| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

วัดกู้
            ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ที่บ้านกู้  ตำบลบางพูด  อำเภอปากเกร็ด  สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๙๕  เดิมชื่อวัดธาตุสอน วัดท่าสอน วัดหลังสวน  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๓  เรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา ฯ ได้เกิดอุบัติเหตุล่มลงในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใกล้วัดแห่งนี้  ได้กู้พระศพ และซากเรือขึ้นที่วัดผู้คนจึงเรียกว่าวัดกู้  และชาวบ้านได้พร้อมใจกันสร้างศาลสมเด็จพระนางเรือล่ม  ขึ้นถวายที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
           พระอุโบสถ  เป็นศิลปสมัยอยุธยาตอนปลาย มีฐานแอ่นโค้งรูปสำเภา บานประตูเขียนรูปแจกันดอกไม้ด้วยสีฝุ่น ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นรูปดอกไม้  เสาทรงเหลี่ยมใหญ่มีลวดลายบัวที่หัวเสา ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ตอนบนสุดเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า ตอนกลางเป็นภาพพุทธประวัติ  ตอนล่างเป็นภาพการรบของชาวมอญ แสดงรูปแบบเจดีย์มอญ  เสาหงส์  ซุ้มใบเสมาเป็นซุ้มโค้ง มีใบเสมาคู่ประกบกัน
           พระพุทธไสยาสน์  ยาว ๒๑ วา ๒ ศอก  ไม่มีหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด  สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับวัด
วัดชมภูเวก
            ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บ้านบางกะสอ ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๐  ครั้งชาวมอญ อพยพหนีพม่ามาอยู่ในบริเวณนี้ในสมัยอยุธยาตอนปลาย  ได้พบซากโบราณสถานที่มีมาอยู่ก่อน  จึงได้ร่วมกันสร้าง พระมุเตา คือพระเจดีย์  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่นำมาจากเมืองมอญ  เป็นที่สักการบูชา  ต่อมาจึงได้สร้างวัดชื่อ วัดชมภูเวก ซึ่งมีความหมายว่าขอสรรเสริญเนินสูงที่มีความวิเวก  ต่อมาได้กร่อนเป็นวัดชมภูเวก
         พระมุเตา (เจดีย์)  ตั้งอยู่ตรงประตูทางเข้าวัดด้านหน้า รูปทรงของเจดีย์เป็นแบบเจดีย์ที่เมืองหงสาวดี  สร้างขึ้นก่อนสร้างวัดบนเนินอิฐเก่า  สันนิษฐานว่า อาจมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ด้วย
         พระอุโบสถหลังเก่า  ตั้งอยู่ด้านหลังพระมุเตา มีขนาดสามห้องไม่ยกพื้น  รูปทรงแบบมหาอุด  ใช้ผนังรับน้ำหนัก  ปลายผนังสอบเข้าเล็กน้อยไม่มีเสา  มีแต่เสารับชายคาพาไล  ด้านหน้ามีพาไล  หน้าบันปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาดอกพุดตาน ประดับกลางดอกด้วยเครื่องถ้วยลายคราม และเบญจรงค์  มีประตูเข้าด้านหน้าเพียงประตูเดียวอยู่ตรงกลาง มีหน้าต่างด้านละสามบาน  ซุ้มประตูหน้าต่างปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษา ผนังด้านหลังทึบ  ฝาผนังด้านในทั้งสี่ด้าน  มีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างสกุลนนทบุรี  เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว  ตามแบบอยุธยาตอนกลาง  ผนังด้านหน้าพระประธานเป็นภาพมารผจญ  มีรูปพระแม่ธรณีประทับนั่งบีบมวยผมอยู่ในซุ้มเรือนแก้วยอดแหลม  ลวดลายอ่อนช้อยเหมือนลอยตัว  เป็นที่ยกย่องกันว่าเป็นภาพแม่พระธรณีที่งามที่สุดในประเทศไทย  ผนังด้านหลังเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าสองพระองค์ ประทับนั่งสมาธิ  ผนังด้านข้างทั้งสองด้าน ตอนบนเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าประทับบนแท่นบัลลังก์ มีสาวกเฝ้าอยู่สองข้าง ผนังระหว่างช่องประตูกับหน้าต่างเป็นภาพทศชาติ
            พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น
           พระวิหาร  ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ ขนาดสามห้อง  ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรม  เป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า และภาพพุทธประวัติ  เดิมในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง
            รูปปูนปั้นหลวงพ่อฟ้าผ่า เป็นรูปปั้นพระสงฆ์ชาวมอญ  มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก  เคร่งครัดในด้านวิปัสสนาเป็นพระเถรผู้ใหญ่ที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงให้ความนับถือมาก และเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของมหาชนทั่วไป  เมื่อท่านมรณะภาพขณะที่ไฟพระราชทานมาถึง ฟ้าได้ผ่าลงที่ปราสาทตั้งศพ  ไฟลุกไหม้สรีรศพของท่านในเวลาเดียวกัน ผู้คนจึงขนานนามท่านว่า หลวงพ่อฟ้าผ่า
วัดเขมาภิรตาราม
            เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร  อยู่ในพื้นที่ ตำบลสวนใหญ่  อำเภอเมือง ฯ  เป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา  มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เป็นวัดที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อขบวนเกวียนสินค้ามาจอดพักอยู่ ณ บริเวณนี้
            วัดนี้ได้ปล่อยให้ทรุดโทรมมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้มีการปฏิสังขรณ์  โดยสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี  ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อบูรณะ  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ และพระราชทานนามว่า วัดเขมาภิรตาราม  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อย้ายพระที่นั่งมูลมณเฑียร จากพระบรมมหาราชวัง ไปปลูกไว้ในวัดเขมา ฯ

           พระอุโบสถ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมทรงไทย หลังคาประดับช่อฟ้าใบระกา  หน้าบันเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ  พระอุโบสถและพระประธานหันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก  จึงแก้โดยการสร้างพระพุทธรูปหันพระพักตร์ไปทางตะวันออก ไว้ที่ซุ้มด้านหลังพระอุโบสถ  บานประตูหน้าต่างด้านนอกแกะสลักไม้ และปูนปั้น  ฝาผนังทั้งสี่ด้านมีภาพจิตรกรรม
            พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พร้อมพระอสิติสาวก ๘๐ องค์ ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระประธาน ด้านหลังพระประธานมีพระพุทธรูปทรงเครื่องขนาดใหญ่สององค์
           ศาลาการเปรียญและห่อระฆัง  ก่อด้วยอิฐถือปูนสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหลังศาลาการเปรียญเป็นหอระฆัง สร้างขึ้นพร้อมกัน
           พระตำหนักแดง  เป็นตำหนักไม้ เดิมเป็นตำหนักหมู่ใหญ่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอกรมพระศรีสุดารักษ์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปลูกถวายสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เมื่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา ฯ สวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสจึงโปรดเกล้าฯให้รื้อไปถวายเป็นกุฎิของพระราชาคณะวัดโมฬีโลกยาราม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายจากวัดโมฬีโลกยาราม ไปปลูกเป็นกุฎิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม
           พระที่นั่งมูลมณเฑียร  เดิมอยู่ในพระบรมมหาราชวังเป็นตำหนักไม้ชั้นเดียว  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อแก้เป็นตึกต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อย้ายไปปลูกใหม่ที่วัดเขมาภิรตาราม ได้ใช้เป็นสถานที่เรียนจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๘ จากนั้นได้ใช้เป็นห้องสมุดมาถึงปัจจุบัน
วัดปากน้ำ (พิบูลสงคราม)
            ตั้งอยู่ที่บ้านตลาด ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๕ พระอุโบสถก่ออิฐ หน้าบันทำเป็นรูปปูนปั้นลายธรรมจักร ผนังภายในฉาบปูนเรียบ ไม่มีภาพจิตรกรรม ฐานทาสีแดง เขียนลายดาวกระจายสีทอง ซุ้มหน้าต่างทำเป็นลายปูนปั้นกระหนกลายเครือเถา บานประตูหน้าต่างทาสีแดงเรียบ)
วัดเอนกดิษฐาราม
            ตั้งอยู่ที่บ้านบางใหญ่ ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่  สร้างเมื่อปีประมาณปี พ.ศ. ๒๒๔๐ เดิมเรียกวัดบ้านใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทรงพักแรมที่วัดนี้ และได้พระราชทานนามว่า วัดเอนกดิษฐาราม พระอุโบสถมีฝาผนังที่ฉาบเรียบ ไม่มีจิตรกรรมฝาผนัง มีมุขพาไลทางด้านหน้าอุโบสถ
วัดบางแพรก
            อยู่ในพื้นที่ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๒๙๐ ชื่อวัดเรียกตามชื่อคลองที่วัดนี้ตั้งอยู่ พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน หน้าบันประดับลายปูนปั้นดอกไม้เครือเถา บานประตูหน้าต่างทาสีแดงไม่มีลวดลาย ผนังภายในฉาบเรียบไม่มีจิตรกรรมฝาผนังเพดานไม่มีลวดลาย
วัดโบสถ์บน
            อยู่ในพื้นที่ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย  สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๐๐  พระอุโบสถมีฐานแอ่นโค้งท้องสำเภา ฝาผนังฉาบปูนเรียบ บานหน้าต่างด้านนอกเป็นลายลงรักปิดทอง รอบพระอุโบสถมีใบเสมาตั้งอยู่บนแท่นดอกบัว
วัดบางไผ่
            ตั้งอยู่ที่บ้านบางไผ่ ตำบลบางรักน้อย อำเภอบางบัวทอง  สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๐๙ พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน หน้าบันเป็นรูปเทพนม บนดอกบัวลายเครือเถาดอกไม้ ผนังฉาบปูนเรียบทาสีขาว เพดาน บานประตูหน้าต่างทาสีขาว ลวดลายที่หลังคาเป็นรูปปุนปั้นประกอบเครื่องไม้ วิหารก่ออิฐถือปูน หน้าบันประดับเครื่องถ้วยแบบจีน ผนังภายในฉาบปูนเรียบทาสีขาว บานประตูหน้าต่างทาสีขาว
วัดโปรดเกษ
            ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลคลองพระอุดม อำเภอปากเกร็ด สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๗ พระอุโบสถเป็นอาคารทรงเจดีย์กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๑ เมตร ฐานบัวผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคาโครงไม้มุงกระเบื้อง มีเพิงลาดลงต่ำทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รอบพระอุโบสถมีเสมาหินสลักขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนฐานบัวกลุ่ม และแข้งสิงห์หน้าบันประดับลายปูนปั้นนูนต่ำระบายสี ประกอบด้วยรูปพานแว่นฟ้า ฉัตรราชสีห์ และกระหนกเปลว ปูนปั้นประดับซุ้มประตูด้านหน้าเป็นซุ้มปราสาทแบบนูนสูง ภายในเรือนแก้วมีลายดอกพุดตาน
วัดเสาธงทอง
            ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเกาะเกร็ด  อำเภอปากเกร็ด  สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๙ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๗ พระวิหารกว้าง ๔ เมตร ยาว ๘ เมตร ฐานแข้งสิงห์ ผนังก่ออิฐถือปูน มีมุขด้านหน้า หลังคาลดสองชั้นโครงไม้มุงกระเบื้อง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เป็นไม้แกะสลัก บานประตูมีจิตรกรรมลายรดน้ำรูปเทพทวารบาล และลายกระหนกเปลวเครือเถา บานหน้าต่างมีร่องรอยจิตรกรรมลายรดน้ำลายกระหนกเปลวเครือเถา หน้าบันเป็นไม้แกะสลักนูนสูงรุปพานแว่นฟ้า ราชสีห์ ฉัตรกระหนกเปลว และดอกพุดตาน พื้นประดับกระจกสี ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นรูปแบบนูนสูงระบายสี ประกอบด้วยลายดอกพุดตาน ใบไม้และกระถาง
วัดปรมัยยิกาวาส
            ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด  เป็นวัดรามัญนิกาย และเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร เดิมเป็นวัดโบราณชื่อวัดปากอ่าว  สร้างโดยชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เกาะเกร็ด เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประดิษฐานในระเบียงพระวิหาร รวม ๔๖ องค์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้ากฐิน ณ พระอารามรามัญนิกาย ทอดพระเนตรเห็นวัดมีสภาพทรุดโทรม จึงมีพระราชดำริจะสถาปนาขึ้นใหม่ให้สวยงาม โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนนามจากวัดปากอ่าวมาเป็นวัดปรมัยยิกาวาส เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึง พระเจ้าบรมไหยิกาเธอกรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ผู้อภิบาลพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อบูรณะเสร็จได้โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระบรมธาตุและพระคัมภีร์ พระไตรปิฎกไปประดิษฐาน ณ พระเจดีย์วัดปรมัยยิกาวาส ทรงพระราชอุทิศขยายเขตสีมา โปรดเกล้า ฯ  ให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรมผูกพัทธสีมาใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗
           พระอุโบสถ  เดิมมีขนาดเล็ก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อแล้วขยายให้กว้าง ๕ วาศอก ยาว ๙ วาศอก เฉลียงกว้าง ๑ วา ทั้ง ๔ ด้าน หน้าบันติดพระเกี้ยว มีเจ้านายหลายพระองค์ทรงเป็นนายงาน  ขึ้นลายประตูหน้าต่าง ซุ้มประตูหน้าต่าง ประดับศิลาฐานพระประธาน เขียนรูปภาพปั้นลายเพดานแก้ไขดัดแปลงพระพุทธรูปพระประธาน และพระสาวกให้งดงามกว่าเดิม
           เจดีย์ทรงมอญ  ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ ฐานกว้าง ๕ วา ๓ ศอกคืบ ทั้ง ๔ ด้าน สูง ๖ วา ๒ ศอก  สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗
           พระวิหารพระพุทธไสยาสน์  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อของเดิมออกสร้างใหม่ ขนาดเท่าเดิม เสริมผนังสูงกว่าเดิมสองศอก ด้านหน้าและหลังแก้แปลงเป็นมุขเด็จ ขยายระเบียงล้อมรอบพระวิหารออกด้านละ ๓ วา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ๔๖ องค์ พระราชทานตราพระเกี้ยว ประดับหน้าบัน   พื้นเพดานเป็นตราเครื่องอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์
           พระเจดีย์ย่างกุ้ง  ก่อด้วยอิฐถือปูน ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม กว้างด้านละ ๗ เมตร สูง ๙ เมตร เศษ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ
วัดเกาะพญาเจ่ง
            ตั้งอยู่ที่บ้านปากคลองบางพุด ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด  สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๑๘ พญาเจ่งเป็นผู้สร้าง เดิมชื่อวัดเกาะบางพุด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ หลวงบรินัย คุชเสนี เห็นว่าเป็นวัดที่พญาเจ่ง ต้นตระกูลคชเสนีเป็นผู้สร้าง จึงได้ขอเปลี่ยนนามใหม่ เป็นวัดเกาะพญาเจ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗
วัดสิงห์
            ตั้งอยู่ที่บ้านบางคูเวียง ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย  สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๐ ขึ้นทะเบียนเป็นสร้างโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖
           พระวิหาร  มีลักษณะทรงสูง   ด้านหน้าและด้านหลังเป็นมุขเด็จ หน้าบันและหร่ายสร้างด้วยไม้สัก สลักลวดลายดอกไม้ บัวหัวเสา ฐานชุกชี ซุ้มประตู และหน้าต่างเป็นลวดลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจก ฐานพระวิหารแอ่นโค้งเป็นรูปสำเภาเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย
           หอไตร  ตั้งอยู่กลางน้ำ หน้าบันแกะเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ และลายกระหนกเปลว ออกช่อเป็นรูปเทพนมล้อมรูปพระนารายณ์ บานประตูหน้าต่างเป็นลายรดน้ำ
           หอระฆัง  เป็นแบบประเพณี ประดับลายจำหลักประณีตตลอดทั้งหลัง หลังคาซ้อนทรงสูงเพรียว ซ้อนหนึ่งชั้น ลดหนึ่งชั้น และมีเฉลี่ยงล้อมรอบหนึ่งชั้น ศิลปกรรมสมัยอยุธยา
วัดละมุดใน
            ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย  สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๙
           หอไตร  เป็นอาคารไมีขนาดสองห้อง บานประตูลงรักปิดทองลายพรรณพฤกษา หน้าบันจำหลักไม้ปิดทอง ประดับกระจกลายดอกพุดตาน เครื่องลำยองเป็นไม้จำหลักงดงาม
           ศาลาท่าน้ำ  เป็นศาลาสองห้อง ระเบียงสองข้าง ลวยลายเครื่องประดับเป็นไม้จำหลักปิดทอง ประดับกระจกละเอียดประณีต
วัดโชติการาม
            ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕๐ เดิมชื่อวัดสามจีน ต่อมาเจ้าพระยาโชฎึกราชเศรษฐีได้มาบูรณะ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดโชตอการาม
           พระวิหาร  มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีปรางค์ขนาดเล็กอยู่ที่มุมกำแพงทั้งสี่ด้าน พระวิหารก่ออิฐถือปูนขนาดสามห้อง ฝาผนังทั้งสี่ด้าน มีจิตรกรรมตั้งแต่พื้นจรดเพดาน บานประตูด้านหน้าเป็นไม้จำหลักรูปเซี่ยวกาง ด้านหลังเป็นภาพเขียนสี ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้ม ๒ ชั้น ลวดลายปูนปั้นประดับกระจก หน้าบันจำหลักไม้แบบนูนสูง ประดับกระจกสี ลวดลายกระหนกเครือเถา
           พระอุโบสถ  ก่ออิฐถือปูน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ด้านหน้ามีพาไล หน้าบันด้านหน้าปูนปั้นเป็นฉากภูริทัตชาดก ประดับเครื่องถ้วยชามที่หน้าบันและซุ้มจระนำ
           เจดีย์  ย่อไม้ยี่สิบ ประดับกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ตั้งแต่องค์ระฆังขึ้นไป ยอดเป็นบัวกลุ่ม
วัดทองคุ้ง
            ตั้งอยู่ริมคลองพระอุดม อำเภอปากเกร็ด  สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖
            พระอุโบสถกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๑ เมตร เศษ  ที่ผนังเหนือระดับหน้าต่างมีเสมาแปดทิศติดอยู่โดยรอบ นับเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของพระอุโบสถหลังนี้ หลังคาโครงไม้มุงกระเบื้อง ช่อฟ้าใบระกา และหางหงส์ เป็นไม้แกะสลัก ด้านหน้ามีพาไล และประตูด้านเดียว หน้าบันประตูหน้าต่าง และเสมาปนะดับปูนปั้นระบายสี ส่วนของหน้าบันเป็นลายปูนปั้นแบบนูนสูงลายดอกพุดตาน ส่วนประตูหน้าต่าง เป็นซุ้มทรงจอมแห ประกอบด้วยลายพุดตานผสมรักร้อย
วัดพระเงิน
            ตั้งอยู่พื้นที่ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่  สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๖๔ ครั้งแรกสร้างเป็นที่พักสงฆ์ ต่อมาได้สร้างกุฎิเพิ่มเติม
            หอไตร  เป็นอาคารไม้ ขนาดสองห้อง ตั้งบนคานและเสาคอนกรีตเสริมเหล็กปักอยู่ในสระน้ำ มีเฉลียงรอบหลังคาซ้อนสองชั้น ประดับเครื่องลำยองไม้จำหลัก ปิดทองประดับกระจก หน้าบันเป็นกระดารเรียบ
วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร
            ตั้งอยู่พื้นที่ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมือง ฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ที่ตั้งวัดเดิมเป็นป้อมเก่าอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามบ้านตลาดขวัญ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้สร้างในบริเวณป้อมเก่า ซึ่งเป็นนิวาสสถานเดิมของพระอัยกา พระอัยกี และเป็นที่ประสูติของพระราชชนนี เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระองค์ได้ดปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิส บุนนาค) เป็นแม่กองสร้างวัด พระราชทานนามว่าวัดเฉลิมพระเกียรติ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงก่อพระพฤกษ์ พระอุโบสถ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๐ การสร้างมาแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้แห่พระบรมธาตุขึ้นบรรจุในพระเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ โปรดเกล้า ฯ ให้แห่พระศิลาสามองค์ จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปประดิษฐานในพระอุโบสถในวันต่อมา และโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระบรมออัฐิพระชนกชนนี ไปประดิษฐานในพระอุโบสถด้วย
           พระอุโบสถ  เป็นสถาปัตยกรรมไทย - จีน หน้าบันทั้งทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีสดจากจีนลายดอกพุดตาน ภายในเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง ประตูหน้าต่างประดับปูนปั้นลายดอกพุดตาน พื้นประดับกระจก ด้านในบานประตูหน้าต่างเขียนรูปดอกบัว นก และสัตว์น้ำ  พระประธานในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายพระนามว่า พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา
           พระวิหารหลวง หรือพระวิหารพระศิลาขาว  อยู่ทางด้านใต้ ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับพระอุโบสถ มีกำแพงแก้วล้อมรอบต่อกัน พระประธานในพระวิหาร ชื่อพระศิลา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดหน้าตัก ๓๐ นิ้ว สูง๓๓ นิ้ว มีพระอัครสาวกอยู่ซ้ายขวา
           ศาลาการเปรียญหลวง  ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับพระอุโบสถ มีกำแพงแก้วล้อมรอบต่อจากพระอุโบสถ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |