| ย้อนกลับ | |
วังน้ำเขียว (อีกที)
ไหว้พระดี แดนอีสาน มงคลสถานร้อยแปดวัด ได้บอกไว้ว่า จ.ยโสธร มี ๒ วัด
วัดมหาธาตุ
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง เป็นวัดคู่จังหวัดยโสธร มีพระพุทธรูปสำคัญคือ พระแก้วหยดน้ำค้าง
หรือ พระพุทธบุษยรัตน์ ปางสมาธิ สมัยเชียงแสน
วัดสระไตรนุรักษ์
บ้านนาเวียง อ.ทรายมูล มีหอไตรเก่า สถาปัตยกรรมแบบพม่า หรือไทยใหญ่
เป็นอาคารไม้ สร้างอยู่กลางน้ำ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก
ผมกลับมาจากมุกดาหาร มาผ่านอำนาจเจริญ จากนั้นก็มุ่งหน้ามาตามถนนสาย
๒๐๒ มายังยโสธร แวะเที่ยวยโสธร หน่อยเดียว ก็ไปต่อเพราะคืนนี้จะนอนที่บุรีรัมย์
จากยโสธร มาตามถนนสาย ๒๐๒ มาผ่าน อ.สุวรรณภูมิ ซึ่งที่อำเภอนี้มี กู่พระโกนา
และกู่พระคำสิงห์
จากสุวรรณภูมิแยกเข้าสาย ๒๑๔,๒๐๘๑ และสาย ๒๑๙ ทีนี้จะตรงมาผ่านอำเภอสตึก
(ตรงไป อ.พุทไธสง เลี้ยวขวามา มหาสารคาม) จากสตึก ก็เลี้ยวซ้ายพุ่งเข้าบุรีรัมย์
มาโผล่ใกล้ ๆ โรงแรมที่ตั้งใจจะมาพัก บุรีรัมย์มีโรงแรมใหญ่มากอีกแห่งหนึ่ง
เห็นสร้างค้างมาหลายปีแล้ว ไม่มีการสร้างต่อไม่ทราบว่า ขัดข้องด้วยเรื่องอะไร
หากสร้างเสร็จจะใหญ่พอดูทีเดียว มาถึงบุรีรัมย์ก็หมดแรง เย็นมากแล้ว เลยอาศัยห้องอาหารของโรงแรม
สั่งอาหารขึ้นมากินในห้อง รุ่งขึ้นก็ไม่ได้เที่ยวในบุรีรัมย์อีก เพราะพึ่งมาเมื่อเร็ว
ๆ นี้เอง ขอทบทวนเอาไว้ด้วย
บุรีรัมย์ อยู่เขตอีสานใต้ "ไหว้พระดี แดนอีสาน มงคลสถานร้อยแปดวัด" ของบุรีรัมย์
มีวัดเดียวคือ วัดเขาอังคาร
ซึ่งตั้งอยู่บนเขาอังคาร ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว อยู่ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ์
(เดิมอยู่ในเขตอำเภอนางรอง) ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้ง ประมาณ ๒๐ กม.
ในบริเวณวัดมีโบราณสถานเสมาหินทราย สมัยทวารวดีหลายชิ้น สร้างอุโบสถยังกับปราสาทขอม
ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่แปลกกว่าโบสถ์ใด ๆ น่าจะในประเทศไทยเลยทีเดียว
คือ มีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษด้วย เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธชาดก เรียกว่า
พาฝรั่งไปเที่ยว ฝรั่งถามอะไรก็ชี้ให้อ่านเอาเองได้เลย สถานที่สำคัญแห่งอื่น
ๆ ราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
สร้างไว้ที่วงเวียนก่อนเข้ามาสู่ตัวเมือง เหตุที่สร้างเพราะพระองค์เป็นผู้พบเมืองร้าง
และให้รวมผู้คนมาตั้งเป็นเมืองขึ้น
บุรีรัมย์ เคยมีกลุ่มคนเข้ามาอยู่อาศัย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้
ยุคหินและยุคโลหะ เครื่องปั้นดินเผา และโครงกระดูกมนุษย์ ที่ ต.บึงเจริญ อ.บ้านกรวด
(มีพิพิธภัณฑ์ บ้านกรวด) และก่อตั้งเป็นชุมชนสมัยทวารวดี พบโบราณวัตถุอีกเป็นจำนวนมาก
ที่สำคัญคือ พระพุทธรูปนาคปรก พบที่บ้านฝ้าย อ.หนองหงส์ เป็นพระพุทธรูปนาคปรก
สมัยทวารวดี ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ
บุรีรัมย์ เป็นเมืองปราสาทหิน และอิฐศิลปะขอมโบราณ กระจายกันอยู่ในบุรีรัมย์กว่า
๖๐ แห่ง ที่สำคัญคือ อุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทเขาพนมรุ้ง
ที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘ และปราสาทเมืองต่ำ
ใน อ.ประโคนชัย ที่อยู่ไม่ไกลกัน สร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘
ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ขอมเริ่มเสื่อมอำนาจ บุรีรัมย์ถูกทิ้งเป็นเมืองร้าง
มาปรากฎชื่ออีกครั้ง ในสมัยศรีอยุธยา เป็นเมืองอยู่ใต้การปกครองของนครราชสีมา
ร่วมกับเมืองอื่น ๆ คือ นครจันทึก ชัยภูมิ พิมาย และนางรอง
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๒๑ ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี พระยานางรอง คบคิดกับเจ้าโอ
เจ้าอิน อุปฮาดเมืองจำปาสัก แห่งลาว เป็นกบฎต่อกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ ๑) ยกทัพไปปราบ
ระหว่างเดินทัพไปผ่านดินแดนแถบนี้ ได้พบเมืองร้างตั้งอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำห้วยจระเข้มาก
เห็นว่าชัยภูมิดี จึงสั่งให้บูรณะเมืองขึ้นใหม่ โดยตั้งศาลหลักเมืองที่ข้างต้นแปะใหญ่
แล้วชักชวนผู้คน (ส่วนมากชาวเขมร) ตามป่าดง มาตั้งบ้านเรือนให้ชื่อเมืองว่า
"เมืองแปะ" และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนเป็นชื่อ
"บุรีรัมย์" กลับมาขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา เรียกว่า "บริเวณนางรอง" มีเมืองบุรีรัมย์
นางรอง รัตนบุรี ประโคนชัย และพุทไธสง ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดบุรีรัมย์ ในสมัยรัชกาลที่
๖
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์เขาพนมรุ้ง , กุฎิฤาษีหนองบัวราย
ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ์ และปราสาทเมืองต่ำ ในอำเภอประโคนชัย
อำเภอบ้านกรวด มีพิพิธภัณฑ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
วัดป่าพระสบาย
เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อ่างเก็บน้ำสนามบิน
มีนกน้ำอาศัยอยู่มาก ต้องไปดูยามเย็น
ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้
สถาบันราชภัฎบุรีรัมย์ ศูนย์รวมประวัติศาสตร์
วนอุทยานเขากระโดง
เอารถขึ้นได้ถึงยอดเขา มีพระพุทธรูป " พระสุภัทรบพิธ" เขากระโดง คือ ภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว
เวลาขึ้นไปจะเห็นปากปล่องภูเขาไฟ มีน้ำอยู่ทางขวา บนเขายังมีโบราณสถานสมัยขอม
รอยพระพุทธบาทจำลอง มีนกนานาชนิด
เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก
มีนกมาก ทั้งประจำถิ่นและมาตามฤดูกาล เช่น นกเป็ดน้ำ นกยาง นกอีโก้ง นกพริก
ฯ นกคู้ท จะมาในเดือนมกราคม
บุรีรัมย์ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวต่างอำเภออีกหลายแห่ง ตอนนี้รีบไปวังน้ำเขียวกันก่อน
จากโรงแรม แยกมาทางอำเภอนางรอง (หากอีกสาย จะไป อ.ประโคนชัย ก่อน) จากนั้น
ก็เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๒๔ สายโชคชัย - เดชอุดม ผ่าน อ.หนองกี ,อ.หนองบุนนาค
,อ.โชคชัย (หากเข้าโคราช เลี้ยวขวาที่นี่) ตรงต่อไปจนถึงทางแยก
ก็เลี้ยวซ้ายตามป้ายไป อ.ปักธงชัย ไปยัง อ.วังน้ำเขียว คราวที่แล้ว ผมมาพักรับอากาศเย็นจนหนาว
ในเดือนเมษายน อำเภอที่ได้ชื่อว่า มีอากาศบริสุทธิ์ติดอันดับโลก และมัวเพลินกับภูมิทัศน์
รอบรีสอร์ทที่พัก เลยได้เที่ยวในตัววังน้ำเขียวน้อยไป วันนี้ตั้งใจจะกลับบ้านตามเส้นทางที่เคยมา
วังน้ำเขียวและตั้งใจเลยทีเดียว จะแวะกินอาหารกลางวันที่นี่ เลขา ฯ ยังติดใจสลัดวังน้ำเขียว
ที่ผักสดเหลือเกิน พอเข้าเขตตัวอำเภอวังน้ำเขียว ก็ตรงมายัง "กม.๕๙"
เลี้ยวซ้ายเข้าไป ในถนนสายตรง กม.๕๙ นี้เป็นถนนแคบ ๆ ลัดเลาะไปตามหมู่บ้าน
สวน ไร่ รีสอร์ท สวนนับดูคร่าว ๆ คงจะมากกว่า ๕๐ แห่ง และมักจะมีรีสอร์ท และร้านอาหารด้วย
ถนนเส้นนี้ไปได้จนถึงทิวเขา ที่เห็นไกลลิบเป็นทางเข้า อุทยานทับลาน
อีกเส้นทางหนึ่ง
สวนคุณต่อ เข้ามา ๔ กม. สวนไม้ในวรรณคดี อยู่ทางขวามือ
เข้ามาถึง กม.๗.๕ คือ สวนลุงไกร ใจดี แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
กลุ่มผลิตผักสด ปลอดสารพิษ มีองุ่นไร้เมล็ด ผักสดนานาชนิด ผลไม้แห้ง น้ำสลัด
(อร่อยมาก) ปลาร้าบองเห็ดหอม แหนมเห็ดหอม เห็ดหอม เห็ดเข็มทอง
วังน้ำเขียวฟาร์ม กม.๙.๕ เข้ามาแค่นี้ก็หิวข้าว กลับไปกินยังร้านที่หมายตาตอนเข้ามา
เป็นแหล่งรวมเห็ด สารพัดเห็ด ได้ชื่อว่า เป็น Mister Mushroom มีเห็ดหอม
เห็ดโคน เห็ดออรินจิ น้ำพริกเห็ดหอม (กระป๋อง) เห็ดโคนดอง เห็ดหอมดอง
ข้าวเกรียบเห็ด โลชั่นนมผึ้ง เครื่องสำอางจากเห็ด "น้ำ ๓ เห็ด" อ่านสรรพคุณข้างซองแล้ว
มีสัก ๒๐ รายการ เป็นสรรพคุณทางยาของเห็ดสามเซียนคือ เห็ดหอม เห็ดหลินจือ
เห็ดหัวลิง คนสูงวัย ระวังมะเร็งเอาไว้หน่อยก็ดี ผมถึงเชียร์ให้กินใบฮว่านง็อก
กินเป็นประจำวันละ ๗ ใบ ก่อนอาหารเช้า ก็พอป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็ง กินป้องกันเบาหวานก็ได้
เห็ดสามเซียน ก็มีสรรพคุณคล้ายใบฮว่านง็อก ต้องเอามาชงในน้ำร้อน ๑.๕ ลิตร
แล้วเคี่ยวให้เหลือ ๑ ลิตร ใส่น้ำผึ้ง ๗๐ ซี ซี ซดกินได้ทั้งวัน
จากวังน้ำเขียวฟาร์ม เข้ามาทางปากทางประมาณ ๘ กม. ร้านอยู่ทางขวามือ
มีศาลาอาหาร เหมือนนั่งในสวนที่บ้านของเราเอง ลมพัดเย็นสบาย "สเต็กสลัดผักเมืองหนาว
เมนูเห็ดเพื่อสุขภาพ สเต็กเนื้อสันใน" ฟาร์มแห่งนี้ รับจองบ้านพัก ติดต่อให้ได้
ที่ฟาร์มเองไม่มีบ้านพัก มีแต่ฟาร์มกับร้านอาหาร มาดูรายการอาหารของเขาบ้าง
สเต็ก มีเนื้อสันใน, T Bone สเต็ก, เนื้อเซอร์ลอยด์ .เนื้อริบอายน์ สเต็กปลาวแซลมอน
และสเต็กหมู มีบาร์บีคิว ไส้กรอกลูกวัว รมควันและสลัด ยำเห็ดโคนญี่ปุ่น ยำเห็ดหอม
เห็มหอมผัดเนย เห็ดหอมผัดน้ำมันหอย ต้มยำเห็ดโคนญี่ปุ่น สลัดกุ้ง สลัดเนื้อสัน
สลัดหมูทอด ไก่ทะเล สลัดผักสด
ยังมีอีก หมูย่างจิ้มแจ่ว ยำรวมมิตรซีฟู๊ด ไก่ทอด ไส้กรอกทอด
ดูเมนูแล้ว คำแรกที่สั่งคือ น้ำเสาวรส ชื่นใจ หายเพลีย
เห็ดหอมผัดมันเนย ผักรวมมากับผักกาด เห็ดสด หวาน
สลัดหมูทอด หมูชุบแป้งทอด ผักสลัดมีผักกาดแก้ว หอมใหญ่ มะเขือเทศ น้ำสลัดอร่อยมาก
อร่อยจนต้องซื้อกลับมาหลายขวด ผักนั้นสด จนต้องบอกว่า สดเหลือเกิน เรียกว่า
อาหารผักย่านนี้ ผักจะสดมาก คงจะเก็บกันมาใหม่ ๆ เลยทีเดียว จานนี้ ๘๐ บ.
สเต็กพอร์คช๊อร์พ เสริฟมาในจานร้อน เคียงข้างด้วยผักสลัด แครอท พริกไทยดำ
เฟรนฟราย สเต็กราดด้วยน้ำซ๊อส เปื่อยนุ่ม รสเข้าเนื้อ อยู่ใกล้ ๆ บ้านจะวิ่งไปกินทุกสัปดาห์
เลยทีเดียว ซื้อน้ำสลัดกลับมาก็ไม่อร่อยเหมือน เพราะผักไม่สดเท่ากินที่ฟาร์ม
นั่งกินอาหารในศาลา ลมพัดเย็น ฟังเสียงนกร้องรอบตัว แทนเสียงเพลง
อิ่มแล้ว วิ่งกลับมาออกปากทาง กม.๕๙ เลี้ยวซ้ายมาหน่อยจะถึง กม.๕๕ ทางแยกเข้าเขาแผงม้า
และแยกไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
กลับมาทางกบินทร์บุรี ปราจีนบุรี นครนายก องค์รักษ์ ตลาดต้นไม้คลอง ๑๕ กลับบ้านลาดพร้าว
.......................................
| ย้อนกลับ | บน | |