|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ
ในรอบปีที่ผ่านมานี้ต่างยอมรับกันว่า สถาปัตยกรรมไทยที่เลอเลิศไม่มีที่ใดจะเหมือนก็คือ การสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ซึ่งออกแบบโดย สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ บัดนี้เกิดการก่อสร้างที่ต้องรับว่าน่าจะยิ่งใหญ่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งในยุคปัจจุบัน และเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบเลยทีเดียว เป็นสถาปัตยกรรมไทยแท้ที่งามยิ่ง และกำลังก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ขนาดยังไม่แล้วเสร็จ ยังต้องยอมรับว่าประนีต งดงามอย่างยิ่ง นั่นคือ "พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ" ของ
วัดทางสาย
ตำบล
เขาธงชัย
อำเถอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้สร้างขึ้นบนเขาธงชัย ซึ่งเป็นเขาที่ไม่สูงมากนักประมาณ ๑๑๕ เมตร และอยู่ชายทะเล
อ่าวบ้านกรูด
ที่กำลังโด่งดัง เพราะมีเอกชนจะไปสร้างโรงไฟฟ้า โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของธรรมชาติ และภาครัฐบาลเองก็ไม่ฟังจากราษฎรในท้องถิ่น ไม่ฟังเหตุผลที่ทำไมพวกเขาจึงหวงแหนชายหาดแห่งนี้กันนัก
ท่านผู้ออกแบบสร้างพระมาหาเจดีย์องค์นี้คือ
ม.ร.ว.มิตรวรุณ เกษมศรี
ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ ท่านทุ่มเททำอย่างสุดฝีมือเหมือนจะทราบว่าจะเป็นงานชิ้นสุดท้ายของท่าน ท่านทุ่มเทการออกแบบเพราะ
พระมหาธาตุเจดีย์องค์นี้ สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครองราชสมบัติ ๕๐ ปี
ท่านได้เริ่มทำงานออกแบบเมื่อท่านอายุได้ ๘๐ ปี ใช้เวลาในการออกแบบอยู่ถึง ๒ ปี แล้วเสร็จเมื่ออายุได้ ๘๒ ปี เป็นงานชิ้นสุดท้ายของท่านจริง ๆ เพราะพอเสร็จท่านก็สิ้นชีวิต แต่งานอันยิ่งใหญ่นี้จะไม่มีวันสิ้นสุดตามชีวิตของท่านศิลปินแห่งชาติผู้นี้ จะยืนยงคงอยู่ตลอดไป ขอให้ท่านได้หาโอกาสไปชมแล้วจะเห็นเองว่ายิ่งใหญ่เพียงใด ผมเองก็เสียดายที่ตอนไปชมนั้นมีเวลาน้อยเกินไป เมื่อกลับมาแล้วจึงมาหารายละเอียดเพิ่มเติมจึงทราบความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่ และความอัศจรรย์ที่สามารถสร้างงานใหญ่ขนาดนี้ ใช้เงินมากกว่า ๒๐๐ ล้านได้ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังตกต่ำ ผมเองไม่ได้ตั้งใจไป ผมจะไปบ้านกรูด ไปดูทะเล ไปชมหาดแสนสวย อยากไปนอนพัก ไปแล้วจึงทราบว่าบนยอดเขาที่เห็นอยู่ไกล ๆ นั้น กำลังก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ แต่คนบอกก็มีความรู้เกี่ยวกับงานนี้น้อยเต็มที บอกแต่ว่าสวย และมีพระพุทธรูป ผมมุ่งไปที่พระพุทธรูปมากกว่าพระมหาธาตุเจดีย์ แต่เมื่อไปแล้วจึงพบความยิ่งใหญ่ แต่มาทราบถึงความยิ่งใหญ่จริง ๆ เมื่อกลับกรุงเทพ ฯ แล้ว และค้นหาเรื่องราวได้นั่นแหละจึงทราบ และยังเสียดายที่ถ่ายภาพมาน้อยเกินไป ผมจะกลับไปใหม่กว่าท่านจะอ่านถึงตอนนี้ผมคงกลับไปอีกครั้งเรียบร้อยแล้ว
พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ สร้างเพื่อถวายแก่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ครองราชสมบัติครบ ๕๐ ปี การออกแบบสร้างจึงเกี่ยวพันกับสาเหตุของการสร้างถวาย
ต้องเริ่มต้นกันที่การเดินทางไป
บ้านกรูด
เสียก่อน จากกรุงเทพ ฯ ไปตาม
ถนนเพชรเกษม
หรือถนนพระราม ๒ แล้วไปเชื่อมกับเพชรเกษมหรือทางหลวงสาย ๔ ไปผ่าน
เพชรบุรี ชะอำ หัวหิน
(หรือตัดออกบายพาส ที่ชะอำ ไปออก
ปราณบุรี
ได้เลย)
ประจวบคีรีขันธ์
ต่อจากนั้นวิ่งไปจนถึง
กิโลเมตร ๓๓๒
ซึ่ง ณ จุดนี้หาก
แยกไปเพียง ๑๗ กิโลเมตร จะถึงชายแดนไทย - พม่า
หากผ่านด่านนี้ออกไปจะเรียกได้ว่าผ่าน
ด่านสิงขร
ที่สมัยโบราณพม่าเคยผ่านเข้ามาทางด่านนี้เหมือนกันแต่น้อยครั้ง และช่องด่านสิงขรนี้อยู่ใน
จุดที่กิ่วคอดที่สุดของแผ่นดินไทย
คือกว้างประมาณ ๑๗ กิโลเมตรเศษ แต่จะขุดคลองคอดกระหรือคลองกระ ตรงนี้ไม่ได้เพราะเป็นเพียงส่วนที่แคบที่เป็นพื้นแผ่นดินของไทยเท่านั้น ไม่ใช่ส่วนที่แคบที่เชื่อมระหว่างทะเลอันดามัน หรือมหาสมุทรอินเดีย กับอ่าวไทย
ผมนำเอามาบอกเล่ากันไว้ว่า ส่วนที่คอดของแผ่นดินอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ตรง
คอคอดกระ
หรือที่อื่น ๆ ที่เป็นความคอดบนแผ่นดิน แต่ไปขุดคลองเชื่อมไม่ได้
จากกิโลเมตร ๓๓๒ วิ่งต่อไปผ่านทับสะแก ผ่านไปจนถึง
กิโลเมตร ๓๘๓
ทางช้ายมือมีปั๊ม ปตท. สุดเขตปั๊ม ให้เลี้ยวซ้าย มีป้ายบอกไป
หาดบ้านกรูด ๙ กิโลเมตร
วิ่งไปตามเส้นทางนี้ประมาณ ๙ กิโลเมตร จะชนกับสามแยก ถ้าเลี้ยวขวาจะไปบ้านกรูดที่ลือชื่อ ทั้งความงดงามและความดังในการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าของเอกชน ตอนท้ายผมจะพากลับมายังหาดบ้านกรูด ตอนนี้พอชนสามแยกแล้วให้เลี้ยวซ้าย จะผ่านร้านอาหาร มีหลายร้าน ไปจนถึงเชิงเขาธงชัย มีทางรถยนต์ขึ้นได้จนถึง "พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ" แต่ก่อนที่จะถึงพระมหาธาตุเจดีย์เพียง ๑๒๐ เมตร จะมีลานจอดรถ เมื่อจอดรถแล้วจะพบป้ายใหญ่บอกว่า "
พระพุทธกิติสิริชัย
" เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางคันธาราษฎร์ ประทับนั่งปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๑๐ เมตร สูง ๑๓.๘๒ เมตร สมเด็จพระสังฆราช ฯ ประทานนามและประทานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อบรรจุในองค์พระพุทธรูป โดยสมเด็จพระเทพรัตน์ ฯ ได้เสด็จมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อ ๖ มิถุนายน ๒๕๓๙ เวลา ๐๙.๕๙ น.
ทางวัดทางสาย ซึ่งก่อสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ และศาลกรมหลวงชุมพร ดูจะเน้นที่พระพุทธรูปมากกว่าจุดอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่น่าจะเน้นไปที่องค์พระมหาธาตุภักดีประกาศ ที่นับว่ายอดแห่งสถาปัตยกรรมในยุคปัจจุบัน ที่ได้ก่อสร้างขึ้นใหม่เลยทีเดียว
หากเดินลงบันไดไปเพียง ๒๐ เมตร ก็จะถึงบริเวณที่ตั้ง
ศาลสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ควรแก่การเดินลงไปเพื่อสักการะ
จากองค์พระพุทธรูป หากจะเดินขึ้นไปหรือนำรถขึ้นไปก็ได้ ระยะทางเพียง ๑๒๐ เมตร ก็จะถึงลานจอดรถ ณ บริเวณพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ ทีนี้มาดูการสร้างที่มีความสัมพันธ์กับ ๕๐ ปี ของการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ กันบ้าง
ในพื้นที่กว่า ๓ ไร่ เป็นสถานที่ก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ ซึ่งหากมองไกล ๆ จากที่สูงจะมองเห็นเป็นประดุจวิมานลอยฟ้า สร้างเป็นอาคารชุดหลังเดียวขนาดใหญ่มาก มีเจดีย์ประธานและหมู่เจดีย์ล้อมอีก ๘ องค์ และเมื่อสร้างเสร็จแล้ว จะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนบุษบกใต้โดม เจดีย์ที่สร้างล้อม ๘ องค์ สร้าง ๔ ทิศ ขององค์เจดีย์ประธานซึ่งเป็นเจดีย์ทรงลังกา ส่วนตัวอาคารนั้นเป็นสถาปัตยกรรมไทย ทั้งประตู หน้าต่าง และการตกแต่งภายใน หากท่านเคยเดินทางไปดูสถานที่สำคัญ ๆ ทางพุทธศาสนาหลาย ๆ แห่ง จะดูเหมือนแบบของพระมหาธาตุเจดีย์องค์นี้ นำหลาย ๆ แห่งมาประยุกต์ และให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมไทยอย่างแนบเนียนงดงาม เหมือนเอาส่วนของพระมหาเจดีย์ บุโรพุทโธ จากยอรค์ยากาต้า ในอินโดนีเซีย เหมือนนำเอาส่วนของโลหะประสาทมาร่วม และเหมือนนำส่วนของหลังคาคลุมทางขึ้น และเจดีย์ล้อมของพระมหาธาตุเจดีย์เวดากอง ของเมียมม่ามาเป็นอีกส่วนหนึ่งงดงามมากจริง ๆ วันที่ท่านจะไปชมต้องงดงามกว่าวันที่ผมไปเพราะจะแล้วเสร็จมากยิ่งกว่าวันที่ผมไป ซึ่งบอกว่าแล้วเสร็จประมาณ ๘๐ %
รีบบอกเสียก่อนที่จะลืม ท่านเจ้าอาวาสวัดทางสายที่ริเริ่มคือ ท่านพระอาจารย์ ไมตรี ฐิตปัญโญ ส่วนประธานคณะกรรมการก่อสร้าง ผู้ที่สามารถระดมทุนมหาศาลได้ทั้ง ๆ ที่ประเทศกำลังมีเศรษฐกิจแบบนี้คือ นายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีต หนึ่งในห้าของ "กกต." นั่นเอง ที่ระดมทุนสำเร็จ ทำอย่างเงียบ ๆ ไม่ได้ประชาสัมพันธ์กันอย่างครึกโครมแต่ประการใด
อาคารของพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ กว้าง ยาว สูง ด้านละ ๕๐ เมตร (ครองราชย์ ๕๐ ปี) ตัวอาคารเป็นตึกสูง ๕ ชั้น หมายถึง ขันธ์ ๕ เป็นหมู่เจดีย์ ๙ องค์ หมายถึงรัชกาลที่ ๙
ภายในอาคารจะมีพระพุทธรูปที่สร้างจากหลายจังหวัดทั่วประเทศส่งมาถวายไว้ ๓๗ องค์ เป็นการสร้างอาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยแบบใหม่ และนำเอาโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ วิหารคด มารวมอยู่ในอาคารเดียวกันในแนวตั้ง
ชั้นใต้ดิน เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และพิพิธภัณฑ์ลายไทยของ ม.ร.ว.มิตรวรุณ เกษมศรี
ชั้น ๓ เป็นพระวิหาร เพื่อเป็นที่ฟังธรรม รับคนฟังธรรมได้ถึง ๑,๐๐๐ คน เป็นสถานที่จะมาทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และตรงกลางของชั้นนี้มีพระพุทธรูป ๔ อิริยาบถ ประจำทั้ง ๔ ทิศ (พระ ๔ อิริยาบถ ที่วัดในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร คือ ปางลีลา ปางประทับ ยืน,นอนและนั่ง)
ชั้น ๔ เป็นอุโบสถมีพระพุทธรูปปางลีลา เป็นพระประธาน ผนังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นลายไทย เขียนโดยศิลปินรุ่นใหม่ แต่งงดงามยิ่ง โดยเฉพาะภาพที่หลังพระประธานเป็น ภาพพระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงษ์ในวันออกพรรษา ตามช่องหน้าต่างเป็นภาพที่เป็นกระจกสี ภาพในเรื่องมหาชนก
การก่อสร้างกะไว้ว่าต้องใช้เงินประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท ทุกอย่างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ท่านที่ไปชมขอได้สละทรัพย์ช่วยกันสร้าง พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศองค์นี้ เพื่อถวายแก่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมเองก็จะไปอีกปลายหนาว ต้นร้อน ติดใจทั้งความงดงามของพระมหาธาตุเจดีย์ที่ผมยังเดินชมไม่ละเอียดเพียงพอที่จะนำมาเล่าให้ละเอียดมากกว่านี้ ติดใจในหาดบ้านกรูด ติดใจในที่พักกำลังจะเล่าให้ฟัง และติดใจร้านอาหารของร้านบ้านหาดสวย
เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้ามาตามเส้นทางมาหาดบ้านกรูด ตรงเพชรเกษมกิโลเมตร ๓๘๒ เศษ เข้ามา ๙ กิโลเมตร ชนกลับสามแยก เลี้ยวซ้ายไปพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศของวัดทางสาย "เลี้ยวขวา" มาจะเป็นย่านบ้านพักตากอากาศของอ่าวบ้านกรูด ซึ่งผมไม่เคยมาเลย และนึกไม่ถึงว่าหาดนี้จะสวยสดงดงามมากขนาดนี้
หาดบ้านกรูดมีเม็ดทรายที่ขาวสะอาดและละเอียด น้ำทะเลเป็นสีฟ้า เมื่อลงเล่นน้ำแล้วจะไม่รู้สึกเหนียวตัว หาดทรายขาวสะอาดนี้ยาวประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ห่างจะฝั่งหรือชายหาดประมาณ ๕๐ เมตร จะมีสันทรายทอดขนานไปกับชายหาด แบบ "ลากูน" เมื่อน้ำทะเลลง สันทรายนี้ยังคงกักน้ำทะเลไว้เด็ก ๆ ลงเล่นน้ำได้สบายไม่มีอันตราย ทั่วพื้นที่ของบ้านกรูดมีน้ำตกที่ไปชมได้มากถึง ๕ แห่ง
ดำน้ำดูปะการังได้ มีเรือรับจ้างพาไป (ติดต่ดสีสอร์ท) ปะการังอยู่ลึกเพียง ๑ - ๔ เมตร
มีปลาวาฬหนีความหนาวเข้ามาในเดือนมกราคม หรือช่วงหนาว หนีหนาวเข้ามาให้ชม
มีฝูงปลาโลมา มาดำผุดดำว่านให้ชมอีก ผมไม่มีโอกาสลงเรือไปชม ฟังชาวบ้านเล่าให้ฟัง
ทำไม ชาวบ้านแถวนี้จึงคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าที่บ้านกรูด เดิมผมไม่เข้าใจแต่เมื่อมาเห็นพื้นที่แล้วก็เข้าใจ เพราะโรงไฟฟ้าที่เอกชนจะสร้างนั้นจะใช้ถ่านหิน จะสร้างสะพานเพื่อขนถ่านหินทางทะเล โดยปักเสาลงในทะเลยื่นยาวไปร่วม ๑๐๐ เมตร หมายถึงดงปะการังจะพานาศ มลพิษจากถ่านหินจะเกิดการทำลายการท่องเที่ยวที่กำลังจะบูม เพราะความงดงามของหาด และความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหาธาตุ - เจดีย์จะหยุดชะงัก
นักวิชาการที่มาวิเคราะห์ วิจัย นั้นล้วนเป็นนักวิชาการรับจ้าง เหมือนเช้าวันนี้ผมฟังคุณ มีชัย วีระไวทยะ (หากสะกดผิดขออภัยด้วยครับ) ฟังแล้วก็ดีใจที่ผมได้มีส่วนไปคิดเหมือนท่านผู้รู้ ท่านที่เป็น สว. ที่ว่าทำไมไม่ให้นักวิชาการมาวิเคราะห์เรื่องส่วนต่างของดอกเบี้ยธนาคารที่ สจ.พยายามเสนอให้ห่างกัน ๕ % ท่านบอกว่านักวิชาการล้วนแต่เป็นที่ปรึกษาของธนาคารมากมายจะวิเคราะห์ได้แท้จริง จริงใจหรือ รุ่นพี่ของผมท่านหนึ่งเคยเป็นรองประธาน สว. มาก่อนเมื่อท่านเห็นผมเขียนเรื่องการขุดคอคอดกระ ท่านเตือนมาให้ระวัง การวิเคราะห์ของนักวิชาการรับจ้าง และมวลชนรับจ้างที่ไม่มีตวามรับผิดชอบในชาติบ้านเมือง จะต้องคัดค้านเอา หรือหลัง ๑๑ กันยายน ๒๕๔๔ หลังจากที่ตึกเวรอด์เทริดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์ระเบิดแล้ว สงครามก็เกิด นักวิชาการออกมาออกโรงทางจอ ที.วี. ทางสื่อต่าง ๆ พูดกันด้วยความมันปากคอแห้งไปเลย ฟังแล้วดูแล้วก็ได้แต่ปลงสังเวชเพราะไม่รู้จริง ไม่เข้าใจแผนการรบของเขา ก็พูดว่ากันเรื่อยไป เอาสิ่งผิด ๆ ไปใส่ในสมองของประชาชน ที่มีความเคารพในภูมิปัญญาของนักวิชาการ ผมถือตัวว่าเป็นนักการทหารที่สมบูรณ์ ผ่านการรบมาแล้วหลายสนามรบแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังทำหน้าที่ของ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหม (เฉพาะกลุ่มที่ ๖, แต่เป็นรอง กลุ่มที่ ๔) ก็จะไม่ขอออกความคิดเห็นอะไร ให้เขามาตอบโต้ให้เสียเวลา ใครอยากทราบไว้พบกัน คุยกันก็แล้วกัน
ผมเลยเขียนแนะไว้ตรงนี้ว่า ทำไมไม่ยกโรงไฟฟ้าไปสร้างตรงกิโลเมตร ๓๓๒ ทางที่ไปยังด่านสิงขรของพม่าบ้างล่ะ ตรงนั้นน่ะเหมาะ เพราะซื้อถ่านหินจากพม่าเอาเข้ามาทางด่านสิงขรได้สะดวก
จากสามแยก หากเลี้ยวขวามาอีกประมาณ ๑.๗ กิโลเมตร จะถึงร้านอาหารชื่อบ้านหาดสวย อยู่ทางขวามือ วันธรรมดา ทั้งเที่ยงและเย็นจะไม่มีคนมาก มื้อเช้าของเขาก็มี เป็นเช่นนี้เกือบทุกร้านและ รีสอร์ท แต่พอเย็นที่รุ่งขึ้นจะเป็นวันหยุดละก็ ชายหาดแถบนี้ทั้งหมดจะมีชีวิตใหม่ทันที แน่นไปด้วยผู้คนที่มาพัก เสียงเพลงกระหึ่มไปทั่ว คนเล่นน้ำเต็มหาดเลยทีเดียว ส่วนผมคณะผู้เฒ่าชอบวันธรรมดามากกว่าวันหยุด เพราะหมดวัยที่จะไปนั่งร้องคาราโอเกะแล้ว ชอบธรรมชาติที่เงียบ ๆ มากกว่า ซึ่งหาดบ้านกรูดมีให้โดยสมบูรณ์ในวันธรรมดา และครึกครื้นในวันหยุด
ที่พักของผมคือ บานิโต บีช รีสอร์ท ๐๒ ๙๓๒๒๗๒๑, ๕๙๓๘๐๑๔, ๐๑ ๘๐๙๓๔๓๒ หรือ ๐๓๘ ๖๙๕๒๘๒ - ๓ ซึ่งรีสอร์ทนี้อยู่ในเครือของ อาร์.ซี.ไอ. ด้วยคือจะมีการรับแขกจากต่างประเทศในเตรือเดียวกันมาพัก ๗ วัน หรือมากกว่า รวมทั้งส่งลูกค้าของตนไปต่างประเทศ ส่วนผมเป็นสมาชิกของกลุ่มอื่นและเป็นมานานแล้ว แต่ไม่อยากแนะนำให้ใครเป็นสมาชิกแบบนี้ เพราะระยะหลัง ๆ นี้โกงกันมาก ส่วนที่รีสอร์ทนี้เขาบอกว่าของ อาร์.ซี.ไอ.ส่งลูกค้าฝรั่งมาพักกันประจำ ทำให้วันธรรมดาของเขาไม่เงียบเหงา มีแขกมาพัก จัดสถานที่สวย สวนสวยมาก ห่างทะเลไม่ถึง ๓๐ เมตร ร่มรื่น งดงามด้วยพันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับ
ร้านอาหารของรีสอร์ท ก็ตั้งอยู่ด้านหน้าติดถนนเลียบชายหาดคือร้าน "บ้านหาดสวย" ซึ่งหากพักที่รีสอร์ทนี้อาหารเช้าแถมฟรี แต่เป็นข้าวต้มทะเล อร่อยทีเดียว ส่วนมื้อชิมของผมคือมื้อเย็นวันที่ไปถึง ชิมกันเพียง ๒ คน เลยชิมไม่ได้มาก แต่แค่อาหาร ๓ อย่าง ก็พอจะรู้รสแล้วว่าหากชิมต่อก็แจ่มแจ๋วแน่นอน รุ่งเช้าจึงมีโอกาสได้คุยกับเจ้าของทั้งสามีและภริยา ผลัดกันเข้ามาคุยเอง ได้ความว่า จบจากบัญชีจุฬาลงกรณ์ ทั้ง ๒ คน เคยทำงานธนาคารมาแล้วทั้ง ๒ คน ครึ้มขึ้นมาเลยลาออกมาขายที่ดิน และทำรีสอร์ท ล้มลุกปลุกปล้ำกันมนบ้านกรูดเริ่มดัง และกำลังจะดับหากมีการสร้างโรงไฟฟ้า
ไข่ตุ๋นทะเล สั่งมาซดแทนกงจืด ใส่ทะเลตัวไหนลงไปบ้างไม่ได้ถาม ทราบแต่ว่าร้อนจัดซดชื่นใจเหลือประมาณ รสดี มีกลิ่นหอมของไข่ ระเหยขึ้นมา
ต้มข่าทะเล มีทั้ง หมึก และกุ้ง พอเคี้ยวเนื้อหมึกก็ทราบได้ว่า สดจริง ๆ กรอบกรุ๊บเลยทีเดียว แกงต้มข่านั้นหอมนัก และเมื่อร้อน ๆ ด้วยจะซดเป็นแกงจืด หรือจะเอามาราดข้าวให้น้ำชุ่มฉ่ำก็ดีทั้งนั้น
ปลาเจี๋ยน เข้าใจว่าปลาเก๋า ราคาปลาจานนี้ตามน้ำหนักแต่ไม่แพง จานที่ผมสั่งมาตัวโตมาก ราคาเพียง ๑๕๐ บาท หากใครอยากได้รสเผ็ดก็สั่งปลาราดพริกหรือสามรสก็ได้ แต่สำหรับปลาเจี๋ยนจานโตจานนี้ เนื้อปลานุ่ม กรอบที่ผิวนอก จบแล้วจะเหลือแต่ก้างใหญ่ และหัวส่วนที่แข็งเท่านั้น นอกนั้นหมด โรยมาด้วยขิงหั่นซอย ต้นหอม เต้าเจี้ยว พริกชี้ฟ้าสีแดง น้ำผัดเข้าเนื้อปลาออกรสหวาน หอมด้วยกลิ่งขิง
ปิดท้ายด้วยผลไม้คือ สับปะรด ซึ่งย่านนี้ไปจนถึงปราณบุรีคือ ย่านสับปะรดทั้งสิ้น
------------------------
|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
บน
|