ประมวลสถานการณ์ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ตอนที่ ๑

๑. การประเมินสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้
           ๑.๑ ข้อมูลแหล่งข่าวระดับสูงของรัฐบาลยืนยันชัดเจนว่า ปัจจุบัน ขบวนการก่อการร้าย (ขจก.) ในประเทศไทยหมดสิ้นไปแล้วอย่างแน่นอน ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลของ ซีไอเอ. หน่วยข่าวของรัฐบาลระบุว่า แม้แกนนำองค์กรก่อการร้ายในต่างประเทศจะยังคงอยู่ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากมุสลิม ส่วนใหญ่ในประเทศ โดยเฉพาะผู้นำศาสนาอิสลามคือโต๊ะครู และโต๊ะอิหม่าม เนื่องจากมุสลิมในประเทศไทย ถือเป็นมุสลิมที่สุขสบายกว่ามุสลิมชาติอื่นในโลก (ผู้จัดการรายวัน ๙ เม.ย.๔๕)
           ๑.๒ นายวิสุทธิ์ สิงหวรกุล อดีต ผอ.ศอบต. เปิดเผยถึงสถานการณ์ความวุ่นวายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๔๕ ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบนี้ ถือว่าเป็นปัญหาใหม่ ไม่ใช่ผลตกค้างจากประวัติศาสตร์ และมั่นใจว่าข้อมูลทั้งหมดของรัฐบาล ได้วิเคราะห์สถานการณ์ถูกต้องพอสมควรแล้ว โดยปัญหาใหม่เหล่านี้ก็คือ ปัญหาที่เกิดจากภายใน เป็นปัญหาเรื่องของอิทธิพลการสูญเสีย หรือการได้ประโยชน์ของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานในพื้นที่ (ผู้จัดการรายวัน ๒๙ มี.ค.๔๕)
           ๑.๓ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ ๔ กล่าวว่า จริง ๆ แล้ว ณ วันนี้ยังไม่มีใครหาคำตอบได้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้นั้น เป็นโจรธรรมดา หรือกลุ่มขบวนการ แต่ความจริงเรื่องหนึ่งที่สังคมต้องยอมรับก็คือ ขบวนการโจรก่อการร้ายนั้นยังมีอยู่ โดยส่วนนำอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ตะวันออกกลาง และในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งแนวร่วมก็คือประชาชนในพื้นที่นั่นเอง"วันนี้ เราชอบพูดว่า ไม่มีแล้วขบวนการ แต่จริง ๆ นั้นมี และเรื่องภาคใต้วันนี้ก็เชื่อมโยงถึงขบวนการแน่นอน" (ผู้จัดการรายวัน ๒๙ มี.ค.๔๕)
          ความจริงแล้วต้องยอมรับว่า ขจก.ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น
               ๑. หน่วยนำหรือองค์กรนำ
               ๒. กองกำลังเคลื่อนไหว ทั้งที่ถืออาวุธอยู่ในป่าหรืออยู่ในเมือง และ
               ๓. แนวร่วมซึ่งเป็นชาวบ้านและไม่พอใจการปกครอง ไม่พอใจตำรวจ - ทหาร หรือนโยบายรัฐบาล
                ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยการจัดระเบียบสังคม และกำจัดอิทธิพลกลุ่มต่าง ๆ
                สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับและไม่สามารถปฏิเสธได้คือ
               ๑. ผู้นำองค์กรก่อการร้ายซึ่งอยู่ในต่างประเทศยังมีอยู่ จำเป็นต้องให้กระทรวงการต่างประเทศ สำนักข่าวกรอง หรือบุคคลใดคนหนึ่ง ติดตามและต่อต้าน
               ๒. กองกำลังที่เคลื่อนไหวอยู่ ตำรวจต้องเข้าจัดการ หากเกินกำลังก็สามารถขอทหารเข้าไปช่วยเหลือได้
               ๓. แนวร่วมก่อการร้าย วงจรนี้จำเป็นต้องมีการแยกแยะให้ชัดเจนว่าแนวร่วมเหล่านี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง จะแยกโดยการข่าว และการจัดระเบียบสังคม
                ถ้ารัฐบาลตอบว่าขบวนการโจรก่อการร้ายหมดแล้ว ถือว่าได้คะแนนศูนย์เลย แทนที่จะได้คะแนนบ้าง (ผู้จัดการรายวัน ๙ เม.ย.๔๕)
๑.๔ ก่อนการประชุม ครม.ในวันที่ ๒๙ ต.ค.๔๕ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยืนยันว่า "เหตุการณืที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับการก่อการร้ายข้ามชาติใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นความไม่พอใจในประเทศแน่นอน" และสรุปหลังประชุม ครม.ว่า "เป็นการก่ออาชญากรรมธรรมดา" อันตรงกับความเห็นของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ว่าไม่ใช่ขบวนการก่อการร้าย แต่เป็นพวกก่อกวนมากกว่า
          นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ให้รายละเอียดว่า "เป็นการกระทำของกลุ่มที่ไม่หวังดี ไม่ใช่เป็นการกระทำของกลุ่มขบวนการใด ๆ แต่เป็นการกระทำของกลุ่มคนไม่กี่คน ที่ใช้วิธีการว่าจ้าง"
          ท่าทีของระดับนำของรัฐบาลเช่นนี้สะท้อนเอกภาพในทางความคิดที่สำคัญก็คือ การตัดมิให้เหตุการณ์อันเกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดปัตตานี เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายสากล ไม่อยากเห็นการโยงเหตุการณ์ที่บาหลี ให้เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย เพราะต้องการให้ภาพของไทยเป็นเขตปลอดการก่อการร้าย และให้ไทยเป็นอีกทางเลือกของนักวท่องเที่ยวจากต่างประเทศ (มติชนรายวัน ๒๕ พ.ย.๔๕)
๒. การยุบ ศอ.บต.และ พตท.๔๓
          ๒.๑ ข้อมูลแหล่งข่าวระดับสูงของรัฐบาลยืนยันชัดเจนว่า ปัจจุบันขบวนการก่อการร้าย (ขจก.) ในประเทศไทยหมดสิ้นไปแล้วอย่างแน่นอน ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลของซีไอเอ. หน่วยข่าวกรองรัฐบาลระบุว่า แม้แกนนำองค์กรก่อการร้ายในต่างประเทศจะยังคงอยู่ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศ โดยเฉพาะผู้นำศาสนาอิสลามคือ โต๊ะครู และโต๊ะอิหม่าม เนื่องจากมุสลิมในประเทศไทย ถือเป็นมุสลิมที่สุขสบายกว่ามุสลิมชาติอื่นในโลก
          ส่วนกองกำลังก่อการร้ายนั้นระบุว่า เป็นกองกำลังไร้อุดมการณ์ใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งแยกดินแดนหรืออื่น ๆ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยประกาศอุดมการณ์ใด ๆ เลย แต่มักเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ และอิทธิพลเท่านั้น
          สำหรับโจรอิทธิพลและผลประโยชน์ในพื้นที่ภาคใต้ แบ่งแยกเป็น ๓ กลุ่มคือ ๑.โจรอิทธิพลสีปกครอง ๒.โจรอิทธิพลสีกากี ๓.โจรอิทธิพลสีการเมืองท้องถิ่น - ระดับชาติ ซึ่งโจรอิทธิพลในกลุ่มที่ ๓ นี้จะมี "สีเขียว - สีกากี" เข้าไปให้การสนับสนุน
          กลุ่มโจรอิทธิพลเหล่านี้ จะใช้อำนาจ - หน้าที่ ช่วยเหลือโจรก่อการร้ายในอดีต ไม่ให้ต่างถูกจับกุม - ลงโทษ โดยการดึงมาเป็นสมัครพรรคพวก เพื่อหวังผลประโยชน์ในการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์ ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือสร้างอิทธิพลให้กับกลุ่มของตัวเอง (ผู้จัดการรายวัน ๙ เม.ย.๔๕)
          ๒.๒ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๕ ครม.ได้พิจารณาปรับปรุงโครงสร้างยุทธศาสตร์ความมั่นคง ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชุมเน้น "เศรษฐกิจนำความมั่นคง" โดยมอบอำนาจหน้าที่ในการแก้ปัญหาให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ตามแนวคิด "ผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ หรือผู้ว่าซีอีโอ" โดยจะลดบทบาทถึงขั้นยุบ ศอ.บต.และ พตท.๔๓ โดยให้จังหวัดเป็นศูนย์กลางบริหาร และอำนวยการแก้ปัญหาหกเรื่อง ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๕๖/๒๕๓๙ ดังนั้นในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ ๓๐ เม.ย.๔๕ ครม.ได้ประกาศยุบ ศอ.บต.และ พตท.๔๓ อย่างเป็นทางการ (ผู้จัดการรายวัน ๙ เม.ย.๔๕)
          ๒.๓ นายนมุ มะกาเล รองประธานกรรมการอิสลามประจำ จ.ยะลา กล่าวว่า การยุบกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ ๔๓ (พตท.๔๓) เหลือแต่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค ๔ ส่วนแยก ๒ น่วยงานนี้คงจะต้องเปลี่ยนบทบาทไปพัฒนาและปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนรักถิ่นฐานบ้านเมือง ช่วยตนเอง ครอบครัว และสังคมให้มากขึ้น
          อย่างไรก็ตาม ผู้นำศาสนาอิสลาม และชาวไทยมุสลิม ยังรู้สึกเป็นห่วงว่า เมื่อยุบ ศอ.บต.แล้ว โครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวไทยมุสลิมคือ
                    - โครงการอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่จะเดินทางไปทำพิธีหัจญ์ของชาวไทยมุสลิม ซึ่งแต่ละปีจะไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ คน
                    - โครงการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งมีอยู่เกือบ ๒๐๐ แห่ง
                    - โครงการให้ความช่วยเหลือค่าตอบแทนแก่อิหม่าม คอเต็บ บิลหลั่นใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีมัสยิดอยู่กว่า ๒,๐๐๐ แห่ง
                    - โครงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มปัญญาชนที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ ซึ่งเคยอยู่ในความดูแลของ ศอ.บต. จะขาดการสานต่อ(มติชนรายวัน ๓ พ.ค.๒๕๔๕)
          ๒.๔ เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่า ...ทำไมเราจึงเพลี้ยงพล้ำให้แก่ ขจก. มาโดยตลอด เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะมวลชนเป็นของ ขจก. การข่าวในพื้นที่จึงเสียเปรียบ ...เป็นรองฝ่ายตรงข้ามตลอดมา
          ถึงแม้ ...กองทัพภาคที่ ๔ จะเดินทางมาถูกทาง ...แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ...เพราะขาดเอกภาพ เนื่องจากอำนาจการปราบปราม ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นของตำรวจ ส่วนทหารมีหน้าที่ ป้องกันศัตรูจากภายนอกประเทศเท่านั้น เวลานี้ทหารต้องปล่อยใหตำรวจ ...ดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากไม่มีอำนาจปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งปัญหานี้...
          ...เกิดจากนายตำรวจท่านหนึ่งต้องการรวมอำนาจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ทั้งหมด จึงรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาระดับสูงว่า ตำรวจสามารถควบคุม          หลังจากมีการยุบ ศอ.บต.ไปแล้ว ปัญหาความวุ่นวายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตำรวจคนดังกล่าว ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ จนกระทั่งถูกย้ายไปในที่สุด ...(เดลินิวส์รายวัน ๒๑ ม.ค.๔๗)
          ๒.๕ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ ๔ ให้ความเห็นว่ากองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ ๔๓ (พตท.๔๓) และศูนย์อำนวยการบริหาร ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เกิดขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๘/๒๔ เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พตท.๔๓ และ ศอ.บต. ขึ้นการบังคับบัญชากับแม่ทัพภาคที่ ๔ และแม่ทัพภาคที่ ๔ ขึ้นการบริหารกับนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นสตาฟให้รัฐบาล
          ต่อมามีการแก้คำสั่งให้การแก้ไขปัญหา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปในลักษณะของคณะกรรมการ ซึ่งมี รมว.มหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการ และแม่ทัพภาคที่ ๔ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดนี้
          "ต้องยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบของคณะกรรมการ ย่อมเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะในเรื่องของการไม่มีเอกภาพ เนื่องจากการแก้ไขปัญหาในพื้นที่พิเศษเช่นนี้ ต้องมีผู้บังคับบัญชาเพียงคนเดียวเท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นด้วยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๘/๒๔ ถ้ารัฐบาลสรุปว่า ปัจจุบันขบวนการโจรก่อการรร้าย (ขจก.) หมดสิ้นไปแล้ว ในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้"
          ความจริงแล้วต้องยอมรับว่า ขจก.ยังมีอยู่ไม่ว่าจะเป็น ๑.หน่วยนำหรือองค์กรนำ ๒. กองกำลังเคลื่นไหว ทั้งที่ถืออาวุธอยู่ในป่า หรืออยู่ในเมือง และ ๓. แนวร่วมซึ่งเป็นชาวบ้าน และไม่พอใจการปกครอง ไม่พอใจตำรวจ - ทหาร หรือนโยบายรัฐบาล
          ถ้ารัฐบาลตอบว่า ขบวนการโจรก่อการร้ายหมดแล้ว ถือว่าได้คะแนนศูนย์เลย แทนที่จะได้คะแนนบ้าง (ผู้จัดการรายวัน ๙ เม.ย.๔๕)
          ๒.๖ นายเจะอามิง โตะตาหยง อดีต สส.นราธิวาส เขียนบทความลงใน นสพ.มติชนรายวัน กล่าวถึงสาเหตุการเกิดปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ว่า รากเหง้าของปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน มิใช่ปัญหาเรื่องศาสนา แต่ศาสนาเป็นเพียงเงื่อนไขที่ ...นำมาใช้ปัญหาภาคใต้ หากย้อนยุคแล้วเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยอำนาจที่มีอยู่ในมือมีทั้งอาวุธและกฎหมาย สร้างปัญหาเงื่อนไขกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนเก็บกด ทนทุกข์ จนถึงเกินระดับเก็บกด นำไปสู่การต่อต้านอำนาจรัฐของคนบางกลุ่ม เพื่อเรียกหาความเป็นธรรมให้กับตัวเองเท่านั้น ซึ่งต่อมาปัญหาได้แตกออกไปเป็นเงื่อนไขทางสังคม จิตวิทยาและความมั่นคงของประเทศ
          ปัจจุบันมิใช่ปัญหาโจรก่อการร้ายเท่านั้นที่ก่อปัญหาในภาคใต้ สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนคือ กลุ่มก่อกวนสวมรอย อาศัยปัญหาความรุนแรงจากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นเป็นทุนเดิม นำไปสู่กลุ่มผลประโยชน์ (มติชนรายวัน ๓ เม.ย.๔๕)
๓. สถานการณ์การก่อการร้ายหลังยุบ ศอ.บต. และ พตท.๔๓
          มีการลอบเผาโรงเรียนในพื้นที่ จ.สงขลา ๕ แห่ง ในคืนวันที่ ๒๙ ต.ค.๔๕ รวมถึงการลอบวางระเบิดภายในวัดช้างไห้ ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และบริเวณสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว บ.กรือเซะ ต.ตันหยงลูโล๊ะ อ.เมือง จ.ปัตตานี หลังจากนั้นกลุ่มคนร้ายยังคงปฎิบัติการก่อกวนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ จ.ปัตตานี มีการลอบวางระเบิดบริเวณลานจอดรถ หน้าโรงแรมมายการเด้น พบวัตถุระเบิดซุกซ่อนอยู่ในรถจักรยานยนต์ บริเวณหน้าร้านอาหารวิลล่า และเหิมเกริมหนักถึงขั้นโทรศัพท์ขู่วางระเบิด ศาลากลาง จ.ปัตตานี (ไทยรัฐรายวัน ๓๐ ต.ค.๔๕)
          ๓.๑ พตท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ในภาคใต้ว่า จะไม่รุนแรงยิ่งขึ้น อีกไม่นานก็จบ เพราะรัฐบาลเอาจริงทุกเรื่องที่ผ่านมา พอไม่เอาจริงก็เจอปัญหาลูบหน้าปะจมูก และปัญหาของเรื่องผลประโยชน์เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ที่มีความเชื่อมโยงกัน ความจริงแล้ว บ้านเราไม่มีโจรก่อการร้าย มีแต่โจรห้าร้อย โจรผลประโยชน์ขัดแย้งกันเอง แค่นี้ไม่มีอย่างอื่น (ไทยโพสต์รายวัน ๔ พ.ย.๔๕)
          นายประมวล รุจนเสรี รมช.มหาดไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ในภาคใต้เกิดขึ้นเป็นฤดูกาล โดยมักจะเกิดราวเดือน พ.ย.- ม.ค. หรือช่วงที่มีการผลัดเปลี่ยน รมว.มหาดไทย ก็จะมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นทุกครั้ง เป็นการกระทำเพื่อขอความสนับสนุนด้านการเงิน (ไทยโพสต์รายวัน ๔ พ.ย.๔๕)
          ๓.๒ นายมุข สุไลมาน กล่าวว่า ตามปกติคนในพื้นที่ใคร ๆ ก็รู้กันว่าอะไรเป็นอะไร ถามว่าขบวนการยังมีอยู่ หรือไม่ก็ยังมีอยู่เป็นปกติธรรมดา เพียงแต่ว่าเท่าที่รู้เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเก่า เปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะว่าศักยภาพไม่มี เนื่องจากในช่วงประชาธิปไตย คนมีโอกาสต่อสู้ทางการเมืองที่ถูกต้อง ผู้ที่หลบหนีเข้าป่าก็เลิกรากันไป และปัญหาที่เกิดขึ้นลึก ๆ นั้น ก็พอจะรู้กันว่าอะไรเป็นอะไร
          "เหตุการณ์เผาโรงเรียน และวางระเบิดที่ต่าง ๆ ผมมั่นใจว่าไม่ใช่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างชัดเจน แต่เกิดจากบางคนที่ชอบรับจ้าง โดยอาจจะติดยาเสพติด เคยมีคดีลักขโมยน้อย รอรับจ้างอย่างเดียว ใครจ้างก็ทำตลอด แม้ว่าจะจับคนหนึ่งก็จะมีคนหนึ่งทำต่อ เพราะคนรับจ้างมันเยอะ จะสาวไปถึงผู้ว่าจ้างมันก็ยาก ทั้ง ๆ ที่รู้ แต่ไม่สามารถหาของกลางได้ ซึ่งเมื่อถามผมว่า รู้ได้อย่างไร ในหลักฐานผมก็บอกไม่ได้ แต่การจะว่ากันไปกันมา ซึ่ง นายไตรรงค์ เป็นนักการเมืองระดับผู้ใหญ่แล้วต้องเข้าใจดีกว่า ควรหรือไม่ควรที่จะพูด เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะมาโต้เถียงกัน" (ผู้จัดการรายวัน ๑๕ พ.ย.๔๕)
          นายมุข สุไลมาน สส.ปัตตานี กลุ่มวาดะห์ ได้สะท้อนถึงปัญหาสถานการณ์ใต้ที่เป็นจริงว่า "สิ่งที่เกิดขึ่นในขณะนี้ หากเราไม่เปิดช่องโหว่ ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย ต้องมาดูว่าอะไรคือเหตุที่ทำให้เกิด จะได้แก้ตรงจุดการปราบปราม เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่การแก้ที่ถาวร ต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่มีต่ออำนาจรัฐ และให้เขามีความรู้สึกว่ามีความจริงใจในทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษาก็ดี แล้วประชาชนก็จะหันมาหาเรา ซึ่งในขณะนี้อาจกระทบความรู้สึกของชาวบ้านบ้าง แม้จะไม่อยากให้เกิด แต่ก็ต้องระวัง เพราะยิ่งทำให้ประชาชนเสียความรู้สึก ความร่วมมือในการหาข่าวสารก็น้อยลง เพราะการที่รัฐจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการหาข่าวในการเฝ้าเวรยาม" (มติชนรายวัน ๒๕ มค.ค.๔๕)
          ๓.๓ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ สส.นราธิวาส พรรค ทรท. สมาชิกกลุ่มวาดะห์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้ปัจจุบัน เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี พูดคือ เรื่องของผลประโยชน์และการเรียกค่าคุ้มครอง (ผู้จัดการรายวัน ๑๕ พ.ย.๔๕)
          ๓.๔ นายบุญญา หลีเหลด สว.สงขลา กล่าวว่า ...คิดว่าสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงหลังเทศกาลรอมฎอนเท่านั้น เนื่องจากมีคนอยู่หลายกลุ่มในภาคใต้ที่เคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวนการ โดยรอจังหวะที่จะก่อความไม่สงบขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่จะควบคุม ขอยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ไม่ใช่เป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่เป็นการใช้ผู้ติดยาเสพติด เป็นเครื่องมือในการก่อความไม่สงบของคนบางกลุ่มเท่านั้น (ผู้จัดการรายวัน ๒๖ พ.ย.๔๕)
          ๓.๕ นายไพศาล พรหมยงค์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าประธานคณะกรรมการกลางอิสลามทั่วประเทศ ได้ประชุมหารือถึงปัญหาภาคใต้กันแล้ว เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างสถานการณ์ชัดเจนของคนเพียง ๔ - ๕ คน ไม่ใช่ขบวนการใหญ่โตอะไร โดยมุ่งหวังที่จะทำให้เกิดความแตกแยกในภาคใต้ แต่ขอยืนยันว่า ชาวมุสลิมในภาคใต้ยังแนบแน่น และเข้าใจกันได้อย่างลงตัว (ไทยโพสต์ ๘ พ.ย.๔๕)
          ๓.๖ นายมันโชร์ สาและ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการเห็นในเวลานี้ก็คือ การจับคนมีสีที่ก่อเหตุความไม่สงบเรียบร้อยในชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นรางวัลให้กับประชาชนใน ๓ จังหวัดภาคใต้ เพราะหากรัฐบาลไม่ลงมือทำปัญหาก็ไม่มีวันจบสิ้น ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ว่ารัฐบาลใด ๆ ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ เป็นภาพเก่า ๆ ที่พยายามป้ายสีความผิดให้กับขบวนการ ขจก. หรือพาดพิงว่า เป็นฝีมือของกลุ่มเดิม ๆ เช่น แนวร่วมมูจาฮีดีน อย่างกรณีเผาโรงเรียน ๓๖ แห่ง ผู้ถูกจับกุมก็เป็นเพียงแพะรับบาปเท่านั้น
          หากรัฐาลไม่ใส่ใจแก้ปัญหาที่แท้จริง กลัวว่าพี่น้องชาวมุสลิมเลิกคาดหวังใด ๆ กับรัฐบาล เพราะเวลานี้กระแสโลกมุสลิม กระตุ้นให้คนมุสลิมลุกขึ้นมาต่อสู้ และช่วยเหลือตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นที่ปาเลสไตน์ หรือมินดาเนา ซึ่งกระแสโลกที่เกิดขึ้น จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในพื้นที่มุสลิมในภาคใต้ของไทยด้วย (ผู้จัดการรายวัน ๒๙ มี.ค.๔๕)
          ๓.๗ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ รองเลขาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มีเหตุผล ๒ ประการที่รัฐบาลต้องเข้าใจ คือ ยอมรับว่า พื้นที่ ๕ จังหวัดภาคใต้ เป็นพื้นที่พิเศษ มีปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ ที่สำคัญ รัฐบาลชุดนี้ได้ทำลายโครงสร้างสำคัญของการแก้ปัญหา นั่นคือ การยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
          "ปัญหานี้ ไม่ใช่เด็กติดยา เด็กเกเร แต่เข้าสู่ปัญหาที่รัฐบาลต้องยอมรับว่า มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่จริง เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นเสมอ แต่ระยะหลังพัฒนาไป เมื่อมีการก่อการร้ายสากลเกิดขึ้น เหตุการณ์ในไทยก็เกิดขึ้นตามมาเป็นระยะอีกด้วย ถ้ารัฐบาลยอมรับมีปัญหานี้ รัฐบาลต้องแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศให้ได้..." (ไทยโพสต์รายวัน ๔ พ.ย.๔๕)
          ๓.๘ คณะกรรมการอิสลามใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๕ ว่า
          "รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนร้ายมุ่งหวังสร้างสถานการณ์ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทย คณะกรรมการและผู้นำศาสนา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอประณามการกระทำครั้งนี้ ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และขอให้จับกุมคนร้ายมาลงโทษให้ได้ โดยเร็ว
          การก่อเหตุครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดความแตกแยกภายในชาติ มุ่งสร้างความหวาดระแวงระหว่างกลุ่มศาสนิก จึงขอให้พี่น้องชาวมุสลิม อย่าหลงกลต่อผู้ประสงค์ร้างต่อบ้านเมือง และพี่น้องมุสลิมใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะร่วมจัดกิจกรรมขอความสงบสุขแก่จังหวัดภาคใต้ และประเทศชาติโดยรวม" (มติชนรายวัน ๒๑ พ.ย.๔๕)
          ๓.๙ แถลงการณ์ของ "กลุ่มผู้นำศาสนาและผู้ประสานงานนักเรียน นิสิต นักศึกษามุสลิม ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้"

ประกาศเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ มีข้อความดังนี้

           ตามที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชนทั่วประเทศ สร้างความบอบช้ำแก่สังคม และเศรษฐกิจ ในพื้นที่อย่างรุนแรง ขณะที่รัฐบาลและเจ้าหน้า ที่ผู้รับผิดชอบกำลังร่วมกัน คลี่คลายสถานการณ์แล้วนั้น ผู้นำศาสนาและผู้ประสานงาน นักเรียน นิสิต นักศึกษามุสลิม ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตระหนักดีว่าความสงบสุข และสันติภาพจะเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างมั่นคง และถาวรไม่ได้ถ้าผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้อง ยังปฎิบัติหน้าที่ต่างคนต่างทำ ไม่เชื่อมประสานกัน และใช้เพียงปัญญาที่ขาดรากฐานทางศาสนา ดังนั้น เพื่อการมีส่วนร่วม จึงขอประกาศเจตนารมณ์ ดังนี้
               (๑) หลักธรรมคำสอนทางศาสนา จะต้องถูกนำมาใช้ในมิติของการแก้ปัญหา และพัฒนาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายของรัฐต้องสอดคล้องกับความต้องการที่อยู่บนพื้นฐานของหลักศรัทธา ความเชื่อ ภูมิปัญญา วิถีชีวิตชุมชน และให้ประชาชนมุสลิมได้ใช้โอกาสอย่างเสมอภาค
               (๒) ทุกคนจะต้องรวมตัวกัน และเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเชิงรุก ร่วมกับราชการ การเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาชนต่าง ๆ เป็นพหุภาคีอย่างต่อเนื่อง
               (๓) นำหลักการทางศาสนามาเป็นกรอบการพัฒนาและการทำงานแล้ว เราเชื่อว่าจะสามารถนำพาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสุข ไม่มีโจรก่อการร้าย และโจรในเครื่องแบบ ประชาชนปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ไม่มีความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน
               เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้า และขอความร่วมมือจากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดความสงบสุขอย่างแท้จริง และถาวรต่อไป (มติชนรายวัน ๒๑ พ.ย.๔๕)
๔. แนวทางแก้ปัญหา
            ๔.๑ นายถาวร เสนเนียม สส.สงขลา พรรค ปชป. กล่าวว่า ...ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามพูดดูถูกว่าเป็นโจรก่อการร้ายจนเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกคนที่มีการพูด จะเป็นการพูดเหยียดหยาม ก็จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นทุกครั้ง ซึ่งเป็นการพูดที่ไม่เหมาะสม น่าจะเป็นการเจรจามากกว่า จึงต้องมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาล คือ
               ๑. หากมีการจับคนร้าย ต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
               ๒. พยายามสร้างแนวร่วม เพื่อให้กลุ่มคนร้ายเข้าสู่การพัฒนาประเทศ เหมือนกับอดีตที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำ
               ๓. ให้การศึกษาภาษาไทยกับราษฎรไทยใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการสื่อความหมายและความเข้าใจ
               ๔. เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้สำเร็จโดยเร็ว ไม่ใช่แค่ให้เงินเพียงหมู่บ้านละ ๑ ล้านบาท แต่ต้องสร้างความเข้าใจในการดำเนินงาน เพราะการให้เงินจะเกิดเป็นหนี้สูญและเกิดความขัดแย้งในหมู่บ้าน (ผู้จัดการรายวัน ๒๕ พ.ย.๔๕)
            ๔.๒ นายเจะอามิง โต๊ะตาหยง อดีต สส.นราธิวาส เขียนบทความลงใน นสพ.มติชน เสนอแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ว่า การแก้ปัญหาภาคใต้ต้องแยกกลุ่มประชาชนผู้บริสุทธิ์ ออกจากปัญหากลุ่มโจรก่อการร้าย และความขัดแย้งของบุคลากรของรัฐให้ชัดเจน แล้วแก้กันให้เป็นกลุ่ม ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
            ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากี่รัฐบาล จะมีคนออกมาแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ นานา ทำเป็นเหมือนอัศวินม้าขาวในการแก้ไขปัญหา ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ ไม่รู้ข้อมูลที่เป็นจริง นำเสนอข้อมูลที่ผิด ๆ ต่อรัฐบาล นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจที่ผิดพลาดในเวลาต่อมา
            การแก้ไขปัญหาในภาคใต้มิได้ขึ้นอยู่กับองค์กรเพียงอย่างเดียว การยุบองค์กรไม่ว่าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือจะยุบหน่วยเฉพาะกิจพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ ๔๓ (พตท.๔๓) แล้วจะให้ตำรวจภูธรภาค ๙ รับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียว ควรต้องไตร่ตรองให้มากที่สุด จะเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างองค์กรขึ้นมาได้ในภายหลัง การแก้ปัญหาไม่ควรยุบหน่วยงานใด ทั้งนั้น เพียงแต่ให้ปรับภายในองค์กรให้กะทัดรัดลง มีความคล่องตัวในการบริหารและจัดการที่เหมาะสมกว่า (มติชนรายวัน ๓ เม.ย.๔๕)
            ๔.๓ นายมนตรี สมันตรัฐ รองประธานหอการค้า จ.สตูล กล่าวว่า การยุบ ศอ.บต.เป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลพิจารณาแล้ว เพราะคิดว่าไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจน เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัด มาจากส่วนกลาง ไม่สามารถตัดสินใจ จึงควรให้มีการเลือกตั้งผู้ว่า ฯ ใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่ติดกับประเทศมาเลเซียเชื่อว่าจะสามารถประสานงานได้ โดยไม่ต้องรอส่วนกลางหรือคำสั่ง นอกจากนั้นยังควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือ ออกกฎหมายห้ามประชาชนมีอาวุธไว้ครอบครอง เพราะทำให้เกิดกลุ่มมาเฟียและผู้มีอิทธิพล หากใครมีอาวุธควรลงโทษเด็ดขาดด้วยการประหารเหมือนมาเลเซีย ซึ่งใครมีกระสุนปืนเพียงนัดเดียว ก็ติดคุกถึง ๑๐ ปี แม้แต่เจ้าหน้าที่เองก็ห้ามพกขณะอยู่นอกเครื่องแบบ (มติชน ๓ พ.ค.๔๕)
๕. แนวคิด รมว.มท.ในการแก้ปัญหาภาคใต้
           "ในฐานะที่ผมเป็นคนมุสลิมและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ถ้าไม่สามารถระงับเหตุการณ์หรือป้องกันได้ ถือว่าผมไม่มีความสามารถ ไม่ควรเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย..."
           เริ่มจากการวางเดิมพันราคาแพงด้วยตำแหน่ง รมว.มหาดไทยเช่นนี้แล้ว นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จึงต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อดับไฟใต้ให้สำเร็จ มิฉะนั้นจะถูกฝ่ายค้านตามทวงเช้าทวงเย็น ถามหาสัญญาสุภาพบุรุษ จนแทบไม่ได้กินได้นอน (เดลินิวส์รายวัน ๖ พ.ย.๔๕)
           กลวิธีดับไฟใต้ประการหนึ่งที่นายวันนอร์ประกาศต่อสาธารณชนคือการจัดกลุ่ม ๓ ประสาน ข้าราชการ - ประชาชน และฝ่ายการเมือง เพื่อให้ได้ข้อมูลการก่อการร้ายและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวางระเบิด พร้อมกันนั้นได้จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้นทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยราชการอื่น เพื่อให้เกิดเอกภาพในการทำงาน
           แต่ทว่า ...การตั้งศูนย์ดำรงธรรมอาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะภารกิจของศูนย์ดำรงธรรมมีลักษณะคล้าย ๆ กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เพิ่งถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยุบไปเมื่อ ๑ พ.ค.๒๕๔๕