สถานการณ์ ๓ + ๑ จชต.
๑ - ๓๑ มี.ค.๕๕

          ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในช่วงรายงาน ได้แก่ ความพยายาม discredit ทหารทุกวิถีทางของกลุ่มแกนนำ sympathizer และกลุ่มผู้ก่อเหตุซึ่งทั้งด้วยอุดมการณ์และทั้งแสวง ผลประโยชน์ส่วนตัว โดยเฉพาะผลประโยชน์ด้านธุรกิจผิดกฏหมายและการแย่งยื้อเงินเยียวยา ๗.๕ ล้านบาท โดยการก่อม๊อบประนาม การโจมตีฐาน/ที่มั่น การลอบวางระเบิดขณะออกปฏิบัติหน้าที่ เพื่อกดดันให้มีการถอนทหารนอกพื้นที่ และยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินรวมทั้งแยกการปกครอง๓+๑ จชต.ด้วยการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ ตามการส่งนัยของรัฐบาล เมื่อประกอบกับการเริ่มปราบปรามยาเสพติดอย่างดูเหมือนจะจริงจังและการตื่นตัวของชาวบ้านต่อภัยของยาเสพติดทำให้กลุ่มธุรกิจผิดกฏหมาย โดยเฉพาะกลุ่มค้ายาเสพติดต้องดิ้นรนยึคพื้นที่และควบคุมชาวบ้านด้วยความรุนแรงให้ได้ ส่งผลให้การก่อเหตุในช่วง ๑-๓๑ มี.ค.๕๕ เท่าที่รวบรวมได้ มีจำนวน ๗๒เหตุการณ์ สูงกว่าสถิติ เมื่อ ก.พ.๕๕ ซึ่งมีจำนวน ๖๐ เหตุการณ์ หากในช่วง ๓ สัปดาห์แรกของเดือนความเข้มข้นของการก่อเหตุลดลง ทั้งนี้ จ.ปัตตานียังคงรักษาสถิติการก่อเหตุสูงสุด ๒๘ เหตุการณ์ รองลงมาคือ จ.นราธิวาส ๒๗ เหตุการณ์ และ จ.ยะลา ๑๔ เหตุการณ์ ส่วน ๔ อำเภอของ จ.สงขลา มีการก่อเหตุ ๓ เหตุการณ์ที่ อ.สะบ้าย้อย ทั้งหมด
          ทั้งนี้กลุ่มองค์กรที่เข้ามาแสวงประโยชน์จากความรุนแรงใน ๓+๑ จชต. มีทั้งองค์กรที่อ้างเป็นตัวแทนมลายูอิสลาม อาทิ กลุ่มนักศึกษาซึ่งกำลังขุดคุ้ยพฤติกรรมทางลบของทหารออกมาประจานต่อสังคม กลุ่มคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นำโดยนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานกรรมการกลางอิสลามจังหวัดปัตตานี ที่สรุปว่าทหารพรานผิดและชาวบ้านบริสุทธ์ หากการเคลื่อนไหวที่ส่งผลลบต่อรัฐบาลและ จนท.ของกลุ่มแย่งชิงเงินเยียวยาไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของนางอังคณา นีละไพจิตร กลุ่มนางแยนะ สะแลแม หรือกลุ่มของนางคอลีเยาะ หะหลี ดูเหมือนจะลดลง เนื่องจากมุ่งสนใจอยู่กับการเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียในเงินเยียวยาและต่อรองเงินเยียวยา ๗.๕ ล้านบาท
          ขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามลดแรงเสียดทาน/แรงต่อต้านอย่างกระจัดกระจายที่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน ทุกวิถีทาง เพื่อความคงอยู่ของรัฐบาลให้นานพอที่จะดำเนินการตามที่ต้องการให้สำเร็จ ซึ่งใน ๓+๑ จชต.รัฐบาลก็ได้ทุ่มเททรัพยากรของคนทั้งชาติเพื่อซื้อใจคนส่วนใหญ่ใน พื้นที่โดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรม และความเสียหายที่จะตามมาในภายหลัง ส่งผลให้ข้าราชการและ จนท.ระดับสูงต้องลู่ตามแรงลมเพื่อความอยู่รอดและอนาคตทางการงาน ดังจะเห็นได้จากการที่ เลขาธิการ ศอ.บต. กำลังร่วมมือกับธนาคารอิสลามเร่งจัดหาเงินจำนวน ๒๐ ล้านบาท เพื่อส่งไปสนับสนุนกิจการร้านค้าของมลายูอิสลามในประเทศมาเลเซีย เจรจาลับกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนตามสั่งของ รองนายกรัฐมนตรี และไม่เว้นแม้แต่นักโทษในคุกก็เข้าไปไขระเบียบความเป็นอยู่ให้แตกต่างจากนักโทษเชื้อชาติและศ่าสนาอื่น
          เช่นเดียวกับ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งกำลังยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร ซึ่งสาระสำคัญคือให้ยุบเลิกผู้ว่าราชการจังหวัด ๓ จังหวัด แล้วเลือกตั้ง "ผู้ว่าการนคร" เพียงหนึ่งเดียวขึ้นดูแลพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ จ.สงขลา ๔ อำเภอแทน ส่วนพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค๔ ถึงกับประกาศพร้อมตั้งเขตปกครองพิเศษหาก ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเรียกร้องมา และพร้อมถอนทหารหลักให้ทหารพรานซึ่งเป็นคนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ ๘๐-๙๐ % คือมลายูอิสลามเข้ารับหน้าที่แทน ขณะที่ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือ กำลังเร่งส่ง “ผู้หลงผิด” กลับภูมิลำเนา
         แนวโน้มสถานการณ์ พฤติกรรมการมุ่งความอยู่รอดของรัฐบาลเป็นหลัก ด้วยการใช้หลักการประชานิยมนำหน้า โดยไม่คำนึงถึงหลักความเป็นธรรมและความเสียหายที่จะตามมาของประเทศ ประกอบกับการทำงานในลักษณะ “เอาตัวรอด”อย่างไร้อุดมการณ์ของข้าราชการ และการแพร่ระบาดของธุรกิจผิดกฏหมายซึ่งบางประเภทกลายเป็นความอยู่รอดของสังคมในภาวะข้าวยากหมากแพง ทำให้สถานการณ์ใน ๓ จชต.เป็นไปอย่างไร้ทิศทางและสับสนอย่างยิ่ง ทั้งชาวบ้าน กลุ่มผู้ก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับปฏิบัติและกลุ่มที่เข้ามาแสวงประโยชน์ดังนั้นการอยู่รอดของคนในพื้นที่ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการการปรับตัวของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เดือนเมษายน เคยเป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์เยาวชนมลายูอิสลามถูกปลุกระดมให้ออกไปโจมตำรวจและทหาร จนเสียชีวิตประมาณ ๑๐๐ ราย เมื่อ ๒๘ เม.ย.๔๗ ดังนั้นจึงเชื่อว่าน่ามีความพยายามปลุกระดมให้มีการโหมก่อเหตุเพื่อรำลึกเหตุการณ์

          การเคลื่อนไหวของแนวร่วมและ sympathizer เป็นไปอย่างสอดประสานกับการเคลื่อนไหวของจนท.ของรัฐระดับสูง
         กลุ่มแนวร่วม และ sympathizer ซึ่งอ้างตัวเป็นตัวแทนของมลายูอิสลาม และเจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงเข้ามาแสวงประโยชน์จากเหตุการณ์ความรุนแรงใน๓+ ๑ จชต.อย่างสอดประสาน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มนักศึกษา กำลังฉวยโอกาสจากความเอื้ออำนวยของสถานการณ์ ปรากฏตัวต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง จากการออกแถลงการณ์ประนามเหตุการณ์ที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อ ๒๙ ม.ค.๕๕ ส่วนในช่วงรายงานมีการก่อม๊อบประนามและเรียกร้องให้ดำเนินการกับทหารที่ล่วงละเมิดสตรีอิสลามเพื่อนำสู่การสรุปว่าให้มีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างสอดประสานกับกลุ่มนักการเมือง ซึ่งกำลังดำเนินการผลักดันให้มีการแบ่งแยกการปกครอง ๓+๑ จชต.ดังเช่น ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งกำลังยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร ซึ่งสาระสำคัญคือให้ยุบเลิกผู้ว่าราชการจังหวัด ๓ จังหวัด แล้วเลือกตั้ง "ผู้ว่าการนคร" เพียงหนึ่งเดียวขึ้นดูแลพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ จ.สงขลา ๔ อำเภอแทน เช่นเดียวกับนายประสพ บุษราคัม ประธานอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความมั่นคง เตรียมเสนอ ร่างพ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร โดยให้ประชาชนเลือกผู้ว่าการนครโดยตรง ขณะที่ รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้มอบหมายให้ เลขาธิการ ศอ.บต. ส่งตัวแทนในการไปประสานกับกลุ่มก่อการร้ายอย่างลับๆ ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ที่ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก เมื่อ ๒๙ ม.ค.๕๕ ซึ่งมีนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานกรรมการกลางอิสลามปัตตานี ก็ทำให้ได้ข้อสรุปว่าทหารผิดเพื่อให้มีการจ่ายค่าเยียวยา ๗.๕ ล้านบาท ส่วนพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค๔ ถึงกับประกาศพร้อมตั้งเขตปกครองพิเศษ หากขบวนการแบ่งแยกดินแดนเรียกร้องมา และพร้อมถอนทหารหลักให้ทหารพรานซึ่งเป็นคนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ ๘๐-๙๐ % คือมลายูอิสลามเข้ารับหน้าที่แทน
          - นศ.ชายแดนใต้กว่า ๓๐๐ คน ออกแถลงการณ์ประนามทหารละเมิดทางเพศหญิงมุสลิม…….วันนี้ (๘ มี.ค.) เวลา ๑๓.๐๐ น.ที่บริเวณประตูทางเข้า-ออก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา วิทยาลัยเทคนิคยะลา วิทยาลัยพลศึกษา และองค์กรภาคี ชาย-หญิง จำนวนกว่า ๓๐๐ คน ได้รวมตัวกันถือป้ายชุมนุมประท้วงเขียนข้อความโจมตีทหาร และออกแถลงการณ์ประนามเจ้าหน้าที่ทหารกระทำการชู้สาวต่อสตรีในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แจกจ่ายไปทั่วมหาวิทยาลัยและบริเวณรอบนอกของมหาวิทยาลัย …….ขอเสนอต่อรัฐบาลให้ยกเลิกพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ….(โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ ๘ มี.ค. ๕๕)
          - พ.ร.บ. "ปัตตานีมหานคร" ตั้งเขตปกครองตนเองดับไฟใต้…..วันที่ ๖ มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความมั่นคง ในคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) ที่มีนายประสพ บุษราคัม อดีตส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน เตรียมเสนอ ร่างพ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร เพื่อให้จัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษขึ้นใน ๓ จังหวัด โดยให้ประชาชนเลือกผู้ว่าการนครโดยตรง…. (ข่าวสด ๗ มี.ค.๕๕)
          - ส่ง'ทวี สอดส่อง'คุยลับขบวนการป่วนใต้…… ๑๔ มี.ค.๕๕ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ส่วนกรณีที่ กลุ่มบีอาร์เอ็น …. ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติ "นายกรัฐมนตรีของไทย ก็ประสานความร่วมมือกับทางมาเลเซีย ในเรื่องนี้อยู่แล้ว…ท่าทีของบีอาร์เอ็นที่รวมตัวน่าจะเพื่อต่อรองกับเรา .....ทางการไทยไม่เคยเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ .... แต่ในทางลับ มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ที่ทำในฐานะพลเรือน ที่ส่งตัวแทนในการไปฟังว่าเขาต้องการอะไร"......(คม ชัด ลึก ๑๔ มี.ค.๕๕)
          - สัมภาษณ์พิเศษ: พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ - ๒ปีชายแดนใต้จะเย็นลง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” แม่ทัพภาคที่ ๔ ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๕ ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค ๔ สน.) ค่ายสิรินธร อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
          ....””ผมจะไม่ช่วยเหลือทหารที่กระทำผิด ......ผมยังมีนโยบายย่อยๆที่ทำคือ พาคนกลับบ้าน.....ผู้ที่ลงมือปฏิบัติเอง หรือผู้เป็นแนวร่วม ผมพร้อมพาเขามาใช้ชีวิตตามปกติสุข .....ผมสนับสนุนการต่อสู้ของพี่น้องมลายูมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ในเวทีทางการเมือง หรือเวทีอื่นๆ .....ผมย้ำว่า เราใช้คนท้องถิ่น เพราะคนท้องถิ่นเขารู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดี….ผม ถึงบอกว่า คนที่ต่อสู้ด้วยอาวุธทุกกลุ่ม ผมยินดีพาพวกเขากลับบ้าน นี่คือมาตรการใหญ่ ผมยินดีที่จะพาคนที่มีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทุกกลุ่ม กลับบ้าน…..หากขบวนการออกมาเรียกร้องว่าต้องการเขตปกครองพิเศษ ป่านนี้เรื่องมันจบลงแล้ว ถ้าขบวนการออกเรียกร้อง รัฐไทยให้อยู่แล้ว…..ผม อยากยกเลิกพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ …..พื้นที่แห่งนี้ยังคงเป็นพื้นที่ของพี่น้องมลายูต่อไป มุสลิมอยู่ได้ทั่วโลก ..... (prachatailand.blogspot.com ๒๑ มี.ค.๕๕)
          - เขตปกครองพิเศษชายแดนใต้...รัฐบาลเพื่อไทยอย่ากล้าๆ กลัวๆ......ที่สำคัญในท่ามกลางความสับสน กลับมีการดำเนินการอย่างลับๆ ผ่าน คณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎร หรือ กปพ. ที่แต่งตั้งโดย นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย ยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับชายแดนใต้อีก ๒ ฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร กับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ศอ.บต.ที่ตราในยุคประชาธิปัตย์ เนื้อหาหลักๆ ก็เพื่อจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบใหม่ในลักษณะ "เขตปกครองพิเศษ" ขึ้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ ๔ อำเภอของ จ.สงขลา โดยให้ยุบเลิกผู้ว่าราชการจังหวัด ๓ จังหวัด แล้วเลือกตั้ง "ผู้ว่าการนคร" เพียงหนึ่งเดียวขึ้นดูแลพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ จ.สงขลา ๔ อำเภอแทน… (สถาบันอิศรา ๖ มี.ค.๕๕)

สถิติและนัยการก่อเหตุซึ่งเป็นไปอย่างสับสนอลหม่าน
            การก่อเหตุในช่วง ๑-๓๑ มี.ค.๕๕ เท่าที่รวบรวมได้ สรุปได้ว่ามีการก่อเหตุรวมทั้งสิ้น ๗๒ เหตุการณ์ ซึ่งเป็นสถิติที่สูงกว่า ก.พ.๕๕ ซึ่งมีสถิติการก่อเหตุอยู่ที่ ๖๐ เหตุการณ์ แต่ความเข้มข้นของการก่อเหตุในช่วง ๓ สัปดาห์แรกของเดือนลดลง จากการก่อเหตุที่มีลักษณะของการเร่งสร้างสถิติอย่างง่ายๆคือการเผารถยนต์และบ้านเรือนชาวบ้านซึ่งเกิดขึ้นถึง ๑๑ เหตุการณ์ อีกทั้งยังเกิดความผิดพลาดอีกหลายเหตุการณ์ ทั้งนี้ จ.ปัตตานี มีการก่อเหตุสูงสุด ๒๘ เหตุการณ์ โดย อ.เมือง มีการก่อเหตุสูงสุด๕ เหตุการณ์ รองลงมาคือ อ.ยะรัง และ อ.โคกโพธิ์ พื้นที่ละ ๔ เหตุการณ์ ขณะที่ จ.นราธิวาส มีการก่อเหตุรวม ๒๗ เหตุการณ์ ทั้งนี้ อ.ระแงะ มีการก่อเหตุมากที่สุด ๗ เหตุการณ์ รองลงมาคือ อ.รือเสาะ ๔ เหตุการณ์ ส่วน อ.ตากใบ และ อ.บาเจาะ มีการก่อเหตุพื้นที่ละ ๓ เหตุการณ์ ส่วน จ.ยะลา ซึ่งมีการก่อเหตุรวมทั้งสิ้น ๑๔ เหตุการณ์ โดย อ.เมือง มีการก่อเหตุมากที่สุด ๗ เหตุการณ์ ขณะที่ อ.รามัน อ.บันนังสตาและอ.กรงปินัง มีการก่อเหตุพื้นที่ละ ๒ เหตุการณ์ สำหรับ ๔ อำเภอของ จ.สงขลา มีรายงานการก่อเหตุ ๓ เหตุการณ์ ในพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย ทั้งหมด
           ทั้งนี้ การก่อเหตุทั้ง ๗๒ เหตุการณ์ แยกเป็นการลอบยิงตัวบุคคล ๓๑ เหตุการณ์ รองลงมาคือ การลอบวางระเบิด ๒๕ เหตุการณ์ การขว้างระเบิด/กราดยิงฐานและที่มั่นรวมทั้งชุดลาดตระเวน/รปภ.ทหาร ๕ เหตุการณ์ และการเผา ๑๑ เหตุการณ์ โดยคนไทยพุทธมีการสูญเสีย ๖๒ ราย แยกเป็นการเสียชีวิต ๒๔ ราย และบาดเจ็บ ๓๘ ราย ขณะที่อิสลามมีการสูญเสียรวม ๓๒ ราย แยกเป็นการเสียชีวิต ๒๒ ราย และบาดเจ็บ ๑๐ ราย ทั้งนี้ไม่นับการบาดเจ็บจากเหตุการณ์วางระเบิดที่ อ.เมืองยะลา เมื่อ ๓๑ มี.ค.๕๕ จำนวน ๑๐๘ รายซึ่งเชื่อว่าเกือบทั้งหมดน่าจะเป็นไทยพุทธ และไม่นับรวมอีก ๓ ราย ซึ่งยังไม่สามารถระบุระบุเชื้อชาติและศาสนาได้

         ข้อพิจารณา
          ๑. เมื่อพิจารณาจากการก่อเหตุที่เกิดขึ้นมีลักษณะของความสับสนอลหม่าน ช่วงเวลาของการเกิดเหตุ ความผิดพลาด และการกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มบุคคล อีกทั้งการก่อเหตุกับเป้าหมายไทยพุทธลดน้อยลง เมื่อประกอบกับการสะกัดกั้น/จับกุมขบวนการค้ายาเสพติดที่มีจำนวนครั้งถี่ขึ้นทั้งต้นทางและปลายทาง ทำให้เชื่อได้ว่า การก่อเหตุที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นการกระทำของคนหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่พยายามจะรักษาอุดมการณ์รื้อฟื้นรัฐปัตตานี ซึ่งต้องการจะรักษาสถิติและแสดงความคงอยู่ของขบวนการ กลุ่มธุรกิจผิดกฏหมายที่ต้องการรักษาพื้นที่ทำมาหากิน และปกป้องธุรกิจไม่ให้ถูกทำลาย กลุ่มจนท.ของรัฐเพื่อความอยู่รอด และกลุ่มชาวบ้านซึ่งบางส่วนเพื่อป้องกันตนเองในสภาวะที่อำนาจรัฐเข้าไม่ถึง ตัวอย่าง
         ๑.๑ พบว่ามีการก่อเหตุในลักษณะของความพยายามคง/สร้างสถิติอย่างง่ายๆและปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้ก่อเหตุ คือการเผารถยนต์ บ้านชาวบ้าน ร้านค้า และโกดังเก็บสินค้าถึง ๑๑ เหตุการณ์ อีกทั้งยังมีการขว้างระเบิดบ้านชาวบ้านอีกหลายครั้ง ขณะที่การก่อเหตุกับ hard target เพียง ๑๘ เหตุการณ์ จากการก่อเหตุทั้งหมด ๗๒ เหตุการณ์ อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นการลอบวางระเบิดแล้วหลบหนี เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการสูญเสีย นอกจากนี้ยังพบว่า การก่อเหตุเกิดความผิดพลาดบ่อยครั้ง ทำให้อิสลามเสียชีวิต และบาดเจ็บ ดังเช่น การลอบวางระเบิดศาลาที่พักริมท่าเทียบเรือตลาดบาตา ม.๑ ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ ๕ มี.ค.๕๕ ซึ่งทำให้อิสลามเสียชีวิตและบาดเจ็บ ๔ ราย กรณีการยิง เอ็ม ๗๙ ตกใส่บ้านเลขที่ ๖๕/๑ ซ.เรืองฤทธิ์ ถ.สุขยางค์ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา ของข้าราชการครูหญิง เมื่อ ๑๔ มี.ค.๕๕ กรณีการลอบวางระเบิด เจ้าหน้าที่ทหารร้อย ร.๑๓๑๑ ฉก.ปัตตานี ๒๑ บริเวณถนนสาย ๔๑๐ หน้ากูโบร์บ้านกาธง ม.๔ ต.บาราเฮาะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ทำให้อิสลามเสียชีวิต ๑ รายและบาดเจ็บอีก ๑ ราย เมื่อ ๑๕ มี.ค.๕๕ หรือกรณี การลอบวางระเบิดกำลังพลกรมทหารพรานที่๔๔ ที่ริมถนนสายบาซาเอ-คลองใหม่ ม.๔ บ้านดาโต๊ะตูวอ ต.ปิตูมุดี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ทำให้นักเรียนหญิงอิสลามของร.ร.ประสานวิทยามูลนิธิ เสียชีวิต ๑ ราย และบาดเจ็บ ๒ ราย เมื่อ ๑๗ มี.ค.๕๕
         ๑.๒ การก่อเหตุเจาะจงตัวบุคคล(ชาวบ้าน)ไทยพุทธ เกิดขึ้นเพียง ๖ เหตุการณ์ ขณะที่มีการก่อเหตุที่มีลักษณะเจาะจงตัวบุคคลอิสลาม เกิดขึ้น ๒๑ เหตุการณ์ และบางกรณีมีลักษณะคล้ายการกระทำของกลุ่มธุรกิจผิดกฏหมาย หรือเกิดจากความขัดแย้งส่วนตัว อาทิ การบุกเข้าไปจ่อยิงนายมาหามะ ตงนุใย อายุ ๔๔ ปี ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๔ ต.กาลอ และนายอิสตามา สะเตาะ อายุ ๔๒ ปี อส.รามัน ถึงภายในฐานปฎิบัติการชุดคุ้มครองตำบลกาลอ บนถนนสายโกตาบารู-ท่าเรือ หมู่ ๒ ต.กาลอ อ.รามัน จ.ยะลา เมื่อ ๙ ก.พ.๕๕ นั้น เป็นการจ่อยิงอย่างไม่จำเป็นเพราะเป้าหมายถูกจับมัดไว้แล้ว การประกบยิงนายหม๊ะรอเฮะดี มะลี อายุ ๓๗ ปี ที่อยู่ ม.๑ ต.ธารคีรี อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา บาดเจ็บที่ บ.ตร๊าย ม.๒ ต.จะแหน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เมื่อ ๑๐ มี.ค. ๕๕ นั้น พื้นที่เกิดเหตุและและภูมิลำเนาของเป้าหมาย เป็นพื้นที่อิสลามล้วน การยิงนายอับดุลรอซัด ตะบีหม๊ะ อายุ ๔๖ ปี เสียชีวิต ขณะอยู่ในบ้านเลขที่ ๕๐/๒๐ ม.๘ ต.ราตาปันยัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อ ๑๔ มี.ค. ๕๕ หรือ การยิง อส.อาหมัด ดือเร๊ะ อายุ ๔๙ ปี ที่อยู่ ม.๔ ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เสียชีวิตที่ บ้านคลองช้าง ม.๔ ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อ ๒๔ มี.ค.๕๕ นั้น ก็เป็นเวลา ๒๓.๑๐ น. หรือการยิงนายนิอัสลัน นิเลาะ อายุ ๒๓ ปี บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ถนนวิฑูรอุทิศ ๑๐ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อ ๒๗ มี.ค.๕๕ นั้น ก็ได้มีการยืนพูดคุยกันก่อนการยิง
          ๑.๓ ในช่วงรายงานพบว่าสถิติการจับกุมขนวนการค้ายาเสพติดมลายูอิสลามถี่ขึ้นทั้งพื้นที่ต้นทางคือ ที่ อ.สะเดาและอ.จะนะ จ.สงขลา และพื้นที่ปลายทางคือใน ๓ จชต.ที่สำคัญได้แก่ การจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติและเป็นรายใหญ่ที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ของนายยุสรี เปาะดาโอ๊ะ อายุ ๒๙ ปี ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี โดยต้องโทษคดียาเสพติดนานถึง ๖๗ ปี เครือข่ายดังกล่าวประกอบด้วย ๑.นางปาตีเมาะ สะแลแม อายุ ๔๗ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๗๓/๑ หมู่ ๑๓ ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ๒.น.ส.นรินทร์ มามะ อายุ ๒๗ ปี ซึ่งเป็นบุตรสาวของนางปาตีเมาะ และ ๓.น.ส.โนรีซา ยูโซ๊ะ อายุ ๒๕ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๕๖ หมู่ ๓ ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พร้อมของกลางอาวุธปืน ๓ กระบอก สมุดบัญชีธนาคาร โฉนดที่ดิน ทองรูปพรรณ เงินสด รถ จยย. จำนวน ๓ คัน และรถยนต์ จำนวน ๑๑ คัน ซึ่งมีมูลค่าทั้งสิ้น จำนวน ๑๕๕ ล้านบาท (แถลงข่าวการจับกุม เมื่อ ๑๗ มี.ค. ๕๕ ที่กองบังคับการ กรมทหารพรานที่ ๔๖ อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส) ๑.๔ การก่อเหตุในลักษณะเป็นการกระทำของมืออาชีพ พบเพียง ๘ เหตุการณ์ ที่สำคัญได้แก่ เหตุการณ์ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารสังกัด ร้อย ร.๑๕๓๒๑ ฉก.นราธิวาส ๓๐ เสียชีวิต ๔ นาย บาดเจ็บสาหัส ๑ นาย บนถนนทางเลียบรถไฟช่วงบริเวณโค้ง บ้านยะบะ หมู่ ๒ ต.รือเสาะ เมื่อ ๗ มี.ค.๕๕ ซึ่งการระเบิดแม่นยำและเกิดในช่วงเวลาใกล้ ๒๓.๐๐ น แล้ว เหตุการณ์แนวร่วมประมาณ ๕๐ คน พร้อมอาวุธปืนครบมือแยกกำลังออกเป็น ๓ ชุด ชุดแรก โอบล้อมแล้วใช้อาวุธปืนเอ็ม.๗๙ และอาวุธปืนสงครามยิงเข้าใส่ฐานปฏิบัติการณ์ทหารหมวดปืนเล็กที่ ๒ กองร้อยปืนเล็กที่ ๑ ชุดเฉพาะกิจนราธิวาส ๓๒ ซึ่งตั้งอยู่บ้านส้มป่อย ม.๔ ต.กาเยาะมาตี ชุดที่ ๒ แยกเข้าโจมตีกองบังคับการชุดเฉพาะกิจนราธิวาส ๓๒ ซึ่งตั้งอยู่ภายในสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค เขตเทศบาลตำบลบาเจาะ ในลักษณะเดียวกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ ๑๒ นาย ทรัพย์สินได้รับความเสียหายจำนวนหนึ่ง ส่วนชุดที่ ๓ ตัดต้นไม้ขวางถนน จำนวน ๒ จุด ที่บริเวณบ้านบูเก๊ะบากง ม.๒ ต.ตะปอเยาะ อ.ยี่งอ และที่บริเวณบ้านส้มป่อยซึ่งห่างจากฐาน ประมาณ ๕๐๐ เมตร พร้อมทั้งโปรยตาปูเรือใบเพื่อกีดขวางการช่วยเหลือ ทั้งนี้ คนร้ายยังได้มีการประกาศทางโทรโข่งให้ จนท.วางอาวุธ และเดินออกมาเสียโดยดี และเปิดเพลงแฮบปี้เปิรด์เดย์ ก่อนที่จะล่าถอยกลับไป เมื่อ ๙ มี.ค.๕๕ และเหตุการณ์ลอบวางระเบิดเนื่อง ๒ ครั้ง ที่ถนนสายรวมมิตร เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว ๑๑ รายและบสาเจ็บประมาณ ๑๐๐-๑๑๐ ราย โดยเชื่อว่าเกือบทั้งหมดเป็นไทยพุทธ

มาตรการป้องปรามการคลื่อนไหวก่อเหตุ
         การป้องปรามการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุ ในช่วงรายงาน ได้แก่การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและการตรวจค้นพื้นที่ ๑.การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใต้ อีก ๓ เดือน .....เมื่อเวลา๑๑.๕๐ น. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๘ มี.ค. ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน(กบฉ.)เพื่อพิจารณาการ ขยายเวลาการต่อ พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ รวมทั้งรายงานต่างๆในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ที่ได้มีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นต้นมา เหตุการณ์ร้ายแรงและการสูญเสียมีจำนวนลดลง ที่ประชุมจึงสรุปให้มีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปทุกพื้นที่เช่นเดิมเป็นเวลาอีก ๓ เดือน ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มี.ค. - ๑๙ มิ.ย. โดยนับว่าเป็นการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในพื้นที่ภาคใต้เป็นครั้งที่ ๒๗ แล้ว ซึ่งจะนำเสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบในวันที่ ๑๓ มี.ค.นี….. (thaihvac.com ๙ มี.ค.๕๕) ๒.การตรวจค้นและจับกุม ซึ่งในช่วงรายงานดูเหมือนจะอ่อนลง ที่สำคัญได้แก่ การตรวจค้นและสามารถจับกุมตัวนายอาหมัด อุสนีบาเกาะ อายุ ๒๔ ปี ผู้ต้องหา ร่วมกันก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ได้ที่บ้านเลขที่ ๑๘ บ้านบาลูกา หมู่ที่ ๕ ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อ๓ มี.ค.๕๕ และ การ ตรวจค้น บ้านเลขที่ ๙๓/๑ หมู่ที่ ๔ บ้านปอเยาะ ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งเป็นบ้านของนายอาบีดิน ปาตี อายุ ๒๖ ปี แกนนำอาร์เคเค ระดับสั่งการ และมีหมายจับคดีความมั่นคงหลายคดี จนสามารถวิสามัญคนร้ายได้ ๑ ราย เมื่อ ๗ มี.ค.๕๕

การโหมซื้อใจมลายูอิสลามของรัฐ
         การใช้หลักประชานิยมเพื่อสะดวกในการบริหารประเทศ ทำให้รัฐบาลจำต้องทุ่มงบประมาณของประเทศลงซื้อใจมลายูอิสลามโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา โดยเฉพาะการบังคับใช้กฏหมายอย่างยุติธรรม ทั้งนี้ในช่วงรายงานก็ได้มีการเตรียมจัดสรรเงิน ๒๐ ล้านบาท ให้กับมลายูอิสลามที่ไปทำงานในมาเลเซีย จ่ายเงินให้กับแนวร่วมก่อเหตุที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการเข้ายึคโบราณสถานกรือเซะเมื่อ ๒๘ เม.ย.๔๗ แม้กระทั่งในคุกก็มีการจัดระเบียบการแต่งกาย รวมทั้งการกินอยู่ของนักโทษอิสลามให้เป็นไปตามหลักศาสนา และการเร่งรัดส่งผู้หลงผิดกลับภูมิลำเนา
         - ศอ.บต.จับมือไอแบงก์ปล่อยกู้ "ต้มยำกุ้ง" มาเลย์…วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ มี.ค. ผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เดินทางไปประเทศมาเลเซียพร้อมกับผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เพื่อไปร่วมหารือกับผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้ง ….พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า "….พวกเขาเป็นเหมือนวีรบุรุษของครอบครัวและของคนในพื้นที่ เพราะต้องไปทำงานหาเงินส่งกลับมาเลี้ยงครอบครัว ….เราจึงต้องการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ....ซึ่งเงินก้อนแรกที่จะไปทำเป็นโครงการนำร่องอยู่ที่ ๒๐ ล้านบาท และจะหาช่องทางช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ ต่อไป"……(สถาบันอิศรา ๒๒ มี.ค.๕๕)
         - ชงครม.ของบ๒พันล้านเยียวยาเหยื่อไฟใต้ ครอบคลุมกรือเซะ-ตากใบรายละไม่เกิน ๗.๕ ล้าน "ประชา"ดันเข้าครม.ต้นเม.ย.นี้ ...ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ ๒๓ มี.ค. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้เวลากว่า ๓ ชม.จากนั้นนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางและหลักเกณฑ์ในการชดเชยช่วยเหลือเยียวยาบุคคลที่ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดภาคใต้ในวงเงิน ๒,๐๐๐ ล้านบาท โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาเห็นชอบก่อนจะดำเนินการ.....(เดลินิวส์ ๒๓ มี.ค.๕๕)
         - ดีเดย์ระเบียบคุกใหม่ "ผู้ต้องขังหญิง-ชาย" แต่งกายตามหลักศาสนา......ศอ.บต.จับมือกรมคุก เปิดโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำชายแดนใต้ นำร่องนราธิวาส เน้นปรับระเบียบให้สอดคล้องกับหลักการทางศาสนา ให้ผู้ต้องขังชายนุ่งกางเกงขายาวจะได้คลุมเข่าเวลาละหมาด ส่วนผู้ต้องขังหญิงสวมฮิญาบได้ พร้อมสนับสนุนให้มีอาหารฮาลาลรับประทานอย่างถูกต้อง ........ (สถาบันอิศรา ๒๘ มี.ค.๕๕)
         - ทหารส่งผู้หลงผิดกลับบ้าน ย้ำ!ผู้หลบซ่อนตัวติดต่อทางการด่วน….นราธิวาส - ทหารส่งผู้หลงผิดคืนสู่เหย้า พร้อมวอนผู้หลงผิดที่หลบซ่อนในประเทศเพื่อนบ้านเข้ามอบตัว ทางการพร้อมให้โอกาสเสมอ …. วันนี้ (๒๙ มี.ค.) ที่สโมสรร่มเกล้า อ.เมืองจ.นราธิวาส นาวาเอกสมเกียรติ ผลประยูร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับผู้หลงผิดที่ผ่านการอบรม “โครงการประชาร่วมใจทำความดีเพื่อแผ่นดิน” ของ กอ.รมน.ภาค ๔ จำนวน ๑๓ คน ซึ่งอาศัยอยู่พื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ๑ คน และอาศัยอยู่พื้นที่ อ.ยี่งอ และ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ๑๒ คน เพื่อส่งกลับภูมิลำเนา โดยมีผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น บิดาและมารดารวมทั้งบุตร มาคอยต้อนรับกลับบ้าน…. (ASTVผู้จัดการออนไลน์ ๒๙ มี.ค.๕๕)