การบิดเบือนคำสอนศาสนาอิสลามในเอกสาร
เบอร์ญีฮาด ดิ ปัตตานี (การต่อสู้ที่ปัตตานี)

(เก็บความจาก คำชี้แจง ของสำนักจุฬาราชมนตรี)

คำนำ
            เอกสารชื่อ การต่อสู้ที่ปัตตานี ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่มีลักษณะบิดเบือนคำสอนของศาสนาอิสลาม และมีข้อความชักจูงให้ใช้ความรุนแรง ทางราชการได้เสนอเรื่องมายังสำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อให้ทำการศึกษาหาทางแก้ไข และชี้แจงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับทราบ
            ทางสำนักจุฬาราชมนตรี หวังว่าเอกสารชี้แจงนี้ จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนคนไทยโดยทั่วไป เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีแก่คำสอนของอิสลาม และภาพลักษณ์ของชาวไทยมุสลิม และอยากให้ประชาชนชาวไทย ตระหนักอยู่เสมอว่าทุกคนคือ คนไทย ที่จะต้องรักและหวงแหนประเทศชาติบ้านเมือง การดำเนินการใด ๆ ที่ส่อไปในทางการใช้ความรุนแรง ขอให้ทุกฝ่ายได้คำนึงว่า สิ่งนั้นไม่ใช่วิถีทางของอิสลาม และการใช้ความรุนแรง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สันติวิธีเท่านั้น ที่จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน บนความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม เท่านั้นจึงจะสงบสุขได้
บทนำ
            ตามที่เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.๒๕๔๗ และดำเนินมาตามลำดับจนนำไปสู่การสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก เป็นโศกนาฎกรรมอันหน้าเศร้าสลดอย่างยิ่ง มีผู้ไม่หวังดี ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในชาติ โดยฝ่ายหนึ่งคือ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่ได้นำหลักการศาสนามาอ้างใช้ในวิถีทางที่ไม่ถูกต้อง ใช้วิถีทางแห่งความรุนแรง สร้างสถานการณ์ความไม่สงบ จนนำไปสู่การเสียชีวิต และทรัพย์สินของชาติ การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดผลเสียหายอย่างยิ่ง ต่อภาพลักษณ์ของศาสนาอิสลาม ซึ่งให้ความสำคัญต่อวิถีทางแห่งสันติ การอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร ระหว่างมนุษย์ทุกหมู่เหล่าดังคัมภีร์กุรอาน บัญญัติไว้ ความว่า
            "เราได้สร้างมนุษย์จากชายหนึ่งและหญิงหนึ่ง และจากทั้งสองนั้นได้มีมนุษย์เป็นชาติพันธุ์เผ่าต่าง ๆ มากมาย เพื่อให้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน " (๔๙:๑๓)
            สำนักจุฬาราชมนตรี จึงขอให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่าตกหลุมพรางของผู้ไม่หวังดี ที่จะสร้างสถานการณ์ที่วุ่นวายขึ้น เพื่อเป้าหมายบางอย่าง อันไม่พึงประสงค์
            ในส่วนของผู้หลงผิดนั้น ขอให้ทำความเข้าใจหลักคำสอนของศาสนาอิสลามให้ถูกต้อง ว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ให้ความเคารพต่อสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ยอมรับในความแตกต่าง และการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและสันติ การนำบทบัญญัติในคัมภีร์กุรอานมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อวัตถุประสงค์อันมิชอบนั้น เป็นข้อห้ามสำคัญในศาสนาอิสลาม
            ตามหลักคำสอนที่ปรากฎในคัมภีร์กุรอาน วจนะ (หะดิษ) และแบบฉบับ (ซุนนะห์) ของท่านนบีมุฮัมมัด ตลอดจนทัศนะต่าง ๆ ของบรรดาปราชญ์มุสลิม สรุปได้ว่าการกระทำที่เป็นการทำลายชีวิต และทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ตลอดจนทำลายสถานที่ราชการ และสถานที่สาธารณประโยชน์นั้น จะถือว่าเป็นการต่อสู้ในหนทางของศาสนาหรือการญีฮาดไม่ได้ ส่วนผู้ที่เสียชีวิตไปด้วยการกระทำแห่งความหลงผิด และงมงายในกรณีดังกล่าวจะถือว่า เป็นผู้เสียชีวิตในหนทางของศาสนา (ชะฮีด) ย่อมไม่ได้ การกระทำดังกล่าวเป็นการผิดต่อบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม
            สำนักจุฬาราชมนตรี ขอให้รัฐใช้ความเมตตาธรรม เข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม ใช้ความเป็นมิตรเข้าไปแก้ปัญหา และเปิดโอกาสให้ความคิดที่หลากหลายที่ได้เสนอ เพื่อที่จะสามารถพบแนวทางใหม่ ๆ สำหรับยุติปัญหา หรือช่วยทำให้ปัญหาไม่ขยายตัวไปมากกว่านี้ และขอให้ยึดแนวพระบรมราโชบาย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ให้คำนึงถึง "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและให้ถือว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาภายใน สามารถแก้ไขกันเองได้ ไม่ควรให้คนภายนอกหรือต่างชาติเข้ามาชี้นำ หรือสนับสนุนส่งเสริม ไม่ว่าในรูปแบบใด และฝ่ายใดก็ตาม ขอให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง ไม่สร้างความเข้าใจผิดขึ้นระหว่างชนในชาติ โดยนำเอาอคติทางศาสนา ชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม มาเป็นพื้นฐาน ในการปลุกกระแสความรุนแแรงให้เกิดขึ้น ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในเวลานี้ ให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตน สำนักจุฬาราชมนตรี พร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กร ภาครัฐ และเอกชน ในการส่งเสริมให้เกิดสันติสุขให้เกิดขึ้นในชาติ
            เหตุการณ์ในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ ทางราชการได้พบเอกาสารชิ้นหนึ่ง เขียนด้วยลายมือเป็นภาษามลายู จำนวน ๖๕ หน้า มีชื่อว่า เบอร์ญีฮาด ดิ ปัตตานี แปลว่า การต่อสู้ (ในทางศาสนา) ที่ปัตตานี เอกสารดังกล่าว สะท้อนให้เห็นแนวคิดของบุคคลกลุ่มนี้ อย่างชัดเจน ทั้งในแง่ของการนำคำสอนเรื่อง ญีฮาด ในอิสลามมาสร้างความชอบธรรม ให้กับการก่อความไม่สงบขึ้น แนวคิดในการปลุกความรู้สึกทางประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม เพื่อสร้างความชอบธรรม ในการดำเนินการของคนกลุ่มนี้
            ผู้เขียนเอกสารชิ้นนี้ ขาดความเข้าใจในหลักคำสอนของอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องญีฮาด ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการอ้างบทบัญญัติ (อายะฮ์) ต่าง ๆ ในคัมภีร์กุรอานมุ่งปลุกความรู้สึกเรื่องชาติพันธุ์มลายู อย่างผิด ๆ โดยไม่ได้คำนึงว่า คนเชื้อสายมลายูคือ คนไทยมีถิ่นที่อยู่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศ เหมือนคนไทยเชื้อสายอื่น ๆ  ขัดกับหลักคำสอนของอิสลามที่เห็นว่า การนับถือศาสนานั้นเป็นเรื่องสูงส่ง เหนือกว่าความผูกพันในเรื่องชาติพันธุ์ ทัศนของอิสลามนั้น เห็นว่าคนที่เป็นมุสลิมนั้น ต้องก้าวล่วงพรมแดนทางชาติพันธุ์เพราะทุกคนเป็นพี่น้องกัน ไม่ว่าเขาจะมีเชื้อพันธุ์ใด
            ในการเรียบเรียงเอกสาร การต่อสู้ที่ปัตตานี ผู้เขียนได้อ้างบทบัญญัติจากคัมภีร์กุรอาน ถึง ๖๑ บทบัญญัติ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำสงคราม ในสมัยท่านนบีมุฮัมมัด มีการยกข้อความมาเขียนมีทั้งเขียนผิด เพิ่มข้อความอธิบายความต่าง ๆ บิดเบือนคลาดเคลื่อนไปจากแนวคิดของบรรดาปราชญ์ของอิสลาม ได้สร้างภาพลักษณ์เชิงลบ ให้คนทั่วไปเข้าใจว่าอิสลามมีคำสอนที่รุนแรง ไร้เหตุผล ขาดเมตตาธรรม
            ผู้เขียนใช้คำว่า ญีฮาด โดยอธิบายว่า การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน อันหมายถึงพื้นที่ในจังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดสงขลา เป็นการต่อสู้ในหนทางของศาสนา (ญีฮาด) การกระทำดังกล่าวขัดต่อคำสอนของอิสลาม มีบทบัญญัติจากคัมภีร์กุรอาน และหะดิษจำนวนมาก ได้กล่าวตำหนิ หรือประณามการกระทำในทำนองนี้
            แนวคิดอีกประการหนึ่งในเอกสารนี้คือ การพยายามแบ่งคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกเป็นสามกลุ่มกลุ่มแรกคือ ผู้ที่เห็นด้วยและว่าการต่อสู้ตามแนวทางดังกล่าว เพื่อแบ่งแยกดินแดนถือว่าเป็นมุสลิมที่ถูกต้อง เป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง (มุอ์มีน) และถ้าหากเขาได้ร่วมต่อสู้และตายไปพวกเขาคือ "ชะฮีด" กลุ่มที่สองคือ บรรดามุสลิมผู้ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพวกเขา เขาเรียกมุสลิมกลุ่มนี้ว่า คนทรยศกลับกลอก (มุนาฟิก) แม้คนกลุ่มนี้จะปฏิบัติศาสนาอย่างเคร่งครัด ดำเนินชีวิตอยู่ในหลักคำสอนของอิสลามอย่างแท้จริง คนกลุ่มที่สามคือ ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม เขาเรียกว่า คนนอกศาสนา (กาฬิร หรือมุชริก) ดังนั้น หน้าที่ของคนกลุ่มแรกคือ ขจัดคนกลุ่มที่สอง และสามให้สิ้นซาก ใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วย และขัดขวางพวกเขา เป็นคนทรยศให้ฆ่าเสียซึ่งอิสลาม (ตามทัศนะของคนกลุ่มนี้) อนุญาตให้ฆ่าได้คนกลุ่มนี้ จึงทำตนเสมอพระเจ้า การกระทำที่ป่าเถื่อนโหดร้ายจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะคนกลุ่มนี้เข้าใจว่า เป็นการกระทำที่ถูกต้อง ตามบทบัญญัติอิสลาม นับว่าเป็นการกระทำที่ทำลายศาสนาอิสลาม และภาพลักษณ์ของมุสลิมทั่วโลก