| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

จังหวัดกาฬสินธุ์

            เมืองกาฬสินธุ์ฟังชื่อดูแล้วเหมือนอยู่ไกลเหลือเกิน  และดูจะน่ากลัวด้วยซ้ำไป  แต่หากพิจารณาคำแปลชื่อเมืองของเขาให้ดี ๆ แล้ว จะเห็นว่าเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด  ไม่แห้งแล้ง ไม่ขาดแคลนน้ำและเป็นมานานแล้วด้วย  เป็นเมืองดินดำน้ำชุ่ม
            ชะตาของเมืองมีขึ้นมีลง  กาฬสินธุ์เคยถูกยุบลงมาเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔  เหตุผลเพราะเศรษฐกิจเหมือนยุคไอเอ็มเอฟปี ๒๕๔๒  นี่แหละ และพอชะตาขึ้นก็กลับตั้งเป็นจังหวัดใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙

            ดินแดนของกาฬสินธุ์ในปัจจุบันนี้นั้น  ในสมัยโบราณเคยเป็นที่อยู่ของพวกละว้า  มีเมืองที่ปรากฏเป็นซากปรักหักพังให้เห็นอยู่ ๔ เมือง คือ เมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองเชียงโสม  เมืองเชียงสา และเมืองเชียงน้อย  และเมืองเหล่านี้สงสัยว่าจะถูกทำลายลงโดยกษัตริย์พม่า คือ  พระเจ้าอโนรธามังช่อ  กษัตริย์พม่าแห่งพุกาม  ซึ่งมีอำนาจมากในสมัยนั้น (เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๔๒ ของพุกาม ตรงกับยุคสุโขทัยที่พึ่งเริ่มต้น)  คงจะประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ เศษ
            ชนชาวกาฬสินธุ์เป็นชนเผ่าไทยเผ่าหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "อ้ายลาว"  เผ่าเดียวกับลาวในนครเวียงจันทน์ในปัจจุบันนี้  ได้อพยพมาจากเวียงจันทน์ในราว พ.ศ. ๒๓๒๐ - ๒๓๒๑  สาเหตุเนื่องมาจาก  เจ้าผ้าขาวกับพระวอพระตา  เกิดผิดใจกันกับเจ้าเมืองเวียงจันทน์  จึงหนีมาอยู่ที่หนองบัวลำภู (จังหวัดหนองบัวลำภู) กองทัพเวียงจันทน์ก็ยังอาฆาตเล่นไม่เลิก  ยกทัพตามมาตีอีก  ๓ ท่านนี้ก็อพยพหนีเรื่อยไป  พระวอ พระตา ไปตามลำน้ำโขง ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลดอนมดแดง (ในเขตอุบลราชธานี) ส่วนเจ้าผ้าขาวอพยพลงใต้ และตั้งเป็นหมู่บ้านอยู่ที่พรรณานิคม (จังหวัดสกลนคร)
            เจ้าผ้าขาวอพยพบ่อยเข้า  หมดแรงเลยกลายเป็นเจ้าผ้าดำลงหีบศพไป "เจ้าโสมพะมิตร"  ได้เป็นผู้คุ้มครองราษฎรแทน  เจ้าศิริบุญสารเจ้าเมืองเวียงจันทน์ก็ยังเล่นไม่เลิกตามมาต่อตีอีก  เกิดความกันดารในถิ่นที่อยู่ด้วย  อพยพอีกพาผู้คนข้ามสันเขาภูพานลงมาทางใต้ (จังหวัดกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน)  สมทบกับพวกที่อพยพลงมาก่อน ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ตำบลแก่งสำโรง
            พ.ศ. ๒๓๓๔  เจ้าโสมพะมิตร  ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  และได้นำกาน้ำสัมฤทธิ์ขึ้นทูลถวายด้วย  ได้กราบทูลขอตั้งบ้านแก่งสำโรงเป็นเมือง และกราบทูลให้ทรงทราบว่า ถิ่นเดิมของพวกตนคือริมแม่น้ำก่ำ (จึงทูลเกล้าถวายกาสัมฤทธิ์)  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามเมืองว่า "กาฬสินธุ์"  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๖  และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ เจ้าโสมพะมิตรเป็น "พระยาชัยสุนทร" เจ้าเมืองกาฬสินธุ์คนแรก  ต่อจากนั้นเมืองกาฬสินธุ์ก็มีเจ้าเมืองปกครองสืบเนื่องกันมาโดยลำดับ
            ๑ สิงหาคม ๒๔๕๖  โปรด ฯ ให้ยกเมืองร้อยเอ็ดเป็นมณฑล และให้กาฬสินธุ์คงเป็นจังหวัดขึ้นกับมณฑลร้อยเอ็ดจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๔  จึงถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม และกลับตั้งขึ้นเป็นจังหวัดใหม่เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๐
            การเดินทางไปกาฬสินธุ์ไปได้หลายเส้นทาง  จะไปโดยไม่ผ่านขอนแก่นก็ได้  คือ ไปตามถนนมิตรภาพจนถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น  แล้วแยกขวาไป อำเภอบรบือ  ไปมหาสารคาม  ไปกาฬสินธุ์ได้เลย  หรืออีกเส้นทางก็ไปผ่านตัวเมืองขอนแก่นก่อน (ผมไปทางนี้เพราะอยากไปนอนขอนแก่น) แล้วไปอีก ๗๗ กม. ตามถนนสาย ๒๐๙ ก็จะถึงกาฬสินธุ์  จะไปให้ครึกครื้นกว่านั้นก็ได้  เช่นไปจากกรุงเทพ ฯ - วิ่งเลียบคลองรังสิตไปโผล่นครนายก  แล้ววิ่งต่อไปยังปราจีนบุรี (ไม่ต้องเข้าเมือง) ตรงไปยัง จังหวัดสระแก้ว  ไป อำเภออรัญประเทศ  (หรือจะเลี้ยวซ้ายเสียที่อำเภอวัฒนานครก็ได้) ไปอำเภอตาพระยา  ไปโผล่ อำเภอละหารทราย จังหวัดบุรีรัมย์  จะแวะเที่ยวปราสาทหินพนมรุ้งก่อนก็ยังได้  หรือจะเลยต่อไปทางอำเภอนางรอง  กินขาหมูนางรอง (จำไว้ดี ๆ มาจากกรุงเทพ ฯ ร้านต้องอยู่ซ้ายมือชื่อขาหมูนางรอง) ไปบุรีรัมย์เข้าเส้น ๒๑๙ ไปกาฬสินธุ์ระยะทางก็ใกล้เคียงกันแทบทุกสาย  แต่เส้นหลังนี้ไกลกว่าหน่อย  และถนน ๒ เลน ส่วนเส้นแรกนั้น ๔ เลน จนถึงบ้านอำเภอบ้านไผ่ หรือขอนแก่น  จากนั้นจึงจะเป็นถนน ๒ เลน  แต่ก็เป็นถนนราดยางอย่างดี  กว้างวิ่งสบายระวังมอเตอร์ไซด์หน่อยก็แล้วกัน  เพราะถนนตีเส้นทึบที่ขอบทาง  เขาไม่วิ่งกันในเส้นทึบเขามาวิ่งกันในเลนรถยนต์ต้องระวัง  ไม่งั้นจะเที่ยวไม่สนุก ต้องไปเที่ยวโรงพักแทน
            ผมไปครั้งสุดท้ายคงกว่าสิบปีมาแล้ว  กาฬสินธ์วันนี้เจริญขึ้นมาก  มีถนนเพิ่มมากขึ้นแต่เป็นถนนสายสั้น ๆ จำเส้นทางยาก  ผมมาเที่ยวนี้ขับรถหลงทางหลายหน  นอนอยู่ ๒ คืน คงจะหลงสัก ๒ - ๓ ครั้ง  โดยเฉพาะตอนหาทางออกจากเมืองกลับโรงแรม
            พักที่โรงแรมริมปาว  แต่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำชี  แม่น้ำเล็ก ๆ น้ำมีน้อย  เป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง  โรงแรมเดียวของจังหวัดนี้  เพราะกาฬสินธุ์ขาดการประชาสัมพันธ์  ทำให้ขาดนักท่องเที่ยวทั้ง ๆ ที่กาฬสินธุ์ในปัจจุบันเป็นเมืองน่าเที่ยวมาก  มีแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก "โลกตลึง" เลยทีเดียว  คือซากฟอร์สซิลไดโนเสาร์  เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังเรียกว่ามีของดีแล้ว  แต่ไม่รู้จักงัดเอามาอวดชาวโลก  โรงแรมริมปาวมีห้องอาหารชื่อ กุฉินารายณ์  ชิมมื้อเย็นอยู่มื้อเดียว เพราะมีอาหารอร่อยถูกปากอยู่อย่างเดียว แต่อร่อยมาก คือ แกงต้มข่าไก่  ส่วนข้าวสวยนั้นสวยจริง ๆ หรือผมจะแก่มากไปก็ไม่ทราบ  ข้าวแข็งไปและไม่ร้อน ร้านอาหารทั้งหลาย ต้องจำไว้ให้ดี ๆ  กับข้าวอร่อยปานใดก็ตามลอง "ข้าว" ไม่นุ่ม ไม่ร้อน  เย็นชืดและแข็งแล้ว  อาหารมื้อนั้นจะหมดรส  นอกจากคนกินเหล้าประเภทกินเหล้าแล้วไม่กินข้าว (เช่นผม) ก็แล้วกันไป  มื้อดึกเขามีข้าวต้ม บุฟเฟ่ต์ ๕๙ บาท เท่านั้น ดูอาหารแล้วใช้ได้  แต่ไม่ได้ชิม  มื้อเช้าก็บุฟเฟ่ต์พอใช้เพราะอาหารไม่มากนัก  คงมีข้าวต้ม  แฮม  ไข่ดาว  และไส้กรอก  กาแฟ  ชา และน้ำส้ม มีให้เท่านั้น  ไม่ถึงอาหารเช้าชุดใหญ่  เหมือนโซฟิเทลที่ขอนแก่นนั่นกินกันจุกไปถึงมื้อเที่ยงเลยทีเดียว  มื้อกลางวันเขาก็มีบุฟเฟ่ต์อีกนั่นแหละ ไม่ได้ชิมอีก  เพราะออกไปตระเวณอยู่ตามอำเภอ  หากินตามท้องถิ่น  จึงขอข้ามห้องอาหารกุฉินารายณ์ไป  แต่คนชอบข้าวแข็งละก็น่ากิน  เอาแกงข่าไก่ราดอร่อยไปเลย  แต่ที่ต้องชมอย่างมาก คือ พนักงานดีทุกคน  คนที่มายกกระเป๋าให้ผมมีความรู้มาก  ถามแหล่งท่องเที่ยว ถามวัดวาอารามตอบได้หมด  สมาคมโรงแรมน่าจะพิจารณาข้อนี้  บ๋อยยกกระเป๋านั่นแหละสำคัญ  เพราะเกือบจะเป็นคนแรก ที่แขกจะชอบคุยด้วย  คุยกันตอนยกกระเป๋าขึ้นลิฟท์เดินเข้าห้องนั่นแหละ  หากมีการอบรมพนักงานเป็นหลักสูตรไปเลย ๗ วันก็ยังดี  ให้รู้จักจังหวัดของโรงแรมของตัว  ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดเอง
            กาฬสินธุ์มีน้ำสมบูรณ์เพราะมีเขื่อนลำปาว  ซึ่งเขื่อนนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๓๖ กม.  หากมีเวลาจะแวะตั้งแต่ตอนขามาก็ได้   เป็นเหมือนทะเลสาบใหญ่ และในตัวเมืองยังมีโครงการชลประทานอีกด้วย  โอกาสที่กาฬสินธุ์จะกันดารน้ำนั้นจึงมีโอกาสน้อย  สำคัญที่ว่าสร้างเขื่อนลำปาวแล้ว  สร้างคลองส่งน้ำมากพอที่จะเฉลี่ยน้ำไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทั่วถึงแคไหน
            สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดกาฬสินธุ์  ผมไม่ได้ไปในคราวนี้ทุกแห่ง  แต่จะสรุปรวมเอาไว้ คือ อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร (ท้าวโสมพะมิตร) ตั้งอยู่หน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข  ต้องถือว่าจุดนี้เป็นจุดหลักในการหาสถานที่อื่น ๆ ในตัวเมืองกาฬสินธุ์  เพราะไปไหนไม่ถูกผมมาตั้งต้นกันตรงอนุสาวรีย์นี่แหละ  และเมื่อเข้าเมืองท่านก็ควรมาคาระวะท่านด้วย
            วัดกลาง  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ดำ  พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองกาฬสินธุ์  ปีใดฝนแล้งชาวเมืองจะอัญเชิญหลวงพ่อดำออกแห่ขอฝน  ผมไปครั้งแรกนั้นผมไปเป็นทางการ  ฝ่ายรับรองเขาก็อนุญาติทางวัดไว้เรียบร้อย  ไปกราบนมัสการได้ เพราะหลวงพ่อดำท่านไม่ได้อยู่ในโบสถ์ ท่านอยู่หอสูง  ยิ่งไปคราวนี้ไม่ทราบท่านอยู่ตรงไหน  เพราะโบสถ์ก็ปิด  เล็ง ๆ เห็นหลวงพ่อองค์หนึ่งท่านนั่งสั่งงานใต้ต้นไม้ ราษีท่านดี  เดาว่าน่าจะเป็นเจ้าอาวาสองค์ใหม่  เพราะองค์เก่าผมเคยกราบคาระวะ ท่านอายุมากแล้ว  องค์นี้อายุไม่มากกว่าผมแน่เลยไปกราบท่าน  และขอนมัสการหลวงพ่อดำ  ท่านกลับบอกว่าเคยได้ยินชื่อผม  ท่านก็ให้เปิดโบสถ์ไปกราบพระประธานในโบสถ์  และเปิดอาคารน่าจะเรียกว่าอาคารเอนกประสงค์  สร้างไว้สวยงามทีเดียว  หลวงพ่อดำจำลองอยู่ในอาคารนี้  เลยได้กราบแต่องค์จำลอง  สำหรับการไปครั้งนี้  ส่วนหลวงปู่เจ้าอาวาสองค์เดิมยังมีชีวิตอยู่ แต่อายุ ๘๕ แล้ว เลยไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส  และวัดกลางยังมีพระพุทธบาทจำลองอีกด้วย
            วัดศรีเมือง  ผมหาไม่เจอถามสามล้อ "ทรงมดแดงชะเง้อ"  เขาบอกว่าขอเขา ๒๐ บาท เขาพาไปปรากฎว่าอยู่ใกล้ ๆ วัดกลางนั่นและ ไปวัดกลางแล้วไปวัดศรีเมืองเสียเลยใกล้กัน ไปดูเสมาจากเมืองฟ้าแดดสงยาง ที่ผมกำลังจะพาไป
            พระพุทธสถานภูปอ อยู่ที่ภูปอ ห่างจากกาฬสินธ์ไปทางถนน ๒๓๑๙ ประมาณ ๒๘ กม.
            ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว  อยู่ในโรงพยาบาลธีรวัฒน์ ผมไปวันหยุดด้วย เลยไม่รู้ว่าเขา เปิดหรือเปล่า เพราะก่อนมาที่นี่ ได้ไปที่ศูนย์รวมจำหน่ายผลิตภันฑ์กาฬสินธุ์  อยู่ในโรงเรียนเมืองกาฬสินธุ์เขาไม่เปิด ศูนย์ต่าง ๆ เหล่านี้ต้องเปิดในวันหยุดราชการ เพื่อบริการนักท่องเที่ยว

            อำเภอสหัสขันธ์  เป็นอำเภอสำคัญที่ผมบอกว่า เมืองไทยเรานั้นมีของดีที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากมายนัก แต่ไม่รู้จักส่งเสริมกันให้จริงจัง ที่ประเทศแคนาดา ที่พิพิธภัณฑ์ ROYAL THYRRELL MUSEUM  เขานำไดโนเสาร์ตัวเดียวที่ขุดพบมีอายุ ๗๐ ล้านปีมาไว้ที่นี่ และสร้างอาคารใหญ่โตสวยงามดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้มาดูฟอรส์ซิลของไดโนเสาร์ตัวเดียวนี่แหละมากกว่าปีละห้าแสนคน แต่ที่กาฬสินธุ์ อำเภอสหัสขันธ์ ได้พบฟอรส์ซิลกระดูกไดโนเสาร์ในหลุมเดียวกันจำนวน "๖ ตัว" นอนทับถมอยู่ในหลุมเดียวกัน และขุดกระดูกท่อนโต ๆ ออกมาได้แล้วมากถึง ๕๗๐ ชิ้น แต่ไม่ได้ดังระเบิดเทิดเถิงเลย เพราะไม่รู้จักประชาสัมพันธ์ ก่อนหน้านี้ก็พบที่ขอนแก่น ดูจะดังกว่าแล้วมาพบที่อำเภอกุฉินารยณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เหมือนกันเมื่อปี ๒๕๓๑ ที่ภูผางำ วัดบ้านนาไคร้  ก็ทำท่าจะดัง มาพบอีกที่ ๒๕๓๗ โดยเจ้าอาวาสวัดสักกะวัน วัดเชิงดอย ภูกุมข้าว  เคราะห์ดีที่ท่านสงสัยเดาได้ จึงเกิดการสำรวจกันขึ้น แล้วก็พบซากถึง ๖ ตัว อยู่ในหลุมเดียวกัน "อายุ ๑๓๐ ล้านปี"  เวลานี้กำลังสร้างหลังคาคลุมหลุมอยู่ ส่วนโครงการและแบบที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์นั้น มีรูปให้ดูแต่ไม่รู้จะสร้างเมื่อใด ไม่เห็นบอกเรื่องนี้ต้องทางราชการเข้าไปดำเนินการให้วัดทำ ไม่มีหนทางทำได้ แม้แต่ส่วนหนึ่งของแคนาดา เหมือนกับที่วัดปรมัยยิกาวาส ทางกรมศิลปากรเข้าไปสร้างพิพิธภัณฑ์ให้แก่วัดนี้ เพราะวัตถุโบราณที่มีคุณค่าประวัติศาสตร์มีมาก วัดปรมัยยิกาวาส ที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ขอแถมไว้ตรงนี้ด้วย เพื่อผู้ว่าราชการอ่านเจอหรือรองผู้ว่า ที่เคยทำงานกันมาสมัยที่ท่านเป็นนายอำเภอเบตง ทำงานร่วมกันในเรื่องกดดันให้โจรจีน ฯ  ออกมามอบตัวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๐
            การไปภูกุมข้าวไปตามถนนสาย ๒๒๗ ประมาณ ๒๘ กม. แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีก ๑ กม.
            จากปากทางเข้าภูกุมข้าว หากเลยไปถึงจนอำเภอคำม่วง ถิ่นผ้าไหมแพรวาระยะทาง ๔๕ กม. และจะผ่านทางเข้าวัดพุทธนิมิตร ซึ่งมีพระพุทธไสยาสน์ภูค่าวอยู่ที่วัดนี้ วัดกำลังสร้างโบสถ์ด้วยไม้สวยงามมาก แกะสลักอย่างดี แต่น่าเสียดาย ทุกจุดที่มีการแกะสลักอย่างงดงาม ก็จะแกะสลักชื่อผู้บริจาคที่งดงามเด่นนูนชัดด้วยอักษรสีทอง ข่มความงามของการแกะสลักประตู หน้าต่างเสียหมด พระพุทธรูปท่านประทับตะแคงซ้าย ผิดพระพุทธไสยาสน์ทั่วไป และยังมีศาลาพุทธนิมิตร ธรรมนิมิตร สังฆนิมิตร ซึ่งศาลาสังฆนิมิตรนี้ ประดับฝาและเพดานด้วยพระเครื่องทั้งสิ้น ทุกหลังเป็นอาคารไม้และงามด้วยชื่อผู้บริจาค แต่ก็สมควรไปชมและไปนมัสการพระพุทธไสยาสน์
            ที่สหัสขันธ์ยังมีแหลมโนนวิเศษ ห่างจากอำเภอเลี้ยวเข้าไปสัก ๖ กม. ไปดูพระอาทิตย์ตกงามนัก แหลมยื่นลงไปในเขื่อนลำปาว มีแพขนานยต์รับส่งคน และรถข้ามฟากไปยังอำเภอหนองกุงศรีได้ ซึ่งที่อำเภอนี้มีเกาะมหาราช เป็นสวนสาธารณะ
            อำเภอสมเด็จ  มีน้ำตกแก้งกะอาม มีผาเสวย ผาตั้งอยู่บนเหวลึก หน้าผาสูงชนชาวบ้านเลยเรียกว่า "เหวหำหด" ชาวบ้านเขาเรียกอย่างนี้จริง ๆ ไม่ใช่ผมตั้งให้

            อำเภอเขาวง  มีน้ำตกผานางคอย น้ำตกตาดทอง
            อำเภอยางตลาด  อำเภอท่าคันโท มีเขื่อนลำปาว และหาดดอกเกด เป็นหาดเนินลดหลั่นจนจรดเขื่อน มีต้นการเกดเป็นไม้พื้นเมือง ปลูกปะปนกับไม้อื่นไว้เป็นกลุ่ม
            อำเภอกมลาไสย  เป็นอำเภอที่สำคัญมากในการท่องเที่ยวอีกอำเภอหนึ่ง ผมให้รองลงมาจากอำเภอไดโนเสาร์ เพราะที่อำเภอนี้มีเมืองโบราณ คือ เมือง "ฟ้าแดดสงยาง" บางทีก็เพี้ยนไปเรียกว่าฟ้าแดดสูงยาง บางที่เรียกว่าเมืองเสมา ตามลักษณะของเมือง มีอายุระหว่าง พ.ศ. ๑๓๐๐ - ๑๖๐๐ และได้ค้นพบหลักฐานที่ยืนยันว่า ยุคโลหะของสุวรรณภูมิ ได้เริ่มมาก่อนทุกแห่ง ๆ ในโลกนี้
            ปัจจุบันเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเสมา ตำบลหนองแป้น เดินทางไปตามถนนสาย ๒๑๔ (สายกาฬสินธุ์ - ร้อยเอ็ด) ประมาณ ๑๓ กม. จะถึงอำเภอ แล้วแยกขวามือเข้าไปอีก ๖ กม. ไปตามถนนสาย ๒๓๖๗ (สายนี้ไปออกอำเภอพยัคภูมิ ไปมหาสารคามได้)  จะถึงทางแยกขวา ซึ่งทางซ้ายคือวัดโพธิ์ชัยเสมาราม เลี้ยวขวาเข้าไปก่อน เที่ยวกลับจึงแวะวัดโพธิ์ชัย เข้าไปอีกประมาณ ๑ กม.  จะถึงพระธาตุยาคูหรือธาตุใหญ่ เป็นพระสถูปสมัยทวาราวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๕) ได้รับการบูรณะแล้ว แต่ดูจะทำเสียใหม่หน่อย และมีเสมาปักรายล้อม เหลือเสมาที่เป็นหินทราย และแกะสลักอยู่เพียงเสมาเดียวนอกนั้น ไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดโพธิ์ชัยบ้าง ขอนแก่นบ้างและตัวเมืองฟ้าแดดสงยางก็อยู่รายล้อมพระธาตุนี้ คงเห็นแต่คันคูเมืองที่คงจะได้ปรับปรุงแล้ว แต่ก็ยังมองออกว่าลักษณะผังเมืองนี้ เมื่อพันปีก่อนเป็นอย่างไร
            พิพิธภัณฑ์ที่วัดโพธิ์ชัย  เป็นของวัดเองเรียกว่าโรงไม้กระจอก ๆ จะเหมาะกว่า ทางจังหวัดหรือกรมศิลปากรต้องเข้าไปช่วยวัด เอาแค่เสมาหินทราย (มีเสมาจำลองที่พิพิธภัณฑ์ขอนแก่น) "พิมพาพิลาป" เพียงแผ่นเดียว ตั้งอยู่โคนต้นไม้ในวัดโพธิ์ชัยเสมาราม ก็งดงามจนประมาณค่ามิได้ สลักหินเป็นรูประนางยโสธรา สยายผมยาวให้เป็นราดพระบาท (เป็นต้นศัพท์ของคำว่าราดพระบาท) ให้พระพุทธเจ้าเสด้จพระราชดำเนิน ใบเสมาต่าง ๆ จึงแกะสลัดเป็นพระพุทธประวัติ พิมพาพิลาป งดงามยิ่งนัก "กลัวหาย" ในวัดนี้จึงมีทั้งเสมาเรียบ เสมาแกะสลัก
            ความที่กาฬสินธ์ไม่ใช่เมืองที่นักท่องเที่ยวไปเยือนกัน จึงหาร้านอาหารยาก แต่ต่อไปนี้คงจะไปเยือนกันเพราะผมเชื่อว่า ที่ผมเขียนไปในหนังสือหลาย ๆ ฉบับ เช่น ในไทยรัฐ "ต่วยตูน" คงมีนักท่องเที่ยวที่อยากเห็นสิ่งมหัสจรรย์ระดับโลก คือ ฟอรส์ซิลของไดโนเสาร์ เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ฯลฯ ไปเที่ยวกาฬสินธ์กัน ไม่ไกลเลยประมาณ ๕๑๐ กม. ขับรถสบาย ๆ ไม่กี่ชั่วโมง ที่พักก็ดีสดวกสบาย น่าเที่ยวแต่ร้านอาหารอร่อย ๆ คลำไม่เข้าเป้าหมายเลย ยอมแพ้และขออภัยต่อชาวกาฬสินธ์ด้วย

            ร้านรสเด็ด เดี๋ยวนี้ย้ายมาอยู่ถนนหลังกาฬสินธุ์พลาซ่า เหลืออาหารอร่อยอย่างเดียว คือ เต้าฮวยเย็น ก๋วยเตี๋ยว บะหมีพอแก้หิว ของอร่อยสมัยก่อน คือ พระรามลงสรง ทำแบบหม้อไฟ ไม่ทำแล้วบอกว่าเหนื่อย
            ร้านแซ๊บอีหลี ใกล้ ๆ วัดกลาง มีแต่อาหารเนื้ออย่างเดียว ถ้าซื้อกลับยังมีของดีคือ เนื้อทุบ
            ตลาดเทศบาลโต้รุ่ง อยู่หน้าศาลากลาง ติดตลาดกันตั้งแต่ตอนเย็น โดยปิดถนนทั้งสายเปิดเป็นตลาดโต้รุ่ง ขายกันตั้งแต่ห้าโมงเย็นไปยันตีหนึ่ง  สารพัดอาหาร  มารถเข็นมีโต๊ะเก้าอี้นั่งพร้อม แต่หากฝนตกไม้รู้ว่าเขาแก้ปัญหาอย่างไร ตั้งแต่ปากทางเข้าเรื่อยไปสารพัดอาหารจริง "ปิ้ง" ไก่ปิ้ง ไก่ยาง หมูปิ้ง หมูสะเต๊ะ ไข่ปิ้ง (แบบอิสาน ไม่ใช่แบบหาบขายในกรุง) ข้าวขาหมูเล็งไว้ ๒ เจ้าเพราะคนขายอ้วนทั้งคู่อีก ๒ - ๓ เจ้าคนขายผอมไปหน่อย ก๋วยเตี๋ยวเกี๊ยว บะหมี่  ข้าวแกง  ข้าวผัด  อาหารตามสั่ง  เรียกว่าสรรพาหารทีเดียว และมากด้วยส้มตำไก่ย่าง เดินไปจนเกือบสุดร้านอาหาร ทางซ้ายมือเจอประเภทอาหารตามสั่ง ถูกใจที่ชื่อร้านที่เขาแขวนป้ายไว้ และที่เสื้อคนขาย ชื่อ "กุ๊กอ้วนกาฬสินธุ์" คนนั่งกินพอสมควร แต่ซื้อห่อกลับบ้านนั้นแยะทีเดียว อุตสาหกรรมครอบครว พ่อเป็นกุ๊ก (ไม่อ้วนนัก) แม่รับคำสั่งคอยเตรียมอาหาร ลูกชาย/หญิง/เสริฟอย่างรู้งาน พอนั่งก็น้ำแข็งฟรีมาทีเดียว ร้านตรงข้ามสารพัด "ยำ" ร้านเยื้องซ้าย ส้มตำชนิดสากกับทัพพีลอยเวลาตำ เยื้องขวาขนมหวานใส่น้ำแข็งใส
            ต้มจืดไข่น้ำ เอาไข่ไปเจียวก่อนแล้วใส่มาในแกงจืดหมูสับ ผัดกาดขาว รสแกงเยี่ยมร้อนซดชื่นใจ หอมกลิ่นไข่เจียวที่ใส่มาทั้งแผ่น เข้ากันดี ผิดกับไข่น้ำโรงเรียนนายร้อยสมัยผมเป็นนักเรียน
            ผัดหมึกน้ำพริกเผา หมึกข้ามน้ำข้ามทะเลมาผัดน้ำพริกเผา ถึงกาฬสินธุ์ผัดดีเสียด้วย หอมเชียวเอาน้ำผัดคลุกข้าวยังได้เลย
            ผัดขี้เมาหมู จานนี้อร่อยมากหรือมาก ๆ ผัดกับหน่อไม้อ่อน หวานเผ็ดนิดเดียว กินกับข้าวก็ได้ เป็นกับแกล้มก็ได้ แต่เขาไม่ได้ขายเหล้า ทดลองชิมได้แค่นี้ แถมด้วยไข่ปิ้งที่ติดมือมาจากปากทางเข้า
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |