| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

            ปราสาทหินเมืองต่ำ เป็นโบราณสถานที่สร้างเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย อยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ไปทางทิศใต้ประมาณ ๖๔ กิโลเมตร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ มีการบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ และทำการเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐
            ปราสาทเมืองต่ำเป็นกลุ่มปราสาทอิฐห้าองค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน การวางผังปราสาทแตกต่างจากปราสาทแห่งอื่น ที่มีจำนวนปรางค์เท่ากัน ที่นิยมสร้างปรางค์ประธานไว้ตรงกลาง ปรางค์ที่เหลือ จะสร้างไว้ที่มุมทั้งสี่ทิศ แต่ปราสาทหินเมืองต่ำ จะวางตำแหน่งปรางค์อิฐทั้งห้าองค์ เป็นสองแถวตามแนวเหนือใต้ แถวแรกมีปรางค์อยู่สามองค์ วางตำแหน่งให้อยู่ระหว่างช่องของปรางค์สามองค์ ในแถวหน้า
            ปรางค์ประธาน  มีสภาพคงเหลือแต่ฐาน มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจุตรัสย่อมุม ขนาด ๗ x ๗ เมตร ลักษณะโครงสร้างโดยทั่วไป เหมือนกีบปรางค์บริวารอีกสององค์ ต่างกันที่ปรางค์ประธานมีมุขหน้า แต่ปรางค์บริวารไม่มี ปรางค์ประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และเป็นด้านที่มีประตูทางเข้าสู่ภายในองค์ปรางค์เพียงด้านเดียว ส่วนอีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก
            จากการขุดค้น ได้ขุดพบหน้าบัน และทับหลังของมุขปราสาทปรางค์ประธาน ทำด้วยหินทราย หน้าบันจำหลักเป็นรูปพระอินทร์ประทับนั่งบนช้างเอราวัณ ในซุ้มเรือนแก้วอยู่บนหน้ากาล ลักษณะของซุ้มหน้าบัน เป็นศิลปะเขมรแบบบาปวน มีอายุอยู่ประมาณครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๖
            ทับหลังของมุขปราสาท แกะสลักเป็นรูปบุคคลนั่งอยู่บนแท่นบัลลังก์เหนือหน้ากาล ห้อยขาขวา ขาซ้ายพับวางราบบนแท่น มือขวาถือดอกบัว มือซ้ายวางบนเข่า ทางขวามีบุคคลนั่งประคองสตรีที่ถือดอกบัวในมือขวา ทางซ้ายมีบุคคลนั่งคุกเข่าในท่าแสดงความเคารพ โดยพาดแขนเฉียงบนอก จากรูปแบบศิลปะ สันนิษฐานว่า น่าจะมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ในศิลปะเขมรแบบเกรียว

            ปรางค์บริวารแถวหน้า  มีขนาดเท่ากันคือ ประมาณ ๕ x ๕ เมตร เหนือส่วนฐานขึ้นไปคือ ตัวเรือนธาตุ ก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออกแห่งเดียว ด้านอื่น ๆ ทำเป็นประตูหลอก เหนือเรือนธาตุขึ้นไปเป็นส่วนหลังคาหรือส่วนยอด ทำเป็นรูปเรือนธาตุวางซ้อนขึ้นไปเป็นชั้น มีขนาดลดหลั่นกันไปรวมห้าชั้น แต่พังทลายลงเหลืออยู่เพียงสองชั้น ที่ยอดบนสุดของปรางค์ จะประดับด้วยหินทรายแกะสลักเป็นรูปบัวกลม ปัจจุบันพังทะลายลงมากองอยู่ที่พื้น
            ทับหลังปรางค์บริวารแถวหน้าองค์ที่อยู่ทางทิศเหนือ จำหลักเป็นภาพพระอุมามเหศวร โดยจำหลักเป็นรูปพระศิวะประทับนั่ง หัตถ์ซ้ายอุ้มพระอุมา หัตถ์ขาวถือตรีศูล ประทับนั่งบนโคนนทรี ยืนอยู่บนแท่นเหนือหน้ากาล ส่วนบนทับหลังสลักเป็นแถวฤาษี เป็นศิลปะแบบบาปวน ด้านหลังปรางค์บริวารด้านทิศใต้ จำหลักเป็นบุคคลนั่งอยู่เหนือหน้ากาล
            ปรางค์บริวารแถวหลัง  เป็นปรางค์รูปสี่เหลี่ยม ขนาด ๔ x ๔ เมตร ลักษณะโดยทั่วไปเหมือนกับปรางค์ประธาน และบริวารแถวหน้า ทับหลังปรางค์บริวารองค์ด้านทิศเหนือ จำหลักเป็นภาพพระกฤษณะโควรรธนะ ส่วนกายพระองค์จำหลักเป็นภาพคนเลี้ยงโค และโคเข้าหลบกำบังพายุ ข้างใต้ลงไปเป็นรูปหน้ากาล ส่วนทับหลังปรางค์บริวารทางด้านทิศใต้ จำหลักเป็นรูปภาพพระวรุณเทพประทับนั่งบนหงส์สามตัวแบบอยู่เหนือกาล แถบบนทับหลังสลักเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายกลีบบัว ๑๓ กลีบ
            เสาประดับกรอบประตูของปราสาททั้งห้าหลัง เป็นเสาแปดเหลี่ยมตั้งรองรับทับหลัง ตัวเสาแกะสลักเป็นรูปวงแหวนเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ สลักลวดลายรูปใบไม้ ทรงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก และดอกไม้
            บรรณาลัย  เป็นอาคารเล็ก ๆ มีอยู่สองหลังตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาท อยู่ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หันหน้าเข้าสู่กลุ่มปราสาทคือ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก สร้างด้วยอิฐบนฐานศิลาแลง มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ทับหลังของอาคารทั้งสองหลัง สลักภาพอย่างเดียวกันคือ สลักภาพตรงกลางเหนือหน้ากาล เป็นรูปเทพประทับนั่ง หัตถ์ขวาถือวัตถุคล้ายกระบองหรือคทา อยู่บนแท่นภายในซุ้มหน้ากาล ตามแบบบาปวน บรรณาลัยนี้ใช้เป็นห้องสมุด สำหรับรักษาคัมภีร์ หรือหนังสือสำคัญทางศาสนา
            ระเบียงคด มีลักษณะเป็นห้องยาว ล้อมรอบกลุ่มปราสาทและบรรณาลัย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยหินทรายเป็นห้องแคบ ๆ กว้างประมาณ ๒ เมตร เชื่อมต่อกับระเบียงคด ภายในแบ่งออกเป็น ๓ ห้อง กลางห้องมีประตูเข้าออก ห้องด้านข้างทำเป็นหน้าต่างหลอก ปิดทับด้วยแผ่นหินทราย แล้วประดับด้วยลูกมะหวด ระเบียงคดด้านทิศตะวันตก ซุ้มประตูก่อด้วยอิฐ มีขนาดเล็กกว่าซุ้มประตูทั้ง ๓ ด้านที่กล่าวมาแล้ว
            หลังคาของระเบียงคดใช้อิฐปาดมุม ก่อเรียงซ้อนเหลื่อมกัน ทำให้หลังคามีลักษณะคล้ายประทุนเรือ
            ในส่วนของหน้าบันทับหลัง และเสาติดกับผนังซุ้มประตู มีการแกะสลักลวดลายและภาพเล่าเรื่องต่าง ๆ ตามคติศาสนาฮินดูประดับไว้ ซุ้มหน้าบันทำด้วยหินทราย กรอบหน้าบันเป็นลำตัวนาค ตกแต่งด้วยก้านดอกเหนือลำตัวนาค กรอบหน้าบันตกแต่งด้วยลายใบไม้ม้วนตัวขึ้น ปลายกรอบหน้าบันสลักเป็นรูปนาคเศียรโล้น ๕ เศียร กลางหน้าบันสลักเป็นรูปบุคคลนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล ตกแต่งด้วยลายพันธุ์พฤกษา ภายในพุ่มทรงสามเหลี่ยม ส่วนที่ทับหลังซุ้มประตูของระเบียงคดทั้งสี่ด้าน จำหลักภาพเล่าเรื่องในศาสนาฮินดู
                -  ทับหลังรูปพระอินทร์ประทับนั่งบนช้างเอราวัณสามเศียรอยู่เหนือหน้ากาล ตามแบบศิลปะบาปวน
                -  ทับหลังจำหลักรูปพระกฤษณะปราบนาคกาลิยะ คายพิษลงในหนองน้ำจนทำให้น้ำเป็นพิษ ชาวบ้านเดือดร้อน พระกฤษณะ จึงเข้าต่อสู่กับนาคกาลิยะ และได้รับชัยชนะ
                -  ทับหลังจำหลักรูปบุคคลนั่งชันเข่าเหนือหน้ากาล เป็นศิลปะเขมรแบบบาปวน
            สระน้ำและลานประสาท  อยู่ระหว่างกำแพงคดกับระเบียงแก้ว ที่มุมลานทั้งสี่ มีสระเป็นรูปหักมุมตามแนวกำแพงทั้งสี่ทิศ สระทั้งสี่กรุด้วยก้อนศิลาแลงเรียงกันเป็นขั้นบันไดลงไปยังสระ ขอบบนสุดสลักเป็นรูปพญานาคห้าเศียรขนาดใหญ่ ทำด้วยหินทรายทอดตัวไปตามแนวขอบสระ แผ่พังพานอยู่ที่มุมสระทุกมุม ปลายหางของพญานาคมาบรรจบกับซุ้มประตูขนาดเล็ก ด้านทางเดินทั้งสี่ทิศ
            กำแพงแก้วและซุ้มประตู  กำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงสูงประมาณ ๒.๗๐ เมตร มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๑๒๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๒๗ เมตร บนสันกำแพงตกแต่งด้วยบราลีหินทราย บริเวณกึ่งกลางของกำแพงแก้วทั้งสี่ทิศ มีซุ้มประตูทางเข้าก่อด้วยหินทรายมุงกระเบื้อง ซุ้มประตูทางด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก จะชักปีกออกจากห้องกลางทั้งสองข้าง มีประตูและบันไดขึ้นลงทั้งห้องกลางและห้องปีก ส่วนที่ซุ้มประตูด้านทิศเหนือและทิศใต้  ชักสองปีกออกไปเช่นกัน แต่มีบันไดทางขึ้นเฉพาะห้องกลางเท่านั้น
            บาราย  เป็นแหล่งน้ำที่ขุดสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการอุปโภค และการชลประทานของชุมชน ปัจจุบันเรียก ทะเลเมืองต่ำ ตั้งอยุ่ทางทิศเหนือของปราสาทเมืองต่ำ กว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๑,๑๐๐ เมตร ลึกประมาณ ๓ เมตร ขอบสระก่อด้วยศิลาแลง ๓๖ ขั้น บนขอบสระด้านทิศเหนือ และทิศใต้ มีท่าน้ำเป็นชานกว้างประมาณ ๗ เมตร ยาว ๑๗ เมตร ปูด้วยศิลาแลงและลาดไปยังฝั่งน้ำ ซึ่งก่อบันไดลงท่าน้ำเป็นทางลงสระจำนวน ๕ ขั้น
    ปรางกู่สวนแตง

            ปรางกู่สวนแตงเป็นศาสนสถาน อยู่ในเขตตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ เข้าใจว่าเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยสร้างเป็นปรางค์อิฐเรียงกันในแนวเหนือ - ใต้ สามหลัง บนฐานศิลาแลงเดียวกันขนาดประมาณ ๓๒ x ๒๕ เมตร ปรางค์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์องค์กลางเป็นปรางค์ประธาน และเป็นปรางค์องค์เดียวที่มีมุขยื่นออกมาข้างหน้ารับกรอบเสาประตู ซึ่งเป็นหินมีขนาด ๑๑.๔๐ x ๗.๓๐ เมตร สูงประมาณ ๑๒ เมตร ช่องประตูมีขนาด ๑.๙๐ x ๐.๙๕ เมตร ประตูด้านทิศตะวันออกของปรางค์ทั้งสามด้าน เป็นประตูที่เปิดเข้าไปสู่ห้องภายในปรางค์ ส่วนอีกสามด้านเป็นประตูที่เปิดเข้าไปสู่ห้องภายในปรางค์ ส่วนอีกสามด้านเป็นประตูหลอด เหนือกรอบประตูเป็นทับหลัง และหน้าบันเป็นหินทราย สลักเป็นภาพเรื่องราวของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู
            จากหลักฐานที่มีการเข้ามาศึกษาศาสนสถานแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ โดยนักวิชาการชาวฝรั่งเศส เมื่อครั้งปรางค์ทั้งสามองค์ยังอยู่ในสถาพที่สมบูรณ์ พบว่าปรางค์ประธานองค์กลาง มีทับหลังรูปศิวะนาฎราช และเทพเจ้าองค์อื่น ๆ เล่นดนตรีประกอบ เช่น พระคเณศตีกลอง พระพรหมดีฉิ่ง พระอุมาถือไม้เท้าขาคนเป็นต้น ส่วนทับหลังด้านอื่น ๆ เป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ พระนารายณ์ปางกูรมาตาร กับการกวนเกษียรสมุทร์ รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และเทวดาประทับนั่งเหนือเกียรติมุข เป็นต้น
            จากลักษณะทางสถาปัตยกรรม แสดงว่าได้รับรูปแบบศิลปกรรมสมัยนครวัด มีอายุระหว่าง พ.ศ.๑๖๕๓ - ๑๗๑๘
            นอกจากเทวาลัยทั้งสามหลังแล้ว ยังมีสระน้ำโบราณ รูปสี่เหลียมผืนผ้าขนาด ๔๒ x ๗๒ เมตร มีคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
    ปรางค์บุหีบ
            ปรางค์บุหีบ เป็นศาสนสถาน ตั้งอยู่ที่บ้านกวางงอย ตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ ตั้งอยู่บนเนิน ในป่าละเมาะตอนเหนือของหนองหีบ ประมาณ ๑ กิโลเมตร และมีหนองปุกอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างออกไปประมาณ ๕๐๐ เมตร แต่เดิมเป็นโคกเนินใหญ่ มีแท่งฐานตั้งอยู่กลางเนิน ชาวบ้านเรียกว่า โคกหีบ หรือบุหีบ
            จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ พบว่าโคกเนินดังกล่าว เดิมเป็นฐานปรางค์ซึ่งเป็นศิลาแลงก่ออิฐ มีเสากรอบประตูเป็นหนทราย และแท่นฐานที่เหลือ แต่เดิมที่ฐานมีอักขระจารึกอยู่ มีลายประดับกรอบหน้าบันเหลืออยู่
    กุฏิฤาษีหนองบัวราย

             กุฏิฤาษีแห่งนี้  เป็นโบราณสถานแบบพื้นราบเชิงเขาพนมรุ้ง ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ อยู่ที่บ้านหนองบัวราย ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย มีปรางค์ศิลาแลงเสากรอบประตู และส่วนประดับปรางค์ประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในกำแพงศิลาแลงที่ต่อเชื่อมซุ้มประตูรอบปรางค์ประธาน มีอาคารสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มุมกำแพงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสระน้ำโบราณกรุด้วยศิลาแลง
             โบราณสถานแห่งนี้ เข้าใจว่าเป็นอโรคยาศาล เพื่อใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ ตามนโยบายของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยปรางค์ประธานเป็นที่ไว้รูปเคารพ อาคารสี่เหลี่ยมน่าจะเป็นที่ปรุงยา หรือเก็บยา ห่างออกไปทางด้านทิศเหนือประมาณ ๑๐๐ เมตร มีสระสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๕๐๐ x ๘๐๐ เมตร เรียกกันว่า หนองบัวราย
    ปราสาทหนองน้ำขุ่น ปราสาทสระตะกร้อ และปราสาทป่าอีหอ
             ปราสาททั้งสามหลังนี้ อยู่ในอำเภอปะคำ และอยู่ใกล้เคียงกันในแนวลำปลายมาศ ปราสาทหนองน้ำขุ่น อยู่ที่บ้านหนองน้ำขุ่น ตำบลหนองบัว ส่วนอีกสองแห่งอยู่ที่บ้านโคกปราสาท ตำบลไทยเจริญ
             จากการสำรวจยังไม่ทราบว่าสร้างขึ้นตามคตินิยมของลัทธิศาสนาใด ปราสาททั้งสามหลังเป็นอาคารก่ออิฐบนฐานศิลาแลง เสากรอบประตูยอดทำด้วยหิน เดิมมีคูน้ำล้อมรอบ
    ปราสาทบ้านไทยเจริญ
             ปราสาทแห่งนี้อยู่ที่บ้านโคกปราสาท ตำบลไทยเจริญ อำเภอปะคำ บริเวณที่ตั้งเป็นเนินผนังเรือนธาตุ และส่วนบนของปรางค์พังทลายลงหมดแล้ว ปัจจุบันบริเวณเนินปราสาทเป็นที่ตั้งตัวโบสถ์ ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
             จากชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ พอกำหนอได้ว่า ศาสนสถานแห่งนี้ น่าจะสร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗
    ปราสาททุ่งศรีสุข
             ปราสาทแห่งนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า ปราสาทโคกตาสุข หรือหนองตาสุข ตั้งอยู่ที่บ้านโคกงิ้ว ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ
             จากการสำรวจพบว่า เป็นเนินดินขนาด ๔๕ x ๕๐ เมตร มีคูน้ำกว้าง ๒๐ เมตร โดยรอบเป็นปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง อาจเป็นอโรคยาศาล และมีอายุอยู่ไม่เก่ากว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๘
    ปราสาทหนองหงส์
             ปราสาทหนองหงส์  ตั้งอยู่ที่บ้านโนนดินแดง ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง ได้ชื่อนี้มาจากชื่อสระน้ำขนาดใหญ่ ที่ชื่อว่าสระหนองหงส์ หรือสระนางหงส์
             ปราสาทหนองหงส์เป็นเทวสถานของชาวฮินดู สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ เป็นปราสาทสามองค์ ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ขนาด ๗ x ๑๘ เมตร ปรางค์องค์กลางมีมุขยื่นออกไป มีชาลากากบาทรับกับซุ้มประตู (โคปุระ) ทางเข้าด้านทิศตะวันออก ซึ่งก่อเป็นกำแพงศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบปรางค์ เว้นแต่ด้านตะวันตกมีซุ้มประตูก่อด้วยอิฐ แนวเดียวกับซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก ส่วนที่เป็นเสากรอบประตู ธรณีประตู ส่วนประดับกรอบประตูทำด้วยหินทราย แกะเป็นเรื่องราวตามคัมภีร์ของศาสนาฮินดู
    ปราสาทหนองตาสีหรือตาดำ
             ปราสาทหนองตาสี  ตั้งอยู่ที่บ้านโนนสมบูรณ์ ตำบลไทยเจริญ อำเภอปะคำ ได้เคยมีการสำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ได้กำหนดเป็นเขตโบราณสถานเป็นเนื้อที่ ๒ ไร่ ๓ งาน ๓ ตารางวา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕
             ปราสาทแห่งนี้ประกอบด้วยปรางค์ประธานก่อด้วยศิลาแลง เสากรอบประตูเป็นหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ยอดปรางค์พังทลายเหลือเพียงตอนล่าง มีซุ้มประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออก ด้านอื่น ๆ เป็นประตูหลอก ทางด้านใต้มีสิ่งก่อสร้างคล้ายห้อง ถัดจากกำแพงออกไปมีแนวลำคู ล้อมรอบแนวกำแพงสามด้าน เว้นแตด้านตะวันออกซึ่งเป็นทางเข้า สันนิษฐานว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ได้รับอิทธิพลแบบบาปวน
    กุฏิฤาษี
             กุฎิฤาษี เป็นโบราณสถานบนเนินเตี้ย ๆ อยู่ที่บ้านกุฎิฤาษี ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ชัยพจน์ เข้าใจว่าเป็นอโรคยาศาล หรือสุขสาลา สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งกัมพูชา ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ประกอบอาคารสองหลังภายในกำแพงศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๒๒ x ๓๐ เมตร มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันตก อาคารหลังใหญ่ สันนิษฐานว่า เป็นปรางค์สำหรับไว้รูปเคารพ อาจจะเป็นพระไภสัชยคุรุเทพแห่งการรักษาโรคเช่น ที่ปรากฏมีอยู่ในอโรคยาศาลอื่น ๆ ส่วนอาคารหลังเล็กเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปรางค์ประธาน ใกล้มุมกำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เข้าใจว่าเป็นอาคารปรุงยา หรือที่เก็บยา อาคารทั้งสองหลังมีโครงสร้างเป็นศิลาแลง มีเฉพาะเสากรอบประตู ธรณีประตู และส่วนประกอบอื่น เป็นทรายสลักลวดลายต่างๆ
             นอกกำแพงทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีสระน้ำกรุด้วยศิลาแลงขนาด ๔.๕ เมตร เป็นแหล่งน้ำใช้ในกิจกรรมของโบราณสถานแห่งนี้
    ปราสาททอง
             ปราสาททอง ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด เป็นโบราณสถานที่อยู่ในสภาพหักพังมาก มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า เป็นปราสาทอิฐบนฐานศิลาแลง มีชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมอื่น ๆ เป็นหินแต่สูญหายไปเป็นส่วนใหญ่ อาจเป็นโบราณสถานเช่นเดียวกับปราสาทเมืองต่ำ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖
    กุฎิฤาษีบ้านโคกเมือง

             โบราณสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย บางครั้งเรียกว่า กุฎิฤาษีเมืองต่ำ ประกอบด้วยปรางค์ศิลาแลง บางตอนมีหินทรายประกอบ ประตูด้านหน้าทำเป็นมุขยื่นออกมา ส่วนประตูอีกสามด้านเป็นกระตูหลอก บรรณาลัยทำด้วยศิลาแลง มีประตูสองชั้น ไม่มีหน้าต่างอยู่ภายในวงล้อมของกำแพงสิลาแลงที่มีส่วนประดับเป็นทับหลัง กำแพงทำด้วยหินรูปนาค รูปมกรคายนาค และกลีบบัวต่าง ๆ สันนิษฐานว่า สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ กุฎิฤาษีแห่งนี้มีรูปแบบแผนผังคล้ายอโรคยาศาล ที่นิยมสร้างกันในพุทธศตวรรษที่ ๑๘
    ปราสาทถมอ
             ปราสาทถมอ ตั้งอยู่ที่บ้านละหานทรายเก่า ตำบลหินลาด อำเภอบ้านกรวด คำว่าถมอแปลว่าหิน เป็นอาคารที่สร้างด้วยศิลาแลง มีเสากรอบประตู หน้าต่างเป็นหินทราย เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูเข้าด้านหน้า ผนังด้านใต้เจาะเป็นหน้าต่าง ๕ บาน ตอนใน (ด้านตะวันตก) มีอัฒจันทร์ของประตูชั้นในเข้าไปสู่ห้องชั้นใน ซึ่งมีแท่นวางรูปเคารพ ที่ห้องชั้นในสุดมีหลังคาเป็นรูปโดม ใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ ลักษณะอาคารเป็นรปแบบของที่พักคนเดินทาง สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ทางใต้ของอาคารมีสระน้ำประจำที่พักคนเดินทาง ใช้ในการอุปโภคและบริโภค
    โบราณสถานวัดโพธิย้อยหรือวัดบ้านประคำ
             ตัวโบราณสถานตั้งอยู่ที่วัดโพธิย้อย บ้านปะคำ ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ เป็นศาสนสถานสร้างด้วยศิลาแลง มีส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นหินทราย รอบ ๆ อาคารมีเสาหินลักษณะพิเศษ สลักเป็นรูปฤาษีนั่งชันเข่าอยู่ในซุ้ม มีแผ่นหินรูปในเสมา ตอนกลางเป็นรูปสถูป
             จากการสำรวจพบว่าโบราณวัตถุ หรือส่วนประกอบสถาปัตยกรรมบางชิ้น เคลื่อนย้ายจากปราสาทหลายแห่ง ที่อยู่บริเวณนี้ และเข้าใจว่าแถบนี้เป็นชุมชนพุทธศาสนามาก่อน และตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ เมื่ออิทธิพลของศาสนาฮินดูมีมากขึ้น พุทธสถานบางแห่งอาจถูกดัดแปลงเป็นเทวาลัย หลักหินก็ถูกนำมาแกะสลักเป็นภาพฤาษีตามคติในศาสนาฮินดู ในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเฟื่องฟู จึงมีสิ่งก่อสร้างในรูปของปราสาทหลายแห่ง เป็นศิลปแบบบาปวน ส่วนใบเสมาลวดลายสถูปและธรรมจักร มีลักษณะคล้ายคลึงกับใบเสมาเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นชุมชนพุทธศาสนาสำคัญในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕
    ปราสาทละลมทม
             ตัวปราสาท ตั้งอยู่ที่บ้านศรีสุข ตำบลโนนเจริญ อำเภอบ้านกรวด ได้ถูกทำลายลงไปมาก ทำให้ไม่สามารถกำหนดอายุที่แน่นอนได้ ตัวปราสาทแต่เดิมประกอบด้วยปรางค์ประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ด้านปรางค์ประธานและด้านใต้ ปรางค์และอาคารก่อด้วยอิฐ อยู่ในวงล้อมของกำแพงสิลาแลง ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมทำด้วยหินทราย
    ปราสาทเขาไปรมัด
             ตัวปราสาทตั้งอยู่บนยอดขอบปากปล่องภูเขาไฟตอนที่สูงที่สุด ที่บ้านโคกเมือง ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย
             จากการสำรวจพบว่า รูปร่างของอาคารแห่งหนึ่งเป็นรูปปรางค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง ก่อหินทรายประกอบอิฐ ใช้หินทรายสร้างองค์ประกอบที่ต้องใช้ความแข็งแรง ส่วนอิฐก่อเป็นแนวผนังหน้าบันผนังด้านในมีทับหลังหินทรายโกลนเป็นรูปไว้ เข้าใจว่าเป็นปราสาทที่สร้างไม่แล้วเสร็จ อาคารอีกหลังหนึ่งเป็นอาคารศิลาแลงก่อทั้งหลัง โดยมีส่วนประกอบเป็นหินทราย
             ศาสนสถานแห่งนี้น่าจะสร้างเพื่อเป็นประติมากรรมของพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ในพุทธศตวรรษที่ ๑๕

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |