| หน้าแรก | ชาติ | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |


อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย  (ด้านน้ำตกแม่สา)


            อุทยาน ฯ มีตัวน้ำตกแม่สาเป็นแกนกลาง เมื่อเสียค่าผ่านทางเข้าไปในเขตอุทยาน ฯ ด้วยอัตราราคามาตรฐานของอุทยานแห่งชาติ คือคนละ ๒๐ บาท และรถยนต์นั่งคันละ ๓๐ บาทแล้ว ก็นำรถไปจอด ณ ลานจอดรถซึ่งอยู่ไม่ห่างจากทางเข้านัก บริเวณรอบ ๆ ลานจอดรถมีร้านอาหาร และเครื่องดื่มตั้งอยู่เป็นจำนวนพอสมควร เข้าไปใช้บริการได้โดยง่าย ความจริงมีถนนสำหรับให้รถขึ้นไปยังน้ำตกชั้นต้น ๆ แต่ ณ วันนี้ถนนกำลังปิดซ่อมจึงต้องใช้วิธีเดินขึ้นไป
            เดิมอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย ที่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ของป่าต่าง ๆ รวม ๑๔ ป่า ที่อยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีป่าดอยสุเทพเป็นหลัก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ขยายขอบเขตของอุทยานออกไป ครอบคลุมบริเวณน้ำตกแม่สา น้ำตกตาดหมอก - วังฮาง น้ำตกตาดหมอกฟ้า และพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารโดยรอบของน้ำตกทั้งสามแห่งดังกล่าว เป็นพื้นที่อีกประมาณ ๖๒,๕๐๐ ไร่ ทำให้น้ำตกแม่สาซึ่งเดิมอยู่นอกเขตอุทยาน ฯ เข้ามาอยู่ในเขตอุทยาน ฯ ตั้งแต่นั้นมา
            เมื่อพูดถึงอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย ทุกคนก็จะนึกถึงพื้นที่ของดอยสุเทพ - ดอยปุยเป็นหลัก และเส้นทางหลักที่เข้าสู่อุทยาน ฯ ก็จะเป็นเส้นทางจากอำเภอเมือง ฯ ไปตามถนนห้วยแก้ว แล้วขึ้นไปยังพระธาตุดอยสุเทพ แต่ทางเข้าน้ำตกแม่สา ต้องไปทางอำเภอแม่ริมดังกล่าวมาแล้วแต่ตอนต้น รวมทั้งน้ำตกตาดหมอก ก็ต้องเข้าทางเส้นทางอำเภอแม่ริม-สะเมิงเช่นกัน

            น้ำตกแม่สา  เป็นน้ำตกที่ชาวเชียงใหม่ และผู้ที่มาเที่ยวเชียงใหม่ รู้จักกันดีมาแต่เดิม เช่นเดียวกันกับน้ำตกห้วยแก้วที่ดอยสุเทพ ตัวน้ำตกตามหลักฐานที่ทางอุทยาน ฯ แสดงไว้มีอยู่ ๑๐ ชั้นด้วยกัน แต่ละชั้นอยู่ห่างกันประมาณ ๑๐๐ เมตร และมีชื่อทุกชั้น จำได้ว่าชั้นแรกชื่อ ผาลาด และชั้นสุดท้ายคือชั้นที่ ๑๐ ชื่อ ลานเท สำหรับชั้นที่ ๘ ชื่อ ผาเงิบ หลายคนคงคุ้นกับชื่อนี้ดี เพราะมีเพลงผาเงิบ พรรณาถึงความงามของน้ำตกแห่งนี้ ดังเนื้อเพลงที่มีว่า

" งาม  ผาเงิบสวยงาม     ได้ชมยิ่งงาม เมื่อน้ำไหลหลั่น
แท่นหินเป็นชั้น ผาเงิบ     เงิบงามหลายหลั่น แอ่งงามน้ำชันคล้ายกันทั่วไป
เพลิน  น้ำตกไหลมา     จากดอยสู่ผา จากผามาแอ่งใหญ่
เยือกเย็น เมื่อน้ำรินไหล     ไหลลงห้วยแก้วทางใต้ เมื่อน้ำไหลไปเย็นสบาย
หนุ่มสาวคราวพักผ่อน      พักร้อนให้ชื่นฉ่ำ พักด้วยน้ำชำระกาย
ชุ่มฉ่ำ มุดดำแหวกว่าย      หญิงชายแสนเพลินใจ
เย็น ธารน้ำไหลเย็น      เมื่อมองแลเห็นแอ่งน้ำที่กว้างใหญ่
โอ้น้ำที่เย็นใส ใสดังจิตชาวเชียงใหม่      โอบเอื้อนำใจหาใครเทียมเอย "

            เส้นทางไปสู่น้ำตกแม่สาชั้นต่าง ๆ ไปได้สะดวก ถ้าเดินขึ้นไปทางด้านขวามือ เมื่อมุ่งหน้าขึ้นไปทางต้นน้ำตก (ความจริงการเรียกฝั่งขวา และฝั่งซ้ายของลำน้ำจ ะต้องคิดตามทิศทางการไหลของน้ำ จากต้นน้ำไปยังปากน้ำ) แต่ทางด้านซ้ายเมื่อทวนทางน้ำขึ้นไปก็พอมีทางเดินขึ้นไปได้ตามโขดหิน บางตอนที่มีความชันมากทางอุทยาน ฯ ก็กำลังทำสะพานไม้มีขั้นบันไดให้ไต่สูงขึ้นไปได้สะดวก และมีลานพักเป็นระยะในจุดที่มีความงามจะได้หยุดชมวิวกัน ยิ่งเดินสูงขึ้นไปสู่ชั้นต้น ๆ ของน้ำตกผู้คนก็น้อยลงไปตามลำดับ และเหนือผาเงิบอันเป็นน้ำตกชั้นที่ ๘ ก็ไม่มีผู้คนเลย อาจเป็นเพราะไกลเกินไป หรือมิฉะนั้นก็เห็นว่าน้ำตกในชั้นต่าง ๆ ที่ผ่านมาก็สามารถลงเล่นน้ำได้อย่างพอเพียงอยู่แล้ว ตัวผาเงิบเป็นหน้าผาหินอยู่ทางด้านขวามือของทางขึ้น มีลักษณะชะโงกง้ำออกมาและมีขนาดกว้างใหญ่พอสมควร หันหน้าเข้าสู่ธารน้ำตก เป็นบริเวณที่ร่มรื่น มานั่งพักผ่อนแห่งหนึ่งของน้ำตกแม่สา น้ำตกแม่สาชั้นบนสุดคือชั้นที่ ๑๐ ที่มีชื่อว่า ลานเท มีลักษณะท้องน้ำที่เป็นหินค่อนข้างเรียบ ลาดเทลงไปเป็นทางยาว ถ้าเป็นหน้าน้ำคิดว่า น้ำคงไหลบ่าท่วมลานนี้เป็นแผ่นน้ำขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ พยายามเดินขึ้นไปตามลานเท เพื่อจะดูว่าน้ำตกแม่สามีจุดเริ่มต้นที่ตรงไหน แต่เวลาไม่อำนวย เนื่องจากไกลออกมาจากจุดเริ่มต้นมามากแล้ว และไม่มีผู้ใดตามขึ้นมาเลยจึงต้องกลับ ซึ่งเมื่อใช้เส้นทางที่ทางอุทยานทำไว้ก็สะดวกมาก
ค้นหาเวียงกุมกาม

            จากน้ำตกแม่สาคิดว่ายังเวลายังเหลืออีกพอสมควรก่อนค่ำมืด จึงมุ่งหน้ากลับไปตัวเมืองเชียงใหม่ แล้วมุ่งไปลำพูนโดยใช้เส้นทางสายเชียงใหม่ - ลำปาง ด้วยหวังว่าจะมีป้ายบอกทางไปเวียงกุมกาม แสดงไว้บนเส้นทางสายนี้ เนื่องจากทราบมาเลา ๆ ว่า เวียงกุมกามอยู่ระหว่างตัวเมืองลำพูน กับตัวเมืองเชียงใหม่ วิ่งไปจนถึงทางแยกขวาเข้าตัวเมืองลำพูน ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ก็ไม่พบป้ายแสดงทางไปเวียงกุมกาม จึงเลี้ยวเข้าเส้นทางสายเก่า ลำพูน - เชียงใหม่ มุ่งหน้ากลับตัวเมืองเชียงใหม่ โดยผ่านตัวอำเภอสารภี ถึงตัวอำเภอสารภีแล้วยังไม่พบวี่แววว่าเวียงกุมกามอยู่ที่ใดเลย ต้องแวะสถานีบริการน้ำมันถามคนที่นั่นเขาบอกว่ามาถูกทางแล้วให้เดินหน้าต่อไป พอถึงแยกข้างหน้าให้เลี้ยวซ้าย และเมื่อเจออีกแยกหนึ่งให้เลี้ยวขวา แล้วก็ตรงไปคงจะถึงเวียงกุมกาม แน่แต่ไม่ได้บอกว่าไกลเท่าใด และก็ไม่ได้ถามคิดว่าทำตามคำแนะนำนั้นแล้ว เมื่อเลี้ยวขวาที่แยกที่สองแล้ว อีกไม่ไกลคงได้พบเวียงกุมกามเป็นแน่ ยังนึกดีใจที่หยุดถามได้ทันเวลา เพราะถ้าถามช้าไปคงวิ่งเลยแยกดังกล่าว แล้วคงต้องย้อนกลับมาเป็นการเสียเวลาโดยใช่ที่ ช่างโชคดีจริง ๆ
            เมื่อเลี้ยวซ้ายแล้วเลี้ยวขวาตามคำแนะนำก็พบว่าเป็นเส้นทางที่ไม่เคยผ่านมาก่อนเลย เพราะเส้นทางในเชียงใหม่ และลำพูนเคยผ่านไปแล้วเป็นส่วนมาก เมื่อวิ่งไปสักพักใหญ่ ๆ ก็ไม่พบเวียงกุมกามดังที่คาดหวัง บอกให้ทุกคนในรถช่วยกันอ่านป้ายบอกทางทั้งซ้ายและขวาทุกป้าย อย่าให้ตกหล่นก็ไม่มีผู้ใดพบป้ายชี้ทางไปเวียงกุมกาม วิ่งไปอีกสักพักใหญ่ก็ไม่พบพานชักเอะใจว่า เราคงเลยมาแล้วเป็นแน่ถ้าไม่ถามใครอาจต้องขับรถย้อนกลับเป็นระยะทางไกล เวลาก็ไม่คอยท่าดวงอาทิตย์ต่ำลงไปทุกที จึงต้องหยุดถามชาวบ้านข้างทางนับเป็นการถามครั้งที่สอง ชาวบ้านผู้นั้นทำท่าครุ่นคิดเล็กน้อย แล้วบอกที่เดินทางมานั้นถูกทางแล้ว ให้มุ่งหน้าต่อไปหนทางยังอีกยาวไกล เมื่อไปถึงคลองชลประทานให้เลี้ยวขวา แล้ววิ่งไปตามถนนเลียบคลองไปเรื่อย ๆ ก็จะถึงเอง มาถึงคราวนี้ไม่ยอมเข้าใจเองแล้ว ใกล้จะถึงอย่างครั้งแรกจึงถามต่อไปว่าไปอีกไกลไหม ประมาณสักกี่กิโลเมตร ก็ได้รับคำตอบว่าประมาณ ๗ กิโลเมตร แล้วค่อยไปถามคนข้างหน้าอีกที ได้รับคำตอบนี้ชักเอะใจว่า เวียงกุมกามคงไปไม่ง่ายเสียแล้ว เพราะต้องไปถามกันอีกครั้งเมื่อถึงประมาณ ๗ กิโลเมตรจากที่นั้นแล้ว ขอบอกขอบใจผู้เอื้อเฟื้อ บอกทางแล้วก็ขับรถต่อไปหมายตามาตรวัดระยะทางของรถ เพื่อกำหนดระยะทางข้างหน้า วิ่งไปได้สักพักใหญ่ก็มีคนในรถบอกว่าเห็นป้ายแล้ว ถามว่าป้ายอะไร ตอบว่าป้ายทางไปเมืองกุมกาม ถามว่าชี้ไปทางไหน ตอบว่าชี้ไปข้างหน้า ดีใจอีกบอกว่าเรามาถูกทางแล้วขับรถมุ่งหน้าต่อไป พอถึงทางแยกถามว่าจะไปทางไหนบอกว่าตรงไปก็แล้วกัน เพราะคลองชลประทานที่ขนานกับถนนมาในตอนแรก ตอนนี้ไม่ทราบว่าหายไปแต่เมื่อใด เมื่อข้ามทางแยกแล้วอีกพักใหญ่ มีผู้พบลูกศรชี้ไปเวียงกุมกามอีกเป็นระยะ ๆ แต่ละจุดอยู่ห่างกันมาก ทำให้คิดว่าเรามีสิทธิ์ไปผิดทางได้ทุกครั้งที่รถผ่านทางแยก
            ในที่สุดเราก็มาบรรจบถนนสายใหญ่ตัดขวางหน้า โดยที่ยังไม่พบเวียงกุมกามเลย และไม่มีป้ายบอกทางใด ๆ ทั้งสิ้นเลยต้องหยุดถามชาวบ้านข้างทางอีกเป็นครั้งที่สาม ได้ความว่า เวียงกุมกามอยู่ฝั่งตรงข้ามของถนนที่ขวางหน้านั่นเอง แต่เนื่องจากถนนสายนี้มีเกาะอยู่กลางถนน ดังนั้นจึงต้องเลี้ยวซ้ายไปก่อนแล้วไปกลับรถใต้สพาน ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณเกือบหนึ่งกิโลเมตร แล้วย้อนกลับมาทางเดิมก็ถึง พิพิธภัณฑ์และศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนใหญ่สายนั้นนั่นเอง และถนนสายนี้ก็คือ ถนนสายใหม่จากเชียงใหม่ไปอำเภอหางดง หรือถนนวงแหวนรอบกลางของตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มต้นจาก ถนนซุปเปอร์ไฮย์เวย์ หรือถนนวงแหวนรอบในของเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเส้นเดียวกันกับทางหลวงสายเชียงใหม่ - ลำปาง ถนนวงแหวนรอบกลางนี้จะตัดผ่านถนนลำพูน - เชียงใหม่สายเดิม ซึ่งเป็นถนนขนาดสองช่องทางจราจร สองข้างทางมีต้นยางขนาดใหญ่ปลูกอยู่สองข้างทางตลอดความยาวของถนน ถนนสายนี้จะผ่านเวียงกุมกามทางด้านทิศตะวันออกที่วัดกู่ขาว ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายนี้ทางด้านซ้าย เมื่อมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ และอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่เพียง ๕ กิโลเมตรเท่านั้น

            ดังนั้นถ้าไม่ได้หยุดถามทางในครั้งแรกทำให้เราซึ่งอยู่บนถนน ลำพูน - เชียงใหม่อยู่แล้วและไปถูกทางแล้ว ก็คงจะไปถึงเวียงกุมกามได้โดยตรง ณ ทางเข้าเวียงกุมกามที่วัดกู่ขาวนี่เอง แต่เราก็จะไม่พบพิพิธภัณฑ์และศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม เราก็จะไม่รู้ว่าเวียงกุมกามมีลักษณะเป็นอย่างไร เพราะเวียงกุมกามในปัจจุบันนั้น เมื่อเข้าไปแล้วดูไม่ออกว่าเป็นเวียงกุมกามนครโบราณใต้พิภพแต่อย่างใด เนื่องจากมีบ้านคนตั้งอยู่เต็มไปหมดทั้งพื้นที่ มีโบราณสถานที่ขุดแล้ว และที่กำลังขุดแต่งกระจายอยู่ห่าง ๆ ถ้าไม่มีแผนที่ก็ต้องเดาสุ่มวนเวียนอยู่ในบริเวณนั้น พบบ้างไม่พบบ้างตามยถากรรมตลอดค่ำวันนั้นเอง
            สรุปแล้วถ้าได้ข้อยุติว่าเราเดินทางเวียงกุมกามครั้งนี้ถูกทางอย่างที่สุดแล้ว

            ไปถึงพิพิธภัณฑ์ และศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกามเอาเมื่อตอนดวงตะวันรอนมากแล้ว สำนักงานปิดทำการแล้ว แต่ประตูใหญ่ยังเปิดอยู่หนึ่งบาน นำรถเข้าไปจอดที่ลานจอดรถหน้าสำนักงาน ความรู้สึกที่ว่ามาพบเวียงกุมกามแล้ว ทำให้ความเหนื่อยที่ขับรถค้นหาเวียงกุมกามเกือบ ๕๐ กิโลเมตร หายไปเป็นปลิดทิ้ง ยิ่งไปกว่านั้นพอดีมีเจ้าหน้าที่เหลืออยู่หนึ่งท่านกำลังจะกลับบ้านอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่สตรีท่านนี้ได้ให้ความเอื้อเฟื้อเป็นอย่างดี ด้วยการเอาเอกสารเกี่ยวกับเวียงกุมกามมาให้ เท่านั้นยังไม่พอ ยังขวนขวายไปตามเจ้าหน้าที่ผู้ถือกุญแจ ที่ทำการมาเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งปกติจะเปิดทุกวันตั้งแต่ ๐๘.๐๐ น. และปิดเวลา ๑๗.๐๐ น. แต่คณะของเราไปถึงหลังเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทั้งสองท่านยังได้เอื้อเฟื้อบรรยาย และตอบคำถามต่าง ๆ ของคณะที่ส่งออกไปราวกับยิงปืนกล ด้วยความกระหายใคร่รู้เรื่องราวของนครใต้พิภพแห่งนี้ จนเป็นที่จุใจ จึงใคร่ขอขอบพระคุณเจ้าหน้าที่ทั้งสองท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยความประทับใจ
            เมื่อชมและฟังคำอธิบายเสร็จก็กลับออกมา เพื่อจะเข้าไปชมเวียงกุมกามในคืนวันนี้อย่างฉาบฉวยก่อน ในขั้นต้นเนื่องจากกระหายใคร่เห็น ประกอบกับดวงจันทร์เกือบเต็มดวงของคืนวันขึ้น ๑๔ ค่ำ บนท้องฟ้าสีครามที่ปราศจากเมฆหมอกส่องสว่างกระจ่างตา จึงคิดว่าคงจะได้เห็นเวียงกุมกามในยามนี้ ซึ่งคงจะเป็นทัศนียภาพที่ติดตาตรึงใจมิใช่น้อย เนื่องจากจินตนาการไปว่าเวียงกุมกามคงมีสภาพเหมือนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ศรีเทพ อยุธยา ฯลฯ ที่เคยไปเที่ยวชมมาแล้ว
            เมื่อสอบถามเส้นทางจากเจ้าหน้าที่ ประกอบกับแผนที่สังเขปเวียงกุมกามได้รับมาแล้ว คณะของเราก็ออกเดินทางทันทีโดยออกจากสำนักงาน ฯ แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนวงแหวนรอบกลางดังกล่าวมาแล้วแต่ต้น เมื่อไปได้ประมาณ ๑๐๐ เมตร ก็มีทางเลี้ยวเข้ามีเวียงกุมกาม มีป้ายปักไว้ที่ปากทางเข้า เส้นทางที่เข้าไปเป็นถนนแคบ ๆ รถเล็กพอสวนกันได้สะดวก เมื่อไปถึงทางสามแยกแรก ก็มีลูกศรชี้ทางไปเวียงกุมกามให้เลี้ยวไปทางขวามือ ก็ขับรถไปตามทางนั้น ผ่านบ้านผู้คนสองข้างทางที่มีอยู่หนาแน่น แทบจะหาที่ว่างไม่ได้ เมื่อถึงแยกต่อ ๆ ไป ก็ไม่พบป้ายอะไรอีกเลย ใช้วิธีเลี้ยวซ้ายเมื่อถึงทางแยกไปเรื่อย ๆ เพราะทราบดีว่าถ้าขืนเลี้ยวขวาก็จะออกถนนใหญ่ที่เราเข้ามา เพราะเราได้เลี้ยวขวาในสามแยกแรกแล้ว ขับรถไปด้วยอาการดังกล่าวก็ไม่พบเมืองเก่า พบแต่บ้านคนทั้งสองข้างทางเช่นที่กล่าวมาแล้ว ขับไปพักใหญ่ก็ทะลุออกถนนใหญ่ บริเวณใกล้เคียงกับพิพิธภัณฑ์ และศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกามนั่นเอง สรุปแล้ววันนี้ยังไม่เห็นว่าเวียงกุมกามนั้นเป็นอย่างไร จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าให้กลับที่พักกันก่อน พรุ่งนี้ชมเวียงกุมกามกันใหม่
ชมริมฝั่งแม่ปิง

            ออกเดินทางกลับตัวเมืองเชียงใหม่ โดยใช้เส้นทางสายวงแหวนรอบกลาง มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกผ่านถนนสายเชียงใหม่ - ลำพูน ด้วยการลอดผ่านไม่ใช่ตัดผ่านหรือข้ามผ่าน เนื่องจากถนนวงแหวนรอบกลางสายนี้เป็นถนนสร้างใหม่ เพื่อลดปัญหาการจราจรในช่วงที่ตัดผ่านถนนสายเชียงใหม่ - ลำพูนจึงลดระดับต่ำลงไป แล้วให้ถนนสายเชียงใหม่ - ลำพูน ข้ามไปด้านบน จากนั้นถนนสายนี้จะไปตัดกับถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง จึงไปเชื่อมต่อกับถนนซุปเปอร์ไฮเวย์สายแรกของเชียงใหม่ ก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนดังกล่าว รถวิ่งผ่านทางแยกขวาไปบ่อสร้าง และสันกำแพง ผ่านทางแยกขวาไปดอยสะเก็ด และสันทราย ผ่านทางแยกขวาไปแม่โจ้ และอำเภอพร้าว จนมาถึงเชิงสะพานข้ามแม่น้ำปิง ก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนฟ้าฮ่าม ซึ่งทอดขนานกับลำแม่ปิง ผ่านวัดฟ้าฮ่าม จนตัดผ่านถนนรัตนโกสินทร์ที่เชิงสะพานพระราม ๙ แล้วเข้าสู่ที่พักริมปิง จากนั้นจึงออกไปรับประทานอาหารเย็นที่สวนอาหารริมปิง บริเวณฟ้าฮ่าม ซึ่งมีอยู่มากมายหลายร้าน มองเห็นวิวแม่น้ำปิงยามราตรีได้เต็มตา ในระหว่างที่รออาหารอยู่ ก็ลงไปเดินชมแนวริมฝั่งแม่ปิง จากเชิงสะพานพระราม ๙ เลียบแม่น้ำปิงขึ้นไปทางเหนือจนถึงวัดฟ้าฮ่าม ระยะทางประมาณเกือบหนึ่งกิโลเมตร ทางการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำโครงการบูรณะพัฒนาริมฝั่งแม่ปิง บริเวณที่ผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๔ โดยทำสร้างเขื่อนคอนกรีตตามแนวริมฝั่งแม่น้ำปิง เพื่อป้องกันการพังทะลายของตลิ่งด้านบนเขื่อน ซึ่งจะสูงเสมอพื้นดินริมตลิ่งจะปูคอนกรีตบล๊อกกว้างประมาณ ๑ - ๒ เมตร เป็นทางเดินเท้าตลอดแนว มีม้านั่งคอนกรีตตั้งไว้เป็นระยะ ๆ มีโคมไฟส่องสว่างเป็นระยะตลอดแนว และมีบันไดคอนกรีตประมาณ ๗ - ๘ ขั้น จากระดับทางเดินลงไปยังท้องน้ำกว้าง ประมาณ ๕ เมตร แต่ละบันไดอยู่ห่างกันประมาณ ๓๐ เมตร ในเทศกาลลอยกระทงน้ำปิงเปี่ยมฝั่ง ก็จะใช้บริเวณดังกล่าวในการลอยกระทงได้เป็นอย่างดี ลึกเข้าไปจากแนวทางเท้าเป็นที่ว่างสาธารณะริมฝั่งแม่ปิง ซึ่งเดิมมีการใช้ประโยชน์จากผู้ที่มีที่ดินอยู่ริมปิง ทั้งที่เป็นบ้านอยู่อาศัย และที่ให้เช่าเป็นร้านอาหารจนหาที่ว่างไม่ได้ แต่จากการดำเนินการของทางการเชียงใหม่ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ได้กันที่ดังกล่าวให้เป็นที่สาธารณะดังเดิม และพัฒนาให้เป็นที่ว่างเพื่อใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ บางจุดก็คงสภาพที่เจ้าของบ้าน และบรรดาร้านอาหารได้พัฒนาไว้แต่เดิมและหลายจุดการกันที่สาธารณะริมปิงก็ยังไม่สมบูรณ์ จึงยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยตลอด แต่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ จากการสังเกตดูในรอบสองปีที่ผ่านมา เพราะทุกครั้งที่มาเชียงใหม่จะต้องค้าง ณ ที่พักริมปิงอย่างน้อยหนึ่งคืน และออกมาเดินชมแนวดังกล่าวทุกครั้ง ด้วยความชื่นชมในผลงานชิ้นนี้
            เคยเห็นริมฝั่งแม่น้ำเซน ของฝรั่งเศสตอนที่ไหลผ่านตัวเมืองปารีส แม่น้ำเทมส์ของอังกฤษตอนที่ไหลผ่านตัวเมืองลอนดอน แม่น้ำมอสโคว์ตอนที่ไหลผ่านตัวเมืองมอสโคว์ แม่น้ำเนวา ตอนที่ไหลผ่านตัวเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และแม่น้ำอื่น ๆ อีกหลายสายช่วงที่ผ่านตัวเมืองใหญ่ ๆ จะมีการทำตลิ่งริมฝั่งน้ำไว้อย่างสวยงามเป็นที่เจริญตาเจริญใจ อยากให้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ไหลผ่านตัวเมืองเก่าของกรุงรัตนโกสินทร์ของเรา ในขั้นต้นเอาเพียงช่วงตั้งแต่ป้อมพระสุเมร ที่บางลำภู เลียบมาตามถนนพระอาทิตย์ ผ่านโรงละครแห่งชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ท่าราชวรดิษฐ ท่าเตียน ไปจนถึงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฯ ถ้าทำได้เพียงเท่านี้ก่อนในขั้นต้นก็จะเป็นสง่าราศรีแก่กรุงเทพมหานครเป็นยิ่งนัก จะเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทย และเทศได้อย่างวิเศษ เนื่องจากแนวดังกล่าว เป็นสถานที่สำคัญของของชาติ มีทั้งวังหน้า วังหลวง และวัดโพธิ เมื่อมองไปจากฝั่งหรือมองขึ้นมาจากแม่น้ำจะงดงามเพียงใด ท่านผู้เคยผ่านบริเวณนี้คงจะจินตนาการได้ คิดว่าคณะกรรมการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์น่าจะมีโครงการนี้อยู่แล้ว แต่ยังมีข้อติดขัดอยู่นานัปการ มีส่วนที่ทำได้สำเร็จเป็นผลงานชิ้นยอดเยี่ยมไปแล้ว จุดหนึ่งคือการพัฒนาบริเวณป้อมพระสุเมรุ ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ รุ่นราวคราวเดียวกันกับโครงการจัดทำหอมรดกไทย
            ถ้าเปรียบเทียบความยากง่าย และอุปสรรคต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกันโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่ปิงจะทำได้ง่ายกว่า แต่ผลสำเร็จอยู่ที่ว่าให้เริ่มต้น ณ บัดนี้ แล้วทำอะไรได้ให้ทำไปก่อน ไม่ต้องรอให้พร้อมทั้งหมดแล้ว จึงเริ่มทำโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่ปิง เท่าที่สังเกตดูความก้าวหน้าตามลำดับ ก็ดำเนินการมาได้ด้วยวิธีการดังกล่าวคือ ทำไปในส่วนที่จัดการได้ ส่วนที่ยังจัดการไม่ได้ก็เว้นไว้ก่อน ปัจจุบันพบว่าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่ปิงทางฝั่งซ้ายคือ ด้านที่อยู่ตรงข้ามกับตัวเมืองพัฒนาไปได้มากกว่าทางฝั่งขวา ซึ่งอยู่ทางด้านตัวเมือง แต่อุปสรรคก็คงยังมีอยู่ เพราะเมื่อทำขึ้นไปทางด้านเหนือเมื่อเลยวัดฟ้าฮ่ามไปเล็กน้อยก็ยังหยุดชะงักอยู่ และทางด้านทางใต้เมื่อเลยสะพานพระรามเก้าไปประมาณร้อยเมตร ก็ยังชะงักอยู่เช่นกัน
            ชมฝั่งแม่ปิงเสร็จก็พอดีอาหารพร้อม รับประทานแล้วกลับไปพักผ่อน ณ ที่พักริมปิง ซึ่งได้มีการพัฒนาตลิ่งได้เรียบร้อยสวยงามลงไปเดินชมทัศนียภาพตัวเมืองเชียงใหม่ จากฝั่งซ้ายแม่ปิงด้วยความประทับใจ

| หน้าแรก | ชาติ | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |