| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

เล่ม ๒๐ ฝาเรือน - พานทอง         ลำดับที่ ๓๗๓๔ - ๓๙๕๓  ๒๐/ ๑๒๕๐๙ - ๑๓๑๗๙

            ๓๗๓๔.  ฝาเรือน  เป็นเครื่องกั้นรอบตัวเรือน หรือในตัวเรือน ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้มีชื่อเรียกตามวัสดุที่ใช้ทำ ตามหน้าที่ใช้สอยและเทคนิคการสร้างที่แตกต่างกัน บางทีในแต่ละถิ่นเรียกไม่เหมือนกันก็มี ฝาเรือนไทยมีชื่อเรียกกันมากมายหลายอย่าง พอจัดประเภทได้ดังนี้
                      จำแนกตามลักษณะของเรือน  มีฝาเรือนเครื่องผูก และฝาเรือน เครื่องสับ
                      ๑. ฝาเรือนเครื่องผูก  เรือนเครื่องผูก เป็นเรือนขนาดย่อม ปลูกใช้ชั่วคราว วัสดุมุงเป็นพืชที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น คา จาก ตองตึง ฝาเรือนเครื่องผูก จึงใช้วัสดุประเภทเดียวกัน ส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่ขัด หรือสานในลักษณะต่าง ๆ ฝาอย่างนี้ภาคเหนือเรียก ฝาไม้บั่ว ภาคใต้ เรียก ฝาจาก
                      ๒. ฝาเรือนครื่องสับ หรือฝากระดาน  ภาคเหนือเรียก ฝาไม้เแป้น ภาคใต้เรียก ฝาไม้ดาน เป็นฝาเรือนที่ใช้ไม้จริงประกอบเป็นส่วนใหญ่ ฝาเรือนเครื่องสับนี้แยกประเภทออกไปได้มาก ตามวิธีการก่อสร้างที่ต่างกัน
                      จำแนกตามหน้าที่ใช้สอย
                      ๓.ฝาประจำห้อง หรือฝาด้านแป หรือฝาด้านรี หรือฝาขนาน เป็นฝาด้านข้างของตัวเรือน ซึ่งมีธรรมเนียมต้องยกขึ้นตั้งก่อนฝาด้านอื่น มักประกอบด้วยแผ่นฝา และช่องหน้าต่าง
                      ๔. ฝาหุ้มกลอง หรือฝาด้านขื่อ เป็นฝาด้านสกัดของตัวเรือน มักประกอบด้วยแผ่นฝา และช่องหน้าต่าง ฝาสกัดแผ่นหลังของตัวเรือนทางภาคเหนือ เรียกว่า ฝาก้นตุ
                      ๕. ฝาประจัน หรือฝากั้นห้อง เป็นฝาด้านขื่อที่กันแบ่งห้องกลางเรือน มักประกอบด้วยแผ่นฝาและช่องประตู
                      ๖. ฝาเสี้ยว   เป็นฝาปิดหัวท้ายระเบียงของเรือนไทยภาคกลาง หน้าต่างที่ฝาเสี้ยวนิยมทำกรอบเช็ดหน้า เป็นรูปกรอบแปดเหลี่ยม หรือกรอบโค้งด้านบนก็มี
                      ๗. ฝาหน้าถัง  เป็นฝาที่เปิดได้โล่งเต็มหน้าถัง คือ ขนาดกว้างของห้อง โดยทำเป็นกรอบราง รอบตัวใส่ไม้กระดานตามแนวตั้งทีละแผ่น
                      ๘. ฝาหับเผย  เป็นฝาที่เกิดทั้งแผง แล้วใช้ไม้ค้ำยันไว้
                      ๙. ฝาเฟี้ยม  เป็นวิวัฒนาการของฝาเรือนหน้าถัง ในสมัยต่อมา แทนการใช้บานเลื่อนแต่ละแผ่นประกอบเป็นฝา ได้เปลี่ยนมาติดบานพับโลหะ แต่ละบานฝาเข้าด้วยกัน อาจพับไปมาได้เป็นฉากพับ
                      ๑๐. ฝาเกล็ด  เป็นแผ่นฝาที่มีกรอบแบ่งเป็นช่อง ข้างในช่องกรอบ แทนที่จะกรุด้วยแผ่นกระดาน กลับใส่เกล็ดไม้จริง หรือใบปรี ตามแนวนอน เพื่อให้ฝาโปร่งระบายอากาศได้
                      ๑๑. ฝาไหล  นิยมทำกันเฉพาะภาคกลางตอนบน และภาคเหนือ ลักษณะเป็นฝากระดานตีตั้งช่อง ภายในมีรางไม้ วางฝากระดานช่องเว้นช่องอีกชุดหนึ่ง เลื่อนไหลไปมาได้เพื่อให้แสงและอากาศเข้ามากหรือน้อยได้ตามความต้องการ
                      จำแนกตามเทคนิคการสร้าง
                      ๑๒. ฝากรุ  โครงฝาอาจใช้ไม้ไผ่หรือไม้จริงก็มี ถ้าไม่ได้กรุด้วยไม้กระดานแล้วจะเรียกว่า ฝากรุ ฝาที่กรุด้วยแผงไม้ไผ่ลายขัดอย่างที่เรียกว่า ลำแพน ก็เรียกว่า ฝาลำแพน ถ้ากรุด้วยวัสดุอย่างอื่น เช่น จาก หรือใบตาล โดยมีโครงสร้างเป็นไม้ไผ่เรียกว่า ฝากระแชงอ่อน
                      ๑๓. ฝาลายอำ  เป็นชื่อฝาเรือนภาคเหนือที่ทำจากผิวไผ่ขัด ลายก้างปลา
                      ๑๔. ฝาลายตาน  ใช้ผิวไผ่ขัดลายขัดธรรมดา หรือลายสอง
                      ๑๕. ฝาขัดแตะ  ใช้ไม้รวกหรือไม้ไผ่ผ่าซีก เป็นตัวนอนขัดขึ้นลงตามแนวตั้งด้วยไม้ไผ่ซีกที่เล็กกว่า ฝาชนิดนี้โปร่งอากาศ จึงนิยมใช้ทำฝาเรือนครัว
                      ๑๖. ฝาขัดแตะพอกดิน  เป็นฝาขัดแตะที่พอก หรือฉาบดินเหนียวผสมฟาง หรือมูลวัว มูลควาย ใช้กับน้ำได้นิยมใช้ทำฝายุ้งข้าวทั่วไป
                      ๑๗. ฝาปะกน  (ดู ปะกน - ลำดับที่...)
                      ๑๘. ฝาปะกนเจียด หรือฝาปะกนลูกฟัก  หรือฝาลูกฟักกระดานเจียด ลักษณะเหมือนฝาปะกน แต่มีลูกปะกนเจียดริมที่สี่ด้าน เผ้ลลงเข้าหาลูกตั้งและลูกคั่น คงปล่อยผิวหน้าตอนกลางให้เรียบตามเดิม
                      ๑๙. ฝาลูกฟัก  ลักษณะเหมือนฝาสายบัว แต่พื้นที่ระหว่างลูกตั้งกว้างกว่า ตัวลูกฟักเจียดเผ้ล หรือไม่เจียดก็ได้
                      ๒๐. ฝาสายบัว  ลักษณะเหมือนฝาปะกน แต่ช่วงกลางมีแต่ลูกตั้ง ไม่มีลูกนอนหรือลูกเซ็น
                      ๒๑. ฝาสำหรวด  ลักษณะเหมือนฝาสายบัว ที่มีลูกปะกนในช่องขนาบข้าง หน้าต่างทำด้วยไม้ไผ่ ฝาสำหรวดเท่ากันหลายอย่างสุดแต่จะทำกัน
                      ๒๒. ฝาแป้นหลั่ง  เป็นชื่อฝาเรือน ทางภาคเหนือซึ่งประกอบด้วยกระดานแผ่นใหญ่ เรียงตามตั้งตลอดทั้งฝา
                      ๒๓. ฝาตาก  เป็นชื่อฝาเรือนทางภาคเหนือแถบหนึ่ง ซึ่งแบะออกด้านบน จากเสาเอนไปตามแนวเท้าแขน ทั้งกระแบะ
                      ๒๔. ฝาแม่ม่าย  เป็นฝาเรือนด้านขนาน ซึ่งไม่มีบานประตู มีแต่กรอบเช็ดหน้า มีช่องประตูเปิดกว้างกว่าช่องประตูปกติ
                      ๒๕. ฝาเชี่ยน  เป็นฝาเรือนด้านขนานซึ่งไม่มีบานประตู และกรอบเช็ดหน้า มีแผ่นฝากว้างช่วงปะกนเดียว ด้านข้างปล่อยเป็นเสาลอย
                      ๒๖. ฝาทางจาก  ใช้จากทั้งทางฉีก ฉีกออกจากกันเป็นสองซีก นำมากรุเป็นฝา บางท้องที่เรียกว่า ขัดแตะมอญ
                      ๒๗. ฝาทางระกำ  ใช้ทางระกำ ซึ่งริดใบออกให้หมด เอามากรุเป็นลูกตั้ง ผูกติดกันให้มั่นกับไม้คร่าวฝา เรียงลำดับไปคล้ายลูกระนาด
                      ๒๘. ฝาหอยโข่ง  ทำด้วยไม้ไผ่กรุจากสำเร็จเป็นแผง ๆ
                      ๒๙. ฝาฟาก  ใช้ไม่ไผ่ทั้งลำ นำมาสับเป็นฟากแผ่ออกเป็นแผ่น นำมากรุทำเป็นฝาโดยลำดับ ผืนฟากตั้งขึ้นแล้วผูกติดกับไม้คร่าว ที่อยู่ด้านหลังในตัวเรือนกับมีไม้ขนาบหลังฟากที่อยู่ด้านนอก
                      ๓๐. ฝาเหลว  เป็นฝาเรือนเครื่องผูกแบบหนึ่งของพวกโซ่ง ทำด้วยซี่ไม้ไผ่ขัดเป็นตา รูปสี่เหลี่ยมขนาดกำปั่นลอดได้ ใช้กรุภายในตัวเรือน
                      ๓๑. ฝาสอด  มีโครงสร้างคล้ายฝาหอยโข่ง ต่างแต่ว่าใช้ใบตาลอ่อนสอดลงไปในช่อง ระหว่างลูกนายฝาแทนใบจาก เป็นฝาเรือนในชนบททางภาคใต้เป็นส่วนมาก
                      ๓๒. ฝาทางมะพร้าว  ลักษณะของแบบและการวิธีการกรุ โดยลำดับทางมะพร้าวเข้าเป็นฝา เหมือนกันกับฝาทางจาก
            ๓๗๓๕. ฝิ่น ๑  เป็นพืชล้มลุก มียางขาว ช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตจากเมล็ด จนเป็นต้นให้ดอกให้ผลและตาย ใช้เวลาประมาณหนึ่งปี ใบเป็นใบเดี่ยว ส่วนใหญ่เรียงตัวแบบสลับข้อละหนึ่งใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดใหญ่ ๕ - ๘ ซม. มีหลายสี เช่น ขาว ชมพู แดง และม่วง ผลค่อนข้างกลมปลายสอบเล็กน้อย เมล็ดเล็กมีจำนวนมากมาย มีสีต่าง ๆ กัน
                    ฝิ่น เริ่มปลูกครั้งแรกทางเมดิเตอเรเนียน แล้วจึงแพร่มาทางอิหร่าน อินเดีย จีน และตลอดเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากยางฝิ่นมีสารที่มีฤทธิ์เสพย์ติด จึงจัดว่าฝิ่นเป็นพืชเสพย์ติดตามกฎหมาย การปลูกฝิ่นและมีฝิ่นไว้ในครอบครอง จึงเป็นการผิดกฎหมาย มีองค์การควบคุมยาเสพย์ติด ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ ทำหน้าที่ควบคุมการปลูกฝิ่นของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ มีบางประเทศได้รับอนุมัติให้ปลูกฝิ่นได้ เช่น ตุรกี และยูโกสลาเวีย
                    ต้นฝิ่นที่ปลูกจากเมล็ด จะเริ่มออกดอกเมื่ออายุประมาณหกเดือน และเจริญเป็นผลอ่อนในระยะหนึ่งถึงสองเดือนต่อมา การกรีดยางฝิ่นต้องกรีดจากผลอ่อน น้ำยางที่กรีดออกมาทีแรกมีสีขาว เมื่อถูกอากาศจะแข็งตัวขึ้น และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนเทา เรียกว่า ฝิ่นดิบ มีรสขม ในยางฝิ่นมีสารประกอบประเภทอัลคาลอยด์เกือบ ๒๕ ชนิด ที่สำคัญคือ มอร์ฟีน โคเดอีน และปาปาเวอรีน ซึ่งมีสรรพคุณในการเป็นยารักษาโรคถ้าใช้อย่างถูกต้อง มอร์ฟีน เป็นยาแก้ปวดที่ดีมาก และเป็นยานอนหลับ ปาปาเวอรีน เป็นยาแก้ปวดเมื่อย ทำให้กล้ามเนื้อคลาย ส่วนโคเคอีน ใช้ระงับอาการไอ แอลคาลอยด์ทั้งสามชนิดนี้ ต่างมีฤทธิ์เสพย์ติดแต่มอร์ฟีนมีฤทธิ์แรงที่สุด ผลของการเสพติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้มีอาการซึม ตาลาย การเห็นภาพต่าง ๆ ผิดปรกติ ระบบประสาทถูกทำลาย ขาดความรู้สึกตัว และอาจถึงแก่ความตาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา
                    เมล็ดฝิ่นไม่มีฤทธิ์เสพติด นำมาบดและใช้ประกอบอาหารอ่อนสำหรับเด็กและคนชรา เป็นอาหารที่มีประโยชน์เนื่องจากมีทั้งคาร์โบไฮเดรท โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ น้ำมันจากเมล็ดฝิ่นใช้ผสมสี ทำน้ำมันชักเงา หรือเติมไอโอดีนแล้วทำเป็นยารักษาโรคคอพอก
            ๓๗๓๖. ฝิ่น ๒  เป็นผลิตผลที่ได้จากต้นฝิ่น เมื่อกรีดผลอ่อนของต้นฝิ่น จะได้น้ำยางสีขาว ซึ่งจะกลายเป็นสีน้ำตาล เมื่อทิ้งให้แห้งแข็ง หากนำมาเคี้ยวจะได้สารข้นเหนียวหนืดสีน้ำตาล เรียกกันทั่วไปว่าฝิ่น นำไปใช้สูบได้ เป็นยาเสพติดอย่างแรง
                    ฝิ่นประกอบด้วยสารอินทรีย์ประเภทอัลคาลอยด์มากกว่า ๒๐ ชนิด ทั้งมีสารประเภทโปรตีน พืช น้ำตาล เกลือ สะเตียรอยด์พืชปนอยู่ด้วย
                    ปัจจุบันได้มีการนำมอร์ฟีนในฝิ่นมาใช้สังเคราะห์เฮโรอีน ซึ่งเป็นยาเสพติดอย่างแรง และเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพ
                    ฝิ่นเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เช่นในรัชกาลที่สาม (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๙๔) โปรด ฯ ให้โรงพิมพ์หมอบรัดเล พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่น ๙,๐๐๐ ฉบับ
                    ชาวจีนรู้จักการทำยางจากต้นฝิ่น เป็นฝิ่นมาตั้งแต่โบราณกาล ต้นฝิ่นเป็นที่รู้จักกันในประเทศจีนมาเป็นเวลาอย่างน้อย ๑๒ ศตวรรษ ใช้ประโยชน์เป็นยามาเป็นเวลา ๙ ศตวรรษ และการปราบฝิ่นของจีนเป็นสาเหตุข้อหนึ่งที่จีนต้องทำสงครามฝิ่นกับอังกฤษ
                    การปลูกฝิ่นได้กระจายมาทางภาคใต้ของจีน สู่ภาคเหนือของไทยการค้าฝิ่น และการสูบฝิ่น ก็กระทำกันได้ตามสนธิสัญญาแบบเบาริง ที่ไทยได้ลงนามกับประเทศตะวันตกหลายประเทศในรัชกาลที่สี่
                    ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๗ ให้เลิกการเสพฝิ่น และยกเลิกการจำหน่ายฝิ่นทั่วราชอาณาจักร        ๒๐/ ๑๒๕๒๗
            ๓๗๓๗. ฝิ่นแคลิฟอร์เนีย  เป็นไม้ประดับชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับฝิ่น เป็นดอกไม้ประจำมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายฤดูกาล ต้นสูง ๓๐ - ๔๖ ซม. มีน้ำยางใส ๆ อยู่ในลำต้น ใบเดี่ยวสีเขียวอมเทาและมีนวล ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ - ๘ ซม. สีเหลืองอ่อนหรือสีส้ม ตรงโคนกลีบสีแดงเข้ม ดอกตูม ปลายแหลม ผลรูปร่างเรียวยาว ขนาดยาว ๘ - ๑๐.๕ ซม. ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ชาวอินเดียแดงในรัฐแคลิฟอร์เนียใช้ใบบริโภคเป็นผัก โดยวิธีต้มหรือย่าง         ๒๐/ ๑๒๕๓๖
            ๓๗๓๘. ฝิ่นน้ำ  เป็นพันธุ์ไม้น้ำชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความสวยงามทั้งดอกและใบ เนื่องจากลักษณะดอกคล้ายฝิ่น จึงเรียกกันว่าฝิ่นน้ำ ลักษณะคล้ายบัวต้นเล็ก ๆ มีลำต้นทอดยาวไปตามน้ำ และแตกรากที่ข้อเป็นระยะ ๆ ใบส่วนใหญ่จะลอยน้ำ แผ่นใบรูปไข่ค่อนข้างกว้างหรือกลม ผิวใบด้านบนเกลี้ยง สีเขียวเป็นมัน ฐานใบเว้าคล้ายรูปหัวใจ ก้านใบยาว ใบและดอกเจริญออกมาจากข้อ ตรงซอกของแผ่นใบประดับ ดอกสีเหลืองสด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ ซม.        ๒๐/ ๑๒๕๓๗
            ๓๗๓๙. ฝิ่นหนาม  เป็นไม้ประดับชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับฝิ่น แต่ต่างสกุลกัน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเม็กซิโก เป็นพืชล้มลุก มีน้ำยางสีเหลือง สูง ๓๐ - ๖๐ ซม. ใบเดี่ยว ไม่มีก้านใบ ดอกคล้ายฝิ่น แต่ขนาดใหญ่กว่า สีเหลืองหรือสีส้ม ผลรูปร่างค่อนข้างยาว
                    ฝิ่นหนามชอบแดดจัด นอกจากใช้เป็นไม้ประดับแล้ว น้ำมันจากเมล็ดยังใช้ทำสบู่แและเป็นเชื้อเพลิงสำหรับจุดตะเกียงได้ด้วย        ๒๐/ ๑๒๕๓๘
            ๓๗๔๐. ฝี  เป็นการอักเสบเนื่องจากโรคติดเชื้อ แล้วทำให้เกิดหนองซึ่งเกิดจากการสลายของเนื้อเยื่อ และตัวเชื้อโรค ซึ่งเป็นสาเหตุอยู่ในโพรงหนอง ล้อมรอบด้วยเนื้อเยื่อที่ดี เชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุ อาจเป็นตัวปรสิต เชื้อรา บัคเตรีหรือไวรัสก็ได้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายคนล้วนทำให้เกิดฝีขึ้นได้ทั้งนั้น
                    เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้สามทางด้วยกันคือ
                    ๑. เข้าทางบาดแผลที่ผิวหนัง หากไม่ได้รับการบำบัดรักษาก็จะเกิดเป็นฝีขึ้นตรงตำแหน่งนั้น ๆ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีอาการและอาการแสดงเด่นชัด
                    ๒. เข้าทางอากาศหายใจ ทำให้เกิดฝีขึ้นได้ โดยเฉพาะแถวต่อมทอนซิล และฝีในปอด เป็นต้น
                    ๓. เข้าทางระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะพวกปรสิต เชื้อบิดอะมีบา นอกจากทำให้เกิดแผลในลำไส้ใหญ่ ทำให้มีอาการถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดบ่อย ๆ แล้วเชื้อบิดอะมีบา ยังไปทำให้เกิดเป็นฝีในตับได้อีกด้วย        ๒๐/ ๑๒๕๓๘
            ๓๗๔๑. เฝือก ๑  คือเครื่องกั้นน้ำดักปลา เป็นเครื่องจับสัตว์น้ำ ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าและเหลาเป็นซีก ขนาดใหญ่เท่ากับก้านตับจากมุงหลังคา หรือใหญ่กว่าเล็กน้อย แล้วถักด้วยหวายให้เป็นแผง ตามปรกติแผงหนึ่งยาวประมาณ ๘ - ๑๐ เมตร ขนาดสูงของเฝือกนั้นสุดแท้แต่จะใช้ในน้ำลึกเท่าใด
                    วิธีการใช้เฝือกนี้ ใช้ทำการตั้งกั้นลำคลอง หรือใช้ล้อมรุกสัตว์น้ำเป็นตอน ๆ เพื่อสดวกแก่การจับ บางคราวใช้ประกอบกับเครื่องจับสัตว์น้ำบางชนิดเช่นลอบ ใช้ทำเป็นปีกเพื่อกั้นสัตว์น้ำให้ลงสู่ตัวลอบ มีใช้ทั่วไปทั้งในน่านน้ำจืดและน้ำเค็ม
                    เฝือกกางกั้น  มีลักษณะคล้ายคลึงกับเฝือกรัง ชาวประมงกางเฝือกนี้ออกเมื่อเวลาน้ำขึ้น เพื่อกั้นไม่ให้ปลาหนีออก และจะจับสัตว์น้ำขณะน้ำลดต่ำ
                   เฝือกโขด  เป็นอย่างเดียวกับเฝือกล้อม แต่เรียกเพี้ยนไปอีกชื่อหนึ่ง
                   เฝือกตานี  เหมือนกับเฝือกรัง แต่มีชื่อเรียกเพี้ยนไปอีกชื่อหนึ่ง
                   เฝือกรัง  แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งทำเป็นวงซ้อนกันเรียกว่า สุก หรือก้นขัง ใช้เฝือกทำปีกตั้งกางออกไปจากปากสุกเป็นมุมประมาณ ๖๐ - ๙๐ องศา ไปจดริมตลิ่งใช้จับปลาเมื่อน้ำลด
                   เฝือกล้อม  ใช้เมื่อเวลาน้ำลง ชาวประมงจะนำเฝือกชนิดนี้ไปล้อมเป็นรูปวงกลมตามชังหรือกร่ำที่ปักไว้ รอให้น้ำลงจึงทำการจับสัตว์น้ำที่ตกขังอยู่ภายใน
            ๓๗๔๒. เฝือก ๒  เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการแพทย์ เพื่อดามกระดูกและข้อมีหลายชนิดตามแต่วัสดุที่ใช้ ปัจจุบันเผือกปูนเป็นเฝือกที่ได้รับความนิยมใช้กันแพร่หลายมากที่สุด         ๒๐/ ๑๒๕๔๒
                     เฝือกปูน  ทำด้วยปูนปลาสเตอร์ วิวัฒนาการของเฝือกปูนเริ่มมาก่อน ๑,๐๐๐ ปี คือ มีการใช้แคลเซียมออกไซด์ผสมไข่ขาวทำเป็นเฝือกในปี พ.ศ.๒๓๔๑ มีผู้ใช้ปูนปลาสเตอร์หล่อหุ้มเท้าเพื่อเป็นเฝือกรักษาโรคเท้าปุก วิธีเคลือบผงเฝือกให้ติดกับโครงผ้าโปร่ง เพิ่งเริ่มทำเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ นี้เอง
                     เฝือกสังเคราะห์  ทำด้วยสารสังเคราะห์มีหลายชนิด ชนิดเป็นแผ่นเวลาใช้จึงตัดให้เป็นรูปที่ต้องการไว้จนเฝือกแข็งตัวคงรูป ขอดีคือ มีน้ำหนักเบาและแข็งกว่าเฝือกปูน เวลาถูกน้ำจะไม่ยุ่ยตัวเหมือเฝือกปูน
                     เฝือกลม  เป็นถุงพลาสติกมีที่เก็บลม เมื่อเป่าถุงลมจะพองตัวรัดแขน ขาโดยรอบเป็นการดามชั่วคราว ใช้ในการปฐมพยาบาลและขนย้ายผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุ เมื่อเลิกใช้ปล่อยลมพับเก็บได้
                     เฝือกผ้าใบ  ทำด้วยผ้าใบแข็งถอดและใส่ได้ เพื่อทำให้ส่วนที่เป็นอยู่ในท่าที่ต้องการ เช่น เฝือกผ้าใบที่ใช้กับข้อมือ ถ้าเป็นเฝือกผ้าใบขนาดใหญ่ใส่กระชับเอว หรือสันหลังเสริมความแข็งด้วยแผ่นโลหะหรือพลาสติก
                     เฝือกโลหะ  ทำด้วยโลหะเบา เช่น อะลูมิเนียมบางชนิดเป็นเฝือกสำเร็จรูปที่ใส่และถอดได้ เช่น เฝือกทางไหล่ เฝือกโลหะบางอย่างทำเป็นโครงสำหรับใส่แขน ขาในการดึงถ่วงกระดูกหักเพื่อการรักษา
                     เฝือกไม้  ทำด้วยไม้เป็นซี่แล้วถักเป็นเชือกให้ต่อกัน มีลักษณะคล้ายมู่ลี่ หรือลูกระนาดใช้ดามกระดูกหักในการแพทย์แผนโบราณ
            ๓๗๔๓. แฝก  เป็นชื่อพันธุ์ไม้ประเภทหญ้าชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายหญ้าคา หรือตะไคร้ แต่ขนาดใหญ่กว่า เป็นหญ้าอายุยืนขึ้นเป็นกอแน่นและขนาดใหญ่ ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในอินเดีย และศรีลังกา ใบยาวแคบและแข็งยาว ๗๕ ซม. ก้วาง ๘ มม. ช่อดอกยาว ๑๕ - ๓๐ ซม. แตกแขนงได้
                    เนื่องจากมีน้ำมันระเหยหอม จึงเรียกว่า น้ำมันแฝกหอมใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมต่าง ๆ นอกจากนั้นรากแฝกมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นไม้จันทร์ใช้ทำเสื่อ กระเป๋า ม่าน และพัด ใช้อบผ้าให้มีกลิ่มหอมและกันแมลง
                    แฝกอีกชนิดหนึ่งพบในแอฟริกาใบกระด้างใช้ทำเป็นตับมุงหลังคาและทำฝาบ้านแบบใบจาก แฝกชนิดนี้ไม่มีในประเทศไทย         ๒๐/ ๑๒๕๔๕
            ๓๗๔๔. แฝด  เป็นคำคุณศัพท์ประกอบนาม นามอาจเป็นผลไม้หรือสัตว์ ผลไม้ที่พบบ่อยคือ กล้วย ถ้ามีลูกติดกันเรียกว่า กล้วยแฝด สัตว์บางชนิดที่ปรกติออกลูกมากกว่าหนึ่งตัว ไม่เรียกว่ามีลูกแฝด คงเรียกลูกแฝดเฉพาะในสัตว์พวกไพรเมต ซี่งมี มนุษย์ ลิง และลิงใหญ่คือ ลิงไม่มีหาง (เอพ) รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากสัตว์พวกนี้รวมทั้งมนุษย์ด้วยมีลักษณะพิเศษผิดกับสัตว์ชั้นต่ำ คือ
                    ลักษณะประการที่หนึ่ง มีมดลูกเหมาะสำหรับเป็นที่เจริญเติบโตของลูกตัวเดียว ฉะนั้นถ้าเกิดมากกว่าหนึ่งตัว หรือหนึ่งคน จึงเรียกว่า มีลูกแฝด
                    ลักษณะประการที่สอง คือ จะมีนมเพียงคู่เดียวอยู่ที่บริเวณหน้าอกจึงเหมาะที่จะเลี้ยงลูกทีละตัวหรือคน         ๒๐/ ๑๒๕๔๖
            ๓๗๔๕. แฝดน้ำ  คือ ภาวะที่มีจำนวนน้ำคร่ำ (น้ำหล่อทารก) มากกว่าปรกติ คือ เกิน ๒,๐๐๐ มล. เมื่ออายุครรภ์ประมาณ ๓๖ สัปดาห์ จะมีน้ำคร่ำปรกติเพียง ๑ ลิตร หลังจากนั้นปริมาตรจะค่อย ๆ ลดลง เมื่อครรภ์เกินกำหนดปริมาตรจะลดเหลือเพียง ๒๐๐ - ๓๐๐ มล. การเพิ่มปริมาตรของน้ำคร่ำที่ค่อยเป็นค่อยไปเรียกว่า แฝดน้ำเรื้อรัง
                    เมื่อปริมาตรของน้ำคร่ำเพิ่มขึ้นมากทันทีทันใดมดลูกจะขยายมากภายในเวลา ๒ - ๓ วัน เรียกว่า แฝดน้ำเฉียบพลัน         ๒๐/ ๑๒๕๕๕
            ๓๗๔๖. แฝดเลือด  คือ การมีเลือดออกมากหรือการตกเลือด (ทางช่องคลอด) ก่อนการคลอดลูก สาเหตุของแฝดเลือดที่พบได้บ่อย ๆ คือ ภาวะรกเกาะต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดในผู้ป่วยตั้งครรภ์มาแล้วหลาย ๆ ครั้ง (ครรภ์หลัง ๆ ) เมื่อเกิดแฝดเลือดขึ้นคราวใดก็จะเป็นผลให้ทั้งมารดา และทารกเป็นอันตรายได้มาก
                    นอกจากนี้ในมารดาที่มีภาวะรกลอกตัวก่อนเวลาชนิดรุนแรงก็จัดอยู่ในเรื่องของแฝดเลือด เช่นกัน นับเป็นภาวะที่ทำให้อัตราตายทั้งในมารดาและทารกเพิ่มสูงขึ้น         ๒๐/ ๑๒๕๕๙
            ๓๗๔๗. ไฝ  เป็นจุดหรือตุ่มนูนที่ปรากฏบนผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของเซลล์ที่มีการแบ่งตัวและมีพฤติกรรมที่ผิดไปจากเซลล์ปรกติ การเรียกชื่อ เรียกตามสีที่ปรากฏ คือ
                    ไฝดำ เกิดจากการที่มีการรวมกลุ่มของเซลล์ที่สร้างสี แต่ยังสร้างสีเมลานินได้ เมื่ออยู่รวมกันมากๆ ทำให้เป็นสีดำ
                     ไฝแดง เกิดจากการที่มีการรวมกลุ่มของเซลล์เป็นส่วนประกอบของผนังหลอดเลือด ทำให้มีหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น มีเลือดไหลผ่านมากไป ซึ่งเห็นเป็นตุ่มสีแดง
                   การเกิดไฝยังไม่มีใครทราบว่ามีภาวะใดที่กระตุ้นให้เกิดได้ ดังนั้นไฝจะปรากฏเมื่อไรก็ได้        ๒๐/ ๑๒๕๖๐

            ๓๗๔๘. พ  พยัญชนะตัวที่ ๓๐ ของพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรต่ำเป็นตัวที่ห้าของวรรคที่ห้าใช้เป็นตัวสะกดในแม่กบในคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต เช่น บรรพ  สรรพ  ภาพ ชีพ ในภาษาไทยจัดเป็นพยัญชนะพวกอโฆษะ คือ มีเสียงไม่ก้อง
                   ในอักขรวิธีภาษาไทย พ จัดอยู่ในพวกอักษรคู่ มีเสียงคู่กับอักษร ผ เมื่อนำไปผันรวมกันและเรียงเสียงให้เข้าระดับกันแล้วจะได้เสียงวรรณยุกต์ครบห้าเสียง        ๒๐/ ๑๒๕๖๑
            ๓๗๔๙. พกาพรหม  เป็นชื่อพระพรหมองค์หนึ่งสถิตอยู่ในพรหมโลกชั้นมหาพรหม คนทั่วไปเรียกว่า ท้าวผกาพรหม เป็นผู้ที่ยึดมั่นในมิจอาทิฐิ ฝ่ายสัสตทิฐิ คือ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยงแท้ไม่แปรผัน ขัดแย้งต่อหลักสัจธรรมของพระพุทธศาสนา ครั้นพระพุทธเจ้าทรงทรมานแล้วตรัสสอนให้ใช้วิจารณญาณหยั่งเห็นความจริงว่า ทุกสิ่งเป็นไปตามอำนาจของบุญกรรม และบาปกรรมที่ทำให้คนมีฐานะสูงต่ำตามควรแก่เหตุ แล้วตรัสกำชับให้ใช้ปัญญาสังเกตุความไม่จีรังยั่งยืนของสมบัติ และความสุขทุกสถาน ซึ่งแม้แต่อารมณ์ทางใจก็ไม่ยืนนานในที่สุดพกาพรหมได้ใช้วิจารณญาณหยั่งรู้ความจริงทำลายมิจฉาทิฐิที่ยังฝังใจมานาน ให้กลับกลายเป็นสัมมาทิฐิ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรมจบลง พกาพรหมได้สำเร็จโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลมอบตนเป็นสาวก
                    เรื่องนี้มีปรากฏอยู่ในพรหมนิมันตสูตร มัชฌิมนิกาย สุตตันตปิฎก
                    อาศัยเค้าเรื่องแห่งพุทธจริยาปางนี้ คนโบราณถอดความมาเล่าเป็นนิทานตั้งเรื่องว่าพกาพรหมเล่นซ่อนหาข้าว พระพรหมเล่นซ่อนหาบ้าง และนิยมสร้างพระพุทธรูปขึ้นปางหนึ่งเรียกว่า "ปางโปรดพกาพรหม" พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถยีนทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ พระหัตถ์ทั้งสองประสานอยู่ที่พระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายอยู่ในอาการสังวร จงกรมอยู่บนเศียรพกาพรหม     ๒๐/ ๑๒๕๖๒
            ๓๗๕๐. พง ๑ - หญ้า  ใช้เรียกชื่อหญ้าสามชนิด คือ
                     ๑. หญ้าพง  อาจมีชื่อเรียกทั่วไปว่าแขม หญ้าแซง หรือหญ้าระกำ ลักษณะทั่วไปคล้ายอ้อยป่า เป็นหญ้าข้ามฤดู ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. สูงประมาณ ๒ เมตร ใบขนาดประมาณ ๕๕ x ๒ ซม. ขอบใบคม ช่อดอกแคบมีกิ่งก้านแตกออกจากที่ที่เดียวกันรอบแกนกลางของช่อดอก
                     ๒. หญ้าพง อาจมีชื่อเรียกทั่วไปว่า เลา แขมดอกขาว คาหลวง (ภาคเหนือ) อ้อยเลา (ลพบุรี) ลักษณะทั่วไปคล้ายอ้อยขึ้นเป็นกอแน่น ใบยาวแคบปลายแหลม ช่อดอกยาวมีกิ่งก้านแตกออกจากที่เดียวกันรอบแกนกลางของช่อดอก
                     ๓. หญ้าพง อาจมีชื่ออื่นว่า หญ้าปง (ภาคเหนือ) เป็นหญ้าข้ามฤดูคล้ายต้นข้าวฟ่าง งอกจากเหง้าที่เลื้อยอยู่ใต้ดิน ใบออกสลับกัน ใบมีขนาดประมาณ ๒๐ - ๖๐x ๐.๕ - ๕ ซม. ช่อดอกเป็นช่อกระจายรูปพีรามิด เมื่อแก่เป็นสีม่วง         ๒๐/ ๑๒๕๗๐
            ๓๗๕๑. พง ๒ - ป่า  ทุ่งหญ้าที่เกิดขึ้นในป่ามีหญ้าหลายชนิด บางครั้งก็พบไม้ไผ่ขึ้นปะปนอยู่ดัวย ชาวบ้านเรียกว่า ป่าพง         ๒๐/ ๑๒๕๗๒
            ๓๗๕๒. พง ๓ - นก  เป็นนกที่ชอบอยู่ตามต้นไม้เตี้ย ๆ หรือตามป่าหญ้าที่ขึ้นสูง ๆ ตามริมบึงหรือในบึง นกพงชนิดที่อยู่บนต้นไม้เตี้ย ๆ เป็นนกพงใหญ่ มีขนาดใหญ่กว่าชนิดอื่น ยาวจากปลายปากถึงปลายหางราว ๒๐ ซม. ชนิดที่อยู่ตามพงหญ้ามักมีขนาดเล็กกว่านกกระจอก นกพงนี้บนตัวสีน้ำตาล ไม่มีลายมาก          ๒๐/ ๑๒๕๗๔
            ๓๗๕๓. พงตึก เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ในเขตจังหวัดราชบุรี ปัจจุบันเป็นตำบลขึ้น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี มีการค้นพบโบราณสถานวัตถุที่น่าสนใจคือ
                    ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ชาวบ้านได้ขุดค้นพบพระพุทธรูปสำริดสมัยทวารวดีหลายองค์มีผู้สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ - ๑๑ และได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบหลังคุปตะ
                    โบราณวัตถุที่น่าสนใจมากคือ ตะเกียงน้ำมันหล่อด้วยสำริดคล้ายกับตะเกียงที่ขุดพบในเมืองปอมเปอี เป็นตะเกียงแบบกรีก - โรมัน มีจะงอยสำหรับจุไส้ช่องกลมข้างบน สำหรับเทน้ำมัน และด้ามสำหรับถือ ด้ามทำเป็นรูปลายใบปาล์มอยู่ระหว่างปลาโลมาสองตัว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นลวดลายเครื่องประดับตกแต่งของกรีกโรมัน ปลาโลมาเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่อยู่ริมทะเล ตะเกียงนี้คงมีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่หก คงมาจากเมืองอะเล็กซานเดรียในสมัยปโตเลมี
                    จากการสำรวจและขุดค้น ณ ต.พงตึก ยังได้พบซากโบราณสถานหลายแห่ง ซึ่งนักปราชญ์สันนิษฐานว่า เป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา ได้พบซากฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ ๘ เมตร สร้างด้วยศิลาแลง ตัวอาคารที่หักพังไปแล้วคงสร้างด้วยอิฐใกล้ ๆ กับตัวอาคารพบดอกไม้ทำด้วยทองคำแผ่นบาง ๆ สันนิษฐานว่าอาจเป็นของที่ฝังอยู่ใต้ฐานศาสนสถานและยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่ง นักโบราณคดีลงความเห็นว่าคงมีอายุราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ คือ สมัยทวารวดี
                    ต่อมามีผู้ขุดพบเทวรูปพระนารายณ์สี่กร ทรงสังข์ จักร ดอกบัว และคธา กำหนดอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ หรือ ๑๔
                    จากหลักฐานต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ต.พงตึกในปัจจุบัน เคยเป็นแหล่งชุมชนในสมัยโบราณ ที่อาจจะเป็นแหล่งชุมทางที่ตั้งอยู่ ในเส้นทางการค้าขายระหว่างอาณาจักรโรมันกับประเทศจีน ตั้งแต่ราวก่อนพุทธศตวรรษที่หก ต่อมาในสมัยทวาราวดีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ บริเวณนี้คงกลายเป็นชุมชนที่ขยายใหญ่ขึ้น มีการนับถือพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ด้วย         ๒๐/ ๑๒๕๗๕
            ๓๗๕๔. พงศาวดาร  มีบทนิยามว่า "เรื่องราวของเหตุการณ์เกี่ยวกับประเทศชาติหรือพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น" คำนี้เป็นคำเก่า ใช้สืบต่อมาเป็นเวลาช้านาน บรรดาหนังสือพงศาวดารหลายฉบับ มีพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลางประเสริฐ พงศาวดารฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาส พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ห้าของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พงศาวดารโยนก และประชุมพงศาวดารภาคต่างๆ เป็นต้น
                    ต่อมาระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๙ - ๒๔๗๕ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เริ่มนิยมใช้คำประวัติศาสตร์แทนคำพงศาวดาร เพราะพงศาวดารนั้นโดยศัพท์ "เรื่องราวของพระอวตาร" หรือพระนารายณ์ซึ่งคนไทยเคลมเอาเป็นเกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดิน ประวัติศาสตร์ได้รับความนิยมกันทั่วไป ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕        ๒๐/ ๑๒๕๗๘
            ๓๗๕๕. พจนานุกรม  แปลตามพยัญชนะว่า "ลำดับคำ" ใช้เป็นชื่อหนังสือชนิดหนึ่งสำหรับค้นคำ ความหมายของคำซึ่งโดยปรกตินำมาเรียงตามลำดับอักษร
                    หลักการทำพจนานุกรมจะต้องรวบรวมคำทั้งหมดที่มีใช้อยู่ในภาษานั้น ตลอดจนให้ความรู้เรื่องอักขรวิธี การบอกเสียงอ่าน ความหมายและประวัติของคำ
                    เรื่องบจำนวนคำในภาษาไทย นักปราชญ์ฝรั่งคนหนึ่งคำนวณว่า ถ้าจะเขียนแต่ไทยแท้ ๆ และไม่นับเสียงต่ำตามวิธีผันไม้เอก โท ตรี จัตวา ก็มีเพียง ๑,๘๕๑ คำ เท่านั้น หลักที่ใช้คำนวณถือว่าภาษาไทยเป็นภาษาซึ่งมีคำพยางค์เดียว คำไหนมีกว่าพยางค์เดียวคำนั้นไม่ใช่ภาษาไทย เว้นแต่เป็นคำผสมเช่น ตะวัน (ตาวัน) มะพร้าว (หมากพร้าว) เป็นต้น อักษรสยามมีพยัญชนะเท่านั้นตัว มีสระเท่านั้นตัว และผสมกันทุกทางที่จะผสมได้ แล้วจะมีทางผสมได้ ๑,๘๕๑ ทาง ที่เป็นคำไทยแท้ ซึ่งอาจเขียนได้      ๒๐/ ๑๒๕๘๑
            ๓๗๕๖. พญาดาบหัก - ต้น  เป็นไม้พุ่มต้นสูงประมาณ ๑๐ เมตร ใบประกอบมีลักษณะแบบขนนก ช่อใบยาว ๒๐ - ๕๐ ซม. เรียงสลับกัน ดอกสีแดงขนาดเล็ก ออกเป็นช่อแยกแขนงตามปลายกิ่ง ผลกลมเล็ก เมื่อแก่จัดสีดำ
                    ผลเป็นยาสมุนไพรใช้รักษาโรคบิด ท้องร่วง และแก้ไข้         ๒๐/ ๑๒๕๘๔
            ๓๗๕๗. พญาเดโช  (ดูเดโช - ลำดับที่ ๒๐๕๖, ๒๐๕๗)         ๒๐/ ๑๒๕๘๔
            ๓๗๕๘. พญาเดิน  เป็นชื่อเพลงดนตรีไทยประเภทเพลงหน้าพาทย์ สำหรับบรรเลงประกอบการไปมา ด้วยการเดินอย่างไม่รีบร้อนของผู้มีเกียรติศักดิ์ เช่น พระมหากษัตริย์เสด็จโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงพระราชยานใด ๆ ปี่ชวาที่เป่านำขบวนกลองชนะจะเป่าเพลงทะแยกลองโยน แต่ถ้าทรงพระดำเนินด้วยพระบาทปี่ชวาจะเป่าเพลงพญาเดิน
                    การบรรเลงปี่พาทย์เพลงพญาเดิน ซึ่งเป็นแบบแผนประเพณีบัญญัติไว้สืบต่อมา คือ การบรรเลงปี่พาทย์ประกอบเทศน์มหาชาติ ท่านได้กำหนดเพลงสำหรับบรรเลงเวลาพระเทศน์จบลงแต่ละกัณฑ์ไว้เป็นแบบฉบับ โดยถือเนื้อเรื่องของกัณฑ์นั้น ๆ เป็นหลัก โดยเฉพาะเมื่อเทศน์จบกัณฑ์ วนประเวศน์ปี่พาทย์จะต้องบรรเลงพญาเดิน เพราะเนื้อเรื่องในกัณฑ์นี้ พระเวสสันดรและพระนางมัทรีต้องทรงพระดำเนินอุ้มพระกุมารชาลีและกัณหาเข้าสู่ป่า         ๒๐/ ๑๒๕๘๔
            ๓๗๕๙. พญาไท ๑  วัดเจ้าพญาไทหรือวัดเจ้าพระยาไทย เรียกกันเป็นสามัญว่า วัดใหญ่บ้าง วัดไชยมงคลบ้าง วัดป่าแก้วบ้าง ในปัจจุบันยุติว่าวัดใหญ่ชัยมคล
                    คำว่าพญาไทยังใช้ในความหมายอื่นอีก เช่น ทุ่งหญ้า ทุ่งนา เรียกกันว่าทุ่งพญาไท ต่อมาเป็นชื่อถนน เรียกว่า ถนนพญาไท เป็นชื่อ อำเภอพญาไทย และเปลี่ยนเป็นเขตพญาไท
                    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวังพญาไทขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๕๒ เพื่อเป็นที่เสด็จประพาส และใช้เป็นที่ปลูกทดลองธัญพืชต่าง ๆ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างตำหนัก คือ ตำหนักพญาไท
                    เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ สวรรคตในปีพ.ศ. ๒๔๕๓ สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จมาประทับที่วังพญาไท จนเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๖๓ หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรด ฯ ให้สร้างพระราชมณเทียรสถานขึ้นใหม่ สำหรับเป็นที่ประทับในวังพญาไท และได้ประทับอยู่ที่วังพญาไทย จนสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๒๔๖๘
                    ต่อจากนั้นกรมรถไฟหลวงได้เข้าถึงวังพญาไท จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงวังพญาไทเป็นโรงแรมพญาไท
และได้ตั้งสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ขึ้นเป็นครั้งแรก
                    ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ได้พระราชทานวังพญาไทแก่กองทัพบก กองเสนารักษ์จังหวัดทหารบก กรุงเทพ ฯ ได้ย้ายมาตั้งที่วังพญาไท และเปิดสถานพยาบาลแห่งนี้ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ และตั้งเป็นโรงพยาบาลทหารบก ขึ้นตรงกรมการแพทย์ทหารบก ได้รับพระราชทานชื่อว่า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า         ๒๐/ ๑๒๕๘๕
            ๓๗๖๐. พญาไท ๒  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เดิมเป็นอำเภอ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙         ๒๐/ ๑๒๕๙๒
            ๓๗๖๑. พญาไฟ - นก  เป็นนกในสกุลหนึ่ง ตัวผู้มักเป็นสีแดง ตัวเมียมักเป็นสีเหลืองสด บางชนิดเป็นสีขาวดำเท่านั้น เช่น นกพญาไทสีเทา มีตามป่าดงทั่วไปในประเทศไทย มีอยู่แปดชนิด แต่เป็นนกย้ายถิ่นเข้ามาเฉพาะฤดูหนาวสองชนิดที่พบบ่อยมีสองชนิดคือ นกพญาไฟใหญ่กับนกพญาไฟเล็ก         ๒๐/ ๑๒๕๙๓
            ๓๗๖๒. พญามือเหล็ก - ต้น  เป็นต้นไม้พุ่มกึ่งยืนต้นสูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร พบขึ้นในป่าดิบชื้นภาคใต้ ใบเดี่ยวรูปมน ๆ เรียงตรงข้ามกันในระนาบเดียวกัน ดอกสีเขียว ๆ ขาว ๆ รูปหลอดขนาดเล็ก  ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ผลกลมเมื่อแก่จัดสีดำ เมล็ดมีสารจำพวกสตริกนิน ทำให้เกิดอาการเบื่อเมา และอาเจียน
                    มีพันธุ์ไม้สกุลเดียวกันทางภาคกลางเรียกว่า พญามูลเหล็ก หรือพญามือเหล็ก เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบและดอกคล้ายคลึงกับชนิดแรกแต่ผลใหญ่กว่า เนื้อไม้นิยมทำเขียงหั่นกันชา         ๒๐/ ๑๒๕๙๔
            ๓๗๖๓. พญามุตติ - ต้น  เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กแผ่ราบไปตามพื้นดินเป็นแผ่นกว้างประมาณ ๑๕ - ๓๐ ซม. กิ่งก้านมีขนปุกคลุม ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ดอกเล็กออกชิดกันแน่นเป็นกระจุกเล็ก ๆ สีเหลืองอ่อน มีก้าน... อยู่ตรงข้ามกันกับใบหรือปลายกิ่ง พบขึ้นทั่วไปตามทุ่งนา         ๒๐/ ๑๒๕๙๔
            ๓๗๖๔. พญามูดิน - ต้น  เป็นไม้ล้มลุกต้นตรงอาจสูงถึง ๑ เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีขนหยาบ ๆ ปกคลุม ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบ ปลายกิ่งช่อหนึ่งมี ๑ - ๒ ดอก ผลเป็นฝักพองเกลี้ยง แก่จัดสีดำ          ๒๐/ ๑๒๕๙๕
            ๓๗๖๕. พญาเย็น  เป็นดงใหญ่ระหว่าง จ.เพชรบูรณ์ จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี กับ จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา และจ.บุรีรัมย์ เป็นดงใหญ่ที่สุด มีเทือกเขาเป็นพืด ต่อมาจากทิวเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาแห่งที่ราบสูงกับที่ราบต่ำ เดิมเรียกดงพญาไฟ เพราะมีไข้ร้ายแรง ต่อมาถึงรัชกาลที่สี่ได้เรียกว่าดงพญาเย็น และทิวเขาดงพญาไฟก็คงจะได้เปลี่ยนเป็นทิวเขาดงพญาเย็นด้วย         ๒๐/ ๑๒๕๙๕
            ๓๗๖๖. พญารากดำ - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดเล็ก อาจสูงถึง ๕ เมตร ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มทึบ ใบเดี่ยวเรียงสลับกันบนกิ่งรูปขอบขนาน หรือรูปหอก ดอกเล็กสีขาวออกเป็นกระจุกหรือเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ผลรูปรี ๆ โคนกว้างปลายแหลม         ๒๐/ ๑๒๕๙๕
            ๓๗๖๗. พญาไร้ใบ - ต้น  เป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้นสูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร มีถิ่นกำเนิดทางทวีปแอฟริกา ไม่มีใบ ดอกออกตามกิ่งมีสีเขียว ๆ ขาว ๆ รูปจานขนาดเล็ก         ๒๐/ ๑๒๕๙๖
            ๓๗๖๘. พญาลอ  ปรกติจะเรียกว่า ไก่ฟ้าพญาลอ จัดเป็นสัตว์จำพวกนกชนิดหนึ่ง ในอันดับไก่ วงศ์ไก่ฟ้า ซึ่งวงศ์นี้มีวงศ์ย่อยห้าวงศ์ด้วยกันได้แก่ วงศ์ย่อยนกกระทา และนกคุ่ม วงศ์ย่อยนกยูง วงศ์ย่อยนกหว้าและนกแว่น เฉพาะพญาลอจัดอยู่ในวงศ์ย่อยไก่ป่าและไก่ฟ้า
                    พญาลอเป็นไก่ฟ้าขนาดใหญ่ วัดจากปลายจงอยปากถึงปลายหางประมาณ ๖๐ - ๘๐ ซม. ตัวผู้บริเวณลำตัวด้านบนตอนท้ายสีเนื้อแกมทอง ตะโพกและขนปกคลุมหางด้านบนสีแดงเลือดนกปนน้ำตาลขนหางสีดำเหลือบเขียวยาวมาก กว้างและโค้งลงลำตัวด้านบนส่วนที่เหลือสีเทา ลำตัวด้านล่างส่วนที่เหลือสีดำ เดือยยาวและแหลมคม  ตัวเมียบริเวณหัว คอ และคอหอยสีน้ำตาลไม่มีขนยาวยื่นออกไปจากหัวเหมือนตัวผู้ไม่มีเดือย
                    พญาลอปรกติจะพบอยู่โดดเดี่ยวเฉพาะตัวผู้ หรือพบอยู่เป็นคู่ ๆ หรือเป็นครอบครัวคือ พ่อ แม่ และลูก ๆ เป็นไก่ฟ้าที่บินได้ดีพอสมควร และบินได้ในระยะไกลแต่ไม่สูงมากนัก         ๒๐/ ๑๒๕๙๖
            ๓๗๖๙. พญาโศก  เป็นชื่อเพลงไทยที่ร้องหรือบรรเลงประกอบในอารมณ์โศกเศร้าเพลงหนึ่ง จะร้องในบทที่ตัวละครโศกเศร้าอยู่กับที่เท่านั้น เพลงร้องที่ใช้ในอารมณ์โศกแบบเดียวกันนี้ ยังมีอีกหลายเพลง และมีชื่อคล้ายคลึงกัน เช่น เพลงพญาครวญ พญาฝัน พญารำพึง และพญาตรีก
                    บทที่จะร้องด้วยเพลงพญาโศก โดยมากจะต้องใช้กับตัวที่เป็นกษัตริย์ เจ้านายหรือ ผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสูง
                    ในการบรรเลงดนตรีมีทั้งอัตราสองชั้น สามชี้น         ๒๐/ ๑๒๖๐๐
            ๓๗๗๐. พญาสัตบรรณ  บางทีก็เรียกว่าตีนเป็ดและชบา เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ ๒๐ - ๓๐ เมตร ลำต้นตรง เปลา ใบประกอบแบบตีนนก ช่อใบเรียงสลับเวียนกันตามปลายกิ่ง ช่อหนึ่งมี ๕ - ๗ ใบ ดอกสีขาวขนาดเล็ก ออกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง ผลเป็นฝักคู่เรียงยาว ห้อยลงยาว ๑๕ - ๒๐ ซม. เนื้อไม้ละเอียดสีขาว นิยมใช้ทำกระดานดำและไม้แบบ ยางมักนำไปผสมกับน้ำยางพารา เพื่อให้ได้ปริมาณเพิ่มขึ้น         ๒๐/ ๑๒๖๐๒
            ๓๗๗๑. พดด้วง - เงิน  เป็นเงินตราที่ใช้ในสมัยสุโขทัย อยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนใหญ่ที่พบทำด้วยเงินบริสุทธิ์ มีเนื้อเงินประมาณร้อยละ ๙๐ - ๙๕ พดด้วงที่ทำด้วยทองคำนั้นพบในสมัยรัตนโกสินทร์เท่านั้น
                    เงินพดด้วงมีสัณฐานกลมปลายทั้งสองข้างงอเข้าหากันเหมือนตัวด้วงขด ด้านบนประทับตราประจำแผ่นดิน ด้านหน้าประทับตราประจำรัชกาล ที่บริเวณโคนขามีรอยบากและรอบเมล็ดข้าวสาร ด้านหลังปล่อยว่าง ด้านข้างประทับรอยเมล็ดข้าวสาร (บางสมัย) ด้านข้างรอยค้อน
                    ในปี พ.ศ.๒๔๐๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ผลิตเหรียญกษาปณ์จากเครื่องจักรแทนการผลิตพดด้วง และในปี พ.ศ.๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประเทศเลิกใช้พดด้วงเป็นเงินตรา         ๒๐/ ๑๒๖๐๓
            ๓๗๗๒. พนม  อำเภอขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงประกอบไปด้วยภูเขา และป่า
                    จ.พนม เดิมชื่อ อ.คลองชะอุ่น ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๕๓ ลดฐานะเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.คีรีรัฐนิคม ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔         ๒๐/ ๑๒๖๑๑
            ๓๗๗๓. พนมทวน  อำเภอขึ้น จ.กาญจนบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบมีป่าและเขาบ้าง อ.พนมทวน อยู่ตรงทางที่กองทัพพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดีเดินทางผ่าน คราวสงครามยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวร ฯ เดิมเรียกว่า อ.เหนือ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านทวน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.พนมทวน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑         ๒๐/ ๑๒๖๑๑
            ๓๗๗๔. พนมเปญ  เป็นเมืองหลวงของประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขง กล่าวกันว่ากรุงพนมเปญได้ชื่อมาเนินเขาเล็ก และสตรีผู้หนึ่งที่ใจกลางเมืองนี้ มีเนินเขาเล็กแห่งหนึ่ง คำว่าเขา หรือเนินเขาตรงกับคำว่า พนมในภาษาเขมร บนเนินเขานี้มีโบสถ์ทางพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ ผู้สร้างเป็นสตรีชื่อเพ็ญ สร้างเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว         ๒๐/ ๑๒๖๑๒
            ๓๗๗๕. พนมไพร  อำเภอขึ้น จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศทางทิศเหนือและตะวันตกเป็นที่ลุ่มทางทิศใต้เป็นดอนและป่า อ.พนมไพรเดิมเป็นเมืองตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๖ โดยพระดำรงฤทธิ์ไกร ได้รับมอบอำนาจ ให้จัดตั้งบ้านเมืองแสนขึ้นเป็นเมือง เรียกว่า เมืองพนมไพรแดนมฤด ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิถึงปี พ.ศ.๒๔๔๒ ยุบลงเป็นอำเภอ พ.ศ.๒๔๔๔ โอนมาขึ้น อ.ร้อยเอ็ด เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พนมไพร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖         ๒๐/ ๑๒๖๑๓
            ๓๗๗๖. พนมรุ้ง - ปราสาท  เป็นศาสนสถานในศิลปะสมัยลพบุรี ตั้งอยู่ในเขต อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ บนเขาพนมรุ้ง คำว่าพนมรุ้งอาจแปลได้ว่า ภูเขาใหญ่ ด้านหน้าของปราสาทอยู่ทางทิศตะวันออกที่ตระพักเขาชั้นล่างทางด้านทิศตะวันออกมีบันไดต้นทางที่จะขึ้นไปสู่ปราสาท กว้าง ๒๒ เมตร เป็นชั้น ๆ สี่ชั้น ถัดบันไดขึ้นไปเป็นชาน มีฐานศิลาอย่างมีร่องน้ำมนต์ขนาดใหญ่ ขนาด ๕ เมตร สำหรับตั้งรูปประติมาอยู่ริมชานซ้ายขวาข้างละหนึ่งฐาน ถัดจากฐานเป็นบันไดไปสู่เนินดินรูปสี่เหลี่ยม เข้าใจว่าเป็นฐานของพลับพลาหรือมณเฑียรเป็นรูปกากบาทขนาดกว้าง ๕.๕ เมตร ยาวจากทิศเหนือไปใต้ ๔๐ เมตร จากตะวันออกไปตะวันตก ๓๐ เมตร ตั้งอยู่บนฐานดินขนาด ๑๕๐ x ๑๕๐ เมตร
                    ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และเป็นที่เคารพนับถือมาจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘
                     มณเทียร  มุมตะวันออกเฉียงเหนือมักเรียกกันว่าโรงช้างเผือก เดิมคงเป็นศาสนสถานคงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖
                    ห่างจากมณเทียรตรงไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๕๐ เมตร มีสระน้ำขนาดเล็กขนาดใหญ่อยู่สามสระขังน้ำได้ตลอดปี
                     ซากปรางค์อิฐสององค์  เพิ่งขุดพบใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออาจสร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ หลังศิลปะขอมสมัยบาเค็งไม่นานนัก
                     ปรางค์น้อย  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คงสร้างขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เพราะภาพสลักแสดงถึงศิลปะขอมสมัยคลัง (พ.ศ.๑๕๐๐ - ๑๕๕๐) และสมัยบาปวน (พ.ศ.๑๕๕๐ - ๑๖๕๐) ปะปนกันอยู่
                     ปรางค์องค์ใหญ่ และระเบียงที่ล้อมรอบ คงสร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ คือในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างศิลปะขอมสมัยบาปวนตอนปลายกับสมัยนครวัด
                     ถนนสะพานนาคราช และบันไดศิลาหน้าปราสาททางทิศตะวันออก มีลักษณะตรงกับศิลปะขอมสมัยนครวัดตอนต้น (พ.ศ.๑๖๕๐ - ๑๖๗๕)
                     วิหารสองหลัง  อยู่ที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือหนึ่งหลัง และตะวันออกเฉียงใต้หนึ่งหลัง คงจะก่อเพิ่มเติมขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรขอม ตรงกับศิลปะสมัยบายน (ราว พ.ศ.๑๗๐๐ - ๑๗๕๐)
                    ศาสนสถานบนเขตพนมรุ้ง เป็นเทวาลัยสำคัญ คงเป็นเพราะตั้งอยู่บนเส้นทางเดินที่สำคัญจากเมืองนครในอาณาจักรขอม มายังปราสาทตาเมืองธม อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ต่อชายแดนระหว่างประเทศกัมพูชากับประเทศไทย ปราสาทเมืองต่ำ อ.ประโคมชัย จ.บุรีรัมย์ ขึ้นไปยังปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมาทางทิศเหนือนั่นเอง ปราสาทพนมรุ้งคงทิ้งร้างไปเมื่อชนชาติไทยเข้ามามีอำนาจ เพราะไม่เคยค้นพบพระพุทธรูป ณ ศาสนสถานแหล่งนี้เลย         ๒๐/ ๑๒๖๑๔
            ๓๗๗๗. พนมวัน - ปราสาทหิน  ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านโพธิ์  อ.เมือง ฯ จ.นครราชสีมา ในจารึกเรียกว่า เทวาศรม สร้างเป็นปรางค์ และวิหารมีฉนวน (ทางเดิน) ตัดต่อตลอดถึงกัน ภายในคูหาปรางค์ และวิหารมีพระพุทธรูปศิลาปางต่าง ๆ ขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่หลายองค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยสูง ๑.๕๒ เมตร มีลักษณะแบบอู่ทองผสมทวารวดี ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีในการศึกษาทางศิลปกรรม
                    ถัดตัวปราสาทหินออกมาเป็นบริเวณลาน มีระเบียงคดก่อด้วยศิลาล้อมรอบ กว้าง ๔๕ เมตร ยาว ๖๓.๓๐ เมตร ที่ลานระหว่างองค์ปรางค์กับประตูระเบียงคดด้านใต้ มีอาคารก่อด้วยหินทรายเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ซึ่งทำด้วยหินทรายสีแดงทำวางอย่างตะแคงเหมือนอย่างเดียวกันในนครวัด
                    ที่ปราสาทหินแห่งนี้มีอักษรจารึกอยู่ตามหินกรอบประตู และเสาหลายแห่ง มีหลักหนึ่งเป็นจารึกของพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่สอง (พ.ศ.๑๕๙๓ - ๑๖๐๙) เป็นภาษาสันสกฤตและเขมร
                    ถ้าจะพิจารณาจากทางด้านศิลปะจะเห็นว่า ปราสาทนี้คงสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ เข้าใจว่าสร้างเป็นเทวสถาน ครั้นต่อมาซึ่งอาจเป็นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด (พ.ศ.๑๗๒๔ - ๑๗๖๓) จึงได้ดัดแปลงเป็นพุทธสถานพระพุทธรูปที่มีอยู่ในปราสาทก็ตกอยู่สมัยอู่ทอง ซึ่งอยู่หลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด         ๒๐/ ๑๒๖๒๙
           ๓๗๗๘. พนมสวรรค์  เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร พบขึ้นทั่วไปตามชายป่า ใบเดี่ยว โคนใบกว้างหยักเว้าเป็นรูปหัวใจ ใบเรียงตรงข้ามกันคนละระนาบ ดอกสีแดงเป็นช่อใหญ่ออกตามยอด
                    พันธุ์ไม้ชนิดอื่นในสกุลนี้มักจะเรียกกันว่า นมสวรรค์เหมือนกัน เช่น นมสวรรค์เขา เป็นไม้พุ่มสูง ๒ - ๓ เมตร ดอกสีขาว เป็นช่อแน่นตามยอด
                     พนมสวรรค์ต้น  เป็นไม้ยืนต้นสูง อาจถึง ๑๐ เมตร ดอกสีขาวเป็นหลอดยาวปลายผาย ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง ผลกลม
                     พนมสวรรค์ป่า  เป็นไม้พุ่ม อาจสูงถึง ๒ เมตร ใบสีเขียวเทามีขนนุ่มทั้งสองด้าน ดอกสีขาวออกเป็นช่อโปร่งตามยอด บางทีก็เรียกว่า นางแย้มป่า และพวงพีแดง         ๒๐/ ๑๒๖๓๔
            ๓๗๗๙. พนมสารคาม  อำเภอขึ้น จ.ฉะเชิงเทรา ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มบ้าง ดอนบ้าง มีป่าดงและเขาบ้าง
                    อ.พนมสารคาม เดิมเป็นเมือง ชื่อพนมสารคามตั้งอยู่ที่ ต.เมืองเก่า แล้วยุบเป็นอำเภอ ย้ายไปตั้งที่ ต.พนมสารคาม         ๒๐/ ๑๒๖๓๕
            ๓๗๘๐. พนัง  เป็นสิ่งที่ก่อสร้างขึ้นเป็นคัน มีแนวขนานหรือเกือบขนานไปกับแนวทางน้ำหรือฝั่งทะเล เพื่อป้องกันน้ำจากทางน้ำนั้น หรือทะเลไหลบ่าเข้าไปท่วมพื้นที่เป็นการป้องกันอุทกภัยแบบหนึ่ง         ๒๐/ ๑๒๖๓๕
            ๓๗๘๑. พนัญเชิง - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใน ต.คลองสวนพลุ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้ายในเขต อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
                    ชื่อวัดก่อนมี พ.ร.ฎ.กำหนดให้เรียกชื่อนี้ได้มีการเรียกกันหลายอย่างคือ วัดพระนางเชิง วัดพระเจ้าพระนางเชิง วัดพระนางเอาเชิง วัดพระนงเชิง วัดพระเจ้าพระแนงเชิง ครั้นมีประกาศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เกี่ยวกับชื่อวัดนี้แล้วเรื่องจึงยุติ และพระองค์ได้ทรงถวายพระนามพระพุทธรูปสำคัญองค์ใหญ่ ในพระวิหารของวัดนี้ ซึ่งเดิมชาวบ้านเรียกว่า พระเจ้าพนัญเชิงว่า พระพุทธไตรรัตนนายก
                    เขตและอุปจารวัด ปัจจุบันได้รวมพื้นที่ของวัดร้างอีกสี่วัดเข้าไว้ด้วยกันคือ วัดมณฑป วัดรอ วัดโคก และวัดขอมหรือวันสวนพลู
                   จากข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้ว่า "จุลศักราช ๖๘๖ (พ.ศ.๑๘๖๗) แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง" เมื่อเทียบกับปีที่สร้างพระนครศรีอยุธยา วัดพนัญเชิง โดยเฉพาะพระพุทธรูปองค์ใหญ่นั้นสร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปี แต่ไม่ปรากฎว่าใครเป็นผู้สร้าง ในพงศาวดารเหนือกล่าวเป็นตำนานว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งกษัตริย์กรุงอโยธยา เสด็จไปกรุงจีนโดยทางชลมารค ได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางสร้อยดอกหมาก พระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีน แล้วพากันเสด็จกลับมาโดยขบวนสำเภา เกิดความไม่เข้าใจกันในเรื่องการเชิญพระนางเข้าเมือง พระนางจึงกลั้นพระทัยสิ้นพระชนม์ถึงปี จ.ศ.๔๐๖ (พ.ศ.๑๕๘๗) พระเจ้าสายน้ำผึ้งโปรดให้เชิญพระศพระนางสร้อยดอกหมากมาพระราชทานเพลิงที่แหลมบางกะจะ สถาปนาเป็นพระอาราม และพระราชทานนามว่าวัดพระเจ้าพระนางเชิง
                     พระพุทธไตรรัตนายก หรือพระเจ้าพนัญเชิง เป็นพระพุทธปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย สมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง ๗ วา ๑๐ นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี ๙ วา ๒ ศอก
                     ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก  เป็นศาลเจ้าแบบจีน ชาวจีนเรียกว่า ศาลเจ้าแม่อาเนี้ย มุขด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธไตรรัตนายกจำลอง มุขด้านหลังเป็นอาคารสองชั้น ชั้นบนตั้งแท่นบูชา และรูปพระนางสร้อยดอกหมาก ชั้นล่างตั้งแท่นบูชากวนอู ใกล้ ๆ ศาล มีสมอเรืออันหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านงมขึ้นมาได้จากหน้าวัด         ๒๐/ ๑๒๖๔๕
            ๓๗๘๒. พนัน  เป็นการเล่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเอาเงิน หรือเอาทรัพย์สินอย่างอื่น การเล่นที่จัดเป็นการพนันจะต้องมีผู้เล่นอย่างน้อยสองฝ่าย ผู้เล่นจะเข้าทำการเสี่ยงโดยตกลงกันว่า ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายทำนายได้ถูกต้อง ถึงปรากฎการณ์ที่จะมีขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้ แต่ขณะที่ทำการตกลงนั้น ยังไม่บังเกิดผลเป็นที่ประจักษ์
                    การตกลงกันดังกล่าวจะต้องมีการเสี่ยงด้วยกันทุกฝ่าย
                    การพนันมีมาแล้วตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนสมัยพุทธกาลคำสอนของศาสนาต่าง ๆ ได้สอนถึงโทษของการพนันไว้         ๒๐/ ๑๒๖๕๓
            ๓๗๘๓. พนัสนิคม  อำเภอขึ้น จ.ชลบุรี ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา ตอนกลางเป็นที่ลุ่มปนที่ดอนเหมาะแก่การทำสวนและทำนา ตอนใต้เป็นที่ดอนมีป่า และเขาโดยมาก
                    อ.พนัสนิคม เดิมเป็นเมืองโบราณเรียกกันว่า เมืองพระรถ ปัจจุบันนี้ปรากฏว่า มีเนินดินทำนองเป็นกำแพงเมืองโบราณอยู่สี่ด้าน ภายในเขตกำแพงนั้น มีเมืองด้านตะวันออก และตะวันตก กว้างราว ๖๐๐ เมตร ด้านเหนือและใต้ยาว ๑,๒๐๐ เมตร ทางด้านตะวันตกนอกกำแพงเมืองออกไปราว ๒๐๐ เมตร มีกำแพงดินเป็นแนวยาวจากเหนือไปใต้กั้นอยู่อีกชั้นหนึ่ง ยาวราว ๓๐๐ เมตร และที่ตอนเหนือของแนวกำแพงดินนี้มีเนินสูงรูปกลม ชาวบ้านเรียกว่า พระธาตุ
                    ในรัชกาลที่สาม ชาวเมืองนครพนมมีพระอินทอาสาเป็นหัวหน้า ได้ไปโค่นถางป่าในอำเภอนี้ตั้งเป็นนิคม จึงโปรดให้ยกขึ้นเป็นเมือง และตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี และเมืองฉะเชิงเทรามารวมขึ้นอยู่ด้วยเรียกว่า เมืองพนัสนิคม ต่อมาในรัชกาลที่ห้ายุบเป็นอำเภอขึ้น จ.ชลบุรี         ๒๐/ ๑๒๖๖๒
            ๓๗๘๔. พนัสบดี  แปลว่าเจ้าป่า หรือเดิมหมายถึงต้นไม้ใหญ่แห่งป่า แต่ในทางโบราณคดีได้นำเอานามนี้มาใช้กำหนดเรียกรูปภาพประติมากรรมแบบหนึ่ง ซึ่งทำเป็นส่วนประกอบฐานพระพุทธรูปบางองค์ที่สร้างแต่สมัยทวารวดี
                    รูปแบบประติมากรรมดังกล่าวที่ปรากฎมีลักษณะเห็นได้เฉพาะ ส่วนใบหน้าคล้ายสัตว์ชนิดหนึ่งทำปากเป็นจะงอยดังปากครุฑ ดวงตาคล้ายตานกมีเขา และหูอยู่สองข้างศีรษะคล้ายเขาและหูวัว ข้างกระพุ้งแก้มทั้งสองข้างมีปีกดังปีกนกคลี่กางออก
                    รูปภาพประติมากรรมแบบที่เรียกว่า พนัสบดีได้นำมาประดิษฐานพระพุทธรูปบางองค์ที่สร้างขึ้นแต่สมัยทวารวดีมีจำนวนไม่มากนักและไม่แพร่หลายให้เห็นได้ทั่วไป         ๒๐/ ๑๒๖๖๓
            ๓๗๘๕. พนา  อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี ภูมิประเทศเป็นโคกปนนา เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ตระการพืชผล ยกฐานะเป็นอำเภอ ปี พ.ศ.๒๕๐๑         ๒๐/ ๑๒๖๖๖
             ๓๗๘๖. พม่า ๑  ประเทศพม่าตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือจดประเทศอินเดีย ทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดต่อกับประเทศจีน ทิศตะวันออกติดต่อกับประเทศจีน ประเทศลาวและประเทศไทย ทิศใต้จดทะเลอันดามัน และอ่าวเมาะตะมะ ทิศตะวันตกเฉียงใต้จดทะเลอันดามัน ทิศตะวันตกจดอ่าวเบงกอล และบังคลาเทศ
                    ลักษณะพื้นดินของพม่าเป็นเทือกเขาที่ขนานกันอยู่ในแนวเหนือ - ใต้ ระหว่างเทือกเขาต่าง ๆ เป็นแม่น้ำคือ แม่น้ำอิรวดี และสาขา แม่น้ำสาลวิน และสาขา และแม่น้ำสะโตง แม่น้ำอิรวดีและแม่น้ำสาลวิน มีต้นน้ำอยู่ที่ที่ราบสูงทิเบต ลุ่มแม่น้ำอิรวดีแบ่งออกได้เป็นสามตอนคือ ตอนต้นน้ำจากที่ราบสูงทิเบต มาถึงบริเวณที่อยู่เหนือเมืองมัณฑเลขึ้นไปประมาณ ๘๐ กม. เป็นที่ราบแคบ ๆ มีพลเมืองเบาบาง แม่น้ำตอนนี้ได้รับน้ำจากลำธารต่าง ๆ ที่ไหลมาจากเหนือเขาต่าง ๆ มาสมทบด้วย ตอนกลางของลุ่มน้ำมีที่ราบกว้างขวางขึ้น แต่ปริมาณฝนตกน้อย จัดเป็นเขตแห้งแล้ง ที่ตอนกลางของลุ่มน้ำมีแม่น้ำชินดวิน ไหลมาสมทบด้วย ตอนปากน้ำซึ่งเป็นดินดอนสามเหลี่ยมนั้น เป็นบริเวณที่กว้างขวางที่สุดคือ กว้างประมาณ ๒๔๐ กม. และยาวจากทะเลขึ้นไปประมาณ ๒๗๐ กม. ลุ่มน้ำตอนปากน้ำเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เทือกเขาที่อยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำอิรวดีคือ เทือกเขาพะโค เป็นเทือกเขาเตี้ย ๆ ถัดเทือกเขาพะโคไปทางตะวันออกเป็นแม่น้ำสะโตง ทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ ของลุ่มน้ำอิรวดีเป็นเทือกเขาอยู่ในแนวเหนือ - ใต้ เป็นแนวพรมแดนของพม่า ตอนใต้สุดของเทือกเขามีชื่อว่า เทือกเขายะไข่ เป็นตอนที่สูงที่สุดคือ สูงระหว่าง ๒,๔๐๐ - ๓,๙๐๐ เมตร ทางตะวันตกของเทือกเขายะไข่ เป็นที่ราบชายฝั่งแคบ ๆ ขนานไปกับอ่าวเบงกอล มีชื่อว่า ที่ราบยะไข่
                    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของพม่าเป็นที่ราบสูงคือ ที่ราบสูงฉาน หรือที่ราบสูงไทยใหญ่ สูงโดยเฉลี่ยประมาณ ๙๐๐ เมตร แม่น้ำสาลวินไหลผ่านที่ราบสูงนี้ โดยไหลมาในหุบเขาที่ลึกและแคบ แม่น้ำสาลวินนี้ใช้ในการเดินเรือได้ เฉพาะตอนปลายของแม่น้ำมีระยะทางประมาณ ๓ - ๕ กม. เท่านั้น ต่อจากที่ราบสูงลงไปทางใต้เป็นส่วนที่ยื่นล้ำออกไปจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของพม่า มีลักษณะแคบและยาวคือ ส่วนที่เรียกว่า ตะนาวศรี ยาวประมาณ ๘๐๐ กม.
                    เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ พม่ามีพลเมือง ๓๕ ล้านคน บรรพบุรุษของพม่าเป็นเชื้อชาติมองโกล อพยพมาจากภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว พลเมืองพม่ามีหลายกลุ่ม มีวัฒนธรรมบางอย่างแตกต่างกัน เช่น ภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี บางอย่าง กลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดคือ พม่า มีจำนวนประมาณร้อยละ ๖๕ พวกพม่าตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มน้ำอริวดีตอนกลาง และบริเวณดินดอนสามหลี่ยมของแม่น้ำกลุ่มอื่น ๆ มีไทยใหญ่ประมาณร้อยละ ๗ อยู่ที่ราบสูงฉาน กะเหรี่ยงมีประมาณร้อยละ ๗ อยู่ที่บริเวณเนินเขาทางตะวันออก นอกจากนี้ก็มี มอญ กะฉิ่น ฉิ่น แต่ละกลุ่มมีประมาณร้อยละ ๒ และยังมีชาวเขาอีกมากมายหลายกลุ่ม พลเมืองพม่าพูดภาษาต่าง ๆ กันตามกลุ่ม ส่วนชาวจีนและชาวอินเดียในพม่า เป็นชนกลุ่มน้อยที่สำคัญที่อพยพเข้ามาอยู่ในพม่า ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕
                    พม่ารวมกันเป็นประเทศได้ในรัชสมัยของพระเจ้าอนุรุทธ ซึ่งปกครองพม่าระหว่างปี พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๖๒๐ มีการผลัดเปลี่ยนอำนาจการปกครอง ระหว่างพวกพม่ากับพวกมอญ จนถึงปี พ.ศ.๒๓๖๗ พม่าทำสงครามกับอังกฤษ และเป็นฝ่ายแพ้จึงต้องเสียแคว้นอัสสัม ยะไข่ และตะนาวศรี ให้แก่อังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ ต่อมามีสงครามระหว่างพม่ากับอังกฤษอีกหกครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๐๕ อังกฤษจัดให้พม่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย อังกฤษได้แยกพม่าออกจากอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ และได้รับสิทธิในการปกครองตนเองในขอบเขตที่กว้างขวาง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองพม่าอยู่สามปี พม่าได้ไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ที่อินเดีย ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ พม่าได้เป็นประเทศเอกราชอย่างสมบูรณ์
                    ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ เกิดรัฐประหารในพม่า ประธานสภาปฎิวัติคือ นายพลเนวิน
                    พม่าประกอบด้วยรัฐเจ็ดรัฐคือ รัฐกะฉิ่น ฉาน ยะไข่ คยาห์  กะเหรี่ยง มอญ และหน่วยการปกครองเจ็ดหน่วยคือ สะแกง มัณฑเล แมกเว อิรวดี พะโค ย่างกุ้ง และตะนาวศรี         ๒๐/ ๑๒๖๖๗
            ๓๗๘๗. พม่า ๒  เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานประเทศหนึ่ง หลักฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตอนต้นไม่สมบูรณ์  ราวพุทธกาลพวกมองโกลได้แผ่ขยายลงมาทางทิศใต้จากประเทศจีนเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำอิรวดีและแยกออกเป็นหลายสาขา บางสาขามาจากภาคตะวันออกเฉียงใต้ของดินแดนแถบภูเขาทิเบตที่ลาดลงทางใต้มีชื่อว่าพวกทิเบต - พม่า แล้วแยกออกเป็นหลายชนเผ่า รวบรวมกันอยู่เป็นเมือง แล้วกลายเป็นนครรัฐได้แก่พวกปยุ พวกมอญ และพวกพม่า พวกปยุตั้งอาณาจักรศรีเกษตร ตามตำนานพื้นเมืองกล่าวว่าศรีเกษตรมีศูนย์กลางตั้งอยู่ใกล้เคียงกับเมืองแปรในพม่า ส่วนพวกมอญตั้งเป็นอาณาจักรสุธรรมวดี ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอาณาจักรศรีเกษตร
                    พระเจ้าอโนรธามังช่อหรืออนุรุทธ์ ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๖๒๐ เป็นกษัตริย์องค์แรกที่ได้รวมพม่าทางการเมือง ทรงแผ่อาณาจักรพุกามออกไปอย่างกว้างขวาง      ๒๐/ ๑๒๖๗๓
            ๓๗๘๘. พยัคฆภูมิพิสัย  อำเภอ ขึ้น จ.มหาสารคาม ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นทุ่งหญ้า บางแห่งทำนาได้ เดิมชาวบ้านเรียกว่า อ.ปะหล่าน เดิมเป็นเมือง ยุบเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖        ๒๐/ ๑๒๖๗๖
            ๓๗๘๙. พยัญชนะ  มีบทนิยามว่า "ตัวหนังสือตั้งแต่ ก ถึง ฮ..." มีผู้ให้ความหมายพยัญชนะไว้ว่า "กระทำเสียงให้ปรากฎชัดเจน, ในภาษาพูด หมายถึง สำเนียงชัดเจนที่เกิดจากพยัญชนะประสมกับสระ แต่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้ ในภาษาหนังสือ หมายถึง เครื่องหมายหรือตัวอักษรที่สำหรับใช้ประสมกับสระ เพื่อใช้แทนภาษาพูด หรือจารึกคำพูดไว้มิให้สูญ..."
                    ตามหลักภาษาไทย พยัญชนะจะออกเสียงตามลำพังไม่ได้ ต้องมีสระประสมอยู่ด้วย จึงจะออกเสียงได้ ดังนั้น ในภาษาบาลีจึงเรียกชื่อ พยัญชนะว่า นิสิต หมายความว่า ต้องอาศัยสระ จึงออกเสียงได้ สระกับพยัญชนะจึงต้องใช้คู่กันเสมอ จะเขียนสระโดยตามลำพังโดยไม่มีพยัญชนะ กำกับไม่ได้ เว้นแต่รูปสระบางตัว ที่ไทยรับถ่ายแบบมาจากภาษาสันสกฤตคือ ฤ ฤา ฦ ฦา เท่านั้น ที่เขียนลำพังได้โดยไม่ต้องมีสระกำกับ เนื่องจากรูปและเสียงพยัญชนะในภาษาไทย มีความสัมพันธ์กับรูป และเสียงพยัญชนะในภาษาบาลี และสันสกฤต จึงควรรู้เรื่องนี้โดยย่อคือ
                    พยัญชนะในภาษาบาลี และสันสกฤตมี ๓๓ ตัว แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ
                    ก. พยัญชนะวรรค  คือพยัญชนะที่มีฐานเกิดร่วมกัน และจัดเข้าเป็นพวกเป็นหมู่ได้ ๒๕ ตัวคือ
                    ๑. พยัญชนะที่เกิดร่วมกัน จากฐานคอ มีห้าตัวคือ ก ข ค ฆ ง เรียกว่า วรรค กะ
                    ๒. พยัญชนะที่เกิดร่วมกัน จากฐานเพดาน มีห้าตัวคือ จ ล ช ฌ ญ เรียกว่า วรรค จะ
                    ๓. พยัญชนะที่เกิดร่วมกัน จากฐานปุ่มเหงือก มีห้าตัวคือ ฎ ฐ ฑ ฒ น เรียกว่า วรรค ฎะ
                    ๔. พยัญชนะที่เกิดร่วมกัน จากฟัน มีห้าตัวคือ ต ถ ท ธ น เรียกว่า วรรค ตะ
                    ๕. พยัญชนะที่เกิดร่วมกัน จากฐานริมฝีปาก มีห้าตัวคือ ป ผ พ ภ ม  เรียกว่า วรรค ปะ
                    ข. เศษวรรค  คือพยัญชนะที่จัดเข้าวรรคไม่ได้ มีอยู่แปดตัวคือ ย ร ล ว ส ห ฬ อ ํ
                     ภาษาสันสกฤต มีเศษวรรคมากกว่าภาษาบาลีอยู่สองตัวคือ ศ ษ
                     พยัญชนะไทย  มี ๔๔ ตัว จัดเรียงลำดับโดยถือเอาเสียงเป็นหลัก จากเสียงเบาไปหาเสียงหนัก และเรียงตามเสียงที่เกิดจากข้างในออกมาข้างนอก ตามฐานที่เกิด
                     พยัญชนะไทย ถ้าไม่กำหนดเสียงสูงเสียงต่ำแล้ว จะมีเสียงอยู่เพียง ๒๐ เสียง ถ้าไม่นับเสียง "อ" ถ้านับก็จะมี ๒๑ เสียง
                     การใช้พยัญชนะ  ถือหลักว่าพยัญชนะตัวใดใช้เขียนคำที่มาจากภาษาใดบ้าง แบ่งออกเป็นสามชนิดคือ
                     ๑. พยัญชนะกลาง  ใช้เขียนทั่ว ๆ ไป ทั้งคำไทย คำบาลี และคำสันสกฤต ตลอดจนใช้เขียนคำที่มาจากภาษาอื่น เช่น เขมร มอญ ชวา อังกฤษ มีอยู่ ๒๑ ตัว คือ  ก ข ค ง จ ฉ ช ต ถ ท น ป ผ ท ม ย ร ล ง ส ห
                     ๒. พยัญชนะเดิม  ใช้เขียนเฉพาะคำบางคำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤต และภาษายุโรป บางคำ มี ๑๓ ตัว คือ ย ณ ญ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ธ ภ ศ ษ ฬ ในภาษาไทยมีที่ใช้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่ใช้เป็นคำไทยที่เขียนติดมาแต่โบราณ จนกลายเป็นความนิยม ซึ่งเป็นข้อยกเว้นพิเศษ มีอยู่เก้าตัวคือ ฆ ณ ญ ฒ ณ ธ ภ ศ ษ เช่น ฆ้อง ฆ่า เฆี่ยน เฌอ ญี่ปุ่น หญ้า หญิง ใหญ่ ผู้เฒ่า ณ (ใน, ที่) ธง เธอ ภาย สำเภา เสภา  อำเภอ ศอก ศึก เศร้า ดาษ เดียรดาษ
                     ๓. พยัญชนะเติม  นอกจากจะใช้เขียนคำในภาษาไทยแล้ว ยังใช้เขียนคำบางคำที่แผลงมาจากภาษาบาลี และสันสกฤต ตลอดจนภาษาอื่น ๆ มีทั้งหมดสิบตัวคือ ฑ ค ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ ฮ           ๒๐/ ๑๒๖๗๗
            ๓๗๙๐. พยับเมฆ - ต้น  เป็นพืชล้มลุก อายุหลายปี ต้นสูงประมาณ ๕๐ ซม. ลำต้นเป็นเหลี่ยม ใบคล้ายใบโหระพา ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ออกดอกตลอดปี ดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวปนม่วงอ่อน หรืออมฟ้า มีอีกชื่อว่า หญ้าหนวดแมว
                    พยับเมฆ มีสรรพคุณเป็นยา          ๒๐/ ๑๒๖๘๔
            ๓๗๙๑. พยับหมอก - ต้น  เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า เจตมูล เพลิงฝรั่ง เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ใบออกเรียงสลับกัน รูปไข่กลับ หรือรูปรี ดอกไม่มีก้าน ออกเป็นช่อสั้น ๆ ที่ปลายกิ่งตลอดปี สีฟ้าอมม่วงอ่อน ตอนโคนเป็นหลอดเรียว          ๒๐/ ๑๒๖๘๕
            ๓๗๙๒. พยากรณ์ ๑ (อากาศ)  ต้องอาศัยหลักวิชาอุตุนิยมวิทยา ซึ่งนอกจากวิชาฟิสิกส์ แล้ว วิชาคณิตศาสตร์ ก็ได้มีส่วนร่วมที่สำคัญในการสร้างสูตรต่าง ๆ ที่ควบคุมบรรยากาศ
                    การพยากรณ์อากาศของไทย มีกำเนิดขึ้นในกองทัพเรือ และได้มีการพัฒนาวิชาการ และกิจการจนถึงปัจจุบัน และเข้าเป็นสมาชิกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเป็นลำดับที่ ๑๙
                     กรรมวิธีการพยากรณ์  แบ่งออกได้เป็นสามขั้นตอนคือ
                     ๑. การตรวจอากาศ  แบ่งออกเป็นสองอย่างคือ การตรวจอากาศผิวพื้น และการตรวจอากาศชั้นบน ในเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น และความกดอากาศ
                     ๒. การสื่อสาร  เป็นตัวกลางประสานงานระหว่างการตรวจอากาศ และการพยากรณ์อากาศ ทำหน้าที่ทั้งการรวบรวม การส่ง และการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวอากาศทุกชนิด ข้อมูลผลการตรวจสารประกอบ อุตุนิยมวิทยา จะถูกน้ำเข้ารหัสตามสากลที่กำหนด และจะต้องมีการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศด้วย
                     ๓. การพยากรณ์อากาศ  แบ่งออกได้เป็นสามอย่างโดยถือเอาช่วงเวลาที่พยากรณ์คือ พยากรณ์อากาศระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว          ๒๐/ ๑๒๖๘๕
            ๓๗๙๓. พยากรณ์ ๒  มีบทนิยามว่า "ทำนาย, คาดการณ์  ชื่อคัมภีร์โหราศาสตร์ ว่าด้วยการทำนาย"
                    การพยากรณ์ มีขึ้นภายหลังที่นักปราชญ์รู้แผนที่ดาว และรู้วิธีทางของดาว ตลอดจนนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณนับวัน เดือน ปี ดีแล้ว มูลเหตุที่จะเกิดการพยากรณ์ ก็โดยผู้รู้วิถีทางของดาวมาพิเคราะห์ และตั้งข้อสังเกตในส่วนดิน ฟ้า อากาศ ความเป็นอยู่ของชุมชน ความตาย ความไข้ ควมปรกติสุข แห่งชาวเมือง ประวัติของบุคคลเริ่มแต่เกิดจนตาย ยิ่งนานปีก็ยิ่งทวีข้อสังเกต และได้นำหลักการที่จะถือเป็นแนวทางแห่งการพยากรณ์มากขึ้น ในที่สุดก็เกิดเป็นแบบพยากรณ์
                    ดวงชะตาเป็นฐานอันสำคัญยิ่งในการพยากรณ์         ๒๐/ ๑๒๖๘๙
            ๓๗๙๔. พยาธิ  โดยทั่วไปแล้วหมายถึง ตัวพยาธิ หรือหนอน พยาธิที่อาศัยอยู่ในร่างกายคนหรือสัตว์ ซึ่งจะทำให้เกิดโรคหรือไม่ทำให้เกิดโรคก็ตาม ถ้าจะจำแนกออกไปตามรูปลักษณะของพยาธิ ก็จะแบ่งออกได้เป็นสองชนิดคือ
                    ๑. พยาธิตัวกลม  ถ้าแบ่งตามที่อยู่อาศัยจะได้สองพวกคือ พยาธิตัวกลมในลำไส้ได้แก่ พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย และพยาธิแส้ม้า พยาธิตัวกลมในเนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้แก่พยาธิตัวจี๊ด เป็นต้น
                    ๒. พยาธิตัวแบน  มีอยู่ด้วยกันสองกลุ่มใหญ่ ๆคือ พยาธิตัวตืด ตัวแก่ มักอยู่ในลำไส้ พยาธิใบไม้ มักอยู่ในลำไส้ ตับ ปอด และในเลือด         ๒๐/ ๑๒๖๙๕
            ๓๗๙๕. พยาธิวิทยา  เป็นสาขาหนึ่งของแพทย์ศาสตร์ที่กล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะเกี่ยวกับสาเหตุกลไลของการเกิดโรค และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในร่างกาย หรืออวัยวะที่เกิดโรคขึ้น เป็นวิชาพื้นฐานที่สำคัญยิ่งที่ทำให้เข้าใจถึงเหตุ และผลของโรคชนิดต่าง ๆ เพื่อนำเอาไปใช้ประยุกต์ในการบำบัด และป้องกันโรค เป็นวิชาที่เชื่อมโยงระหว่างวิชากายวิภาคศาสตร์กับสรีรวิทยา ซึ่งกล่าวถึงรูปร่างลักษณะ และกลไกลการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายคนกับวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการ และอาการแสดงที่ผิดปรกติในตัวผู้ป่วย รวมทั้งวิธีปฏิบัติรักษา และป้องกันโรคเช่นวิชาอายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ ฯลฯ            ๒๐/ ๑๒๖๙๗
            ๓๗๙๖. พยาธิสภาพ  คือลักษณะที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยเจ็บ หรือเป็นโรคเปลี่ยนแปลงผิดปรกติไป ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ผิดปรกติไปด้วย เกิดมีการและอาการแสดงการเป็นโรคต่าง ๆ กันไปตามชนิดและตำแหน่งของพยาธิสภาพที่เกิดขึ้น             ๒๐/ ๑๒๖๙๘
            ๓๗๙๗. พยาบาล  มีบทนิยามว่า "ดูแลคนไข้ ปรนนิบัติคนไข้ (โบ) เอื้อเฟื้อเลี้ยงดู ผู้ดูแลคนไข้"
                    การพยาบาล เป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ และความปลอดภัยของสังคม ซึ่งมีมาแต่โบราณ วิชาการพยาบาลนับเป็นวิชาชีพอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องศึกษาชั้นสูง ทำนองเดียวกันกับแพทย์และเภสัชกร       ๒๐/ ๑๒๗๐๒
            ๓๗๙๘. พยุหยาตรา  หมายถึง การยกพหลพลพยุหเสนาไปเป็นกระบวนทัพ นิยมใช้กับกองทัพ ซึ่งพระมหากษัตริย์หรือพระมหาอุปราชทรงเป็นจอมทัพ
                    กระบวนพยุหยาตรา แต่โบราณท่านจัดแยกเป็นกระบวนช้าง กระบวนม้า กระบวนเดินเท้า แต่บางครั้งก็จัดเป็นกระบวนผสม เมื่อยกกระบวนไปทางบกเรียกว่า พยุหยาตราสถลมารค ถ้ายกไปทางน้ำโดยเรือเรียกว่า พยุหยาตราชลมารค
                    การจัดกระบวนพยุหยาตราเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ นั้นจัดทำนองเดียวกับการจัดกระบวนทัพ แต่จำนวนไพร่พลอาจน้อยลง ส่วนเครื่องเฉลิมพระเกียรติ์อาจเพิ่มขึ้น      ๒๐/ ๑๒๗๐๔
            ๓๗๙๙. พยุหคีรี  อำเภอขึ้น จ.นครสวรรค์ ภูมิประะทศเป็นที่ราบดอน มีเขาทั่ว ๆ ไป ตามที่ราบทำนาน้ำฝนได้
                    อ.พยุหคีรี เดิมเป็นเมืองภายหลังยุบเป็นอำเภอ            ๒๐/ ๑๒๗๐๗
            ๓๘๐๐. พร  มีบทนิยามว่า "คำแสดงความปรารถนาดี สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์" คำนี้แต่เดิมท่านกำหนดรากคำในภาษาบาลี สันสกฤตว่า "วร" แปลได้หลายนัยคือ แปลว่า ระวังป้องกันเช่น ทางหวงห้าม ผู้เดินผ่านต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงไปได้ การขออนุญาตก่อนทำก็เรียกว่าขอพร         ๒๐/ ๑๒๗๐๘
            ๓๘๐๑. พรเจริญ  อำเภอขึ้น จ.หนองคาย ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เป็นป่า และป่าทึบ เป็นบางตอน
                อ.พรเจริญ แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ ขึ้น อ.บึงกาฬ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔         ๒๐/ ๑๒๗๑๓
            ๓๘๐๒. พรต  มีบทนิยามไว้หลายนัย จะยกมากล่าวแต่บางนัยเท่านั้น คำว่าพรต หมายความว่า กิจวัตรคือ ข้อวัตรที่ทำเป็นประจำเช่นสวดมนต์เช้า สวดมนต์เย็น การสมาทาน หรือการประพฤติตามลัทธิทางศาสนา การจำศีลเพื่อข่มกายข่มใจ เรียกกันว่า บำเพ็ญพรต ทรงพรต ถือพรต ถ้าบวชเรียกว่านักพรต
                    กล่าวโดยสรุปพรหมจรรย์ทุกอย่างถือว่าเป็นพรต การประพฤติพรหมจรรย์ทุกอย่างเรียกว่าประพฤติพรต         ๒๐/ ๑๒๗๑๔
            ๓๘๐๓. พรม ๑  เป็นสิ่งทอที่ใช้ตกแต่งภายในอาคาร โดยทั่วไปใช้ปูพื้นห้องหรือทำเป็นผืนขนาดต่าง ๆ กัน สำหรับปูพื้น นอกจากนี้ยังใช้ตกแต่งผนังห้อง
                    จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าชนเผ่าที่อยู่ในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพวกเลี้ยงแกะ และมีชีวิตเร่ร่อน มีบ้านเป็นกระโจม เป็นพวกที่รู้จักการทำพรมตั้งแต่พันปีก่อนคริสต์กาล พรมที่ทำเป็นพรมผืนเล็ก ใช้เป็นเครื่องประดับ และให้ความอบอุ่นภายในกระโจม นอกจากนี้พวกที่นับถือศาสนาอิสลาม ก็มีส่วนในการวิวัฒนาการทำพรมผืนเล็ก ซึ่งจะใช้พรมนี้นั่งสวดมนตร์ เมื่อไปจาริกแสวงบุญที่เมืองเมกกะ ดังนั้นพรมจึงเป็นสัญญลักษณ์แสดงถึงความร่ำรวยของพวกมุสลิม
                    ศิลปะการทำพรม ได้แพร่หลายเข้าไปในยุโรป เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ยี่สิบ และในกลางพุทธศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ชาวอังกฤษได้คิดค้นวิธีทอพรมด้วยเครื่องจักร
                    ชนชาติไทยมีประวัติการทำพรมตั้งแต่ ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยอ้ายลาว คาดว่าเป็นพรมขนาดเล็ก ชนิดผูกปมทำด้วยมือ ซึ่งยังคงทำอยู่บ้างเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนโดยทั่วไปในปัจจุบัน        ๒๐/ ๑๒๗๑๔
            ๓๘๐๔ พรม ๒ - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดอยู่ในวงค์ปลาตะเพียน รูปร่างยาวรีคล้ายปลาจีนชนิดหนึ่งคือปลาลิ่น แต่ปลาลิ่นตัวสั้นกว่า         ๒๐/ ๑๒๗๑๘
            ๓๘๐๕. พรม ๓ - ต้น  เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของประเทศอินเดีย เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ ๔ - ๕ เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก มียางสีขาว ลำต้นมีหนามแหลม ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันรูปไข่ กลีบดอกสีขาวมีกลิ่นหอมออกเป็นช่อที่ยอด
                    ต้นพรมมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร คือ เนื้อไม้เป็นยาบำรุงกำลัง         ๒๐/ ๑๒๗๒๐
            ๓๘๐๖. พรมคต  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๐ - ๒๐ เมตร ตามกิ่งก้านเกลี้ยง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเวียนสลับกัน มีรูปหอกกลีบดอกสีขาวมีกลิ่นหอม โดยเชื่อมติดกันเป็นหลอด ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคม ถึงกุมภาพันธ์เป็นผลเดือนมิถุนายน
                    ประกาศเป็นไม้หวงห้ามตาม พ.ร.ฎ. กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.๒๕๐๕         ๒๐/ ๑๒๗๒๑
            ๓๘๐๗. พรมแดน  ๑. พรมแดน หมายถึง ขีดกั้นเขตแดน หรือแดนต่อแดนมีการใช้คำว่าพรมแดนกันในสามความหมาย ความหมายแรกหมายถึง จุดแบ่งพื้นที่ระหว่างสองประเทศ หรือระหว่างเขตกั้นที่ขนาดใหญ่ ความหมายที่สองหมายถึง ส่วนของพื้นที่ หรืออาณาเขตบริเวณที่ติดกับเส้นเขตแดน อีกความหมายถึงใช้ในกรณีการสัญจร หรือผ่านแดนเข้า หรือออกจากประเทศ
                     ๒. ใบสนธิสัญญาที่ไทยทำไว้กับอังกฤษกำหนดเขตแดนไทยกับมลายูของอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ และในอนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทย กับฝรั่งเศส พ.ศ.๒๔๘๔ มีการใช้คำว่าพรมแดนอยู่หลายแห่งด้วยกัน
                     ๓. พรมแดนระหว่างประเทศเป็นผลจากการยอมรับของประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกัน โดยทั่วไปมักจะยึดถือลักษณะพิเศษทางธรรมชาติที่แลเห็น เช่น ภูเขา หรือแม่น้ำ แต่ไม่เป็นการจำเป็นเสมอไป ในกรณีที่ใช้ทิวเขาเป็นพรมแดนเส้นกำหนดเขตแดนมักจะใช้สัมปันน้ำ หรือยอดเขา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นเดียวกันเสมอไป กรณีที่ใช้แม่น้ำเป็นพรมแดน ถ้าเป็นแม่น้ำที่ใช้เดินเรือได้เส้นเขตแดนมักใช้ร่องน้ำลึก ถ้าใช้เดินเรือไม่ได้ ก็มักจะถือเส้นกึ่งกลางระหว่างสองฝั่งเป็นเส้นเขตแดน
                    พรมแดนระหว่างประเทศอาจจะถูกกำหนดขึ้น โดยไม่ใช้สถานะพิเศษทางภูมิศาสตร์เป็นหลักก็ได้ โดยใช้เส้นสมมติที่คำนวณกำหนดลงไปบนพื้นที่ก็ได้
                     ๔. พรมแดนยังอาจหมายถึงพื้นที่ของอาณาเขตที่ติดกับเส้นเขตแดนอีกด้วย
                     ๕. คำว่าพรมแดน เมื่อใช้กับคำว่าเปิดหรือปิด หมายความถึงการเปิดให้มีการสัญจรข้ามแดนไปมา         ๒๐/ ๑๒๗๒๒
            ๓๘๐๘. พรมมิ  เป็นชื่อพันธุ์ไม้สองชนิดด้วยกัน เป็นไม้ล้มลุกทอดเลื้อยไปตามดินขึ้นทั่วไปตามที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะดินเค็มใกล้ชายฝั่งทะเล ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน รูปไข่ กลีบดอกออกเดี่ยวตามง่ามใบสีม่วงอ่อน โดยเชื่อมติดกันเป็นหลอด ผลเป็นชนิดแห้งแตกเมื่อแก่
                    พรมมิ มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรทั้งต้นใช้รักษาโรคหืด ลมบ้าหมู วิกลจริต อาการเสียงแหบ บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย         ๒๐/ ๑๒๗๒๕
            ๓๘๐๙. พรมหัวเหม็น - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดมีอยู่สองชนิด มีผู้นิยมบริโภคเพราะเนื้อ มีรสดีและปลามีขนาดค่อนข้างโต ชอบอยู่ในแม่น้ำลำคลอง และทะเลสาบที่มีน้ำไหลอยู่บ้าง         ๒๐/ ๑๒๗๒๗
            ๓๘๑๐. พรรคกลิน  เป็นชื่อพรรคแหล่งของทหารเรือพรรคหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยกับเครื่องจักรกลภายในเรือ คำนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับคำว่า พรรคนาวิกโยธิน และพรรคนาลิน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ โดยได้ปรากฏอยู่ในข้อบังคับทหารเรือว่าด้วยการจำแนกพรรคเหล่า จำพวกและประเภททหารเรือที่กระทรวงทหารเรือสมัยนั้นได้ตราขึ้น
                    ตามระเบียบกองทัพเรือว่าด้วยการกำหนดหน้าที่ของทหารพรรคและเหล่าต่าง ๆ ซึ่งประเทศใช้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ ระบุไว้ว่าพรรคกลินแบ่งออกเป็นสามเหล่า และมีหน้าที่ดังนี้
                     เหล่าเครื่องไอน้ำ  มีหน้าที่ในการจักรไอน้ำในเรือ
                     เหล่าเครื่องยนต์   มีหน้าที่ในการจักรน้ำมันก๊าซและอากาศในเรือ
                     เหล่าเครื่องไฟฟ้า  มีหน้าที่ในการไฟฟ้าในเรือ         ๒๐/ ๑๒๗๒๙
            ๓๘๑๑. พรรคการเมือง  โดยรากศัพท์แล้วหมายถึง การที่มีกลุ่มคนภายในสังคมแบ่งแยกออกเป็นส่วน ๆ เป็นพวก ๆ ไปเพราะมีความแตกต่างกันหกประการ ปัจจับสำคัญที่มีผลทำให้เกิดการแบ่งแยกทางการเมืองนี้ได้แก่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความรวมไปถึงการมีอาชีพ แหล่งรายได้และการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม การที่คนในสังคมเกิดการแบ่งเป็นพรรคเป็นพวกนี้ มิใช่เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว หากมีปัจจัยอื่น เช่น เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา และความเชื่อทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
                    เงื่อนไขสำคัญที่สุดของการมีสภาพเป็นพรรคการเมืองก็คือ ผู้ที่มารวมกลุ่มกันนั้นมารวมกันเพราะมีหลักการรวมกัน และสิ่งที่มีร่วมกันนั้นเอง ซึ่งแต่ละคนตระหนักว่า มีความแตกต่างไปจากบุคคลอื่น หรือกลุ่มคนอื่น
                    เอ็ดมันด์ เบิร์ก อธิบายว่า พรรคการเมืองเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมารวมกันเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ โดยมีหลักการที่เฉพาะเจาะจงที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน
                    นักรัฐศาสตร์สมัยใหม่มีความเห็นว่า พรรคการเมืองในปัจจุบันได้กลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มากกว่าที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ         ๒๐/ ๑๒๗๓๑
            ๓๘๑๒. พรรคนาวิกโยธิน (ดูนาวิกโยธิน - ลำดับที่ ๒๘๖๕)         ๒๐/ ๑๒๗๓๘
            ๓๘๑๓. พรรคนาวิน  เป็นชื่อพรรคเหล่าทหารเรือพรรคหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติงานบนดาดฟ้าเรือ
                    ตามระเบียบกองทัพเรือว่าด้วยการกำหนดหน้าที่ของทหารพรรคและเหล่าต่าง ๆ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ รวมไว้ว่า ทหารพรรคนาวินมีหน้าที่ดังนี้
                    เหล่าปืนใหญ่  มีหน้าที่ในการปืนใหญ่ ปืนกล ปืนเล็ก การอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการปืนและการปราบเรือดำน้ำ
                    เหล่าตอร์ปิโด  มีหน้าที่ในการตอร์ปิโดและการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการตอร์ปิโดและการปราบเรือดำน้ำ
                    เหล่าทุ่นระเบิด  มีหน้าที่ในการทุ่นระเบิด เครื่องกวาดทุ่นระเบิด อาวุธปราบเรือดำน้ำและการอื่น ๆ เกี่ยวกับการทุ่นระเบิดแล้วอาวุธปราบเรือดำน้ำ
                    เหล่าสามัญ  มีหน้าที่ในการเรือ การเดินเรือ และทางธุรการในเรือ
                    เหล่าสัญญาณ  มีหน้าที่ในการใช้เรดาร์ การใช้โซนาร์ทางสัญญาณและการสื่อสาร
                    เหล่าอุทกศาสตร์  มีหน้าที่ในทางอุทกศาสตร์         ๒๐/ ๑๒๗๓๘
            ๓๘๑๔. พรรณานิคม  อำเภอขึ้น จ.สกลนคร ภูมิประเทศเป็นที่ราบโดยมากมีเขาป่าดง และห้วยหนองทั่ว ๆ ไป
                    อ.พรรณานิคมมีประวัติว่า พระมหาสงคราม รองแม่ทัพไทยคนหนึ่งได้คุมกำลังไปกวาดต้อนเอาราษฎรภูไทในเขตนครเวียงจันทร์ทางทิศตะวันออก คือ เมืองรัง เมืองกะปอง  เมืองเซโปน เมืองทิน เมืองนอง และเมืองมหาไชยกองแก้วได้ข้ามแม่น้ำโขง เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ในบรรดาชาวภูไทเหล่านี้ มีพวกชาวภูไทพวกหนึ่งมีท้าวโรงกลางเป็นหัวหน้า เมื่ออพยพข้ามแม่น้ำโขงมาแล้ว ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อเจ้าเมืองสกลนคร ขณะนั้นเจ้าเมืองสกลนคร จึงให้ตราภูมิแก่ท้าวโรงกลาง ให้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านพันดา (บ.พันนา อ.สว่างแดมดิมปัจจุบัน) ระหว่างทางเมื่อเดินทางมาถึงริมฝั่งห้วยอูนเห็นว่าเป็นทำเลดี จึงตัดสินใจตั้งภูมิลำเนาในที่นั้น แล้วเรียนให้เจ้าเมืองสกลนครทราบ ต่อมาท้าวโรงกลาง ได้ขอตั้งเมืองต่อเจ้าเมืองสกลนคร โดยขอใช้ชื่อพันนาดามตราภูมิ และต่อมามีการเปลี่ยนแปลงตัวหนังสือเป็นพรรณานิคม เจ้าเมืองสกลนครเห็นชอบจึงได้มีใบบอกขอตั้งเมืองไปกรุงเทพ ฯ เรียกว่าไปเปลี่ยนเมือง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๘๗ รัชกาลที่สาม ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเป็นเมืองพรรณานิคมขึ้น และตั้งท้าวโรงกลางเป็นพระเสนาณรงค์ เจ้าเมืองพรรณานิคม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๕ ได้ยุบเมืองพรรณานิคมเป็นอำเภอพรรณานิคม         ๒๐/ ๑๒๗๔๑
            ๓๘๑๕. พรรษา (ดูเข้าพรรษา - ลำดับที่ ๘๑๑)         ๒๐/ ๑๒๗๔๓
            ๓๘๑๖. พรวด ๑ - ต้น  เป็นไม้พุ่มสูง ๑ - ๒ เมตร ใบออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปรี ดอกเป็นช่อออกตลอดปีลักษณะดอกคล้ายดอกฝรั่ง หรือดอกชมพู่มีสีชมพูอมม่วง ผลกลมคล้ายผลฝรั่งอ่อน เมื่อแก่มีสีม่วงแดงกินได้         ๒๐/ ๑๒๗๔๓
            ๓๘๑๗. พรวด ๒ - ปลา  เป็นปลาขนาดเล็ก ลำตัวยาวคล้ายงู อาศัยอยู่ในน่านน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำที่ติดต่อกับทะเล และบริเวณชายฝั่งทะเล ที่มีพื้นดินเป็นโคลนเหลว โดยจะขุดรูอยู่         ๒๐/ ๑๒๗๔๓
            ๓๘๑๘. พรวด ๓ - แมลง  คือผึ้งโพรง ชอบทำรังอยู่ในที่มืด ๆ ซึ่งเป็นที่ปกปิดมิดชิด เป็นผึ้งขนาดกลางด้วยนิสัย และความเป็นอยู่ของพรวด เป็นที่ทำให้สามารถนำมาเลี้ยงในรังได้ และชาวบ้านตามชนบทรู้จักเสียงผึ้งชนิดนี้เพื่อเอาน้ำหวานและขี้ผึ้ง บางแห่งขยายเป็นการเลี้ยงแบบอาชีพ         ๒๐/ ๑๒๗๔๕
            ๓๘๑๙. พรวน (ดูเงาะ - ลำดับที่ ๑๒๕๘)         ๒๐/ ๑๒๗๔๙
            ๓๘๒๐. พรหม ๑ - พระ  เป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลายตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีขึ้นในตอนปลายสมัยพระเวท ถือว่าเป็นปฐมบุรุษของพราหมณ์
                    การที่พวกพราหมณ์พระพรหม... นี้มีผลใหญ่หลวงมาก ไม่เฉพาะแต่ลัทธิศาสนาพราหมณ์เท่านั้นยังมีผลต่อไปถึงศาสนาอื่นด้วย คือ
                    ๑. ทำให้เกิดเพศพิเศษของมนุษย์ คือเพศพรหมจรรย์
                    ๒. ทำให้เกิดลัทธิอาตมัน ซึ่งเป็นลัทธิสูงยิ่งในทางศาสนา
                    ๓. ทำให้เกิดลัทธิอุปนิษัท ซึ่งเป็นงานชิ้นเอกของศาสนาพราหมณ์
                    ในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึง พรหมไว้ในความหมายถึง ผู้ที่ได้ฌานแล้วตายไปเกิดเป็นพรหมโลก ถ้าได้รูปฌานก็จะไปเกิดในรูปพรหม ถ้าได้อรูปฌานก็จะไปเกิดในอรูปพรหม (ดูพรหมโลก - ลำดับที่ ๓๘๐๕)         ๒๐/ ๑๒๗๔๙
            ๓๘๒๑. พรหม ๒ - พระเจ้า  เป็นกษัตริย์องค์หนึ่งที่ครองอาณาจักรโยนกเชียงแสน เป็นโอรสของพระเจ้าพังคราช ประมาณกันว่าเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๔๒ ที่ครองอาณาจักรโยนกเชียงแสน ซึ่งมีโยนกนาคนคร หรือเชียงแสนเป็นราชธานี
                    พระเจ้าพรหมประสูติเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๖๔๕ ต่อมาทรงคิด อ่านที่จะกระทำการแข็งเมืองต่อขอม ทรงขอให้พระราชธิดาเลิกส่งส่วยแก่ขอม ฝ่ายขอมถือว่าพระเจ้าพังคราชเป็นขบถ จึงแต่งกองทัพไปปราบพระองค์ คุมกองทัพออกตีกองทัพขอมแตกพ่ายกลับไป และชิงเอาเมืองเชียงแสน หรือโยนกนาคนคร กลับคืนมาได้แล้ว รุกลงมาทางใต้ตีได้เมืองเชลียง จนถึงเมืองกำแพงแพชร และได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปถึงเมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ ตลอดถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนเหนือ ยังผลให้ขอมต้องล่าถอยลงมาทางตอนใต้ของดินแดน พระองค์ได้เป็นกษัตริย์ และเชิญพระราชธิดากลับไปครองเมืองเชียงแสน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองชัยบุรี ส่วนพระองค์ได้นำผู้คนพลเมืองมาสร้างราชธานีทางทิศใต้ ทรงขนานนามว่า เมืองชัยปราการ (คือ เมืองฝางหรือ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่) พระองค์ครองเมืองชัยปราการจนสิ้นพระชนม์ เมื่อพระชันษา ๗๗ พรรษา         ๒๐/ ๑๒๗๕๔
            ๓๘๒๒. พรหมคีรี  อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช ภูมิประเทศเป็นที่ราบและภูเขา แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔  ๒๐/ ๑๒๗๕๖
            ๓๘๒๓. พรหมจรรย์  ตามพยัญชนะแปลว่าความประพฤติอันประเสริฐ มีบทนิยามให้ไว้หลายนัยว่า "การศึกษาปรมัตถ์ การศึกษาพระเวท, การถือพรตบางอย่าง เช่น เว้นเมถุน เป็นต้น การบวชซึ่งเว้นเมถุน เป็นต้น"
                    ในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี กล่าวว่า สมณธรรม คือคุณความดีของผู้สงบ หรือผู้บำเพ็ญคุณความดีเพื่อสงบกิเลส โดยเฉพาะนักบวชในพระพุทธศาสนา จัดเป็นพรหมจรรย์การประพฤติพรหมจรรย์นั้นจัดเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุบรรลุคุณพิเศษ ๆ ละสูงขึ้นไปตามลำดับสมควรแก่ผู้ประพฤตินั้น         ๒๐/ ๑๒๗๕๖
            ๓๘๒๔. พรหมจารี  คำว่าพรหมจารีมีความหมายหลายอย่างในศาสนาพราหมณ์หมายถึง นักศึกษา คือ ผู้ศึกษาคัมภีร์พระเวท เป็นขั้นแรกแห่งชีวิต ซึ่งมีสี่ขั้นด้วยกันเรียกว่า อาศรมสี่ ได้แก่ พรหมจารี คฤหัสถ์ สันยาสี และวานปรัสถ์ ตามศัพท์พรหมจารีแปลว่า "ผู้ไปสู่พรหมันหรือตามพรหมันคือคำศักดิ์สิทธิ์" และยังหมายถึงนักบวชทั่ว ๆ ไปในศาสนาหรือลัทธิต่าง ๆ ที่ถือพรตบางอย่าง เช่น งดเว้นจากเมถุนธรรม เป็นต้นด้วย
                    ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึง ผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีเว้นจากเมถุนธรรม เป็นต้น เช่น ภิกษุ สามเณร
                    นอกจากนั้นในภาษาไทยยังหมายถึง หญิงที่ยังบริสุทธิ์ยังไม่เคยถูกชายร่วมประเวณีด้วย และเรียกเยื่อที่แสดงว่าผู้หญิงนั้น ยังเป็นพรหมจารีอยู่ว่าเยื่อพรหมจารี         ๒๐/ ๑๒๗๖๑
            ๓๘๒๕. พรหมชาลสูตร  เป็นชื่อพระสูตร ซึ่งเป็นสูตรต้นวรรคใน ๑๓ พระสูตร ในคัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรคแห่งพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๙ ในจำนวน ๒๕ เล่มด้วยกัน
                    บรรดาพระสูตรที่เป็นพระพุทธภาษิต พรหมชาลสูตรยาวกว่าสูตรอื่น ๆ ส่วนสูตรอื่นที่ยาวกว่าพรหมชาลสูตรก็มี เช่น สังคีติสูตร แต่เป็นภาษิตของพระสารีบุตร
                    ในพรหมชาลสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงพิธีต่าง ๆ ของสมณพราหมณ์ว่ามี ๖๒ อย่าง แปลว่าข่ายอันประเสริฐคือ ทรงแสดงธรรมครอบคลุมทุกลัทธิในครั้งนั้น และตรัสถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล         ๒๐/ ๑๒๗๖๘
            ๓๘๒๖. พรหมทัต  คำว่าพรหมทัตเป็นพระปรมาภิไธยพระราชาแคว้นกาสี ใครเป็นพระราชาแคว้นนี้จะต้องมีพระปรมาภิไธยว่าพรหมทัตทุกพระองค์
                    ในที่นี้จะกล่าวถึงพระเจ้าพรหมทัตองค์สุดท้ายที่ครองราชในกรุงพาราณสี แคว้นกาสี ท่านเล่าไว้ในเรื่องที่ฆาวุกุมาร พระองค์ได้รับพระบรมราโชวาทจากพระราชบิดาว่า อย่าเห็นยาวดีกว่าสั้น อย่าเห็นสั้นดีกว่ายาว เพราะเวรยอมไม่ระงับด้วยเวร แต่เวรย่อมระงับได้ด้วยไม่จองเวร" ต่อมาเมื่อพระเจ้าพรหมทัต ได้ทรงฟังอรรถาธิบายพระบรมราโชวาทของพระเจ้าโกศลทีฆีติราชที่ทีฆาวุกุมารอธิบายเป็นที่พอพระทัยแล้วทรงสถาปนา
ทีฆาวุกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ ครองโกศลรัฐสืบแทนพระเจ้าโกศลทีฆีติราชผู้เป็นพระราชธิดาต่อไป         ๒๐/ ๑๒๗๗๐
            ๓๘๒๗. พรหมบุตร  เป็นชื่อแม่น้ำสายหนึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่ภูเขาไกรลาส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของทิเบต แม่น้ำนี้ไหลมาทางทิศตะวันออกเหนือแนวเทือกเขาหิมาลัย และใต้เมืองลาสาเมืองหลวงของทิเบต ผ่านที่ราบสูงทิเบต แม่น้ำส่วนที่ผ่านที่ราบสูงทิเบตมีชื่อเรียกว่า แม่น้ำซังโป ยาวประมาณ ๑,๑๓๐ กม. เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สำคัญของทิเบต ที่ประมาณเส้นแวง ๙๕ องศาตะวันออก ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบตแม่น้ำ จะเปลี่ยนทิศทางการไหล คือไหลลงมาทางใต้ตัดผ่านเทือกเขาหิมาลัย ช่วงสุดทางตะวันออก เข้ามาในรัฐอัสสัมของอินเดีย ช่วงที่ไหลผ่านอินเดียจึงเรียกว่า แม่น้ำพรหมบุตร ไหลผ่านที่ราบอัสสัมอันสมบูรณ์ และกว้างขวางเป็นระยะ ๗๒๕ กม. จากนั้นจึงไหลเข้าบังคลาเทศ แล้วแยกออกเป็นสายย่อย ๆ หลายสาย สายประธานมีชื่อว่า ยมุนา แม่น้ำพรหมบุตรไหลไปบรรจบแม่น้ำคงคา ที่ไหลมาจากอินเดีย แล้วไหลผ่านดินดอนสามเหลี่ยมปากน้ำคงคา - พรหมบุตรลงสู่อ่าวเบงกอลความยาวทั้งสิ้น ๑,๙๐๐ กม. เป็นแม่น้ำที่ชาวอินเดียถือว่า เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์จากปากน้ำขึ้นไป ๑,๒๙๐ กม. ใช้เดินเรือขนาดใหญ่ได้         ๒๐/ ๑๒๗๗๓
            ๓๘๒๘. พรหมบุรี  อำเภอขึ้น จ.สิงห์บุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบทำนาได้ทั่วไป อ.พรหมบุรี เดิมขึ้นเป็นเมืองพรมบุรี ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๙ ยุบเป็นอำเภอขึ้น จ.สิงห์บุรีถึงปี พ.ศ.๒๔๗๒ เปลี่ยนเป็นชั้นนายอำเภอสามัญ ก่อนหน้านั้นนายอำเภอเป็นผู้ว่าราชการอำเภอ         ๒๐/ ๑๒๗๗๔
            ๓๘๒๙. พรหมพักตร์  มีบทนิยามว่า "ยอดเครื่องสูงหรือยอดสิ่งก่อสร้างที่เป็นหน้าพรหมสี่ด้าน" เป็นรูปคำประกอบลักษณะส่วนหน้าของเทพองค์หนึ่ง นามว่า "พรหม" เป็น "พรหมทักตร์"
                    พรหมเป็นเทพอยู่ในองค์พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามตามคัมภีร์ลัทธิศาสนาพราหมณ์มีสรรญาว่า ตรีมุรติ ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหมา เทพเจ้าทั้งสามองค์นี้มีอิทธิบารมี อภินิหารและคุณธรรมต่าง ๆ กัน มีกล่าวไว้หลายตำรา เช่น ตำนานเทวกำเนิดพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์และสวรรค์ ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมมีน้ำพระทัยเย็นเปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขา ด้วยลักษณะคุณธรรมนี้ ศาสนาพราหมณ์จึงให้พระพรหมมีสี่หน้าเรียกกันว่าพรหมพักตร์
และยังมีนิกายอื่นใช้คำว่า จัตุรมุขเป็นนามหมายถึง พระพรหมก็ได้        ๒๐/ ๑๒๗๗๔
            ๓๘๓๐. พรหมพิราม อำเภอขึ้น จ.พิษณุโลก ภูมิประเทศตามลำแม่น้ำน่านเป็นที่ราบลุ่มทางทิศตะวันออก ใกล้เขต อ.วัดโบสถ์ เป็นที่ดอนชายเขา
                    อ.พรหมพิราม เดิมเป็นเมืองแล้วยุบเป็นอำเภอ
            ๓๘๓๑. พรหมโลก  เป็นสถานที่อยู่อาศัยของพวกพรหมตามคติฝ่ายพระพุทธศาสนาท่านว่ามีหลายชั้น ชั้นต้นตั้งอยู่เบื้องบนสูงกว่าสวรรค์เทวโลกชั้นสูงสุดคือ สวรรค์ชั้นปรนิม มิตวสวดี พรหมโลกมีสองประเภท คือ รูปพรหมกับอรูปพรหม รูปพรหมมี ๑๖ ชั้น
                        ๑. พรหมปาริสัชชาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุปฐมฌานอย่างสามัญมีอายุหนึ่งในสายของมหากัป
                        ๒. พรหมปุโรหิตาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุปฐมฌานอย่างกลางมีอายุครึ่งมหากัป
                        ๓. มหาพรหมภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุปฐมฌานอย่างประณีตมีอายุหนึ่งมหากัป
                            พรหมโลกทั้งสามชั้นนี้อยู่ในระดับเดียวกัน แต่กันอาณาเขตออกเป็นสามเขต
                        ๔. ปริตตาภาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุทุติยฌานอย่างสามัญมีอายุสองมหากัป
                        ๕. อัปปมาณาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุทุติยฌานอย่างกลางมีอายุสี่มหากัป
                        ๖. อาภัสราภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุทุติยฌานอย่างประณีตมีอายุแปดมหากัป
                            พรหมโลกทั้งสามชั้นนี้อยู่ในระดับเดียวกัน แต่กันอาณาเขตแยกออกจากัป
                        ๗. ปริตตสุภาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุตติยฌารอย่างสามัญมีอายุสิบหกมหากัป
                        ๘. อัปปมาณสุภาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุตติยฌานอย่างกลางมีอายุสามสิบสองมหากัป
                        ๙. สุภกิณหาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุตติยฌานอย่างประณีตมีอายุหกสิบสี่มหากัป
                            พรหมโลกทั้งสามชั้นนี้อยู่ในระดับเดียวกันแต่แยกออกเป็นสามเขต
                            พรหมโลกทั้งเก้าชั้นนี้ย่อมวิบัติในคราวต่างกัป เช่นคราวน้ำล้างโลก ไฟสร้างโลก ลมล้างโลก พรหมทั้งเก้าชั้นนี้ย่อมถูกล้างไปด้วยในคราวนั้น ๆ
                        ๑๐. เวหัปผลาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุจตุตถฌานโดยทั่วไปมีอายุห้าร้อยมหากัป
                        ๑๑. อสัญญีสัตตาภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุจตุตุกฌาน อธิษฐานจิตมิให้มี เพราะเห็นว่าจิตนี้เป็นทุกข์ให้โทษมากนัก คำนึงอยู่ว่าขออย่ามีสัญญาเลย ครั้นแตกกายทำสายขันธ์จึงไปเกิดเป็นอสัญญีสัตว์ มีแต่รูปไม่มีสัญญาที่เรียกว่า พรหมลูกฟักมีอายุห้าร้อยมหากัป
                            พรหมโลกสองชั้นนี้อยู่ในระดับเดียวกัน แต่แยกเขตกัน
                        ๑๒. อวิหาสุทธาวาสภูมิที่หนึ่ง  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุจตุตกฌานแล้วเจริญวิปัสนาบรรลุพระอนาคามิผล เป็นพระอนาคามี ประเภทลัทธินทรีย์แกกล้ามีอายุหนึ่งพันมหากัป
                        ๑๓. อตัปปาสุทธาวาสภูมิที่สอง  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุจตุตกฌาน และได้บรรลุอนาคามิผลเป็นพระอนาคามีประเภทวิริยินทรีย์แก่กล้ามีอายุสองพันมหากัป
                        ๑๔. สุทัสสาสุทธาวาสภูมิที่สาม  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุจตุตกฌาน และได้บรรลุอนาคามิผลเป็นพระอนาคามีประเภทสตินทรีย์แก่กล้ามีอายุสี่พันมหาภัป
                        ๑๕. สุทัสสีสุทธาวาสภูมิที่สี่  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุทุติยฌาน และได้บรรลุอนาคามิผลเป็นพระอนาคามีประเภทสมาธินทรีย์แก่กล้ามีอายุแปดกันมหาภัป
                        ๑๖. อกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุจตุตกฌาน และได้บรรลุอนาคามิผลเป็นพระอนาคามีประเภทปัญญินทรีแก่กล้ามีอายุหนึ่งหมื่นหกพันมหาภัป
                        ๑๗. อากาสานัญอายตนภูมิที่หนึ่ง  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุอรูปฌานชั้นอากาสามัญจายตนะมีอายุสองหมื่นมหากัป
                        ๑๘. วิญญาณัญอายตนะภูมิที่สอง  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุอรูปฌานชั้นวิญญามันัญจายตนะมีอายุสี่หมื่นมหากัป
                        ๑๙. อากิญจัญญายตนะภูมิที่สาม  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุอรูปฌานชั้นอากิญจัญญายตนะมีอายุหกหมื่นหมากัป
                        ๒๐. เนวสัญญานาสัญญายตนะภูมิที่สี่  เป็นที่อยู่ของผู้บรรลุอรูปฌานชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะมีอายุแปดหมื่นสี่พันมหาภับ         ๒๐/๑๒๗๗๑
            ๓๘๓๒. พรหมวิหาร  เป็นธรรมเครื่องอยู่ของพระพรหมกำหนดไว้สี่ประการคือ
                    ๑. เมตตา  ความคิดปรารถจะให้เป็นสุข
                    ๒. กรุณา  ความคิดปรารถนาจะช่วยให้พ้นทุกข์
                    ๓. มุทิตา  ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
                    ๔. อุเบกขา  ความวางเฉยเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ         ๒๐/ ๑๒๗๘๔
            ๓๘๓๓. พรหมสี่หน้า  เป็นชื่อท่ารำไทยท่าหนึ่ง ซึ่งรวมอยู่ในการรำเพลงช้า และตำรารำเช่นเดียวกับท่าผาลาเพียงไหล่เป็นท่าที่ที่สาม ทั้งแม่บทใหญ่และแม่บทเล็ก
                    ท่ารำพรหมสี่หน้านี้สำคัญอยู่ที่แขนและมือ ส่วนเท้านั้นสามารถจะยักเยื้องไปได้
                    ท่ารำที่ชื่อพรหมสี่หน้านี้มีทั้งท่ารำไหว้ครู กระบี่ กระบอง และรำไหว้ครูมวยไทย         ๒๐/ ๑๒๗๙๘
            ๓๘๓๔. พรหมาสตร์ - ทุ่ง  ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.ลพบุรี อยู่ติดกับทะเลชุบศร ทุ่งพรหมาสตร์กว้างมาก หน้าน้ำน้ำท่วมทุกปี ราษฎรใช้ทำนา หน้าแล้งเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีนิยายว่า เมื่อพระรามแผลงศรให้หนุมานคาบไปได้สั่งว่า ถ้าลูกศรตกที่ใดจะสร้างเมืองให้ลูกศรมาตกในทะเลนี้ น้ำทะเลแห้งหมดด้วยอำนาจศร แผ่นดินสุกกลายเป็นดินสอพอง จึงเรียกว่าทะเลท้องพรหมาสตร์         ๒๐/ ๑๒๗๙๙
            ๓๘๓๕. พระโขนง - เขต  ขึ้นกรุงเทพ ฯ มีอาณาเขตทางทิศตะวันตกจดแม่น้ำเจ้าพระยา
                    เขตพระโขนงเดิมเป็นอำเภอเรียก อ.พระโขนง ตั้งที่ว่าการที่ริมคลองพระโขนง ตรงข้ามหน้าวัดมหาบุศย์ แล้วย้ายไปตั้งที่วัดสะพาน ต.พระโขนง เมื่อตัดถนนสุขมวิทผ่านท้องที่ อ.พระโขนงจึงย้ายมาตั้งที่ ต.บางจาก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗
                    เขตนี้มีท่าเรือใหญ่เรียกว่าท่าเรือกรุงเทพ ฯ ที่แขวงคลองเตย         ๒๐/ ๑๒๗๙๙
            ๓๘๓๖. พระคลัง  เป็นชื่อที่นิยมเรียกเสนาบดีจตุสดมภ์กรมคลัง เดิมเจ้าพระคลังมีหน้าที่ทางการคลัง การต่างประเทศและการพาณิชย์ รวมกันเป็นที่รู้จักกันดีแก่ชาวต่างประเทศ ซึ่งเรียกเสนาบดีผู้นี้ว่าพระคลัง ตลอดสมัยอยุธยา และสมัยธนบุรี
                    ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดให้มีการปรับปรุงการปกครองครั้งใหญ่ เริ่มแต่ปลดเปลื้องภาระทางการต่างประเทศของพระคลัง โดยตั้งกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๓๕ โปรดให้ตั้งกระทรวงต่าง ๆ ๑๒ กระทรวง เสนาบดีที่ดำรงตำแหน่งพระคลัง ก็เปลี่ยนเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ         ๒๐/ ๑๒๘๐๐
            ๓๘๓๗. พระเครื่อง  เป็นพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ที่นับถือกันว่าเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันอันตรายนานาประการ เข้าใจว่าย่อมาจากพระเครื่องราง เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก ซึ่งพกติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวก ถือกันว่าเป็นสิริมงคลเป็นมหานิยมคุ้มกันให้แคล้วคลาดจากภยันตรายต่าง ๆ ทั้งให้ประสบโชคลาภความสำเร็จในกิจการทั้งมวล เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้มั่นคงอยู่ในธรรมของพระพุทธศาสนา
                    พระเครื่องรางที่มีชื่อเสียงมาแต่โบราณมีพระภควัน หรือพระมหาอุจ ปิดทวาร พระกริ่ง พระพุทธรูปหล่อ พระพุทธรูปดินเผา และพระผงชนิดแกร่ง แบ่งออกเป็นสี่ประเภทคือ พระเครื่องชนิดพระพุทธรูปขนาดเล็ก พระเครื่องชนิดพระพิมพ์ พระเครื่องชนิดพระกริ่ง และพระเครื่องชนิดเหรียญ         ๒๐/ ๑๒๘๐๗
            ๓๘๓๘. พระตะบอง  เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศกัมพูชาเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของกัมพูชา และเป็นเมืองหลวงของมณฑลพระตะบอง ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำพระตะบอง อยู่ใกล้แหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของกัมพูชาคือ บริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบ จึงเป็นตลาดค้าข้าวที่สำคัญ ตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟ ซึ่งเชื่อมเมืองปราสาทของกัมพูชา กับแนวพรมแดนไทย - กัมพูชา
                    พระตะบองเคยเป็นดินแดนของไทยมาก่อนตั้งแต่สมัยอยุธยา และพ้นอำนาจการปกครองของไทยไปเป็นครั้งคราว
                    ในปี พ.ศ.๒๔๐๖ กัมพูชาตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสแต่ฝรั่งเศสยังยอมรับว่าพระตะบองยังเป็นของไทยอยู่ ครั้งถึงปี พ.ศ.๒๔๑๐ ไทยต้องรับรองว่ากัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสซึ่งเป็นเขมรนอกหรือดินแดนส่วนใหญ่ของเขมรส่วนพระตะบองยังเป็นของไทย ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๔๙ ไทยต้องโอนพระตะบองเสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส
                    ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ไทยกับฝรั่งเศสได้เปิดเจรจา เพื่อทำสนธิสัญญาไม่รุกรานต่อกัน และไทยได้เสนอขอให้มีการกำหนดแนวพรมแดนในลำน้ำโขงเสียใหม่ ซึ่งไทยกับฝรั่งเศสไม่สามารถตกลงกันได้ กลายเป็นกรณีพิพาทอินโดจีน เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ ญี่ปุ่นได้เสนอตัวเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย จนไทยกับฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพกัน ไทยลงนามในอนุสัญญาโตเกียว เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๓ ไทยได้รับดินแดนที่เสียแก่ฝรั่งเศสส่วนหนึ่งคืนมา รวมพระตะบองด้วย
                    ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ไทยขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ฝรั่งเศสได้คัดค้านโดยกล่าวว่าฝรั่งเศสยังถือว่าอยู่ในสถานะสงครามกับไทย ถ้าไทยไม่คนดินแดนที่ได้มา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ ให้ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสไม่สามารถสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกของไทย ไทยจึงต้องยอมคืนดินแดนส่วนนั้นให้แก่ฝรั่งเศสไป         ๒๐/ ๑๒๘๑๓
            ๓๘๓๙. พระตะบอง - กล้วยไม้  ในที่นี้หมายถึงหวายมาดามปอมปาดัวร์ แรกเริ่มการปลูกนั้น เมื่อสั่งต้นมาจากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาใหม่ ส่วนใหญ่ก็แบ่งกันไปปลูก เมื่อกล้วยไม้ออกดอกที่ผู้ใดก็เป็นชื่อต้นของผู้นั้น พระตะบองมีบรรดาศักดิ์ว่าพระตะบะฤทธิรงค์         ๒๐/ ๑๒๘๑๕
            ๓๘๔๐. พระนคร ๑  เดิมเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาห่างจากปากน้ำขึ้นไปทางเหนือ ๒๕ กม. มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.นนทบุรี และจ.ปทุมธานี ทิศตะวันออกจด จ.ฉะเชิงเทรา ทิศใต้จด จ.สมุทรปราการ ทิศตะวันตกจด จ.ธนบุรี เป็นที่ตั้งเมืองหลวงของประเทศไทย
                    พระนครเรียกกันว่ากรุงเทพ ฯ แต่ในหมู่ชาวต่างประเทศเรียกว่า บางกอก ตามที่ชาวต่างประเทศเรียกเมืองธนบุรีมาแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ
                    พระนครนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕ แทนกรุงธนบุรี
                    ในปัจจุบันเมื่อได้จัดการปกครองในรูปพิเศษเรียกว่าการปกครองท้องถิ่นนครหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ ได้รวม จ.พระนคร และจ.ธนบุรีเข้าด้วยกันเรียกว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้ปรับปรุงการปกครองใหม่และเรียกว่า กรุงเทพมหานคร โดยรวมราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่นเข้าด้วยกัน มีฐานะเป็นจังหวัดตามกฎหมาย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้ปรับปรุงเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง         ๒๐/ ๑๒๘๑๖
            ๓๘๔๑. พระนคร ๒  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เขตพระนครเดิมเป็น อ.พระนคร เดิมชื่อ อ.ชนะสงคราม ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ รวม อ.พาหุรัด อ.ชนะสงคราม และกิ่งอำเภอพระราชวังเข้าเป็น อ.พระนคร         ๒๐/ ๑๒๘๒๔
            ๓๘๔๒. พระนครศรีอยุธยา ๑  จังหวัดภาคกลางมีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ลพบุรี  จ.อ่างทอง และจ.สระบุรี ทิศตะวันออกจด จ.สระบุรี ทิศใต้จด จ.ปทุมธานี และจ.นนทบุรี ทิศตะวันตกจด จ.สุพรรณบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มโดยมาก ไม่มีภูเขามีแม่น้ำลำคลองมากถึงหน้าน้ำ น้ำท่วมทุกปี เหมาะแก่การเพาะปลูก
                    กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นราชธานีของประเทศไทยมาตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงประดิษฐานขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๓ มาจนถึงเสียกรุงแก่พม่า เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ รวมเวลา ๔๑๗ ปี
                    ในระยะเวลาที่เป็นราชธานีได้ถูกข้าศึกมาประชิดพระนครหกครั้ง
                     ครั้งแรก  เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ พระเจ้าหงสาวดี ตะเบงชะเวตี้ยกเข้ามาตั้งที่ จ.ทุ่งลุมพลี คราวนี้ที่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยขาดคอช้าง
                     ครั้งที่สอง  เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองขอช้างเผือกไม่ได้จึงยกทัพมาตี ฝ่ายไทยออกตั้งป้อมรับข้าศึกนอกเมืองสี่ด้าน คือที่ทุ่งลุมพลีที่ป้อมบ้านดอกไม้หันตรา ที่ป้อมท้ายคู และที่ป้อมจำปาพล ฝ่ายไทยยอมเป็นไมตรีโดยแบ่งช้างเผือกให้ และยอมให้พระราเมศวรไปอยู่หงสาวดี
                     ครั้งที่สาม  เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๑ - ๒๑๑๒ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกมาตั้งประชิดพระนครทุกด้าน ทั้งทัพพม่า และทัพของเมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นกับพม่ามีตองอู เมาะตะมะ อังวะ ไทยใหญ่ เชียงใหม่ แปร คราวนี้พระมหินทราธิราชทรงยอมแพ้เสียกรุงแก่พม่า
                     ครั้งที่สี่  ในปี พ.ศ.๒๑๑๒ พระบรมราชาพระยาละแวกเห็นว่าไทยหย่อมกำลังลงมาก จึงแต่กองทัพมาตีกรุงศรอยุธยา แต่พระมหาธรรมราชาทรงต่อสู้ และขับไล่เขมรไปได้
                     ครั้งที่ห้า  ในปี พ.ศ.๒๓๐๓ พระเจ้าอลองพญาได้มาตีกรุงศรีอยุธยาแต่เผอิญถูกปืนใหญ่ระเบิดบาดเจ็บสาหัสต้องล่าทัพกลับไป
                     ครั้งที่หก  ในปี พ.ศ.๒๓๐๙ - ๒๓๑๐ พม่าให้กองทัพในบังคับบัญชาของเนเมียวสีหบดีกับมังมหานรธามาตั้งล้อมกรุง พม่าเผากำแพงทะลายลงจึงเข้ากรุงได้ แล้วเผากรุงศรีอยุธยาไหม้หมด         ๒๐/ ๑๒๘๒๕
            ๓๘๔๓. พระนครศรีอยุธยา ๒  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาและทำประมง
                    ประวัติ อ.พระนครศรีอยุธยามีว่า ท้องที่นอกกำแพงพระนครเรียกว่าแขวงทั้งสี่ แขวงรอบกรุงว่าการเฉพาะแต่ในเกาะกรุงเท่านั้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้ตัดเอาแขวงนคร แขวงเสนา แขวงอุทัยที่อยู่ใกล้กรุงยกเป็นเขตแขวงรอบกรุง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.กรุงเก่า และในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พระนครศรีอยุธยา
                    โบราณสถานที่สำคัญของอำเภอนี้ได้แก่
                    ๑. ป้อมเพชร  เป็นป้อมสำคัญทางทิศใต้อยู่ที่ปากน้ำบางกะจะ สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์  เมื่อราวปี พ.ศ.๒๐๙๒
                    ๒. ถนนรอบกรุง  คือ ฐานกำแพงเมือง ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ พระยาไชยวิชิตได้เกลื่อนลงทำถนน
                    ๓. วัดพนัญเชิง  สร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๘๖๗ ได้ซ่อมในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร ฯ ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระเจ้าพนัญเชิงใหม่หมดทั้งองค์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๗ แล้วถวายพระนามว่าพระพุทธไตรรัตนนายก
                    ๔. วัดสุวรรณดาราราม  เดิมเรียกกันว่า วัดทอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสถาปนาใหม่พระราชทานนามว่าวัดสุวรรณดาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โปรดให้สร้างเจดีย์วิหารเพิ่มเติมพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสุวรรณดาราราม
                     ๕. วังจันทรเกษม เดิมสมเด็จพระมหาธรรมราชา ฯ ทรงสร้างให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร ฯ เวลาเสด็จลงมาจากเมืองพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๕ ครั้งกรุงเก่าเสียแก่พม่าครั้งที่สอง วังแห่งนี้ถูกทำลายรกร้างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วังนี้ขึ้นใหม่ เวลานี้เป็นเรือนจำจังหวัดในกำแพงวังมีพระที่นั่งพิมานรัตยา สร้างตามแนวผังเดิม เคยเป็นศาลากลางจังหวัด มุมวังด้านตะวันตกเฉียงใต้มีหอสูงสร้างครั้งสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ริมประตูทางเข้ามีศาลาจัตุรมุขเป็นที่ต้งพิพิธภัณฑสถาน
                     ๖. วัดขุนแสน  สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ แต่ยังค้าง อยู่เวลานี้ยังคงเป็นวัดร้าง
                     ๗. ป้อมประตูข้าวเปลือก  ตั้งอยู่สองฝั่งคลองประตูข้าวเปลือก
                     ๘. วัดราชประดิษฐาน  เป็นวัดที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงผนวชก่อนขึ้นครองราชย์และกรมขุนพรพินิจ (ขุนหลวงหาวัด) ได้มาประทับขณะเมื่อทรงผนวช
                     ๙. วัดหน้าพระเมรุ  ตั้งอยู่ริมคลองสระบัว มีพระพุทธรูปสำคัญทรงเครื่องต้นอยู่ในพระอุโบสถกับพระพุทธรูปศิลาประทับห้อยพระบาท
เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีอยู่ในพระวิหาร
                     ๑๐. วัดธรรมิกราช  สร้างก่อนสมัยสร้างกรุงศรีอยุธยาได้พบพระเศียรพระพุทธรูปสมัยอู่ทองขนาดใหญ่ที่วัดนี้
                     ๑๑. วัดราชบูรณะ  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สองทรงสร้างในที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพเจ้าอายี่ และเจ้ายี่พระยา เมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๗
                      ๑๒. พระเจดีย์ที่เจ้าอายี่พระยากับเจ้ายี่พระยา กระทำยุทธหัตถีสิ้นพระชนม์ทั้งสององค์ที่ ต.ป่าด่าน
                      ๑๓. วัดพระมหาธาตุ  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่งทรงสร้าง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๗ สมเด็จพระมหาธรรมราชา ฯ ทรงให้พระมหาเถรคันฉ่องสถิตอยู่วัดนี้
                      ๑๔. วัดพระราม  สร้างขึ้นในที่ถวายพระเพลิง พระบรมศพสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๒
                      ๑๕. วัดพระศรีสรรเพชญ์  เดิมเป็นพระราชวังสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง ทรงสร้างแต่แรกตั้งกรุงศรีอยุธยา ถึงรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงยกพระราชวังอุทิสให้เป็นวัด
                      ๑๖. พระเจดีย์  ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ สามองค์ จากตะวันออกไปตะวันตกบรรจุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระบรมโตรโลกนาถ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สาม และสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง
                      ๑๗. พระมงคลบพิตร  เป็นพระพุทธรูปบุทองสำริด สร้างสมัยอยุธยา อยู่ข้างวัดพระศรีสรรเพชญ์
                      ๑๘. พระเจดีย์สุริโยทัย  ตั้งอยู่ที่วัดสบสวรรค์
                      ๑๙. วัดไชยวัฒนาราม  อยู่ริมฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้วัดสบสวรรค์ พระเจ้าปราสาททองทรงสร้างในที่บ้านพระพันปีหลวง
                      ๒๐. วัดพุทไธสวรรค์  สมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้าง ณ ที่ ต.เวียงเหล็ก ซึ่งเป็นที่ประทับเมื่อเสด็จมาสร้างกรุงศรีอยุธยา
                      ๒๑. วัดเจ้าพระยาไทย  อยู่นอกพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ พระเจ้าอู่ทองสร้าง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐ และโปรดให้พระสงฆ์ ซึ่งบวชเรียนในสำนักพระวันรัตมหาเถระ ในลังกาทวีปซึ่งเรียกว่า "คณะป่าแก้ว" อยู่ที่วัดนี้ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ โปรดให้สร้างเจดีย์ใหญ่ เพื่อเฉลิมชัยชนะของพระองค์ ที่ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราช แห่งพม่า และพระราชทานนามว่า เจดีย์ชัยมงคล ราษฎรจึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดใหญ่ชัยมงคล
            ๓๘๔๔. พระประแดง  อำเภอ ขึ้น จ.สมุทรปราการ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มต่ำ เหมาะแก่การทำสวน
                    อ.พระประแดง คงจะเป็นเมืองมาแต่ต้นสมัยอยุธยา เพราะปรากฎว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง ให้ขุดคลองสำโรงขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๑ ได้เทวรูปสำริดโบราณ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ปลูกศาลไว้ที่เมืองพระประแดง
                    เมืองพระประแดง น่าจะร้างในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๕๗ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ได้เป็นแม่กองเสด็จลงไปทำเมืองขึ้นที่ปากลัด ได้รับพระราชทานชื่อว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ ให้ย้ายครัวมอญปทุมธานี พวกพระยาเจ่ง มีจำนวนชายฉกรรจ์ ๓๐๐ คน ลงไปตั้งอยู่ ณ เมืองนี้ แล้วโปรดตั้ง สมิงทอมา บุตรพระยาเจ่งเป็น พระยานครเขื่อนขันธ์ ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ เปลี่ยนเป็นจังหวัดพระประแดง ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ยุบเป็นอำเภอ ขึ้น จ.สมุทรปราการ         ๒๐/ ๑๒๘๓๖
            ๓๘๔๕. พระพุทธเจ้า  คือ พระผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรือพระผู้ตรัสรู้อนุตรธรรมจักร หรือพระผู้ตรัสรู้อริยสัจสี่ (หรือผู้ตรัสรู้วิชชาสาม - เพิ่มเติม)
                    พระพุทธเจ้ามีสามประเภทคือ
                        ๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ตรัสรู้พระอนุตรธรรมแล้ว ทรงแสดงธรรมนั้นแก่มหาชนทั่วไป ยังโลกนี้และโลกอื่น ให้สว่างไสว แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน
                        ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า  ตรัสรู้อนุตรธรรมเฉพาะตัว สั่งสอนคนอื่นไม่ได้
                        ๓. พระอนุพุทธเจ้า  ตรัสรู้พระอนุตรธรรม ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า นำพระธรรมของพระพุทธเจ้า ออกเผยให้แพร่หลายจนถึงปัจจุบัน และสืบต่อไปในอนาคต
                    พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีสามประเภทคือ
                        ๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นปัญญาธิกะ ยิ่งด้วยปัญญา เช่น พระสักยมุนีโคดม พระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา
                        ๒. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นสัทธาธิกะ ยิ่งด้วยศรัทธา เช่น พระทีปังกรพุทธเจ้า
                        ๓. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นวิริยาธิกะ ยิ่งด้วยความเพียร เช่น พระศรีอริยเมตไตร ซึ่งจะมาตรัสรู้ภายหน้าต่อจากพระสักยมุนี พระพุทธเจ้าของเรา
                    ผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องปรารถนา และบำเพ็ญพุทธการธรรมตามขั้นตอนคือ ต้องมีอัฐธรรมสโมธาน แปดประการคือ
                        ๑. ต้องเป็นคนผู้ชายโดยปรกติ
                        ๒. ต้องมีเพศสมบูรณ์ไม่เป็นหมัน
                        ๓. สมบูรณ์ด้วยเหตุคือ สามารถจะบรรลุอรหัตผลได้ในชาตินั้น
                        ๔. ได้พบพระพุทธเจ้า ผู้ยังทรงพระชนม์อยู่ และได้แสดงความปรารถนา
                        ๕. ได้บวชบำเพ็ญเพียรบรรลุอภิญญา และสมาบัติ
                        ๖. สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม มีฌาน และสมาบัติ เป็นต้น
                        ๗. ต้องบริจาคอันยิ่งใหญ่ เช่น บริจาคชีวิตของตนถวายเป็นพุทธบูชา แด่พระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง
                        ๘. ต้องตั้งใจจริงแน่วแน่
                    ต่อจากนี้ได้บำเพ็ญพุทธการธรรมอย่างอื่นต่อไปจนเต็มความรู้ ความสามารถเมื่อตรวจพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบแล้ว ย่อมเห็นบารมี ๓๐ ทัศ มี ทารบารมี ทานอุปบารมี  ทานปรมัตถบารมี เป็นต้น มีอุเบกขาบารมี อุเบกขาอุปบารมี อุเบกขาปรมัตถบารมี เป็นต้น
                    พระพุทธเจ้าที่มีมาแล้วในอดีต ในคัมภีร์ชาติกัฎฐกถา ปฐมภาค มี ๒๕ องค์ จากพระทีปังกรพุทธเจ้า ถึงพระโคดมพุทธเจ้า         ๒๐/ ๑๒๘๓๘
            ๓๘๔๖. พระภูมิ  (ดู เจ้าที่ - ลำดับที่ ๑๕๒๗)         ๒๐/ ๑๒๘๔๑
            ๓๘๔๗. พระร่วง  เป็นนามของราชวงศ์ที่ครองกรุงสุโขทัย และพระนามของกษัตริย์ที่ครองกรุงสุโขทัย
                    ราชวงศ์สุโขทัย หรือราชวงศ์พระร่วง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงสถาปนาขึ้นในระยะ พ.ศ.๑๗๑๘ - ๑๘๐๐ ราชวงศ์สุโขทัยได้ครองราชย์สืบต่อมา จนถึงพระมหาธรรมราชาที่สี่ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย และสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.๑๙๘๑ กรุงสุโขทัยได้กลายเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๑ ราชธานีของกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัย ได้ย้ายมาตั้งที่เมืองพิษณุโลก ราชวงศ์นี้ได้สร้างความเจริญแก่ชนชาติไทยหลายอย่าง เป็นการวางพื้นฐานให้แก่กรุงศรีอยุธยาในการปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนาและสังคม เช่น ทรงริเริ่มใช้ลายสือไทย ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทรงส่งเสริมการค้าเสรี สร้างถนนพระร่วง
                    พ่อขุนรามคำแหง ทรงสร้างความรุ่งเรืองให้แก่กรุงสุโขทัย ด้วยเหตุว่าทรงเป็นนักปราชญ์ นักปกครอง นักการทหาร นักเศรษฐกิจ และนักการทูต ทรงแบ่งเมืองต่าง ๆ ออกไปเป็นสามชั้นคือ
                        ๑. หัวเมืองชั้นใน อยู่รอบกรุงสุโขทัยราชธานี
                        ๒. หัวเมืองชั้นนอก เรียกกันว่า เมืองพระยามหานคร แต่ละเมืองมีเมืองขึ้นใหญ่บ้าง เล็กบ้าง
                        ๓. หัวเมืองประเทศราช
                    พ่อขุนรามคำแหง ทรงแผ่อาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับอาณาเขตลานนา ที่เมืองลำปาง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตคลุมถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองพลัว (อ.ปัว ใน จ.น่าน ปัจจุบัน) และหลวงพระบาง ทางทิศตะวันออกมีอาณาเขตไปถึงฝั่งแม่น้ำโขง จนถึงเวียงจันทน์ และเวียงคำ ทางทิศใต้ได้ปกครองเมืองพระบาง (นครสวรรค์)  ลงไปถึงเมืองสุพรรณบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ตลอดปลายแหลมมลายู ทางทิศตะวันตกแผ่ไปถึงเมืองตะนาวศรี ทวาย เมืองฉอด และเมืองหงสาวดี
            ๓๘๔๘. พระราม - วัด  เป็นวัดร้าง มีอายุกว่า ๕๐๐ ปี ตั้งอยู่นอกบริเวณพระราชวังโบราณ อยู่ริมบึงพระราม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงให้สร้าง ณ ที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๗๒         ๒๐/ ๑๒๘๔๖
            ๓๘๔๙. พระลอ  (ดู เพื่อนและแพง - ลำดับที่ ๔๐๓๔, ๔๐๓๕)         ๒๐/ ๑๒๘๕๑
            ๓๘๕๐. พระลือ  เป็นพระนามพระพุทธปฎิมากร ฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ในราชวงศ์สุโขทัย เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะ ปางห้ามสมุทร พระเศียรสวมพระมาลา ทำเป็นจอม ขึ้นไปคล้ายฝาละมี
                    พระลือ เป็นนามเดียวกันกับ พระเจ้าลือไทย พระองค์ได้รับการสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ เป็น พระมหาธรรมราชาธิราช          ๒๐/ ๑๒๘๕๑
            ๓๘๕๑. พระวิหาร - ปราสาท  ตั้งอยู่บนทิวเขาดงรัก ซึ่งกั้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศกัมพูชา กับภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทย เป็นศาสนสถานขอม สร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ มีประตูซุ้ม (โคปุระ) และบันไดศิลาเดินขึ้นไปยังศาสนสถานหลังกลาง ซึ่งเป็นเทวาลัยที่สร้างถวายพระอิศวร มีอายุเก่าแก่กว่าปราสาทนครวัด ในประเทศกัมพูชา และยังคงอยู่ค่อนข้างดี
                    ปราสาทเขาพระวิหาร ประกอบด้วยประตูซุ้ม และบันไดขึ้นบนลาดเขาไปยังเทวาลัยที่อยู่ปลายสุด ทางเดินนี้ค่อนข้างแคบและยาวมาก ตั้งต้นจากลาดเขาทางทิศเหนือ ไปยังยอดเขาทางทิศใต้ ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๖๕๗ เมตร ความยาวของทางเดิน ๘๖๖.๕ เมตร
                    ปราสาทพระวิหารนี้ คงสร้างขึ้นเพื่อดินแดนเขมรสูง ซึ่งปัจจุบันเป็นจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ โดยปรกติปราสาทขอมมักหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเสมอ แต่ปราสาทเขาพระวิหารหันหน้าไปทางทิศเหนือ ก็เพื่อต้อนรับประชาชนที่มาจากดินแดนเขมรสูงในขณะนั้น สระใหญ่คือ สระตราว ก็สร้างขึ้นทางทิศเหนือ ไม่ห่างจากเชิงปราสาทพระวิหารนัก เพื่อให้ประชาชนที่มาจากทางทิศเหนือสามารถใช้น้ำได้         ๒๐/ ๑๒๘๕๕
            ๓๘๕๒. พระแสง  อำเภอ ขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศเป็นที่ดอนสูง ๆ ต่ำ ๆ
                    อ.พระแสง เดิมชาวบ้านเรียกว่า อ.ไทรขึง ขึ้น จ.นครศรีธรรมราช โอนมาขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ ยุบเป็นกิ่งอำเภออยู่คราวหนึ่ง แล้วยกฐานะเป็นอำเภออยู่คราวหนึ่ง แล้วยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑         ๒๐/ ๑๒๘๖๓
            ๓๘๕๓. พระอภัยมณี  เป็นชื่อบุคคลสำคัญที่สุดฝ่ายชาย หรือตัวพระเอก ในนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ ซึ่งแต่งเรื่องนี้ในรัชกาลที่สอง จนถึงตอนปลายรัชกาลที่สาม
                    พระอภัยมณี มีลักษณะต่างจากตัวพระเอกในวรรณคดีไทยในสมัยก่อนสุนทรภู่ แม้แต่เรื่องประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ ในสมัยสุนทรภู่ คือ ตัวพระเอกในหนังสืออื่น ๆ ดังกล่าวล้วนมีลักษณะเป็นไปทำนองเดียวกันหมดคือ พระเอกเป็นชายรูปงามที่มีฝืมือในการรบ แต่พระอภัยมณีกลับเป็นศิลปินประเภทคีตศิลปิน และมีความสามารถยอดเยี่ยมในการเป่าปี่
                    พระอภัยมณีเป็นพระเอกศิลปิน เจ้าชู้มีชายาหลายคนมีลูกกับนางผีเสื้อสมุทร เป็นชายชื่อ สินสมุทร มีลูกกับนางเงือก เป็นชายชื่อ สุดสาคร มีลูกกับนางสุวรรณมาลี เป็นธิดาแฝดคือ สร้อยสุวรรณ กับจันทรสุดา และมีลูกกับนางละเวงชื่อ มังคลา
                    บทบาทของพระอภัยมณี โดยเฉพาะตอนผจญภัย ตั้งแต่ต้นเรื่อยมาจนเสร็จศึกนางละเวง ได้นางละเวงเป็นชายานั้น มีลักษณะเด่นและชวนอ่าน แต่ตอนต่อจากนั้น บทบาทของพระอภัยมณีเริ่มลดน้อยถอยลงตามลำดับ ทั้งนี้เพราะเดิมที่เดียวสุนทรภู่ แต่งเรื่องพระอภัยมณีไว้เพียง ๔๙ เล่มสมุดไทย แต่ต่อมากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ โปรดปรานมาก โปรด ฯ ให้สุนทรภู่แต่งต่อโดยแต่งเดือนละหนึ่งเล่มสมุดไทย สุนทรภู่จึงต้องแต่งต่อไปจนถึงเล่มสมุดไทยที่ ๙๔ จึงจบ ตอนท้าย ๆ เรื่องสำนวนอ่อนไป แสดงว่ามีผู้ช่วยแต่งเติม และเนื้อเรื่องก็กระจัดกระจาย เพราะตัวบุคคลในเรื่องมีมากขึ้น        ๒๐/ ๑๒๘๖๓
            ๓๘๕๔. พรานกระต่าย  อำเภอ ขึ้น จ.กำแพงเพชร ภูมิประเทศเป็นที่ดอน ตอนกลางทำนาได้ นอกนั้นเป็นป่าแดงโดยมาก ตอนใต้เป็นดงทึบ
                    อ.พรานกระต่าย เป็นเมืองโบราณเรียกว่า เมืองพราน มีสิ่งสำคัญคือ ถนนพระร่วง ภายหลังยุบเป็นอำเภอ         ๒๐/ ๑๒๘๖๗
            ๓๘๕๕. พรานบุญ  เป็นผู้พบรอยพระพุทธบาท บนไหล่เขาเมืองสระบุรี ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๗๑         ๒๐/ ๑๒๘๖๗
            ๓๘๕๖. พรานผึ้ง - นก  เป็นนกที่อยู่ในสกุลใกล้ ๆ กับพวกโพระดก หรือนกตีทอง ประเทศไทยทางปักษ์ใต้มีอยู่เพียงชนิดเดียวคือ นกพรานผึ้งมลายู เป็นนกขนาดเล็กกว่านกเอี้ยงปากหนา นกพวกนี้มีนิสัยชอบร้องและบินล่อแขกดำพื้นเมือง หรือนำสัตว์พวกที่ชอบแหกรังผึ้ง เพื่อกินน้ำผึ้งหรือผึ้งตัวอ่อน นกนี้ก็ได้กิน         ๒๐/ ๑๒๘๖๙
            ๓๘๕๗.  พราย  มีบทนิยามว่า "ผีพวกหนึ่ง (มักกล่าวกันว่า เป็นผีผู้หญิงและเด็กที่ตายทั้งกลม)"  ตามคติชาวบ้านเรื่องเชื่อผีสางเทวดาว่า หญิงที่ตายทั้งกลมคือ ตายทั้งแม่และลูกที่อยู่ในท้อง เรียกว่า ตายโหง คือ ตายผิดธรรมดาโดยอาการร้าย แล้วไปเกิดเป็นผีจำพวกหนึ่ง เรียกว่า ผีพราย อยู่ตามป่าช้าซึ่งเป็นที่ที่ฝังซากศพของตน
                   เมื่อกล่าวในแง่ภาษา คำว่า "พราย" เป็นภาษาไทยใหญ่ พายัพ และอีสาน คำนี้เป็นไปในทางข้างผี คำพูดในทางเรือก็มี พรายน้ำ         ๒๐/ ๑๒๘๖๙
            ๓๘๕๘. พรายทะเล  หรือพรายน้ำ หรือผีน้ำ เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ มีลักษณะเป็นแสงลุกเป็นเส้น ๆ อย่างแปรง ออกจากยอดแหลมต่าง ๆ หรือจากวัตถุมีมุมแหลม ในระหว่างเกิดพายุฟ้าคะนอง หรือพายหิมะ ปรากฎการณ์นี้เกิดมากในที่สูง ตามยอดเขาและเกิดในระยะต่ำเป็นครั้งครา เวลาเกิดแสงนี้จะมีเสียงดังซีด ๆ บางทีมีกลิ่นประหลาด และมักเกิดก่อนฟ้าแลบเล็กน้อย
                ปรากฎการณ์นี้มีสาเหตุเช่นเดียวกับฟ้าแลบคือ มีความต่างศักย์ไฟฟ้าในระหว่างพื้นโลก กับในอากาศทำให้เกิดดประกายไฟฟ้าเข้าหากัน         ๒๐/ ๑๒๘๗๓
            ๓๘๕๙. พร้าว  อำเภอ ขึ้น จ.เชียงใหม่ ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา ตอนอื่น ๆ เป็นป่าและภูเขาล้อมรอบตลอด
                    อ.พร้าว เดิมตั้งที่ว่าการที่ บ.กลางเวียง ต.เวียง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ได้ย้ายที่ว่าการไปตั้งที่ บ.กู่เฮือง ต.เวียง          ๒๐/ ๑๒๘๗๕
            ๓๘๖๐. พราหมณ์ - ศาสนา  นับว่าเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด ปัจจุบันยังมีผู้นับถืออยู่หลายร้อยล้านคน ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาโบราณของอินเดียมาก่อน อินเดียเป็นแหล่งให้กำเนิดศาสนา ปรัชญา และวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมาย
                    ศาสนาพราหมณ์ เป็นศาสนาของพวกอารยัน หรืออริยะ ที่เข้ามาสู่อินเดียทางตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ก่อนพุทธศักราชหลายพันปี เข้ามาตั้งตัวเป็นนายปกครองประชาชนชาวพื้นเมือง ถือตนว่าเจริญกว่า จึงเห็นว่าควรสงวนความบริสุทธิ์ของเชื้อสายพวกตนไว้ ด้วยการออกบทบัญญัติ ห้ามพวกตนสมสู่กับชาวพื้นเมือง และสงวนอาชีพที่สำคัญ ๆ ไว้ให้พวกตน ซึ่งต่อมาเรียกว่า "วรรณะ"  เป็นสามวรรณะ และจัดพวกเจ้าของถิ่นไว้เป็นอีกวรรณะหนึ่ง รวมเป็นสี่วรรณะคือ
                    ๑. วรรณะพราหมณ์  หรือนักบวช นักปราชญ์ ครูบาอาจารย์ มีหน้าที่สั่งสอน และประกอบพิธีทางศาสนาต่าง ๆ เปรียบเสมือนศีรษะ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดสติปัญญา
                    ๒. วรรณะกษัตริย์  หรือพวกนักรบ นักปกครอง เปรียบเสมือนอก อันเป็นบ่อเกิดแห่งกำลังแห่งสังคม
                    ๓. วรรณะแพศย์  ได้แก่ พวกที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการค้าขาย การทำไร่ทำนา ถือว่าเป็นพวกที่กุมการเศรษฐกิจของชาติ จึงเปรียบเสมือนขา ซึ่งเป็นส่วนที่พยุงกายให้คงอยู่
                    ๔. วรรณะศูทร  เป็นเจ้าของถิ่นเดิม ถูกเหยียดหยามว่าเป็นทัสยุ คือ เป็นคนที่ต้องคอยรับใช้พวกอารยันดุจเป็นทาส เปรียบเสมือนเท้า อันเป็นอวัยยะต่ำสุด
                    ศาสนาพราหมณ์ ไม่มีศาสดาผู้ให้กำเนิดเหมือนศาสนาอื่น แต่นับถือเทพเจ้า เป็นที่เคารพสักการบูชา เดิมนับถือพระอินทร์เพียงองค์เดียว ต่อมานับถือพระพรหม พระอิศวร หรือพระศิวะ พระนารายณ์ หรือพระวิษณุ สามองค์นี้เป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ และยังมีเทพอื่น ๆ ที่มีความสำคัญลดหลั่นลงมาอีกมาก ทำให้เกิดเป็นสามนิกายคือ
                    ๑. นิกายพรหม  ได้แก่ นิกายที่นับถือพระพรหมเป็นใหญ่
                    ๒. นิกายไศวะ  ได้แก่ นิกายที่นับถือพระอิศวร หรือพระศิวะ เป็นใหญ่
                    ๓. นิกายไวษณพ  ได้แก่ นิกายที่นับถือพระนารายณ์ หรือพระวิษณุ เป็นใหญ่          ๒๐/ ๑๒๘๗๖
            ๓๘๖๑. พราหมณ์โต (ดู กุมภัณฑ์ - ลำดับที่ ๔๙๙ )         ๒๐/ ๑๒๘๘๖
            ๓๘๖๒. พราหมณะ - คัมภีร์  เป็นคัมภีร์สำคัญพวกหนึ่ง ในจำนวนคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สี่พวกของศาสนาพราหมณ์ ที่รวมกันเข้าเป็นกลุ่มคัมภีร์พระเวท ซึ่งประกอบด้วย
                    ๑. สัมหิตา หรือมันตระ เป็นบทสวด
                    ๒. พราหมณะ เป็นบทอธิบายกฎเกฎฑ์ในการทำยัญกรรม
                    ๓. อารัณยกะ  เป็นบทแสดงข้อประพฤติปฎิบัติของผู้ฝึกธรรมในป่า
                    ๔. อุปนิษัท เป็นบทว่า ด้วยปรัชญาเกี่ยวกับพรหม อันเป็นวิวัฒนาการขั้นสุดท้ายของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "เวทานตะ"  (ที่สุดแห่งพระเวท)
                    คัมภีร์พระเวท แต่ละเล่มคือ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอถรรพเวท ต่างก็ประกอบขึ้นจากสี่กลุม หรือสี่ตอน ดังกล่าวนี้ เหมือนกันทั้งสิ้น
                    กลุ่มคัมภีร์ประเภท พรหมณะ นับว่าเป็นแม่บทสำคัญของศาสนาพราหมณ์ เพราะเป็นคัมภีร์ที่วางกฎเกณฑ์ทุกอย่าง เกี่ยวกับการปฎิบัติในเรื่องพิธีรีตรองทางศาสนาพราหมณ์โดยเฉพาะ คัมภีร์นี้แต่งเป็นร้อยแก้วทั้งหมด มีทั้งหมดสิบสองเล่ม
            ๓๘๖๓. พราหมี - อักษร  เป็นตัวอักษรโบราณเก่าแก่ที่สุดของอินเดีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของตัวอักษรชนิดต่าง ๆ ที่ใช้กันแพร่หลายในแว่นแคว้นต่าง ๆ ของอินเดีย ในสมัยหลังยกเว้นอักษรขโรษฐี อักษรพราหมี ที่พบครั้งแรกสุดในอินเดียคือ จารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรพราหมีขึ้น
                    ตัวอักษรพราหมี กระจายไปตามภาคเหนือและภาคใต้ของอินเดีย ได้ถูกดัดแปลงเปลี่ยนรูปร่างไปในท้องถิ่นต่าง ๆ หลายรูปแบบ จนในที่สุดแบ่งออกเป็นแบบใหญ่ ๆ สองแบบคือ แบบที่ใช้ในอินเดียภาคเหนือเรียกว่า อักษรเทวนาครี แบบที่ใช้ในอินเดียภาคใต้เรียกว่า อักษรครนถ์ หรือคฤนถ์ ส่วนตัวอักษรพราหมี แบบดั้งเดิมเลิกใช้ไปในที่สุด         ๒๐/ ๑๒๘๘๙
            ๓๘๖๔. พริก ๑ - นก  เป็นนกที่ชอบเดินหากินไปบนจอกแหน มีสีดำเกือบทั้งตัว ปีกสีน้ำตาลแดง โคนปากและแผ่นเนื้อที่หน้าผากเป็นสีแดง คล้ายคาบพริกไว้          ๒๐/ ๑๒๘๙๓
            ๓๘๖๕. พริก  ๒  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๓๐ - ๑๐๐ ซม. มีใบขนาดเล็กปลายแลบ โคนใบแหลม ใบออกสลับกันสองข้างกิ่ง ดอกขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว ขาวอมเขียว ขาวอมม่วง ดอกออกตรงข้อหรือปลายยอด ออกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก ผลพริกมีรูปร่างหลายแบบและหลายขนาด ส่วนใหญ่จะมีรูปทรงยาว ปลายแหลม
                    โดยทั่วไป พริกใช้ทำเป็นอาหารได้ทั้งใบและผล          ๒๐/ ๑๒๘๙๓
            ๓๘๖๖. พริกไทย  เป็นพืชยืนต้นประเภทเถาไม้เลื้อยตระกูลเดียวกับดีปลี ช้าพลู สะค้าน และพลู ฯลฯ ใบเป็นประเภทเดี่ยวเกิดสลับตามข้อลำต้น และกิ่งแขนงรูปร่างคล้ายใบพลู ดอกเกิดตรงข้ามกับใบในส่วนของกิ่งแขนง เป็นช่อดอกแบบไม่มีก้านดอก หนึ่งช่อดอกมีดอกประมาณ ๑๕๐ ดอก ดอกมีขนาดเล็กมาก ผลออกเป็นช่อ แต่ละผลไม่มีก้านเกาะติดกันอยู่กับแกนกลางของช่อดอก มีรูปร่างกลม          ๒๐/ ๑๒๘๙๙
            ๓๘๖๗. พฤกษศาสตร์ ๑  เป็นวิชาหรือการศึกษาเกี่ยวกับพืช ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสต์กาล และพัฒนามาเป็นลำดับ         ๒๐/ ๑๒๙๐๔
            ๓๘๖๘. พฤกษศาสตร์ ๒  เป็นหลักสูตรการศึกษาหลักสูตรหนึ่ง ในมหาวิทยาลัยเป็นการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ ทางด้านชีวภาพโดยเน้นหนักในเรื่องสิ่งมีชีวิตที่จัดเป็นพืชชั้นต่ำ ไปจนถึงพืชชั้นสูง         ๒๐/ ๑๓๙๐๕
            ๓๘๖๙. พฤกษศาสตร์ ๓  เป็นหน่วยราชการระดับภาค หรือแผนกวิชาของทบวงมหาวิทยาลัย และหน่วยงานระดับงานของกระทรวงเกษตร ฯ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ของพันธุ์ไม้         ๒๐/ ๑๓๙๐๕
            ๓๘๗๐. พฤติกรรมนิยม  เป็นปรัชญาวิทยาศาสตร์แห่งพฤติกรรม มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาทำนาย และควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์         ๒๐/ ๑๓๙๐๖
            ๓๘๗๑. พฤหัสบดี - ดาว  เป็นดาวเคราะห์ดวงใหญ่ที่สุด ในระบบสุริยะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๑ เท่าของโลก และมีมวลมากกว่าดาวเคราะห์ทุกดวงมารวมกัน อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ห้า โดยห่างประมาณห้าเท่าของระยะที่โลกอยู่ห่าง ดังนั้น พลังแสงแดดจึงมีเพียง ๑/๒๕ ของที่โลกได้รับ มีอุณหภูมิที่พื้นผิวต่ำ พื้นผิวมีน้ำแข็ง แอมโมเนียแข็งและมีเทนแข็ง ปกคลุมอย่างหนาทึบ องค์ประกอบของดาวพฤหัสบดีมีดาวบริวารสี่ดวง เรียงอยู่ในแนวที่ผ่านเส้นศูนย์สูตรของดาวพฤหัสบดี
                    การหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี พบว่าหมุนรอบตัวเองเร็วที่สุด บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรมีอัตราการหมุนรอบละ ๙ ชั่วโมง ๕๐ นาที ๓๐ วินาที การหมุนรอบตัวนี้ทำให้ดาวพฤหัสบดีโป่งออกแถบศูนย์สูตร และแบนที่ขั้วโลกเป็นอันมาก เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ ๒๐,๐๐๐ กม.
                    บรรยากาศของดาวพฤหัสบดีแบ่งเป็นชั้นต่าง ๆ คล้ายบรรยากาศของโลก เว้นแต่ไม่มีระดับชั้นโอโซนเท่านั้น        ๒๐/ ๑๓๙๑๒
            ๓๘๗๒. พล  อำเภอ ขึ้น จ.ขอนแก่น ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีทุ่งและป่าเต็งรังเป็นพื้น          ๒๐/ ๑๒๙๒๑
            ๓๘๗๓. พลเทพ - เจ้าพระยา  เป็นราชทินนามขุนนาง จตุสดมภ์กรมนา หรือเกษตราธิบดี มีหน้าที่ว่าการไร่นาเพาะปลูก และการเก็บสรรพากรขนอนตลาด ในชั้นหลังมีหน้าที่ตรวจตราการทำไร่นา และออกหนังสือมอบที่นาที่เรียกว่า โฉนด จตุสดมภ์กรมนา จะให้กรรมสิทธิ์ที่ดินได้เฉพาะที่นาเท่านั้น ที่สวนนั้น จตุสดมภ์กรมคลัง มีหน้าที่ให้กรรมสิทธิ์ ส่วนที่บ้านนั้น จตุสดมภ์กรมเวียง เป็นผู้ให้กรรมสิทธิ์
                    จตุสดมภ์กรมนา ยังมีหน้าที่เก็บหางข้าวขึ้นฉางหลวง เก็บสะสมไว้เพื่อเป็นเสบียงเลี้ยงกองทัพ ในงานพระราชสงคราม คำว่า หางข้าวนั้น หมายความว่า อากรค่านาที่ราษฎรทำได้เท่าใด ต้องแบ่งให้แก่หลวงตามจำนวนที่กำหนด ตามชนิดของนาได้ข้าวดีหรือไม่ดี ได้มากได้น้อย ตามที่ทางราชการกำหนด เช่น นาคู่โค หรือนางฟางลอย         ๒๐/ ๑๒๙๒๑
            ๓๘๗๔. พลวง ๑  เป็นไม้ยืนต้น อาจสูงถึง ๓๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ดอกสีขาว ออกเป็นช่อสั้น ๆ น้อยดอกตามง่ามใบ ผลมีปีกใหญ่ยาวสองปีก และเป็นรูปหูสั้น ๆ สามอันที่ปลายผล เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างชั่วคราว และตกแต่งภายใน          ๒๐/ ๑๒๙๒๕
            ๓๘๗๕. พลวง ๒  เป็นธาตุลำดับที่ ๕๑ ในธรรมชาติธาตุพลวงมีปรากฎอยู่ในหินอัคคี และในเปลือกโลก ทั้งในภาวะอิสระและในภาวะรวมตัวกับธาตุอื่น เป็นสารประกอบ
                    พลวง มีคุณสมบัติพิเศษคือ เมื่อนำไปหลอมละลายแล้ว ทิ้งให้เย็นจะขยายตัวมีปริมาตรโตขึ้น เมื่อแข็งตัวเช่นเดียวกับน้ำ เมื่อนำพลวงไปผสมกับโลหะอื่น ที่มีลักษณะอ่อน เช่น ดีบุก ตะกั่ว จะได้โลหะเจือที่มีความแข็งแกร่งทวีขึ้น         ๒๐/ ๑๒๙๒๖
            ๓๘๗๖. พลวง ๓ - ปลา  เป็นปลาที่มีความว่องไวมากชอบอยู่ตามน้ำตก หรือบริเวณที่น้ำไหลแรง และค่อนข้างเย็น ปลาพลวงมีลำตัวค่อนข้างเพรียวยาว แบนข้างเล็กน้อย หัวเล็ก
            ๓๘๗๗. พละศึกษา ๑  เป็นกระบวนการศึกษาแขนงหนึ่งจากสี่แขนง (พุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา) เชื่อกันว่าการพลศึกษาเกิดขึ้นมานานนับพันปี
                    ปัจจุบันชาติต่าง ๆ ได้ถือว่าพลศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการศึกษา ประเทศไทยเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า พลศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๒ โดยทางราชการได้จัดตั้งสถาบันการศึกษาด้านพลศึกษาขึ้น ณ บริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มีชื่อว่า โรงเรียนพลศึกษากลาง         ๒๐/ ๑๒๙๓๑
            ๓๘๗๘. พลศึกษา ๒  เป็นชื่อกรมหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการคือ กรมพลศึกษามีอำนาจหน้าที่ในการจัดและส่งเสริม ทางด้านพลศึกษากีฬา นันทนาการ สุขศึกษา ลูกเสือ อนุกาชาด การควบคุมความประพฤติ และงานผลิตครูพลศึกษา สุขศึกษา         ๒๐/ ๑๒๙๓๒
            ๓๘๗๙. พลอง - ต้น  เป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๔ - ๒๕ เมตร ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามในระนาบเดียวกัน ดอกสีขาวหรือม่วงแดง ม่วงน้ำเงิน ขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ และกิ่งแก่ ผลกลมหรือรี ขนาดเล็ก สีเขียวอ่อน หรืออมเหลือง         ๒๐/ ๑๒๙๓๒
            ๓๘๘๐. พลอย  เป็นคำทั่วไป หมายถึง แร่ที่มีสมบัติเด่นพิเศษภายในตัว เนื้อควรใสสามารถนำมาเจียระไนตกแต่ง แปลงรูปเป็นเครื่องประดับ บางครั้งหมายถึง สิ่งของที่มีความสวยงามภายในตัว เช่น อำพัน ปะการัง ไข่มุก หรือหินบางชนิด แม้กระทั่งของสังเคราะห์ ทำเทียมเลียนแบบของแท้ตามธรรมชาติ แล้วนำมาเจียระไน เป็นเครื่องประดับ เช่น พลอยกระจก ซึ่งทำมาจากแก้ว
                    พลอย โดยปรกติไม่หมายรวมถึง เพชร แต่เมื่อกล่าวถึงกลุ่มแร่ที่มีความสวยงามเหล่านั้น เรียกรวมกันว่า เพชรพลอย พลอยมีหลายชนิดมีหลากสีทั้งชนิดไร้สี จนถึงสีดำหรือหลายสีปะปนกัน ในก้อนเดียวก็ได้ นักวิชาการบางท่านอาจเรียกเพชร และพลอยที่ได้รับการตกแต่งเจียระไนเรียบร้อยแล้ว พร้อมจะนำมาเป็นเครื่องประดับว่า อัญมณี หรือรัตนชาติ          ๒๐/๑๒๙๓๕
            ๓๘๘๑. พลังงาน  หมายถึง ความสามารถของสิ่งใด ๆ ที่จะทำงานได้และเราวัดพลังงานของสิ่งนั้น ๆ ได้ด้วยปริมาณงานทั้งสิ้น ที่สิ่งนั้นสามารถจะทำได้
                    พลังงานอาจปรากฎอยู่ในแบบต่าง ๆ กัน เช่น พลังงานกล พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานแสง พลังงานเสียง พลังงานเคมี พลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น แต่ละแบบของพลังงาน ก็มีวิธีการกำหนดหน่วย และวิธีการวัดค่าด้วยข้อกำหนด และมาตรฐานต่าง ๆ กัน พลังงานแบบหนึ่งสามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นพลังงานแบบอื่นได้ นี่คือ การแปลงพลังงาน
                    พลังงานเป็นสิ่งที่จะสร้างเป็นให้มีขึ้นไม่ได้ และย่อมไม่สูญหายไป แต่อาจจะแปรเปลี่ยนไปเป็นพลังงานแบบอื่นได้ ความจริงข้อนี้เรียกกันว่า หลักความถาวรของพลังงาน หลักนี้ได้ขยายออกไปเป็นรูปที่เราเรียกกันว่า หลักของมวล - พลังงาน
                    พลังงานแบบต่าง ๆ เมื่อประมวลเข้าด้วยกันจะจัดแบ่งออกได้เป็นสองชนิดคือ พลังงานจลน์ และพลังงานศักย์
                        ๑. พลังงานจลน์  พลังงานจลน์ของสิ่งใด ๆ นั้นมีอยู่เนื่องจากการเคลื่อนที่ของสิ่งนั้น เราวัดปริมาณได้ด้วยปริมาณงานที่สิ่งนั้น ต้องใช้เพื่อที่จะหยุดการเคลื่อนที่นั้น
                        ๒. พลังงานศักย์  พลังงานศักย์ของสิ่งใดๆ คือ พลังงานที่สิ่งนั้น ๆ มีอยู่เนื่องจากตำแหน่งที่อยู่ของมัน เราวัดปริมาณงานที่สิ่งนั้นกระทำได้ เมื่อเคลื่อนที่จากตำแหน่งที่อยู่ของมัน ไปยังตำแหน่งที่อยู่มาตรฐาน
                     พลังงานศักย์ เป็นพลังานที่แฝงอยู่ในเทหวัตถุ เป็นพลังงานที่พร้อมจะทำงานได้
                     โดยปรกติเราจะประสบกับการแปรเปลี่ยนสภาพกันระหว่างพลังงานจลน์ กับพลังงานศักย์อยู่เสมอ
                     ดวงอาทิตย์ เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานในธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญที่สุดซึ่งให้พลังงานโดยตรงแก่โลก ในลักษณะเป็นพลังงานความร้อนและพลังงานแสงเป็นส่วนใหญ่ พลังงานที่ได้รับนี้เป็นปัจจัยที่จำเป็น และสำคัญยิ่งยวดต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล          ๒๐/ ๑๒๙๓๙
            ๓๘๘๒. พลับ หรือมะพลับ  เป็นชื่อเรียกพรรรไม้ไทยสองชนิด ชนิดแรกเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ยืนยอดแตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มทึบ ลำต้นเป็นพู ดอกสีขาวขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ผลกลม เมื่อสุกรสหวานบริโภคได้ ผลอ่อนใช้ย้อมแห อวน และเครื่องนุ่งห่ม ของชาวประมง
                    ชนิดที่สอง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๑๐ - ๑๕ เมตร เรือยอดแตกกิ่งก้านสาขา เป็นพุ่มโปร่ง ลำต้นมักคองด ดอกสีขาวขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ผลกลม          ๒๐/ ๑๒๙๔๘
            ๓๘๘๓. พลับจีน  เป็นชื่อเรียกผลไม้ ที่นำเข้ามาจากประเทศจีน ในรูปผลสดหรือผลแห้ง ได้จากพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๕ - ๑๐ เมตร เรือนยอดแตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่ม ค่อนข้างโปร่ง ดอกสีขาว เหลือง ๆ ขนาดเล็ก ออกเดี่ยวตามง่ามใบ ผลโคนกว้างสอบไปหาปลาย ค่อนข้างแบน รสหวาน         ๒๐/ ๑๒๙๕๑
            ๓๘๘๔. พลับพลึง  เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีหัวอยู่ในดินขึ้นเป็นกอ มีหน่อใหม่รอบ ๆ ต้นเดิม มีหลายชนิด พลับพลึงที่ปลูกกันทั่วไปตามบ้าน ลำต้นกลมสูงประมาณ ๕๐ ซม. (ไม่รวมใบ) ใบหนาอวบน้ำ ออกเวียนลำต้นรูปเรียวยาวปลายแหลม ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบ ดอกเป็นกระจุกมี ๑๒ - ๔๐ ดอก กลิ่นหอม กลีบดอกสีขาว
                    ใบพลับพลึง ใช้ย่างไฟให้ตายนึ่ง นำมาพันแก้ฟกช้ำ บวม เคล็ด ขัดยอก มีอัลคาลอยด์ ในหัวและราก          ๒๐/ ๑๒๙๕๑
            ๓๘๘๕. พลับพลึงดอกแดง  ลักษณะคล้ายพลับพลึงดอกขาว ต่างกันที่ลำต้นและใบ
            ๓๘๘๖. พลับพลึงธาร  เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่พบในเมืองไทยครั้งแรกที่ จ.ระยอง ลักษณะทั่วไปคล้ายพลับพลึงดอกขาวทุกประการ          ๒๐/ ๑๒๙๕๒
            ๓๘๘๗. พลับพลึงเล  ลักษณะทั่วไปคล้ายพลับพลึงขาว          ๒๐/ ๑๒๙๕๓
            ๓๘๘๘. พลาธิการ  มีบทนิยามว่า "หน่วยงานในกองทัพบก เรือ อากาศ และกรมตำรวจ มีหน้าที่ควบคุม การจัดที่พัก จัดเครื่องใช้ จัดอาหาร ฯลฯ (โบ) หัวหน้ากรมในกองทัพบกซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการนี้ "
                      พลาธิการทหารบก  เป็นชื่อกรมหนึ่งในกองทัพบก ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ โดยกระทรวงกลาโหมได้ยุบเลิก กรมยกระบัตรทหารบก กรมเกียกกายทหารบก และกรมสรรพยุทธ แล้วจัดตั้ง กรมพลาธิการทหารบกขึ้น มีหน้าที่จัดซื้อ สร้าง ซ่อมอาวุธ เก็บรักษาและแจกจ่ายครุภัณฑ์ เครื่องใช้ในสำนักงาน ยานพาหนะ อาคารโรงเรือนต่าง ๆ มีหน่วยขึ้นตรงสี่หน่วยคือ กรมช่างแสงทหารบก กรมช่างยุทธภัณฑ์ทหารบก กรมยกกระบัตรทหารบก และกรมยุทธโยธาทหารบก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๓ มีหน่วยขึ้นตรงเพิ่มขึ้นคือ กรมปลัดบัญชีทหารบก และแผนกเสบียงสัตว์
                    ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้ยุบกรมพลาธิการทหารบก แล้วจัดตั้งกรมยกกระบัตรทหารบก และกรมช่างแสงทหารบก เป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก
                    และได้มีการปรับปรุงการจัดในปี พ.ศ.๒๔๗๗, ๒๔๗๘, ๒๔๘๐, ๒๔๘๓, ๒๔๘๔, ๒๔๘๖, ๒๔๘๘ และ ๒๔๙๑
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ได้มีการปรับปรุงการจัดหน่วยขึ้นใหม่ โดยถือเอาแบบอย่างการจัดหน่วยทหารของสหรัฐอเมริกา เป็นแนวทาง
                    พลาธิการทหารเรือ  มีความหมายแบ่งออกได้เป็นสองประการคือ ประการแรก หมายถึง ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรมพลาธิการทหารเรือ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น เจ้ากรมพลาธิการทหารเรือ ประการที่สอง ใช้รวมกับคำว่า กรม เป็น กรมพลาธิการทหารเรือ
                      คำว่า พลาธิการทหารเรือ มาจากคำที่เคยใช้กันอยู่แต่เดิมคือ ยกกระบัตร ซึ่งหมายถึง เจ้าหน้าที่ในการจัดหาเครื่องใช้ของทหาร กับคำว่า เกียกกาย ซึ่งหมายถึง การจัดการเกี่ยวกับการเลี้ยงดูทหาร การเสบียง ภาชนะ การสหโภชน์
                      พลาธิการทหารอากาศ  เป็นชื่อกรม กรมหนึ่งในกองทัพอากาศ มีประวัติความเป็นมาคือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ กระทรวงกลาโหมได้เริ่มวางรากฐานการบินขึ้นเป็นครั้งแรก ในประเทศไทยมีฐานะเป็นแผนกการบินกิจการพลาธิการทหารอากาศ ก็ได้เริ่มมาพร้อมกัน โดยเป็นแขนงงานเล็ก ๆ น้อย ๆ)
                    ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ กรมอากาศยาน ได้ยกฐานะเป็นกองทัพอากาศ กิจการพลาธิการมีชื่อในขณะนั้นว่า สมุหบัญชีกรมอากาศยานทหารบก ก็เปลี่ยนชื่อเป็น สมุหบัญชีกองทัพอากาศ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นแผนกพลาธิการทหารอากาศ และในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ได้ยกฐานะเป็น กรมพลาธิการทหารอากาศ
                    พลาธิการตำรวจ  เริ่มใช้คำนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๑ การที่เรียกชื่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัสดุ โดยตรงว่า พลาธิการตำรวจ ก็เพื่อให้เหมือนกับการเรียกชื่อหน่วยงานของสามเหล่าทัพ ที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกัน
                    พลาธิการตำรวจ จัดตั้งเป็นหน่วยงานระดับกอง ขึ้นตรงต่อกรมตำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑         ๒๐/ ๑๒๙๕๓
            ๓๘๘๙. พลาสติก  มาจากคำในภาษากรีก ซึ่งแปลว่า ทำให้เป็นรูปร่างได้ ในปัจจุบันพลาสติกมีความหมายว่า เป็นสารอินทรีย์สังเคราะห์ ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้น ซึ่งในขณะที่กำลังอยู่ในกรรมวิธีสังเคราะห์ และยังร้อนอยู่จะมีลักษณะเป็นของเหลวข้น สามารถนำไปหล่อหรืออัด ในแบบให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ หรืออัดฉีดให้เป็นเส้นมีขนาดต่าง ๆ กันได้ เมื่อปล่อยให้เย็นลง จะแข็งตัวคงรูปร่างอยู่ได้
                    พลาสติก เป็นสารประเภทพอลิเมอร์ ที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่มาก ซึ่งประกอบด้วยสารย่อยที่เรียกว่า มอนอเมอร์ ชนิดที่มีโมเลกุลขนาดเล็กจำนวนมาก มาเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่องเข้าด้วยกัน
                    พลาสติก เป็นสารที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตประจำวัน และในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างมากมาย เหลือที่คณานับ และจะยิ่งมีบทบาทสำคัญทวียิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะก็คือ พลาสติกชนิที่มีสมบัติแข็งแรง ทุนทานต่อการสึกกร่อนยิ่งกว่าโลหะหลายชนิด
                    ในปี พ.ศ.๒๔๑๒ ได้มีผู้ค้นพบพลาสติกชนิดหนึ่ง เรียกโดยทั่วไปว่า เซลลูลอยด์  ได้มีผู้นำไปทำลูกบิลเลียด หัวและฟิล์มถ่ายรูป
                    ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ มีผู้ค้นพบและสังเคราะห์พอลิเมอร์ ชนิดซูเปอร์พอลิเมอร์ได้สำเร็จ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า ไนลอน จากนั้น ก็ได้นำวิธีการสังเคราะห์ไปประยุกต์ เพื่อผลิตพลาสติกชนิดนี้ไปใช้ประโยชน์มากมาย
                    หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการค้นคว้าและสังเคราะห์มอนอเมอร์ ขึ้นได้มากชนิด
                    ในบรรดาพลาสติกชนิดต่าง ๆทั้งหมดนั้น จัดแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ
                    ๑. เทอร์โมพลาสติก คือ พลาสติกประเภทที่เมื่อทำสำเร็จรูปแล้ว ทิ้งให้เย็นก็จะแข็งตัวคงรูปร่างอยู่ได้ และถ้าทำให้ร้อนก็จะอ่อนตัวที่สุด จะเป็นของเหลวข้นหนืด ซึ่งนำไปหล่อ อัดหรือรีด ให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้อีก พลาสติกประเภทนี้มีหลายชนิด เช่น ไนลอน
                    ๒. เทอร์โมเซตติงพลาสติก คือ พลาสติกประเภทที่เมื่อทำสำเร็จรูปแล้ว ทิ้งให้เย็นก็จะแข็งตัวคงรูปร่างได้อย่างถาวร และถ้าให้ความร้อนสูงก็จะไม่อ่อนตัวอีกเลย
                    โดยที่พลาสติกเป็นสารที่เสื่อมสลายและแปรสภาพไปได้ยาก จึงเป็นปัญหายุ่งยากมาก ในการทำลาย          ๒๐/ ๑๒๙๗๔
            ๓๘๙๐. พลำภัง - กรม  เป็นส่วนราชการในอดีต มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับหัวเมือง มีผู้สันนิษฐานว่า กรมนี้เห็นจะตั้งขึ้นในสมัยอยุธยา มีหน้าที่เกี่ยวกับปืนใหญ่ ผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล มักเป็นเจ้ากรมนี้มาก่อน กรมพลำภังในอดีตคือ กรมการปกครองในปัจจุบัน
                    เมื่อแรกตั้งกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ กระทรวงมหาดไทยแบ่งออกเป็นกรมใหญ่สามกรมคือ กรมมหาดไทยกลาง กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ และกรมพลำภัง ในสมัยนั้น กระทรวงกลาโหมก็แบ่งออกเป็นกรมใหญ่ ๆ มีชื่อเรียกด้วยกันคือ กรมกลาโหมกลาง  กรมกลาโหมฝ่ายเหนือ และกรมพลำภัง
                    ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้เปลี่ยนชื่อ กรมพลำภัง เป็นกรมการปกครองบ้าง กรมพลำภังบ้าง สลับกันอยู่หลายครั้ง และได้มีการปรับปรุงแก้ไขส่วนราชการภายในกรมอยู่เสมอตลอดมา ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๗๖ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมมหาดไทย จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๕ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมปกครอง           ๒๐/ ๑๒๙๘๔
            ๓๘๙๑. พลิกหิน - นก  เป็นที่ย้ายถิ่นมาจากประเทศแถบหนาวเหนือ ตั้งแต่ปลายฤดูฝน ชอบหากินตามดินชายเลนริมทะเล โดยใช้ปากอันสั้น พลิกก้อนกรวด ก้อนหินหรือเศษไม้เล็ก ๆ เพื่อจิกสัตว์เล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ก้อนกรวด ก้อนหิน เหล่านั้นมากิน นกชนิดนี้ที่หัวมีสีขาว มีลายดำที่หน้า ข้างคอและอก บนหลังสีน้ำตาล เวลาบินจะเห็นแถบขาวสองแถบบนปีก และแถบขาว ๆ บนตะโพก ปลายหางมีแถบดำ พอถึงเดือนเมษายน ก็พากันบินย้ายถิ่นกลับไป ผสมพันธุ์วางไข่ทางประเทศหนาวเหนือ เช่นนี้ทุกปี         ๒๐/ ๑๒๙๘๙
            ๓๘๙๒. พลุ  มีบทนิยามว่า "ดอกไม้เพลิงชนิดหนึ่ง บรรจุดินปืนในกระบอกไม้ไผ่ เมื่อจุดมีเสียงระเบิดคล้ายเสียงปืน โดยอนุโลมเรียกดอกไม้เพลิง อย่างอื่นที่จุดมีเสียงระเบิดดังเช่นนั้นว่า พลุ"  ดังนั้น พลุในที่นี้จะกล่าวถึงดอกไม้เพลิงชนิดที่จุด แล้วที่เสียงระเบิดดังเท่านั้น
                    พลุ มีกำเนิดมานานนับเป็นพันปีแล้ว สันนิษฐานว่า จีนเป็นชาติแรก ที่คิดค้นพลุขึ้นใช้ในงานพิธีทางศาสนาและอื่น ๆ เริ่มจากทำประทัดแล้วจุดในงานพิธีมงคล บางคนเชื่อว่าพลุมีจุดกำเนิดในประเทศอินเดีย แล้วแผ่ขยายมาทางซีกโลกตะวันออก ต่อมามีผู้นำพลุไปในประเทศอาหรับและยุโรป         ๒๐/ ๑๒๙๘๙
            ๓๘๙๓. พลู - ไม้เถา  เป็นพรรณไม้เถาที่มีปลูกทั่วไปในเขตร้อน เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้นเกลี้ยง เลื้อยพันต้นไม้อื่น ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปไข่โคนใบรูปหัวใจ ใบมีกลิ่นฉุนและรสเผ็ด ดอกสีขาวออกเป็นช่อแน่นบนแกนยาวเป็นช่อ ผลเป็นผลสด มีเนื้อนุ่ม ค่อนข้างกลม
                    ใบพลูผสมกับปูน และหมากใช้เคี้ยว ใบพลูมีน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคบางชนิด จึงใช้ทำเป็นยาอม กลั้วคอแก้เจ็บคอ และทำให้ลมหายใจมีกลิ่นหอม  นิยมใช้ใบพลูขยี้ผสมกับเหล้าโรง ทาผิวหนังเมื่อมีอาการคัน เนื่องจากลมพิษ นอกจากนี้ใบพลูยังเป็นยากระตุ้นน้ำลาย ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้ปวดท้อง ปวดท้องเพราะพยาธิ         ๒๐/ ๑๒๙๙๙
            ๓๘๙๔. พลูแก  เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะฟอร์โมซา และญี่ปุ่น เป็นไม้ล้มลุก มีหัวในดิน ต้นสูงประมาณ ๕๐ ซม. ทั้งต้นเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นคาวปลา ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปไข่โคนใบรูปหัวใจกึ่งรูปไต ดอกเล็กออกเป็นช่อ ผลค่อนข้างกลม
                    พลูแก เป็นยาสมุนไพรคือ ทั้งต้นใช้ในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ส่วนบนฝีหนองในปอด ปอดบวม ไข้มาลาเรีย โรคบิด ขับปัสสาวะ ลดการบวมน้ำ นิ่ง ขับระดูขาว ริดสีดวงทวาร โรคผิวหนัง ผื่นคัน ฝี แผลเปื่อย เป็นยาพอกในรายกระดูกหัก ใช้ใบแก้บิด หัด หนองใน รากขับปัสสาวะ กินเป็นผัก          ๒๐/ ๑๓๐๐๐
            ๓๘๙๕. พลูช้าง  เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของหมู่เกาะอินเดียตะวันอก พม่า มาเลเซีย เป็นไม้เถา ลำต้นอวบน้ำ เลื้อยพันตามไม้ยืนต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกัน รูปไข่เบี้ยวหรือรูปหอก โคนใบรูปหัวใจตื้น ๆ ดอกอัดแน่นเป็นช่อเดี่ยว ๆ ที่ยอด ผลเป็นผลสด มีเนื้อนุ่ม
                    พรรณไม้นี้มีประโยชน์ทางด้านสมุนไพรคือ ผลเป็นยาบำรุง ยากระตุ้น ขับเหงื่อ ขับพยาธิ และเป็นยาทาแก้ปวดข้อ          ๒๐/ ๑๓๐๐๑
            ๓๘๙๖. พลูด่าง  เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของเกาะโซโลมอน เป็นไม้เถา แตกกิ่งก้านสาขามาก เลื้อยพันไม้อื่นไปได้สูง ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่เบี้ยว โคนใบเป็นรูปหัวใจลึก ดอกอัดกันแน่นเป็นแท่งสั้น ผลสดมีเนื้อนุ่ม
                    พรรณไม้นี้ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับมีอีกชื่อว่า พลูฝรั่ง          ๒๐/ ๑๓๐๐๒
            ๓๘๙๗. พลูโตเนียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๙๔ เป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ นับแต่นั้นมาธาตุนี้ก็ได้มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในเครื่องปฎิกรณ์นิวเคลียร์ และอาวุธสงคราม
                    ในธรรมชาติธาตุนี้ มีปรากฎอยู่เป็นปริมาณน้อยอย่างยิ่งในสินแร่ยูเรเนียม ลักษณะเป็นโลหะสีเงิน ถ้าทิ้งไว้ในอากาศผิวของมันจะหมองเป็นสีเหลือง เป็นธาตุที่มีปฎิกิริยาเคมีสามารถละลายได้ในกรดหลายชนิด และสามารถปรากฎอยู่ในสภาพไอออน ซึ่งมีสีในสารละลายที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย สามารถรวมตัวกับโลหะอื่น เป็นโลหะเจือได้
                    พลูโตเนียม เป็นธาตุที่มีพิษอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นธาตุกัมมันตรังสี มีอัตราการปล่อยอนุภาคแอลฟ่า ออกมาสูงมากและไขกระดูกดูดกลืนเข้าไปได้ดี ก่อให้เกิดเป็นมะเร็งในกระดูกได้         ๒๐/ ๑๓๐๐๓
            ๓๘๙๘. พลูลาย  เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของมลายูและชวา เป็นไม้เถาอาจสูงเกิน ๑๒ เมตร เลื้อยพันต้นไม้อื่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ใบรูปไข่ รูปหัวใจ ดอกอัดแน่นอยู่บนแกนเป็นช่อรูปทรงกระะบอก กาบรองดอกสีขาว ผลสุกมีเนื้อนุ่ม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ         ๒๐/ ๑๓๐๐๖
            ๓๘๙๙. พวงแก้วกุดั่น  เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของหมู่เกาะอินเดียตะวันออก มีเขตกระจายพันธุ์ถึงคาบสมุทรมลายู ชวาและไทย เป็นไม้เถาเลื้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ รูปไข่ หรือสามเหลี่ยม ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบมีกลิ่นหอม ผลรูปรีหรือรูปไข่ ติดเป็นกระจุก ผลแก่แห้งปลิวไปตามลม ออกดอกเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน
                    พวกแก้วกุดั่นนี้ ลำต้นสดเหนียว ใช้ผูกมัดสิ่งของชั่วคราวได้         ๒๐/ ๑๓๐๐๖
            ๓๙๐๐. พวกแก้วแดง  เป็นพืชพื้นเมืองของแอฟริกา ลักษณะคล้ายพวงเงิน เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้ามเป็นคู่ ใบรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายชิ่ง หรือซอกใบ กลีบดอกสีแดงเข้ม ปลูกเป็นไม้ประดับ          ๒๐/ ๑๓๐๐๗
            ๓๙๐๑. พวงแก้วมณี  เป็นพรรณไม้อยู่ในสกุลและวงศ์เดียวกับพวงแก้วกุดั่น มีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น ต้นเป็นเถาเลื้อย ใบเป็นใบช่อแบบขนนก ใบรูปไข่ป้อม ดอกออกเป็นช่อกระจายสีขาว ผลแห้งเล็ก ๆ เมื่อแก่ปลิวไปตามลมได้      ๒๐/ ๑๓๐๐๗
            ๓๙๐๒. พวงโกเมน  เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก เป็นพืชตระกูลเดียวกับหมามุ่ย ต้นเป็นเถาเลื้อย เถาอาจยาวถึง ๕๐ เมตร ใบเป็นช่อชนิดสามใบย่อย ออกดอกในฤดูฝน ดอกเป็นช่อติด ๆ กันหลายช่อสีแดงเข้ม รูปคล้ายดอกแค         ๒๐/ ๑๓๐๐๘
            ๓๙๐๓. พวงขน  เป็นไม้ล้มลุกอายุหนึ่งปี สูง ๒๐ - ๑๐๐ ซม. ลำต้นเล็กตั้งตรง ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด หรือตามง่ามใบ ฝักรูปขอบขนาน          ๒๐/ ๑๓๐๐๘
            ๓๙๐๔. พวงไข่มุก   เป็นไม้พุ่ม อาจสูงถึง ๓ เมตร มีไหลในดิน ใบเป็นใบช่อ มีใบย่อย ๓ - ๕ คู่ ใบรูปไข่หรือรูปหอก ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด หรือตามง่ามใบ ช่อดอกบานแผ่เป็นรูปร่ม กลิ่นหอมอ่อน ๆ ผลกลม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ          ๒๐/ ๑๓๐๐๙
            ๓๙๐๕. พวงคราม  เป็นไม้เลื้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ไม่มีหูใบ ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ รูปรี ดอกออกเป็นช่อเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบห้อยย้อยลง สีม่วง หรือม่วงคราม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป          ๒๐/ ๑๓๐๑๐
            ๓๙๐๖. พวงเงิน  เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ใบรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อ สีแดงเข้ม ผลสีดำเป็นมัน         ๒๐/ ๑๓๐๑๐
            ๓๙๐๗. พวงชมพู  เป็นไม้เถาล้มลุก มีอายุหลายปี เลื้อยพันโดยอาศัยมือเกาะ ใบออกสลับกันรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อที่ยอด หรือตามง่ามใบ สีชมพู หรือขาว ผลปลายแหลมโคนกลม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ออกดอกตลอดปี          ๒๐/ ๑๓๐๑๑
            ๓๙๐๘. พวงทองเครือ  เป็นไม้เถาเลื้อยเกาะพันสิ่งอื่น ๆ ไปได้ไกล ๆ ใบรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อที่ยอด และตามง่ามใบใกล้ ๆ ยอด ห้อยระย้าลงมา มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ          ๒๐/ ๑๓๐๑๒
            ๓๙๐๙. พวงทองต้น  เป็นไม้พุ่มสูง ๕๐ ซม. - ๒ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันรูปไข่ ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อตั้งตรงที่ปลายยอด ผลแห้งสีน้ำตาล นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ          ๒๐/ ๑๓๐๑๒
            ๓๙๑๐. พวงประดิษฐ์  เป็นไม้เถาขนาดใหญ่ แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ  รูปรี หรือรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ผลเป็นชนิดผลแห้งมีขนาดเล็ก         ๒๐/ ๑๓๐๑๓
            ๓๙๑๑. พวงมาลัย  เป็นชื่อเพลง ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นเมืองของไทย แต่โบราณอย่างหนึ่งมักเล่นในงานเทศกาล และมักเล่นรวมกับการเล่นอย่างอื่น การร้องเพลงพวงมาลัย เป็นการร้องระหว่างหญิงกับชาย ร้องเกี้ยวกันในเชิงเกี้ยวพาราสี          ๒๐/ ๑๓๐๑๔
            ๓๙๑๒. พวงแสด  เป็นไม้เถา ใบเป็นใบประกอบ มักมีใบย่อยสามใบ ใบรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด สีแสดอมส้ม เชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ ส่วนปลายพองออก แยกเป็นแฉกห้าแฉก นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามรั้ว          ๒๐/ ๑๓๐๑๕
            ๓๙๑๓.  พวงหยก  เป็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่ง ลำต้นตรงยาวราว ๔๕ ซม. ใบรูปรีดอกใหญ่ ออกเป็นช่อกระจายมักออกเป็นคู่ ๆ  สีม่วงอ่อน ดอกบานเดือนมีนาคม - เมษายน         ๒๐/ ๑๓๐๑๖
            ๓๙๑๔. พวน - ลาว  เป็นชื่อเรียกไทยเผ่าเหนึ่งที่อยู่ตอนในของประเทศลาว พูดภาษาลาว เมืองหลวงอยู่ที่เชียงขวาง เดิมเมืองพวนเป็นรัฐอิสระมีเจ้าปกครองตนเอง
                    ตามประวัติศาสตร์ของลาว กล่าวว่าขุนบรมได้มาสร้างเมืองแถง ที่ญวนเรียกว่า เดียนเบียนฟู ขุนบรมมีโอรสเจ็ดองค์ ได้ให้โอรสทั้งเจ็ดไปปกครองในที่ต่าง ๆ ท้าวเจื๋อง โอรสองค์ที่เจ็ดไปครองเมืองเชียงขวางคือ เมืองพวน
                    ท้าวเจื๋อง ลงมาสร้างเมืองเชียงขวาง เมื่อปี พ.ศ.๑๒๔๑
                    อาณาจักรของชาวพวน ที่เมืองเชียงขวางอยู่ในท่ามกลางอาณาจักรหลวงพระบางทางเหนือ อาณาจักรเวียงจันทน์ ทางด้านตะวันตกและอาณาจักรญวน ทางด้านตะวันออกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เจ้าพระยาจักรี ได้ยกทัพไปตีประเทศลาวได้ทั้งเวียงจันทน์ และหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๑ เมืองพวนจึงตกเป็นเมืองขึ้นของไทยแต่นั้นมา จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามายึดประเทศลาว รวมทั้งเมืองเชียงขวางหรือพวนไปจากไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ลาวกอบกู้เอกราชได้ และรวมเมืองพวนไปไว้ในประเทศลาวด้วย แต่เมืองพวนยังมีเจ้าปกครอง ซึ่งลาวตั้งให้เป็นเจ้าเมือง
                    คนไทยรู้จักเมืองพวน หรือเชียงขวาง จากชื่อที่เรียกว่า ทุ่งไหหิน ซึ่งอยู่ทางเหนือของเชียงขวาง
                    เมื่อคราวฮ่อมารบกวนเชียงขวาง และเมื่อญวนยกเข้ามาตีเชียงขวาง ทางเชียงขวางได้ขอให้ไทยยกทัพไปช่วย ไทยเห็นว่าเมืองพวนอยู่ห่างหูห่างตามาก เกิดเหตุอะไรก็ยกไปช่วยไม่ทัน จึงได้อพยพเอาชาวพวนส่วนหนึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่พนมสารคาม และมีนบุรี แต่ส่วนหนึ่งไม่ยอมมาด้วย จึงหยุดอยู่เสียที่กลางทางบริเวณบุริขัน และปากซัน และตามริมฝั่งแม่น้ำโขง แต่พลเมืองส่วนหนึ่งยังคงอยู่ที่เชียงขวางต่อไป         ๒๐/ ๑๓๐๑๗
            ๓๙๑๕. พสุสงกรานต์  มาจากคำว่า "พสุ" แปลว่า ดี เลิศ ประเสริฐ พิเศษ และ "สงกรานต์" แปลว่า การย้ายราศี หรือการย้ายตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ดังนั้น จึงอาจแปล พสุสงกรานต์ ว่า การย้ายตำแหน่งอันพิเศษของดวงอาทิตย์คือ ตำแหน่งซึ่งดวงอาทิตย์มาอยู่ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า พสุสงกรานต์เหนือ (ราววันที่ ๔ มกราคม) และดวงอาทิตย์อยู่ไกลโลกที่สุด เรียกว่า พสุสงกรานต์ใต้ (ราววันที่ ๓ กรกฎาคม)         ๒๐/ ๑๓๐๒๑
            ๓๙๑๖. พหลพลพยุหเสนา - พลเอก พระยา  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ เข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ ไปศึกษาวิชาทหาร ณ ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ เข้ารับราชการเป็นนายทหารปืนใหญ่  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้รับโปรดเกล้า ฯ เป็น พระยาพหล ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ เป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ และได้เป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น พลเอก และเชษฐบุรุษ ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐         ๒๐/ ๑๓๐๒๕
            ๓๙๑๗. พหลโยธิน  เป็นชื่อทางหลวงแผ่นดินสายประธาน กรุงเทพ - แม่สาย ระยะทางยาว ๑,๐๑๐ กม. ผ่านดอนเมือง หินกอง สระบุรี ลพบุรี โคกสำโรง ตาคลี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก เถิน ลำปาง เชียงราย และแม่สาย
                    ทางหลวงสายนี้เดิมชื่อ ประชาธิปัตย์ ปัจจุบันคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑         ๒๐/ ๑๓๐๓๘
            ๓๙๑๘. พ่อขุน  ในสมัยสุโขทัยตอนต้น "พ่อขุน" เป็นคำขึ้นต้นพระนามพระเจ้าแผ่นดิน แห่งราชอาณาจักรใหญ่ ในขณะที่ "ขุน" เป็นคำขึ้นต้นพระนามพระเจ้าแผ่นดินแคว้นเล็ก ๆ ส่วน "พระ" เป็นพระนามเจ้านายที่มีบรรดาศักดิ์สูง ต่อมาในสมัยพระมหาธรรมราชาที่หนึ่ง (ลิไทย) พระนามพระเจ้าแผ่นดิน จึงเปลี่ยนไปขึ้นต้นด้วยคำว่า "พญา" แล้วเปลี่ยนไปเป็น "สมเด็จพระ" หรือ "พระเจ้า" ในสมัยอยุธยา ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็น "พระบาทสมเด็จ"          ๒๐/ ๑๓๐๓๘
            ๓๙๑๙. พอง  แม่น้ำ ยอดน้ำอยู่บนภูกระดึง ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ใน อ.ภูกระดึง จ.เลย เป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่าง อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ กับ อ.ภูกระดึง จ.เลย ในต้อนต้นน้ำ เป็นที่ตั้งเขื่อนอุบลรัตน์ ใน อ.อุบลรัตน์ ไหลไปบรรจบแม่น้ำชี ระหว่าง ต.พระลับ อ.เมืองขอนแก่น กับ ต.หนองบัว อ.โกสุมพิสัย แม่น้ำพอง กว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๒๗๕ กม. มีน้ำตลอดปี          ๒๐/ ๑๓๐๔๑
            ๓๙๒๐. พอน - ปลา  เป็นชื่อที่ชาวบ้านบางท้องถิ่น ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกปลาน้ำจืดหลายชนิด มักจะเรียกกลุ่มปลาที่คล้ายกัน          ๒๐/ ๑๓๐๔๒
            ๓๙๒๑. พอโลเนียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๘๔ เป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่มีปรากฎในธรรมชาติ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑
                    พอโลเนียม เป็นธาตุที่หายากมาก มีปรากฎในธรรมชาติด้วยปริมาณที่น้อย ยิ่งมีสมบัติเป็นโลหะลักษณะสีเทาเงิน หรือสีดำ เป็นธาตุที่มีพิษอย่างร้ายแรง ในอุตสาหกรรมใช้ธาตุนี้เพื่อกำจัดไฟฟ้าสถิต ที่เกิดขึ้นระหว่างกรรมวิธีทำม้วนกระดาษ กรรมวิธีทำแผ่นพลาสติก กรรมวิธีทำเส้นใยสังเคราะห์          ๒๐/ ๑๓๐๔๗
            ๓๙๒๒. พะงั่ว  เป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์ที่ห้า ของพระยาอู่ทองคนเก่า
                    พระบรมราชา (พะงั่ว)  ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๓ ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง พระบรมราชา (พะงั่ว)  ไปปราบเขมรที่แปรพักตร์ได้ สามารถตีนครธมได้ กรุงศรีอยุธยาได้ขยายอาณาเขตออกไปทางทิศตะวันออก ได้ดินแดนซึ่งบัดนี้เป็นจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่นครราชสีมาไปจันทบุรี
                    พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญ โดยได้กรุงสุโขทัยมาอยู่ในพระราชอาณาเขตในปี พ.ศ.๑๙๒๑ แล้วทรงจัดการปกครองอาณาจักรสุโขทัยเสียใหม่ โดยแบ่งออกเป็นสองมณฑล กรุงสุโขทัยจึงลดศักดิ์ลงมาเป็นประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยา เมื่อสิ้นรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่สี่ ในปี พ.ศ.๑๙๘๑ สมเด็จพระบรมราชาที่สอง (เจ้าสามพระยา)  โปรดให้ผนวกกรุงสุโขทัย เข้ารวมกับอาณาจักรอยุธยา
                    ในปี พ.ศ.๑๙๒๙ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง (พะงั่ว)  ได้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ กองทัพยกไปถึงเมืองลำปาง แต่ตีไม่ได้ พระองค์ยกกองทัพไปตีอาณาจักรลานนา อีกครั้งในปี พ.ศ.๑๙๓๑ แต่ทรงพระประชวรระหว่างทางต้องถอยทัพกลับมา          ๒๐/ ๑๓๐๔๙
            ๓๙๒๓. พะแนง  เป็นชื่อแกงเผ็ดชนิดหนึ่ง ที่มีน้ำขลุกขลิก คนไทยใช้เป็นอาหารประจำวันทั่ว ๆ ไป           ๒๐/ ๑๓๐๕๒
            ๓๙๒๔. พะยอม  เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง ๒๐ - ๓๐ เมตร เรือนยอดแตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มทึบ ผลัดใบก่อนออกดอก ลำต้นตรงเปลา ในเดี่ยวเรียงสลับกันบนกิ่ง รูปขอบขนาน ปลายมน ดอกสีขาวกลิ่นหอม ออกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง ผลรูปกระสวย มีปีกยาวสามปีก สั้นสองปี เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน เมื่อแปรรูปแล้ว เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำ เนื้อละเอียดใช้ในการก่อสร้างที่ทนทานถาวร มักจำหน่ายปนกันไปกับไม้ตะเคียน           ๒๐/ ๑๓๐๕๓
            ๓๙๒๕. พะยูง  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๕ - ๒๕ เมตร เรือนยอดแตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มโปร่ง ผลัดใบก่อนออกดอก ลำต้นค่อนข้างตรง แต่มักบิดงอ ใบเป็นช่อเรียงเวียนสลับกันบนกิ่ง ใบย่อยเรียงสลับกันบนก้านใบ ดอกเล็กสีขาว ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ตามปลายกิ่ง ผลเล็กแบน           ๒๐/ ๑๓๐๕๕
            ๓๙๒๖. พะยูน  เป็นสัตว์น้ำเลือดอุ่น เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มิใช่เป็นปลา เป็นสัตว์ใหญ่ แต่เชื่องไม่ทำอันตรายใคร ชอบท่องเที่ยวไปเป็นคู่ หรือเมื่อรวมฝูงจะอยู่กันประมาณ ๓ - ๖ ตัว รูปร่างตัวกลมคล้ายปลาโลมา ตามตัวมีขนบ้าง ตัวผู้มีงาไม่ยาวนัก         ๒๐/ ๑๓๐๕๖
           ๓๙๒๗. พะเยา  จังหวัดมีอาณาเขตทิศเหนือ จด จ.เชียงราย ทิศตะวันออกจดประเทศลาว และ จ.น่าน ทิศใต้จด จ.ลำปาง และ จ.แพร่ ทิศตะวันตก จด จ.ลำปาง และ จ.เชียงราย ภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบ มีภูเขาล้อมรอบ
                    จ.พะเยา เป็นเมืองโบราณเก่าแก่เมืองหนึ่ง ปรากฎในพงศาวดารโยนกว่าเป็น เมืองสมัยเดียวกับกรุงสุโขทัย มีเจ้านครหลวงปกครองสืบกันมาหลายองค์ พระยาลาวเงิน เจ้าเมืองหิรัญนครเงินยาง มีราชบุตรเกิดจากมเหสีสององค์ องค์น้องพระนามว่า ขุนจอมธรรม ไปครองแคว้นภูกามยาว ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองหิรัญนครเงินยาง ได้สร้างเมืองภูกามยาว ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๖๓๙ เมื่อทิวงคตแล้ว ขุนเจื๋อง ราชโอรสได้ครองเมืองสืบต่อมา และได้ขยายอาณาเขตเข้าไปถึงล้านช้าง และเมืองแกว (เวียดนาม) ผู้สืบเชื้อสาย จากขุนเจื๋อง ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย พ่อขุนเม็งราย ผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยาง และพระยางำเมือง ผู้ครองเมืองพะเยา
                    ในปี พ.ศ.๑๘๘๑ เมืองภูกามยาว ถูกพระเจ้าคำพู ผู้ครองนครเชียงใหม่ กับพระยากามน่าน ยกทัพมาตีเมืองภูกามยาวแตก ต่อมาภายหลังเมืองนี้ได้ยุบเป็น อ.เมืองพะเยา เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พะเยา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ได้ยกฐานะเป็น จ.พะเยา          ๒๐/ ๑๓๐๕๙
            ๓๙๒๘. พระลานชัย  เป็นชื่อบึงใน อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด กว้าง ๔๕๐ เมตร ยาว ๕๖๐ เมตร มีประวัติความเป็นมาปรากฎอยู่ในนิยายเรื่องผาแดงนางไอ่ เรื่องหนึ่งและนิยายปรัมปราเรื่องพระสงฆ์รูปหนึ่ง พร้อมชาวบ้านขุดสระน้ำแล้วไปจับเงือกที่แม่น้ำโขง มาปล่อยไว้ในสระนั้น ทำให้มีน้ำในสระตลอดปี           ๒๐/ ๑๓๐๖๐
            ๓๙๒๙. พะวา  เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลาง สูง ๑๐ - ๑๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ใบเดี่ยวเรียงสลับกันบนกิ่ง รูปรี แกมขอบขนาน ดอกสีเหลือง ออกน้ำตาล ผลสุกรสเปรี้ยวฝาดบริโภคได้           ๒๐/ ๑๓๐๖๑
            ๓๙๓๐. พะสิม  เป็นเมืองท่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ประมาณ ๑๐๐ กม. มีแม่น้ำพะสิมซึ่งเป็นแควหนึ่งของแม่น้ำอิรวดีไหลผ่าน ในปี พ.ศ.๒๑๒๗ พระเจ้านันทบุเรงให้เจ้าเมืองพะสิมคือ พระยาพะสิม ผู้เป็นอาคุมทัพ ๓๐,๐๐๐ คน เข้าทางด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อกองทัพยกมาถึงเมืองสุพรรณบุรี ก็ถูกกองทัพเรือพระยาจักรี ใช้ปืนใหญ่ระดมยิง ทำให้กองทัพพม่าต้องถอยจากที่ราบไปตั้งอยู่บนเขาพระยาแมน           ๒๐/ ๑๓๐๖๑
            ๓๙๓๑. พังกา  เป็นพรรณไม้ที่พบขึ้นในป่าชายเลน มีสามชนิดด้วยกันคือ
                      พังกาใบใหญ่  เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๕ - ๓๐ เมตร เรือนยอดแตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มทึบ ลำต้นตรงเปลา โคนมีรากค้ำสลับซับซ้อนสูงขึ้นมาประมาณ ๓ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนกันบนกิ่ง ดอกสีขาว ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบตามปลายกิ่งช่อละ ๓ - ๕ ดอก ผลแก่สีน้ำตาล งอกรากตั้งแต่บนต้น เนื้อไม้ใช้ทำฟืนและเผาถ่านที่มีคุณภาพสูง ใช้ทำไม้ค้ำยัน และเสาเข็ม บางทีก็เรียกว่า โกงกางใบใหญ่ และกงกางนอก
                      พังกาใบเล็ก  ลักษณะคล้ายคลึงกันกับโกงกางใบใหญ่ เนื้อไม้ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับชนิดแรก มักพบขึ้นปนกันกับชนิดแรก ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่ด้านในของป่า ที่ติดต่อกันกับป่าที่น้ำทะเลขึ้นท่วมเป็นครั้งคราว ที่เรียกกันว่า ป่าเชิงทรง บางทีเรียกว่า โกงกางใบเล็ก และพังกาทราย
                      พังกาหัวสุม  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๕ - ๓๐ เมตร เรือนยอดแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทึบ ลำต้นตรงเปลา โคนต้นมีรากผุดพื้นดินขึ้นมาโดยรอบ ใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนกันบนกิ่ง ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ตามปลายกิ่ง ผลรูปถ้วย รากผลสั้นรูปกระสวย พบขึ้นในป่าตอนในต่อกับป่าเชิงทรง เนื้อไม้ใช้ทำฟืน และเผาถ่านได้ดี           ๒๐/ ๑๓๐๖๓
            ๓๙๓๒. พังคราช  เป็นพระนามกษัตริย์ไทยองค์ที่ ๔๒ ที่ครองอาณาจักรโยนก - เชียงแสน ทรงสืบราชวงศ์มาจากพระเจ้าสิงหนวัติ ซึ่งทรงสถาปนาอาณาจักรนี้ พระองค์ทรงยกทัพไปตีเมืองอุโมงเสลานคร ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของขอม สันนิษฐานกันว่าคือ เมืองฝาง ต่อมาขอมได้โอกาสตีเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นราชธานีได้เมื่อปี พ.ศ.๑๖๒๓ แล้วจัดการให้พระองค์ไปประทับอยู่ที่เวียงสีทอง ใกล้เมืองเชียงแสน เมืองเชียงแสนต้องส่งส่วยเป็นทองคำหนักเท่ามะตูมสี่ผล แก่ขอมทุกปี
                    ระหว่างที่ประทับอยู่ ณ เวียงสีทอง พระองค์ได้พระโอรสสองพระองค์ องค์หนึ่งคือ เจ้าชายพรหม หรือพรหมราช ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๑๖๒๕ ครั้นเจ้าชายทรงพระเจริญวัยได้ทรงรวบรวมผู้คน ก็อิสรภาพของอาณาจักรโยนกเชียงแสนได้           ๒๐/ ๑๓๐๖๘
            ๓๙๓๓. พังโคน  อำเภอ ขึ้น จ.สกลนคร ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔          ๒๐/ ๑๓๐๖๙
            ๓๙๓๔. พังงา ๑  ในความหมายของทหารเรือ หมายถึงเครื่องมือหันหางเสือของเรือ เพื่อบังคับให้เรือแล่นไปตามทิศทางที่ต้องการ พังงาที่ใช้กับเรือเล็กใช้สวมลงที่ก้านหางเสือ มีสองแบบคือ พังงาด้าม และพังงาวงเดือน
                   เรือซึ่งต้องการให้นายท้ายถือท้ายเรือ ที่บริเวณหัวเรือต้องใช้ระบบโซ่ (หรือเชือกลวด) และรอกโยงจากก้านหางเสือที่ท้ายเรือไปยังหัวเรือหรือที่อื่น ๆ ที่ต้องการแล้วต่อเข้ากับพังงา ซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลม นายท้ายหรือคนถือท้ายหมุนพังงานี้ เพื่อบังคับหางเสือให้หัวเรือหันไปยังทิศที่ต้องการ          ๒๐/ ๑๓๐๗๐
            ๓๙๓๕. พังงา ๒  จังหวัดภาคใต้ มีอาณาเขต ทิศเหนือจด จ.ระนอง ทิศตะวันออกจด จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.กระบี่ ทิศใต้จด จ.ภูเก็ต ทิศตะวันตกตกทะเลอันดามัน ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีภูเขาอยู่โดยรอบ ที่ลุ่มโดยมากอยู่ตามชายทะเลและบริเวณลุ่มน้ำ ส่วนที่ดอนโดยมากเป็นป่า
                    จ.พังงาตั้งขึ้นในรัชกาลที่สาม มีโบราณวัตถุคือกำแพงเมืองเก่าที่ตลาดเหนือ อ.ตะกั่วป่า มีหินสลักรูปพระนารายยณ์ พระลักษณ์ และนางสีดา แผ่นละรูปอยู่ที่ ต.เหล อ.กะปง          ๒๐/ ๑๓๐๗๓
            ๓๙๓๖. พังพอน ในประเทศไทยมีสองชนิดคือพังพอนธรรมดากับพังพอนกินปู ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า และชอบกินปูปลา และสัตว์น้ำตามริมบึงหนองทั่วไป
                    พังพอนธรรมดา เที่ยวหากินตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน มักเห็นวิ่งข้ามทางทั้งวัน เป็นศัตรูที่ช่วยทำลายหนูตามท้องนา เป็นประโยชน์แก่ชาวนามาก          ๒๐/ ๑๓๐๗๓
            ๓๙๓๗. พัฒนานิคม  อำเภอขึ้น จ.ลพบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ดอนเป็นป่าและเขา
                    อ.พัฒนานิคม แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ขึ้น อ.เมืองลพบุรี ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖          ๒๐/ ๑๓๐๗๕
            ๓๙๓๘. พัดโบก  เป็นเครื่องสูงประเภทหนึ่ง มีสองชนิดคือ
                    ชนิดที่หนึ่ง  ลักษณะเป็นพัดใบตาลหรือใบปาล์ม ปลายพัดมนแบบพัดธรรมดา ด้ามโลหะสีทอง ยาวประมาณ ๑.๕ เมตร ปลายด้ามทางที่ติดกับตัวพัดโค้งงอเป็นมุมฉาก เวลาเชิญด้ามตั้งฉากกับตัวพัด ใช้สำหรับถวายอยู่งานในเวลาที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกประทับนั่งบนพระราชบัลลังก์สูง ในพระราชพิธีสำคัญ การถวายอยู่งานจะต้องควงด้านให้ปลายพัดหมุนไปโดยรอบ
                    ชนิดที่สอง  ลักษณะเหมือนชนิดแรก แต่ปลายพัดแหลมและงอนช้อย ด้ามทำด้วยไม้ทาสีทอง ใช้สำหรับถวายอยู่งานในโอกาสที่ทรงพระราชยานคานหาม เสด็จพระราชดำเนินไปในกระบวนแห่
                   ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ พระมเหสี พระราชวงศ์ชั้นสูง และสมเด็จพระสังฆราชสวรรคต ทิวงคต หรือสิ้นพระชนม์ลง เมื่อจะมีการอัญเชิญพระบรมศพ หรือพระศพ โดยกระบวนพระอิสริยยศตามโบราณราชประเพณี เจ้าพนักงานจะเชิญพัดโบกชนิดที่สองนี้ ขึ้นประจำที่ท้ายพระราชรถทรงพระศพด้วย แต่เชิญไปในลักษณะที่จะให้เป็นเครื่องประกอบพระเกียรติยศเท่านั้น          ๒๐/ ๑๓๐๗๕
            ๓๙๓๙. พัทธยา  เป็นชื่อลมพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นชื่อลมที่ไทยรู้จักกันมานาน ลมนี้พัดมาประมาณเดือนพฤษภาคม และต้นเดือนมิถุนายน จึงเป็นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ตอนต้นฤดู          ๒๐/ ๑๓๐๗๖
            ๓๙๔๐. พัทธสีมา  มีบทนิยามว่า "เขตสังฆกรรมที่พระสงฆ์ได้กำหนดไว้เป็นหลักฐาน ตามวิธีการในพุทธานุญาตเรื่องสีมา"
                    คำว่าสีมาแปลว่าเขตบ้าง แดนบ้าง ที่รู้กันมากว่าหมายถึงเครื่องหมายบอกเขต, โบสถ์ สำหรับทำสังฆกรรม มีสองประเภท เขตที่สงฆ์กำหนดเอาเองเรียกพัทธสีมา แปลว่าแดนที่ผูก สีมาย่อมเป็นหลักสำคัญแห่งสังฆกรรมอย่างหนึ่ง
                    พัทธสีมา แดนที่ผูกนั้นคือแดนที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์กำหนดเขตเอาเอง ตามความพอใจ แต่มีจำกัดที่สุดทั้งข้างเล็กทั้งข้างใหญ่ไว้ ห้ามไม่ให้สมมติสีมาเล็กเกินไป จนจุภิกษุ ๒๑ รูป นั่งหัตถบาสกันไม่ได้ เพราะสังฆกรรมที่ต้องการ สงฆ์มีจำนวนมากที่สุด ๒๐ รูป คืออัพภานกรรม สวดระงับอาบัติสังฆาทิเสสของภิกษุ นับทั้งภิกษุนั้นด้วยเป็น ๒๑ รูป และห้ามไม่ให้สมมติสีมาใหญ่เกินกว่าสามโยชน์ เพราะเหลือระวัง สีมาเล็กเกินไปและใหญ่เกินไปอย่างนี้เป็นสีมาวิบัติ ใช้ไม่ได้
                    ประเทศไทยตัดปัญหาเรื่องนี้ได้เด็ดขาด เพราะธรรมเนียมของพระสงฆ์ไทยนั้นกำหนดว่าต้องผูกสีมา ในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตจากราชการแล้ว จึงมีธรรมเนียมว่าเมื่อจะผูกสีมาต้องขอพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน ขนาดพื้นที่ที่ขอพระราชทานนั้นถือเป็นขนาดเดียวกันคือ กว้าง ๒๐ วา ยาว ๔๐ วา เท่ากันหมด
                    การผูกสีมานั้น สิ่งจะต้องเตรียมล่วงหน้าคือวัตถุที่จะทำเป็นนิมิตเรียกกันทั่วไปว่า ลูกนิมิต ซึ่งก็คือหลักหินหรือหลักเขต วัตถุที่จะใช้เป็นนิมิตนั้น ทรงอนุญาตไว้หลายอย่างด้วยกัน แต่ในประเทศไทยนิยมใช้ก้อนหินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ ซม. สัณฐานกลมแต่ผิวขรุขระกันกลิ้งไปได้ง่าย นิมิตนั้นไม่จำกัดว่าเท่าไร แต่มีอยู่โดยปริยาย ต้องมีตั้งแต่สามขึ้นไปจึงจะใช้ได้ ข้างมากไม่มีกำหนด ในประเทศไทยปัจจุบันนี้นิยมใช้สีมามีนิมิตแปดแห่ง
                    ครั้งปฐมโพธิกาล จำนวนผู้บวชยังมีน้อย ทั้งผู้บวชในยุคนั้นก็พอใจที่จะอยู่ป่า เขตสามัคคีของสงฆ์จึงถือเอาป่าเป็นประมาณ เขตป่านั้นมีกำหนดว่าห่างจากหมู่บ้านเจ็ดอัพภันดร ประมาณ ๔๙ หรือ ๕๐ วา โดยรอบ ภายในเขตนั้นเรียกอรัญสีมา อยู่ในประเภทอพัทธสีมา นอกจากนี้ก็ถือเอาเขตที่ฝ่ายอาณาจักรกำหนดไว้ มีเล็กบ้างใหญ่บ้างไม่เท่ากันเรียกว่า คามสีมา คือเขตตำบลบ้างเรียกว่า นิคมสีมา คือเขตอำเภอบ้าง พระสงฆ์ที่อยู่ในเขตเหล่านี้ ย่อมมีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ยังมีอพัทธสีมาอีกอย่างหนึ่งเรียกอุทกุกเขปสีมา วัดที่อยู่ริมน้ำหรือทะเล จะใช้ตามที่ทรงอนุญาตไว้            ๒๐/ ๑๓๐๗๘
            ๓๙๔๑. พัทลุง  จังหวัดภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.นครศรีธรรมราช ทิศตะวันออกตกทะเลสาบ และ จ.สงขลา ทิศใต้จด จ.สงขลา ทิศตะวันตก จดทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งปันเขตกับ จ.ตรัง ภูมิประเทศทางทิศตะวันตกพื้นที่สูง เพราะอยู่แนวเชิงทิวเขานครศรีธรรมราช แล้วค่อยลาดเทลงมาทางทิศตะวันออก จนจดทะเลสาบ ตอนเชิงเขาเป็นป่าสูง ตอนกลางเป็นที่ราบทำนา ทำสวน ตอนใกล้ทะเลบางแห่งเป็นที่ราบ บางแห่งเป็นพรุ ทำนา ทำสวนไม่ได้
                    จ.พัทลุง เดิมตั้งเมืองที่ อ.ปละท่า (อ.สทิงพระ ในปัจจุบัน ) จ.สงขลา ได้โยกย้ายที่ตั้งมากแห่ง เมืองเดิมนั้นเป็นเมืองเก่า เมืองหนึ่งทางภาคใต้ อาณาจักรศรีวิชัย (พ.ศ.๑๒๐๐ - ๑๔๐๐) ก็เคยมีอำนาจแผ่ขึ้นมาตลอดแหลมมลายู จ.พัทลุง มีเรื่องราวปรากฎในพระราชพงศาวดารอยู่มากแห่ง ในปี พ.ศ.๑๙๒๗ สมเด็จพระราเมศวร ได้ส่งเชลยชาวเชียงใหม่มาไว้ที่เมืองพัทลุง ในปี พ.ศ.๒๒๙๑ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ โปรดให้พระยาราชบังสัน (ตะตา) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง เป็นทำนองประเทศราช ถวายต้นไม้เงินทอง เป็นเมืองชั้นตรี มีเมืองขึ้นสี่เมืองคือ ปะเหลียน จะนะ เทพา และสงขลา (เดิมสงขลา เป็นปากน้ำเมืองพัทลุง)
                    สมัยธนบุรี พระปลัดตั้งตัวเป็นเจ้านครศรีธรรมราช ให้หลายชายมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ตั้งเมืองที่ท่าเสม็ด หรือตำบลปราน ต่อมาเจ้านคร ฯ ให้พระยาพิมลขันธ์ สามีท้าวเทพสตรี เมืองถลาง มาเป็นเจ้าเมืองตั้งเมืองที่ ต.ควนมะพร้าว ถึงปี พ.ศ.๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ โปรดให้นายจันท์ มหาดเล็กมาเป็นเจ้าเมือง ตั้งเมืองที่ บ.ม่วง ภายหลังนายจันท์มีโทษต้องถูกถอดปี พ.ศ.๒๓๑๕ ทรงตั้งนายขุน บุตรพระยาราชบังสัน (ตะตา) ต้นสกุล ณ พัทลุง หรือพระยาพัทลุง ขุนคางเหล็ก เป็นพระยาแก้วเการพพิไชย ผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง
                    สมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่หนึ่ง โปรดให้เมืองพัทลุง และเมืองอื่น ๆ อีก ๑๙ เมือง ทางปักษ์ใต้ซึ่งเดิมขึ้นกรมท่า มาขึ้นกลาโหม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๓๘ พม่ายกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ เจ้าเมืองและกรมการยกครอบครัวหนีพม่าเข้าป่า พระมหาช่วยเป็นอธิการอยู่วัดเขาแดง แขวงเมืองพัทลุง ได้คุมกำลังพันคนเศษยกมาขัดตาทัพพม่าอยู่กลางทาง เขตเมืองพัทลุง ต่อกับเมืองนคร พระมหาช่วยมีความชอบ กรมพระราชวังบวร ฯ โปรดให้ออกจากสมณเพศแล้ว ทรงพระกรุณาตั้งให้เป็น พระยาทุกขราษฎร์ ช่วยการเมืองพัทลุงถึงปี พ.ศ.๒๓๓๔ โปรดให้พระยาแก้วโกรพพิชัย  (ทองขาว บุตรพระยาพัทลุง ขุนคางเหล็ก) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง ตั้งเมืองอยู่ที่ อ.ลำปำ ริมทะเลสาบ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๗ ย้ายเมืองมาอยู่ที่ อ.เมืองพัทลุง บัดนี้
                    จังหวัดนี้ มีสถานที่และสิ่งสำคัญคือ เขาเมือง หรือเขาชัยบุรี ตั้งอยู่กลางเมืองที่เขาทำนาได้โดยรอบ ในชะวากเขาเคยเป็นที่ตั้งเมืองพัทลุงมาครั้งหนึ่ง ยังมีกำแพงและซากเมืองอยู่ เขานี้มีถ้ำมากมีพระพุทธรูปโบราณแทบทุกถ้ำ          ๒๐/ ๑๓๐๘๙
            ๓๙๔๒. พันงู  เป็นชื่อเรียกพรรณไม้หลายชนิดในวงศ์ผักขม และชนิดหนึ่งในวงศ์ต้นสัก ได้แก่ พันงูขาว พันงูแดง พันงูน้อย พันงูตัวผู้ พันงูเขียว          ๒๐/ ๑๓๐๙๓
            ๓๙๔๓. พันจำ  เป็นชื่อเรียกพรรณไม้หลายชนิด วงศ์ไม้ยาง เป็นไม้ยืนต้นสูง ๑๐ - ๑๕ เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง ใบรูปหอกแกมรูปดาบ ดอกออกเป็นช่อสีขาว ผลโคนมักเชื่อมติดกับผล ปีกสั้นรูปหอก ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม - พฤษภาคม เนื้อไม้ใช้ทำเสาเรือน สะพานเชื่อมเสาโป๊ะ หมอนรองรถไฟและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่ต้องการความแข็งแรงทนทาน
                    นอกจากนั้น ยังมีพันจำขน และพันจำดง          ๒๐/ ๑๓๐๙๓
            ๓๙๔๔. พันท้ายนรสิงห์  รับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่แปด (พระเจ้าเสือ) ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๔๖ - ๒๒๕๑
                    ในการเสด็จทางชลมารคครั้งหนึ่งเพื่อไปประพาส ณ ปากน้ำ เมืองสาครบุรี เมื่อเรือพระที่นั่งไปถึง ต.โคกขาม คลองช่วงนั้นคดเคี้ยวมาก ชาวบ้านเรียกว่า เจ็ดคด เจ็ดเลี้ยว พันท้ายนรสิงห์ถือท้ายเรือพระที่นั่งด้วยความยากลำบาก โขนหัวเรือพระที่นั่งไปกระทบกิ่งไม้อันใหญ่ โขนหัวเรือหัก พันท้ายนรสิงห์กราบทูลให้ตัดศีรษะของตน ตามพระราชกำหนด แต่ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานอภัยโทษ แต่พันท้ายนรสิงห์กราบทูลว่า จะเสียขนบธรรมเนียมตามพระราชกำหนดกฎหมาย เป็นการแสดงความซื่อสัตย์กตัญญูอย่างแน่วแน่ต่อพระมหากษัตริย์ให้ทรงรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของพระราชกำหนดกฎหมาย เป็นที่ซาบซึ้งจดจำของประชาชนชาวไทย สืบต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้           ๒๐/ ๑๓๐๐๑
            ๓๙๔๕. พันธบัตร  เป็นหนังสือสัญญากู้เงิน ซึ่งรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ ออกให้แก่ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เป็นหลักฐาน โดยให้คำมั่นสัญญาว่า จะชำระต้นเงินกู้คืนภายในระยะเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนด ในระหว่างที่พันธบัตรยังมีอายุอยู่
                    รัฐบาลไทยได้ออกพันธบัตรเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ เป็นการกู้เงินจากต่างประเทศ โดยออกพันธบัตรจำหน่ายในตลาดการเงินลอนดอน และปารีส เป็นจำนวนหนึ่งล้านปอนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ก่อสร้างรถไฟ ช่วยเงินคงคลังและอื่น ๆ เป็นพันธบัตรชนิดจ่ายเงินให้แก่ผู้ถืออายุ ๔๐ ปี จ่ายปีละสองงวด ทุกหกเดือน
                    หลังจากนั้น ยังได้ออกพันธบัตรจำหน่ายในต่างประเทศอีกหลายครั้ง จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๗ นับจากนั้น รัฐบาลก็มิได้กู้เงินจากต่างประเทศ โดยออกพันธบัตรจำหน่ายอีก จนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๑ จึงเริ่มมีการออกพันธบัตรจำหน่ายในตลาดต่างประเทศใหม่ ที่ญี่ปุ่น และเยอรมัน
                    สำหรับภายในประเทศ รัฐบาลได้เริ่มออกพันธบัตรจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ ในวงเงินสิบล้านบาท อายุสิบปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๔.๕ ต่อปี จ่ายปีละสองงวดทุกหกเดือน           ๒๐/ ๑๓๑๐๒
            ๓๙๔๖. พันบุตรศรีเทพ  หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐมีข้อความตอนหนึ่งว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชนฤพาน สมเด็จพระยอดฟ้าราชกุมาร เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา
                    สมเด็จพระไชยราชาธิราชมีราชบุตรซึ่งประสูติด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอกสองพระองค์ พระองค์ใหญ่ทรงพระนามว่า พระยอดฟ้า หรือพระแก้วฟ้า พระชันษาได้ ๑๑ พรรษา พระองค์น้อยทรงพระนามว่า พระศรีศิลป์ พระชันษาได้ ๕ พรรษา พระแก้วฟ้าได้รับรัชทายาทครองกรุงศรีอยุธยา โดยมีพระเทียรราชา ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และท้าวศรีสุดาจันทร์ เป็นผู้สำเร็จราชการภายในพระราชวัง
                    ต่อมา พระเทียรราชาออกอุปสมบทอยู่ ณ วัดราชประดิษฐาน ท้าวศรีสุดาจันทร์ ก็มีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการแต่ผู้เดียว และได้มีความเสน่หารักใคร่ พันบุตรศรีเทพ พนักงานเฝ้าหอพระ และได้เป็นชู้กันจนนางมีครรภ์ขึ้น จึงได้เลื่อนพันบุตรศรีเทพ เป็น ขุนชินราชรักษา และขุนวรวงศาธิราช ตามลำดับ มีอำนาจบังคับบัญชาทหารที่รักษาพระราชวังทั้งสิ้น เสนาบดีผู้ใดที่กระด้างกระเดื่องก็ให้ลอบฆ่าฟัน และกำจัดเสีย และได้ปลงพระชนม์พระแก้วฟ้าเสีย เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ แล้วท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ให้ราชาภิเษกขุนวรวงศาธิราช เป็น พระเจ้าแผ่นดิน ขุนวรวงศาธิราชตั้งนายจันทร น้องชายเป็นมหาอุปราช
                    ขุนพิเรนทรเทพ ผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ได้คบคิดกับขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา และหลวงศรีทรงยศ พร้อมพรรคพวกออกอุบายให้ขุนวรวงศาธิราช ท้าวศรีสุดาจันทร์ และมหาอุปราชออกไปคล้องช้าง แล้วช่วยกันฆ่าขุนวรวงศาธิราช ท้าวศรีสุดาจันทร์ และบุตรี ซึ่งเกิดด้วยกันเสีย รวมเวลาที่อยู่ในราชสมบัติได้ ๔๒ วันจากนั้นจึงอัญเชิญพระเทียรราชา ให้ลาผนวชขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ ราชาภิเษกทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
            ๓๙๔๗. พันปี - พระ  พระมหากษัตริย์เมื่อขึ้นครองราชย์ และทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จะได้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาพระราชาคณะเป็นฤกษ์ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์พระบรมราชวงศ์ และทรงตั้งเลื่อนพระราชทานบรรดาศักดิ์ ข้าราชการ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท เป็นราชพระประเพณี แต่โบราณ
                    การสถาปนาพระอิสริยศักดิ์พระราชวงศ์นั้น ย่อมทรงระลึกถึงบุพการีสูงสุด ที่พระองค์เคารพรักมีอุปการคุณยิ่งใหญ่ เอนกประการได้แก่ พระชนนีของพระองค์ แต่มีธรรมเนียมราชประเพณี เมื่อพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์ ถ้ายังไม่ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง จะไม่กล่าวขานออกพระนามเดิมพระชนนีของพระมหากษัตริย์ แต่เพื่อถวายความเคารพยกย่อง จะถวายพระนามกล่าวขานว่า สมเด็จพระพันปีหลวง
                    ดังนั้น ราชาศัพท์พระราชอิสริยศักดิ์ พระชนนี หรือสมเด็จพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ ย่อมได้รับการยกย่องตามพระราชประเพณี จะต้องกล่าวขานถวายพระเกียรติว่า สมเด็จพระพันปีหลวง โดยจะไม่กล่าวพระนามาภิไธย ที่ได้ทรงรับการสถาปนา          ๒๐/ ๑๓๑๑๒
           ๓๙๔๘. พันวรรษา - พระ  ปวงชนชาติไทยสมัยก่อน เมื่อจะกล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมจะใช้ถ้อยคำยกย่อง เป็นทำนองเหมือนถวายพระพรให้ทรงพระเจริญอีกด้วย ได้แก่ พระพันวรรษา หรือพันวัสสา เป็นราชาศัพท์แทนพระปรมาภิไธย มีความหมายทรงพระเจริญถึงพันปี เช่นในวรรณคดีเรื่องขุนช้าง - ขุนแผน เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า สมเด็จพระพันวษา
                    ในสมัยรัตนโกสินทร์ ราชาศัพท์พระพันวรรษา ได้ใช้เป็นการเฉลิมพระนามพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง
                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไชย สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี เป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า          ๒๐/ ๑๓๑๑๖
            ๓๙๔๙. พาก  เป็นชื่อโรคระบาดสัตว์ชนิดหนึ่ง นิยมเรียกกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า โรคปาก และเท้าเปื่อย สัตว์ที่เป็นโรคชนิดนี้ได้แก่ สัตว์กีบคู่ต่าง ๆ เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และสัตว์ป่า เช่น กวาง สมัน ละมัง ส่วนมนุษย์ติดโรคนี้ได้ยากมาก          ๒๐/ ๑๓๑๑๘
            ๓๙๕๐. พาน ๑ - พระยา  เป็นพระนามกษัตริย์ในตำนาน หรือนิทานโบราณเล่ากันมาว่า เป็นผู้สร้างพระปฐมเจดีย์ ที่จังหวัดนครปฐม ทุกวันนี้ เนื่องจากพระยาพานได้กระทำปิตุฆาต ฆ่าพระยากง ผู้บิดา และฆ่ายายหอม ผู้เลี้ยงตนมาจนเจริญวัย ดังปรากฎในนิทานเรื่องพระยากง พระยาพาน ซึ่งได้สร้างพระเจดีย์เพื่อล้างบาปขึ้นสูงเท่านกเขาเหิน
                    แต่ในทางโบราณคดีนั้น เข้าใจกันว่า พระปฐมเจดีย์ สร้างเมื่อแรกพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศไทยนี้ และเก่าแก่ที่สุด          ๒๐/ ๑๓๑๒๓
            ๓๙๕๑. พาน ๒  เป็นชื่อเรียกภาชนะชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปมีรูปร่างลักษณะประกอบด้วยสามส่วนคือ
                    ๑. ส่วนตัวพาน มีลักษณะคล้ายชามอยู่ตอนบน
                    ๒. ส่วนเอว คือ ส่วนที่อยู่ระหว่างก้นพาน กับเชิงหรือตีนพาน มีลักษณะคล้ายวงกำไล ทำเป็นสันคล้ายอกไก่ก็มี กับทำเป็นเอวเว้าเข้าไปก็มี
                    ๓. ส่วนเชิงหรือตีนพาน มีลักษณะเป็นรูปกรวยคว่ำ คล้ายฝักบัว หรือตีนช้าง
                    รูปทรงของพาน มักทำเป็นรูปทรงกลม แต่ที่ทำเป็นรูปแปดเหลี่ยม หรือเป็นทรงย่อไม้สิบสองก็มี ส่วนปากของพานมีทั้งที่เป็นอย่างปากลวดกลม และปากกลีบบัว ลวดลายตกแต่งพาน และเชิงพาน ส่วนมากนิยมทำเป็นลายกลีบบัว เป็นพื้น
                    พานทำด้วยวัสดุต่าง ๆ กันมีตั้งแต่ ทำด้วยดินเผาธรรมดา ดินเผาเคลือบผิวด้วยน้ำยาต่าง ๆ ทำด้วยโลหะประเภททองคำ เงิน ทองแดง ทองสำริด ทำด้วยไม้ ไม้ไผ่สาน ประสานผิวด้วยสมุกรัก และทำด้วยแก้ว ก็มี
                    ภาชนะรูปพาน ทำด้วยดินเผา เป็นภาชนะชนิดหนึ่งที่คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยได้ทำขึ้นในเวลานั้น และพบต่อมาในสมัยทวารวดี ซึ่งอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๒ ต่อมาในสมัยสุโขทัย มีการทำพานด้วยดินเผาเคลือบผิวด้วยน้ำยาเป็นสีเขียวไข่กา รูปทรงคล้ายชาม มีเชิงรับรองอยู่ใต้ก้นพาน เป็นอย่างรูปตีนช้าง รูปร่างคล้ายพานในสมัยทวารววดี มีพานชนิดที่ปรากฎในศิลาจารึก คงจะเป็นพานทำด้วยโลหะ และน่าจะคล้ายกับภาชนะที่เรียกกันในสมัยหลัง ๆ ว่าโต๊ะทองเหลืองใช้รองจานเชิงคุมกันขึ้นไปเป็นสำรับกับข้าว สำหรับผู้ที่มีฐานะดี
                    ในสมัยอยุธยา พบเอกสารกล่าวถึงพานในฐานะเป็นเครื่องราชูปโภค ปลายสมัยอยุธยา พานคงเป็นภาชนะที่คนทั่วไปได้ถือเป็นเครื่องใช้สอย พานเป็นภาชนะสำหรับใส่ หรือรองรับสิ่งของต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู
                    พานสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน มีแบบอย่างของรูปทรง ชื่อและหน้าที่ต่างกันออกไปหลายแบบด้วยกันคือ
                    พานพระขันหมาก  เป็นเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่งในสี่อย่าง มีทรวดทรงเป็นพานรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ซ้อนกันสองชั้น พานลูกบนมีนาครวยทำด้วยทองคำ จำหลักลวดลาย ลงยาราชาวดี ใช้สำหรับพานหมาก ช่องพลู และตลับรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ยอดปลีกทรงมัน
                    พานพระศรี  เป็นเครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์ สำหรับใส่หมาก พลู มีสองสำรับ สำรับหนึ่งเป็นเครื่องทองลงยา อีกสำรับหนึ่งเป็นเครื่องนาก เครื่องทองใช้ในเวลาปรกติ เครื่องนากใช้ในวันพระ
                    พานบายศรี  เป็นเครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์ เนื่องในการพระราชพิธีสมโภชต่าง ๆ มีสามชุด ทองคำ เงิน และแก้ว แต่ละชุดประกอบด้วยพานเถาจำนวนหกลูก ตั้งซ้อนกันขึ้นไป พานลูกบนสุดใส่พุ่มดอกไม้ ลูกถัดลงมาแต่ละลูกใส่พานขนาดเล็ก เรียงโดยรอบใส่เครื่องกินต่าง ๆ หรือใส่ดอกๆไม้นานาพรรณ
                    พานสองชั้น  คือพานทอง ตั้งซ้อนนกันสองลูก ลูกบนมักย่อมกว่าลูกล่าง เป็นพานกลม ปากเป็นกลีบบัวจงกล เชิงพานลูกบนมีนาครวยประกอบสี่มุมพาน ใช้สำหรับรองรับเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์
                    พานรองสังข์  เป็นพานโลหะขนาดเล็ก ตัวพานทำรูปวงรี ปากพานทำเป็นกลีบบัว ผายออกสองด้าน ใช้สำหรับรองสังข์ เรียกอีกอย่างว่าพานปากกระจับ
                    พานปากกลม  เป็นพานรูปทรงกลม ปากเรียวกลมเหมือนปากชาม มีเส้นลวดเลียบรองปากชาม
                    พานกลีบบัว  เป็นพานรูปทรงกลม แต่ที่ปากทำเป็นจัก ๆ คล้ายปลายกลีบบัว เรียงซ้อนต่อเนื่องกันไป รอบขอบปากพาน
                    พานรองขัน  เป็นพานโลหะรูปทรงกลม ขอบปากเรียบ ใช้ตั้งรองรับโลหะใส่น้ำ มักเรียกควบกันว่า ขันน้ำพานรอง
                    พานแว่นฟ้า  ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนหรือหวาย รูปทรงสี่เหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ซ้อนกันสองลูก ลูกบนเล็กกว่า ตกแต่งผิวด้วยการปั้นขี้รักปิดทองบ้าง ลงลักเขียนลาย ปิดทองรดน้ำบ้าง ประดับกระจกสี หรือประดับมุกบ้าง โดยมากใช้ใส่ผ้าไตร
                    พานพุ่ม ทำด้วยดินปั้น เผาไฟให้สุก แล้วนำมาเขียนสี เป็นลวดลาย ภายนอกตัวพาน ใช้สำหรับรองพุ่มขี้ผึ้ง ถวายพระในเทศกาลเข้าพรรษา
                    พานแก้ว ทำด้วยแก้ว หล่อตัวพาน ลักษณะคล้ายจานปากคลุ่ม ตีนพานเป็นเลากลม โดยเลาแฝงเป็นแป้นกลม โดยมากใช้ใส่หมากพลู ดอกไม้ถวายพระ ในชั้นหลังนิยมจัดพุ่มดอกไม้ ตั้งบูชาพระด้วย
                    พานสาน ใช้ตอกไม้ไผ่สาน ตัวพานรูปร่างคล้ายถาด ตับพานสานสายชะลอม เป็นรูปทรงกวระบอก เทินตัวพานขึ้นไปไว้ สำหรับใส่เครื่องพลีกรรมในพิธีต่าง ๆ          ๒๐/ ๑๓๑๒๖
            ๓๙๕๒. พาน ๓  อำเภอขึ้น จ.เชียงราย ภูมิประเทศโดยมากเป็นที่ราบลุ่ม บางตอนเป็นป่าทึบ มีไม้สัก และไม้กระยาเลย
                    อ.พาน เดิมเป็นเมือง ขึ้น จ.ลำพูน สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.๑๔๐๕ ต่อมาราววปี พ.ศ.๒๔๔๓ ทางราชการได้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้น จ.ลำพูน ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๗  ได้ยกไปขึ้น อ.แม่ใจใต้ จ.เชียงราย อยู่ราวสองปี จึงรวม อ.แม่ใจใต้ กับกิ่ง อ.พาน เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑          ๒๐/ ๑๓๑๓๔
            ๓๙๕๓. พานทอง  อำเภอ ขึ้น จ.ชลบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบตลอด โดยมากเป็นทุ่งนาโล่งแจ้งทั่วไป เว้นแต่ตอนใกล้ปากคลองพานทอง พื้นดินต่ำและมีป่าจากขึ้นอยู่เป็นบริเวณกว้างขวาง          ๒๐/ ๑๓๑๓๕

................................................



| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |