุโขทัย
   สมัยกรุงสุโขทัย
            ในระหว่างปี พ.ศ. ๑๘๐๐ - ๒๐๐๐ ได้เกิดอาณาจักรไทยขึ้นหลายอาณาจักร ได้แก่ อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรล้านนา อาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรนครศรีธรรมราช
            ในสมัยสุโขทัย เมืองสองแควเป็นเมืองสำคัญในลุ่มแม่น้ำน่าน และเป็นเมืองอิสระ มีเจ้าเมืองปกครอง ต่อมาในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมืองสองแควได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย และมีฐานะเป็นเมืองชั้นนอกของกรุงสุโขทัย มาจนถึงสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท) พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่เมืองสองแคว ต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๒ และพระมหาธรรมราชาที่ ๓ (พระยาไสลือไท) และพระมหาธรรมราชาที่ ๔ (พระยาบาลเมือง) จึงทำให้เมืองสองแควมีฐานะเป็นราชธานีของอาณาจักรสุโขทัย
   สมัยกรุงศรีอยุธยา
            ในระหว่างปี พ.ศ. ๑๘๙๓ ถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ ในระยะต้นเมืองสองแควยังคงอยู่ในอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งมีฐานะเป็นประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา ในระยะต่อมาเมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นเมืองราชธานี เมืองพระมหาอุปราช เมืองประเทศราชและเมืองเอก
   สมัยกรุงธนบุรี
            เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ บรรดาหัวเมืองขนาดใหญ่มีกำลังมาก และไม่ถูกภัยสงครามจากพม่า ต่างก็ตั้งตัวเป็นอิสระ แบ่งออกเป็นห้าชุมนุมด้วยกัน พิษณุโลกเป็นหนึ่งในชุมนุมดังกล่าว โดยมีเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตัวเป็นอิสระอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก มีอำนาจปกครองตั้งแต่เขตเมืองพิชัย (อุตรดิตถ์) ทางเหนือไปจนถึงเมืองนครสวรรค์ทางใต้
            ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกกองทัพมาปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก แต่ไม่สำเร็จ เจ้าพระยาพิษณุโลก จึงตั้งตนเป็นกษัตริย์ โดยมิได้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษก แต่ดำรงตำแหน่งอยู่ได้เพียง ๗ วัน ก็เป็นโรคฝีในลำคอถึงแก่พิราลัย พระอินทร์อากรผู้เป็นน้องชาย ได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นเจ้าเมืองพิษณุโลกแทน ต่อมาเจ้าพระฝาง (เรือน) ซึ่งเป็นสังฆราชาเมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง) ซึ่งตั้งตัวเองเป็นเจ้าพระฝาง ครองเมืองสวางคบุรี เป็นชุมนุมหนึ่งในห้าชุมนุมดังกล่าวมาแล้ว ได้ยกกำลังมาตีเมืองพิษณุโลกได้ แล้วกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองพิษณุโลก ไปอยู่ที่เมืองสวางคบุรีเป็นจำนวนมาก แล้วให้พระอินทร์อากรปกครองเมืองพิษณุโลกในฐานะเมืองขึ้น
            ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๓ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงยกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลกอีกครั้งหนึ่งก็ตีได้โดยง่าย จากนั้นก็เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองสวางคบุรี และเมืองในอาณาเขตของเมืองสวางคบุรีได้ทั้งหมด เมืองพิษณุโลกในสมัยกรุงธนบุรีมีฐานะเป็นเมืองเอกอุ ปกครองเมืองในเขตหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นศูนย์กลางการปกครอง เศรษฐกิจ การทหาร และศาสนา ตลอดสมัยธนบุรี
   สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
            ในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่า ให้ยกกองทัพมาทำสงครามกับไทย นับเป็นสงครามครั้งแรก และครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เรียกว่า สงครามเก้าทัพ กองทัพไทยสามารถเอาชัยชนะพม่าได้อย่างเด็ดขาด หลังสงครามครั้งนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทหารเมืองพิษณุโลก และทหารหัวเมืองฝ่ายเหนือ พร้อมกับชาวเมืองที่อพยพมาพร้อมกับกองทัพกรุงศรีอยุธยา เพื่อมาตั้งรับศึกพม่าที่เมืองนครสวรรค์ กลับไปเมืองพิษณุโลก และได้ทรงตั้งหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นใหม่ โดยให้มีเจ้าเมืองปกครองตามเดิม เมืองพิษณุโลกยังคงเป็นเมืองเอก ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือแต่ได้ลดบทบาทด้านการทหารลง เนื่องจากพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในระยะต่อมา
            การจัดการปกครองระบบมณฑลเทศาภิบาล  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นสามมณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี และมณฑลนครราชสีมา มณฑลพิษณุโลกได้ตั้งที่ทำการมณฑลอยู่ที่เมืองพิษณุโลก เมืองที่อยู่ในมณฑลนี้คือ เมืองพิจิตร เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิษณุโลก และเมืองสุโขทัย
            การจัดการปกครองในปัจจุบัน  หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ว่าด้วยการจัดระเบียบการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัด และอำเภอ มณฑลพิษณุโลกจึงถูกยุบ และตั้งเป็นจังหวัดพิษณุโลก และบรรดาเมืองในมณฑลเดิมที่เปลี่ยนสภาพเป็นจังหวัด และอำเภอตามความเหมาะสม

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |