สถานการณ์ ๓ + ๑ จชต.
๑ - ๓๑ พ.ค.๕๕

          ความเคลื่อนไหวใน ๓+๑ จชต.ที่น่าสนใจ ในช่วงเวลารายงานได้แก่ การเคลื่อนไหวของบรรดาผู้ที่เรียกตัวเองว่าชาวมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม อันเป็นผลมาจากการเดินทางเข้ามาให้กำลังใจด้วยการแสดงท่าทีต้องการให้มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใน ๓ จชต. ของตัวแทน OIC เมื่อ ๙ พ.ค.๕๕ โดยกลุ่มที่มีการแสดงออกถึงการท้าทายอำนาจรัฐอย่างยิ่ง ได้แก่ กลุ่มที่อ้างตัวเป็นนักศึกษา นำโดยนายการียา มูซอ ซึ่งมีการยื่นหนังสือเรียกร้องให้ปรึกษาเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC เร่งเข้ามาดำเนินการ “ผลักดันสันติภาพปาตอนีอย่างเป็นทางการ ” โดยอ้างความเป็นพี่น้องของชาวมุสลิม ที่เข้าใจความรู้สึกของหัวอกมุสลิมด้วยกันว่าจะไม่ทอดทิ้งกัน พร้อมๆไปกับกลุ่มของนางคอลีเยาะ หะหลี ซึ่งอ้างว่าเป็นอนุกรรมการสิทธิภาคใต้ ก็ได้นำสมาชิกเข้ามากดดันขอเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับนายก โดยอ้างว่า “...ไม่ค่อยไว้ใจการทำงานของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เท่าไหร่เนื่องจากยังเป็นมือใหม่อยู่ และยังขาดประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้…” หากยังไม่มีความเคลื่อนไหวของนักการเมือง เนื่องจากกำลังอยู่ระหว่างการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดทั้งในถนนการเมืองและในประเทศไทย โดยเฉพาะ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
         ขณะที่รัฐบาลและ ผบ.ทบ. ก็เร่งซื้อใจอิสลามผ่านบรรดาเยาวชนมลายูอิสลามจนดูเหมือนกลายมาเป็นตัวจำอวดของคนส่วนใหญ่ใน ๓ จชต.ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การกระทำอย่างรุนแรงและต่อเนื่องต่อไทยพุทธ ใน ๓ จชต.ที่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับรูปธรรมการต่อต้านอิสลามของไทยพุทธนอก ๓ จชต.ที่สำคัญ คือการต่อต้านการสร้างมัสยิดเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ดูเหมือนจะกดดันให้รัฐบาล และหน่วยงานของรัฐที่ทำงานด้านความมั่นคงใน ๓ จชต. โดยเฉพาะ กอ.รมน. และ ศอ.บต. จำต้องแสดงท่าทีให้ดูเหมือนว่ามีการเหลียวแลไทยพุทธเพิ่มขึ้น อาทิ การออกสำรวจจำนวนไทยพุทธที่เหลืออยู่ การขายที่ดินของไทยพุทธ การออกข่าวการเรียกประชุมหน่วยงานเพื่อบูรณาการการทำงานแก้ไขปัญหาใน ๓ จฃต. การเพิ่มเงินให้กับพระสงฆ์ใน ๓+๑ จชต.อีกรูปละ ๒,๕๐๐ บาท/เดือน
         สำหรับการก่อเหตุใน ๓+๑ จชต. ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในลักษณะ “พยายามเต็มที่แล้ว ก็ได้แค่นี้” โดยมีการก่อเหตุ เท่าที่รวบรวมได้ รวมทั้งสิ้น ๕๓ เหตุการณ์ แยกเป็นการก่อเหตุกับ soft targets ทั้งพุทธและอิสลามคละกันไป ๓๘ เหตุการณ์ ขณะที่การก่อเหตุกับ hard targets ๑๕ เหตุการณ์นั้น ส่วนใหญ่เป็นการก่อเหตุอย่างง่ายๆและปลอดภัยที่สุด คือ การลอบวางระเบิด ทั้งนี้ พื้นที่ที่มีการก่อเหตุมากที่สุด ยังคงได้แก่ จ.ปัตตานี ๒๔ เหตุการณ์ รองลงมาคือ จ.นราธิวาส ๑๗ เหตุการณ์ จ.ยะลา ๑๑ เหตุการณ์และ อ.จะนะ จ.สงขลา ๑ เหตุการณ์
         แนวโน้มความเคลื่อนไหว หากไม่มีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เชื่อว่าการก่อเหตุก็จะยังคงมีอยู่ต่อไปในลักษณะนี้ ทั้งนี้ ความรุนแรง/ความสูญเสียจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับ “คนในพื้นที่” ในการที่จะเอาตัวเองรอดให้ได้ตามภูมิปัญญาของแต่ละคน และจิตสำนึกของ จนท. เท่านั้น ปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการใหม่ทั้งของรัฐบาลหรือของหน่วยงานความมั่นคงซึ่งทำตามหน้าที่ไม่ใช่ด้วยจิตสำนึกและความตระหนัก ไม่น่าจะมีผลกระทบใดๆต่อครรลองที่กำลังจะเป็นไป

          ความเคลื่อนไหวของมลายูอิสลาม
         การลงพื้นที่ ๓ จชต.และการแสดงท่าทีข่มขู่รัฐบาลไทย ด้วยการส่งนัยถึงความสนใจที่จะให้ไทยยกเลิก พรก.ฉุกเฉินฯ ของ OIC เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในประเทศไทยได้ออกมาแสดงความต้องการอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา นำโดยนายการียา มูซอ ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้/ผู้ประสานงานเครือข่าย นักศึกษา เยาวชน และประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตอนี ได้นำตัวแทน นศ. ถือป้าย ประณามทหารไทย และยื่นหนังสือเรียกร้อง ให้ OIC เข้าแทรกแซงจัดตั้งรัฐปาตอนี เพื่อชาวปาตอนี ใน ๓ จชต. ด้วยการอ้างความเป็นพี่น้องกันของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ขณะที่กลุ่มของนางคอรีเยาะ หะลี ได้แสดงความเหนือกว่าด้วยการเดินสายนำสมาชิก/เยาวชน เข้าพบนายกรัฐมนตรี และผบ.ทบ.อย่างฉลาดล้ำ ด้วยการหลอกล่อให้ผู้นำทั้ง ๒ แสดงท่าอันทางอันไม่เหมาะสม ที่สำคัญคือการประกาศความไม่เชื่อมั่นในการแก้ปัญหาของรัฐบาล และสามารถทำให้ผบ.ทบ.กล่าวขอโทษมลายูอิสลามและสัญญาว่าจะผลักดันให้ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ไม่ยอมรับการเป็นคนไทยโดยเรียกตัวเองว่ามลายูอิสลาม ให้เจริญเติบโตทัดเทียมกับจังหวัดอื่นๆที่มีไทยพุทธเป็นคนส่วนใหญ่ของพื้นที่ให้ได้
         - โอไอซีจี้เลิก พ.ร.ก. ประณามผู้ก่อเหตุร้าย ไม่แทรกแซงไทย ไม่หนุนแยกดินแดน
          …… การเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้วันแรกของ นายซาเยด คาสเซม เอล-มาสรี (H.E.Mr.Sayed Kassem El-Masry) ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) พร้อมคณะ เมื่อวันพุธที่ ๙ พ.ค. ได้มีการพบปะหารือกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และบุคคลสำคัญอีกหลายราย รวมทั้งร่วมกิจกรรมหลากหลายในพื้นที่
          ที่ห้องประชุม ศอ.บต. คณะของ นายซาเยด คาสเซม ได้ประชุมร่วมกับ พ.ต.อ.ทวี สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ประธานคณะกรรมการอิสลาม ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ๕ จังหวัด ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า (กอ.รมน ภาค ๔ สน.) และผู้แทนจากกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ในพื้นที่และทิศทางการแก้ไขปัญหา ……. นายซาเยด คาสเซม กล่าวตอนหนึ่งว่า ….. "ปัญหาภาคใต้ไม่ได้เป็นปัญหาทางศาสนา ปัญหาที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องปกติในประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยทั่วๆ ไปในโลกนี้ เพราะฉะนั้นแนวทางการแก้ปัญหาคือการใช้แนวทางสันติวิธีสร้างความเข้าใจและ ให้เกียรติ ยอมรับซึ่งกันและกัน ถือเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่สันติภาพที่แท้จริงได้ ทราบว่าในอนาคตรัฐบาลจะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และจะกลับมาใช้กฎหมายปกติ ก็รู้สึกดีใจ เพราะทราบดีว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีส่วนที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางโอไอซีเป็นห่วง" ……

เผยโอไอซีห่วงปมสิทธิมนุษยชน-คดีความมั่นคง
         ภายหลังการประชุม พ.ต.อ.ทวี พร้อมด้วย นายนิสิต ระเบียบธรรม อธิบดีอัยการภาค ๙ ได้ร่วมกันแถลงข่าวว่า นายซาเยด คาสเซม และคณะ .......มองว่าประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่ส่วนหนึ่งเกิดจากเรื่องอัตลักษณ์และ ชาติพันธุ์ โดยได้มีการให้ข้อเสนอแนะเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาในพื้นที่ ให้มีการใช้วัฒนธรรมมลายูท้องถิ่น ใช้ภาษามลายูกลางมาผสมผสาน รวมทั้งการปฏิบัติของหน่วยงานรัฐต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ ทำอย่างไรที่จะให้โอไอซีเป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศ มุสลิม ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว (สำนักข่าวอิศรา ๑๐ พ.ค.๕๕ )
          - เครือข่าย นศ.ปาตานี ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง OIC ร้องรับฟังข้อมูลให้รอบด้าน
          ..........วันนี้ (๙ พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ยะลา ว่า เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ที่ลานหน้าอาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถ.สุขยางค์ เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายกริยา มูซอ เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้/ผู้ประสานงานเครือข่าย นักศึกษา เยาวชน และประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตอนี พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษา จำนวน ๓๐ คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายอัล มัสรี่ (H.E. Mr. Sayed Kassem El- Masry) ที่ปรึกษาเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ….. พร้อมทั้งนำแผ่นป้ายเขียนข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ต่อต้านการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ เพื่อเสนอแนวทางสร้างสันติภาพปาตอนี หรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ …...นายกริยา มูซอ เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้/ผู้ประสานงานเครือข่าย นักศึกษาเยาวชนและประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตอนี เปิดเผยว่า การเดินทางมาเยือนในพื้นที่ของนายอัล มัสรี่ ในวันนี้ จะเป็นประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชนชาวปาตอนี ทางเครือข่ายนักศึกษาเยาวชนและประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตอนี ได้เสนอแนวทางในการมีส่วนร่วม เพื่อผลักดันสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ปาตอนี ตามบทบาทที่ควรจะเป็น โดยได้มีข้อเสนอ ๒ แนวทาง คือ
         ๑.ทาง OIC ควรตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจผลักดันสันติภาพปาตอนีอย่างเป็นทางการ
         ๒. เพื่อเป็นการรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ทาง OIC ควรเปิดโอกาสให้ทางองค์กรเยาวชน องค์กรนักศึกษา และองค์กรประชาสังคมในพื้นที่ ได้ร่วมนำเสนอในเวทีแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการ…..
         ทั้งนี้ จากข้อเสนอทั้ง ๒ ประเด็นที่ทางเครือข่ายนักศึกษาเยาวชนและประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตอนี ได้เสนอนั้น จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธา ในความเป็นพี่น้องของชาวมุสลิม ที่เข้าใจความรู้สึกของหัวอกมุสลิมด้วยกันว่าจะไม่ทอดทิ้งกัน .....(ASTVผู้จัดการออนไลน์ ๙ พ.ค.๕๕)
         - อนุกรรมการสิทธิใต้ยังไม่ไว้ใจการแก้ไขปัญหาของรบ. ....เมื่อเวลา ๑๐.๓๐ น. นางคอลีเยาะ หะหลี อนุกรรมการสิทธิภาคใต้ ให้สัมภาษณ์หลังจากเป็นตัวแทนนำกลุ่มเยาวชนอ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ๙๐ คน เข้าพบน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ว่า ยอมรับว่าไม่ค่อยไว้ใจการทำงานของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เท่าไหร่เนื่องจากยังเป็นมือใหม่อยู่ และยังขาดประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ ……ตนก็พร้อมเข้าไปช่วยเหลือและเป็นที่ปรึกษาในการแก้ไขปัญหาหากน.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ต้องการ…… (thaihvac.com ๑๐ พ.ค.๕๕)

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคง
         ขณะที่รัฐบาลและผบ.ทบ. ยังคงพยายามซื้อใจมลายูอิสลามอย่างขาดสติ จนเปรียบเสมือนจำอวดในสายตามลายูอิสลามไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การกระทำอย่างรุนแรงและต่อเนื่องต่อไทยพุทธ ใน ๓ จชต.ที่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อประกอบกับรูปธรรมการต่อต้านอิสลามของไทยพุทธนอก ๓ จชต.ดูเหมือนจะกดดันให้รัฐบาล และหน่วยงานของรัฐที่ทำงานด้านความมั่นคงใน ๓ จชต. โดยเฉพาะ กอ.รมน. และ ศอ.บต. จำต้องแสดงรูปธรรมการเหลียวแลไทยพุทธเพิ่มขึ้น อาทิ การออกสำรวจจำนวนไทยพุทธที่เหลืออยู่ การขายที่ดินของไทยพุทธ การออกข่าวการเรียกประชุมหน่วยงานเพื่อบูรณาการการทำงานแก้ไขปัญหาใน ๓ จชต. การประกาศเพิ่มเงินให้กับพระสงฆ์ใน ๓+๑ จชต.อีกรูปละ ๒,๕๐๐ บาท/เดือน
         - ผบ.ทบ.ขอโทษ-ขออภัย ในอดีตทำผิดพลาด วิงวอนชายแดนใต้กลับสู่สันติ เขินเยาวชนปัตตานีชวนทำท่า "ซารางเฮโย".......เมื่อเวลา ๑๔.๓๐ น. วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธานต้อนรับผู้นำและเยาวชนจาก จ.ปัตตานี จำนวน ๙๐ คนในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ……"ในอดีตมีความผิดพลาด ผมขอโทษและขออภัย หากสถานการณ์ในพื้นที่มีการสู้รบและกลุ่มก่อความไม่สงบหลบซ่อนอยู่ ครอบครัวของพวกท่านก็จะอยู่อย่างไม่เป็นสุข เพราะท่านก็จะไม่สามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวได้ ดังนั้นอยากให้มาพูดคุยและมาสู้กันในสิ่งที่ถูกต้อง ทหารไม่ต้องการที่จะรบกับคนในชาติด้วยกันเอง ไม่มีทหารคนใดที่อยากทำให้ประชาชนเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว พยายามทำทุกอย่างให้ดีขึ้น อยากให้ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับไปอยู่อย่างสันติสุขเหมือนเดิม สัญญาว่าพวกเราทุกคนจะผลักดันทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาให้กับ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้เจริญเติบโตทัดเทียมกับจังหวัดอื่นๆ"......ต่อจากนั้นเป็นการถ่ายภาพที่ระลึกร่วมกันโดยน.ส.คอดีเยอะห์ ฮะหลี ผู้นำเยาวชน ขอถ่ายภาพคู่กับพล.อ.ประยุทธ์ และ ทางฝ่ายหญิงได้จับมือพล.อ.ประยุทธ์ขึ้น พร้อมกับทำท่าคู่รักฮิตของเกาหลี "ซารางเฮโย" ทำเอาพล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับออกอาการเขินอย่างเห็นได้ชัด....(ข่าวสดออนไลน์ ๑๐ พ.ค.๕๕)
         - แฉโจรใต้ล้างสมอง/ตั้งรัฐซ้อนรีดภาษีธุรกิจมืด/ผบ.เหล่าทัพถกแผนรปภ.ครู.....ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ ๑๗ พ.ค.๕๕ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อมอบนโยบายและชี้แจงการบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แม่ทัพภาค ๔ และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ร่วมชี้แจงรายละเอียดของแผนปฏิบัติการและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อให้ผู้แทนส่วนราชการที่ร่วมประชุมกว่า ๙๐ หน่วยงานนำไปปฏิบัติ ทั้งนี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ......นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการแก้ไข ปัญหาของแต่ละหน่วยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และประสานสำนักงบประมาณ กพร. จัดทำเวิร์คช็อป เพื่อวางแนวทางการจัดสรรงบประมาณในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
         นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ประสานกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาคใต้ รวมถึงประสานธนาคารอิสลามให้ช่วยเหลือประชาชนเรื่องที่ดินทำกินพร้อมมอบหมาย ให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประสาน กระทรวงยุติธรรมแก้ไขปัญหายาเสพติด และเร่งรัดติดตามการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบใน พื้นที่ภาคใต้ …….
         ขณะที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ ๔ กล่าวว่า กรณีที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการจัดตั้งรัฐซ้อนของผู้ก่อความไม่สงบที่ทำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีการผนวกกันขึ้นของสยามกับอังกฤษ เมื่อปี ๒๔๕๒ ซึ่งมีการจัดตั้งรัฐซ้อนพร้อมพัฒนาการมาต่อเนื่อง แต่บางครั้งก็จะหยุด และเริ่มต่อสู้ใหม่เมื่อปี ๒๕๒๗ สู้ด้วยการมีโครงสร้างการจัดการรัฐ มีกระทรวง ทบวง กรม มีปรากฎการณ์ที่แสดงให้เห็น เช่น กลาโหมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็มีการผลิตทหาร มาต่อสู้เพื่อทำลายความมั่นคงของอำนาจรัฐไทย ซึ่งไม่มีระยะเวลาตายตัวในการจัดการกลุ่มนี้ " .......แต่สิ่งที่เราจะต้องทำนั้น คือคนพวกนี้ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน ต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่าเป็นรัฐของเขาอยู่แล้ว มีสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยเต็ม ๑๐๐% เป็นพลเมืองไทยและทำทุกอย่างให้เป็นประชาธิปไตยทุกอย่างจะดีขึ้น ส่วนเงินทุนของกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น มีแหล่งเงินที่เป็นภาษีของตัวเอง รวมทั้งเงินจากน้ำมันเถื่อนและยาเสพติดส่วนหนึ่ง โดยมีการจัดตั้งกระทรวงเศรษฐกิจด้วย" แม่ทัพภาค ๔ กล่าว
         ส่วนที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วย พล.อ.ธีระพงศ์ ศรีวัฒนกุล หัวหน้าคณะทำงานโครงการพระราชดำริ ประชุมหารือ ซักซ้อมแนวทางการเก็บข้อมูลราษฎรชาวไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยมีผู้แทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า และเจ้าหน้าที่ในโครงการพระราชดำริในพื้นที่ และผู้แทนจากสำนักงานหอการค้าจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประชุม
         เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการจัดรวบรวมข้อมูลหมู่บ้าน ชุมชน และสถิติของราษฎร ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗-ปัจจุบัน สถานภาพของราษฎรชาวไทย-พุทธ ในพื้นที่ การย้ายเข้า การย้ายออก ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี ๒๕๔๗-๒๕๕๔ และรายเดือน สถิติการเกิดเหตุการข่มขู่ และทำลายทรัพย์ของราษฎรชาวไทย-พุทธ เพื่อเป็นการประเมินในการดูแลความปลอดภัยของประชาชน(สยามรัฐ ๑๘ พ.ค.๕๕)
         - ครม.เพิ่มเงินช่วยเหลือพระสงฆ์พื้นที่ชายแดนใต้….นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า ตนได้รายงานต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ ๘ พ.ค. ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับพระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ในวัด พื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล โดยมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวรวม ๔,๓๒๒ รูป จาก ๘๒๕ วัด/ที่พักสงฆ์

สถิติและนัยการก่อเหตุ
          การก่อเหตุในช่วง ๑-๓๑ พ.ค.๕๕ เท่าที่รวบรวมได้ สรุปได้ว่ามีการก่อเหตุรวมทั้งสิ้น ๕๓ เหตุการณ์ ซึ่งเป็นสถิติที่ลดลงจาก ๖๐ เหตุการณ์ของเม.ย.๕๕ ทั้งนี้ จ.ปัตตานี มีการก่อเหตุสูงสุด ๒๔ เหตุการณ์ โดย อ.ทุ่งยางแดง และ อ.ยะหริ่ง มีการก่อเหตุสูงสุพื้นที่ละ ๕ เหตุการณ์ รองลงมา คือ อ.สายบุรี ๔ เหตุการณ์ อ.โคกโพธิ์ ๓ เหตุการณ์ ขณะที่ จ.นราธิวาส มีการก่อเหตุรวม ๑๗ เหตุการณ์ โดย อ.บาเจาะ มีการก่อเหตุมากที่สุด ๔ เหตุการณ์ รองลงมาคือ อ.จะแนะ ๓ เหตุการณ์ ส่วน จ.ยะลา ซึ่งมีการก่อเหตุรวมทั้งสิ้น ๑๑ เหตุการณ์ โดย อ.เมือง มีการก่อเหตุมากที่สุด ๔ เหตุการณ์ รองลงมาคือ อ.บันนังสตา ๓ เหตุการณ์ สำหรับ ๔ อำเภอของ จ.สงขลา มีรายงานการก่อเหตุ ๑ เหตุการณ์ ในพื้นที่ อ.จะนะ
         ทั้งนี้ การก่อเหตุทั้ง ๕๓ เหตุการณ์ แยกเป็นการลอบยิงตัวบุคคล ๓๒ เหตุการณ์ รองลงมาคือ การลอบวางระเบิด ๑๓ เหตุการณ์ การก่อกวน ๓ เหตุการณ์ การขว้างระเบิด/กราดยิงฐาน/ที่มั่นรวมทั้งชุดลาดตระเวน/รปภ.ทหาร ๒ เหตุการณ์ การปล้นอาวุธปืนจาก ชรบ. อีก ๒ เหตุการณ์ และการเผา ๑ เหตุการณ์ โดยคนไทยพุทธ(ทั้งชาวบ้านและจนท.)มีการสูญเสีย ๕๓ ราย แยกเป็นการเสียชีวิต ๑๔ ราย และบาดเจ็บ ๓๙ ราย ขณะที่อิสลาม(ทั้ง จนท.และชาวบ้าน)มีการสูญเสียรวม ๓๔ ราย โดยแยกเป็นการเสียชีวิต ๑๙ ราย และบาดเจ็บ ๑๕ ราย ทั้งนี้ไม่นับรวมผู้เสียชีวิต ๑ ราย และบาดเจ็บ ๓ ราย ที่ไม่สามารถระบุเชื้อชาติและศาสนาได้

ข้อพิจารณา
         ๑.การก่อเหตุในช่วงรายงานเป็นการก่อเหตุกับ soft targets ทั้งพุทธและอิสลามคละกันไป ๓๘ เหตุการณ์ โดยมีข้อสังเหตุที่ว่าการก่อเหตุกับเป้าหมายอิสลามเป็นการกระทำต่อตัวบุคคลเป็นรายๆไปเหมือนความขัดแย้งส่วนตัว ขณะที่การก่อเหตุกับเป้าหมายไทยพุทธมีลักษณะของการกวาดล้างและคุกคามให้ออกจากพื้นที่ โดยการสังหารหมู่ และการจ่อยิงซ้ำจนเสียชีวิตในที่สุด ที่ชัดเจนคือ
          - การดักยิง จนท.รัฐไทยพุทธ ๔ คน คือ นายสังวรณ์ สุวรรณราช อายุ ๕๗ ปี กำนันตำบลทุ่งคล้า อ.สายบุรี พร้อมลูกน้อง คือ นายปรีชา ทองเอียด ๔๘ ปี สารวัตรกำนัน นางสุภาพร เจริญสุข อายุ ๔๕ ปี และน.ส.พรทิพย์ โพธิ์เงิน อายุ ๔๓ ปี ทั้ง ๒ คนเป็นผู้ช่วยกำนัน บนถนนทางหลวงสาย ๔๒ ระหว่าง นราธิวาส-ปัตตานี หมู่๖ บ้านบาโงมูลง ต.เตราะบอน อ.สายบุรี เมื่อ ๓ พ.ค.๕๕ นั้น คนร้าย ขับตามประกบก่อนแซงขึ้นหน้าใช้อาวุธสงครามกราดยิง จนรถกำนันเสียหลักชนต้นยางพังยับเยิน จากนั้นคนร้ายยังลงจากรถจ่อยิงซ้ำทั้ง ๔ คน ก่อนขโมยอาวุธปืน พร้อมเงินขึ้นรถหลบหนีไป
         - การดักยิงนายน้อย แก้วเลี่ยม อายุ ๔๕ ปี บนถนนในหมู่บ้านตาเซ๊ะ หมู่ ๒ ต.นานาค อ.ตากใบ เมื่อ ๑๙ พ.ค.๕๕ นั้น คนร้าย ยิงใส่ผู้ตายที่กลางหลัง ๑ นัด จนรถเสียหลักล้มคว่ำลง จากนั้นคนร้ายยังได้ใช้อาวุธปืนเอ็ม ๑๖ จ่อยิงซ้ำที่ศรีษะของผู้ตายอีก ๑ นัด ก่อนจะหยิบเอาอาวุธปืนพกสั้นขนาด ๙ มม. และอาวุธปืนลูกซองยาวของผู้ตายหลบหนีไปด้วย
         - การตามไล่ล่าสามีภรรยาไทยพุทธ ที่ตลาดนัดบริเวณถนนรามโกมุท ม.๓ ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อ ๒๙ พ.ค.๕๕ นั้น หลังจากคนร้ายจ่อยิงนายดิษฐวัช สรเกตุ อายุ ๒๙ ปี สามีเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ยังได้ตามไปยิงนางจุฑามาศ พงศ์พานิช อายุ ๒๔ ปี ภรรยา บริเวณถนนฝั่งตรงข้ามซึ่งห่างออกไปประมาณ ๒๐ ม. ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
         ๒. เป็นที่น่าสังเกตุว่าในช่วงรายงาน มีการปล้นปืนจากชุดชรบ.อิสลามในช่วงที่กำลังส่วนใหญ่ต้องไปละหมาด โดยคนร้ายเอาปืนไปด้วย ทั้งนี้ที่นราธิวาสมีการสังหาร อส.ซึ่งอยู่เฝ้าพื้นที่ตามลำพัง ส่วนพฤติกรรมลอกเลียนแบบที่ปัตตานี ยังดูเหมือนไม่สมจริงนัก เพราะไม่มีการกระทำรุนแรงต่อผู้เฝ้าอีกทั้งยังมีการนำทรัพย์สินอื่นไปด้วย
         - เมื่อ ๒ พ.ค.๕๕ ขณะที่ชรบ.ได้แยกย้ายกันไปประกอบพิธีละหมาด ปล่อยให้อส.โทรีซา บินเจ๊ะโซ๊ะ และ อส.สกรี เจ๊ะซอ ปฏิบัติหน้าที่เพียงลำพัง ที่จุดตรวจ ชรบ.ซึ่งตั้งอยู่ปากประตูทางเข้าโรงเรียนบ้านริแง ม.๓ ต.ผดุงมาตร อ.จะแนะ คนร้าย ได้เดินถืออาวุธปืนเอ็ม.๑๖ และอาวุธปืนพกสั้นขนาด ๙ ม.ม. ยิงถล่มใส่ อส.ทั้ง ๒ นาย จนทั้ง ๒ ฝ่ายได้เปิดฉากยิงปะทะกัน จน อส.โทรีซา ถูกกระสุนปืนของคนร้ายเสียชีวิตคาที่ และ อส.สกรีได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้งนี้ก่อนหลบหนีคนร้ายวางระเบิดแสวงเครื่องไว้ ๒ ลูก เพื่อดักสังหารเจ้าหน้าที่ขณะเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ และได้หยิบอาวุธปืน อาก้าของ อส.ทั้ง ๒ นาย รวมทั้ง อาวุธปืนพกสั้น ขนาด ๙ ม.ม.ที่หล่นอยู่กับพื้น รวม ๓ กระบอก หลบหนีไป
         - เมื่อ ๒๕ พ.ค.๕๕ คนร้ายเข้าปล้นปืนและทำร้ายร่างกายนายมูฮำหมัดนาเซ ดอเลาะ อายุ ๒๘ ปี อส.อำเภอยะหริ่ง ในที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ริมถนนสามแยกสาบัน เลขที่ ๑/๒ ม.๗ บ้านจะรัง ต.จะรัง อ.ยะหริ่ง ซึ่งเป็นบ้านของนายสุรินทร์ พัฒนจิรางกูร ผู้ใหญ่บ้าน ม.๗ ขณะที่กำลัง ชรบ.อีกประมาณ ๓๐ คน และ อส.อีก ๓ คน ไปละหมาดวันศุกร์กันหมด โดยคนร้ายได้ปืนอาก้า ๓ กระบอก และคนร้ายอีกส่วนหนึ่งเข้าไปที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ได้ปืนลูกซองและลูกกรด และปืนสั้น ๙ มม. รวมทั้งหมด ๘ กระบอก เมื่อได้อาวุธแล้ว คนร้ายได้ปล่อยตัว และพากันขึ้นรถทั้ง ๓ คัน หลบหนีไป
         ๓. การก่อเหตุในจ.ปัตตานี ซึ่งเน้นเป้าหมายตัวบุคคลนั้น หากเป็นการก่อเหตุและการคุกคามไทยพุทธแล้ว ดูเหมือนว่าจะยังคงกระจุกตัวอยู่ทางซีกขวาของจังหวัด คือที่ อ.สายบุรี อ.ปะนาเระ และ อ.ทุ่งยางแดง ส่วนการก่อเหตุกับอิสลามได้ขยายไปทางด้านขวาของจังหวัด คือ อ.โคกโพธิ์ อ.หนองจิก และ อ.แม่ลาน

                                              ....................................................