| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

           วัดเกาะ  อยู่ในเขตตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง ฯ ลักษณะที่ตั้งดั้งเดิมมีแม่น้ำท่าจีนล้อมรอบ ต่อมาแม่น้ำเปลี่ยนเส้นทาง ทำให้บริเวณดังกล่าวตื้นเขินเป็นที่ราบ
           จากคำบอกเล่าของเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันว่า วัดเกาะสร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๒๔๗ สันนิษฐานว่า ชาวจีนสร้างเนื่องจากบริเวณวัดส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวจีน ต่อมาพวกมอญอพยพหนีสงครามจากพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้ช่วยกันบูรณะซอมแซมเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน
               - อุโบสถ (หลังเก่า)  สร้างสมัยพระอธิการสอนเจ้าอาวาสรูปที่เจ็ด ลักษณะของโบสถ์ก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาลดสองชั้น ชั้นละสองแถว ช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ เป็นไม้แกะสลักประดับประจก หน้าบันทำเป็นรูปเทพพนมประดับตกแต่งลายก้านขด ด้านล่างมีลายดอกไม้ มีสาหร่ายและรวงผึ้งด้านล่าง เสารองรับหลังคาเป็นเสาก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ หัวเสามีดอกบัวปูนปั้นทาสี มีระเบียงเดินได้รอบอุโบสถ ผนังก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานบัว ด้านหน้ามีประตูเข้าออกสองบาน มีหน้าต่างด้านละห้าช่อง บานประตูหน้าต่างทำเป็นบานเรียบ
               - ใบเสมาและซุ้มเสมา  ซุ้มเสมาก่ออิฐถือปูนทรงมณฑปสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานบัว ส่วนยอดเป็นชุดบัวกลุ่มเถา ซุ้มเสมารองรับเป็นฐานสี่เหลี่ยมรองรับดอกบัว ใบเสมาทำจากหินแกรนิต
               - เจดีย์ทรงระฆัง  ตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถ มีอยู่สององค์ ตามประวัติกล่าวว่าสร้างสมัยพระอธิการเติม เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยม มีระเบียงล้อมรอบ ประดับกระเบื้องเคลือบรูปหกเหลี่ยมแบบจีน ฐานหน้ากระดานกลมและมาลัยเถาสามชั้น ปากระฆังมีลวดลายปูนปั้นตกแต่ง องค์ระฆังกลม ส่วนยอดเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมและเสาหินรองรับปล้องไฉน

               - เจดีย์มอญ  ตั้งอยู่หน้าอุโบสถ ตามประวัติกล่าวว่า พระครูกร่าง รมนโณ ได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างเจดีย์มอญขนาดใหญ่ไว้หน้าอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมกึ่งกลางฐานแต่ละด้านเป็นซุ้มโค้ง ภายในมีเทวดาปูนปั้น มุมทั้งสี่เป็นรูปครุฑ ฐานเจดีย์เป็นฐานหน้ากระดานรองรับบัวถลาห้าชั้น ส่วนยอดมีบัลลังก์เป็นรูปสี่เหลี่ยมประดับลวดลายปูนปั้น รองรับปล้องไฉนขนาดใหญ่และมีเม็ดน้ำค้าง ยอดมีฉัตรโลหะปักคลุมอยู่
               - เสาหงส์  ตั้งอยู่ด้านหน้าวัด เป็นเสาไม้แปดเหลี่ยม หัวเสาตกแต่งเป็นหัวเปิด มีเสาประกบด้านข้างทั้งสองด้าน

           วัดพันธุวงษ์  ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดเก่า ชาวบ้านเกาะได้ร่วมใจกันบูรณะขึ้นใหม่ และประกาศเป็นวัด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗
               - อุโบสถ (หลังเก่า)  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องซีเมนต์หางแหลม ลดชั้นละสองแถว เครื่องลำยองเป็นไม้แกะสลักประดับกระจก หน้าบันลายก้านขดตรงกลางเป็นลายประจำ ที่หน้าบันส่วนล่างและหน้าอุดปีกนก ด้านหน้าและหลังมีมุขลดด้านละแห่ง ด้านข้างมีชายคาปีกนก รองรับโครงหลังคาด้วยเสาปูนสี่เหลี่ยมรูปบัวแวง มีบันไดขึ้นลงสองด้านมีระเบียงทางเดินโดยรอบอาคาร ผนังก่ออิฐถือปูนอยู่บนฐานบัว มีหน้าต่างข้าละห้าบาน สันนิษฐานว่า เดิมซุ้มประตูและหน้าต่างทั้งหมดประดับด้วยลายปูนปั้น
               - เสมาและซุ้มเสมา  ในเสมาทำด้วยหินทรายสีแดงอยู่บนฐานบัว ส่วนซุ้มก่ออิฐถือปูนทรงเจดีย์ ยอดซุ้มเป็นชุดบัวกลุ่ม บัวเถา

           วัดราษฎร์บำรุง (วัดหงอนไก่)  ตั้งอยู่ที่บ้านคลองมะเดื่อ ตำบลคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบน พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่โล่ง ตั้งเป็นสำนักสงฆ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ อุโบสถหลังเก่าสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐

               - อุโบสถหลังเก่า  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก หลังคาเครื่องไม้มุ่งกระเบื้องว่าว มีพาไล (เรือนหรือเพิงโถงต่อจากเรือนเดิมใช้เป็นที่นั่งเล่นหรืออื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่หลังนอน) มุงสังกะสียื่นออกมา ทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้านละห้อง รองรับโครงหลังคาด้วยเสาไม้กลม ช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้แบบมอญ หน้าบันตกแต่งลวดลายปูนปั้น แบ่งออกเป็นสองส่วน ด้านบนเป็นรูปเทพพนม ถัดลงมาเป็นหงส์สองตัวหันหน้าเข้าหากัน มีลวดลายดอกไม้ประดับด้วยเครื่องถ้วยชามเคลือบสี และเครื่องลายครามแบบจีน เป็นอิทธิพลศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
           ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูทางเข้าด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละสองบาน ซุ้มประตูและหน้าต่างมีปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษา ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปหินทรายแดงศิลปะอยุธยาตอนปลาย

           วัดหงส์อรุณรัศมี (วัดน้อยนางหงส์)  อยู่ในเขตตำบลท่าจีน อำเภอเมือง ฯ สันนิษฐานว่า สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เดิมชื่อวัดน้อยนางหงส์
               - อุโบสถ  เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย คล้ายเรือสำเภามีเจดีย์เก็บอัฐิ เรียงรายอยู่บนฐานของโบสถ์ อิฐิที่ใช้ก่อสร้างนำมาจากประเทศจีน แช่ด้วยน้ำมันตังอิ๊ว ก่อนมาสร้างเพื่อให้อิฐไม่ละลายน้ำ หน้าบันประดับลวดลายด้วยเครื่องถ้วยจีน
               - อนุสรณ์สถานท่านจี  มีลักษณะเป็นสิ่งก่อสร้างแบบยุโรป สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้สร้างวัดนี้

           วัดใหญ่บ้านบ่อ  สันนิษฐานว่า สร้างก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ มีพื้นที่ของวัดกว้างขวางมีถาวรวัตถุที่มีอายุเก่าแก่เช่น โบสถ์ วิหาร หอไตรและเจดีย์ หลังคาอาคารต่าง ๆ ภายในวัดส่วนใหญ่จะมุงด้วยกระเบื้องรามัญ
               - อุโบสถ  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในมีพระประธานปูนปั้นปิดทอง หน้าตักกว้างสี่ศอก มีอัครสาวกนั่งอยู่สองข้างซ้าย - ขวา พื้นอุโบสถเป็นหินอ่อน ฝาผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน ตัวอุโบสถยาวหกวา สองศอก กว้างสี่วา ที่ผนังโบสถ์มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ปูนปั้นหนึ่งองค์ โดยทำเป็นคูหาลึกเข้าไปหลังคาโบสถ์ มุงด้วยกระเบื้องรามัญ มีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนบรมราชาภิเษกอยู่หนึ่งรูป หน้าโบสถ์มีเจดีย์สององค์ รูปร่างคล้ายพระปฐมเจดีย์
               - หอไตร  สร้างอยู่กลางสระน้ำ ซึ่งหล่อและเทคอนกรีตยาว หกวา สองศอก ภายในหอไตรแบ่งออกเป็นสามห้องเล็ก ๆ ฝากระดานเฟี้ยม มีพาไลโดยรอบ มีตู้พระธรรมลายรดน้ำอยู่หนึ่งใบ

           วัดป้อมวิเชียรโชติการาม  อยู่ในเขตตำบลมหาชัย อำเภอเมือง ฯ เดิมโบสถ์สร้างด้วยไม้ มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปสำริดสมัยอยุธยา นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปสลักจากศิลาแลง ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อแดง ซึ่งชาวบ้านเคารพนับถือกันมาก
           เนื่องจากเดิมสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของวัดสร้างด้วยไม้ ทำให้มีการเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา จึงได้มีการปรับปรุงให้เป็นคอนกรีต ลักษณะทรงไทยที่สวยงาม
           จากการที่วัดแห่งนี้ได้มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงได้รับการยกย่องจากกรมการศาสนา ให้เป็นวัดพัฒนาตัวย่าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ และเป็นวัดพัฒนาดีเด่น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙

           วัดท่ากระบือ  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ที่บ้านบางยาง ตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน เดิมเป็นสำนักสงฆ์ตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ ต่อมาจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัด
               - อุโบสถ  สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้นสองชั้น ซ้อนกันชั้นละสองแถว ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หน้าบันเป็นไม้แกะสลักประดับกระจกสี ด้านหน้ามีมุขลดรองรับโครงหลังคาด้วยเสาปูนสี่เหลี่ยม ด้านข้างมีคันทวย ผนังก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานบัว ด้านหน้ามีประตูทางเข้าสองประตู ซุ้มประตูทรงมณฑป ผนังตอนบนระหว่างซุ้มหน้าต่างมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง รอบอาคารเป็นระเบียงทางเดินมีบันไดทางขึ้นลงด้านหน้า และด้านข้าง
           ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ
               - วิหาร  มีอยู่สองหลังตั้งอยู่ด้านข้างอุโบสถ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้นสองชั้น ช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ด้านหน้าลดมุขรองรับโครงหลังคาด้วยเสาสี่ต้น ด้านข้างมีชายคาปีกนก และคันทวย ผนังก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานบัว
               - เจดีย์ราย  ตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถ จำนวนสี่องค์ เจดีย์ในเรือสามองค์ ด้านข้างวิหารแปดองค์ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ต่อขึ้นไปเป็นชุดฐานสิงห์ มีบัวรองรับปากระฆัง องค์ระฆังย่อไม้สิบสอง ส่วยยอดเป็นบัวกลุ่มเถา ปล้องไฉนและปลียอด
               - พระปรางค์  มีจำนวนสี่องค์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานเขียง ที่ฐานมีคำอุทิศจารึกบนแผ่นหินอ่อน ต่อขึ้นไปเป็นชุดฐานสิงห์เรือนธาตุมีซุ้มจรนำทั้งสี่ทิศ ยอดปรางค์มีนภศูลโลหะปักอยู่
               - ศาลาการเปรียญ  เป็นอาคารทรงไทยยกพื้นสูง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีชายคาปีกนกโดยรอบ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒
               - ศาลาไม้ทรงจตุรมุข  ด้านล่างโปร่ง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันชายคา และไม้คอสูงตกแต่งด้วยไม้ลายฉลุ

| ย้อนกลับ | บน |