ไหว้พระธาตุ ๔ จอม
พระธาตุ ๔ จอม หมายถึงไปไหว้พระธาตุ ๔ แห่ง นามของพระธาตุขึ้นต้นด้วยคำว่า”จอม “ ประดิษฐานอยู่ในวัดที่นามวัดขึ้นต้นด้วยคำว่า”จอม “ ทุกวัดอยู่บนดอย แต่ไม่สูงนัก รถขึ้นถึงองค์พระธาตุทุกดอย วัดทั้งสี่วัดนี้รวมอยู่ในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัด แม่ฮ่องสอน
พระธาตุ ๔ องค์ คือ พระธาตุจอมกิตติ ( ชื่อเดียวกับพระธาตุจอมกิตติ ที่อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ) พระธาตุจอมมอญ พระธาตุจอมแจ้ง และ พระธาตุจอมทอง สี่พระธาตุแยกกันอยู่สี่มุมเมืองของแม่สะเรียง ไม่ได้สี่มุมแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่มุมเยื้องๆกันหน่อย แต่ใครไปแม่สะเรียง อำเภอที่เหมือนเป็นเมืองหน้าด่านของแม่ฮ่องสอน ชาวพุทธควรหาโอกาสไปนมัสการองค์พระธาตุทั้งสี่องค์นี้ จะเป็นมงคลแก่ตัวเอง
ก่อนที่จะเล่าถึงพระธาตุสี่จอม ผมขอเล่าถึงประวัติของแม่สะเรียงหรือเดิมทีเดียวชื่อ เมืองยวม ( แม่น้ำยวมไหลผ่าน )และเคยเป็นที่ตั้งของเมืองแม่ฮ่องสอนมาก่อน
จังหวัดแม่ฮ่องสอน นั้นเดิมเรียกว่า “ บริเวณเชียงใหม่ – ตะวันตก “มีที่ตั้งแขวงอยู่ที่ เมืองยวม หรือ แม่สะเรียง ในปัจจุบัน จนพ.ศ. ๒๔๕๓ จึงได้ย้ายที่ตั้งแขวงจากเมืองยวมมายังแม่ฮ่องสอน และให้ชื่อว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีความเป็นมาดังนี้
เมืองปาย เมืองหนึ่งของแม่ฮ่องสอน เดิมชื่อว่าบ้านดอน เพราะตั้งอยู่บนที่ดอนและมีแม่น้ำไหลผ่าน ๒ สาย คือแม่น้ำปาย และแม่น้ำ เมือง เป็นบริเวณที่ชาวพม่า ชื่อพะก่าซอ เคยมาตั้งทัพเพื่อหาโอกาสเข้าตีเอาเมืองเชียงใหม่ พะก่าซอได้พัฒนาบ้านเมืองจนเป็นปึกแผ่น ต่อมาจนถึงสมัยพระเจ้าไชยสงคราม ( ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ) คิดจะตีเอาเป็นเมืองขึ้นจึงนำทัพมาตีหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ จนถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช เมื่อพ.ศ. ๒๐๕๔ ได้ให้แม่ทัพชื่อ ศรีใจยา นำทัพมาตีบ้านดอนได้สำเร็จ และแต่งตั้งให้ ศรีใจยาปกครองบ้านดอนต่อมา
ส่วนเมืองยวมใต้ เป็นเมืองหน้าด่านของเชียงใหม่ คอยป้องกันการรุกรานของพม่า เมื่อพ.ศ. ๑๙๔๔ กษัตริย์เชียงใหม่คือ พระเจ้าสามฝั่งแกน ได้เนรเทศราชบุตรองค์ที่ ๖ คือ ท้าวลกราช ที่ถูกใส่ความไปครองเมืองพร้าววังหินซึ่งเป็นท้องถิ่นทุรกันดาร ต่อมาท้าวลกราชถูกใส่ความอีก จึงเนรเทศให้มาครองเมืองยวมใต้ จนถึงปีพ.ศ.๑๙๘๕ ได้กลับไปแย่งชิงราชสมบัติได้สำเร็จ สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์นามว่า พระเจ้าติโลกราช จากนั้นเมืองยวมใต้ก็เป็นเมืองหน้าด่านของเชียงใหม่ต่อมาอีกหลายสมัย ตราบจนกระทั่งพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ไม่สามารถมารุกรานเมืองไทยได้อีก
ประมาณปีพ.ศ. ๒๓๗๔ ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาเชียงใหม่มหาวงศ์ ครองนครเชียงใหม่นาม พระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี ได้ให้ เจ้าแก้วเมืองมา ออกมาจับช้างป่าเพื่อนำไปใช้งาน เจ้าแก้วเมืองมาได้เดินทางมายังเมืองปาย โดยเลียบตามริมฝั่งแม่น้ำปายลงมาทางทิศใต้ จนพบที่ราบป่าโปร่งริมฝั่งแม่น้ำปายเป็นบริเวณที่หมูป่าออกมาหากินเป็นจำนวนมากเห็นว่าเป็นทำเลดีเหมาะสมที่จะตั้งเป็นบ้านเมือง จึงหยุดพักไพร่พลแล้วรวบรวมชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนไต ( ไทยใหญ่ ) ที่อยู่กระจัดกระจาย มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน แต่งตั้งชาวไต ชื่อพะก่าหม่อง เป็นหัวหน้าปกครองหมู่บ้าน ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านโป่งหมู ต่อมาเพี้ยนเป็น ป๋างหมู หรือบ้านปางหมู อยู่ห่างจากตัวจังหวัดปัจจุบันไปทางทิศเหนือประมาณ ๖ กม.
เมื่อจัดตั้งหมู่บ้านเสร็จแล้ว เจ้าแก้วเมืองมาได้เดินทางล่องลงมาทางใต้จนถึงลำห้วยแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชาวไทยใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อนแล้ว จึงพักพลแล้วออกจับช้างในบริเวณนั้น เมื่อจับช้างป่ามาได้ก็ตั้งคอกฝึกสอนช้างป่ากันที่ริมห้วย และแต่งตั้งให้ แสนโกม บุตรเขยของพะก่าหม่อง เป็นหัวหน้าออกไปชักชวนชาวไทยใหญ่ที่ตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายกันอยู่ให้มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ให้แสนโกมเป็นผู้ปกครองหมู่บ้าน ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า แม่ฮ่องสอน ( แม่ คือ แม่น้ำ ฮ่อง ภาษาไทยใหญ่ คือ “ร่องน้ำ “ สอน คือ “เรียน “) ดังนั้นแม่ฮ่องสอนจึง หมายถึง ร่องน้ำอันเป็นสถานที่ฝึกสอนช้างป่า
ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๓๙๙ สมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ ได้เกิดการสู้รบกันในหมู่บ้านไทยใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำคง ( แม่น้ำสาละวิน ) ทำให้ชาวไทยใหญ่ในเขตพม่าพากันอพยพข้ามฝั่งแม่น้ำสาละวิน เข้ามาอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ เช่นบ้านปางหมู บ้านแม่ฮ่องสอน บ้านขุนยวม และ เมืองปาย ในการอพยพเข้ามาครั้งนี้มีชายหนุ่มชาวไทยใหญ่คนหนึ่ง ชื่อ
ชานกะเล ตามตำนานคนไต ( ไทยใหญ่ ) กล่าวไว้ว่า ชานกะเล เป็นยอดทหารฝีมือเอกของเจ้าฟ้าโกหร่าน เจ้าฟ้าองค์นี้เป็นผู้ปกครองนครหมอกใหม่ ชานกะเลเป็นคนรักของเจ้านางเมวดี หลานของเจ้าฟ้าโกหร่าน ที่เจ้าฟ้าฯเลี้ยงเหมือนลูก เพราะเจ้าฟ้าไม่มีทั้งบุตรและธิดา
เจ้าฟ้าโกหร่านเป็นผู้มีอาคมขลัง ดุร้าย บ้าอำนาจ ต้องการให้ชานกะเล ยกทัพไปตี เมืองแสนหวี เชียงรุ้งและเชียงของ หากชนะกลับมาจะแต่งตั้งให้เป็นมหาอุปราชและจัดการอภิเษกกับเจ้านางเมวดี แต่ชานกะเลเห็นว่าทั้ง ๓ เมืองเป็นชาวไทยใหญ่เลือดเดียวกัน ชานกะเลจึงหลบหนีออกจากเมืองหมอกใหม่โดยเจ้านางเมวดีให้การช่วยเหลือ
ชานกะเล พร้อมด้วยคนสนิท คือ อ่องละ และ อ่องปาน ได้เดินทางมาถึงกลางป่า ได้หยุดพัก ขณะที่อ่องละ อ่องปานออกไปหาผลไม้ ชานกะเลนั่งพักอยู่ตามลำพัง ถูกเสือโคร่งตัวใหญ่ตะครุบจากด้านหลัง บังเอิญลูกสาวของพะก่าหม่องชื่อ นางคำใส ได้ช่วยไว้ทันแล้วพาไปอยู่อาศัยที่บ้านโป่งหมูของพะก่าหม่อง ต่อมาพะก่าหม่องเห็นชานกะเล เป็นคนดี ขยัน จึงยกนางคำใสให้เป็นภรรยา โดยไม่รู้ว่าชานกะเลมีคนรักอยู่แล้ว ( มีบุตรสาวด้วยกัน ๑ คน ) ชานกะเลได้พยายามส่งข่าวให้เจ้านางเมวดีทราบว่า ตนยังมั่นคงในความรักที่มีต่อเจ้านาง ความทราบถึงพะก่าหม่อง จึงจับตัว อ่องละ อ่องปาน ไปกักตัวไว้ที่ขุนยวม เพื่อตัดการติดต่อกับเจ้านางเมวดี
พ.ศ. ๒๔๐๙ ได้เกิดการสู้รบกันระหว่างเจ้าฟ้าเมืองนาย กับเจ้าฟ้าโกหร่านแห่งเมืองหมอกใหม่ เจ้าฟ้าโกหร่านสู้ไม่ได้จึงพาเจ้านางเมวดีหนีมาอยู่ที่เมืองปาย และคบคิดกับอัศวินชาวเขาจะไปตีเชียงใหม่ หากชนะจะยกเจ้านางเมวดีให้ ชานกะเลทราบข่าวจึงรีบรุดไปเมืองปาย ขออาสาไปรบแทน แต่ขอประลองฝีมือตัวต่อตัวกับทหารเอกของเจ้าฟ้าโกหร่านก่อน ผลการประลองฝีมือชานกะเลฆ่าทหารเอกตายไปทีละคนสองคน แล้วจึงทูลคัดค้านไม่ให้เจ้าฟ้าโกหร่านยกทัพไปตีเชียงใหม่ เจ้าฟ้าโกหร่านรู้ว่าชานกะเลวางอุบายมาเพื่อฆ่าทหารเอกและห้ามทัพจึงโกรธแค้นมาก หาโอกาสลอบทำร้ายชานกะเล พอดีนางคำใสมาพบเข้า ตัดสินใจเอาตัวเข้าขวางจึงถูกมีดเหน็บของเจ้าฟ้าโกหร่านแทงตาย
ชานกะเลซึ้งในน้ำใจของนางคำใส จึงไม่ปรารถนากลับไปยังเมืองหมอกใหม่ ได้พาเจ้านางเมวดีคืนสู่บ้านโป่งหมูแล้วอพยพครอบครัวพร้อมด้วย ปู่โทะ คนสนิทที่ติดตามมาพร้อมกับเจ้าฟ้าโกหร่านไปสร้างบ้านที่ขุนยวม โดยรวมชาวไทยใหญ่และกะเหรี่ยงมารวมกันตั้งหมู่บ้าน
พ.ศ. ๒๔๑๖ เจ้าบุรีรัตน์ ได้ขึ้นปกครองเมืองเชียงใหม่แทนเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ที่ถึงแก่พิราลัย ได้รับพระราชทานนามว่า “ เจ้าอินทวิชยานนท์ “ ได้เรียกตัวชานกะเลมาเข้าเฝ้า แล้วแต่งตั้งให้เป็น “พญาสิงหนาท “ พ่อเมืองขุนยวมคนแรกในปีพ.ศ. ๒๔๑๗ นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่เมืองขุนยวม จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น” พญาสิงหนาทราชา” ให้มาปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งยกฐานะขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน มีเมืองขุนยวม เมืองปายเป็นเขตแดน เมืองยวมใต้เป็นเมืองรอง
พ.ศ. ๒๔๒๗ พญาสิงหนาท ถึงแก่กรรม เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จึงแต่งตั้งให้เจ้านางเมวดีขึ้นปกครองแทน ชาวแม่ฮ่องสอนเรียกเจ้านางว่า “ เจ้านางเมี๊ยะ “โดยให้ ปู่โทะ ( ต่อมาคือ พญาขันธเสมาราชานุรักษ์ ) เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
พ.ศ. ๒๔๓๔ เจ้านางเมี๊ยะถึงแก่กรรม เจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ปกครองนครเชียงใหม่ จึงแต่งตั้งปู่โทะหรือพญาเสมาราชานุรักษ์ เป็นพญาพิทักษ์สยามเขต ให้ปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน จนถึงพ.ศ. ๒๔๓๓ ได้จัดระบบการปกครองใหม่เป็นการรวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองปาย และเมืองยวม ( แม่สะเรียง ) เป็นหน่วยเดียวกัน เรียกว่า “ บริเวณเชียงใหม่ – ตะวันตก “ตั้งที่ว่าการแขวง(เทียบเท่าเมือง ) ที่เมืองขุนยวม มีนายโหมดเป็นนายแขวง และเชียงใหม่ได้แต่งตั้งขุนหลู่ บุตรของพญาพิทักษ์สยามเขตเป็น พญาพิศาลฮ่องสอนบุรี
พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้ย้ายที่ทำการแขวงจากเมืองขุนยวม ไปตั้งที่เมืองยวม ( แม่สะเรียง )แล้ว
เปลี่ยนชื่อเป็น บริเวณพายัพเหนือ จนถึงปีพ.ศ. ๒๔๕๐ พญาพิทักษ์สยามเขตถึงแก่กรรม ทางเมืองเชียงใหม่จึงแต่งตั้ง พญาพิศาลฮ่องสอนบุรี ขึ้นปกครองเมืองแทน
พ.ศ. ๒๔๕๓ รัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าฯ ตั้งเมืองจัตวาขึ้นกับมณฑลพายัพ ย้ายที่ทำการแขวงจากเมืองยวมมาตั้งที่ เมืองแม่ฮ่องสอน ให้ชื่อว่า “ จังหวัดแม่ฮ่องสอน “
................................................
| บน | |