แนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้
ตอนที่ ๓

            สถานการณ์  ๕ ข้อสังเกต ๔๓ วัน  "สุมไฟใต้"  ไม่ซ้ำอำเภอ - ยาวนานที่สุด
๑.สถานการณ์ ระหว่างวันที่ ๔ มกราคม - ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
             เหตุการณ์ก่อการร้ายหลายรูปแบบ รวมทั้งปฎิบัติการล่าสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ หรือคนที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗  ต่อเนื่องมาแทบทุกวนจนถึงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ รวมเป็นเวลา ๔๓ วัน จำนวน ๓๕ เหตุการณ์ เสียชีวิต ๒๓ ราย
             นับเป็นเหตุร้ายที่เกิดต่อเนื่องยาวนานที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ นับแต่มีการควบรวมอำนาจรัฐอิสลามปัตตานีเข้ามาไว้ในราชอาณาจักรสยาม
             ทางการสันนิษฐานว่า ส่วนใหญ่เป็นฝีมือของขบวนการก่อการร้ายที่มีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ มีไม่กี่คดีน่าจะมาจากเรื่องส่วนตัว หรือความขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์
             ทว่าในด้านความคืบหน้าของคดีที่มีการแถลงอย่างเป็นทางการ ปรากฎว่า มีประมาณ ๕ คดี ที่ออกหมายจับกุมผู้ต้องหาได้ เนื่องจากพบพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึง มีอีกหลายคดีที่ยังไม่มีการออกหมายจับใด ๆ เพียงแต่เจ้าหน้าที่เชิญตัวผู้ต้องสงสัยมาสอบปากคำ และปล่อยตัวไป เพราะมีอำนาจควบคุมตัวได้เพียง ๒๔ชั่วโมง ส่วนหนึ่งเป็นบุคลากรในโรงเรียนปอเนาะ
             กล่าวโดยสรุปคดีส่วนใหญ่ยังไม่มีความคืบหน้ามากเพียงพอ ที่จะส่งสำนวนให้อัยการส่งฟ้องศาล
             จากประมวลเหตุการณ์ และพื้นที่เกิดเหตุตลอด ๔๓ วัน มีข้อน่าสังเกต ดังนี้
                 ๑. เกิดเหตุการณ์ที่ จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี มากที่สุด  เป็นปฎิบัติการครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด แยกเป็นใน จ.นราธิวาส ๗ อำเภอ จากทั้งหมด ๑๓ อำเภอ ใน จ.ปัตตานี ๗ อำเภอ จากทั้งหมด ๑๒ อำเภอ
                 ๒. ปฎิบัติการขยายวงจาก ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้กินลึกขึ้นมายัง จ.สงขลา และ จ.สตูล ซึ่งทั้ง ๕ จังหวัดมีพื้นที่ชายแดนติดประเทศมาเลเซีย ที่สำคัญคือ ไม่บ่อยนักที่จะมีการปฎิบัติการใน จ.สงขลา และ จ.สตูล
                 ๓. เป็นที่น่าสังเกตว่า ปฎิบัติการในแต่ละวันแทบจะไม่ซ้ำอำเภอ ประการต่อมา ปฎิบัติการซ้ำจังหวัดติดต่อกันไม่เกิน ๒ วัน นอกจากช่วงวันที่ ๑๒ - ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ เท่านั้นที่ปฎิบัติการใน จ.นราธิวาส  ติดต่อกัน ๓ วันรวด ทว่าไม่ซ้ำอำเภอ
                 ๔. การวางระเบิด ๓ แห่ง ใช้วิธีเดียวกัน (ประสบผล ๑ ครั้ง ที่หน้าบริษัทพิธานพาณิชย์ อ.เมือง ปัตตานี) กล่าวคือ ใช้ซิมการ์ดของระบบวันทูคอล ซึ่งซื้อมาจากกรุงเทพ ฯ ระบบนี้ไม่ต้องจดทะเบียนเจ้าของหมายเลข ทำให้แกะรอยที่มายาก
                 ๕. ปฎิบัติการในช่วงท้าย ๆ ผู้ก่อเหตุพยายามใช้วิธีแต่งกายเป็นผู้หญิง แต่ยังไม่มีพยานหลักฐานระบุได้ว่า เป็นผู้หญิงลงมือ
                 แม้ล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรีได้ลงไปบัญชาการแผนการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ในวันที่ ๑๓ - ๑๔ กุมภาพันธ์ แต่ผู้ก่อเหตุยังคงปฎิบัติการล่าสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ และอดีตเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ใส่ใจว่าผู้นำประเทศลงไปคุมสถานการณ์ด้วยตัวเอง
๒. สาเหตุของปัญหา
             ๒.๑  นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ ๑๐ ก.พ.๔๗  ถึงสาเหตุความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ว่า เกิดจากบุคคลเพียงกลุ่มเดียวที่อยู่เบื้องหลังเรื่องทั้งหมด เป็นกลุ่มที่สูญเสียประโยชน์จากการที่รัฐบาล เข้าไปแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นมาเฟียที่มีอำนาจในพื้นที่ หากินกับผลประโยชน์บริเวณชายแดน และเอาเงินไปสนับสนุนให้กลุ่มโจรออกมาเคลื่อนไหว เพราะไม่ต้องการเสียผลประโยชน์ คนกลุ่มนี้ทั้งหมดเป็นข้าราชการ เข้าจัดการได้ ปัญหาภาคใต้ก็จะสงบ (มติชนรายวัน ๑๑ ก.พ.๔๗)
             นายกรัฐมนตรี สรุปได้ว่า ปัญหาภาคใต้ที่แท้จริง เกิดจากผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เป็นปัญหา นำเรื่องความมั่นคง ไม่ใช่ปัญหาความมั่นคงนำเศรษฐกิจ หากสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ ปัญหาความไม่สงบและเหตุการณ์ร้ายก็จะหมดไป (มติชนรายวัน ๑๑ ก.พ.๔๗)
             การมองข้ามปัญหาทางการเมืองว่าไม่ได้เป็นปัญหาหลัก ย่อมไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ถือเอาความแตกต่างของศาสนา ความเชื่อ มาเป็นแนวทางแก้ไข ทั้ง ๆ ที่การเมืองน่าจะเป็นปัญหาหลักในการแก้ไข นั่นคือ การเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการนับถือศาสนา และการปฎิบัติตามพิธีกรรม ลดเงื่อนไขการพูดเหยียดหยาม และการปฎิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต่อชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลาม (มติชนรายวัน ๑๓ ก.พ.๔๗)
             ถามว่า เป็นเพราะคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยากจนข้นแค้นไม่มีจะกินกระนั้นหรือ ในเมื่อรัฐบาลก็บอกว่า ราคายางพาราสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และการเปิดโอกาสให้ประชาชนไปลงทะเบียน เพื่อสำรวจความยากจน ชาวบ้าน ๓ จังหวัดภาคใต้ก็ไม่ได้ไปลงทะเบียนกันมากมาย แล้วอย่างนี้จะเรียกว่า ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาทางเศรษฐกิจได้อย่างไร (มติชนรายวัน ๑๓ ก.พ.๔๗)
             ถ้ามองปัญหาแบบนี้ แสดงว่าปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เป็นปัญหาง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อนอะไรนัก คงจะแก้ไขได้ไม่เกินความสามารถของรัฐบาล เพราะกลุ่มคนร้ายไม่มีอุดมการณ์ เพียงแต่รับจ้างกลุ่มมาเฟียมาสร้างสถานการณ์ ไม่เกี่ยวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม และไม่ใช่เรืองข้าราชการรังแกประชาชน ตามที่มีผู้กล่าวอ้าง  (มติชนรายวัน ๑๓ ก.พ.๔๗)
             ๒.๒   พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ  รอง นรม. รับผิดชอบด้านความมั่นคงกล่าวว่า "ฝ่ายตรงข้ามจะเป็นใครก็แล้วแต่ ต้องยอมรับว่าเก่งมาก เพราะสามารถที่จะพลิกแพลงเอาประโยชน์ได้ รัฐบาลจะทำให้ภาคใต้เจริญ แต่กลุ่มนี้มาทำลาย ตอนนี้ด้านการประชาสัมพันธ์ สู้ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้เลย
             ยอมรับว่า ให้มีการจัดตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์ ใช้สื่อทั้งหมดให้เป็นประโยชน์ ขอใช้สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อทำงานในพื้นที่ เพื่อตอบโต้ ชี้แจงข่าวสารต่าง ๆ ที่มีถูกต้อง ที่ฝ่ายตรงข้ามปล่อยมา แก้ข่าวลือ และทำความเข้าใจต่าง ๆ แต่วันนี้ยังขาดอยู่ แม้จะสั่งไปนานแล้ว
             นอกจากนี้ ศูนย์ข่าวกรองจะต้องทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ว่าคนนั้นรายงานนายกรัฐมนตรี คนนี้รายงาน พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผบ.ตร. ทางฝ่ายทหารก็รายงานผู้บังคับบัญชา ทำอย่างนี้ไม่ได้ ต่อไปทุกคนต้องเอาข่าวมารวม แล้วประมวลวิเคราะห์ข่าวร่วมกัน" (มติชนรายวัน ๑๓ ก.พ.๔๗)
             การที่นายก ฯ ประกาศว่า ต่อไปนี้จะไม่นยอมเป็นเบี้ยล่างโจร จะต้องขึ้นมาอยู่เป็นเบี้ยบน ภายในเวลาที่รวดเร็วที่สุด หากได้อยู่เบี้ยบนเมื่อไร จะไล่ให้จนตัวให้หมด  "ผมคิดว่า เป็นคนใช้เมตตาธรรมสุดสุด แต่พวกคนเลวก็ต้องเหี้ยมสุดสุดเหมือนกัน" (มติชนรายวัน ๑๙ ก.พ.๔๗)
             ก็เมื่อประกาศตาต่อตาฟันต่อฟันแบบนี้แล้ว ด้านหนึ่งก็คงทำให้ฝ่ายปราบปรามได้กำลังใจ ที่ฮึกเหิมห้าวหาญมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง พวกก่อการร้ายก็คงไม่ตาเป็นเป้านิ่ง ให้ถูกล้อมปราบอย่างง่ายดายเป็นแน่ ไม่รู้ว่าทิศทางแบบนี้ จะทำให้สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ พัฒนาไปสู่การคลี่คลาย หรือจะบานปลาย กลายเป็นสงครามที่ใหญ่โตขึ้น
             ๒.๓  พล.อ.ธรรมรักษ์  อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหม กล่าวว่า  "ผมบอกแล้วว่าจะไม่รับผู้นำศาสนา เพราะไม่มีหน้าที่จ๊ะจ๋า เพราะไม่มีหน้าที่ไปเจรจา เป็นหน้าที่คนอื่น แต่ยืนยันว่า คนทำผิด ถ้าเป็นคนไทย อยู่ในประเทศไทย ก็ต้องผิด จะมาละเว้นไม่ได้  (มติชนรายวัน ๑๓ ก.พ.๔๗)
             ๒.๔  พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร  ผบ.ทบ. กล่าวว่า " เราให้เกียรติเขา เพราะว่าเป็นศาสนา ต้องมีกฎระเบียบอยู่ แต่ถ้าลักษณะติดฟัน เราก็ต้องขออภัย ซึ่งขออภัยทีหลังได้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้ตัวคนร้าย อยากให้โรงเรียนปอเนาะเป็นแหล่งชุมชนของพวกที่ทำไม่ดีหรือ ผมเชื่อว่า ปอเนาะเองก็ไม่อยาก แต่อย่าไปปกป้องก็แล้วกัน เราคุยด้วยกันหมดแล้วว่า คนไม่ดีต้องถูกลงโทษ ศาสนาเองก็บอกว่า คนไม่ดีก็ต้องถูกลงโทษ เราก็ถือหลักนี้อยู่
                 ถ้ากรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดไม่พูดกับเรา ก็ไม่เป็นไร เราก็ทำงานได้ ไม่ใช่ไม่พูดแล้วหยุดงาน" (มติชนรายวัน ๑๓ ก.พ.๔๗)
             ๒.๕  นายจักรภพ เพ็ญแข  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  แถลงถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมรัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการระดับสูง เพื่อหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันี่ ๑๖ ก.พ.๔๗ ว่า รัฐบาลจะไม่ยอมให้ปัญหาภาคใต้ กลายเป็นปัญหาแบ่งแยกดินแดนอย่างเด็ดขาด และจากการประชุมพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีที่มา ๓ เรื่องคือ
                 ๑)  ความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ<
                 ๒)  คนไม่กี่คนที่อ้างเรื่องแบ่งแยกดินแดน และสร้างเหตุการณ์ ทำให้เกิดความน่ากลัว
                 ๓)  เรื่องผลประโยชน์
                 (มติชนรายวัน ๑๘ ก.พ.๔๗)
             ๒.๖  พระราชกวี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และวางแผน มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย และเลขา ฯ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เกิดจากความบกพร่องของรัฐ ๕ ประการคือ
                 ๑)  การจัดการศึกษาของรัฐในภาคใต้ไม่ทั่วถึง เด็กบางส่วนไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ไม่ได้รับการปลูกฝังให้รักชาติ แต่กลับเรียนในสิ่งที่มุ่งทำลายล้างชาติ
                 ๒)  การพัฒนาสังคมไม่ทั่วถึงชนบท เพราะงบประมาณพัฒนาชนบทเข้าไม่ถึงชนบทอย่างแท้จริง เพราะหน่วยงานรัฐบริหารงบ ฯ ไม่โปร่งใส
                 ๓)  ชาวบ้านในภาคใต้ไม่เข้าใจนโยบายรัฐบาล
                 ๔)  ประชาชนในภาคใต้บางคนได้รับงบ ฯ จากต่างประเทศ และ
                 ๕)  ความไม่หวังดีของคนต่างชาติ ที่มุ่งสร้างความวุ่นวายยุยง ให้คนไทยแตกแยกกัน  เพราะต้องการให้แยก ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปจากประเทศไทย (มติชนรายวัน ๑๕ ก.พ.๔๗)
             ๒.๗  พล.ต.ท. อุดม เจริญ  ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)  กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่อยู่ใน จ.ยะลา ๑๐ กว่าปี รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และรู้ว่ามีกลุ่มที่ก่อความไม่สงบในภาคใต้ รับเงินจากต่างประเทศ แล้วนำเงินมาปลูกฝังความเข้าใจผิด ๆ ให้นักเรียน (มติชนรายวัน ๑๕ ก.พ.๔๗)
๓.  ทัศนะของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์รายวัน
             ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบในสมาคม " ปากแข็ง - ตูดนิ่ม " ว่า การที่นายก ฯ มาใต้ ชนิดไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย นั้น จะเรียกว่า ขอมดำดิน - นารายณ์อวตาร - นินจา หรือจะเรียกว่า ซูเปอร์นายก ฯ CEO ไปโชว์วิสัยทัศน์ "สิงห์เหนือเหยียบเสือใต้"  สายสืบดาวเทียมรายงานว่า โกลาหลกันทั้งเมือง สถานการณ์ที่ยะลา - นราธิวาส - ปัตตานี ดูดี ๆ คล้ายกับกรุงแบกแดกในอิรัก วัน ๆ มีแต่ชาวบ้าน - ทหาร - ตำรวจ ถูกหวดทีละศพ สองศพ แล้วคนร้ายสลายตัวเหมือนหมอกควัน ฝ่ายตำรวจ - ทหาร ก็หัวปั่น หันซ้ายหันขวาหาใครไม่เจอ
             นายก ฯ ไปต้องใช้แผนพราง ผู้ชำนาญการบอกว่า ขนาดนายก ฯ ยังกลัว ต้องอารักขาแทบต้องเอาตาข่ายมาคลุมเมือง อย่างนี้เรื่องที่บอกว่า ปัญหาใต้  "ไม่มีอะไร"  คุยไปก็อายเขาเปล่า ๆ
             ผู้สังเกตการณ์รายงานจากนราธิวาส คณะนายก ฯ เหมือนตกอยู่ในความหวาดผวา ต้องออกข่าวลวงว่าจะไปที่นั่น แต่แอบไปโผล่ที่โน่น
             ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า ปัญหาที่ปะทุ มันก็มาจาก "นโยบายใหม่"  ของนายก ฯ ไทยรักไทย นับตั้งแต่ยุบ ศอ.บต. และ พตท.๔๓  จนหาเจ้าภาพบริหารงาน ๓ จังหวัดไม่ได้ แต่ก็ยังไม่ยอมรับ แต่สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงไปยิ่งกว่านั้น คือ ความสำคัญตัวเอง บนความเป็นซูเปอร์ CEO  และการยึดการเมืองเพื่อเลือกตั้งเป็นงานหลัก จึงส่งทั้ง พล.อ.ชวลิต ทั้งนายวันนอร์ ทั้ง พล.อ.ธรรมรักษ์ และทั้ง พล.อ.ชัยสิทธิ์ มาหวังพิชิตศึก ซึ่งต่างคนต่างใหญ่และต่างมีการเดินตามแผน ตามนโยบายไปคนละทางสองทาง กระทั่งเวลานี้ศัตรูก็ยังไม่รู้ว่าใคร แต่ฝ่ายบ้านเมืองคล้ายขุ่นเคืองกินใจ ไม่สามัคคี
             พล.อ.ชวลิต - วันนอร์  เป็นกลุ่มหนึ่งแยกออกไป โดยฝ่ายกลุ่มศาสนาพื้นบ้านให้การสนับสนุน เพราะกลุ่มนี้ยึดประเพณีประนีประนอม เพื่อการเลือกตั้ง
             อีกส่วน ที่กลุ่มศาสนาแสดงท่าทีปฎิเสธ เพราะกลุ่มนี้ไม่มีนโยบายถนอมปัญหา เพื่อหวังได้ผลการทางการเมือง คือ พล.อ.ธรรมรักษ์ - พล.อ.ชัยสิทธิ์ ก็ขนาดนักข่าวถาม พล.อ.ธรรมรักษ์ เรื่องนายมะแซ อุเซ็ง ที่พล.อ.ชวลิต คุยว่ามาเลย์จะเอาตัวมามอบ พล.อ.ธรรมรักษ์ ตอบชนิดไม่อยากกลั้นอารมณ์ว่า ใครบอกก็ไปถามเอากับคนนั้นเอง
             สรุปสถานการณ์ใต้ เวลานี้ "โจรยังอยู่ดี" แต่ที่เห็นจะแย่..แน่นอนคือ รัฐบาลไทยรักไทย (ไทยโพสต์รายวัน ๑๔ ก.พ.๔๗)
  ๔.  แนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล
             ๔.๑  เพื่อสนองแนวความคิดของ พตท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่สรุปไว้เมื่อคราวประชุม ครม. วันที่ ๑๐ ก.พ.๔๗ ว่า คราวประชุม ครม. วันที่ ๑๐ พ.ย.๔๗ ว่า ปัญหาภาคใต้แท้ที่จริง เกิดจากผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเป็นปัญหานำ เรื่องความมั่นคงไม่ใช่ปัญหาความมั่นคงนำเศรษฐกิจ หากสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ ปัญหาความไม่สงบ และเหตุการณ์ร้ายจะหมดไปเอง ถึงผลให้ พล.อ.ชวลิต ยงในยุทธ จัดประชุมเมื่อวันที่ ๑๑ ก.พ.๔๗ กำหหนดยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยประเมินสถานการณ์อันเป็นต้นเหตุของปัญหา ออกเป็น ๓ ระดับ                 ๑.ระดับผิวหน้า หรือปรากฎการณ์ ได้แก่ การใช้ความรุนแรงและการก่อกวนทุกรูปแบบของโจรก่อการร้าย
                 ๒.ระดับโครงสร้าง คือ การประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐบาล ส่วนที่ยังแสวงหาอำนาจ อิทธิพล ผลประโยชน์ ร่วมกับผู้มีอิทธิพล ที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มโจร ปัญหาโจรก่อการร้ายที่พลิกฟื้นกองกำลังและแนวร่วม การเคลื่อนไหวและปัญหาการแทรกแซง เผยแพร่แนวความคิดรุนแรงในหมู่เยาวชน
                 ๓.ระดับวัฒนธรรมหรือจิตใจคือ ประชาชนอยู่ระหว่างสถานการณ์ความรุนแรง อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐกับอำนาจของกลุ่มโจรหรือกลุ่มอิทธิพล ทำให้ประชาชนจำต้องวางเฉย ไม่สามารถร่วมมือกับทางราชการ เป็นสาเหตุให้งานมวลชนและงานการข่าวไม่ได้ผลเท่าที่ควรในระยะหลัง จำเป้นต้องสร้างความไว้วางใจ ความเข้าใจ และลดความหวาดระแวงของประชาชนต่อทางราชการอย่างจริงจังโดยเร็ว
             ส่วนยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคง มี ๕ ข้อคือ
                 ๑. ยุทธศาสตร์เสริมสร้างความสงบสุขในพื้นที่ เน้นด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย งานมวลชน การใช้ระบบการข่าว และการสื่อสารเชื่อมโยงกับประชาชน และทำลายวงจรความเชื่อมโยง ระหว่างผู้มีอิทธิพลและกลุ่มโจรในพื้นที่
                 ๒. ยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคง บนความหลากหลายทางวัฒนธรรม เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างราชการกับผู้นำศาสนา และองค์กรศาสนาอิสลาม นำเข้ามาเป็นที่ปรึกษาหน่วยราชการ จัดเวทีแสดงความคิดเห็น และประชาสัมพันธ์โดยใช้ภาษาท้องถิ่น
                 ๓. ยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพของคน ชุมชน และสังคม โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา เสริมสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชนให้พึ่งตนเองได้ พัฒนาระบบการศึกษาและกิจกรรมเยาวชน ให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นจัดโควต้าพิเศษให้เยาวชน ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา จัดตั้งสถาบันอิสลามศึกษาในภูมิภาค และรองรับผู้จบการศึกษาทางศาสนาอิสลามจากประเทศมุสลิม พัฒนาและดูแลโรงเรียนเอกชน สอนศาสนาอิสลาม และปอเนาะให้เป็นมาตรฐาน โดยไม่กระทบบตอ่ความรู้สึกของชุมชน และจัดระเบียบสังคมอย่างจริงจัง
                 ๔. ยุทธศาสตร์พัฒนาความร่วมมือชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจัง การร่วมมือด้านการข่าว การลาดตระเวน และใช้วิธีการทางทูตแก้ปัญหา โดยพยายามลดบทบาทของประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีผลต่อกระบวนการก่อการร้ายในรูปแบบต่าง ๆ โดยเร็ว
                 ๕. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ ให้ผู้ว่า ฯ ซีอีโอ เป็นหลักในการบริหารและแก้ปัญหา ทั้งด้านความมั่นคง การพัฒนาเศรษฐกิจ ปรับปรุงทัศนคติ และพฤติกรรมของข้าราชการ ที่สร้างเงื่อนไขต่อประชาชนอย่างจริงจัง มีระบบคัดเลือกข้าราชการที่เหมาะสมเป็นธรรม ระบบขวัญกำลังใจในพื้นที่เสี่ยงภัย มีการกำหนดพื้นที่ตามระดับความรุนแรงของปัญหา

             ๔.๒  นายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มติชนรายวัน ๑๕ ก.พ.๔๗" นายกรัฐมนตรีแยกการทำงานที่ จ.ยะลา ออกเป็น ๒ กรอบใหญ่ คือ ทำขวัญและกำลังใจกลับคืนมา เริ่มต้นจากบุคคลากรที่ไม่ต้องการอยู่ในพื้นที่ แม้ว่าตัวเองจะมิจิตใจที่เข็มแข็ง แต่ครอบครัวหวั่นไหว ก็ลา ...ย้ายออกจากพื้นที่ได้
             ขณะเดียวกัน ให้เสนอไปทั่วประเทศ ให้ข้าราชการสังกัดต่าง ๆ ที่มีความประสงค์ก้าวหน้ามารับตำแหน่งที่สูงขึ้นใน ๓ จังหวัดภาคใต้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ไม่ต่ำกว่า ๓ ปี รวมทั้งต้องมีเงื่อนไขจะทำความสำเร็จอย่างไรให้เกิดขึ้นด้วย"
             ๔.๓  ในการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ ๑๗ ก.พ.๔๗ ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมได้เห็นชอบ แนวทางภาพรวมในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ คือ
                 ๑. มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมใน ๓ จังหวัดชายแดน หากเอกชนไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการ ทางรัฐบาลก็จะสร้างเอง
                 ๒. จะสอบถามข้าราชการในพื้นที่ทั้งหมดว่า ใครอยากย้ายหรืออยากอยู่ต่อ หากใครอยู่ต่อในช่วง ๓ ปี ต่อจากนี้ จะได้รับการพิจารณาความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ เพราะถือเป็นผู้เสียสละในการปฏิบัติหน้าที่
                 ๓. จะสร้างรั้วตามแนวชายแดน เพื่อให้ยากต่อการเดินทางไปมาระหว่างไทยกับมาเลเซีย และจะดำเนินการกับบุคคล ๒ สัญชาติ โดยต่อไปในอนาคต จะให้เลือกสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งเท่านั้น
                 ๔. จะจัดระเบียบโรงเรียนปอเนาะให้เหมือนมาเลเซียคือ ต่อไปชาวมุสลิม จะอ้างสิอทธิพิเศษที่เกี่ยวกับศาสนาไม่ได้ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การจัดระเบียบดังกล่าว จะมีกรรมการกลางมุสลิมเข้ามาร่วมรัดระเบียบด้วย
๕. แนวคิดของผู้นำชาวไทยมุสลิม
             ๕.๑  หลังจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ออกแถลงการฉบับที่ ๑ ขอยุติบทบาทในการให้ความร่วมมือ ประสานงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ ๘ ก.พ.๔๗  ต่อมาได้มีการเจรจากันหลายครั้ง ทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แนวโน้มความร่วมมือ จะกลับมาอีกครั้ง นายแวตือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เพื่อให้การร่วมมือและการปฎิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เกิดผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธา ต่อผู้นำศาสนาและบรรดาโต๊ะครู รวมถึงสถาบันปอเนาะ ผู้นำศาสนาจึงขอพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมกำหนดมาตรการที่ชัดเจน ในการปฎิบัติงานร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก (มติชนรายวัน ๑๐ ก.พ.๔๗)
             ๕.๒  เมื่อวันที่ ๑๒ ก.พ.๔๗  ได้มีการเผยแพร่ประกาศแถลงการณ์ร่วมลงนามโดย นายวิชม ทองพังค์ ผวจ.นราธิวาส นายไตรรัตน์ จงจิตร  รอง ผวจ.ปัตตานี นายภานุ อุทัยรัตน์ รอง ผวจ.ยะลา นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลสมัด ประธานกรรมการอิสลามประจำ จ.นราธิวาส นายแวตือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ปัตตานี  นายอับดุลเราะแม เจะแซ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ยะลา และ พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ผช.หน.เสธ.ประจำ ผบ.ทบ. ผู้แทน พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผบ.ทบ.  แถลงการณ์ร่วมระบุว่า
                 "ตามที่ผู้บัญชาการทหารบก มอบหมายให้ผู้แทน พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นผู้แทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับท่านประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา นั้น ทุกท่านเห็นพ้องต้องกันโดยขอประกาศเพื่อทราบโดยทั่วกัน ดังต่อไปนี้
                 ๑)  ขอน้อมเกล้า ฯ รับพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในอันที่จะผนึกกำลังร่วมมือ เพื่อความผาสุกของพี่น้องประชาชน
                ๒)  จะร่วมกันสนับสนุนทางราชการ ในความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย เพื่อขจัดกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง แต่หากการดำเนินการใด ๆ เกิดผลกระทบกระเทือนต่อพี่น้องประชาชน ทุกฝ่ายจะหารือร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาทันที
                 ๓)  ตามที่คณะกรรมการอิสลามได้มีมติในการเสนอข้อคิดเห็น ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหา และพัฒนาต่อนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีได้เปิดโอกาสให้ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนำเสนอ เมื่อครั้งที่คณะกรรมการอิสลามได้เข้าเยี่ยมคารวะนั้น จะได้ดำเนินการในโอกาสอันสมควรต่อไป
             ๕.๓  นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแถลงการณ์ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ที่จะผนึกกำลังความร่วมมือ เพื่อความผาสุกของประชาชน ตามกรอบกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ศาสดาโมฮัมหมัด ได้บัญญัติไว้ ๓ ประการ ที่จะทำให้เกิดสันติสุข คือ
                 ๑)  ทุกคนต้องให้ความปลอดภัยในชีวิต และเลือดเนื้อ
                 ๒)  ทุกคนต้องให้ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน และ
                 ๓)  ทุกคนต้องให้ความปลอดภัยในชื่อเสียง และศักดิ์ศรี
                 ถ้าทำได้ก็จะเป็นสุข ขอให้ทุกคนรักษาหลักทั้ง ๓ ประการนี้ (เดลินิวส์รายวัน ๑๗ ก.พ.๔๗)
             ๕.๔  นายกริยา กิจจารักษ์  รองเลขานุการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ มีพฤติกรรมที่แข็งกร้าว เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ พี่น้องมุสลิมทั่วประเทศจะร่วมประชุมกันที่ ่ศูนย์บริการกิจการศาสนาอิสลามแห่งประเทศไทย กรุงเทพ ฯ ในวันที่ ๑๖ ก.พ.๔๗  โดยจะมีกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทั่วประเทศ และประธานกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัด เข้าร่วมประชุม ซึ่งจะมีการนำเสนอ ในเรื่องพฤติกรรมท่าทีความแข็งกร้าวของ พล.อ.ธรรมรักษ์ และ พล.ท.พงษ์ศักดิ์ เอกบรรณสิงห์ แม่ทัพภาคที่ ๔
                 นายกริยา กล่าวว่า บุคคลทั้งสอง โดยเฉพาะ พล.อ.ธรรมรักษ์ เป็นบุคคลที่สร้างปัญหาให้กับพื้นที่ภาคใต้ สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นจากคำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ แทนที่จะเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา กลับมาสร้างปัญหา
                 "หลังจากประชุมร่วมกันเสร็จ จะมีการแถลงข่าว เสนอปัญหาทั้งหมดให้ นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ พร้อมเรียกร้องให้จัดการกับ พล.อ.ธรรมรักษ์ ตามระเบียบราชการ หากนายกรัฐมนตรีไม่ฟัง พวกเราจะหยุดให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ทั้งประเทศ" นายกริยา กล่าว (มติชนรายวัน ๑๓ ก.พ.๔๗)
             ๕.๕  เมื่อวันที่ ๑๖ ก.พ.๔๗  ที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผบ.ทบ. ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการกลาง ฯ โดยมีตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เข้าร่วมประชุม ๓๓ จังหวัด พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน
             ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า จะเข้าร่วมแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น โดยทำหน้าที่ประสานงานกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เจ้าของพื้นที่ทุกระยะ เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสาร และนำข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ ให้พี่น้องชาวมุสลิมทั่วประเทศได้รับทราบ เพื่อความเป็นเอกภาพของข้อมูลข่าวสาร
             นอกจากนี้ ที่ประชุมยังร่วมกันพิจารณาปัญหา ที่ทำให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่ามี ๘ ปัญหาหลักที่ส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้น คือ
                 -  ปัญหาด้านสังคมวิทยา
                 -  ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย
                 -  ปัญหาอิทธิพลท้องถิ่น
                 -  ปัญหาการศึกษา
                 -  ปัญหาความยากจน
                 -  ปัญหายาเสพติด และ
                 -  ปัญหากลไกของรัฐในการเลือกสรร โยกย้าย และบรรจุแต่งตั้งข้าราชการ ไม่เป็นไปตามนโยบาย รวมทั้งข้าราชการขาดความเข้าใจที่แท้จริง ในหลักการและวิธีปฎิบัติของศาสนาอิสลาม
             ทั้งนี้คณะกรรมการกลาง ฯ ยังได้ร่วมกับสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลาม ๑๔ จังหวัดภาคใต้ มีมติที่ประชุมเสนอนายกรัฐมนตรี ๗ ข้อ คือ
                 ๑)  ขอให้รัฐบาลเร่งรัดจับกุมผู้กระทำผิดโดยเร็ว
                 ๒)  เร่งแก้ปัญหาความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับประชาชนพร้อมสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือร่วมกัน
                 ๓)  ให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยมีความเข้าใจ และมีทัศนคติ ที่ดีต่อมุสลิม และวัฒนธรรมประเพณีของมุสลิม
                 ๔)  ส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาระบบปอเนาะ ให้เป็นสถาบันการศึกษาอิสลาม
                 ๕)  เร่งรัดจัดการศึกษาระดับสูงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
                 ๖)  พัฒนาความมั่นคงชายแดนภาคใต้ในเชิงบูรณาการ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง และ
                 ๗)  ให้คณะกรรมการกลาง ฯ และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นองค์กลางของมุสลิม ในการประสานความร่วมมือกับรัฐบาล ในการแก้ปัญหาและพัฒนา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
             ๕.๖  ในวันที่ ๑๗ ก.พ.๔๗  คณะกรรมการอิสลาม ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในนามศูนย์ประสานงาน สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำ ๓ จังหวัดภาคใต้ ได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอ ๔ ข้อ คือ
                 ๑)  ต้องบูรณาการแผนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ยืนอยู่บนพื้นฐานของศาสนาและวัฒนธรรม
                 ๒)  ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกศาสนา
                 ๓)   ควรให้นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการที่เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
                 ๔)  การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นจุดแข็ง และเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างถาวร
             (เดลินิวส์รายวัน ๑๗ ก.พ.๔๗)
             ๕.๗   นายบุญญา  หลีเหลด  สว.สงขลา กล่าวว่า กลุ่ม สว.เรียกร้องให้เปลี่ยนตัวคนรับผิดชอบปัญหาภาคใต้ จาก พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นคนอื่น ที่พูดแล้วไม่ดูถูกเหยียดหยามชาวมุสลิม
             "ผมและ สว. ไม่มีหนทางที่จะขอร้องให้รัฐบาลหยุดการกระทำที่รุนแรง ต่อประชาชนใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เพราะนายกรัฐมนตรีไม่เคยฟังใคร ขอเตือนครั้งสุดท้ายว่า อย่าทรนงตัวเองให้มาก เดี๋ยวเหตุการณ์จะบานปลาย"
(มติชนรายวัน ๑๑ ก.พ.๔๗)
             ๕.๘  นายฟัครุดดิน มอตอ สว.นราธิวาส กล่าวว่า ผู้นำศาสนาไม่พอใจมากที่มีการตรวจค้นแบบเหวี่ยงแห โดยเฉพาะการค้นบ้านคณะกรรมการกลางอิสลาม จังหวัดปัตตานี ถือว่าเกินความพอดี เหมือนไม่ให้เกียรติกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้นำที่ชาวบ้านให้ความเคารพ ที่ผ่านมาก็มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำศาสนาและเจ้าหน้าที่รัฐ ตกลงกันว่าได้ขอให้ใช้ความนุ่มนวล และให้เกียรติ แต่กลับไม่ปฎิบัติตาม จึงเกิดปัญหาขึ้น จึงออกแถลงการณ์เพื่อเตือนสติไม่ให้เจ้าหน้าที่ทำรุนแรงเกินไป เพราะตอนนี้ทุกอย่างอยู่ในมือทหาร จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีเดินทางลงไปในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาและหาแนวทางสันติวิธี (มติชนรายวัน ๑๐ ก.พ.๔๗)
             ๕.๙  นายหะยีนิเดร์ วาปา กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าว่า การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปตรวจค้น จะต้องใช้วิธีนุ่มนวล ให้เกียรติเจ้าของบ้านด้วย และต้องมองว่า กระทบกับประเพณีหรือไม่ ถึงเวลาแล้วที่นายกรัฐมนตรีต้องพิจารณา ในเรื่องปัญหาชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล ปัญหาภาคใต้ นายกรัฐมนตรีหลายคนที่ผ่านมาให้ความสำคัญมาตลอด ไม่อย่างนั้น ชายแดนภาคใต้คงจะต้องหลุดมือไปแล้ว (มติชนรายวัน ๑๐ ก.พ.๔๗)
  ๖.  แนวคิดของบุคคลชั้นนำของไทย และนักวิชาการ
             ๖.๑  นายบรรหาร ศิลปอาชา  หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า รัฐต้องไม่ปล่อยให้ความไม่พอใจของผู้นำศาสนายืดเยื้อ หลักใหญ่ขณะนี้คือ การประนีประนอมอย่างเดียว ...ส่วนที่ผู้นำศาสนาต้องการคุยกับนายก ฯ คนเดียวนั้น หากทุกเรื่องต้องให้นายก ฯ จัดการคนเดียวคงไม่ไหว  "ต้องมาดูว่า ผู้นำศาสนาไม่ยอมหารือกับ พล.อ.ชวลิต เพราะอะไร ต้องแก้โจทย์ตรงนี้ให้แตก" (มติชนรายวัน ๑๑ ก.พ.๔๗)
             ๖.๒  พล.อ. กิติ รัตนฉายา  อดีตแม่ทัพภาคที่ ๔ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า "รัฐบาลต้องกล้าปรับสภาพแวดล้อม สร้างขวัญและกำลังใจ เวลานี้ชาวบ้านกลัวโจรจนไม่กล้าพูดอะไร ไม่มีใครสนับสนุนรัฐบาล ต้องใช้การเมืองนำการทหาร ไม่ต้องพกปืนผาหน้าไม้ เวลานี้ต้องแย่งชิงประชาชนกลับมา ส่วนจะแย่งชิงอย่างไรก็ว่ากันไป รัฐบาลเองมีทั้งงบประมาณ น่าจะรู้ว่าควรทำอะไรบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้ล่าช้ามาไม่รู้กี่เดือน ก็ยังไม่มีอะไรชัดเจน ต้องสร้างความเป็นอกภาพ แต่กลับไม่มีอะไร แนวคิดก็ยังไม่ตรงกัน ต้องทบทวน"
             ขณะนี้ต้องดึงส่วนขาวมาอยู่กับรัฐบาลก่อน เพราะส่วนดำมีแค่ ๒๐๐ - ๓๐๐ คน ทำไมไม่เอาส่วนขาวที่มีกว่า ๒ ล้านคน มาร่วมสลายจุดดำ ตนเห็นว่าเวลานี้มีแต่คนมุ่งช่วยรัฐบาล แต่ไม่รู้เรื่องปัญหาภาคใต้ไม่ได้ใหญ่โตอะไร ทุกอย่างยังแก้ไขได้ เรื่องความไม่ไว้วางใจเป็นสำคัญ ผู้ใหญ่บางคนที่ถูกดึงไปแก้ปัญหา ก็ไม่ฟังใคร ไม่รู้ปัญหาวิถีชีวิต ให้ไปแก้ปัญหาแต่กลับไปสร้างปัญหา สร้างความขัดแย้ง อย่างนี้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร (มติชนรายวัน ๑๖ ก.พ.๔๗)
             ๖.๓  นายบัณฑิตย์ สะมะอูน  นักวิจัยสถาบันเอเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความลงในมติชนรายวัน ๑๒ ก.พ.๔๗ เรื่อง "ชวนมอง ...สาเหตุไฟใต้"  ได้ให้ความเห็นในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ว่า" การแก้ไขปัญหาในภาคใต้ ต้องใช้ความแตกต่างให้เป็นพลัง จากนโยบายที่ต้องการให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างศาสนา ของคนในพื้นที่ "ศาสนาสัมพันธ์"  นับว่าเป็นนโยบายที่ตรงกับปัญหาของพื้นที่ ซึ่งเหตุการณ์รุนแรงในครั้งนี้ คือ คำตอบที่ทำให้เห็นคุณค่าของนโยบายนี้ชัดเจนยิ่งขี้น
             ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นเหมือนปรากฎการณ์ธรรมชาติ ที่อาจจะเวียนกลับมาเมื่อไรก็ได้ และหาเหตุผลใด ๆ มารองรับไม่ได้ อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต หากประชาชนในพื้นที่ ยังไม่มีอำนาจตัดสินใจกับพื้นที่ของตนเอง อย่างสมบูรณ์ จึงเป็นภาพที่ขัดแย้งและสับสนอยู่เหมือนกันว่าประชาชนในพื้นที่ยังมีความรู้สึกถูกกีดกัน จากพื้นที่ตัวเอง มากกว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน
             การมอบอำนาจหน้าที่ สิทธิให้ ตามวิถีทางประชาธิปไตย สร้างระบบเศรษฐกิจให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ (ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาดีขึ้นเรื่อยมา) ผลักดันให้เกิดโรงเรียนเอกชน สอนศาสนาอิสลาม ที่สอนแบบบูรณาการ สอดแทรกเรื่องของวิชาชีพแก่ระบบการศึกษา อนุมัติโครงการอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ฯลฯ หากโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และครบถ้วนสมบูรณ์ ความรุนแรงในพื้นที่จะค่อย ๆ ลดน้อยลงไปเอง นอกจากนั้น ปัญหาอิทธิพลในพื้นที่ รวมถึงปัญหาอาชญากรรมจะค่อย ๆ หมดไป (นพ.ประเวศ วะสี มติชนรายวัน ๒๐ ก.พ.๔๗)
             ๖.๔  นพ.ประเวศ วะสี เสนอแนวทาง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในเรื่องความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น ขอแนะนำว่า
             หยุดสาดเบนซินใส่ไฟ ต้องใช้วิธีสุจริต เสนาบดีผู้ใดที่อดเปรี้ยวปากไม่ได้ อาจต้องปลดประจำการ
             ใช้ยุทธศาสตร์แบบคำสั่ง นายกรัฐมนตรี ที่ ๖๖/๒๕๒๓ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ยุติการต่อสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกัน โดยรวดเร็ว
             ประชาชนคนมุสลิม ในไทยนั้นแหละจะเป็นผู้ช่วยดับไฟ ประเทศไทยมีเสน่ห์ที่ไม่ว่า คนจีน แขก ฝรั่ง มาอยู่แล้วก็รักประเทศไทย คนมุสลิมเขาก็รักประเทศไทย ประชาชนมุสลิมทั้งมวลในประเทศไทยนั้นแหละ จะเป็นผู้ช่วยดับไฟใต้
             ดับไฟด้วยความประณีต แต่ไม่ได้ด้วยความอหังการ (มติชนรายวัน ๒๐ ก.พ.๔๗)
๗.ท่าทีของมาเลเซีย
          พล.อ. ชงลิต ยงใจยุทธ ให้สัมภาษณ์ว่า " ประเทศเพื่อนบ้านเราก็บอกว่า จะให้ความร่วมมือ เราก็จะขอ นายมะแซ อุเซ็ง หัวโจกปล้นปืนค่ายทหารกองพันทหารพัฒนาที่ ๔ จากทางมาเลเซีย ...ต่อข้อถามที่ว่า แสดงว่าที่ผ่านมา ทางมาเลเซียไม่สนใจใช่หรือไม่ พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น แต่คิดว่าเขาคงหาไม่เจอมากกว่า เราคิดว่ามาเลเซียเป็นเพื่อนบ้านเรา แต่มันมีกระแสว่า จะใช้คนนี้เพื่องานการเมือง เราไม่อยากไปยุ่ง ถ้าพูดไปจะกระทบกัน... ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่บอกว่าทางมาเลเซียใช้ นายมะแซ อุเซ็ง เพื่องานการเมือง หมายถึงอะไร พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า ข่าวบอกว่าใช้คนนี้ เพื่อไปหาสมาชิกการเมืองซึ่งตนไม่เชื่อ...
             ภายหลังคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.ชวลิต ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูง ของมาเลเซียที่ไม่ระบุนาม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีว่า มาเลเซียไม่มีข้อมูลว่า นายมะแซ อุเซ็ง กบดานอยู่ในมาเลเซีย ...และยังไม่ได้รับคำร้องขออย่างเป็นทางการจากไทย เรื่อง นายอุเซ็ง แต่อย่างใด ถ้ามีคำร้องขอไป ทางมาเลเซียจะสอบสวนทันที หากพบอยู่ในมาเลเซียและจับได้ จะส่งตัวให้ทางการไทยทันที (ไทยรัฐรายวัน ๑๒ ก.พ.๔๗)
๘. มุมมองจาก "วอชิงตัน"
             นายจอห์น แบรนดอน ผอ.โครงการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมูลนิธิเอเซีย ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี .สหรัฐ ฯ มีมุมมองต่อสถานการณ์ภาคใต้ของไทยว่า พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมากด้วยคนไทยเชื้อสายมุสลิม มีประวัติศาสตร์ความไม่พึงพอใจอันเก่าแก่ยาวนาน กับรัฐบาลกลางสืบเนื่องจากดินแดนย่านนี้ เคยเป็นราชอาณาจักรอิสลามแห่งปัตตานี ก่อนจะถูกราชอาณาจักรสยามผนวกดินแดน ในปี พ.ศ.๒๔๔๕
             คนไทยมุสลิมทนเจ็บปวดมาหลายทศวรรษ เพราะเผชิญกับการบริหารราชการผิดพลาดของทางการกรุงเทพ ฯ แม้รัฐบาลไทยพยายามแก้ปัญหาในยี่สิบกว่าปีแล้ว<
             มุสลิม ๒ ล้านคน ไม่พอใจยิ่ง ที่ถูกปฎิเสธไม่ยอมรับภาษา วัฒนธรรม และความเป็นมาเลย์ ยิ่งกว่านั้น ภูมิภาคนี้มีฐานะทางเศรษฐกิจยากจนกว่าภูมิภาคส่วนใหญ่ของประเทศ
             เท่าที่ผ่านมา คนมมุสลิมอยู่อย่างสงบสันติ  แต่อิทธิพลของนายโอซามา บินลาเดน ผู้นำกลุ่มอัลเคด้า กระตุ้นให้คนมุสลิม ในภาคใต้ของไทย อีกทั้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  อยากเห็นโลกที่ดีขึ้น
             นอกจากนั้น กบฎมุสลิมดูเหมือนว่า จะไปหลอมสัมพันธ์กับแก๊งยาเสพติด มีรายได้บางส่วนจากการค้ายา และการลักลอบค้าของเถื่อน อาจถูกนำไปใช้สนับสนุนกิจกรรมก่อการร้าย ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง แสดงว่าเกิดแหล่งรายได้ตรงนี้ เป็นแหล่งสำคัญ ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนไทยมุสลิม ไม่เคยมีมา ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
             ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า ในไม่ช้าอาจใช้ยุทธศาสตร์ปราบ ผกค.มาใช้ แต่มาตรการไม้แข็งที่จะใช้กันเป็นระยะยาว มีแต่จะถ่างช่องว่างระหว่างคนท้องถิ่นกับทางการไทย ยุทธศาสตร์แข็งกร้าว จะกลายเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายก่อการร้าย อาทิ ทำให้ชาวบ้านโดยเฉพาะหนุ่ม - สาว มุสลิม ยิ่งแปลกแยกจากทางการ และผลักดันคนเหล่านี้ไปสมทบกับผู้ก่อการร้ายมุสลิม ประเทศไทยอาจกลายเป็นดินแดน เพาะพันธุ์มุสลิมหัวรุนแรง ขณะที่พวกผู้ก่อการร้ายก็ใช้ประเทศไทยเป็นจุดแวะพัก จุดนัดพบ อย่างเช่นกรณีนายฮัมบาลี แกนนำขบวนการก่อการร้ายเจมาห์ อิสลามิยาห์ (เจไอ) และสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มก่อการร้ายอัลเคด้า ชาวอินโดนิเซียหลบเข้ามาพัก และวางแผนก่อการร้ายในอินโดนิเซีย (มติชนรายวัน ๑๔ ก.พ.๔๗)