| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | พระวินัยปิฎก | พระสุตตันตปิฎก |

12. โลหิจจสูตร

            สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริก ไปในโกศลชนบท พร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงบ้านสาลวติกา
ซึ่งโลหิจจพราหมณ์ครองอยู่ เป็นสมบัติอันพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชทานปูนบำเหน็จ ให้เป็นส่วนของพรหมไทย
ว่าด้วยพุทธคุณ
            โลหิจจพราหมณ์ เกิดมีทิฐิอันลามกว่า สมณพราหณ์ในโลกนี้ ควรบรรลุกุศลธรรม ครั้นบรรลุแล้วไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทำอะไรแก่ผู้อื่นได้ บุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำขึ้นใหม่  โลหิจจพราหมณ์ได้ยินข่าวว่า พระสมณโคดม ศากยบุตร เสด็จถึงบ้านสาลวติกา  และเกียรติศัพท์ของพระองค์ ขจรไปว่า ..... (รายละเอียดมีในสามัญญผลสูตร)
            โลหิจจพราหณ์ได้ให้โรสิกะช่างกัลบก ไปกราบทูล ขอให้พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดรับภัตตาหารของโลหิจจพราหมณ์
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปนิเวศน์ของโลหิจจพราหมณ์
            เวลาเช้า  ทรงถีอบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังบ้านสาลวติกา พร้อมภิกษุสงฆ์    โรสิกะช่างกัลบกตามเสด็จไป แล้วกราบทูลว่า  โลหิจจพราหมณ์เกิดมีทิฐิอันลามก  ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดทรงปลดเปลื้องโลหิจจพราหมณ์ เสียจากทิฐิอันลามกนั้น   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่เป็นไรโรสิกะ
พระผู้มีพระภาคทรงซักโลหิจจพราหมณ์
            พระผู้มีพระภาคเสวยแล้ว   ได้ตรัสกับโลหิจจพราหมณ์ว่า  มีทิฐิเช่นนั้นจริงหรือ   โลหิจจพราหมณ์รับว่าจริง 
                พ. ดูกร โลหิจจะ  ท่านครองบ้านสาลวติกานี้มิใช่หรือ
                ล.  เป็นเช่นนั้น
                พ.  ผู้ใดพึงกล่าว โลหิจจพราหมณ์ครองบ้านสาลวติกาอยู่  จึงควรใช้สอยผลประโยชน์ ที่เกิดขึ้นในบ้านนี้แต่ผู้เดียว  ไม่ควรให้ผู้อื่น  ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ จะชื่อว่าทำอันตรายแก่ชนที่อาศัยท่าน  เลี้ยงชีพอยู่ได้หรือไม่
                ล.  ชื่อว่าทำอันตรายได้
                พ.  เมื่อทำอันตราย  จะชื่อว่าหวังประโยชน์ต่อชนเหล่านั้นหรือไม่หวัง
                ล.  ชื่อว่าไม่หวังผลประโยชน์
                พ.  ผู้ที่ไม่หวังประโยชน์ต่อ  ชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเมตตาไว้ในชนเหล่านั้น  หรือว่าชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู
                ล.  ชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู
                พ.  เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว  จะชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฐิ หรือเป็นสัมมาทิฐิ
                ล.  ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฐิ
                พ.  ผู้เป็นมิจฉาทิฐิ   เรากล่าวว่า มีคติเป็น 2  คือ นรก หรือกำเนิดเดียรฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง   พระเจ้าประเสนทิโกศล  ทรงปกครองแคว้นกาสี และโกศลมิใช่หรือ
                 ล.  เป็นเช่นนั้น
                พ.   ผู้ใดพึงกล่าวว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ควรทรงใช้สอยผลประโยชน์ ที่เกิดในแคว้นทั้ง 2 นั้น แต่พระองค์เดียว  ไม่ควรพระราชทานบุคคลอื่น
            จากนั้น พระผู้มีพระภาค ก็ทรงถามโลหิจจพราหมณ์ต่อไป ในทำนองเดียวกัน แล้วทรงสรุปว่า ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้นชื่อว่า ทำอันตรายแก่กุลบุตร ผู้ได้อาศัยธรรมวินัย อันตถาคต แสดงไว้แล้ว  จึงบรรลุคุณธรรมวิเศษ คือ ทำให้แจ้งโสดาปัตติผลบ้าง สกทาคามิผลบ้าง  อนาคามิผลบ้าง  อรหัตผลบ้าง และแก่กุลบุตร ผู้อบรมครรภ์อันเป็นทิพย์  เพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ เมื่อทำอันตราย ย่อมชื่อว่า ไม่หวังประโยชน์ต่อ เมื่อไม่หวังประโยชน์ต่อ ย่อมชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นมิชฉาทิฐิ  ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิ เรากล่าวว่ามีคติเป็น 2 คือ นรกหรือกำเนิดเดียรฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง
ศาสดาที่ควรแก่การท้วง ฯ
            ศาสดา 3 จำพวกนี้ ควรท้วงได้ในโลก และการท้วงก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ เป็นไฉน
            ศาสดาบางคนในโลก บวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณนั้น เขาไม่ได้บรรลุแล้ว แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย เพื่อสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของเขาย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และหลีกเลี่ยงประพฤติ จากคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกท้วง เหมือนบุรุษที่รุกเข้าไปหาสตรี ที่กำลังถอยหลังหนี หรือดุจบุรุษ พึงกอดสตรีที่หันหลังให้ ฉันใด  อุปมัยก็ฉันนั้น นี้แลศาสดาที่ 1  ซึ่งควรท้วงในโลก
            ศาสดาบางคนในโลก บวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น เขาไม่ได้บรรลุ แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกเขาย่อมตั้งใจฟัง ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และไม่หลีกเลี่ยงประพฤติ จากคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกท้วง เหมือนบุคคลละเลยนาของตน แล้วสำคัญเห็นนาของผู้อื่นว่า เป็นอันคนควรบำรุง  นี้แลศาสดาที่ 2 ที่ควรท้วงในโลก
            ศาสดาบางคนในโลก บวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น เขาได้บรรลุแล้ว จึงแสดงธรรมสอนสาวกว่า เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย แต่สาวกเขาไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และหลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกท้วง    เหมือนบุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำขึ้นใหม่ นี้เป็นศาสดาที่ 3 ที่ควรท้วงในโลก
ศาสดาที่ไม่ควรท้วง
            โลหิจจพราหมณ์ได้กราบทูลถามถึง ศาสดาซึ่งไม่ควรท้วงในโลกมีบ้างหรือ
            ตรัสว่า มีอยู่   แล้วทรงแสดงพุทธคุณ    (รายละเอียดมีในสามัตตผลสูตรที่ 2)
            ทรงแสดงจุลศีล มัชฌิมศีล  มหาศีล    (รายละเอียดมีในพรหมชาลสูตรที่ 1)
            ทรงแสดงอินทรีย์สังวร เปรียบนิวรณ์ รูปฌาน 4  วิชชา 8    (รายละเอียดมีในสามัญญผลสูตรที่ 2)
            แล้วทรงสรุปว่า ดูกร โลหิจจพราหมณ์ สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเช่นนี้ในศาสดาใด  ศาสดานั้นไม่ควรท้วงในโลก  อนึ่งการท้วงศาสดาเช่นนั้น ก็ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม ประกอบด้วยโทษ
โลหิจจพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก
         โลหิจจพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดม บุรุษผู้หนึ่งพึงฉวยผมบุรุษอีกผู้หนึ่ง  ซึ่งกำลังจะตกไปสู่เหวคือนรกไว้  ฉุดขึ้นให้ยืนอยู่บนบก ฉันใด ข้าพระองค์กำลังตกไปสู่เหวคือนรก พระโคดมได้ยกขึ้นให้ยืนอยู่บนบก ฉันนั้น  ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ  ขอพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต

จบ โลหิจจสูตรที่ 12


| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | พระวินัยปิฎก | | พระสุตตันตปิฎก | บน |